วิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือบ้านใหม่ศรีอุบล ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

วิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือบ้านใหม่ศรีอุบล ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

เผยแพร่เมื่อ 01-08-2022 ผู้ชม 762

[16.4997508, 99.6318516, วิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือบ้านใหม่ศรีอุบล ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร]

บทนำ
         ความเป็นมาของวิสาหกิจชุมชน “วิสาหกิจชุมชน” อาจจะเป็นคำใหม่ที่หลายๆ คนยังไม่เข้าใจ และเข้าใจผิดไปว่าเป็นการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านการสนับสนุนเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพเหมือนหลายๆ โครงการที่ผ่านมา ซึ่งวิสาหกิจชุมชนเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่ขนานไปกับเศรษฐกิจกระแสหลัก อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจกระแสหลักก่อให้เกิดความเหลื่อมล่ำระหว่างรายได้ของประชาชนและก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย วิสาหกิจชุมชนเกิดขึ้นจากการนำเอาแนวทางเศรษฐกิจชุมชนมาพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ คำว่า “วิสาหกิจชุมชน” นั้น สามารถใช้คำว่า “ธุรกิจชุมชน” แทนได้อันเนื่องมาจากว่าชุมชนไม่ใช่รัฐ ดังนั้นสถานประกอบการที่ชุมชนเป็นเจ้าของก็ต้องจัดว่า เป็นของภาคเอกชนเช่นเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าหากใช้คำว่าธุรกิจนั่นก็หมายถึง การแสวงหากำไรเป็นที่ตั้ง แต่สถานประกอบการที่ชุมชนเป็นเจ้าของนั้นกลับมีแนวคิดที่เน้นการพึ่งพาอาศัยกันมากกว่าการแสวงหากำไร ดังนั้นจึงควรใช้คำว่า “วิสาหกิจชุมชน” ที่หลายคนรู้จัก โดยวิสาหกิจชุมชนนั้นจัดเป็นกลุ่มกิจกรรมของชุมชนที่ชุมชนคิดได้จากการเรียนรู้ไม่ใช่กิจกรรมเดี่ยวๆ ที่ทำเพื่อมุ่งสู่ตลาดใหญ่ และไม่ใช่กิจกรรมที่ซับซ้อนอะไร ล้วนแล้วแต่เป็นการทำกินทำใช้ทดแทนการซื้อจากตลาดได้ และเป็นการจัดการระบบการผลิตและบริโภคที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การจัดการเรื่องข้าว หมู เห็ด เป็ด ไก่ ผัก ผลไม้ น้ำยาสระผม สบู่ น้ำยาล้างจาน หรืออื่นๆ ที่ชุมชนทำได้เองโดยไม่ยุ่งยากนัก การทำกินทำใช้ทดแทนการซื้อเป็นการลดรายจ่าย และยังช่วยให้ระบบเศรษฐกิจใหญ่เข้มแข็งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการจัดระบบเศรษฐกิจใหม่ให้เป็นฐานที่เป็นจริงในชุมชน เพราะถ้าชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเปรียบเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนเสาเข็มของตึกที่ทำให้ตึกมั่นคงแข็งแรงเศรษฐกิจของประเทศก็จะเข้มแข็งและอยู่ได้ ที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจในประเทศเปรียบเหมือนการสร้างตึกที่มีฐานแคบ ถ้าฐานไม่แข็งแรงตึกก็พังลงมา ดังนั้นวิสาหกิจชุมชนจึงมีความสำคัญในการสร้างฐานมั่นคงให้กับประเทศได้ โดยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าให้เข้มแข็งและกระจายโอกาสการประกอบ อาชีพให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ สามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น “วิสาหกิจชุมชน” จัดเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ไม่มีรูปแบบไม่ได้เป็นนิติบุคคลตาม กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การสนับสนุนจึงไม่เป็นระบบและไม่มีเอกภาพ ส่งผลให้มีปัญหาในการดำเนินงานเพราะวิสาหกิจชุมชนบางแห่งไม่เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานรัฐหรือภาคเอกชน และบางครั้งมีการสนับสนุนจากภาครัฐแต่ไม่ตรงความต้องการที่แท้จริง พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 จึงได้ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2548 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว (สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชน, 2548, หน้า 3) 

วิวัฒนาการของผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ
         ผ้าทอมือ เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมประจำชาติและความคิดสร้างสรรค์ของคนในชาติ ในการรู้จักทำเครื่องนุ่งห่มและผลิตภัณฑ์ใช้สอยในชีวิตประจำวันของคนไทย คนไทยที่รู้จักการทอผ้ามาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สังคมไทยชนบทถือว่างานทอผ้าเป็นหน้าที่ของผู้หญิงทำกันในครัวเรือนยามว่างจากการทำไร่ทำนา การทอผ้าจึงมีทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย
         พัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งลวดลายและสีสันของผ้า สืบทอดเป็นเวลานานตามจินตนาการของช่างทอ และอิทธิพลจากปัจจัยอื่นๆ ในอดีตนั้นผ้าจัดเป็นวัสดุหลักในการแต่งกายและเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะทางสังคมของผู้แต่งรวมทั้งตำแหน่งและกำหนดชั้นวรรณะของผู้สวมใส่ ด้วยเหตุนี้การทอผ้าสำหรับบุคคลที่ใช้จึงมี 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ ประเภทแรกเป็นผ้าสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งมีทั้งผ้าใช้สอยในชีวิตประจำวัน และผ้าที่ใช้ในโอกาสพิเศษเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อขนบธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มชน เช่น ผ้าสำหรับนุ่งห่ม ใช้ในงานทำบุญ งานนักขัตฤกษ์ งานเทศกาลหรืองานพิธีการสำคัญๆ ประเภทที่สองเป็นผ้าสำหรับชนชั้นสูงเจ้านายและพระมหากษัตริย์ เช่น ผ้าปักโบราณประเภทต่างๆ ส่วนประเภทที่สามเป็นผ้าสำหรับพระภิกษุสงฆ์ และเครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา เช่น ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน เป็นต้น ผ้าไทยมีหลายรูปแบบ มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นในแต่ละภูมิภาค และมีวิวัฒนาการความเป็นมาหลายยุคหลายสมัย (อัจฉรา ภาณุรัตน์ และคณะ, 2545)
         จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเราค้นพบหลักฐานเป็นเศษผ้าสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏเป็นครั้งแรกในสมัยสำริด กล่าวคือ พบเศษติดอยู่กับกำไลสำริดที่บ้านเชียง อุดรธานี อายุของผ้าคงจะมีอายุเท่ากำไล คือ ประมาณ 3,000 ปี แต่อายุจริงของเทคโนโลยีการทำผ้าคงมีมาก่อน เพราะการทอผ้าเป็นกระบวนการที่มีหลายขั้นตอน มีการฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ การทอผ้าจึงน่าจะเกิดก่อนหน้านี้นานแล้ว จากหลักฐานข้างต้นแสดงว่าเส้นใยมนุษย์สมัยสำริดรู้จักนำการทอเป็นผืนผ้า คือ ไหมและป่านกัญชา เทคนิคที่ใช้ทอคือ ลายขัดหนึ่ง ส่วนลวดลายที่ใช้ทอไม่ปรากฏหลักฐาน
         จากหลักฐานทางอ้อมที่ช่วยยืนยันว่ามีการทอผ้ามาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ การพบว่า ดินเผาที่ใช้ในการปั่นด้าย และลูกกลิ้งซึ่งเป็นเครื่องประดับดินเผาทำเป็นรูปทรงกระบอก เจาะรูตรงกลาง แกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ สวยงามมาก ลวดลายบนลูกกลิ้งมีทั้งลายเส้นตรง ลวดลายคลื่น ลายซิกแซก และลายก้นหอย ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นเครื่องมือที่ใช้กลิ้งทำลวดลายลงบนผ้า ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20-21 ดินแดนของภาคเหนือ เป็นที่ตั้งของอาณาจักรล้านนาไทยที่มีความรุ่งเรืองกล่าวกันว่าชาวล้านนาเป็นผู้มีความชำนาญในการทอผ้าใช้เอง โดยเฉพาะผ้าฝ้าย มีการทออย่างแพร่หลายถึงขั้นส่งจำหน่ายไปยังอาณาจักรใกล้เคียง ผ้าฝ้ายที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นมีสีสันนานาชนิด เป็นต้นว่า ผ้าสีจันทร์ขาว ผ้าสีจันทร์แดง ผ้าสีดอกจำปา เป็นต้น
         ปัจจุบันการทอผ้าพื้นบ้านของไทยมีกระจายไปทั่วเกือบทุกภาค แต่ที่มีมากได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ รูปแบบของผ้าจะแตกต่างกันไปตามคตินิยม ความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณีของเชื้อชาติแต่ละกลุ่มชน เช่น กลุ่มชนพื้นเมืองล้านนาทางภาคเหนือ นิยมทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมที่มีลวดลายด้วยวิธีการยกและจกเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นกลุ่มชนคนไทยเชื้อสายลาวคั่ง ลาวพวน และลาวอีสาน นิยมทอผ้าด้วยวิธีจกและมัดหมี่ ส่วนพวกลาวโซ่งนิยมลายปัก สำหรับผลิตภัณฑ์จากผ้าซึ่งทำเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันตามพื้นบ้าน เช่น การทำเครื่องนอน หมอน มุ้ง ผ้าห่อม เสื้อ กางเกง โสร่ง ผ้าคลุม ผ้าขาวม้า และเครื่องใช้ที่จะถวายพระในพิธีกรรมต่างๆ

