พันงูเขียว
เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้ชม 927
[16.4258401, 99.2157273, พันงูเขียว]
พันงูเขียว ชื่อสามัญ Brazilian Tea, Bastard Vervain, Jamaica False Veravin, Arron's Rod
พันงูเขียว ชื่อวิทยาศาสตร์ Stachytarpheta jamaicensis (L.) Vahl จัดอยู่ในวงศ์ผกากรอง (VERBENACEAE)
สมุนไพรพันงูเขียว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เจ๊กจับกบ (ตราด), เดือยงู พระอินทร์โปรย (ชุมพร), หญ้าหนวดเสือ (ภาคเหนือ), สี่บาท สารพัดพิษ (ภาคกลาง), หญ้าหางงู (ภาคใต้), ลังถึ่งดุ๊ก (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), เล้งเปียง (จีนแต้จิ๋ว), ยี่หลงเปียน ยวี่หลงเปียน เจี่ยหม่าเปียน (จีนกลาง), ฉลกบาท, หญ้าพันงูเขียว เป็นต้น
ลักษณะของพันงูเขียว
- ต้นพันงูเขียว จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาทางด้านข้าง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้พบได้ในแถบเขตร้อนทั่วไป โดยมักขึ้นตามเนินเขา ตามทุ่งนา ทุ่งหญ้า พื้นที่เปิด หรือตามริมถนน ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 600 เมตร
- ใบพันงูเขียว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร
- ดอกพันงูเขียว ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ดอกเป็นสีม่วงน้ำเงิน เป็นรูปกลมงอเล็กน้อย มีกลีบดอก 5 กลีบ มีกาบใบ 1 ใบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีฟันเลื่อย 4-5 หยัก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน และมีรังไข่ 2 ห้อง ดอกจะออกในช่วงฤดูร้อน
- ผลพันงูเขียว ผลมีกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่ พบได้ในบริเวณช่อดอก ถ้าแห้งแล้วจะแตกออกได้ ภายในผลมีเมล็ด
สรรพคุณของพันงูเขียว
- ทั้งต้นมีรสขม ชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและลำไส้ใหญ่ ใช้เป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ช่วยขับเหงื่อ (ทั้งต้น)
- ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ ลดไข้ (ทั้งต้น)
- ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคตาแดง (ทั้งต้น)[1]ตำรับยาแก้ตาบวม ตาแดง ตาอักเสบ จะใช้พันงูเขียวทั้งต้น 35 กรัม, เจียไก้หลาน 35 กรัม และอิไต้เถิง 25 กรัม นำมารวมกันตำผสมกับพิมเสนเล็กน้อย ใช้พอกบริเวณตาที่บวม (ทั้งต้น)
- ใบใช้รักษาอาการเจ็บคอ คออักเสบ ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำตาล ใช้เป็นยาอม (ใบ, ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาอาการอาเจียน (ทั้งต้น)
- ใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะ (ทั้งต้น)
- เปลือกต้นใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสียและโรคบิด (เปลือกต้น)[1]ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้ใช้ใบเป็นยาแก้โรคบิด (ใบ)
- ใช้เป็นยาขับพยาธิ (ทั้งต้น)[1]ใช้ขับพยาธิในเด็ก (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ รักษาทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ (ทั้งต้น)
- ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคหนองใน (ทั้งต้น)[3]ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคหนองใน (ราก)
- รากมีสรรพคุณทำให้แท้ง (ราก)
- ต้นสดใช้ตำพอกบริเวณที่เป็นแผลอักเสบ แผลเปื่อย ฝีและหนอง และพิษอักเสบปวดบวม (ทั้งต้น)
- ใบใช้เป็นยาทารักษาฝีหนอง (ใบ)
