งาขี้ม้อน

งาขี้ม้อน

เผยแพร่เมื่อ 25-05-2020 ผู้ชม 9,695

[16.4258401, 99.2157273, งาขี้ม้อน]

งาขี้ม้อน ชื่อสามัญ Perilla
งาขี้ม้อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Perilla frutescens (L.) Britton (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ocimum frutescens L.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
งาขี้ม้อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า งามน (แม่ฮ่องสอน), งาขี้ม้อน งาปุก (คนเมือง), แง (กาญจนบุรี), นอ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน, กะเหรี่ยงเชียงใหม่), น่อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ง้า (ลั้วะ), งาเจียง (ลาว), งาม้อน เป็นต้น

ลักษณะของงาขี้ม้อน
       ต้นงาขี้ม้อน จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุก มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขา ต้นมีกลิ่นหอม เป็นสันสี่เหลี่ยมมน ๆ และระหว่างเหลี่ยมเป็นร่องตามยาว มีขนยาวละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น เมื่อโตเต็มที่โคนต้นจะเกลี้ยง โคนต้นและโคนกิ่งจะแข็ง
       ใบงาขี้ม้อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง หรือรูปกลม ปลายใบเรียวแหลมหรือแหลมเป็นติ่งยาว โคนใบกลม ป้าน หรือตัด ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวอ่อน ท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ แผ่นใบมีขนนุ่มสีขาวทั้งสองด้าน ตามเส้นใบมีขนอยู่หนาแน่น ท้องใบมีต่อมน้ำมัน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 10-45 มิลลิเมตร และมีขนยาวขึ้นหนาแน่น
        ดอกงาขี้ม้อน ออกดอกเป็นช่อกระจะตามง่ามใบและที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ริ้วประดับดอกย่อยลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และไม่มีก้าน โคนริ้วประดับมีลักษณะกลมกว้าง ขอบเรียบ และมีขน ส่วนปลายเรียวแหลม ส่วนดอกย่อยจะมีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มีขนสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น กลีบดอกเป็นสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอดทรงกระบอก ที่ปลายแยกเป็นปาก ยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร ด้านนอกกลีบดอกมีขน ส่วนด้านในมีขนเรียงเป็นวงอยู่กึ่งกลางหลอด ปากบนปลายมีลักษณะเว้าเล็กน้อย ส่วนปากล่างมีหยัก 3 หยัก ปลายมนหยักกลางใหญ่กว่าหยักอื่น ๆ โดยเฉพาะหยักนี้ด้านในจะมีขน เมื่อดอกบานกลีบนี้จะกางออก ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน เรียงเป็นคู่ ๆ โดยคู่บนจะสั้นกว่าคู่ล่างเล็กน้อย ก้านเกสรมีลักษณะเกลี้ยง ส่วนอับเรณูมีพู 2 พู ด้านบนติดกัน ส่วนด้านล่างกางออก จานดอกเห็นได้ชัดเจน มีรังไข่ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตรและมีพูกลม ๆ 4 พู ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะยาวประมาณ 2.6-3 มิลลิเมตร ที่ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉกและไม่มีขน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก แฉกกลางด้านบนจะสั้นกว่าแฉกอื่น ๆ มีเส้นตามยาว 10 เส้น ด้านนอกมีขนและมีต่อมน้ำมัน ส่วนด้านในมีขนยาวเรียงเป็นวงรอบปากหลอด เมื่อดอกเจริญไปเป็นผลแล้ว กลีบเลี้ยงจะมีขนาดใหญ่ขึ้น
         ผลงาขี้ม้อน ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ผลแข็งเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทาและมีลายเป็นรูปตาข่าย[2] ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม เมล็ดมีลักษณะกลม
         มีรายงานการสำรวจการปลูกงาขี้ม้อนทางภาคเหนือตอนบนพบว่า มีการปลูกกระจายทั่วไปในพื้นที่ดอนเชิงเขา ผลจากการสำรวจแหล่งปลูกทั้งหมด 10 แห่ง พบว่าต้นงาขี้ม้อนมีทั้งหมด 130 สายพันธุ์ ซึ่งมีทั้งเมล็ดขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ และมีสีที่ต่างกัน ตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลไหม้ สีเทาเข้ม สีเทาอ่อนไปจนถึงสีขาว โดยการปลูกงาขี้ม้อนทั่วไปจะปลูกกันในพื้นที่ดอนและอาศัยน้ำฝน