ประเภทของผ้าทอมือ
         ผ้าทอมือของประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ แบ่งตามวัตถุดิบที่ใช้ในการทอผ้าและแบ่งตามกรรมวิธีในการทอซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ (ภัทรธิรา  ผลงาน, 2551) 

แบ่งตามวัตถุดิบที่ใช้ในการทอ
         1. ฝ้าย เป็นพืชไร่เศรษฐกิจ เพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม ฝ้ายมีกำเนิดประมาณ 5,000 ปี ก่อนคริสตกาล ต้นฝ้ายมีความทนทานต่อความแห้งแล้ง ชอบขึ้นในเขตอากาศร้อน ผลผลิตของฝ้ายที่นำมาใช้ประโยชน์ คือ ดอกฝ้าย เปลือก เมล็ดฝ้าย และเนื้อเมล็ดฝ้าย ดอกฝ้าย ส่วนที่เป็นเส้นใย ขนปุยสีขาวใช้ในการทอผ้า ทำเบาะสักหลาด ทอพรม และใช้ในอุตสาหกรรมเส้นใยประดิษฐ์ทำฟิล์มเอ็กซเรย์ ฯลฯ พันธุ์ฝ้ายในประเทศไทยมีหลากหลายชนิด นับตั้งแต่ฝ้ายตุ่นเป็นฝ้ายพื้นเมืองของไทย ดอกฝ้ายตุ่นมีขนาดเล็ก สีน้ำตาล เส้นใยสั้นๆ ใช้ในการทอผ้าด้วยมือแบบพื้นเมือง และฝ้ายพันธุ์ชนิดอื่นใช้อุตสาหกรรมทอผ้า
         2. ไหม เป็นแมลงชนิดหนึ่งอยู่ในอันดับ Lepidoptera ประเภทผีเสื้อ ตัวหนอนไหมกินพืช ได้หลายชนิด แต่ชอบกินใบหม่อนมากที่สุด การเลี้ยงไหมเชื่อกันว่าอุบัติขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน เมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว วงจรชีวิตไหมประกอบด้วย ระยะที่เป็นไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และผีเสื้อ อาหารของไหมที่ใช้เลี้ยงคือใบหม่อน ซึ่งจะต้องมีความสดอยู่เสมอหม่อนจัดเป็นพืชยืนต้นชนิดหนึ่ง เจริญเติบโตค่อนข้าง ด้วยเหตุนี้การเลี้ยงไหมจึงต้องควบคู่ไปกับการทำสวนหม่อนเสมอ
         3. ไหมประดิษฐ์ จากสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยมีความแตกต่างกัน จึงเป็นข้อจำกัดในการปลูกฝ้าย และปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ส่งผลให้ผู้ทอผ้าในหลายจังหวัดนำเส้นใยสังเคราะห์หรือใยประดิษฐ์ พวกใยโพลีเอสเตอร์ (Polyester) ซึ่งมีส่วนประกอบจากไดไฮดริกแอลกอฮอล์และกรดเทเรพทาลิก (Rayon) ซึ่งมีส่วนประกอบจากเศษฝ้าย เนื้อไม้มาทดแทนเส้นฝ้ายและเส้นไหมซึ่งมีขั้นตอนการผลิตที่ยุ่งยากซับซ้อน และมีราคาแพงกว่าเส้นใยสังเคราะห์ ชาวบ้านนิยมเรียกเส้นใยสังเคราะห์ว่า “ไหมประดิษฐ์”

