ประเพณีสงกรานต์ หรือวันสงกรานต์เป็นวันฉลองการขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งโดยทั่วไปจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ตรงกับเดือนห้าตามจันทรคติ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยมีประเพณีสงกรานต์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดฯให้ตราขึ้น กล่าวถึงการพระราชพิธีเผด็จศกและพระราชพิธีลดแจตร พระราชพิธีเผด็จศกเป็นพิธีการเกี่ยวกับการตัดจากปีเก่าขึ้นสู่ปีใหม่ ส่วนพระราชพิธีลดแจตรนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงสันนิษฐานว่าหมายถึงพระราชพิธีรดน้ำเดือน ๕ แสดงว่าประเพณีสงกรานต์ของหลวงมีมาตั้งแต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ในสมัยก่อนไทยใช้จุลศักราช การขึ้นปีใหม่จึงเป็นการขึ้นจุลศักราชใหม่
ประเพณีสงกรานต์เป็นการฉลองการขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติแต่เนื่องจากยังนิยมนับวันทางจันทรคติกันอยู่ ช่วงเวลาฉลองสงกรานต์ในแต่ละท้องถิ่นจึงอาจไม่ตรงกันทีเดียว โดยปรกติอยู่ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ในล้านนาบางปีสงกรานต์อาจอยู่ในช่วงวันที่ ๑๔-๑๖ เมษายน ในภาคกลางนิยมทำบุญตักบาตรในวันที่ ๑๓ เมษายน ถือเป็นวันมหาสงกรานต์คือเป็นวันที่พระอาทิตย์ก้าวเข้าสู่ราศีเมษ เป็นวันสิ้นปีเก่า วันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันเนา คือวันที่เชื่อมต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ และวันที่ ๑๕ เมษายน เป็นวันเถลิงศกขึ้นปีใหม่
ประเพณีสงกรานต์ นอกจากเป็นประเพณีการขึ้นปีใหม่ของไทยแล้วยังพบว่าประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสหภาพพม่า ประเทศกัมพูชา ตลอดจนกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไทหลายกลุ่มก็มีประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีการขึ้นปีใหม่ด้วย เช่น ไทลื้อในเขตปกครองตนเองสิบสองพันนา และไทเหนือในเขตปกครองตนเองใต้คง มณฑลยูนนานสาธารณรัฐประชาชนจีน ไทขึนและไทใหญ่ในสหภาพพม่า ไทพ่าเก ไทอ่ายตอนและไทคำตี่หรือไทคำที่ในรัฐอัสสัมและรัฐอรุณาจัลประเทศ ประเทศอินเดียน่าสังเกตว่า สังคมที่มีประเพณีสงกรานต์ล้วนเป็นสังคมที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน
คำว่า ” สงกรานต์ ” มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือการเคลื่อนที่ย้ายที่ หมายถึง เวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งทุกๆ เดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นเมื่อย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษ ซึ่งเป็นสงกรานต์ปี จะเรียกชื่อพิเศษว่า “ มหาสงกรานต์” จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่โดยวิธีนับทางสุริยคติ (วิธีนับวันและเดือนโดยถือกำหนดตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นหลัก) ดังนั้นการกำหนดนับวันสงกรานต์จึงตกอยู่ในระหว่างวันที่ ๑๓, ๑๔ และ ๑๕ เมษายน ซึ่งทั้ง ๓ วันจะมีชื่อเรียกเฉพาะ ดังนี้
วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์ (วันผู้สูงอายุ)
วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า วันเนา (วันครอบครัว)
วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก
ความหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์
สงกรานต์ แปลว่า “ก้าวขึ้น” “ย่างขึ้น” นั้นหมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ ขึ้นสู่ราศีใหม่ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน ที่เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ ๑๒ เดือนแล้วย่างขึ้นราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ ในทางโหราศาสตร์
มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึงสงกรานต์ปี คือปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือสงกรานต์หมายถึง ได้ทั้งสงกรานต์เดือนและสงกรานต์ปี แต่มหาสงกรานต์ หมายถึง สงกรานต์ปีอย่างเดียว
วันเนา แปลว่า “วันอยู่” คำว่า “เนา” แปลว่า “อยู่” หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา ๑ วัน วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว
วันเถลิงศก แปลว่า “วันขึ้นศก” เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ ๓ ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็น วันที่ ๓ ก็หมายความว่า อย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า ๑ องศาแล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ ๒ หรือที่ ๓ ก็ได้
ตามหลักแล้วเทศกาลสงกรานต์ถูกกำหนดตามการคำนวณโดยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ (ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ) เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” วันถัดมาเรียกว่า “วันเนา” และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า “วันเถลิงศก” จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) อย่างไรก็ตาม ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ
พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ
ประเพณีสงกรานต์ในแต่ละภาคของประเทศไทย
สงกรานต์ภาคเหนือ
สงกรานต์ภาคเหนือ (สงกรานต์ล้านนา) หรือ”ประเพณีปี๋ใหม่เมือง” อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่”วันสังขารล่อง”(13 เม.ย.) ที่มีการทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล “วันเนา”หรือ”วันเน่า”(14 เม.ย.) วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้ายเพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี “วันพญาวัน”หรือ”วันเถลิงศก” (15 เม.ย.) วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไปรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย”วันปากปี”(16 เม.ย.)ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆเพื่อขอขมาคารวะ และ”วันปากเดือน”(17 เม.ย.)เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่างๆออกไปจากตัวเพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา
สงกรานต์ภาคอีสาน
สงกรานต์ภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า “บุญเดือนห้า” หรือ”ตรุษสงกรานต์” และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงานโดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน
สงกรานต์ภาคใต้
สงกรานต์ภาคใต้ ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์(13 เม.ย.)เป็น”วันส่งเจ้าเมืองเก่า” โดยจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป ส่วน”วันว่าง”(14 เม.ย.) ชาวนครจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป และวันสุดท้ายเป็น”วันรับเจ้าเมืองใหม่”(15 เม.ย.)จะทำพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามส่งท้ายสงกรานต์ประเพณีสงกรานต์
สงกรานต์ภาคกลาง
สงกรานต์ภาคกลาง เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นวัน”มหาสงกรานต์” วันที่ 14 เป็น”วันกลาง”หรือ”วันเนา” วันที่ 15 เป็นวัน”วันเถลิงศก” ทั้ง 3 วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย
โดยการใช้เว็บไซต์ของ KPRU คุณรับทราบว่าคุณได้อ่านและทำความเข้าใจ นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และข้อกำหนดในการให้บริการ ของเรา ยอมรับ
แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาบัณฑิตและท้องถิ่น
สำนักวิทยบริการฯ
เปิดให้บริการ ช่วงเปิดภาคเรียน
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. วัน จันทร์ - เสาร์
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. วัน อาทิตย์
เปิดให้บริการ ช่วงปิดภาคเรียน
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. ทุกวัน
ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือ
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร กำหนด
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
เลขที่ 69 หมู่ที่ 1 ตำบลนครชุม อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร 62000
โทรศัพท์ 055-706555 ต่อ 1503
เว็บไชต์ : https://arit.kpru.ac.th
ติดต่อผู้ดูแลเว็บ : anucha_pu@kpru.ac.th