มะพร้าว

มะพร้าว

เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้ชม 15,609

[16.4258401, 99.2157273, มะพร้าว]

มะพร้าว ชื่อสามัญ Coconut

มะพร้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ Cocos nucifera L. จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEAE

สมุนไพรมะพร้าว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดุง (จันทบุรี), โพล (กาญจนบุรี), คอส่า (แม่ฮ่องสอน), เอี่ยจี้ (จีน), หมากอุ๋น หมากอูน (ทั่วไป) เป็นต้น

มะพร้าวเป็นพืชยืนต้นที่จัดอยู่ในตระกูลปาล์ม ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบเหมือนขนนก ผลประกอบไปด้วยเปลือกนอก ใยมะพร้าว กะลามะพร้าว และชั้นสุดท้ายคือเนื้อมะพร้าว ซึ่งภายในจะมีน้ำมะพร้าว ถ้าลูกมะพร้าวแก่มาก เนื้อมะพร้าวจะดูดเอาน้ำมะพร้าวไปหมด

สำหรับสถิติการผลิตมะพร้าว ประเทศอินโดนีเซียคืออันดับ 1 ของโลกที่ผลิตมะพร้าวได้มากที่สุด ส่วนประเทศไทยจะอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก และรายชื่อพันธุ์มะพร้าวต่าง ๆ ก็ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวทะเล มะพร้าวไฟ มะพร้าวซอ มะพร้าวกะทิ มะพร้าวพวงร้อย มะพร้าวมลายูสีเหลืองต้นเตี้ย

มะพร้าวเป็นผลไม้ที่นิยมกันอย่างมากในบ้านเรา คุณสมบัติเด่น ๆ ของมะพร้าวก็คือ ส่วนต่าง ๆ สามารถนำมาใช้ทำเป็นประโยชน์ได้หมด ไม่ว่าจะทำเป็นอาหารคาวหวานเพื่อบำรุงสุขภาพและรักษาอาการหรือโรคต่าง ๆ รวมไปถึงการผลิตน้ำมันมะพร้าว กะทิ น้ำตาล และยังรวมไปถึงการทำสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ขึ้นมาใช้สอย

น้ำมะพร้าว ถ้าจะให้ดีควรกินสดๆ เปิดลูกแล้วควรดื่มเลย ไม่ควรทิ้งไว้หรือเก็บไว้ในตู้เย็นนานเกินครึ่งชั่วโมง หากดื่มทันทีจะทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด แต่ควรระวังเรื่องสารฟอกขาวไว้ด้วย ซื้อมาจากสวนโดยตรงก็จะดีและปลอดภัยมาก และสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือเป็นโรคไตควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมะพร้าว 

มะพร้าวกับความเชื่อ มีความเชื่อว่าการปลูกต้นมะพร้าวทางทิศตะวันออกของบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วย และยังเป็นมิ่งขวัญสำหรับคนเกิดปีชวดและปีเถาะอีกด้วย ส่วนในพิธีกรรมทางศาสนาจะจัดให้มีเครื่องสังเวยเป็นมะพร้าวอ่อน เพราะเชื่อว่าเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ การดื่มน้ำมะพร้าวก็เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ยังใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพอีกด้วย เพราะมีความเชื่อว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ ทำให้ผู้ตายเกิดความผ่องใส สงบจิตใจลงได้ และเดินทางไปยังภพภูมิหน้าได้อย่างเป็นสุข (อ้อ มะพร้าวยิ่งต้นสูงเท่าไหร่ น้ำก็ยิ่งสะอาดมากขึ้นเท่านั้น) (ที่มา : ตำราพรหมชาติฉบับหลวง)