- ตำรับยาแก้บวม ฟกช้ำ จะใช้พันงูเขียวทั้งต้น, โกฐดอกขาว และสือเชียนเถา อย่างละเท่า ๆ กัน นำมาตำผสมกับกับเหล้าเล็กน้อย ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[2]
- ใบใช้ตำพอกแก้เคล็ด (ใบ)
- ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคปวดข้อ (ทั้งต้น)
- ใบใช้เป็นยาทาถูนวดรักษาอาการปวดเมื่อย (ใบ)[1]รักษาอาการปวดเมื่อยตามข้อเนื่องจากลมชื้นคั่งค้างภายในร่างกาย (ทั้งต้น)
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม ส่วนยาสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา หากนำมาใช้ภายนอก ให้นำมาตำพอกบริเวณที่ต้องการ
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพันงูเขียว
- ในรากพันงูเขียว พบสารจำพวก Phrnol, Chlorogenic acid เป็นต้น
- สารที่สกัดได้จากการต้มด้วยน้ำ จะมีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภา ส่วนสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์กระตุ้นอ่อนกว่า แต่ทั้งสองชนิดจะไม่มีฤทธิ์ต่อหูรูด ระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็กของกระต่ายและมดลูกของหนูขาว
- สารที่สกัดได้จากการต้มด้วยน้ำ จะมีฤทธิ์กระตุ้นเพียงเล็กน้อยต่อหัวใจของกระต่าย ถ้านำมาฉีดเข้ากล้ามที่ขาหลังของหนูขาวทดลอง พบว่าสามารถขยายเส้นเลือดของหนูทดลองได้ แต่ถ้านำมาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำของสุนัขที่ถูกวางยาสลบ พบว่าจะไม่มีผลต่อความดันโลหิต
- ทั้งสารที่สกัดได้จากน้ำและแอลกอฮอล์ หากนำมาฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักรทดลองในปริมาณ ตัวละ 0.1 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากฉีดยาแล้ว หนูจะตาย
- น้ำที่สกัดได้จากต้นพันงูเขียว มีฤทธิ์คล้ายโดปามีน (dopamine) และมีพิษต่อหนูถีบจักร
- จากการศึกษาคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระไฮดรอกซิล และหาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดที่ได้จากส่วนของราก ลำต้น ใบ และช่อดอกพันงูเขียว ที่สกัดด้วย น้ำ, เอทานอล 50%, เอทานอล 75% ผลการวิจัยพบว่าสารสกัดจากใบพันงูเขียวที่สกัดด้วยเอทานอล 75 % สามารถให้เปอร์เซ็นต์การยับยั้งอนุมูลอิสระไฮดรอกซิล ได้สูงสุดทั้งชนิดสดและชนิดแห้ง เท่ากับ 6.45 และ 54.00 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบกับวิตามินอีที่ความเข้มข้น 5 ppm พบว่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งอนุมูลอิสระไฮดรอกซิลของสารสกัดจากใบแห้ง มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งมากกว่าวิตามินอี 1.16 เท่า แต่พบว่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งอนุมูลอิสระไฮดรอกซิลของสารสกัดจากใบสด มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งน้อยกว่าวิตามินอี 7.21 เท่า แต่เมื่อนำสารสกัดหยาบมาศึกษาองค์ประกอบทางเคมีก็พบว่ามีกรดแกลลิกและควอซิตินเป็นองค์ประกอบ (การศึกษาสมบัติการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากต้นพันงูเขียว โดย : ชัชฎาพร องอาจ และปวีณา ดารา)
ประโยชน์ของพันงูเขียว
- ใบประเทศบราซิลจะใช้ใบพันงูเขียว แทนใบชา และส่งขายทางยุโรป ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า "Brazillian tea"
คำสำคัญ : พันงูเขียว
ที่มา : https://medthai.com/
รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์
