30 เมษายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย” ประกอบกับมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้บริโภคในปี พ.ศ.2522 เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากพฤติกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมา หรือมีการโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อสินค้าหรือบริการไม่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบข้อมูลทางการตลาดที่แท้จริง ทั้งเรื่องคุณภาพสินค้าและราคา รวมทั้งยังระบุถึงสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครอง 5 ข้อ ดังนี้
1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้ง โฆษณา แสดงฉลาก คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ เพื่อให้ไม่หลงผิดซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ โดยความสมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
3. สิทธิที่จะใช้สินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน
4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหายเมื่อผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ การพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในประเทศไทยมุ่งเน้นเพียงแก้ไขปัญหาส่วนบุคคลมากกว่าการแก้ไขเชิงโครงสร้างหรือเชิงระบบ อีกทั้งหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคแม้จะมีจำนวนมาก แต่ก็มีเพียงองค์กรของรัฐ ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่มีผู้แทนโดยตรงที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้ในการสะท้อนปัญหาของตนเองแก่รัฐ ดังนั้น จะต้องยกระดับปัญหาปัจเจกขึ้นเป็นการแก้ไขเชิงโครงสร้าง เพื่อส่งเสริมให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมา จึงมีความพยายามจัดตั้งหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจากภาคประชาชน ที่จะทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานของรัฐ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ เตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค
รวมถึงมีตัวแทนผู้บริโภคทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นหู เป็นตา เป็นปาก เป็นเสียงให้ผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังสามารถเปิดเผยข้อมูลสินค้า ตรวจสอบสินค้า ตรวจสอบการกระทำที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค และสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคให้สามารถแก้ปัญหาผู้บริโภคด้านต่าง ๆ ได้
การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในการจัดตั้งองค์กรที่เป็นเสมือนตัวแทนของผู้บริโภคอันยาวนานกว่า 24 ปี ในที่สุด เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้ประกาศจัดตั้ง ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ที่เกิดจากการรวมตัวองค์กรของผู้บริโภคทั่วประเทศ เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคได้อย่างเบ็ดเสร็จ ครบ จบ ในที่เดียว (One-stop Service)
ไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่มีสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ทำหน้าที่ช่วยให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยทำงาน 8 ด้านและอีก 1 คณะทำงาน ได้แก่ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านการขนส่งและยานพาหนะ ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสุขภาพ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม และคณะทำงานด้านการศึกษา
ผู้ที่ประสบปัญหา ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อขายสินค้าหรือบริการสามารถยื่นเรื่องต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคได้โดยตรง เพื่อให้ช่วยไกล่เกลี่ยหรือฟ้องคดีแทนผู้บริโภค พร้อมดำเนินการอื่น ๆ จนกว่าจะสิ้นสุด
สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นตัวแทนของผู้บริโภคทุกด้าน เพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคน รวมทั้งเป็นตัวแทนผู้บริโภคในการให้ความคิดเห็น เสนอแนะนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน “เพราะทุกคน คือ ผู้บริโภค”
โดยการใช้เว็บไซต์ของ KPRU คุณรับทราบว่าคุณได้อ่านและทำความเข้าใจ นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และข้อกำหนดในการให้บริการ ของเรา ยอมรับ
แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาบัณฑิตและท้องถิ่น
สำนักวิทยบริการฯ
เปิดให้บริการ ช่วงเปิดภาคเรียน
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. วัน จันทร์ - เสาร์
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. วัน อาทิตย์
เปิดให้บริการ ช่วงปิดภาคเรียน
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. ทุกวัน
ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือ
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร กำหนด
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
เลขที่ 69 หมู่ที่ 1 ตำบลนครชุม อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร 62000
โทรศัพท์ 055-706555 ต่อ 1503
เว็บไชต์ : https://arit.kpru.ac.th
ติดต่อผู้ดูแลเว็บ : anucha_pu@kpru.ac.th