น้ำมันพร้าวกับประจำเดือน ด้วยความเชื่อที่ว่า "ในขณะที่มีประจำเดือนไม่ควรดื่มน้ำมะพร้าวเป็นอันขาด" แต่ความจริงก็คือน้ำมะพร้าวก็เหมือนน้ำหวานทั่ว ๆ ไป จึงไม่มีผลกระทบต่อการมีประจำเดือนแต่อย่างใด แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบางรายที่อาจมีอาการแพ้น้ำมะพร้าวได้ ดังนั้นคุณสามารถดื่มน้ำมะพร้าวแสนโปรดของคุณได้ตามปกติแม้จะมีประจำเดือนก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันความเสี่ยง ผู้เชี่ยวชาญไม่แนะนำให้เสี่ยงทดลอง เพราะประจำเดือนอาจจะเปลี่ยนสีและหดหายไปได้ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งมดลูกได้ในระยะยาว (แหล่งอ้างอิง : ดาราเดลี่) ประกอบกับตำรายาไทยโบราณบอกว่า "น้ำมะพร้าวแสลงกับหญิงที่กำลังมีประจำเดือน" (ที่มา : "สารานุกรมสมุนไพร" (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), "สมุนไพรร้านเจ้ากรมเป๋อ" (อุทัย สินธุสาร))

น้ํามะพร้าวกับคนท้อง ด้วยความเชื่อที่ว่า "ดื่มน้ำมะพร้าวมาก ๆ จะทำให้ลูกที่คลอดออกมามีผิวขาว ผิวเกลี้ยง และช่วยล้างไขตามตัว" ความจริงก็คือในน้ำมะพร้าวมีสารอาหารหลากหลายอย่างและกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อดื่มน้ำมะพร้าวจะทำให้สร้างไขที่ตัวเด็กให้มีสีค่อนข้างขาว เลยดูว่าเด็กตัวสะอาด เพราะตามธรรมชาติเด็กทุกคนต้องมีไขมันห่อหุ้มตัวอยู่แล้วแเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากอุณหภูมิภายนอกและยังช่วยให้เด็กคลอดง่ายขึ้นด้วย (ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง)

สรรพคุณของมะพร้าว

  1. น้ำมะพร้าวช่วยทำให้ผิวพรรณสดใส เปล่งปลั่ง ขาวนวลขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ (น้ำมะพร้าว)

ยอดอ่อนมะพร้าว

  1. น้ำมะพร้าวมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน ซึ่งทำให้ผิวมีความยืดหยุ่น กระชับ ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยได้เป็นอย่างดี (น้ำมะพร้าว)
  2. ประโยชน์ของน้ำมะพร้าว มีส่วนช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์ได้เป็นอย่างดี (น้ำมะพร้าว)
  3. ในเนื้อและน้ำมันมะพร้าวอ่อนมีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับร่างกายอย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี วิตามินบี กรดอะมิโน ธาตุแคลเซียม ธาตุแมกนีเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโพแทสเซียม ธาตุเหล็ก และยังมีไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมได้ภายใน 5 นาที (น้ำมะพร้าว)
  4. น้ำมะพร้าวมีประโยชน์ใช้เป็นเครื่องดื่มจากธรรมชาติที่ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นและไม่มีอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย (ยกเว้นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและโรคไต)
  5. น้ำมะพร้าวเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็นจึงช่วยดับร้อนในร่างกายได้เป็นอย่างดี (น้ำมะพร้าว)
  6. น้ำมะพร้าวอ่อนมีคุณสมบัติเป็นธาตุเย็น ช่วยล้างพิษ ขับพิษของเสียออกจากร่างกาย หรือช่วยดีท็อกซ์นั่นเอง (น้ำมะพร้าว)
  7. ช่วยบำรุงร่างกาย (เนื้อมะพร้าว)
  8. ช่วยปรับสมดุลของร่างกายในช่วงที่ร่างกายมีความเป็นกรดสูง เพราะน้ำมะพร้าวมีความเป็นด่าง ทำให้กลไกการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายเป็นปกติแส่งผลให้มีสุขภาพดีและแข็งแรง (น้ำมะพร้าว)
  9. ช่วยบำรุงโลหิต (ดอก)
  10. ใช้เป็นเครื่องดื่มธรรมชาติที่ให้เกลือแร่ได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะสำหรับนักกีฬา เนื่องจากอุดมไปด้วยธาตุโพแทสเซียม (น้ำมะพร้าว)
  11. ช่วยแก้กระหายน้ำ (น้ำมะพร้าว, เนื้อมะพร้าว, ดอก)
  12. น้ำมะพร้าวลดบวม ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (น้ำมะพร้าว)
  13. น้ำมะพร้าวมีคุณสมบัติปลอดเชื้อโรค จึงนำไปใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำหรือปริมาณเลือดลดแบบผิดปกติ (น้ำมะพร้าว)
  14. ช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ภาวะความจำเสื่อมในสตรีวัยทอง เนื่องจากมีปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง (น้ำมะพร้าวอ่อน)
  15. ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและช่วยรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ (น้ำมะพร้าวอ่อน)
  16. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้มะพร้าวแก่ขูดเอาเนื้อมาคั่วให้เหลือง โรยเกลือเล็กน้อย ใส่ภาชนะปิดให้แน่น แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1 ช้อนแกง เช้า กลางวัน เย็น ประมาณ 10 วันจะช่วยทำให้ระดับน้ำตาลลดลงเรื่อย ๆ ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวปวดศีรษะได้ (น้ำมะพร้าวอ่อน)
  17. นำมาใช้รักษาโรคคอตีบได้ (เปลือกหุ้มรากของมะพร้าว )
  18. ช่วยแก้อาการตาอักเสบ ด้วยการใช้น้ำมะพร้าวอ่อน 1 ถ้วย นำมาผสมกับน้ำตาลทรายแดงไว้ดื่มเช้าและเย็น อาการอักเสบก็จะค่อย ๆ หายไปเอง (น้ำมะพร้าวอ่อน)
  19. ช่วยแก้อาการระคายเคืองตา ด้วยการใช้เนื้อมะพร้าวอ่อนสด ๆ แปะที่ดวงตา อาการจะค่อย ๆ ทุเลาลง (เนื้อมะพร้าว)
  20. ช่วยลดอาการไข้สูง ตัวร้อน เพราะมีฤทธิ์เป็นยาเย็นจึงช่วยทุเลาอาการไข้ได้ (น้ำมะพร้าวอ่อน, เนื้อมะพร้าว)
  21. ใช้รักษาคนไข้ที่มีภาวะความเป็นกรดในเลือดสูง (น้ำมะพร้าวอ่อน)

