สังกรณี

สังกรณี

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้ชม 7,801

[16.4258401, 99.2157273, สังกรณี]

สังกรณี ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria strigosa Willd. จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)

สมุนไพรสังกรณี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้ไฟนกคุ้ม (ปราจีนบุรี), กำแพงใหญ่ (เลย), กวางหีแฉะ (สุโขทัย), จุกโรหินี (ชลบุรี), หญ้าหงอนไก่ หญ้าหัวนาค (ภาคเหนือ), เพิงดี (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เป็นต้น

ลักษณะของสังกรณี

  • ต้นสังกรณี จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขารอบ ๆ ต้นมากมาย มีความสูงของลำต้นประมาณ 60-120 เซนติเมตร ตามต้นไม่มีหนาม ตามกิ่งก้านมีขนสีน้ำตาลปกคลุมอยู่ จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและมีความชื้นปานกลาง มักพบขึ้นมากตามป่าเต็งรัง ป่าไผ่ ป่าดงดิบ และป่าดิบแล้ง
  • ใบสังกรณี ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างยาวหรือเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลมและมีติ่ง โคนใบแหลมและค่อย ๆ เรียวแหลมไปจนถึงก้านใบ ส่วนขอบใบมีขนเป็นหนามเล็ก ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ท้องใบมีขนยาวตามเส้นใบ ส่วนหลังใบมีขนบ้างประปราย ก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.5 เซนติเมตร
  • ดอกสังกรณี ออกดอกเป็นช่อกระจะแน่น โดยจะออกตามง่ามใบหรือที่ปลายยอด มีดอกย่อยประมาณ 10 ดอก ดอกมีใบประดับเป็นรูปรีหรือรูปหอก มี 2 แผ่น กว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ปลายแหลม ขอบหยักเป็นซี่ฟันถี่ เป็นชายครุย หุ้มโคนดอก ดอกย่อยเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยง 2 กลีบ เรียงตัวตรงข้ามกันเป็นคู่ เชื่อมกันที่โคน ปลายแยก คู่ด้านนอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ปลายแหลม ส่วนขอบหยักซี่ฟันถี่ เป็นชายครุย ส่วนคู่ด้านนอกในเป็นรูปใบหอกขนาดเล็ก มีขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ปลายเรียวแหลม ขอบกลีบมีขนต่อม กลีบดอกมีด้วยกัน 5 กลีบ เชื่อมกันเป็นหลอด รูปปากเปิด สีม่วงอ่อน หลอดกลีบดอกยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร ด้านนอกเรียบ ส่วนด้านในขรุขระ กลีบปากด้านบนมี 4 แฉก ในแต่ละแฉกจะมีขนาดใกล้เคียงกัน ลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปรี กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ปลายแฉกมนถึงกลม ขอบเรียบ ผิวด้านนอกมีขนต่อม กลีบปากด้านล่างมี 1 กลีบ ขนาดใหญ่ เป็นรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายแฉกมนกลมถึงเว้าตื้น ขอบเรียบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดที่โคนหลอดกลีบดอก แบ่งเป็นคู่ 2 คู่ เกสรเพศผู้คู่ยาวมีก้านเกสรยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ช่วงโคนมีขนสั้น ช่วงปลายเรียบ อับเรณูเป็นรูปขอบขนานมีสีม่วง มีขนาดกว้างประมาณ 1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร แตกตามแนวยาว ส่วนเกสรเพศผู้คู่สั้นมีก้านเกสรยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีขนสั้นขึ้นปกคุลมตลอดความยาว อับเรณูจะมีขนาดเล็ก กว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร และมีเกสรเพศผู้ทีเป็นหมันอีก 1 อัน ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร แทรกอยู่ระหว่างกลาง เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน กว้างได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผิวเรียบ ด้านในแบ่งเป็นช่อง 2 ช่อง ในแต่ละช่องจะมี 2 ออวุล ติดอยู่ที่แกนจานฐานดอก สูงได้ประมาณ 2 มิลลิเมตร หุ้มรอบรังไข่ ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนมกราคม
  • ผลสังกรณี ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักแบนเกลี้ยง สีน้ำตาล พอแห้งจะแตกได้ ภายในผลมีเมล็ดอยู่ 4 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมแบน

สรรพคุณของสังกรณี

  1. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ทั้งต้น) ส่วนคนเมืองจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำร่วมกับสมุนไพรฮ่อสะพานควาย และดู่เครือ ใช้ดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)
  2. ในประเทศไทยจะใช้รากปรุงเป็นยาถอนพิษไข้กาฬ โดยผสมกับเครื่องยาอื่น ๆ เป็นยาดับพิษไข้ทั้งปวง และเป็นยาแก้ไอ (ราก)
  3. รากมีรสขม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ ดับพิษร้อน ช่วยลดความร้อนในร่างกาย (ราก)
  4. ใบใช้เป็นยาแก้ไข้หวัดใหญ่ (ใบ)
  5. ช่วยแก้ไข้จับสั่น (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  6. ในประเทศอินเดียจะใช้รากสังกรณีปรุงเป็นยาแก้ไอ (ราก)
  7. ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการไอเป็นเลือด (ทั้งต้น)
  8. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โลหิตกำเดา (ราก) ส่วนบางข้อมูลระบุว่าใบสังกรณีก็นำมาใช้เป็นยาแก้กำเดาได้เช่นกัน (ใบ)
  9. ใบใช้เป็นยาแก้คออักเสบ (บางข้อมูลระบุว่าช่วยแก้ต่อมทอลซิลอักเสบ และแก้วัณโรคปอดได้ด้วย) (ใบ)
  10. ช่วยขับปัสสาวะ และแก้ปัสสาวะพิการ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  11. ทั้งต้นใช้ดองกับเหล้าเป็นยาบำรุงกำหนัด (ทั้งต้น)
  12. ตำรับยาขับน้ำคาวปลาหลังการคลอดบุตรของสตรี ระบุให้ใช้รากสังกรณี รากชุมเห็ดไทย รากหรือต้นก้างปลาแดง นำมาต้มกับน้ำดื่ม เป็นยาร้อน จะช่วยขับน้ำคาวปลาหลังคลอดได้ (ราก)

คำสำคัญ : สังกรณี

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). สังกรณี. สืบค้น 27 กรกฎาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1787&code_db=610010&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1787&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

รุ่งอรุณ

รุ่งอรุณ

รุ่งอรุณ จัดเป็นไม้เลื้อย สามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 6 เมตร มีรากพิเศษที่ออกเป็นกระจุกอยู่รอบข้อ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำกิ่ง เป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด ดินร่วนและระบายน้ำได้ดี จึงควรปลูกในบริเวณที่มีแสงแดดจัด เพราะจะช่วยทำให้ดอกดกและออกดอกได้ตลอดทั้งปี

เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 3,320

กระถินเทศ

กระถินเทศ

ต้นกระถินเทศเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อม สูงประมาณ 2-4 เมตร ลำต้นมีหนาม ต้นกิ่งก้านจะมีสีคล้ำน้ำตาล กิ่งย่อยมีหนาม กิ่งออกในลักษณะซิกแซ็ก ใบกระถินเทศมีสีเขียวแก่ เป็นใบประกอบ เรียงตัวลักษณะคล้ายขนนก 2 ชั้น ยาว 5-8 ซม. มีใบย่อย 10-20 คู่ หูของใบจะมีหนามยาวประมาณ 1-1.5 ซม. ดอกกระถินเทศเป็นช่อมีลักษณะเป็นพุ่มกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. มีขนสั้น ๆ คลุมอยู่ มีสีเหลืองเข้ม จะมีกลิ่นหอม กลีบดอกเป็นหลอด ส่วนปลายจะมี 5 กลีบ รังไข่ยาวเป็นหลอด มีเกสรตัวผู้มาก ปลายก้านเกสรตัวเมียงอ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-3 ซม.