แบ่งตามกรรมวิธีการทอ
         กรรมวิธีการทอ คือ การกระทำให้เกิดลวดลายบนพื้นผ้าในรูปแบบต่างๆ ที่ซับซ้อนและไม่ซับซ้อน แต่ละกรรมวิธีการทำลวดลายจะเรียกแตกต่างกันออกไป ได้แก่
         1. ผ้าขิด เป็นผ้าทอซึ่งยกลายในตัวนี้มีทั้งฝ้าย ไหมและยกดิ้น เรียกว่า “เก็บขิด” หมายถึง การเก็บตะกอลอยเพิ่ม โดยใช้ไม้ไผ่ซึ่งเรียกว่าไม้เก็บขิด เป็นตัวยกเว้นยืนแต่ละแถวใช้เส้นพุ่งพิเศษสอดผ่านจากริมผ้าด้านหนึ่งไปสู่ริมผ้าอีกด้านหนึ่ง เกิดเป็นลวดลายขิดตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า ผ้าขิดนิยมใช้ทำผ้าปุอาสนะ ผ้าล้อหัวช้าง ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ผ้าคลุมไหล่ หรือหมอน มีทอกันมากในภาคอีสาน
         2. ผ้าจก เป็นผ้าทอลายในตัว ที่เรียกว่า “จก” นั้นมาจากวิธีการทอที่ใช้ขนเม่น ไม้หรือ นิ้วมือควักเส้นด้ายยืนขึ้น เพื่อสอดด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปทำให้เกิดลวดลายเฉพาะที่ หรือเป็นช่วง ๆ วิธีจกนี้ ทำให้สามารถสลับสีและลวดลายได้ต่างๆ กัน แตกต่างกับการเก็บขิด ที่ใช้ด้ายพุ่งพิเศษจลอดแถวสีเดียว การทอผ้าวิธีจกใช้เวลานานมาก มักทำให้เป็นผืนผ้าหน้าแคบใช้ต่อกับตัวซิ่น เรียกว่า “ซิ่นตีนจก” ชาวชนบทจะใช้นุ่งในโอกาสพิเศษ เช่น ไปวัดหรืองานพิธีการต่าง ๆ ผ้าจกที่ทำให้เป็นผืนเล็กใช้สำหรับทำหน้าหมอนขวาน หรือนำไปใช้ทำประกอบเพื่อเป็นเครื่องนุ่งห่มใช้สอยอื่นๆ เช่น ผ้าห่ม เป็นต้น
         3. ผ้าล้วง หรือผ้าน้ำไหลเป็นชนิดผ้ายก ลวดลายในตัว โดยใช้วิธีการทอลายขัดและใช้ด้ายพุ่งธรรมดาหลายสี พุ่งย้อนกลับไปมาเป็นช่วงๆ ช่วงละสี โดยมีการเกาะเกี่ยวดันระหว่างเส้นพุ่งแต่ละช่วงเกิดเป็นจังหวะของลวดลายพลิ้วไปมาดั่งสายน้ำ จึงเรียกลายน้ำไหล
         4. ผ้ายก เป็นผ้าทอซึ่งยกลายในตัวโดยใช้เส้นพุ่งพิเศษเป็นไหม ดิ้นเงินดิ้นทอง ใช้วิธีเก็บ ตะกอลาย เช่นเดียวกับการทอขิดผ้ายกเป็นผ้าซิ่นไหมยกลวดลายเฉพาะเชิงซิ่น
         5. ผ้ามุก เป็นผ้าทอซึ่งยกลายในตัวโดยใช้เส้นใยยืนพิเศษเพิ่มบนกี่ลายมุกบนผ้าเกิดจากการใช้ตะกอลอยยกเส้นด้ายยืนพิเศษ แตกต่างจากผ้าขิดและผ้าจก ซึ่งจะใช้ด้ายพุ่งพิเศษชาวไทยพวนที่หาดเสี้ยว
         6. ผ้าเกาะยอ เป็นผ้าทอยกดอกที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ในเขตเกาะยอ จังหวัดสงขลา ส่วนใหญ่การทอผ้าเกาะยอจะใช้กี่กระตุกทอเป็นผ้าพื้น ชนิด 2 ตะกอ 4 ตะกอ 6 ตะกอ 8 และ 10 ตะกอ วัสดุที่ใช้ทอผ้าเป็นฝ้ายและเส้นใยสังเคราะห์ ทอผ้าซิ่น ผ้าตัดเสื้อ และผ้าฝ้ายเนื้อบางที่ทอเป็นโสร่งและผ้าขาวม้า ลวดลายที่นิยมทอ ได้แก่ ลายดอกราชวัตรเล็ก ลายดอกราลวัตรใหญ่ ลายลูกแก้ว ลายดอกพิกุลเล็ก ลายดอกพิกุลใหญ่ ลายดอกจิก ลายดอกชุก ลายคดกริช ลายห้าหนึ่ง หรือ ลายตาหมากรุก ฯลฯ
         7. ผ้ามัดหมี่ เป็นการมัดลายที่เส้นพุ่งหรือเส้นยืนด้วยเชือกก่อนนำไปย้อมสีเพื่อให้เกิดสีสันและลวดลายตามที่ช่างทอพื้นบ้านกำหนดนึกคิดไว้ในใจ ผ้ามัดหมี่มีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม มัดหมี่ฝ้าย ในสมัยก่อนนิยมใช้สีน้ำเงินจากต้นครามเป็นสีเดียว แต่ปัจจุบันใช้สีแคมีย้อมหลากสีมากขึ้น สำหรับผ้ามัดหมี่ไหม จะมีลวดลายละเอียด ประณีตและเล่นสีสันมากกว่าผ้าฝ้าย 