กาบมะพร้าว

  1. ช่วยแก้ไข้ทับระดู ด้วยการเอาจั่นมะพร้าว ที่ยังมีกาบหุ้มอยู่นำมาต้มน้ำดื่ม เช้า กลางวัน เย็น อาการจะค่อยดีขึ้น (บางคนใช้รากก็ได้ผลเหมือนกัน)
  2. ช่วยแก้อาการร้อนใน ด้วยการดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนในช่วงเช้าและช่วงบ่าย (รับประทานเนื้อด้วย)
  3. ช่วยแก้อาการไอ ด้วยการดื่มน้ำมะพร้าวห้าว (น้ำมะพร้าวห้าว)
  4. ช่วยแก้อาการปากเปื่อย ปากเป็นแผล ด้วยการอมน้ำกะทิสด ๆ จากมะพร้าวแก่ประมาณ 5-10 นาที ประมาณ 3 วันแผลจะหายเร็วขึ้น (น้ำกะทิสด)
  5. ใช้แก้อาการเจ็บฟัน ด้วยการใช้เปลือกต้นสดนำไปเผาไฟให้เป็นเถ้าแล้วนำมาสีฟัน (เปลือกต้นสดมะพร้าว)
  6. ใช้เป็นยาแก้อาการเจ็บปากเจ็บคอ (ดอก)
  7. รากใช้อมบ้วนปากแก้อาการเจ็บคอ (ราก)
  8. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ด้วยการใช้มะนาว 1 ซีกบีบผสมกับน้ำมะพร้าวอ่อนแล้วดื่ม (น้ำมะพร้าวอ่อนผสมมะนาว)
  9. สำหรับผู้ที่อาเจียนและท้องร่วงในเวลาเดียวกันให้ดื่มน้ำมะพร้าว จะช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมกลูโคสไปใช้ได้เร็ว ทำให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติได้ (น้ำมะพร้าว)
  10. ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้กะลามะพร้าวแก่จัดที่มีรู ขูดเอาเนื้อออกใหม่ ๆ ใส่ถ่านไฟแดงลงไป แล้วรองเอาน้ำมันมะพร้าวที่ไหลออกมาเก็บใส่ภาชนะปิดให้มิดชิด แล้วใช้สำลีพันปลายไม้ชุบน้ำมันที่ได้อุดรูฟันที่ปวด แต่อย่าให้สัมผัสกับเหงือกหรือเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆโดยตรง เพราะจะทำให้ชาได้ (น้ำมันจากกะลามะพร้าว)
  11. ช่วยกล่อมเสมหะ (ดอก)
  12. ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด (น้ำมะพร้าว)
  13. ช่วยรักษาโรคกระเพาะ (น้ำมะพร้าวอ่อน)
  14. ใช้แก้อาการท้องเสีย ด้วยการใช้รากล้างสะอาดประมาณ 3 กำมือ ทุบพอแตก ต้มน้ำ 5 แก้ว เคี่ยวเอา 2 แก้ว แบ่งรับประทานครั้งละครึ่งแก้ว เช้า กลางวัน เย็น (ดอก, ราก, กะลา)
  15. ช่วยแก้โรคบิด ด้วยการดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน เช้า กลางวัน เย็น อาการจะดีขึ้น (น้ำมะพร้าวอ่อน)
  16. ช่วยรักษาโรคลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้เปลือกมะพร้าวมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาต้มน้ำดื่ม อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น (ควรใช้เปลือกมะพร้าวห้าวหรือมะพร้าวแก่)
  17. ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการใช้กะลามะพร้าวสะอาดมาเผาไฟจนแดง แล้วคีบเก็บไว้ในปี๊บสะอาด ปิดฝาให้เรียบร้อย จะได้ถ่านกะลาสีดำ นำมาบดเป็นผงรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ (กะลา)
  18. ช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลียจากอาการท้องเสียท้องร่วงได้ ช่วยเติมพลังหลังการเสียเหงื่อ เสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย (น้ำมะพร้าวอ่อน)
  19. ช่วยขับปัสสาวะ (น้ำมะพร้าวอ่อน, เนื้อมะพร้าว, ราก)

