มะเขือขื่น

มะเขือขื่น

เผยแพร่เมื่อ 10-07-2020 ผู้ชม 5,315

[16.4258401, 99.2157273, มะเขือขื่น]

มะเขือขื่น ชื่อสามัญ Cock roach berry[3], Dutch eggplant, Indian Nightshade

มะเขือขื่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum aculeatissimum Jacq. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Solanum cavaleriei H. Lév. & Vaniot, Solanum khasianum C.B. Clarke) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)

สมุนไพรมะเขือขื่น มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า มะเขือแจ้ดิน มะเขือเปราะ มะเขือเสวย (เชียงใหม่), มังคิเก่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เขือเพา (นครศรีธรรมราช), มะเขือขันคำ มะเขือคำ มะเขือคางกบ มะเขือแจ้ มะเขือเหลือง (ภาคเหนือ), เขือหิน (ภาคใต้) เป็นต้น

ลักษณะของมะเขือขื่น

  • ต้นมะเขือขื่น สันนิษฐานว่า มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกกึ่งไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของลำต้นประมาณ 1-3 เมตร ตามลำต้นมีหนามสั้น ลำต้นและกิ่งก้านเป็นรูปทรงกระบอกตั้งตรง มีสีม่วงทั้งลำต้น กิ่งก้านและใบมีขนอ่อนละเอียดขึ้นอยู่ทั่วไป มีขนรูปดาวยาวได้ประมาณ 2 มิลลิเมตร และยังพบขนชนิดมีต่อม มีขนสั้นปกคลุมทั้งลำต้น มีหนามตรงหรือโค้งขนาดประมาณ 1-5 x 2-10 มิลลิเมตร โคนต้นแก่มีเนื้อไม้แข็ง สำหรับการปลูกมะเขือขื่นนั้นจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย มักพบขึ้นตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ป่าเปิด ป่าละเมิด ทุ่งหญ้า ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-2,300 เมตร
  • ใบมะเขือขื่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของแผ่นใบมีหลายรูปร่าง แผ่นใบรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบเป็นรูปหัวใจ ฐานใบทั้งสองด้านจะเยื้องกันเล็กน้อย ส่วนขอบใบหยักเว้าเป็นพูตื้น ๆ ประมาณ 5-7 พู มีขนาดกว้างประมาณ 4-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-18 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียว ส่วนท้องใบเรียบเป็นมัน แผ่นใบมีขนรูปดาวทั้งสองด้าน มีหนามแหลมตามเส้นกลางใบ ก้านใบอ้วนสั้น ยาวได้ประมาณ 3-7 เซนติเมตร และอาจพบหนามตามก้านใบ
  • ดอกมะเขือขื่น ออกดอกเป็นช่อสั้นแบบช่อกระจะ มีดอกย่อยประมาณ 4-6 ดอก หรือออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ก้านช่อยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีขนห่างยาว ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบเป็นสีม่วง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยสั้น ส่วนปลายแยกเป็น 5 แฉก ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปหอก ขนาดประมาณ 4x14 มิลลิเมตร มีขนนุ่มเหมือนวงกลีบเลี้ยง ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ติดอยู่จนติดผล แต่ละแฉกเป็นรูปหอกแกมรูปขอบขนาน ขนาดประมาณ 5x15 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม วงกลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูประฆังขนาดประมาณ 5.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรสีเหลือง 5 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร อับเรณูเป็นรูปหอก เรียวแหลม ขนาดประมาณ 6-7 มิลลิเมตร รังไข่เกลี้ยง ส่วนก้านชูเกสรเพศเมียยาวได้ประมาณ 6-7 มิลลิเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม 
  • ผลมะเขือขื่น ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน เปลือกเหนียว ผลอ่อนผิวจะเรียบลื่นเป็นสีเขียวเข้ม มีลายขาวแทรก เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีเหลืองสด ชั้นเนื้อผลบางมีสีเขียวอ่อนอมสีเหลืองใส มะเขือขื่นจะมีกลิ่นเฉพาะ โดยจะมีรสขื่น ภายในผลจะมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปกลมแบนขนาดเล็กสีน้ำตาลอ่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.8 มิลลิเมตร โดยจะติดผลช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม

สรรพคุณของมะเขือขื่น

  1. ผลมีรสเปรี้ยวขื่นเย็น ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (ผล)
  2. รากและผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้สันนิบาต (ราก, ผล)
  3. ตำรายาไทยจะใช้รากเป็นยาแก้ไข้ที่มีพิษร้อน ช่วยกระทุ้งพิษไข้ (ราก)
  4. ผลและรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ราก, ผล)
  5. รากมีรสขื่นเอียน เปรี้ยวเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะและน้ำลาย โดยจะช่วยล้างเสมหะในลำคอ และทำให้น้ำลายน้อยลง ทำให้น้ำลายแห้ง (ราก)
  6. ผลมีสรรพคุณเป็นยากัดเสมหะ (ผล)
  7. ช่วยแก้น้ำลายเหนียว (ราก, ผล)
  8. ใช้แก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ราก 15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำอมในปาก (ราก)
  9. รากใช้ฝนเป็นกระสายยาแก้เด็กเป็นโรคซาง ชัก (ราก)
  10. ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหาร (ไม่ระบุแน่ชัดว่าใช้ส่วนใด)
  11. รากใช้ปรุงร่วมกับยาอื่น เป็นยาแก้กามตายด้านและบำรุงความกำหนัดได้ผลดีในระดับหนึ่ง (ราก)
  12. ใช้เป็นยาแก้อัณฑะอักเสบ ด้วยการใช้ 15 กรัม, หญ้าแซ่ม้า 15 กรัม และต้นทิ้งถ่อน นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
  13. ใบสดใช้ภายนอกนำมาตำพอกแก้พิษ แก้ฝีหนอง (ใบสด)
  14. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยารักษามะเร็งเพลิง (เมล็ด)
  15. ช่วยแก้อาการปวดบวม ปวดหลัง ฟกช้ำดำเขียว และใช้เป็นยาขับน้ำชื้น (ไม่ระบุแน่ชัดว่าใช้ส่วนใด)
  16. ใช้เป็นยาช่วยขับลมชื้น แก้อาการปวดข้อเนื่องจากลมชื้นติดเกาะ แก้ไขข้ออักเสบ มือเท้าชา ด้วยการใช้ผลสดประมาณ 70-100 กรัม นำมาตุ๋นกับไตหมูรับประทาน (ผล)
  17. เนื้อมะเขือขื่นสีเขียวนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้หยอดตา แก้พยาธิในตา (เนื้อผล)
  18. สารสำคัญในมะเขือขื่น คือสารอัลคาลอยด์ต่าง ๆ ในทางเภสัชกรรมล้านนา จะใช้สารดังกล่าวเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหลายชนิด เช่น ยาบำรุงกำลัง, ยาเสลด (ยาแก้เสมหะและรักษาตาต้อ), ยายางเหลืองมักเป็นขางเขี้ยนขาว (ยารักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน), ยาแก้ไอ ขับเสมหะ แก้อาเจียน รักษาแผลเป็นหนองและหืด เป็นต้น
  19. ในชนบททางภาคกลางของบ้านเรา จะใช้ใบปรุงเป็นยาร่วมกับใบสมุนไพรชนิดอื่น ๆ และยังเชื่อว่า ในท้องถิ่นและภาคอื่น ๆ ของไทย คงนำมะเขือขื่นไปใช้เป็นยารักษาโรคอีกมากมาย แต่ในปัจจุบันยังขาดการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเป็นเอกสารเผยแพร่ ประกอบกับมียาแผนปัจจุบันเข้ามาแทน จึงทำให้มีการนำมะเขือขื่นมาใช้เป็นยาลดน้อยลง (ใบ)

