หงอนไก่

หงอนไก่

เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้ชม 21,204

[16.4258401, 99.2157273, หงอนไก่]

สมุนไพรหงอนไก่ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดที่ต้นตั้งตรงช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก (หงอนไก่ไทย) และชนิดที่ดอกมีรูปทรงคล้ายหงอนไก่ (หงอนไก่ฝรั่ง) ซึ่งทั้งสองชนิดเป็นพืชชนิดเดียวกันและอยู่ในวงศ์เดียวกัน (แต่ต่างสายพันธุ์) อีกทั้งยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นที่คล้ายกันอีกด้วย ส่วนสรรพคุณทางยาโดยรวมของทั้งสองก็คล้ายคลึงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ครับ

หงอนไก่ไทย

หงอนไก่ไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Celosia argentea L. จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า หงอนไก่ดง (นครสวรรค์), ดอกด้าย, ด้ายสร้อย, สร้อยไก่, หงอนไก่ (ภาคเหนือ), หงอนไก่ดอกกลม หงอนไก่ฟ้า หงอนไก่ฝรั่ง (ภาคกลาง), แซเซียง ชิงเซียงจื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น และมีชื่อสามัญว่า Cockscomb, Chainese Wool flower, Wool flower

  • ต้นหงอนไก่ไทย มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกาเขตร้อน ภายหลังได้กระจายพันธุ์ปลูกไปทั่วโลก โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกฤดูเดียว มีอายุเพียง 1 ปี มีลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 40-150 เซนติเมตร มักแตกกิ่งก้านเป็นสีเขียวแกมแดง ลำต้นมีลักษณะฉ่ำน้ำและมีร่องตามยาว เปลือกลำต้นมีทั้งสีแดงและสีเขียว แบ่งออกไปตามสายพันธุ์ 
  • ใบหงอนไก่ไทย ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน รูปหอกยาว หรือรูปเส้นแกมใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเรียวแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-18 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวและมักมีสีแดงแต้ม หรือเป็นสีแดงอมม่วง ใบตอนล่างจะมีขนาดใหญ่ ส่วนใบที่อยู่ส่วนยอดจะมีขนาดเล็กกว่า มีก้านใบยาวประมาณ 0.3-1.7 เซนติเมตร 
  • ดอกหงอนไก่ไทย ออกดอกเป็นช่อเป็นแท่งยาว โดยจะตามซอกใบและปลายกิ่งหรือปลายยอด ปลายช่อดอกแหลม ช่อดอกยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร อัดแน่นอยู่ในช่อเดียว ช่อดอกมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกย่อยมีกลีบดอกเป็นสีม่วงแกมสีชมพู หรือเป็นสีขาวปลายแต้มด้วยสีชมพู อยู่ติดกันเป็นกระจุก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ เกสรเพศผู้ 5 อัน และไม่มีก้านดอก 
  • ผลหงอนไก่ไทย ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ผลมีกลีบเลี้ยงบางหุ้มเมล็ดอยู่ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่กลับ เมล็ดกลมแบนสีดำเป็นมันเงาและแข็ง มีจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมรี 

หงอนไก่ฝรั่ง

หงอนไก่ฝรั่ง (หงอนไก่เทศ) ชื่อวิทยาศาสตร์ Celosia argentea var. cristata (L.) Kuntze, Celosia cristata L. จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หงอนไก่ดง (นครสวรรค์), ดอกด้าย ด้ายสร้อย สร้อยไก่ หงอนไก่ (ภาคเหนือ), หงอนไก่ดอกกลม หงอนไก่ฟ้า หงอนไก่ฝรั่ง หงอนไก่เทศ หงอนไก่ไทย (ภาคกลาง), พอคอที (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ชองพุ ซองพุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), กระลารอน (เขมร-ปราจีนบุรี), แชเสี่ยง โกยกวงฮวย (จีนแต้จิ๋ว), จีกวนฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น และมีชื่อสามัญว่า Wild Cockcomb, Cockcomb, Common cockscomb, Crested celosin