จาวมะพร้าว

  1. น้ำมะพร้าว สรรพคุณช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ (น้ำมะพร้าวอ่อน)
  2. ช่วยแก้นิ่ว ด้วยการดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน เช้า กลางวัน เย็น อาการจะดีขึ้นมาก (น้ำมะพร้าวอ่อน)
  3. ช่วยรักษาโรคตับและไต (ยังไม่ยืนยัน)
  4. ช่วยรักษาโรคดีซ่าน ด้วยการดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน เช้า กลางวัน เย็น เพียง 2 วันอาการก็จะดีขึ้นมาก (น้ำมะพร้าว)
  5. ใช้ถ่ายพยาธิได้ (น้ำมะพร้าว, เนื้อมะพร้าว)
  6. ช่วยบำรุงและแก้อาการปวดกระดูกและเอ็น (น้ำมันจากกะลามะพร้าว)
  7. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อักเสบ ช้ำบวม ด้วยการใช้น้ำกะทิเคี่ยวให้ร้อน แล้วนำผักเสี้ยนผีล้างให้สะอาดสับเคี่ยวเข้าด้วยกัน ใส่เมนทอลเล็กน้อยเพื่อให้มีกลิ่นหอมและช่วยให้ตัวยาแทรกซึมได้ดีขึ้น เสร็จแล้วนำมานวดบริเวณที่มีอาการ (น้ำกะทิเคี่ยว)
  8. ช่วยแก้อาการเม็ดผดผื่นคันตามตัว ด้วยการดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนเป็นประจำ (น้ำมะพร้าวอ่อน)
  9. สามารถใช้รักษาโรคผิวหนังได้ (น้ำมันจากกะลามะพร้าว)
  10. ช่วยสมานแผลให้หายเร็วขึ้นและป้องกันการเกิดแผลเป็น ด้วยการใช้น้ำมันมะพร้าวที่ได้จากกะลาเผาไฟถ่าน นำมาทาที่แผล จะทำให้แผลหายเร็วภายในไม่กี่วัน และจะไม่เกิดรอยแผลเป็น (น้ำมันจากกะลามะพร้าว)
  11. ใช้รักษาแผลเรื้อรัง ด้วยการเอากะลามะพร้าวมาถูตะไบเอาผง นำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใส่พิมเสนเล็กน้อย แล้วนำมาทาบริเวณแผลเช้า กลางวัน เย็น
  12. ใช้ทาแก้ผิวหนังแตกลาย (น้ำมันจากกะลามะพร้าว)
  13. ใช้เป็นยาทาแก้กลากเกลื้อนได้ ด้วยการใช้กะลามะพร้าวแก่จัดที่ขูดแล้ว มีรู มาใส่ถ่านไฟแดง ๆ น้ำมันมะพร้าวจะไหลออกมา แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นทิ้งไว้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ยางจะติดอยู่ เกลื้อนจะค่อย ๆ หายไป (น้ำมันจากกะลามะพร้าว)
  14. ช่วยรักษาเล็บขบ ฝ่ามือแตกลาย ด้วยการใช้น้ำมันมะพร้าวที่ได้จากการเผากะลามาทาเช้า กลางวัน เย็น หรือหยอดบริเวณที่เป็นเล็บขบ จะหายเร็วขึ้นและไม่มีอาการปวด (น้ำมันจากกะลามะพร้าว)
  15. ช่วยรักษาโรคอีสุกอีใส ด้วยการใช้ใบมะพร้าวต้มน้ำดื่ม (ใบมะพร้าว)
  16. ใช้ทาแก้หิด (เปลือกต้นสดมะพร้าว)
  17. ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้มะพร้าวกะทิปิดบริเวณแผล (มะพร้าวกะทิ)
  18. ในไต้หวันและจีน นิยมดื่มน้ำมะพร้าวเพื่อช่วยลดอาการเมา แก้อาเจียนหลังการดื่มแอลกอฮอล์ (น้ำมะพร้าว)
  19. ช่วยแก้พิษเบื่อเมา ด้วยการดื่มน้ำมะพร้าวซึ่งจะช่วยล้างพิษที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี (น้ำมะพร้าวอ่อน)