ประโยชน์ของมะเขือขื่น

  • คนไทยนิยมนำผลมะเขือขื่นที่แก่แล้วมาใช้ปรุงเป็นอาหาร โดยจะใช้เฉพาะส่วนเปลือกและเนื้อเท่านั้น (แยกเมล็ดทิ้ง) โดยอาจนำมาใช้กินเป็นผักจิ้มร่วมกับน้ำพริกหรือปลาร้า มีบางครั้งจะใช้เนื้อผลในการปรุงเครื่องจิ้ม เช่น เยื่อเคยทรงเครื่อง ฯลฯ ปรุงอาหารกับส้มผัก เช่น ส้มผักบั่ว ส้มผักกาด หรือจะนำมาใช้ปรุงรสอาหารบางชนิด ฝานเปลือกใส่ในส้มตำอีสาน ส้มตำลาว โดยรสขื่นจะช่วยลดความเค็มของปลาร้าได้ ทำให้ส้มตำมีรสกลมกล่อม หรือนำมาใช้ยำกับสาหร่าย ใช้ตำกับผลตะโกและมะขามที่เรียกว่าเมี่ยง ส่วนในภาคกลางจะใช้เนื้อนำมาทำแกง เช่น แกงส้มมะเขือขื่น แกงป่าต่างๆ เป็นต้น ส่วนชาวล้านนาจะใช้ผลอ่อนนำมารับประทานทั้งผล ใช้เป็นผักจิ้มและผักแกง นำมายำ (ส้าบ่าเขือแจ้) ใช้ใส่ในน้ำพริก (น้ำพริกอี่เก๋ น้ำพริกบ่าเขือแจ้) บ้างนำผลแก่ไปเผาให้สุกตำจนละเอียดแล้วผสมลงในเนื้อสับที่จะทำลาบเนื้อหมูหรือลาบเนื้อ โดยจะช่วยทำให้ลาบนั้นนุ่มเหนียวยิ่งขึ้น อาจมีคนสงสัยว่ามะเขือขื่นที่ทั้งเหนียวและขื่นจะมีรสชาติอร่อยได้อย่างไร เพราะต่างจากมะเขือทั่วไปที่มีความกรอบและความหวาน แต่ด้วยภูมิปัญญาบวกกับฝีมือคนไทย จึงทำให้ความขื่นและความเหนียวกลายเป็นอาหารที่อร่อยมีเอกลักษณ์ไปได้ เช่นเดียวกับชะอมที่ยังคงเป็นเสน่ห์สำหรับคนไทยนั่นเอง
  • มะเขือขื่นอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด โดยคุณค่าทางโภชนาการของมะเขือขื่น ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย วิตามินซี 63 มิลลิกรัม, แคลเซียม 55 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม ฯลฯ

หมายเหตุ : เชื่อกันว่า หากรับประทานมะเขือขื่นเข้าไปมาก ๆ จะทำให้มีความรู้สึกทางเพศสูง ส่วนในหญิงตั้งครรภ์นั้นหากรับประทานมะเขือขื่น เชื่อว่าครรภ์จะโตมาก ทำให้คลอดบุตรได้ยาก

 

คำสำคัญ : มะเขือขื่น

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). มะเขือขื่น. สืบค้น 29 กันยายน 2566, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1698&code_db=610010&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1698&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

ผักคะน้า

ผักคะน้า

คะน้าเป็นพืชผักใบเขียวที่นิยมรับประทานกันทั่วไป เป็นผักที่หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง แต่มีสิ่งที่ควรจะระวังเป็นพิเศษนอกจากการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงแล้ว อาจจะต้องระวังในเรื่องของธาตุแคดเมียมที่อาจจะปนเปื้อนมากับน้ำและพื้นดินด้วย เพราะหากร่างกายได้รับเข้าไป มันจะเข้าไปสะสมในตับและไต ซึ่งจะเป็นพิษต่อตับและไตของคุณเอง และก่อนนำมารับประทานคุณควรล้างทำความสะอาดก่อนทุกครั้ง ด้วยการล้างน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง

เผยแพร่เมื่อ 27-05-2020 ผู้เช้าชม 9,125

พุทธรักษา

พุทธรักษา

พุทธรักษา เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แอฟริกา และอเมริกา และภายหลังได้กระจายพันธุ์ออกไปยังเอเชียเขตร้อน โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน มีอายุหลายปี ขึ้นรวมกันเป็นกอและเป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้านสาขา จะมีข้อแต่ค่อนข้างห่างกัน มีความสูงของลำต้นประมาณ 1.5-2.5 เมตร ลำต้นมีความเหนียวและอุ้มน้ำ มีเหง้าหัวสีขาวแตกแขนงอยู่ใต้ดิน (รากมีความเฉลี่ย 11.8 เซนติเมตร มีความยาวรอบรากเฉลี่ย 0.2 เซนติเมตร โดยความยาวของรากจะมีความสัมพันธ์กับขนาดของรากด้วย) ส่วนของลำต้นเทียมบนดินจะเกิดจากใบเรียงซ้อนเป็นลำตรงกลม ทั้งต้นไม่มีขนปกคลุม แต่บางครั้งอาจพบผงเทียนไขปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อและวิธีการเพาะเมล็ด

เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 25,640

หญ้างวงช้าง

หญ้างวงช้าง

หญ้างวงช้าง เก็บ ทั้งต้นที่เจริญเต็มที่ มีดอก ล้างให้สะอาด ใช้สดหรือตากแห้งเก็บเอาไว้ใช้ก็ได้ ทั้งต้นรสขม ใช้เป็นยาเย็น แก้กระหายน้ำ ดับร้อนใน ขับปัสสาวะ แก้บวม แก้พิษปอดอักเสบ มีหนองในช่องหุ้มปอด เจ็บคอ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เด็กตกใจในเวลากลางคืนบ่อยๆ ปากเปื่อย แผลบวม มีหนอง และแก้ตาฟาง

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 3,391

ชิงชัน

ชิงชัน

ชิงชัน (Tamalin, Rosewood, Black-wood) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้น ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคอีสานเรียก ประดู่ชิงชัน ส่วนภาคเหนือเรียก เกิดแดง เป็นต้น และที่สำคัญคือต้นชิงชันนี้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดหนองคายอีกด้วย ซึ่งต้นชิงชันนี้จะทำการขยายพันธุ์โดยเมล็ด เป็นไม้กลางแจ้ง ส่วนใหญ่อยู่ในป่าดิบแล้ง หรือป่าเบญจพรรณทั่วไป โดยสามารถเจริญเติบโตได้ดีกับดินทุกชนิดในทุกภาคของประเทศไทย, ลาว และพม่า ยกเว้นในภาคใต้ของไทยเท่านั้นที่ไม่สามารถกระจายพันธุ์ของชิงชันได้ นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าต้นชิงชันมักจะเจริญอยู่ร่วมกับไม้ไผ่และไม้สักหรือในป่าเต็งรังด้วย

เผยแพร่เมื่อ 08-05-2020 ผู้เช้าชม 21,123

ว่านมหาเมฆ

ว่านมหาเมฆ

ต้นว่านมหาเมฆ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีความสูงได้ประมาณ 80-150 เซนติเมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะของเหง้าเป็นสีเหลืองอมเขียวอ่อน หรือเป็นสีม่วงอมน้ำเงิน จึงมีคนเรียกว่า "ขิงดำ" หรือ "ขิงสีน้ำเงิน" ความยาวของเหง้ามีขนาดประมาณ 12 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร หัวหรือเหง้าเมื่อเก็บไว้นานหลายปีจะเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีเหลือง พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี มักขึ้นตามดินทราย ทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ และในป่าราบทั่วไป

เผยแพร่เมื่อ 28-05-2020 ผู้เช้าชม 6,238

ลำดวน

ลำดวน

ลักษณะทั่วไป  ต้นเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางแตกกิ่งก้านสาขาตามข้อต้นลำต้น  เรียบเกลี้ยงไม่มีขน สูงประมาณ 3 – 8 เมตร  ใบเป็นไม้ใบเดียว ออกเรียงสลับกันไปตามลำดับต้น ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี หรือรูปแหลม โคนใบมนหรือแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวใบเรียบเกลี้ยง ด้านบนเป็นมันสีเขียวข้น ส่วนด้านล่างนั่นมีสีอ่อนกว่า ขนาดของใบกว้างประมาณ 1 – 1.5 นิ้ว ยาว 2-5 นิ้ว ดอกเป็นไม้ดอกเดี่ยว ออกตามส่วนยอดและตามง่ามใบ ดอกมีสีเหลือง กลิ่นหอม ดอกหนึ่งจะมีอยู่ 6 กลีบ แต่กลีบชั้นในจะมีขนาดเล็กกว่าและโค้งกว่า ปลายกลีบดอกแหลม โคนกลีบดอกกว้างก้านดอกยาว 1 นิ้ว

