ประวัติความเป็นมาการสื่อสารในประเทศไทยได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา "กรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข" ขึ้น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2526 และได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นผู้สำเร็จราชการทั้งกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขเป็นพระองค์แรกต่อมาในปี พ.ศ. 2441 ทั้ง 2 กรมนี้ได้รวมเป็นกรมเดียวกัน มีชื่อใหม่ว่า "กรมไปรษณีย์โทรเลข" ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กิจการสื่อสารของไทยได้พัฒนาก้าวหน้ามาเป็นสำดับ มีการจัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของทางราชการขึ้นอีกหลายหน่วยงาน เช่น กรมประชาสัมพันธ์ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นต้น ในส่วนของภาคเอกชนก็มีบริษัทห้างร้านที่ดำเนินกิจการด้านการ สื่อสารเพิ่มมากขึ้น หน่วยงานเหล่านี้ได้ร่วมกันสนองพระราชปณิธานในอันที่จะพัฒนากิจการสื่อสารของประเทศให้เจริญก้าวหน้าตลอดมาจนบัดนี้
ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการสื่อสารได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และบทบาทของภาคเอกชนมีมากขึ้นรวมทั้งการแข่งขัน ในกิจการสื่อสารทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ได้ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ความได้เปรียบในเรื่องเศรษฐกิจของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ขึ้นอยู่กับการมีระบบการสื่อสารให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมกับประเทศอื่น คณะรัฐมนตรีได้ตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของการสื่อสารดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2546 กำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น "วันสื่อสารแห่งชาติ" นับตั้งแต่ พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา ได้มีการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี (ยกเว้นปี พ.ศ. 2533 คณะกรรมการจัดงานวันสื่อสาร แห่งชาติได้มีมติให้งดการจัดแสดงนิทรรศการ คงมีแต่เฉพาะงานพิธีและการประชุมทางวิชาการเรื่องเทคโนโลยีพื้นฐานและการวางแผนระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม) และในการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติแต่ละปี จะเน้นหัวข้อการจัดงานแตกต่างกันไปทุกปี เช่น
พ.ศ. 2528 หัวข้อการจัดงาน คือ การสื่อสารกับเยาวชนแห่งชาติ
พ.ศ.2530 หัวข้อการจัดงาน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการสื่อสาร
พ.ศ. 2535 หัวข้อการจัดงาน คือ การสื่อสารเพื่อทศวรรษหน้า
พ.ศ.2538 หัวข้อการจัดงาน คือ การสื่อสารกับการพัฒนาเทคโนโลยีการสนเทศ เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศให้ปี พ.ศ.2538 เป็นปีเทคโนโลยีสารสนเทศไทย
กิจกรรมในวันสื่อสารแห่งชาติ ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่
1. พิธีถวายเครื่องสักการะพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
2. การกล่าวคำปราศรัยของพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
3. การจัดทำดวงตาไปรษณียากรที่ระลึกวันสื่อสารแห่งประเทศไทย
4. การจัดนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม
พัฒนาการของการสื่อสารข้อมูลการสื่อสารในประเทศไทย
นอกจากพิราบสื่อสารและม้าเร็วแล้ว การสื่อสารเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ช่วงที่บ้านเมืองปลอดจากภัยสงคราม การเมืองภายในประเทศมีเสถียรภาพมั่นคง โดยวัตถุประสงค์ของการสื่อสารในยุคนั้น ก็เพื่อนำมาสนับสนุนกิจการด้านงานความมั่นคงของประเทศ ซึ่งยุคนั้นเรียกได้ว่า เป็นยุคเริ่มล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ต่างแย่งชิงผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ด้วยกัน