พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชสมภพ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495) เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์มีพระเชษฐภคินีและพระขนิษฐภคินีร่วมพระราชชนนี 3 พระองค์พระราชสมภพ
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17.45 น. ในเวลาดังกล่าว ปืนใหญ่บริเวณสนามเสือป่ากัมปนาทขึ้น 21 นัด ในเวลาเดียวกับ ร.ล. สุโขทัย ก็ได้ยิงสลุตเฉลิมพระเกียรติด้วยจำนวนนัดเท่ากัน ทั้งนี้ ตามโบราณราชประเพณี หากประสูติเจ้าฟ้าชายและเป็นเวลากลางวัน คือไม่เกิน 18.00 น. จะยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ 21 นัด หากเลยเวลา 18.00 น. จะเลื่อนเวลาการยิงสลุตไปในวันรุ่งขึ้น หากเป็นเจ้าหญิงจะไม่ยิง โดยมีบันทึกว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จนิวัติพระนคร ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 นั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ได้กราบบังคมทูลในนามของพระราชวงศ์ มีใจความตอนหนึ่งว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชธิดา เป็นพระองค์แรกแล้วเช่นนี้ ก็ทรงหวังว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คงจะมีพระราชโอรสเป็นพระองค์ถัดไป พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเชษฐภคินีคือทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินีสองพระองค์คือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นทูลกระหม่อมเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ไม่มีชื่อเล่น อาจเป็นเพราะทรงเป็น ทูลกระหม่อมชาย เพียงพระองค์เดียว คำว่า ชาย จึงเป็นเสมือนชื่อที่ใช้แทนพระองค์
ขณะพระชนมายุได้หนึ่งพรรษา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพระนาม สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ตั้งพระนามถวายตามดวงพระชะตาว่า
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ
บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล
อภิคุณูปการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร
กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร
สยามมกุฎราชกุมาร
เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา 20 พรรษา และทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ
บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์
วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช
จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร
ผนวช
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารมีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา โดยได้ทรงพยายามหาโอกาสในวันหยุดเสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชและทรงเยี่ยมพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ทรงสนทนาศึกษาธรรมะคำสั่งสอนของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 15.37 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ผนวชแล้วเสด็จฯ ไปทำทัฬหีกรรม ณ พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน เมื่อเวลา 16.59 น. โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เสร็จแล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล ตลอดระยะเวลาแห่งการผนวชนั้นทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานาประการ เช่น ทรงร่วมทำวัตรเช้าเย็น ทำสังฆกรรม สดับพระธรรม เทศนา และทรงศึกษาพระธรรมวินัย ร่วมกับพระภิกษุอื่น ๆ เสด็จพระราช ดำเนินไปทรงรับภัตตาหารบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ และประชาชน ณ สถานที่ต่าง ๆ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสักการะสมเด็จ พระสังฆราช และพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ณ พระอาราม ต่าง ๆ เสด็จพระราชดำเนินไปทรง สักการะพระพุทธรูปสำคัญ เจดียสถาน และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในส่วนภูมิภาค และเสด็จออกให้คณะสงฆ์และคณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าถวายสักการะ เป็นต้น
การทหาร
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตาแหน่งพระยศทางการทหาร คือ ร้อยตรีเหล่าทหารราบ เรือตรีเหล่าทหารนักบิน พรรคนาวิน และ เรืออากาศตรี แห่งกองทัพทั้งสาม และนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ จากนั้นได้ทรงเข้ารับการฝึกปฏิบัติตามหลักสูตรการกระโดดร่มภาคพื้นดิน ณ ค่ายนเรศวร ได้รับพระราชทานปีกนักโดดร่มชั้น 1 กิตติมศักดิ์ในเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2514 และได้ทรงพระกรุณาฯ โปรดเกล้าฯ เลื่อนขึ้นเป็น ร้อยโท เรือโท และเรืออากาศโท ทรงดำรงตำแหน่งทางทหารตั้งแต่ระดับรองผู้บังคับกองพัน ,ผู้บังคับกองพัน, ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และองค์ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทรงดำรงพระองค์เป็นแบบอย่างและพระราชทานคำสั่งสอนแก่ข้าราชบริพารทุกหมู่เหล่าด้วยพระองค์เอง และมีการเทิดทูนยกย่องพระองค์เป็น บรมครูทางการทหาร