ความเป็นมาของวิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือบ้านใหม่ศรีอุบล
         ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล เดิมเป็นส่วนหนึ่งของตำบลคณฑี ซึ่งแยกการปกครองออกเมื่อ พ.ศ.2508 เป็นนิคมสร้างตนเองทุ่งโพธิ์ทะเล กรมประชาสงเคราะห์เข้ามาดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับสมาชิกในตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล ประชาชนอพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดิมแบ่งเขตการปกครองเป็น 6 หมู่บ้าน พื้นที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมือง ประมาณ 20 กิโลเมตร พื้นที่ทั้งหมด 43,065 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 40,125 ไร่ ที่อยู่อาศัย 2,455 ไร่ ที่สาธารณะ 485 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม เอกสารสิทธิ์ของที่ดินเป็นโฉนด ปัญหาดินที่พบคือดินจืด เขตพื้นที่ ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลเขาคีรี อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร  ทิศใต้ ติดกับ ตำบลคณฑี อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ทิศตะวันออก ติดกับตำบลทุ่งมหาชัย อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร และทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลสระแก้ว และ ต.เทพนคร อ.เมืองกำแพงเพชร ส่วนใหญ่ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกร (ธโยธร  ลายทอง, 2562)
         ผ้าเป็นเครื่องนุ่งห่มเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ การทอผ้าจึงเป็นวิถีชีวิตของชุมชนเกือบทุกชุมชนทุกภูมิภาคในโลก จังหวัดกำแพงเพชร มีกลุ่มทอผ้าที่ได้มาตรฐานและเป็นระบบสามารถเลี้ยงตัวได้ ได้แก่ หมู่บ้านใหม่ศรีอุบล หมู่ที่ 8 ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ที่มีการทอผ้าอย่างเป็นระบบและครบวงจรมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2534 ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วประชาชนชาวบ้านใหม่ศรีอุบล ส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดอุบลราชธานี ในราว 40-50 ปี มีความรู้และทักษะในการทอผ้าติดตัวมาเป็นส่วนใหญ่
         การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือบ้านใหม่ศรีอุบล เกิดขึ้นจากการร่วมกลุ่มของประชาชนที่มีความรู้และทักษะของการทอผ้า ที่สืบทอดกันมาจากครอบครัว เป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดกันมาสู่รุ่นต่อรุ่นได้มีการรวมตัวของประชาชนหลังจากว่างงานเกษตรกร โดยมีหัวหน้ากลุ่ม ได้แก่ นางสาวธโยธร ลายทอง เป็นหัวหน้ากลุ่มกลุ่มผ้าทอมือบ้านใหม่ศรีอุบล เริ่มผลิตผ้าจากการปั่นด้าย จนกระทั่งถึงการทอผ้า ตัดเย็บ ขายปลีกและขายส่งอย่างครบวงจร มีระบบและสามารถเลี้ยงตนเองได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดกำแพงเพชร และองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งโพธิ์ทะเลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนมีรายได้จากการทอผ้า ตัดเย็บและเลี้ยงตัวได้ หลังจากการทำไร่ทำนา หรือว่างจากการทำเกษตรกรรมนับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับการรวมกลุ่มการทำงานอย่างเข้มแข็ง ของประชาชน ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งมากขึ้น
         ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือบ้านใหม่ศรีอุบลมีการผลิตที่หลากหลาย พัฒนาให้เป็นไปตามยุคสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า การผลิตจะขึ้นอยู่กับการผลิตของสมาชิก จะมารวมตัวกันหลังว่างงานจากการทำเกษตรกรรม โดยที่กลุ่มจะมีกี่ทอผ้าจำนวน 15-20 กี่ รวมกันให้กับสมาชิกได้มาทอผ้า และสมาชิกจะทำการผลิตและนำมาฝากขายที่กลุ่ม ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นผ้าทอมือที่เป็นผ้าทอเป็นผืนเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แบบอื่น และมีผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์หลากหลายรูปแบบที่ผลิตมาจากผ้าฝ้ายทอมือแปรรูป ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีดังนี้
         1. ผ้าฝ้ายทอมือเป็นผืนหลายขนาดผ้าฝ้ายทอมือ (เมตร) ได้แก่ ผ้าทอลวดลายต่าง ๆ ทั้งลวดลาย แบบดั้งเดิมและลวดลายประยุกต์ต่าง ๆ
         2. ผ้าขาวม้ามีลักษณะเป็นผ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความกว้างประมาณ 2 ศอก ยาวประมาณ 3-4 ศอก เป็นผ้าสำหรับผู้ชายใช้นุ่งแบบลำลอง ความกว้างจึงเท่ากับระยะจากเอวถึงกลางหน้าแข้ง ความยาวเท่ากับระยะพันรอบตัวแล้วเหลือเศษอีกเล็กน้อย โดยมากทอเป็นลายตารางเล็กๆ นิยมใช้ด้ายหลายสี
         3. ผ้าคลุมไหล่ เป็นแบบผ้าทอมือทั้งผืนไร้รอยต่อ มีหลากหลายสีสันและขนาดให้เลือก การออกแบบลายทอเป็นรูปแบบลายไขว้และลายโปร่ง เพราะให้ความหนาที่พอดี เป็นลายที่เส้นด้านไม่ถูกทอให้แน่นจนเกิดไป ทำให้เป็นผ้าคลุมไหล่ที่ระบายอากาศเย็นสบายเมื่อสวมใส่ใช้สอยได้สะดวกได้ทุกโอกาส เหมาะกับทุกเพศทุกวัย
         4. เสื้อ มีการออกแบบทอผ้ามือมาเป็นเสื้อเพื่อจำหน่าย โดยมีการเน้นลวดลาย สีสันที่ใช้บนตัวผลิตภัณฑ์ทำได้อย่างโดดเด่น โดยเน้นสีที่เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว เช่น เสื่อสีโทนสดใสลายผ้าขาวม้า มีการออกแบบตัดเย็บเองโดยกลุ่มสมาชิก
         5. กระเป๋า เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีการแปรรูปผ้าฝ้ายทอมือมาเป็นกระเป๋า โดยสมาชิกในกลุ่มมีทักษะของการเย็บผ้าที่ดี จึงทำให้มีการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้าได้อย่างโดดเด่น และเป็นที่สนใจของตลาดมากขึ้น โดยมีการออกแบบกระเป๋าหลากหลายขนาด เช่น กระเป๋าเป้ กระเป๋าใส่เหรียญสตางค์และของจุกจิก และกระเป๋าสะพายสตรีใบใหญ่ รวมถึงการตัดเย็บตามการสั่งของลูกค้าได้อีกด้วย