  • ต้นหงอนไก่ฝรั่ง จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 20 นิ้ว ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาไม่มากนัก และไม่มีแก่นด้วย เป็นพรรณไม้ที่กลายพันธุ์ได้ง่าย ทำให้บางต้นจึงมักไม่เป็นสีเขียวเสมอไป โดยอาจจะเป็นสีเขียวอ่อน สีขาว หรือสีแดง เป็นต้น ซึ่งก็แล้วแต่พันธุ์ของต้นนั้นๆ สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและระบายน้ำได้ดี เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ชอบแสงแดดจัด และเจริญเติบโตได้ง่ายและงอกงามเร็ว 
  • ใบหงอนไก่ฝรั่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกรวมกันเป็นกลุ่มตามข้อของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปทรงมนรี รูปรี หรือรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก แผ่นใบเป็นสีเขียว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวได้ประมาณ 10-15 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวหรือสีม่วงแดง ย่นเล็กน้อย ส่วนเส้นกลางใบเป็นสีชมพู
  • ดอกหงอนไก่ฝรั่ง ดอกจริง ๆ ของหงอนไก่ฝรั่งนั้นจะมีขนาดเล็กเป็นละอองแต่จะออกติดกันแน่นเป็นช่อเดียวกันคล้ายกับหงอนไก่ มีขนาดประมาณ 2-4 นิ้ว ลักษณะของช่อดอกจะบิดจีบม้วนไปมาอยู่ในช่อดูคล้ายหงอนไก่ แต่ละดอกจะมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ รูปปลายแหลม ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน ส่วนปลายมีรอยแยกเป็น 2 รอยตื้น ๆ โดยสีของดอกก็จะแตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ เช่น สีแดง สีชมพู สีเหลือง สีขาว สีผสม เป็นต้น ช่อดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร 
  • ผลหงอนไก่ฝรั่ง ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ภายในผลมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมแบน เปลือกนอกเมล็ดเป็นสีดำแข็งและเป็นมัน 