https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1746&code_db=610010&code_type=01
ต้นแดง (Iron wood) หรือที่รู้จักกันว่า ไม้แดง จัดเป็นไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย มีชื่อเรียกท้องถิ่นหลากหลายชื่อได้แก่ แดง จะลาน จาลาน ตะกร้อม ผ้าน คว้าย ไคว เพร่ เพ้ย เป็นต้น จัดเป็นพันธุ์ไม้ตระกูลเดียวกับกระถิน ชะเอมไทย สะตอ ไมยราบ ฯลฯ มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย
เผยแพร่เมื่อ 23-02-2017 ผู้เช้าชม 199
หนามโค้ง จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น มีเนื้อไม้แข็ง มีหนามแหลมโค้งเป็นคู่ทั่วทั้งลำต้น เปลือกเถาเป็นสีน้ำตาล ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบเบี้ยว แผ่นใบบาง ใบย่อยนั้นมีขนาดเล็ก ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกเป็นสีเหลือง กลีบดอกมี 4 กลีบ และมีกลีบเลี้ยงดอก 4 กลีบ ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ปลายฝักแหลม โคนฝักแหลม ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 4-6 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบน
เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 288
สำหรับกล้วยหอมนับได้ว่าพืชสมุนไพรที่มีคุณค่าครบถ้วนจริงๆ โดยมีลำต้นสูงประมาณ 2.5-3.5 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 20 เซนติเมตร ก้านใบเป็นร่องกว้างและมีปีก บริเวณกลางใบมีเส้นสีเขียวและมีขนตรงก้านเครือ มีผลเป็นเครือๆ 1 เครือจะมีประมาณ 4-5 หวี หวีละประมาณ 12-16 ผล ตรงปลายผลมีจุกสีเขียวแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีดำเห็นเด่นชัด เปลือกบาง ผลดิบสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองทอง เนื้อในสีเหลืองเข้ม รสชาติหวานหอมและอร่อย
เผยแพร่เมื่อ 29-04-2020 ผู้เช้าชม 130
ลักษณะทั่วไป เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ 0.5-2 เมตร ตั้งตรง สามารถแตกกิ่งก้านได้มากตามลำต้น และกิ่งก้านได้มากตามลำต้น และกิ่งก้าน จะมีขนอ่อนนุ่มสีเทาปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยวออกจากลำต้นแบบสลับ ใบกว้างรูปร่างแบบใบโพธิ์ ปลายใบไม่เรียวแหลมมากเหมือนใบโพธิ์ ขอบใบเป็นหยัก ฐานใบโค้งมนเว้าเข้าหาก้านใบเป็นรูปหัวใจ ออกตามซอกใบ เป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกยาว ใกล้ฐานดอกมีรอยต่อที่ก้านดอก ดอกจะมีกลีบเลี้ยงติดกันสีเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก รังไข่อยู่ปลายสุดของดอกมีผนังรังไข่เรียงติดกันเป็นกลีบ รัศมีวงกลม ผลมีลักษณะเป็นกลีบๆ เรียงติดกันคล้ายฟันเฟือง 15-20 กลีบ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. หนา 1-1.5 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล เมล็ดรูปไต
เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 1,275
ต้นกระเชาไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 15-30 ม. แตกกิ่งต่ำ ลำต้นมักแตกง่ามใกล้โคนต้น เปลือกสีน้ำตาลอมเทา มีช่องอากาศสีขาวทั่วไป ใบกระเชาใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-9 ซม. ยาว 7-14 ซม. ปลายแหลม โคนเบี้ยว มน มักเว้าเล็กน้อยตรงก้านใบเป็นรูปคล้ายหัวใจ ขอบเรียบหรือเป็นจักห่างๆ แผ่นใบด้านบนมีขนเล็กน้อยตามเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบ ด้านล่างมีขนนุ่มทั่วไป ก้านใบยาว 5-1.3 ซม. มีหูใบรูปใบหอกขนาดเล็ก 2 อัน ร่วงง่าย