เผยแพร่เมื่อ 13-05-2020 ผู้เช้าชม 2,569

พลูคาว

พลูคาว

พลูคาวเป็นพืชล้มลุกที่พบได้ทั่วไปในแถบทวีปเอเชียในแถบเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงเวียดนาม ญี่ปุ่น รวมถึงไทยด้วย เป็นที่รู้จักกันดีในทางภาคเหนือ วิธีใช้ทั้งต้นแห้งประมาณ 15-30 กรัม (ต้นสด 30-60 กรัม) นำมาแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที แล้วนำมาต้มน้ำให้เดือดประมาณ 5 นาทีแล้วนำมาดื่ม แต่หากใช้ร่วมกับสมุนไพรหรือยาชนิดอื่น ให้ต้มยาอื่นให้เดือดก่อนจึงใส่ยา ต้มให้เดือด การรับประทานถ้ามากเกินไปอาจจะทำให้หัวใจเต้นสั้นและถี่ อาจเป็นอันตรายได้

เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 2,062

กุ่มบก

กุ่มบก

กุ่มบก (Sacred Barnar) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้น ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคอีสานเรียกผักก่าม เขมรเรียกถะงัน หรือสะเบาถะงัน เป็นต้น ซึ่งกุ่มบกนั้นมีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนภาคกลางและใต้ของไทย รวมทั้งในพุทธประวัติยังได้กล่าวไว้ว่าขณะที่พระพุทธเจ้าทรงนำห่อบังสุกุลที่ห่อศพนางมณพาสีไปซักแล้วนำไปตากไว้ที่ต้นกุ่ม และเทวดาที่สถิตอยู่ในต้นกุ่มก็ได้น้อมกิ่งลงมาให้พระพุทธเจ้าได้ทรงตากจีวรอีกด้วย

เผยแพร่เมื่อ 29-04-2020 ผู้เช้าชม 3,573

ผักตบชวา

ผักตบชวา

ลักษณะทั่วไป  วัชพืชน้ำที่มีอายุยืนหลายปี สูง 30-90 ซม.  ลำต้นสั้น รากแตกออกจากลำต้น บริเวณข้อ รากสีม่วงดำ เกิดจากสารแอนโทโซยานิน ลำต้นแตกไหล เกิดเป็นลำต้นใหม่ ติดต่อกันไป  ใบออกเป็นกลุ่มรอบลำต้น ใบกว้างใหญ่ มีรูปร่างค่อนข้างกลม ส่วนฐานใบเว้าเข้าหาก้านใบ มีหูใบ ปลายใบมน ขนาดของใบความยาวก้านใบขึ้นกับสภาพความอุดมสมบูรณ์ในบริเวณที่เจริญเติบโตอยู่ ก้านใบจะพองออกภายในมีรูพรุน ลักษณะคล้ายผองนำ ช่วยพยุงให้ลำต้นลอดน้ำได้ ดอกออกเป็นช่อชนิดสไปด์  ออกดอกได้ตลอดปี ในช่อหนึ่ง ๆ  มีดอกย่อย    6-30 ดอก มีก้านช่อดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกหลอมรวมกัน มีสีม่วง มีจุดเหลืองรวมกันเป็นรูปกรวย  ปลายแยกเป็น  6  กลีบ  มีเกสรตัวผู้  6 ตัว เกสรตัวเมียเป็นเส้นบาง ๆ ที่ส่วนปลายเป็นตุ่มสีขาว

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 3,624

บอนส้ม

บอนส้ม

บอนส้ม จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นสั้นป้อมเป็นกาบหุ้มคล้ายบอน แต่จะมีขนาดเล็กกว่า โดยจะมีความยาวได้ประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหัว พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นตามที่ชื้นในป่าทั่วไป โดยเฉพาะทางภาคใต้ ใบบอนส้ม ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปหอกกลับ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือแคบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-60 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้เช้าชม 2,250