สรรพคุณของหงอนไก่

  1. รากมีรสขมเฝื่อน สรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก)
  2. ดอกใช้รวมกับพืชชนิดอื่นเป็นยาบำรุงกำลัง (ดอก)
  3. ใช้เป็นยาแก้ความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้เมล็ดหงอนไก่แห้งประมาณ 4.5-9 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินหรือใช้ทำเป็นยาเม็ดกิน (เมล็ดแห้ง)
  4. ตำรายาไทยจะใช้รากหงอนไก่เป็นยาแก้โลหิตเป็นพิษ (ราก)
  5. เมล็ดมีรสขมเป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ ใช้เป็นยาแก้ร้อนในตับ ช่วยขับลมร้อนในตับ (เมล็ด)
  6. ช่วยแก้เลือดลมไม่ปกติ (ดอก)
  7. ดอก ก้าน และใบหงอนไก่เทศ มีรสชุ่มเป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับและไต มีสรรพคุณทำให้เลือดเย็น (ก้านและใบ,ดอกหงอนไก่เทศ)
  8. ช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ (ราก)
  9. ใช้เป็นยาแก้ไข้ที่มีอาการในทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น ไข้ท้องอืดเฟ้อ ไข้พิษ ไข้อาหารเป็นพิษ และช่วยแก้ไข้เพื่อลม (มีอาการท้องอืดเฟ้อ) (ราก)
  10. ใช้แก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้ดอกสด (ดอกมีรสฝาดเฝื่อน) ประมาณ 30-60 กรัม (ถ้าเป็นดอกแห้งให้ใช้ประมาณ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (ดอก)
  11. ใช้เป็นยารักษาโรคตาแดง ตาปวด เยื่อตาอักเสบ ช่วยทำให้ตาสว่าง ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (ดอก)
  12. ช่วยแก้ตาฟางในเวลากลางคืน ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 4.5-9 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินหรือทำเป็นยาเม็ดกิน (เมล็ดแห้ง)
  13. ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะใช้ก้านและใบสด (กิ่ง ก้าน และใบมีรสฝาดเฝื่อน) ประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกินก็ได้เช่นกัน ส่วนดอกสดมีสรรพคุณแก้อาเจียนเป็นเลือด วิธีใช้ให้นำดอกสด 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ถ้าเป็นดอกแห้งให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง (ลำต้น,ก้านและใบ,ดอก)
  14. ช่วยแก้อาการไอ ไอเป็นเลือด ด้วยการใช้ดอกหงอนไก่เทศสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ถ้าเป็นดอกแห้งให้ใช้ประมาณ 15-30 กรัม (ดอก)
  15. ใช้เป็นยาแก้เสมหะ (ราก)
  16. ใช้เป็นยาแก้หืด (ราก)
  17. เมล็ดนำมาต้มกับน้ำใช้กลั้วรักษาแผลในช่องปากได้ (เมล็ด)
  18. ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ถ้าเป็นดอกแห้งให้ใช้ประมาณ 15-30 กรัม หรือจะใช้เมล็ดแห้งประมาณ 4.5-9 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือใช้ทำเป็นยาเม็ดกินก็ได้ (ดอก,เมล็ด)
  19. ช่วยแก้อาการท้องอืด (ราก)
  20. ใช้เป็นยาแก้โรคท้องเสีย ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มกับน้ำกิน (ลำต้น)
  21. ตำรายาแผนไทยจะใช้เมล็ดเป็นยาแก้ท้องร่วง (เมล็ด)
  22. ช่วยแก้โรคบิด ด้วยการใช้ก้านและใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน หรือจะใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (ถ้าแห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้บิดก็ได้ (ก้านและใบ,ดอก)
  23. ใช้เป็นยาแก้ถ่ายเป็นมูกเลือด ด้วยการใช้ดอกหงอนไก่เทศสดประมาณ 30-60 กรัม (ดอกแห้งใช้ประมาณ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน ส่วนเมล็ดหงอนไก่เทศจะใช้เป็นยาแก้อุจจาระเป็นเลือด บิดถ่ายเป็นมูกเลือด ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 4.5-9 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือใช้ทำเป็นยาเม็ดกิน (ดอก,เมล็ด)
  24. ใช้เป็นยาระบาย ด้วยการใช้ก้านและใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน (ก้านและใบ)
  25. ดอกใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้ (ดอก)
  26. ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด (ดอกหงอนไก่เทศ)
  27. ใช้แก้ริดสีดวงทวาร (ดอก,เมล็ด)
  28. ใช้แก้ริดสีดวงทวารมีเลือดออก ด้วยการใช้ลำต้นสดของหงอนไก่เทศนำมาต้มกับน้ำกิน หรือใช้ก้านและใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน หรือจะใช้ดอกหงอนไก่เทศกับห่วงโฮง อย่างละเท่ากัน นำมาบดให้เป็นผง แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าลูกมะเขือพวง ใช้รับประทานครั้งละ 7-10 เม็ด (ลำต้น,ก้านและใบ)
  29. ใช้แก้สตรีตกเลือด ด้วยการใช้ก้านและใบสดของหงอนไก่ฝรั่งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน หรือใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกินหรือใช้เข้ากับตำรายาอื่น ส่วนอีกวิธีให้ใช้ลำต้นสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ตกเลือด (ลำต้น,ก้านและใบ,ดอกหงอนไก่ฝรั่ง)
  30. ใช้แก้ประจำเดือนมามากผิดปกติ ประจำเดือนไม่ปกติ ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (ดอก)
  31. ช่วยแก้มุตกิดตกขาวของสตรี ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะนำมาดอกหงอนไก่เทศมาต้มกับเหล้าขาวรับประทานก็ได้ (ใช้ได้ทั้งดอกหงอนไก่ไทยและหงอนไก่เทศ)
  32. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศได้ดี แต่ในตำราไม่ได้ระบุวิธีใช้และวิธีกิน (เมล็ด)
  33. ก้านและใบนำมาตำพอกรักษาบาดแผลที่มีเลือดออกได้ (ก้านและใบ)
  34. ใช้เป็นยาห้ามเลือด แก้เลือดไหลไม่หยุด (ก้านและใบ,ดอก,เมล็ดแห้ง)
  35. ลำต้นอ่อนนำมาตำให้ละเอียดใช้เป็นยาพอกแก้ตะขาบกัด (ลำต้น)
  36. ใช้รักษาผิวหนังเป็นผดผื่นคัน ด้วยการใช้ก้านและใบนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น ส่วนดอกก็มีสรรพคุณช่วยแก้ผดผื่นคันได้เช่นกัน แต่เข้าใจว่านำมาต้มกับน้ำดื่ม ส่วนเมล็ดแห้งมีสรรพคุณช่วยรักษาผิวนหนังเป็นผดผื่นคัน อักเสบร้อนแดง (ก้านและใบ,ดอก,เมล็ดแห้ง)
  37. ใบมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการคันจากยางต้นรัก (ใบ)
  38. ดอกใช้เข้าตำรับยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นเป็นยารักษาโรคมะเร็งคุด (อาการปวดตัวลงข้อ ปวดศีรษะ เจ็บเอว ปวดข้อ) ด้วยการใช้ดอกหงอนไก่ไทย รากสามสิบ รากผักหวานบ้าน รากถั่วพู รากรางเย็น รากมังคะอุ้ย ไม้มะแฟน หอยกาบ และงาช้าง นำมาฝนกับน้ำผสมกับข้าวสุดกินเป็นยารักษาโรคมะเร็งคุด (ดอก)
  39. หากสัตว์มีอาการปวดท้องหลังคลอดลูก ให้ใช้ดอกหงอนไก่สีขาวแห้งประมาณ 60 กรัม, กัญชาเทศประมาณ 60-120 กรัม และใบสนหางสิงห์ (สนแผง) 120 กรัม นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมกับเหล้าให้สัตว์กิน (ดอก)
  40. หากวัวหรือม้ามีเลือดกำเดาออก ให้ใช้ดอกหงอนไก่สดประมาณ 3-4 ช่อ ดอกทานตะวันประมาณ 2-3 ดอก และรากหญ้าคาประมาณ 60-100 กรัม นำมาต้มผสมกับน้ำทรายประมาณ 120 กรัม แล้วเอาน้ำต้มที่ได้มาให้สัตว์กิน (ดอก)
  41. หากวัวหรือม้าถ่ายเป็นเลือด ให้ใช้ดอกหงอนไก่สีขาวแห้งประมาณ 120 กรัม, เหล่งแหง่เช่าประมาณ 30-60 กรัม, และดินสุกเป็นก้อนที่อยู่ตามก้นเตาถ่านประมาณ 60 กรัม นำมาบดผสมรวมกันให้ละเอียด แล้วใส่น้ำตาลทรายขาวลงไปประมาณ 120 กรัม ผสมให้สัตว์กิน (ดอก)
  42. ส่วนข้อมูลอื่นๆ ได้ระบุว่าหงอนไก่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อบิดมีตัว ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย รักษาผิวหนังอักเสบ ส่วนรากใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ข้อมูลส่วนไม่มีแหล่งอ้างอิงครับ)