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 2,331

คัดเค้า

คัดเค้า

คัดเค้าเป็นไม้เถาเนื้อเหนียวแข็งที่มีความสูงของลำต้นประมาณ 3 – 6 เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล มักขึ้นพันเลื้อยไปยังต้นและกิ่งไม้ และตามลำต้นจะมีข้อและใบงอกออกมาเป็นคู่ๆ ข้อละ 1 คู่ พร้อมหนามแหลมงองุ้มออกจากโคนใบคล้ายเขาของควาย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของต้นคัดเค้าเลยทีเดียว ส่วนใบนั้นจะเป็นใบเดี่ยว ออกแบบตรงข้ามกัน รูปรี โคนสอบ ปลายแหลม ขอบเรียบ และดอกนั้นจะออกเป็นช่อกระจุกอยู่ตามซอกใบเป็นช่อใหญ่ โดยมีลักษณะคล้ายกับดอกเข็ม ส่วนผลของคัดเค้าจะออกเป็นพวงหรือกลุ่ม มีลักษณะกลมหรือรี ผิวผลจะเรียบและมัน สีเขียวเข้ม แต่เมื่อสุกจะมีสีดำ ปลายผลจะแหลม ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก โดยออกผลในช่วงเดือนเมษายน

เผยแพร่เมื่อ 29-04-2020 ผู้เช้าชม 2,196

กว้าว

กว้าว

เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงใหญ่ ใบดกหนาทึบ สูงประมาณ 15-30 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม  โปร่งเปลือกเรียบ หนา สีเขียวอ่อนปนเทา เปลือกในสีชมพูอ่อน ถึงสีน้ำตาลแก่ ตามกิ่งอ่อนมีรอยแผลใบเห็นชัด ใบป้อม รูปหัวใจ โคนเว้า ปลายหยักเป็นติ่งสั้น  เนื้อใบบาง  หลังใบมีขนสาก ๆ  สีเข้มกว่าท้องใบ ท้องใบมีขนสีเทานุ่ม ดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ  ออกเป็นช่อกลมเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก กระจุกละไม่เกิน 3 ช่อ ผลเล็ก ผิวแข็ง รวมกันอยู่บนก้านช่อเป็นก้อนกลม เมล็ดมีปีก  โคนต้นเป็นพูพอน การขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด 

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 2,467

กะเพรา

กะเพรา

กะเพราเป็นไม้ล้มลุกที่มีความสูงของต้นประมาณ 30-60 เซนติเมตร โคนต้นออกแข็ง กะเพราแดงจะมีลำต้นสีแดงอมเขียว กะเพราขาวมีลำต้นสีเขียวอมขาว และยอดอ่อนมีขนสีขาว มีใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวรูปรีออกตรงข้ามกัน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบมีขนสีขาว ส่วนดอกกะเพราจะออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกสีขาวแกมม่วงแดงมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงโคนจะเชื่อมติดกัน ปลายเรียวแหลม 

เผยแพร่เมื่อ 18-05-2020 ผู้เช้าชม 3,179

กรรณิการ์

กรรณิการ์

กรรณิการ์ หรือกันลิกา (Night Blooming Jasmine, Night Jasmine) นั้นเป็นพืชจำพวกต้นชนิดหนึ่งซึ่งมีอยู่ทั้งในอินเดีย ชวา สุมาตรา รวมทั้งไทยด้วย โดยของไทยเราจะมีกรรณิการ์อยู่ 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ กรรณิการ์ที่มักนำมาปลูกเป็นไม้ประดับอย่าง Nyctanthes arbor-tristis L. ส่วนกรรณิการ์อีกชนิดหนึ่งนั้นได้สูญพันธุ์ไปจากไทยแล้วคือ Nyctanthes Aculeate Craib ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมาก

เผยแพร่เมื่อ 28-04-2020 ผู้เช้าชม 4,386