ขีกาขาว

ขีกาขาว

ลักษณะทั่วไป ต้นเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยตามพื้นดิน เถาจะกลมและโตขนาดเท่าก้านไม้ขีดไฟหรือโตกว่าเล็กน้อย ตามข้อของเถาจะมีมือเกาะ ใบจะมีขนหนากลมโต ดูผิวเผินแล้วจะคล้ายผักเขียว แต่เถาและใบจะเล็กกว่าไม่กลวง ดอกโตและมีสีขาว ผลมีลักษณะกลมและโต มีผลขนาดเท่าผลมะนาว ผลสุกมีสีแดง  นิเวศวิทยาชอบขึ้นเองตามธรรมชาติบนพื้นดินที่รกร้างทั่วไป และตามไร่นา  การขยายพันธุ์ใช้เมล็ด ประโยชน์ด้านสมุนไพร เถาใช้ปรุงยาบำรุงถุงน้ำดี ลูกถ่ายแรงกว่าเถา บำรุงงาน้ำดีล้างเสมหะ ดับพิษเสมหะและโลหิต รักษาตับปอดพิการ ใช้เถาต้มกับน้ำให้เดือดนาน ๆ ใช้เป็นยาฆ่าเรือดไรและเหาได้ ใบสดใช้ตำสุมขม่อมเด็กเวลาเย็น รักษาอาการคัดจมูกได้ดี ใช้ปรุงเป็นยา ขี้กาขาวจะใช้น้อยกว่าขี้กาแดง

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 2,040

คำฝอย

คำฝอย

คำฝอยเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นสูงประมาณ 40-130 ซม. มีลำต้นเป็นสัน แตกกิ่งก้านสาขามาก เป็นใบเดี่ยว ลักษณะแบบเรียงสลับ รูปทรงรี ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย บริเวณปลายเป็นหนามแหลม ออกดอกเป็นช่อ ดกช่อ ออกดอกที่ปลายยอด และมีดอกย่อยขนาดเล็กๆ จำนวนมาก เมื่อบานใหม่ๆ กลีบดอกมีสีเหลือง แล้วจึงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแดง ใบประดับแข็งเป็นหนามคอยรองรับช่อดอก ส่วนผลแห้ง ไม่แตก เมล็ดรูปทรงสามเหลี่ยมเล็กเป็นสีขาว

เผยแพร่เมื่อ 29-04-2020 ผู้เช้าชม 2,071

ไพล

ไพล

ต้นไพล เป็นไม้ล้มลุก สูง 0.7-1.5 เมตร มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า เปลือกสีน้ำตาลแกมเหลือง เหง้าสดมีเนื้อในสีเหลืองถึงเหลืองแกมเขียว ฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอมเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกันเป็นลำกลม สีเขียวเข้ม โคนกาบสีแดง

เผยแพร่เมื่อ 17-02-2017 ผู้เช้าชม 3,457

มะพร้าว

มะพร้าว

มะพร้าว เป็นพืชยืนต้นที่จัดอยู่ในตระกูลปาล์ม ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบเหมือนขนนก ผลประกอบไปด้วยเปลือกนอก ใยมะพร้าว กะลามะพร้าว และชั้นสุดท้ายคือเนื้อมะพร้าว ซึ่งภายในจะมีน้ำมะพร้าว ถ้าลูกมะพร้าวแก่มาก เนื้อมะพร้าวจะดูดเอาน้ำมะพร้าวไปหมด มะพร้าวเป็นผลไม้ที่นิยมกันอย่างมากในบ้านเรา คุณสมบัติเด่น ๆ ของมะพร้าวก็คือ ส่วนต่าง ๆ สามารถนำมาใช้ทำเป็นประโยชน์ได้หมด ไม่ว่าจะทำเป็นอาหารคาวหวานเพื่อบำรุงสุขภาพและรักษาอาการหรือโรคต่าง ๆ รวมไปถึงการผลิตน้ำมันมะพร้าว กะทิ น้ำตาล และยังรวมไปถึงการทำสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ขึ้นมาใช้สอย

เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 14,606