ขั้นตอนการผลิตผ้าทอมือ
         การทอผ้าของคนไทยในภูมิภาคต่างๆ จะมีขั้นตอนสำคัญในการผลิตคล้ายคลึงกันเนื่องจากผ้าแต่ละประเภทใช้วัสดุในการผลิตที่เหมือนกัน คือเส้นฝ้าย เส้นไหม เส้นไหมประดิษฐ์ ซึ่งอาจแบ่งขั้นตอนในการผลิตผ้าทอมือออกตามลำดับกระบวนการผลิตที่สำคัญ ได้ดังต่อไปนี้
         1. ขั้นตอนการผลิตเส้นใย
         เส้นใยที่นำมาทอผ้า ประกอบด้วยเส้นใยสำคัญ 3 ชนิด คือ เส้นใยฝ้ายอันเป็นเส้นใยที่ได้จากพืชเส้นใยไหมที่ได้จากสัตว์ และเส้นใยสังเคราะห์ หรือไหมประดิษฐ์ ซึ่งเป็นเส้นใยพวกโพลีเอสเตอร์ และเรยอง เส้นใยไหมประดิษฐ์นี้เป็นเส้นใยสำเร็จรูปที่หาซื้อได้จากร้านค้าในจังหวัดต่างๆ สามารถนำมาใช้ทอผ้าได้เลย แต่สำหรับเส้นใยฝ้าย และเส้นใยไหมนั้นต้องมีการเตรียมอุปกรณ์ และขั้นตอนในการผลิตเส้นใย ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้ คือ
             1.1 อุปกรณ์ในการผลิตเส้นใย ในการผลิตเส้นใยส่วนมากทำจากไม้และไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายประกอบด้วย
             - อิ้ว เป็นอุปกรณ์ในการผลิตเส้นใยฝ้ายใช้แยกเมล็ดออกจากปุยฝ้าย มีลูกหีบทำด้วยตัวไม้ 2 ท่อน เป็นเกลียวบิดคล้ายสว่านยึดติดอยู่กับหลัก 2 ข้าง ท่อนล่างยื่นออกไป มีมือหมุนเรียกว่า แขนอิ้ว ใส่ฝ้ายเข้าไปในลูกหีบแล้วหมุน ลูกหีบจะแยกเมล็ดออกจากปุยฝ้าย
             - กะเพียด และคันโต้ง (ไม้ดีดฝ้าย) เป็นอุปกรณ์ในการผลิตเส้นใยฝ้ายโดยนำฝ้ายที่อิ้วแล้วมีลักษณะเกาะกันเป็นกระจุกมาตีดีดให้ขึ้นปุย กะเพียดมีลักษณะคล้ายตะกร้าก้นลึกแล้วสอบการดีดฝ้ายจะทำในกะเพียดโดยใช้คันโต้งหรือไม้ดีดฝ้าย ที่ทำด้วยไม้ไผ่เหลาปลาย ทั้ง 2 ข้าง มีเชือกยึดปลายทั้ง 2 ข้างลักษณะเหมือนคันธนูเป็นตัวดีดให้ฝ้ายขึ้นปุย
             - ไม้ล้อฝ้าย เป็นอุปกรณ์ในการผลิตเส้นใยฝ้ายประกอบด้วยไม้ 2 ชิ้น ชิ้นแรกเป็นกระดานแผ่นเล็กๆ ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ชิ้นที่สองเป็นไม้ไผ่กลมเหลาให้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร ใช้สำหรับม้วนพันปุยฝ้ายที่ดีดแล้วให้เป็นหลอด โดยการแบ่งปุยออกแล้วแผ่เป็นแผ่นบางๆ ขนาดประมาณฝ่ามือบนแผ่นกระดานวางไม้กลมลงกลางแผ่นฝ้ายแล้วคลึงม้วนพันไม้ให้แน่น จากนั้นถอดไม้ออกจะได้ปุยฝ้ายซึ่งม้วนเป็นหลอดใช้ผ้าห่อให้แน่นเพื่อไม่ให้หลอดฝ้ายฟูขึ้นอีกจะทำให้เข็นยาก
             - หลาหรือใน เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กับเส้นใยฝ้ายและไหม ในการใช้กับฝ้ายจะใช้เพื่อเข็นหรือกรอฝ้ายจากปุยฝ้ายให้เป็นเส้น และใช้ปั่นหลอดเพื่อใช้เป็นทางต่ำ (เส้นพุ่ง) กรณีที่ใช้กับไหมจะใช้เพื่อเข็นหรือปั่นไหม 2 เส้นรวมกันเรียกว่า เข็นรังกันหรือเข็นควบกัน ใช้แกว่งไหมเพื่อเก็บส่วนที่เป็นปุ่มหรือขี้ไหมออกจากเส้นไหม ทำให้เส้นไหมบิดตัวแน่นขึ้นใช้ทำเป็นทางเครือ (เส้นยืน) และใช้ปั่นหลอดเพื่อทำเป็นทางต่ำ (เส้นพุ่ง) เช่นเดียวกับฝ้าย ลักษณะของวงล้ออยู่ทางด้านขาวมือ ยึดติดอยู่กับหลัก 2 หลัก มีที่สำหรับจับเพื่อให้วงล้อหมุนเรียกว่าแขนหลา จากหลักนี้จะมีไม้ทำเป็นคานออกไปทางซ้ายมือยาวประมาณ 80–100 เซนติเมตร มีไม้แผ่นเล็กๆ ติดอยู่ที่ปลายไม้เรียกว่าหัวหลา ที่หัวหลาจะยึดติดอยู่กับเหล็กปลายแหลมยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เรียกว่าเหล็กใน ระหว่างเหล็กในกับวงล้อจะมีเชือกคล้องเรียกว่าสายหลาเมื่อหมุนวงล้อเหล็กก็จะหมุนด้วย ปุยฝ้ายที่เข็นหรือกรอเป็นเส้นแล้วจะอยู่ที่เหล็กในนี้
             - เปีย เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเส้นใยฝ้าย ทำด้วยไม้ลักษณะแบน กว้าง ประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30–50 เวนติเมตร ที่ปลายมีไม้ปิดหัวท้ายยาวประมาณด้านละ 30 เซนติเมตร ใช้สำหรับเปียฝ้ายที่เข็นเป็นเส้นแล้วออกจากเหล็กในทำให้เป็นขิด หรือไจ เพื่อใช้ทอเป็นผืนผ้าต่อไป
             - กง และหลักตีนกง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทั้งกับเส้นใยฝ้ายและไหม โดยใช้ไว้ใจฝ้าย และไหมเพื่อเป็นการกรอกับอักเป็นการเตรียมด้ายที่จะค้น
             - อักและไม้คอนอัก เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทั้งกับฝ้ายและไหม โดยใช้สำหรับกวักเส้นใยฝ้ายหรือไหมออกจากกง เพื่อค้นทำเป็นเส้นยืน
             - หลักเฝือ บางครั้งออกเสียงเป็นหลักเฝีย เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทั้งกับฝ้ายและไหม เป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยม ไม้ที่อยู่ทางว้ายและขวาจะมีไม้เล็กๆ ปักเป็นหลักอยู่ตลอด หลักแต่ละอันห่างกันประมาณ 20 เซนติเมตร ปกติจะมีด้าน 10 หลัก ใช้สำหรับค้นเส้นใยกวักแล้วเพื่อทำเป็นเส้นยืน
             1.2 ขั้นตอนการผลิตเส้นใย
             เส้นใยทั้งฝ้ายและไหมได้จากธรรมชาติ ก่อนนำผลผลิตดังกล่าวไปทอเป็นต้องผลิตเส้นใยและเตรียมเส้นใยที่ผลิตได้พร้อมสำหรับการทอโดยใช้อุปกรณ์ดังกล่าวไปแล้ว ทั้งนี้ขั้นตอนในการผลิตเส้นใยทั้ง 2 ประเภท สามารถอธิบายได้ดังนี้
             การผลิตเส้นใยฝ้าย ต้นฝ้ายจะเริ่มปลูกในราวช่วงต้นฤดูฝนพร้อมๆ กับการทำนา กระทั่งเวลาผ่านไป 6–7 เดือน เมื่อสมอ (ฝัก หรือ เปลือก) แก่ก็เก็บได้ การเก็บจะคัดเอาแต่ปุยฝ้ายที่มีเมล็ดติด ผึ่งแดดจนแห้งแล้วนำมาอิ้ว หรือหีบ เพื่อบีบเอาเมล็ดออก เมื่อได้จำนวนมากพอจึงนำไปใส่ในกะเพียด ใช้คันโต้งหรือไน เพื่อดึงหลอดฝ้ายให้กลายเป็นเส้นใยหรือเส้นด้าย การปั่นนี้เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า เซ็นฝ้าย เมื่อเส้นด้ายมีจำนวนมากพอจะนำมารวมกันเป็นกลุ่มก้อนหรือเป็นปอยที่เรียกว่า ทำเช็ด ทำใจ โดยใช้เครื่องมือคือเปีย แล้วนำไปย้อมสีทั้งนี้ก่อนที่จะนำไปแช่น้ำข้าวเจ้าที่นึ่งสุก แล้วนำมาตีด้วยท่อนไม้ให้น้ำข้าวเข้าไปผสมกับเส้นด้ายก่อนจึงนำไปตากแห้งเพื่อความคงทนของเส้นด้ายวิธีนี้เรียกว่า ฆ่าฝ้าย เมื่อย้อมสีเสร็จก็เอาเส้นด้ายหรือเส้นฝ้ายไปเข้าเครื่องมือหมุนที่เรียกว่า กงกับอักหรือกวัก เพื่อเข็น  หรือปั่นด้ายให้เรียบเสมอและแน่นยิ่งขึ้น จึงเอาไปค้นหรือสืบกับหลักค้นคือที่ขึงด้ายก่อนนำไปเข้าเครื่องทอที่เรียกว่า กี่ หรือ หูก เพื่อตำหรือทอเป็นผ้าสืบไป
             การผลิตเส้นใยไหม มีขบวนการและขั้นตอนยุ่งยากกว่าการผลิตเส้นฝ้าย คือต้องเริ่มจากการปลูกต้นหม่อนเพื่อนำใบมาใช้เป็นอาหารของตัวไหม เนื่องจากตัวไหมจะไปกินอาหารชนิดอื่นนอกจากใบหม่อน ผู้เลี้ยงไหมจึงต้องปลูกต้นหม่อนให้เพียงพอที่จะเลี้ยงในแต่ละครั้งมิฉะนั้นจะลำบากในการหาใบหม่อนเพิ่ม เนื่องจากตัวไหมในระยะที่โตเต็มที่ก่อนการชักใยจะกินอาหารทั้งกลางวันกลางคืน โดยทั่วไปต้อหม่อนที่นิยมปลูกในภาคอีสานมีอยู่ 3 พันธุ์ คือต้นหม่อนน้อย หม่อนสร้อย และหม่อนไผ่ การปลูกต้นหม่อนนิยมปลูกช่วงต้นฤดูฝนบริเวณ ไม่ไกลจากตัวบ้านพัก เช่น สวนครัวท้ายบ้าน ใช้เวลาปลูกประมาณ 4-5 เดือน ก็ใช้เลี้ยงไหมได้โดยการหักปลายกิ่งที่มีใบอ่อนมาจากยอดสุด 3-4 ชั้น ใบสับเป็นฝอยให้ตัวไหมกินไหมเป็นแมลงจำพวกผีเสื้อ
         2. ขั้นตอนการย้อมสี
         เส้นใยที่ได้จากฝ้ายและไหมมีสีเดียว คือ ถ้าได้จากฝ้ายจะเป็นสีขาวและถ้าได้จากไหมจะเป็นสีเหลืองนวล ดังนั้นหากอยากได้ผ้าสีอื่นๆ จะต้องนำเส้นใยไปย้อมสี ในอดีตสีวิทยาศาสตร์ หรือสีเคมียังไม่แพร่หลาย ชาวบ้านย้อมสีเส้นใยทั้งฝ้ายและไหมด้วยสีที่ได้จากธรรมชาติ โดยมากเป็นสีที่สกัดมาจากส่วนต่างๆ ของพืช ที่หาได้ในท้องถิ่น ทั้งที่สกัดมาจากส่วนเปลือกของลำต้น แก่น ราก ลูกหรือผล ดอกและใบ รวมทั้งสีที่สกัดจากสัตว์ได้แก่ ครั่ง สีย้อมธรรมชาติเหล่านรี้ประกอบด้วยสีหลักๆ เพียงไม่กี่สีได้แก่สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากต้นเข สีน้ำเงินจากต้นคราม สีดำจากต้นมะเกลือ
         ในปัจจุบันการย้อมสีได้เปลี่ยนการย้อมจากวัตถุดิบจากธรรมชาติมาเป็นการซื้อสีจากตลาดมาย้อมแทน โดยสีที่นิยมใช้ย้อมเป็นสีวิทยาศาสตร์ย้อมได้ทั้งในน้ำร้อน และน้ำเย็น มีให้เลือกสำหรับการย้อมเส้นด้าย เส้นไหม เส้นไหมประดิษฐ์ ซึ่งมีขั้นตอนกาย้อมดังนี้ คือ นำเส้นใยที่ต้องการย้อมมาต้มและล้างไขมันโดยใช้ ไฮโดรซัลไฟท์ กับผงซักฟอกคนให้เข้ากันเติมน้ำ 1 ปี๊ป ตั้งให้เดือดฟอกเส้นใยที่จะย้อมได้ 2 กิโลกรัม ต้มประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วล้างต้มตามกรรมวิธีเดิมอีกครั้งจากนั้นนำสีเคมีมาต้มน้ำนำเส้นใยมาต้มต่ออีกประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นนำมาล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วจึงนำไปย้อมทับด้วยน้ำยากันตกอีกครั้งหนึ่ง
         3. ขั้นตอนการทอ
         หลังจากเตรียมเส้นใยทั้งฝ้ายไหม และไหมประดิษฐ์ ได้พอกับความต้องการแล้วก็จะเริ่มทอผ้า เครื่องทอผ้าที่นิยมใช้ส่วนมากเป็นกี่พื้นบ้าน มีกี่กระตุกเป็นจำนวนน้อย สมัยก่อนผู้ที่ทำกี่ คือ ผู้ชายซึ่งเป็นพ่อบ้าน ไม้ที่นำไปทำกี่รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ล้วนแต่หาได้จากป่าละแวกหมู่บ้าน กี่พื้นบ้านทั่วไปมีโครงสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม ประกอบด้วยเสาหลักสี่เสาที่ใช้ไม้ยึดติดกัน และมีแป้นหรือกระดานกี่ที่ทำด้วยไม้กระดานเนื้อแข็ง สำหรับนั่งทอผ้า กี่หลังหนึ่งๆ จะประกอบด้วยวัสดุอุปกรณ์เครื่องกลไกในการทำงานดังนี้
             3.1 ฟืม เป็นเครื่องมือสำคัญในการทอผ้ามีกรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตัวกรอบฟืมทำจากไม้เนื้อแข็งภายในกรอบมีฟันซี่เล็กๆ เหลาด้วยไม้ไผ่เรียงกัน ลักษณะคล้ายซี่หรือฟันของหวี ตัวฟืมทั่วไปมีขนาดกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตร และมีความยาวเท่ากับความกว้างของผืนผ้า ที่ทอฟืม มีหน้าที่เป็นตัวกระแทกให้เส้นด้ายเส้นยืนและเส้นพุ่งประสานกัน ฟืมที่มีเส้นด้ายยืนสอดอยู่พร้อมที่ จะทอผ้าเรียกว่า "หูก"
             3.2 ตัวฟืมจะใช้กับเขาหรือตะกอ เพราะถ้าไม่มีเขาก็ทอผ้าไม่ได้ "เขา" หรือ "ตะกอ" เป็นที่ร้อยเส้นด้ายออกจากฟืม เรียกว่า ด้านทางเครือ (เส้นยืน) ทั้งนี้เขาจะยกเส้นด้ายทางเครือขึ้นลงสลับกัน เมื่อสอดด้ายพุ่งเส้นยืนกับเส้นพุ่งจะขัดกันเป็นลายขัด ฟืมที่ใช้ทอผ้าธรรมดาจะมี 2 เขาใช้ทอผ้าพื้นหรือผ้าหลายทาง แต่ถ้าใช้ฟืมที่มี 4 เขา หรือ 6 เขา จะทอได้ผ้าที่มีลาบซับซ้อนละเอียดขึ้น เช่น ลายวง ลายลูกแก้ว หรือลายยกดอก ฟืมและเขานี้จะต้องใช้คู่กับไม้เหยียบที่อยู่ข้างล่าง เรียกว่า "ไม้เหยียบหู" เป็นไม้ท่อนกลม ยาวประมาณ 1.50-2.00 เมตร ใช้สอดกับเชือกที่ผูกโยงจากด้านล่างของเขาของฟืมที่ทอผ้านั้นๆ
             3.3 ไม่หาบหูก เป็นไม้ที่สอดร้อยกับเชือกที่ผูกเขาด้านบน เพื่อให้หูกยึดติดกับกี่ ไม้หาบหูก จะมีเพียงอันเดียว ไม่ว่าจะใช้ฟืม ที่มี 2,4 หรือ 6 เขา ซึ่งต่างกับไม้เหยียบ
             3.4 กระสวย ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ยาวประมาณ 1 ฟุต หัวท้ายเรียงงอนตรงกลางเป็นรางสำหรับใส่หลอดด้าย (เส้นพุ่ง)
             3.5 หลอด นิยมทำจากเถาวัลย์ เครือไส้ตันที่มีตรงกลางกลวง หรือจะใช้ไม้อย่างอื่นที่มีรูตรงกลางก็ได้ นำมาตัดเป็นท่อนๆ ยางประมาณ 3 นิ้ว เมื่อใช้ไม้สอดยืดติดกับกระสวยไม้นี้เรียกว่า ไม้ขอหลอด