เนื่องด้วย 18 มกราคม ของทุกปีตรงกับวันสถาปนากองทัพไทย โดยในปี 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เสด็จฯ ในพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณตนของกองกำลังผสม เนื่องในวันกองทัพไทย ประจำปี 2563 การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเนื่องในวันกองทัพไทย ความว่า ข้าพเจ้าและพระราชินีมีความชื่นชมยิ่งนักที่ได้มาอยู่ในท่ามกลางเหล่าทหารและตำรวจ ในพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณครั้งนี้ ขอขอบใจในคำอำนวยพรและไมตรีจิตของทุก ๆ คน และขอสนองพรทั้งน้ำใจไมตรีนั้นด้วยใจจริงเช่นกัน ประเทศ ชาติจะเป็นปึกแผ่นมั่นคงได้ก็ด้วยคนไทยทุกหมู่เหล่า พร้อมเพรียงกันปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยมีอุดมคติและจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันคือ ประโยชน์สุขของทุกคนในชาติ ข้าพเจ้าจึงยินดีมากที่ได้เห็นความพร้อมเพรียงของทหารและตำรวจในวันนี้ ทั้งได้ฟังคำปฏิญาณแสงความจงรักภักดีและเจตนาอันแน่วแน่ที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชน ขอให้นายทหาร นายตำรวจทุกคน รักษาคำปฏิญาณที่ได้ให้ไว้อย่างเคร่งครัด และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงตรง เข้มแข็งและเสียสละ พร้อมทั้งหมั่นศึกษาและฝึกฝนตนเองให้มีความจัดเจนคล่องแคล่วในหน้าที่และในการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น ฝ่ายอื่นอยู่เสมอ ทุกคน ทุกฝ่ายจะได้สามารถร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์ความวัฒนาผาสุกให้แก่ประชาชนและประเทศชาติได้ตามอุดมคติที่ตั้งมั่นไว้ตลอดไป ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมทั้งอำนาจแห่งความภักดีโดยบริสุทธิ์ใจต่อบ้านเมือง จงบันดาลให้ท่านทั้งหลายประสบแต่ความสุข ความเจริญและความสามัคคี สวัสดีมีชัยโดยทั่วกัน จากนั้นประทับพระราชอาสน์ทอดพระเนตรกองกำลังสวนสนามภาคอากาศและกำลังภาคพื้น พร้อมทั้งยุทโธปกรณ์ที่นำมาสวนสนามในส่วนของกองทัพบก ถือเป็นการสวนสนามครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกในรัชสมัยนี้ โดยเหล่าทัพได้นำยุทโธปกรณ์เกือบทุกแบบที่มีประจำการเข้าร่วม ไม่ต่างจากสวนสนามแสนยานุภาพ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ที่ลานพระราชวังดุสิต ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว
พระนิพนธ์
ครั้นยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงสืบสายพระโลหิตจากพระบรมราชวงศ์ศิลปิน เนื่องแต่องค์พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทรงเป็นศิลปินมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารโปรดการปั้น การแกะสลัก และการวาดรูปมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงหัดโขนเป็นตัวทศกรรฐ์ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ในด้านวรรณศิลป์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัจฉริยะทางการประพันธ์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยได้ทรงพระนิพนธ์ เรื่อง น้ำท่วม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ การรับผิดชอบต่อหน้าที่ การตระหนักถึงประโยชน์ส่วนใหญ่มากกว่าการเล่นสนุกตั้งแต่มีพระชนม์เพียง 12 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมาร ทรงใช้เวลาส่วนพระองค์ที่เหลือจากงานราชการและการศึกษาซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก ด้วยการทรงงานอดิเรก เช่น ทรงแต่งบทกลอนและบทละครสั้น ๆ แล้วอัดเทปไว้ฟัง ทรงฝึกการขับเสภา ส่วนมากมักจะทรงพระนิพนธ์บทกวี พรรณาชีวิตของพระองค์ในต่างแดน ทรงบริหารพระวรกาย เช่น ทรงวิ่ง ทรงฟุตบอล โดยเฉพาะงานพระนิพนธ์บทกลอนนั้น ทรงมีความสามารถเป็นพิเศษ ดังบทพระนิพนธ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งได้ทรงไว้ในหลายโอกาส เช่น ระหว่างการฝึกทหาร เช่น บทพระนิพนธ์ถวายบังคมทูลพระกรุณาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสที่ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนนายร้อยดันทรูน ออสเตรเลีย ความตอนหนึ่งว่า เมื่อสิบสองมกรา หนึ่งห้า ลูกคลาคลาด ต้องนิราศ จากไป ไกลนักหนา จำใจจาก แม่พ่อ คลอน้ำตา นึกขึ้นมา คราใด ใจอาวรณ์ ลูกจากไป ครานี้ มีจิตมั่น จะขยัน และทำตาม คำพร่ำสอน ถึงลำบาก อย่างไร ไม่อุทธรณ์ สู้ทุกตอน ตามประสงค์ จำนงใจ และบทพระนิพนธ์ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นเพื่อถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม พ.