เผยแพร่เมื่อ 13-05-2020 ผู้เช้าชม 409
พุทธรักษา เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แอฟริกา และอเมริกา และภายหลังได้กระจายพันธุ์ออกไปยังเอเชียเขตร้อน โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน มีอายุหลายปี ขึ้นรวมกันเป็นกอและเป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้านสาขา จะมีข้อแต่ค่อนข้างห่างกัน มีความสูงของลำต้นประมาณ 1.5-2.5 เมตร ลำต้นมีความเหนียวและอุ้มน้ำ มีเหง้าหัวสีขาวแตกแขนงอยู่ใต้ดิน (รากมีความเฉลี่ย 11.8 เซนติเมตร มีความยาวรอบรากเฉลี่ย 0.2 เซนติเมตร โดยความยาวของรากจะมีความสัมพันธ์กับขนาดของรากด้วย) ส่วนของลำต้นเทียมบนดินจะเกิดจากใบเรียงซ้อนเป็นลำตรงกลม ทั้งต้นไม่มีขนปกคลุม แต่บางครั้งอาจพบผงเทียนไขปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อและวิธีการเพาะเมล็ด
เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 1,828
ยี่หร่าเป็นไม้พุ่มเตี้ย มีความสูงประมาณ 50-80 เซนติเมตร ลำต้นมีสีน้ำตาลแก่ แตกกิ่งก้านสาขาขนาดเล็ก กิ่งก้านไม่ใหญ่ ในช่วงปีแรกและปีที่สองจึงออกดอกออกผล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและมีความชื้นปานกลางในสภาพกลางแจ้ง ใบยี่หร่าเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของเป็นรูปกลมรี โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบสีเขียวสด ผิวใบสากมือ ใบยี่หร่ามีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสร้อน จึงช่วยดับกลิ่นคาวจากอาหารจำพวกเนื้อสัตว์เนื้อปลาได้เป็นอย่างดี
เผยแพร่เมื่อ 27-05-2020 ผู้เช้าชม 1,365
ผักเสี้ยนผี จัดเป็นไม้ล้มลุก มีความสูงได้ประมาณ 1 เมตร ที่ส่วนต่าง ๆ ของต้นจะมีต่อมขนเหนียวสีเหลืองปกคลุมอยู่หนาแน่น มีกลิ่นเหม็นเขียว มีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวาง พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย แอฟริกา และออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยมักจะพบขึ้นได้ตามข้างถนนหรือที่รกร้าง ตามริมน้ำลำธาร บางครั้งก็อาจพบได้บนเขาหินปูนที่แห้งแล้งหรือตามชายป่าทั่วๆ ไป
เผยแพร่เมื่อ 13-07-2020 ผู้เช้าชม 1,451
อีเหนียว จัดเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 60-150 เซนติเมตร กิ่งก้านอ่อน แตกกิ่งก้านที่ปลาย ตามลำต้นมีขนปกคลุมหนาแน่นถึงปานกลาง มีขนาดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีเขตการกระจายพันธุ์แอฟริกา เอเชีย มาเลเซีย และพบในทุกภาคของประเทศไทยตามป่าโปร่งทั่วไป ป่าเปิดใหม่ ที่ระดับสูงถึง 1,900 เมตร จากระดับน้ำทะเล
เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 198
ผักแว่น จัดเป็นไม้น้ำล้มลุกจำพวกเฟิร์น มีลำต้นสูงได้ถึง 20 เซนติเมตร เจริญเติบโตในน้ำตื้นๆ มีลำต้นเป็นเหง้าเรียวยาวทอดเกาะเลื้อย และแตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ มีขนสีน้ำตาลอ่อนๆ ขึ้นปกคลุมและใบอยู่เหนือน้ำ โดยต้นอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีน้ำตาล ส่วนของรากสามารถเกาะติดและเจริญอยู่ได้ทั้งบนพื้นดินหรือเจริญอยู่ในน้ำก็ได้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เถา ไหล สปอร์ โดยผักแว่นมีเขตกระจายพันธุ์ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงประเทศญี่ปุ่น สามารถพบได้ทั่วไปตามหนองน้ำที่ชื้นแฉะหรือตามทุ่งนาในช่วงฤดูฝน
เผยแพร่เมื่อ 13-07-2020 ผู้เช้าชม 592