บทสรุป
         จากการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลวิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือบ้านใหม่ศรีอุบล ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร พบว่า การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือบ้านใหม่ศรีอุบล เกิดขึ้นจากการร่วมกลุ่มของประชาชนที่มีความรู้และทักษะของการทอผ้า ที่สืบทอดกันมาจากครอบครัว เป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดกันมาสู่รุ่นต่อรุ่น ได้มีการรวมตัวของประชาชนหลังจากว่างงานเกษตรกร โดยมีหัวหน้ากลุ่ม ได้แก่ นางสาวธโยธร ลายทอง เป็นหัวหน้ากลุ่ม กลุ่มผ้าทอมือบ้านใหม่ศรีอุบล เริ่มผลิตผ้าจากการปั่นด้าย จนกระทั่งถึงการทอผ้า ตัดเย็บ และขายปลีกและขายส่ง อย่างครบวงจร มีระบบและสามารถเลี้ยงตนเองได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดกำแพงเพชร และองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งโพธิ์ทะเลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนมีรายได้ จากการทอผ้า ตัดเย็บและเลี้ยงตัวได้ หลังจากการทำไร่ทำนา หรือว่างจากการทำเกษตรกรรมนับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับการรวมกลุ่มการทำงานอย่างเข้มแข็งของประชาชน ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งมากขึ้น