ศ. 2515 แม่รักชาย ห่วงชาย ชายก็รู้ ชายจะสู้ สุดชีวิตอย่าสงสัย จะทำตัวให้สมแม่วางใจ จะรักไทย กู้ศักดิ์ศรีจักรีวงศ์ จะรักหญิงที่เขาเข้าใจแม่ จะแน่วแน่พุทธศาสน์ถือพระสงฆ์ การสวดมนต์ไหว้พระจะดำรง จะมั่นคงรักชาวไทยไม่เสื่อมคลาย ยิ่งไปกว่านั้น ครั้งหนึ่ง วารสารวัฒนธรรมไทย ได้อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์เรื่อง แม่ ของพระองค์เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารมาลงเผยแพร่ให้เด็กๆ และประชาชนไทยได้อ่านกัน บทพระราชนิพนธ์ดังกล่าวทำให้เด็กไทยได้แนวทางปฏิบัติตนเป็นลูกที่ดี และแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงตระหนักในหน้าที่ของลูกได้อย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังกล่าวตอนหนึ่งทรงกล่าวไว้ว่า หน้าที่ของเราที่จะต้องสนองพระคุณท่านให้ดีที่สุด โดยสุดกำลังความสามารถ มิใช่แต่เฉพาะเลี้ยงดูบำรุงรักษาท่านตามที่มักพูดกัน แต่หากด้วยการประพฤติปฏิบัติอันเหมาะอันควร อันเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ ทุกประการด้วย เป็นการบูชาพระคุณท่านด้วยปฏิบัติบูชา นอกจากนี้ในบทพระนิพนธ์ในหลายโอกาสได้แสดงให้เห็นถึงความรักชาติของพระองค์ เช่น การที่พระองค์เข้าร่วมพิธีวัน Australian and New Zealand Army Corps ซึ่งเป็นวันที่ระลึกถึงทหารที่ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ทรงพระนิพนธ์กลอนเกี่ยวกับวันดังกล่าว ส่วนหนึ่งว่า ถ้าชาติเรามีวันนี้จะดีมาก คนลำบากเสียสละได้ศักดิ์ศรี เป็นตัวอย่างเป้าหมายให้ทำดี ชาติทวีวีรบุรุษสุดนิยม
พระมหากษัตริย์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 พระองค์จะสืบราชสมบัติต่อ ทั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่าพระองค์จะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ แต่ทรงขอผ่อนผันเนื่องจากทรงต้องการร่วมทุกข์โศกกับปวงชนชาวไทย จนกว่าจะผ่านพระราชพิธีพระบรมศพไประยะหนึ่ง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยตำแหน่งไปพลางก่อน
จนกระทั่งได้มีการปฏิบัติตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 2 วรรค 2 ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 23 วรรค 1 ตามลำดับดังนี้
วันที่ 29 พฤศจิกายน คณะรัฐมนตรีได้แจ้งเรื่องการอัญเชิญพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ให้พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานรัฐสภาทราบ และได้เรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นวาระพิเศษเพื่อรับทราบเรื่องดังกล่าว จากนั้นในวันที่ 1 ธันวาคม พรเพชรกราบบังคมทูลเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์มีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ พรเพชรจึงได้ประกาศให้ประชาชนทราบในคืนวันเดียวกันผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย แต่ทั้งนี้ ในทางนิตินัยถือว่าพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 และโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร [วะชิราลงกอน บอดินทฺระเทบพะยะวะรางกูน]
ในปี พ.ศ. 2560 พระองค์ทรงตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยพระมหากษัตริย์มีอำนาจตั้งผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย[111] ในปี พ.ศ. 2561 มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ด้านสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ชี้แจงว่า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายจึงต้องมีการถวายทรัพย์สินในความดูแลคืนให้พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชวินิจฉัย และว่าทรัพย์สินที่พระองค์เป็นเจ้าของจะมีการเสียภาษีอากรเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป
ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา และมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี
บรมราชาภิเษก
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีพระปฐมบรมราชโองการความว่า เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป
วันที่ 5 พฤษภาคม ปีเดียวกัน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศ และเฉลิมพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลที่ 10
พระบรมราโชบาย
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายมอบหมายให้สำนักงานตารวจแห่งชาติกำหนดแนวทางอำนวยความสะดวกด้านการจราจร เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเดินทางได้ โดยเกิดผลกระทบน้อยที่สุด จากพระบรมราโชบายดังกล่าว สำนักงานตารวจแห่งชาติ จึงกำหนดแนวทางดังต่อไปนี้ โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ เพื่อเป็นไปตามหลักการถวายความปลอดภัยของพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อให้การดำเนินงานอย่างสมพระเกียรติ และเพื่อให้เป็นไปตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
1. ไม่ให้ทำการปิดการจราจร เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางได้ตามปกติ
2. ในเส้นทางเสด็จฯ ให้จัดช่องทางเสด็จฯ และช่องทางประชาชนโดยใช้อุปกรณ์เช่นกรวยยาง ป้ายไฟ เพื่อความสะดวก