ประโยชน์ของมะพร้าว

  1. ช่วยกำจัดริ้วรอยของครกหินที่ซื้อมาใหม่ ด้วยการใช้เนื้อมะพร้าวที่ใช้คั้นกะทิตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ 4-5 ชิ้น ใส่ลงไปในครกแล้วตำเนื้อมะพร้าวจนละเอียด ให้น้ำมันจากเนื้อมะพร้าวออกมาสัมผัสกับผิวครกไปเรื่อย ๆ ประมาณสิบนาที แล้วทิ้งไว้อย่างนั้นประมาณ 1 คืนเพื่อให้น้ำมะพร้าวซึมเข้าตามริ้วรอยของเนื้อครก ก้นครกก็จะลื่นเป็นมันดูสดใสใช้งานได้อย่างคล่องมือ (หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)
  2. มารดาที่เพิ่งคลอดบุตรแต่ไม่มีน้ำนมเพียงพอ ก็สามารถให้บุตรกินน้ำมะพร้าวแทนน้ำนมแม่ได้ชั่วคราวได้ เพราะน้ำมะพร้าวมีกรดลอริกที่มีอยู่มากในน้ำนมแม่นั่นเอง แถมยังมีความบริสุทธิ์ไม่มีสารเคมีเจือปน จึงไม่เป็นอันตรายต่อเด็กทารก (น้ำมะพร้าว)
  3. ผู้ที่เป็นสิวหรือมีประจำเดือนติดต่อกันไม่หยุดให้ดื่มน้ำมะพร้าว จะช่วยทำให้ร่างกายขับของเสียออกมาได้มากยิ่งขึ้น (น้ำมะพร้าว)
  4. มะพร้าว ประโยชน์ใช้ทำเป็นน้ำส้มสายชูได้ (น้ำมะพร้าว)

