วันต้นไม้แห่งชาติ ตรงกับวันวิสาขบูชา (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 6) ของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติที่ประชาชนทุกหมู่เหล่า จะได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ไว้เป็นที่ระลึกและช่วยเพิ่มพูนทรัพยากรป่าไม้ อันเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ อีกทางหนึ่งด้วย
ป่าไม้เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ป่าไม้เป็นแหล่งวัตถุดิบของปัจจัย 4 ตั้งแต่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ให้ประโยชน์ทางเศรษกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การชลประทาน บรรเทาอุทกภัย และอื่นๆ อีกมาก นอกจากนี้ ป่ายังเป็นแหล่งดำรงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะป่าฝนเขตร้อนที่พบได้มากในประเทศไทย ประมาณกันว่าเราสามารถพบสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในโลกประมาณ 40-70% ได้ในป่าฝนเขตร้อน ทั้งป่าฝนเขตร้อนยังเป็นแหล่งค้นพบเภสัชกรรมใหม่ๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นแหล่งหมุนเวียนออกซิเจนถึง 28% ของออกซิเจนทั้งหมดในโลก
เนื่องจากป่าไม้นับเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญในด้านสังคมและเศรษฐกิจ เมื่อสังคมมนุษย์ขยายตัวมากขึ้น ความต้องการในด้านบริโภคย่อมขยายตัวตามไปด้วย มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไปเพื่อการเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย ฯลฯ แต่เนื่องจากทรัพยากรบางประเภทมีอยู่อย่างจำกัด เช่น ที่ดิน ป่าไม้ สินแร่ ถ่านหิน น้ำมัน ฯลฯ โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ เป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ได้โดยง่าย แต่การปลูกทดแทนต้องรอเวลาและใช้งบประมาณสูงในการดูแลรักษา ทำนุบำรุง ซึ่งหากไม่มีการควบคุมการใช้ทรัพยากรเหล่านี้ พื้นที่ป่าในสังคมนั้นๆ ก็จะเสื่อมโทรมหรือหมดไปในที่สุด
เหตุที่กำหนดให้มี “วันต้นไม้แห่งชาติ” ก็เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้คนไทย ตระหนัก และหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ อันจะเป็นหนทางนำไปสู่การอนุรักษ์และรู้จักการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เพื่อเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานต่อไปในอนาคต การส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้ในประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นโดยกรมป่าไม้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ได้มีการชักชวนข้าราชการและประชาชนให้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในวันชาติ คือวันที่ 24 มิถุนายน 2481 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการปลูกต้นไม้ตามแบบฉบับที่ทำกันในต่างประเทศ ซึ่งเรียกกันว่า Arbor Day ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 กรมป่าไม้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ภูมิภาค ดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการจังหวัด คณะกรรมการอำเภอ จัดให้มีการปลูกต้นไม้ในวันชาติ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญของต้นไม้ และเป็นการเพิ่มพูนทรัพยากรธรรมชาติ นับว่าเป็นวันปลูกต้นไม้ทางการครั้งแรก
จากนั้นในปี พ.ศ. 2494 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ได้มีมติที่ประชุมใหญ่ให้ประเทศสมาชิก จัดเทศกาลปลูกต้นไม้ประจำปีขึ้น ซึ่งในประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2495 กำหนดให้วันชาติ (วันที่ 24 มิถุนายน) ของทุกปี เป็นวันปลูกต้นไม้ประจำปี (ชื่อเดิม) และส่งเสริมให้ประชาชนขอรับกล้าไม้ไปปลูกในสถานที่ต่างๆ
วันปลูกต้นไม้ประจำปี ได้มีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลา ไปตามความเหมาะสม กล่าวคือได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 ประกาศยกเลิกวันชาติ ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2503 กำหนดให้วันเข้าพรรษาของทุกปีเป็น “วันต้นไม้ประจำปีของชาติ” เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน มีฝนตก เหมาะสมกับการปลูกต้นไม้
เพื่อให้การจัดการและการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ สามารถกระทำได้อย่างต่อเนื่องเป็นแผนระยะยาว และประสานสอดคล้องกับการพัฒนาทรัพยากรชนิดอื่นๆ และเพื่อให้ส่วนราชการรวมทั้งภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้มีความเข้าใจร่วมกันและถือปฏิบัติไปในทางเดียวกัน รัฐบาลจึงได้ประกาศนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2528 โดยนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ได้กำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศในอัตราร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ทั้งนี้ได้กำหนดไว้เป็นป่าเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป้องกันภัยธรรมชาติอันเกิดจากน้ำท่วมและการพังทลายของดิน ตลอดทั้งเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและนันทนาการของประชาชน คิดเป็นร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ ส่วนอีกร้อยละ 25 นั้น รัฐบาลได้กำหนดไว้เป็นป่าเศรษฐกิจเพื่อการผลิตไม้และของป่า
แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล กล่าวคือ จะมีฝนตกก่อนถึงวันเข้าพรรษา และฝนจะทิ้งช่วงในระหว่างฤดูกาลเข้าพรรษา ทำให้การปลูกต้นไม้ในช่วงเข้าพรรษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้วันวิสาขบูชา เป็นวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติแทนวันเข้าพรรษา ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2532 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อและกำหนดให้วันวิสาขบูชาของทุกปีเป็น “วันต้นไม้แห่งชาติ” เพราะเป็นระยะเริ่มต้นฤดูฝน มีฝนตกลงมาแล้ว ซึ่งจะทำให้กิจกรรมการปลูกต้นไม้ได้ผลดียิ่งขึ้น
โดยการใช้เว็บไซต์ของ KPRU คุณรับทราบว่าคุณได้อ่านและทำความเข้าใจ นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และข้อกำหนดในการให้บริการ ของเรา ยอมรับ
แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาบัณฑิตและท้องถิ่น
สำนักวิทยบริการฯ
เปิดให้บริการ ช่วงเปิดภาคเรียน
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. วัน จันทร์ - เสาร์
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. วัน อาทิตย์
เปิดให้บริการ ช่วงปิดภาคเรียน
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. ทุกวัน
ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือ
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร กำหนด
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
เลขที่ 69 หมู่ที่ 1 ตำบลนครชุม อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร 62000
โทรศัพท์ 055-706555 ต่อ 1503
เว็บไชต์ : https://arit.kpru.ac.th
ติดต่อผู้ดูแลเว็บ : anucha_pu@kpru.ac.th