สรรพคุณของงาขี้ม้อน
1. เมล็ดหรือน้ำมันสกัดจากเมล็ดใช้กินเป็นยาชูกำลัง โดยใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้าเย็น (น้ำมันจากเมล็ด, เมล็ด
2. เมล็ดช่วยลดไขมันในเลือด โดยใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้า, เย็น (เมล็ด)
3. ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น ด้วยการใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้า, เย็น (น้ำมันจากเมล็ด, เมล็ด
4. ใบและยอดอ่อนช่วยแก้อาการไอ แก้หวัด (ใบ, ยอดอ่อน)
5. ช่วยแก้อาการท้องผูก ด้วยการใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้า, เย็น (น้ำมันจากเมล็ด, เมล็ด)
6. ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ, ยอดอ่อน)
7. น้ำมันจากเมล็ดนำมาทอดผสมกับเหง้าไพล ใช้เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (น้ำมันจากเมล็ด)
8. น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากใบสดช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอกได้ (น้ำมันหอมระเหยจากใบ)
9. เมล็ดนำมาบีบเอาน้ำมันใช้เป็นยาทานวด แก้อาการปวดขัดข้อกระดูก (เมล็ด)
10. เมล็ดนำมาตำใช้เป็นยาประคบแก้อาการข้อพลิก (เมล็ด)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของงาขี้ม้อน
1. สารสำคัญที่พบในงาขี้ม้อน ได้แก่ Anthocyanins, Aromadendrene, Campesterol, Bergamotene, Caryophyllene, Glucoside, Limonenem Linalool, Odimene, Perillene, Pinene, Pulegone, Sabinene, Sitosterol, Stigmasterol, Terpinolene เป็นต้น
2. สารสกัดทั้งต้นงาขี้ม้อนด้วยแอลกอฮอล์ทำให้หนูแท้ง
3. สารสกัดจากใบงาขี้ม้อนด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์เป็นยาระบายในสัตว์ทดลองและมีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์
4. ดอกงาขี้ม้อนมีสาร Flavonoids ที่ช่วยกำจัดกลิ่นที่ผมได้
5. น้ำมันงาขี้ม้อน มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้ดี
6. ในน้ำมันพบว่ามีสาร Dillapiol ซึ่งเป็นสารที่ช่วยเสริมฤทธิ์ของ Hexobarbital ทำให้สัตว์ทดลองนอนหลับนานขึ้น
7. ในน้ำมันยังพบว่ามีสาร Perilla ketone ซึ่งเป็นสารที่เป็นพิษต่อปอดในสัตว์ทดลอง จึงควรระมัดระวังในการใช้เป็นอาหารหรือเป็นอาหารของสัตว์เลี้ยง
8. งาขี้ม้อนมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ไวรัส ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย ช่วยเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ลดบวม และมีฤทธิ์ในการลดระดับคอเลสเตอรอล ลดไตรกลีเซอไรด์ (เข้าใจว่าคือส่วนของเมล็ด)
9. จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง ด้วยสารสกัดทั้งต้นด้วย 50% เอทานอลที่ใช้ฉีดเข้าช่องท้องของหนูขาวมีค่าเท่ากับ 1 กรัมต่อกิโลกรัม
10. ในประเทศจีน (พ.ศ.2548) ได้ทำการศึกษาส่วนผสมของน้ำมันงาขี้ม้อน 0-50%, น้ำมันข้าว 0-95%, Edible oil 0-90%, ฟอสโฟไลปิด (Phospholipids) 0-200 gm./kg., แคโรทีน 0-100 ppm. และวิตามินอี 0-100 ppm. โดยน้ำมันทั้งหมดนี้สามารถช่วยทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้น ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และยังช่วยลดความอ้วนได้อีกด้วย