ก้าน และ ใบมะพร้าว

  1. ยอดอ่อนมะพร้าว หรือ "หัวใจมะพร้าว" (Coconut’s heart) ซึ่งมีราคาแพงมาก เพราะการเก็บยอดอ่อนจะทำให้ต้นมะพร้าวตายทั้งต้น (ต้องโค่นกันเลยทีเดียว) โดยนำไปใช้ทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ผัด แกงส้ม แกงคั่ว รวมไปถึงยำยอดอ่อนมะพร้าว หรือ "สลัดเจ้าสัว" (Millionaire's salad)
  2. น้ำมะพร้าวนำไปแปรรูปเป็นวุ้นมะพร้าวได้ ด้วยการเจือกรดอ่อนเล็กน้อยลงในน้ำมะพร้าว (น้ำมะพร้าว)
  3. มะพร้าวอ่อน นอกจากรับประทานสดแล้ว ยังนำมาทำเป็นวุ้นมะพร้าว มะพร้าวเผา ส่วนประกอบในอาหารคาวหวาน เป็นต้น
  4. มะพร้าวแก่ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคั้นกะทิสด กะทิกล่อง มะพร้าวอบน้ำผึ้ง น้ำมันมะพร้าว รวมไปถึงน้ำมันไบโอดีเซลด้วย เป็นต้น
  5. เนื้อในของมะพร้าวแก่ ใช้ทำเป็นกะทิ ด้วยการขูดเนื้อเป็นเศษ ๆ แล้วบีบคั้นเอาน้ำกะทิออก (เนื้อมะพร้าว)
  6. กากที่เหลือจากการคั้นน้ำกะทิ สามารถนำไปใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย (กากมะพร้าว)
  7. กาบมะพร้าวหรือเปลือกมะพร้าว คุณสมบัติแข็งแรง คงทน ยืดหยุ่น มีสปริง นำมาใช้ทำเชือก พรม กระสอบ แปรง อวน ไม้กวาด และเส้นใบสั้นใช้อัดไส้ของที่นอน เบาะรถยนต์ เป็นต้น
  8. ใยมะพร้าวนำไปใช้ยัดฟูกเพื่อทำเป็นเสื่อได้ หรือจะนำไปใช้ในการเกษตรก็ได้เช่นกัน (ใยมะพร้าว)
  9. จั่นมะพร้าวหรือช่อดอกมะพร้าว อุดมไปด้วยฟรุกโตส ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของผึ้งและแมลงนานาชนิด จึงได้มีการนำน้ำหวานส่วนนี้มาทำเป็นน้ำตาลเพื่อใช้ปรุงอาหารคาวหวาน หรือทำเป็นน้ำตาลสดไว้เป็นเครื่องดื่มเพิ่มพลังก็ได้
  10. จาวมะพร้าวนำมาใช้ทำเป็นอาหารได้
  11. จาวมะพร้าวช่วยกระตุ้นการเจริญเติบของพืชที่ปลูกได้ เพราะมีฮอร์โมนออกซิน ซึ่งเมื่อนำไปคั้นก็จะได้น้ำไว้สำหรับรดต้นพืชที่ปลูก
  12. ใบมะพร้าวนิยมนำมาใช้สานเป็นภาชนะใส่ของ ห่อขนม สานหมวกกันแดดหรือเครื่องเล่นเด็ก กระจาด กระเช้า ตะกร้า ทำของที่ระลึกรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น

กะลามะพร้าวประดิษฐ์

  1. ก้านใบมะพร้าวหรือทางมะพร้าว นำมาใช้ทำเป็นไม้กวาดทางมะพร้าว เสวียนหม้อหรือก้นหม้อ เครื่องประดับข้างฝา พัด ภาชนะปักดอกไม้ กระเป๋า กระจาด เป็นต้น
  2. รกมะพร้าวหรือเยื่อหุ้มคอมะพร้าว ลักษณะเป็นแผ่นใยหยาบ ๆ บาง ๆ มีความยืดหยุ่น (แต่ขาดง่าย) นิยมนำมาทำเป็นกระเป๋า หมวก รองเท้าแตะ ดอกไม้ประดิษฐ์ กล่องใส่ของ สิ่งประดิษฐ์ใช้ตกแต่งงานศิลปะต่าง ๆ เป็นต้น
  3. กะลามะพร้าวนิยมนำไปใช้ทำสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กระบวย กระดุม ซออู้ โคมไฟ เครื่องประดับ เครื่องดนตรี ที่วางแก้วน้ำ ที่เขี่ยบุหรี่ รวมไปถึงทำเป็นถ่านหุงต้ม ถ่านกัมมันต์ น้ำควัน และถ่านสำหรับป้องกันมอดแมลงก็ได้เช่นกัน และอีกสารพัด (ที่อาจารย์สั่งให้ทำส่งเพื่อแลกกับคะแนน)
  4. รากมะพร้าวมีเส้นยาว เหนียวเป็นพิเศษ ใช้สานเป็นตะกร้า ถาด ภาชนะต่าง ๆ และสิ่งประดิษฐ์ทั่ว ๆไป
  5. ลำต้น เมื่อถูกโค่นทิ้งแล้วสามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ทำรั้ว ฝาผนัง กระถางต้นไม้ ตกแต่งสวน เป็นต้น