และอารยะธรรมตะวันตกเริ่มหลั่งไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ต่อมาในยุคพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) การสื่อสารได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับราชสำนัก และเกิดพัฒนาสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีกับประเทศมหาอำนาจ จนทำให้ประเทศรอดพ้นจากการถูกคุกคามจากมหาอำนาจตะวันตกหลายครา รวมทั้งการสื่อสารสามารถทำให้รับเอาวิทยาการใหม่ๆ มาปรับปรุงพัฒนาประเทศในเวลาต่อมา จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงเจริญรอยตามพระราชบิดาในการปฏิรูปประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหากษัตริย์ผู้วางรากฐานกิจการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทย พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการสื่อสารว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ และเพื่อบำบัดทุกข์ราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนสนับสนุนงานด้านความมั่นคงของชาติด้วยประการหนึ่ง แรกทีเดียวนั้นการสื่อสารอยู่ในรูปไปรษณีย์พิเศษ ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในบบพระบรมมหาราชวัง และเขตบบพระนครชั้นใน โดย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ และเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2424 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ เป็นผู้ก่อตั้งการไปรษณีย์ จนในที่สุดการสื่อสารของระบบไทย โดยระบบไปรษณีย์ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็น “กรมไปรษณีย์” อย่างเป็นทางการขึ้น ในวันที่ 4 สิงหาคม 2426 โดยมีที่ทำการไปรสะนียาคารแห่งแรก ที่ ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลราชบูรณะ และอาคารในพระราชอุทยานสราญรมย์ ขณะนั้นได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีระบบโทรคมนาคมเข้ามา นั่นคือ กิจการโทรเลข ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีโทรคมนาคมอันทันสมัยรวดเร็วที่สุดในยุคนั้น เดิมทีกิจการโทรเลขอยู่ในความดูแลของกลาโหม และมีพัฒนาการต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการวางสายโทรเลขเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. 2418 กรุงเทพฯ ไป สมุทรปราการ เพื่อใช้ในงานราชการ จนกระทั่งได้เปิดให้มีบริการสำหรับประชาชนเป็นครั้งแรก เมื่อ 16 กรกฎาคม 2426 โดยมีอัตราค่าบริการ “คำละ 1 เฟื้อง” จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเป็น “กรมโทรเลข” อีกกรมหนึ่ง และมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการกรมโทรเลขอีกตำแหน่งหนึ่ง จากนั้นกลาโหมได้เริ่มมีการนำโทรศัพท์เข้ามาและมอบให้กรมโทรเลขดูแลต่อ เมื่อเกิดทิศทางในการรวมการสื่อสารของชาติมาอยู่ที่เดียวกันจึงเกิดการพัฒนามากมายอย่างรวดเร็วตามมา เช่น มีการนำรถไฟมาสนับสนุนกิจการไปรษณีย์ ก็เกิดเป็นการรถไฟตามมา มีการนำเครื่องบินมาสนับสนุนการไปรษณีย์ที่เรียกว่า รอยัลเมลล์ ก็เกิดมีการบินขึ้นต่อมา การไปรษณีย์และโทรเลขมีการขยายบริการไปทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของชาติในการสื่อสารไปยังต่างประเทศทั่วโลก ภารกิจของกรมไปรษณีย์โทรเลข มีมากมายขึ้น ถือได้ว่าเป็นราชการกรมแห่งแรกในประเทศก็กล่าวได้ จนเกิดงานสาธารณะอันสำคัญของประเทศให้รับผิดชอบขึ้นมากมาย ทั้งงานบริการโทรคมนาคม กิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการออมสิน กิจการวิทยุการบิน กิจการโทรศัพท์ซึ่งภายหลังได้แยกออกไป จนกระทั่งปัจจุบันสืบเนื่องจากเจตนารมณ์ตามมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ต้องการให้มีองค์กรอิสระปราศจากการแทรกแซงจากรัฐ เข้ามาทำหน้าที่บริหารทรัพยากรคลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์ของสาธารณะและกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม อย่างแท้จริง จึงได้เกิดการตราพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ขึ้นมา ตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญฯ ฉบับดังกล่าว ส่งผลให้มีการประกาศให้ยุบกรมไปรษณีย์โทรเลข และจัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)” ขึ้นมาทำหน้าที่บริหารทรัพยากรโทรคมนาคมของชาติ และกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม ดังที่ทราบกันดีในปัจจุบัน