คำสำคัญ : ผ้าทอ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ วิสาหกิจชุมชน บ้านใหม่ศรีอุบล

ที่มา : https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=วิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือบ้านใหม่ศรีอุบล_ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล_อำเภอเมือง_จังหวัดกำแพงเพชร

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). วิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือบ้านใหม่ศรีอุบล ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร. สืบค้น 27 เมษายน 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2132&code_db=610007&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2132&code_db=610007&code_type=01

Google search

Mic

เรือนนายหอม รามสูต

เรือนนายหอม รามสูต

บ้านหลังนี้ เป็นบ้านทรงปั้นหยา (เรือนไม้แบบยุโรป มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง หลังคาทุกด้านชนกันแบบพีระมิด ไม่มีหน้าจั่วเรือนปั้นหยาปรากฏมีอยู่ที่หลังคาพระราชวังต่างๆ ที่สร้างในสมัยต้นรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นแบบปั้นหยา จากเรือนปั้นหยาได้วิวัฒนาการมาเป็นเรือนมะนิลา คือบางส่วนเป็นเรือนหลังคาปั้นหยาแล้ว เปิดบางส่วนให้มีหน้าจั่ว ในสมัยที่เรือนแบบมะนิลาซึ่งคงจะแพร่หลายมาจากเมืองมะนิลา) เข้ามาสู่ความนิยมอย่างแพร่หลายในพระราชวัง แล้วสู่วังของเจ้านายในราชสำนัก และมาสู่เรือนของผู้มีอันจะกินในต่างจังหวัดในที่สุด

เผยแพร่เมื่อ 05-03-2020 ผู้เช้าชม 1,213

เรือนส่างหม่อง

เรือนส่างหม่อง

ส่างหม่องเป็นชาวไทยใหญ่มาจากเมืองกุกกิก ประเทศพม่า เป็นคหบดี หรือมหาเศรษฐี ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นผู้มีการศึกษาดี มีชีวิตที่ทันสมัยเหมือนชาวตะวันตก ได้เดินทางมาอยู่คลองสวนหมากในสมัยเดียวกับพะโป้ ได้เข้ามาประกอบอาชีพการทำป่าไม้ ในราว พ.ศ. 2420 และได้สมรสกับนางฝอยทอง มีบุตรธิดา 4 คน เมื่อนางฝอยทองเสียชีวิตลง ส่างหม่องจึงได้แต่งงานใหม่กับนางเฮียงสาวชาวลาวเวียงจันทน์ที่อพยพมาอยู่คลองสวนหมาก และได้ย้ายมาปลูกบ้านเรือนไทยปั้นหยาห่างจากบ้านหลังเดิมเล็กน้อย ส่างหม่องและนางเฮียงไม่มีบุตรด้วยกัน

เผยแพร่เมื่อ 06-03-2020 ผู้เช้าชม 1,887

เรือนรัตนบรรพต

เรือนรัตนบรรพต

เรือนร้านค้านายทองทรัพย์ รัตนบรรพต ตั้งอยู่เลขที่ 69 หมู่ที่ 5 ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชรริมคลองสวนหมากตรงกับบ้านพะโป้ โดยมีคลองสวนหมากคั่นกลาง นายทองทรัพย์เป็นบุตรชายของพะโป้กับแม่ทองย้อย คหบดีชาวกะเหรี่ยง ผู้มาค้าไม้ในครองสวนหมาก เกิดในปีพุทธศักราช 2446 สันนิษฐานว่าจะสร้างบ้านหลังนี้ ราวปี 2465 บ้านหลังนี้จึงมีอายุราว 94 ปี

เผยแพร่เมื่อ 06-03-2020 ผู้เช้าชม 1,390

การตีผึ้งหลวง

การตีผึ้งหลวง

การตีผึ้งเป็นอาชีพที่สำคัญในอดีตของชาวกำแพงเพชร การตัดหวาย การตักยาง การตีผึ้ง การทำยาสูบถูกบันทึกไว้ในวรรณกรรมทุ่งมหาราช ของครูมาลัย ชูพินิจ นับว่าเป็นวิถีชีวิตของคนกำแพงเพชร แต่ในปัจจุบันเราจะไม่เห็นการตีผึ้งหลวงได้ง่ายนัก เพราะขาดผู้ที่ชำนาญการในการตีผึ้ง แต่เราก็โชคดีที่พบกับหนุ่มสมชาย ภู่สอน ผู้ยึดอาชีพตีผึ้งมากว่าสิบปี เมื่อเดินมาที่สวน พบผึ้งหลวงรังขนาดใหญ่ อยู่บนต้นกระท้อน หนุ่มสมชายเริ่มต้นทำคบไฟเพื่อจุดเป็นควันเพื่อให้ผึ้งเมาขณะตี และไม่สามารถต่อยเขาได้ เริ่มเอาควันเข้าไปลนที่รังผึ้งหลวง ผึ้งแตกรังบินว่อนเต็มท้องฟ้า เมื่อผึ้งหนีไปหมดแล้ว ได้ใช้มีดปาดรังผึ้งหลวงลงมา เพื่อนำมาคั้นเอาน้ำผึ้งมาใช้ประโยชน์ต่อไป