11. ในประเทศจีน (พ.ศ.2548) ได้มีการทดลองส่วนผสมต่าง ๆ เพื่อใช้ในการรักษาโรคไขมันในเลือด ด้วยการใช้น้ำมันงาขี้ม้อน หรือ Perilla oil 500 ส่วน, วิตามินซี 0.05 ส่วน, วิตามินอี 0.25 ส่วน แล้วนำส่วนผสมทั้งหมดบรรจุลงในแคปซูลและผ่านออกซิเจนและความชื้นในอากาศ แล้วนำแคปซูลดังกล่าวไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีระดับไขมันเลือดสูง และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยได้อีกด้วย เพราะ Docosahexacnoic acid ได้ถูกเปลี่ยนเป็น α-linolenic acid
12. ในประเทศสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2550) ได้มีการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจด้วยสาร Statin แต่ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน เนื่องจากผลข้างเคียงของยา การมีคอเลสเตอรอลในร่างกายมาก จะมีผลเสียต่อตับ ระบบประสาท กล้ามเนื้อ และทำให้ระบบต่าง ๆ เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ยังได้พบสาร Alpha-lipoic acid และสาร Corosolic acid ในงาขี้ม้อน และใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูง
13. น้ำมันงาขี้ม้อน มีโอเมกา3 สูงถึงร้อยละ 56 และเป็นโอเมกา 6 อีกร้อยละ 23 โดยมีข้อมูลที่ระบุว่างาขี้ม้อนเป็นพืชเพียงชนิดเดียวที่มีโอเมกา 3 และยังมีปริมาณของโอเมกา 3 มากกว่าน้ำมันปลาจากปลาทะเลน้ำลึกหลายเท่าตัว เพราะปลาแซลมอนอบขนาด 85.05 กรัมจะมีโอเมกา 3 เพียง 2 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 2.35 เท่านั้น โดยจากการสุ่มตัวอย่างงาขี้ม้อนที่กำลังพัฒนาพันธุ์จำนวน 4 สายพันธุ์ ไปที่ห้องปฏิบัติการเพื่อทำการวิเคราะห์ปริมาณน้ำมัน พบว่ามีปริมาณน้ำมันรวม 43-44% และเป็นโอเมกา 3 11-15% ส่วนเมล็ดงาขี้ม้อนสีขาวขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำมันรวม 43.1% เป็นโอเมกา 3 15.01%, เมล็ดงาขี้ม้อนสีน้ำตาลเข้มขนาดเล็กมีปริมาณน้ำมันรวม 52.02% เป็นโอเมกา 3 11.08%, เมล็ดงาขี้ม้อนสีเทาอ่อนขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำมันรวมมากที่สุด 55.83% เป็นโอเมกา 3 12.73% ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแหล่งที่ปลูกหรือสายพันธุ์ที่ปลูก
14. สารสกัดสำคัญในกลุ่ม Polyphenol ที่ได้จากใบงาขี้ม้อนที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ Rosmarinic acid ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านการแพ้ได้ดี และได้พัฒนาเป็นเจลจากสารสกัดต้นงาขี้ม้อนเพื่อเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบและโรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังมีสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ Luteolin ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและยับยั้งเซลล์มะเร็ง[3]
15. มีการใช้น้ำมันจากเมล็ดรูปแบบของน้ำสลัดหรือมายองเนส เพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้และอาการหอบหืดในผู้ใหญ่ โดยการรับประทาน้ำมันจากเมล็ดวันละ 10-20 กรัม เป็นระยะเวลา 2-4 สัปดาห์
16. ห้ามใช้น้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนกับหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และในผู้ที่แพ้งาขี้ม้อน