ด้านงานสื่อสารโทรคมนาคม
จากการปฏิรูปการกำกับดูแลและบริหารกิจการสื่อสารโทรคมนาคมของชาติโดยภาคประชาชนในครั้งนั้นเอง ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงจากรัฐทั้งอำนาจบริหารและงบประมาณ ทำหน้าที่กำกับดูแล (Regulator) กิจการโทรคมนาคมของประเทศ และกล่าวได้ว่ายังเป็นองค์กรอิสระเพียงแห่งเดียวที่ไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ทำให้ กทช. ยังคงยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคงแม้จะถูกกระบวนการสร้างข่าวลบจากผู้เสียประโยชน์จากการสร้างความเป็นธรรมก็ตาม หรือแม้แต่การตั้งกระทรวงแห่งหนึ่งเพื่อแทรกแซงกิจการโทรคมนาคมของบางรัฐบาลก็ตาม แต่ประชาชนทั่วไปล้วนประจักษ์ดี
กทช. นอกจากถือเป็นองค์กรที่สืบสานพระราชปณิธานจากพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ในราชวงศ์จักรี พระมหากษัตริย์ที่ทรงรักพสกนิกรของพระองค์อย่างยิ่ง และเกี่ยวข้องในการนำการโทรคมนาคมเข้าบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร สนับสนุนการพัฒนาบ้านเมืองในทุกด้าน และสนับสนุนงานความมั่นคงของชาติ แม้คนในวงการโทรคมนาคมมักพูดถึงแต่เรื่องธุรกิจเรื่องการผลักดันให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมในกิจการโทรคมนาคมก็ตาม แต่ควรช่วยกันมองหาหนทางในการประยุกต์การโทรคมนาคมเพื่อพัฒนาบ้านเมือง และเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนด้วยอีกประการ
แนวโน้มการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
แม้ว่าเกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมในกิจการโทรคมนาคมจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพโครงข่ายโทรคมนาคมของชาติให้สูงขึ้นและมีค่าบริการถูกลง รวมถึงส่งเสริมกิจการโทรคมนาคมไทยให้พัฒนาก้าวหน้า อันจะส่งผลให้เกิดความเจริญแก่บ้านเมืองในทุกด้านตามมาก็ตามแต่ เหนือสิ่งอื่นใดผู้ที่อยู่ในวงการโทรคมนาคมต้องมิลืมเลือนที่จักสืบสานพระราชปณิธานในการนำการโทรคมนาคมเข้าบรรเทาความยากลำบากของพี่น้องชาวไทยด้วย อย่างไรก็ตามความสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสารที่กำลังก้าวไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เนื่องในวันคล้ายวันสื่อสารแห่งชาติ ปรเมศวร์และศุภลักษณ์ หวังเพียงทุกท่านในวงการโทรคมนาคมอย่าพึงเห็นเพียงผลประโยชน์ของตน หากแต่ตั้งมั่นในปณิธานในการนำการโทรคมนาคมเข้าพัฒนาประเทศและเปิดโอกาสให้พี่น้องชาวไทยในท้องถิ่นทุรกันดารมีโอกาสที่ดีในชีวิต รวมทั้งให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และมุ่งสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจระหว่างกันสมานฉันท์แบบไทย เพื่อเสริมสร้างชาติให้เข้มแข็ง มั่นคง ก้าวหน้า อย่างยั่งยืนต่อไป
โดยการใช้เว็บไซต์ของ KPRU คุณรับทราบว่าคุณได้อ่านและทำความเข้าใจ นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และข้อกำหนดในการให้บริการ ของเรา ยอมรับ
แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาบัณฑิตและท้องถิ่น
สำนักวิทยบริการฯ
เปิดให้บริการ ช่วงเปิดภาคเรียน
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. วัน จันทร์ - เสาร์
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. วัน อาทิตย์
เปิดให้บริการ ช่วงปิดภาคเรียน
เวลา 08.30 น. - 16.30 น. ทุกวัน
ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือ
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร กำหนด
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
เลขที่ 69 หมู่ที่ 1 ตำบลนครชุม อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร 62000
โทรศัพท์ 055-706555 ต่อ 1503
เว็บไชต์ : https://arit.kpru.ac.th
ติดต่อผู้ดูแลเว็บ : anucha_pu@kpru.ac.th