หมายเหตุ : เมล็ดหงอนไก่ฝรั่ง สามารถใช้แทนกับเมล็ดหงอนไก่ไทยได้ เนื่องจากมีสรรพคุณทางยาที่เหมือนกัน

ข้อห้ามในการใช้สมุนไพรหงอนไก่

  • หญิงที่อยู่ในระหว่างการมีประจำเดือน ไม่ควรนำหงอนไก่มารับประทาน
  • ผู้ที่เป็นโรคตาบอดใส ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหงอนไก่

  • เมล็ดพบสาร Oxalic acid, กรดไขมัน, โพแทสเซียมไนเตรด, Celosiaol, Nicotinic acid และยังพบน้ำมันระเหยอีกหลายชนิดด้วยกัน
  • สารที่สกัดจาเมล็ดและดอกหงอนไก่ เมื่อนำมาทดลองก็พบว่ามีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Trichomonas vaginalis ได้ดี โดยเชื้อชนิดนี้เมื่อนำมาต้มด้วยคามร้อนสูงนาน 5-10 นาทีก็จะตายไป
  • จากการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่อยู่ในช่วง 160-220 / 100-135 มม. ปรอท โดยทำการรักษาด้วยการใช้เมล็ดหงอนไก่แห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มสกัดเอาน้ำ 2 ครั้ง แล้วแบ่งกิน 3 ครั้งต่อวัน ผลการทดลองพบว่า หลังจากที่ได้รับไปแล้ว 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยมีความดันลดลงเหลืออยู่ในช่วง 125-146 / 70-90 มม. ปรอท และจากการนำมาทดลองกับสัตว์ก็พบว่าเมล็ดหงอนไก่สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้
  • น้ำมันระเหยจากเมล็ดหงอนไก้ มีฤทธิ์สามารถทำให้ม่านตาดำขยายตัวได้