ประโยชน์ของงาขี้ม้อน
1. ใบงาขี้ม้อนสามารถใช้รับประทานเป็นผักสดได้ โดยนำมาห่อข้าว เนื้อย่าง หมูย่าง ห่ออาหารประเภทเมี่ยงปลา หรือใช้เป็นผักแนม หรือใช้รับประทานร่วมกับอาหารประเภทยำ ก็จะได้กลิ่นหอม รสซ่าคล้ายรสมินต์ และใช้ใส่ในซุปกระดูกหมู เป็นต้น
2. เมล็ดนำไปคั่วแล้วตำ ใช้รับประทานโดยการนำไปคลุกกับข้าวเหนียว หรือจะนำเมล็ดไปคั่วใส่ในน้ำพริก หรือใช้ตำแล้วคลุกกับข้าวเหนียวรับประทาน หรือจะนำไปคั่วแล้วตำผสมกับข้าวเหนียวผสมเกลือ หรือใช้ทำขนมก็ได้ (เรียกว่าข้าวหนุกงา)
3. ใบงาขี้ม้อนเป็นอาหารราคาแพงของเกาหลี นอกจากจะสกัดเอาน้ำมันจากเมล็ดแล้วยังสามารถสกัดเอาน้ำมันจากใบสดได้อีกด้วย โดยน้ำมันที่สกัดได้จากใบสดสามารถใช้เป็นน้ำมันหอมระเหย (Volatile Oil) ที่เป็นสารประเภท Aldehyde ที่เรียกว่า Perilla aldehyde
4. ใบและยอดอ่อนใช้แต่งรสอาหารได้ และในญี่ปุ่นจะใช้เป็นสารแต่งรสชาติ Isomoer ของ Perrilla aldehyde ใช้เป็นสารแต่งกลิ่นอาหาร
5. น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากใบงาขี้ม้อนสดมีราคาถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันกุหลาบ และยังมีประสิทธิภาพที่สามารถนำมาใช้ทดแทนน้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบในอุตสาหกรรมเครื่องหอมอีกด้วย
6. น้ำมันหอมระเหยจากใบสดสามารถใช้ลดริ้วรอยบนใบหน้าและบำรุงผิวหน้าได้
7. น้ำมันสกัดจากเมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นอาหารและใช้ทำยาได้
8. น้ำมันงาขี้ม้อนเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยโอเมกา 3 และโอเมกา 6 ซึ่งช่วยบำรุงสมอง และยังเป็นพืชเพียงชนิดเดียวที่มีโอเมก้า และปริมาณของโอเมกา 3 มากกว่าน้ำมันปลาจากปลาทะเลน้ำลึกหลายเท่าตัว
9. งาขี้ม้อนอุดมไปด้วยวิตามินบี ธาตุฟอสฟอรัส และธาตุแคลเซียมสูงกว่าพืชผักทั่วไปหลายเท่านัก โดยมีปริมาณแคลเซียมประมาณ 410-485 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม (คนทั่วไปต้องการแคลเซียมวันละ 1,000 มิลลิกรัม)
10. งาขี้ม้อนยังมีสารเซซามอล (Sesamol) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็งและช่วยทำให้ร่างกายแก่ช้าลงอีกด้วย
11. งาขี้ม้อนมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง โดยกรดชนิดนี้มีประโยชน์อยู่หลายอย่าง เช่น ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยควบคุมระดับคอเลสตอรอลไม่ให้มีมากจนเกินไป ช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดแข็งตัว ป้องกันโรคหัวใจและโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดบางชนิด และยังช่วยแก้อาการไม่สบายต่าง ๆ ที่เกิดจากระบบประสาท เช่น อาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เมื่อยสายตา อ่อนเปลี้ยเพลียแรง เป็นเหน็บชา มีอาการปวดเส้นตามตัว แขน หรือขา
12. ปัจจุบันมีสินค้าแปรรูปจากงาขี้ม้อนหลายรูปแบบ เช่น ขนมงา งาคั่ว งาขี้ม้อนแผ่น ข้าวหลามงาขี้ม้อน คุกกี้งาขี้ม้อน ชางาขี้ม้อนป่น รวมไปถึงเครื่องสำอางบำรุงผิว เป็นต้น