เผยแพร่เมื่อ 10-04-2020 ผู้เช้าชม 3,629

บายศรีเอกลักษณ์งานศิลป์ ถิ่นกำแพงเพชร

บายศรีเอกลักษณ์งานศิลป์ ถิ่นกำแพงเพชร

บายศรี มักจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นสำหรับวันสำคัญของชีวิต เช่น เมื่อเราเกิดจะมีพิธีช่วงขวัญเดือนสำหรับเด็กทารก เป็นพิธีผูกขวัญสำหรับเด็กทารกแรกเกิด บายศรีสู่ขวัญในการรับน้อง เมื่อเข้าสถานศึกษา เพื่อเป็นการเรียกขวัญที่คนไทยเชื่อว่า เมื่อเกิดมา เราจะมีเทพพิทักษ์ประจำตัว จำเป็นจะต้องทำพิธีเรียกหรือบอกกล่าวให้รับรู้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ประสบอุบัติเหตุ คนไทยจะนิยมทำพิธีเรียกขวัญเพื่อเรียกขวัญ(จิตใจ) ของผู้ประสบเหตุให้กับมาอยู่กับตัว เมื่อโตมาในช่วงวัยรุ่นก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ เราจะเห็นบายศรีในงานประเพณีบวชพระ ในช่วงที่ทำพิธีทำขวัญนาค โดยเฉพาะในพิธีการแต่งงานที่เป็นวันที่มีความสำคัญในชีวิตไม่แพ้วันอื่น ๆ ย่อมต้องมีพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตด้วยนั่นเอง

เผยแพร่เมื่อ 21-06-2022 ผู้เช้าชม 3,301

ศูนย์รวมสายพันธุ์กล้วย ณ พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ

ศูนย์รวมสายพันธุ์กล้วย ณ พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ

กล้วยเป็นพืชอาหารที่มีความสำคัญสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่เป็นอาหาร เครื่องมือ เครื่องใช้ เส้นใยสิ่งทอ สมุนไพร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่มีน้อยคนที่จะรู้จักกล้วยอย่างแท้จริง หากอยากรู้จักกล้วยให้มากขึ้นก็ต้องเดินทางมาที่จังหวัดกำแพงเพชร หรือเรียกว่า เมืองกล้วยไข่ เพราะว่าจังหวัดกำแพงเพชรขึ้นชื่อว่าปลูกกล้วยไข่ได้รสชาติดีที่สุดในประเทศและด้วยชื่อเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ซึ่งพิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เป็นศูนย์รวมแหล่งเรียนรู้สายพันธุ์กล้วยที่คุณค่าทางวัฒนธรรมต่อชาวกำแพงเพชร ซึ่งคนที่สนใจเรื่องกล้วยรวมไปถึงคนที่ชอบกินกล้วยไม่ควรพลาด

เผยแพร่เมื่อ 01-08-2022 ผู้เช้าชม 1,997

มะขามป้อม สุดยอดสมุนไพรไทย แก้ไอ เจ็บคอ บำรุงกล่องเสียง

มะขามป้อม สุดยอดสมุนไพรไทย แก้ไอ เจ็บคอ บำรุงกล่องเสียง

ที่วัดโขมงหัก หมู่ที่ 13 ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแพทย์แผนไทยหมอพื้นบ้านได้รวมกลุ่มกัน เพื่อทำยาอมมะขามป้อมเพชร เพื่อใช้รักษาบรรเทาอาการเจ็บคอ แก้ไอ บำรุงกล่องเสียง แก้เสมหะที่ลำคอ แก้เสลดหางวัว ยาอมมะขามป้อมเพชร ประกอบไปด้วย มะขามป้อม มะขามเปียก ดอกดีปลี ดอกช้าพลู เกลือ น้ำตาล ที่ถูกนำไปตากแห้งและอบ จากนั้นนำมาเคี่ยวในกระทะที่ร้อนคลุกเคล้าให้เข้ากันใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง 

เผยแพร่เมื่อ 12-05-2020 ผู้เช้าชม 1,248

เรือนครูมาลัย ชูพินิจ

เรือนครูมาลัย ชูพินิจ

บ้านที่มีอายุกว่า 120 ปี และยังรักษาสภาพเดิมๆ ไว้ได้กว่าร้อยละ 80 คือ บ้านครูมาลัย ชูพินิจ อยู่ปากซอยชากังราว อยู่เลยวัดพระบรมธาตุมาทางนครชุมเล็กน้อย ตามถนนสายหน้าเดิม ติดกับคลองสวนหมาก โดยหันหน้าออกไปทางคลองสวนหมาก และแม่น้ำปิง ครูมาลัยเป็นบุตรของกำนันสอน และนางระเบียบ ชูพินิจ กำนันตำบลปากคลองสวนหมาก อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เดิมกำนันสอนตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณเดียวกันกับบ้านหลังนี้ บ้านหลังนี้เป็นฉากสำคัญในนวนิยายเรื่องทุ่งมหาราช

เผยแพร่เมื่อ 06-03-2020 ผู้เช้าชม 1,189

เรือนขุนทวีจีนบำรุง

เรือนขุนทวีจีนบำรุง

เป็นเรือนไม้สักพักอาศัย 2 ชั้น ทรงมนิลาประยุกต์หลังคาปั้นหยามีมุขยื่นด้านหน้าประดับไม้ฉลุแบบเรือนขนมปังขิง (เรือนขนมปังขิง เป็นชื่อเรียกอาคารประเภทหนึ่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ซึ่งแพร่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการประดับตกแต่ลวดลายฉลุที่วิจิตรพิสดาร หรูหรา สวยงาม เหมือนขนมปังขิง) หลังคามุงกระเบื้องดินเผาทางเข้าหน้าบ้านและหน้าเรือนที่เฉลียงมีซุ้มประตู ตัวเรือนยกพื้นสูงเกือบ 2 เมตร 

เผยแพร่เมื่อ 05-03-2020 ผู้เช้าชม 1,417

ของที่ระลึกจากแป้งข้าวเหนียว

ของที่ระลึกจากแป้งข้าวเหนียว

ของที่ระลึกจากแป้งข้าวเหนียว ทำจากแป้งข้าวเหนียวมาปั้นเป็นส่วนประกอบของสินค้า ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ของกล้วยไข่ เช่น ลำต้น เครือกล้วยไข่ แล้วนำมาประกอบเป็นต้นกล้วยไข่และทำเป็นพวงกุญแจ ใช้เป็นของที่ระลึก ของฝาก หรือทำเป็นของตกแต่งก็ดูสวยงาม

เผยแพร่เมื่อ 10-04-2020 ผู้เช้าชม 4,011