ประโยชน์ของหงอนไก่

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับแปลงทั่วไป ปลูกตามขอบแปลง ริมทางเดิน หรือจะปลูกเป็นไม้กระถางก็ได้ เพราะดอกมีความสวยงาม สีสันโดดเด่น เพาะปลูกได้ง่าย มีความแข็งแรงทนทนทาน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี เมื่อดอกบานแล้วจะมีอายุยืนยาว เช่นเดียวกับดอกบานไม่รู้โรย เพราะอยู่ในวงศ์เดียวกัน แต่เมื่อดอกแล้วโรยแล้วจะต้องเปลี่ยนต้นใหม่
  • หรือจะปลูกเป็นไม้ตัดดอกทำดอกไม้แห้งก็ได้ เพราะสามารถเก็บไว้ได้นานและไม่เปลี่ยน 

คำสำคัญ : หงอนไก่

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). หงอนไก่. สืบค้น 18 เมษายน 2568, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1755&code_db=610010&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1755&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

ยี่หร่า

ยี่หร่า

ยี่หร่าเป็นไม้พุ่มเตี้ย มีความสูงประมาณ 50-80 เซนติเมตร ลำต้นมีสีน้ำตาลแก่ แตกกิ่งก้านสาขาขนาดเล็ก กิ่งก้านไม่ใหญ่ ในช่วงปีแรกและปีที่สองจึงออกดอกออกผล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและมีความชื้นปานกลางในสภาพกลางแจ้ง ใบยี่หร่าเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของเป็นรูปกลมรี โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบสีเขียวสด ผิวใบสากมือ ใบยี่หร่ามีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสร้อน จึงช่วยดับกลิ่นคาวจากอาหารจำพวกเนื้อสัตว์เนื้อปลาได้เป็นอย่างดี

เผยแพร่เมื่อ 27-05-2020 ผู้เช้าชม 39,329

ผักหนอก

ผักหนอก

ผักหนอก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้หลายปี มีความสูงได้ประมาณ 15-40 เซนติเมตร กิ่งก้านชูตั้งขึ้น ส่วนลำต้นมีลักษณะฉ่ำน้ำ เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ในเอเชียเขตร้อน จีน ญี่ปุ่น จนถึงออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค มักขึ้นตามที่ชื้นแฉะ และตามชายป่า จนถึงระดับความสูงประมาณ 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล

เผยแพร่เมื่อ 13-07-2020 ผู้เช้าชม 6,785

กุ่มบก

กุ่มบก

กุ่มบก (Sacred Barnar) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้น ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคอีสานเรียกผักก่าม เขมรเรียกถะงัน หรือสะเบาถะงัน เป็นต้น ซึ่งกุ่มบกนั้นมีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนภาคกลางและใต้ของไทย รวมทั้งในพุทธประวัติยังได้กล่าวไว้ว่าขณะที่พระพุทธเจ้าทรงนำห่อบังสุกุลที่ห่อศพนางมณพาสีไปซักแล้วนำไปตากไว้ที่ต้นกุ่ม และเทวดาที่สถิตอยู่ในต้นกุ่มก็ได้น้อมกิ่งลงมาให้พระพุทธเจ้าได้ทรงตากจีวรอีกด้วย

เผยแพร่เมื่อ 29-04-2020 ผู้เช้าชม 4,104

บอน

บอน

บอนมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตที่ราบลุ่มของเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ของประเทศไทยด้วย โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี มีเหง้าลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกอยู่ใต้ดิน มักขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ หลายต้นเรียงรายตามพื้นที่ลุ่มริมน้ำ มีความสูงของต้นประมาณ 0.7-1.2 เมตร ลำต้นประกอบไปด้วยหัวกลางและหัวย่อยอยู่รอบ ๆ หัวใหญ่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ ไหล และวิธีการปักชำหัว เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ อุ้มน้ำได้ดี เพาะปลูกได้ง่าย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค มักขึ้นเองตามที่ลุ่ม บนดินโคลน บริเวณริมน้ำลำธาร หรือบริเวณที่มีน้ำขังตื้น ๆ

เผยแพร่เมื่อ 17-02-2017 ผู้เช้าชม 16,952

โมกมัน

โมกมัน

ลักษณะทั่วไป  ต้นเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ถึงขนาดกลาง เปลือกสีขาวหรือเทาอ่อน อ่อนนิ่ม คล้ายจุกไม้ค็อร์ค  ใบมน ปลายยาวเรียว โคนแหลม  ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ เมื่อเริ่มบานภายนอกมีสีเขียวอ่อน ด้านในสีขาวอมเหลือง ใกล้ร่วงเป็นสีม่วงแกมเหลืองหรือม่วงแดง  ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอก ผิวขรุขระ เมล็ดคล้ายเมล็ดโมกหลวง  ขึ้นตามป่าโปร่ง และป่าเบญจพรรณทั่วไป  การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดและตอนกิ่ง

