สัตวแพทย์ เป็นสาขาวิชาทางการแพทย์อีกหนึ่งสาขาที่นับว่ามีความสำคัญมากเช่นกัน โดยสัตวแพทย์จะคอยดูแลรักษาสัตว์ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง และป้องกันไม่ให้เกิดโรค แต่ปัจจุบันวิชาชีพด้านสัตวแพทย์เรียกได้ว่ายังขาดแคลนบุคลากรอีกมาก และเพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของสัตวแพทย์จึงมีการกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคม เป็น วันสัตวแพทย์ไทย โดย "สัตวแพทย์" คือ แพทย์ที่รักษาสัตว์ หรือกล่าวแบบภาษาชาวบ้านว่า "หมอรักษาสัตว์" โดยคำว่า Veterinarian นิยมใช้ในอเมริกาเหนือ ถูกใช้เป็นครั้งแรกโดย โทมัส บราวน์ (Thomas Browne) หรือ Veterinary Surgeon นิยมใช้ในยุโรป ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละติน คือ Veterinae โดยมีความหมายว่า draught animals บางครั้งอาจจะใช้คำสั้น ๆ ว่า "Vet"
ในประเทศไทยคาดว่า คำว่า สัตวแพทย์ พล.ต. ม.จ.ทองฑีฆายุ ทองใหญ่ ผู้ซึ่งเป็นพระบิดาของวิชาสัตวแพทย์สมัยใหม่ เป็นผู้ใช้คำนี้ โดยทรงก่อตั้งโรงเรียนอัศวแพทย์ทหารบก ซึ่งได้พัฒนาต่อมาเป็นโรงเรียนนายสิบสัตวแพทย์ และโรงเรียนนายดาบสัตวแพทย์ทหารบก ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทย โดยต้องการผลิตกำลังพลป้อนกองทัพ และได้พัฒนาเป็นแผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์ ตั้งอยู่ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศาสตราจารย์ พันโท หลวงชัยอัศวรักษ์ เป็นปฐมคณบดี ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ ในสถานศึกษาพลเรือนเป็นครั้งแรก เพื่อผลิตสัตวแพทย์ในระดับปริญญา ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาประเทศในสมัยนั้น รัฐบาลได้โอนคณะสัตวแพทยศาสตร์ มาสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2497 โดยมีการเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จำนวน 2 ปี และไปเรียนที่ถนนอังรีดูนังต์ อีก 4 ปี ต่อมาได้มีการย้ายกิจการคณะไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจัดตั้งเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ. 2510 แต่ก็ยังมีอาจารย์และนิสิตส่วนหนึ่งอยู่พัฒนาคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อไป โดยได้เชิญอธิบดีกรมปศุสัตว์ในสมัยนั้น คือ ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.จักร พิชัยรณรงค์สงคราม เป็นคณบดี และถือว่าท่านคือบิดาของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ก็เปิดสอนวิชาสัตวแพทยศาสตร์ ในระดับประกาศนียบัตร ณ โรงเรียนสัตวแพทย์ (Paraveterinary School) เพื่อผลิตบุคลากรให้กรมปศุสัตว์ เพื่อบรรเทาความขาดแคลนสัตวแพทย์ของประเทศ โดยมีเพลงนกน้อยในไร่ส้ม เป็นเพลงที่ถูกแต่งเพื่อชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของสัตวแพทย์ในชนบท และถูกนำไปใช้ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนต่อมา
สำหรับประเทศไทย คำว่า "สัตวแพทย์" สามารถสื่อความหมายได้ 2 กรณี คือ สัตวแพทย์ (Paravet) และนายสัตวแพทย์ (Veterinarian) นายสัตวแพทย์ คือ บุคคลที่เรียนจบสัตวแพทย์ในระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้รับคุณวุฒิปริญญาทางสัตวแพทยศาสตร์ (สพ.บ.) และได้รับใบประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง, สัตวแพทย์ คือ บุคคลที่เรียนจบโรงเรียนสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ ได้รับประกาศนียบัตร (2 ปี) และได้รับใบประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นสอง ปัจจุบันโรงเรียนสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ ได้ยุบและโอนย้ายไปเป็นคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดทำการสอนในระดับปริญญาด้านเทคนิคการสัตวแพทย์ (4 ปี) และเพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของสัตวแพทย์ ประเทศไทยจึงมีการกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคม ของทุกปี เป็น วันสัตวแพทย์ไทย โดยมีสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรหลักของสัตวแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่บทบาทของสัตวแพทย์ต่อสาธารณชนในด้านต่าง ๆ
เผยแพร่ 4 สิงหาคม 2567
เผยแพร่ 4 สิงหาคม 2567
โดยการใช้เว็บไซต์ของ KPRU คุณรับทราบว่าคุณได้อ่านและทำความเข้าใจ นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และข้อกำหนดในการให้บริการ ของเรา ยอมรับ
แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาบัณฑิตและท้องถิ่น
สำนักวิทยบริการฯ
เปิดให้บริการ ช่วงเปิดภาคเรียน
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. วัน จันทร์ - เสาร์
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. วัน อาทิตย์
เปิดให้บริการ ช่วงปิดภาคเรียน
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. ทุกวัน
ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือ
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร กำหนด
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
เลขที่ 69 หมู่ที่ 1 ตำบลนครชุม อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร 62000
โทรศัพท์ 055-706555 ต่อ 1503
เว็บไชต์ : https://arit.kpru.ac.th
ติดต่อผู้ดูแลเว็บ : anucha_pu@kpru.ac.th