คำสำคัญ : มะพร้าว

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). มะพร้าว. สืบค้น 11 ตุลาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1733&code_db=610010&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1733&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

ลำไยป่า

ลำไยป่า

ลักษณะทั่วไป  ต้นเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 10 - 20 เมตร  พุ่มต้นมีลักษณะคล้ายต้นลำไย  โคนมีพูพอนบ้างเล็กน้อย เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลม เปลือกสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตามยาวลำต้น เปลือกในสีน้ำตาลอมชมพู  ใบ เป็นช่อ ใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปหอก ดอกเล็ก สีเขียวอ่อน สีขาว ออกรวมกันเป็นช่อตามง่ามใบและปลายกิ่ง ตามก้านช่อมีขนสีนวล ๆ ทั่วไป  ผลเล็กสีน้ำตาล ขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 6,951

ผักหนอก

ผักหนอก

ผักหนอก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้หลายปี มีความสูงได้ประมาณ 15-40 เซนติเมตร กิ่งก้านชูตั้งขึ้น ส่วนลำต้นมีลักษณะฉ่ำน้ำ เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ในเอเชียเขตร้อน จีน ญี่ปุ่น จนถึงออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค มักขึ้นตามที่ชื้นแฉะ และตามชายป่า จนถึงระดับความสูงประมาณ 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล

เผยแพร่เมื่อ 13-07-2020 ผู้เช้าชม 6,035

ฆ้องสามย่าน

ฆ้องสามย่าน

ต้นฆ้องสามย่าน จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 20-100 เซนติเมตร มีผิวเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ปล้องข้างล่างจะสั้น แต่ปล้องกลางหรือปล้องบนจะยาวขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านมาก ลำต้นและใบมีลักษณะฉ่ำน้ำ พรรณไม้ชนิดนี้เป็นพรรณไม้จำพวกมหากาฬ ใบหูเสือ หรือคว่ำตายหงายเป็น ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ชอบดินร่วน ความชื้นและแสงแดดปานกลาง ชอบขึ้นตามพื้นที่ลุ่มทั่วไป

เผยแพร่เมื่อ 25-05-2020 ผู้เช้าชม 2,864

ขมิ้นอ้อย

ขมิ้นอ้อย

ต้นขมิ้นอ้อย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุหลายปีที่มีเหง้าอยู่ใต้ดินและมีรากเล็กน้อยที่บริเวณเหง้า มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับขมิ้นชันแต่มีลำต้นที่สูงกว่า ขนาดเหง้าและใบใหญ่กว่า โดยต้นขมิ้นอ้อยจะมีความสูงประมาณ 1-1.2 เมตร เหง้ามักโผล่ขึ้นมาเหนือดินเล็กน้อย เหมือนเจดีย์ทรงกลมสูงหลายชั้นๆ (บ้างเรียกว่าขมิ้นขึ้นหรือขมิ้นเจดีย์) ลักษณะของเหง้ามีลักษณะเป็นรูปกลมรี มีความยาวประมาณ 18-24 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-11 เซนติเมตร ผิวด้านนอกเป็นสีขาวอมเหลือง

เผยแพร่เมื่อ 19-05-2020 ผู้เช้าชม 5,679

กระตังใบ (กระตังบาย)

กระตังใบ (กระตังบาย)

ต้นกระตังใบเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ลำต้นเกลี้ยง หรือปกคลุมด้วยขนสั้นๆ ใบกระตังใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 1-3 ชั้น ใบย่อยมี 3-7 ใบ ถึงจำนวนมาก ปลายใบคี่ เรียงแบบสลับ ใบย่อยออกเป็นคู่ตรงข้าม หูใบรูปไข่กลับ แผ่เป็นแผ่นกว้าง มักจะเกลี้ยง หรือมีขนประปราย หูใบร่วงง่าย ทำให้เกิดรอยแผลเป็นรูปสามเหลี่ยมกว้าง เกลี้ยง หรือมีขนสั้นปกคลุม ใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ถึงรูปหอกแกมรูปไข่ หรือรูปรี หรือรูปใบหอกแกมรี ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบสอบ หรือกลม หรือเว้า เล็กน้อย 