3. เส้นทางฝั่งตรงข้ามเส้นทางเสด็จฯ กรณีที่มีเกาะกลางถนน เส้นทางฝั่งตรงข้ามสามารถใช้ได้ตามปกติทุกเส้นทาง กรณีไม่มีเกาะกลางถนนให้ใช้อุปกรณ์ เช่น กรวยยางวาง โดยประชาชนสามารถวิ่งตามเส้นทางที่จัดไว้ได้ตามปกติ
4. กรณีทางร่วมทางแยกให้ประชาชนใช้เส้นทางได้ตามปกติ ใช้วิธีการควบคุมรถ เช่น ใช้กรวยยางวางควบคุมกระแสรถ
5. สำหรับสะพานกลับรถหรือสะพานข้ามผ่านเส้นทางเสด็จฯ ให้ประชาชนใช้ได้ตามปกติ
6. กรณีทางพิเศษที่มีด่านเก็บเงินให้วางแนวกรวยยางด้านซ้ายให้ประชาชนเดินรถได้ โดยให้เหลือช่องทางสำหรับขบวนเสด็จฯ อย่างน้อย 2 ช่องทาง
7. กรณีเส้นทางร่วมทางแยก ไม่ให้บังคับให้ประชาชนเปลี่ยนเส้นทาง ให้คำนึงความตั้งใจของประชาชนเป็นหลัก
8. เน้นย้ำในการวางอุปกรณ์ให้พิจารณาตามความเหมาะสม ให้คำนึงเวลากระทบประชาชนน้อยที่สุด
9. ใช้มาตรการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับทั้งประชาชนและผู้ปฏิบัติหน้าที่
10. ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ต้องลงไปกำกับดูแลด้วยตนเอง สำหรับผู้ปฏิบัติให้ใช้วาจา กิริยาท่าทางด้วยความสุภาพ ไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าถูกบังคับ
พระบรมราชอิสริยยศและพระเกียรติยศ
พระบรมราชอิสริยยศ
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร (28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515)
- สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร (28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 - 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)
- พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน)
พระราชลัญจกรประจำรัชกาล
พระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปวชิราวุธ ซึ่งหมายถึงสายฟ้าอันเป็นเทพศาสตราของพระอินทร์ เป็นสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย วชิราวุธ มีแบบตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านบนมี พระเกี้ยว หรือ จุลมงกุฎ เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ และเป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีแบบตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนคำว่า อลงกรณ์ ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย มหาวชิราลงกรณ เปล่งรัศมีเป็นสายฟ้า ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า พร้อมด้วยฉัตรบริวาร
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พระองค์ทรงเป็นประธานของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังนี้
พ.ศ. 2559 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ (ร.ม.ภ.)
พ.ศ. 2508 - เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.)
พ.ศ. 2516 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) (ฝ่ายหน้า)
พ.ศ. 2519 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.)
พ.ศ. 2559 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 1 เสนางคะบดี (ส.ร.)
พ.ศ. 2516 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
พ.ศ. 2516 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
พ.ศ. 2538 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)
พ.ศ. 2531 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ
พ.ศ. 2530 - เหรียญกล้าหาญ (ร.ก.)
พ.ศ. 2530 - เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้น 1 (ส.ช.)
พ.ศ. 2510 - เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)
พ.ศ. 2531 - เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
พ.ศ. 2495 - เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 (ภ.ป.ร.1)
พ.ศ. 2495 - เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 9 (ร.จ.ท.9)
ข้อมูลเพิ่มเติม https://th.wikipedia.org/
โดยการใช้เว็บไซต์ของ KPRU คุณรับทราบว่าคุณได้อ่านและทำความเข้าใจ นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และข้อกำหนดในการให้บริการ ของเรา ยอมรับ
แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาบัณฑิตและท้องถิ่น
สำนักวิทยบริการฯ
เปิดให้บริการ ช่วงเปิดภาคเรียน
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. วัน จันทร์ - เสาร์
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. วัน อาทิตย์
เปิดให้บริการ ช่วงปิดภาคเรียน
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. ทุกวัน
ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือ
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร กำหนด
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
เลขที่ 69 หมู่ที่ 1 ตำบลนครชุม อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร 62000
โทรศัพท์ 055-706555 ต่อ 1503
เว็บไชต์ : https://arit.kpru.ac.th
ติดต่อผู้ดูแลเว็บ : anucha_pu@kpru.ac.th