 

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 2,274

แคดอกขาว

แคดอกขาว

แคดอกขาว (Cork Wood Tree หรือ Sesbania Grandiflora) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้นขนาดกลาง ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคกลางเรียกดอกแคบ้าน, ต้นแค หรือแค ส่วนกรุงเทพฯและเชียงใหม่เรียกแคขาว เป็นต้น แคดอกขาวเชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออินเดีย เป็นพืชสมุนไพรที่อุดมไปด้วยวิตามินจำนวนมากซึ่งช่วยในการต่อต้านและยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ด้วย จึงทำให้แคดอกขาวเป็นที่นิยมกัน

เผยแพร่เมื่อ 30-04-2020 ผู้เช้าชม 10,428

จิงจูฉ่าย

จิงจูฉ่าย

“จิงจูฉ่าย” หรือ “โกศจุฬาลัมพา” หรือที่ชาวต่างชาตินิยมเรียกว่า “เซเลอรี” (Celery) อยู่ในวงศ์ Asteraceae เป็นพืชล้มลุกไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.5 – 1 ฟุต ใบเป็นรูปรีขอบเป็นแฉกๆ 5 แฉกสีเขียว เนื้อใบหนา คล้ายต้นขึ้นฉ่าย รากหรือเหง้าใหญ่จะกระจายเป็นวงกว้าง แตกกิ่งก้านหนาแน่นเป็นกอคล้ายๆ ใบบัวบก จะมีกลิ่นหอม รสชาติขมเล็กน้อย สามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดได้ เจริญงอกงามได้ดีในที่แสงแดดรำไร ปลูกได้ดีในอากาศเย็นมากกว่าอากาศร้อน โดยทางการแพทย์เชื่อว่าจิงจูฉ่ายนั้นเป็นยาเย็น ชาวจีนจึงนิยมนำมาปรุงเป็นอาหารรับประทานในหน้าหนาวเพื่อปรับสมดุลภายในร่างกายนั่นเอง

เผยแพร่เมื่อ 08-05-2020 ผู้เช้าชม 6,808

เห็ดหอม

เห็ดหอม

ในปัจจุบันบรรดาคนรักสุขภาพทั้งหลายต่างหันมาดูแลเอาใจใส่ในสุขภาพของตัวเองกันมากขึ้น โดยเฉพาะด้านอาหารการกินนั้นเรียกว่าเลือกสรรแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์ให้แก่ร่างกายกัน นับเป็นเรื่องดีที่คนไทยต่างหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งอาหารเพื่อสุขภาพอย่างเห็ดหอม หรือชิตาเกะ นั้นก็ถือเป็นอีกหนึ่งอาหารสุขภาพที่คนไทยเราต่างรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะจะเห็นได้จากกรนำเห็ดหอมมาเป็นส่วนประกอบในอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติและคุณค่าให้แก่เมนูโปรดกัน

เผยแพร่เมื่อ 12-05-2020 ผู้เช้าชม 6,637

สายน้ำผึ้ง

สายน้ำผึ้ง

สายน้ำผึ้ง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย เช่น ประเทศไทย จีน ญี่ปุ่น จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพัน มีอายุหลายปี มีความยาวประมาณ 9 เมตร เถามีลักษณะกลมเป็นสีน้ำตาล ส่วนเนื้อในเถากลวง แตกกิ่งก้านสาขาออกมากมายเป็นทรงพุ่ม ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ ตอนกิ่ง และเพาะเมล็ด (แต่การปักชำเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด) โดยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ดีสวยในดินร่วนซุยและมีความชื้นปานกลาง มักพบขึ้นมากทางป่าแถบภูเขา

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 5,546

ชะมวง

ชะมวง

ชะมวงเป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงกลาง สูง 15-30 เมตร ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มเป็นรูปกรวยคว่ำทรงสูง เปลือกสีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นสะเก็ด มีน้ำยางสีเหลือง ใบชะมวงเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปวงรีแกมใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง 2-3.5 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร ปลายใบป้านหรือแหลมเล็กน้อย ฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนาและแข็งเปราะ ก้านใบสีแดงยาว 5-1 เซนติเมตร  

เผยแพร่เมื่อ 28-05-2020 ผู้เช้าชม 8,158