เผยแพร่เมื่อ 13-05-2020 ผู้เช้าชม 3,801

ชุมเห็ดเทศ

ชุมเห็ดเทศ

ชุมเห็ดเทศ (Ringworm Bush, Golden Bush) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้น ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคเหนือเรียก ชุมเห็ด, ชุมเห็ดใหญ่, ขี้คาก, ลับหมื่นหลวง, หญ้าเล็บหมื่นหลวง หรือหมากกะลิงเทศ เป็นต้น ซึ่งมีการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชุ่มชื้น โดยขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิดเลยทีเดียว แถมยังปลูกได้ง่ายอีกด้วย เพราะต้นชุมเห็ดเทศนี้ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่อะไรมากมายนัก และส่วนใหญ่มักพบต้นชุมเห็ดเทศนี้ได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

เผยแพร่เมื่อ 08-05-2020 ผู้เช้าชม 1,896

ผักเป็ด

ผักเป็ด

ลักษณะทั่วไป  ต้นเป็นวัชพืชใบเลี้ยงคู่ มีระบบรากแก้วขึ้นได้ดีในที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขัง ลำต้นสามารถเจริญแช่น้ำอยู่ได้ ถ้าต้นเรียบตรงหรือทอดขนานไปตามพื้นดิน ชูส่วนปลายยอดให้ตั้งตรง สูง 10-15 ซม. มีทั้งสีขาวอมเขียวและสีแดง ระหว่างข้อของลำต้นจะเป็นร่องทั้งสองข้าง  ใบเป็นไม้ใบเดี่ยว จะออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบรียาว สีเขียว ปนแดง ปลายใบและโคนใบจะแหลม ขอบใบเรียบ มีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป และขอบใบทั้งสองด้านเส้นกลางใบนูนก้านใบสั้นมาก  ดอกออกดอกเป็นช่อเป็นกระจุก จะออกบริเวณซอกใบ ดอกมีสีขาวมีกลีบดอก 5 กลีบ แต่ละดอกมีใบประดับเป็นเยื่อ บาง ๆ สีขาว 2 อัน

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 3,373

สารภี

สารภี

สารภีไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูง 10-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบแผ่กว้าง เปลือกสีเทาหรือเทาปนน้ำตาล แตกล่อนเป็นสะเก็ด เปลือกชั้นในสีแดงเข้ม มีน้ำยางสีคล้ายน้ำนม เมื่อทิ้งให้สัมผัสกับอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน กิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-6.5 ซม. ยาว 15-20 ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนสอบแคบหรือสอบเรียว ปลายใบมนหรือสอบทู่ๆ อาจมีติ่งสั้นๆ หรือหยักเว้าตื้นๆ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้งสองด้าน สีเขียวเข้มเป็นมัน เส้นแขนงใบจำนวนมาก ไม่ชัดเจน ก้านใบ ยาว 0.5-1 ซม.

เผยแพร่เมื่อ 09-02-2017 ผู้เช้าชม 2,154

หญ้างวงช้าง

หญ้างวงช้าง

หญ้างวงช้าง เก็บ ทั้งต้นที่เจริญเต็มที่ มีดอก ล้างให้สะอาด ใช้สดหรือตากแห้งเก็บเอาไว้ใช้ก็ได้ ทั้งต้นรสขม ใช้เป็นยาเย็น แก้กระหายน้ำ ดับร้อนใน ขับปัสสาวะ แก้บวม แก้พิษปอดอักเสบ มีหนองในช่องหุ้มปอด เจ็บคอ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เด็กตกใจในเวลากลางคืนบ่อยๆ ปากเปื่อย แผลบวม มีหนอง และแก้ตาฟาง

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 4,137

ไมยราบ

ไมยราบ

ไมยราบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mimosa Pudica L. อยู่ในวงศ์ FABACEAE และมีชื่ออื่น ๆ ได้แก่ หญ้าต่อหยุบ หญ้ายุบยอบ กะหงับ ก้านของระงับ หงับพระพาย หญ้าจิยอบ และหญ้าปันยอด เป็นไม้ล้มลุก ใบประกอบเหมือนขนนก 2 ชั้น ดอกช่อกระจุกแน่น สีชมพู ออกที่ง่ามใบ ผลเป็นฝักแบน ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

เผยแพร่เมื่อ 20-02-2017 ผู้เช้าชม 3,013