คำสำคัญ : งาขี้ม้อน

ที่มา : ้https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). งาขี้ม้อน. สืบค้น 4 ตุลาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=1588&code_db=610010&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1588&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

ชะพลู

ชะพลู

ชะพลู (Wildbetal Leafbush) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้น ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคใต้เรียก นมวา ส่วนภาคอีสานเรียก ผักอีไร หรือช้าพลูต้น และภาคเหนือเรียก ผักปูนก, พลูนก หรือพลูลิง เป็นต้น ซึ่งต้นชะพลูนี้หลายๆ คนอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นต้นพลูที่ไว้รับประทานกับหมาก ด้วยชื่อและลักษณะที่คล้ายกัน แต่ในความจริงแล้วเป็นคนละชนิดกัน ต้นชะพลูนั้นจะมีขนาดเล็กกว่าต้นพลู ส่วนใบพลูจะมีรสจัดกว่าชะพลู โดยต้นชะพลูนี้มักชอบขึ้นในพื้นที่ลุ่มที่มีความชื้น และขยายพันธุ์โดยการปักชำ

เผยแพร่เมื่อ 08-05-2020 ผู้เช้าชม 4,890

หญ้าฝรั่น

หญ้าฝรั่น

หญ้าฝรั่น จัดเป็นพืชล้มลุก ลำต้นมีความสูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร และมีความสูงเฉลี่ยน้อยกว่า 30 เซนติเมตร มีลำต้นอยู่ใต้ดินลักษณะคล้ายหัวเผือกหรือหัวหอม มีอายุหลายปี ในประเทศไทยยังไม่มีการเพาะปลูกหญ้าฝรั่น หัวหญ้าฝรั่น ลักษณะคล้ายกับหัวหอม เป็นที่สะสมกักตุนแป้ง หัวเป็นเมล็ดกลมสีน้ำตาล มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4.5 เซนติเมตร และห่อหุ้มด้วยเส้นใยขนานกันหนา ใบหญ้าฝรั่น ลักษณะยาวเรียวแหลมแคบ มีสีเขียว แต่ละใบมีความยาวถึง 40 เซนติเมตร

เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 10,638

ผักหนอก

ผักหนอก

ผักหนอก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้หลายปี มีความสูงได้ประมาณ 15-40 เซนติเมตร กิ่งก้านชูตั้งขึ้น ส่วนลำต้นมีลักษณะฉ่ำน้ำ เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ในเอเชียเขตร้อน จีน ญี่ปุ่น จนถึงออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค มักขึ้นตามที่ชื้นแฉะ และตามชายป่า จนถึงระดับความสูงประมาณ 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล

เผยแพร่เมื่อ 13-07-2020 ผู้เช้าชม 5,992

กระทืบยอบ

กระทืบยอบ

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ล้มลุก สูงไม่เกิน 30 ซม. ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ แก่นกลางใบประกอบยาว 7-17 ซม. มีขนสีน้ำตาล  มีใบย่อย 18-27 คู่  ใบย่อยคู่อื่น รูปแคบยาวขอบขนาน ช่อดอก มี 2-9 ดอก ก้านช่อดอกยาว 0.5-2 ซม.  ก้านดอกยาว 0.5-1.7 ซม. กลีบดอกสีขาว โคนกลีบสีเหลือง ผลรีกว้าง 2-3 มม. ยาว 3-4 มม. ผิวเรียบ มีเมล็ด 10-15 เมล็ด

เผยแพร่เมื่อ 12-02-2018 ผู้เช้าชม 1,833

แก้ว

แก้ว

ต้นแก้ว เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศจีน และในออสเตรเลีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคในป่าดิบแล้งจากที่ราบสูงจนถึงที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาแตกเป็นร่อง ๆ เนื้อไม้สีขาวนวล เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดเต็มวัน-รำไร และความชื้นปานกลาง-ต่ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอน

เผยแพร่เมื่อ 18-05-2020 ผู้เช้าชม 7,690

บานเย็น

บานเย็น

บานเย็น มีถิ่นกำเนิดในประเทศเปรู เม็กซิโก อเมริกากลาง และมีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในทวีปอเมริกาใต้ และบางครั้งอาจขึ้นเป็นวัชพืช โดยจัดเป็นไม้พุ่มเนื้ออ่อนมีอายุหลายปี มีเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นมีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร มีลำต้นสีแดงออกนวลเล็กน้อย แตกกิ่งก้านจำนวนมาก เป็นทรงพุ่มแผ่กว้าง เป็นไม้ที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ควรปลูกไว้กลางแจ้งและดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วนมีธาตุอาหารสมบูรณ์ ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้เช้าชม 12,570

มะตาด

มะตาด

มะตาด จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-20 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลักษณะต้นเป็นทรงเรือนยอดทรงพุ่มกลมหรือรูปไข่ เป็นทรงพุ่มทึบ ลำต้นของมะตาดมักคดงอ ไม่ตั้งตรง และมักมีปุ่มปมปรากฏอยู่บนลำต้น ซึ่งจะเกิดจากร่องรอยของกิ่งแก่ที่หลุดร่วง ส่วนเปลือกต้นเป็นเปลือกหนา มีสีน้ำตาลอมแดงหรือสีทองแดง เมื่อแก่เปลือกต้นจะเปลี่ยนเป็นสีเทา และหลุดล่อนออกเป็นแผ่นบาง ๆ ส่วนการแตกกิ่งก้านของลำต้นจะไม่สูงจากพื้นดินมากนัก และการแตกกิ่งย่อยจะเกิดที่ส่วนปลายของยอดกิ่งหลัก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและกิ่งตอน ต้นไม้มะตาดเป็นไม้ที่ทนต่อความแห้งแล้งและน้ำท่วมได้ดี 

เผยแพร่เมื่อ 13-07-2020 ผู้เช้าชม 9,596

ข่อย

ข่อย

ลักษณะเป็นต้นไม้ขนาดเล็กหรือกลาง เปลือกขรุขระ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่กลับ หรือรูปรี โนสอบ ขอบใบหยัก ดอกสีเหลืองแกมเขียวออกเป็นช่อสั้น ผลเป็นผลสดทรงกลมเมื่อสุกสีเหลือง ฉ่ำน้ำ ประโยชน์ เปลือกต้น แก้ท้องร่วง บิด รำมะนาด ปวดฟัน โรคผิวหนัง รักษาแผลเมล็ดบำรุงธาตุเจริญอาหาร ขับลม  แก่น ม้วนบุหรี่สูบรักษาริดสีดวงจมูก เปลือกต้ม ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 2,914

สายน้ำผึ้ง

สายน้ำผึ้ง

สายน้ำผึ้ง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย เช่น ประเทศไทย จีน ญี่ปุ่น จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพัน มีอายุหลายปี มีความยาวประมาณ 9 เมตร เถามีลักษณะกลมเป็นสีน้ำตาล ส่วนเนื้อในเถากลวง แตกกิ่งก้านสาขาออกมากมายเป็นทรงพุ่ม ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ ตอนกิ่ง และเพาะเมล็ด (แต่การปักชำเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด) โดยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ดีสวยในดินร่วนซุยและมีความชื้นปานกลาง มักพบขึ้นมากทางป่าแถบภูเขา

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 5,155

กระทือ

กระทือ

ต้นกระทือไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นเทียมสูงได้ถึง 1 เมตร มีเหง้าใต้ดิน แตกแขนงเป็นกอ เปลือกเหง้าสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม จะแทงหน่อใหม่ช่วงฤดูฝน ใบกระทือใบเดี่ยว เรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ หลังใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีเขียวนวล ก้านใบสั้นมาก ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร กาบใบเรียงตัวกันแน่น หุ้มเป็นลำต้นเทียม ดอกช่อ แบบช่อเชิงลด ก้านช่อดอกยาว 14-45 เซนติเมตร ตั้งตรง แทงออกมาจากเหง้าใต้ดิน ดอกทรงกระบอก ปลายมน ใบประดับสีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม

เผยแพร่เมื่อ 13-05-2020 ผู้เช้าชม 2,662