บวบเหลี่ยม

บวบเหลี่ยม

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้ชม 10,236

[16.4258401, 99.2157273, บวบเหลี่ยม]

บวบเหลี่ยม ชื่อสามัญ Angled loofah
บวบเหลี่ยม ชื่อวิทยาศาสตร์ Luffa acutangula (L.) Roxb. จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)
สมุนไพรบวบเหลี่ยม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะนอย หมักนอย (เชียงใหม่), บวบหวาน (แม่ฮ่องสอน), มะนอยงู มะนอยข้อง มะนอยเหลี่ยม (ภาคเหนือ, ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), บวบเหลี่ยม (ไทย), เดเรเนอมู เดเรส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กะตอรอ (มลายู-ปัตตานี), อ๊อซีกวย (จีน) เป็นต้น

ลักษณะของบวบเหลี่ยม
        ต้นบวบเหลี่ยม เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เนื่องจากพบต้นที่มีลักษณะเป็นพืชป่าในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย และมีเขตการกระจายพันธุ์และนิยมบริโภคกันมากในประเทศเขตร้อน เช่น ไทย จีน ฮ่องกง และอินเดีย โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุเพียงปีเดียว ชอบเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้อื่นหรือทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ยอดอ่อนนุ่ม เถาหรือลำต้นเป็นเหลี่ยม ตามข้อเถามีมือสำหรับใช้ยึดเกาะเป็นเส้นยาว บางทีแยกเป็นหลายแขนง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ทนแล้ง ทนฝนได้ดี โรคและเมล็ดไม่มารบกวน พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามที่รกร้าง ตามริมห้วย หนอง คลอง และตามบึงทั่วไป
        ใบบวบเหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบทั่วไปคล้ายกับใบบวบกลมหรือบวบหอม แต่ใบนั้นจะมีรอยเว้าเข้าตื้นกว่ามาก ลักษณะของใบเป็นรูป 5-7 เหลี่ยม ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบหยักเว้าตื้น ๆ หลังใบและท้องใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา ก้านใบเป็นเหลี่ยม ยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร
        ดอกบวบเหลี่ยม ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกจะบานในช่วงเย็น โดยดอกจะเพศผู้จะออกเป็นช่อ ๆ ตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลีบ กลีบดอกบางและย่น โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน มีกลีบเลี้ยงหรือกลีบรองดอกเป็นสีเขียว 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ ด้านนอกมีขนสั้นและอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ ดอกเพศผู้จะมีเกสรเพศผู้ประมาณ 2-3 ก้าน มีอับเรณูแบบ 1 ช่อง 1 อัน และแบบ 2 ช่อง 2 อัน ส่วนดอกเพศเมียมักจะออกดอกเดี่ยว ดอกเป็นสีเหลือง มีลักษณะคล้ายกับดอกเพศผู้ รังไข่เป็นรูปขอบขนาน ท่อรังไข่เป็นรูปทรงกระบอก ปลายแยกเป็นแฉก 3 แฉก ภายในรังไข่มีช่อง 3 ช่อง และมีไข่อ่อนเป็นจำนวนมาก
         ผลบวบเหลี่ยม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดสั้นกว่าบวบกลม แต่ผลจะมีเหลี่ยมเป็นสันขอบคมประมาณ 10 สัน ตามความยาวของผล โดยผลจะมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ปลายผลโต โคนผลเรียวเล็ก เปลือกของผลหนา พอแก่จะเป็นเส้นใบเหนียว เนื้อในผลมีรสขม ภายในผลมีเมล็ดสีดำจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะแบน

สรรพคุณของบวบเหลี่ยม
1. ผลเป็นยาเย็น ช่วยบำรุงร่างกาย (ผล)
2. ดอกมีรสชุ่ม ขมเล็กน้อย และเย็นจัด ช่วยดับร้อน คลายร้อนในร่างกายได้ดี (ดอก)
3. ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดี (เถา)
4. ผล เถา และทั้งต้นของบวบเหลี่ยมสามารถใช้เข้าในตำรับยาแก้ลม บำรุงหัวใจได้อีกด้วย (ทั้งต้น)
5. หากเหงื่อออกมาก ให้ใช้ใบสดผสมกับเมนทอล นำมาตำแล้วทาหรือใช้พอก (ใบ)
6. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทรายใช้กินพอประมาณ (น้ำจากเถา) หรือหากมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว ให้ใช้รากต้มใส่ไข่เป็ด 2 ฟอง แล้วนำมากิน (ราก)
7. น้ำคั้นที่ได้จากใบสดใช้เป็นยาหยอดตาเด็กเพื่อรักษาเยื่อตาอักเสบ (ใบ)
8. ใช้รักษาเยื่อจมูกอักเสบและเสื่อมสมรรถภาพ รักษาจมูกอักเสบจนกลายเป็นโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง ด้วยการใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้ดอกสดร่วมกับฮั่วเถ่าเช่าสด นำไปตำใช้เป็นยาพอกรักษาโพรงจมูกอักเสบก็ได้ ส่วนเถาก็ช่วยรักษาโพรงจมูกอักเสบได้เช่นกัน (เถา, ราก, ดอก)
9. ใช้รักษาจมูกมีหนองและมีกลิ่นเหม็น หรืออาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย ให้ใช้เถาบริเวณใกล้กับรากนำไปเผาให้เป็นถ่าน แล้วบดให้เป็นผงผสมกับเหล้ากิน (เถา)
10. หากเป็นคางทูม ให้ใช้ใยผล (รังบวบ) ที่เผาเป็นถ่านแล้ว ผสมกับน้ำใช้ทาบริเวณที่ปวด หรือจะใช้ผลนำไปเผาให้เป็นถ่าน แล้วบดให้เป็นผงผสมกับน้ำใช้ทาบริเวณที่ปวด (ผล, ใยผล)
11. เมล็ดมีรสหวานมัน ใช้รักษาอาการปวดเสียวฟัน โดยให้ใช้ผลที่แก่แล้วนำไปเผาให้เป็นเถ้าแล้วบดเป็นผง ใช้ทาบริเวณที่ปวด ส่วนเถาก็มีสรรพคุณแก้อาการปวดเสียวฟันเช่นกัน (เถา, เมล็ด)
12. ผลเป็นยาเย็น สรรพคุณเป็นยาลดไข้ (ผล)
13. ผลและเมล็ดช่วยแก้ร้อนใน ส่วนน้ำจากเถาใช้ผสมกับน้ำตาลทรายกินพอประมาณก็เป็นยาบรรเทาอาการร้อนในได้เช่นกัน (น้ำจากเถา, ผล, เมล็ด)
14. น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทรายใช้กินพอประมาณเป็นยาแก้หวัดได้ (น้ำจากเถา)
15. ดอกมีรสชุ่ม เย็ดจัด และขมเล็กน้อย ใช้รักษาอาการไอ อาการเจ็บคอ และหอบ ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัมผสมกับน้ำผึ้งแล้วต้มจิบเป็นยา หรือจะใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทรายกินพอประมาณก็เป็นยาแก้ไอ แก้อาการเจ็บคอได้เช่นกัน (น้ำจากเถา, ดอก) หรือหากมีอาการเจ็บคอ จะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะนำรากมาแช่กับน้ำในภาชนะกระเบื้องแล้วเทเอาแต่น้ำกินก็ได้ (ราก)[1],[9] หรือหากมีการไอ จะใช้เถาเอาไปต้มกับน้ำหรือจะใช้น้ำคั้นจากเถาสดนำมากินเป็นยาแก้ไอก็ได้ (แต่เป็นการทดลองกับหนู) (เถา)
16. ขั้วผลนำไปเผาไฟให้เป็นเถ้า บดให้เป็นผงละเอียดใช้เป่าคอเป็นยารักษาอาการเจ็บคอ และช่วยรักษาเด็กที่ออกหัด ช่วยทำให้ออกหัดได้เร็วขึ้น (ขั้วผล)
17. ผลช่วยขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ[2],[9]หรือจะใช้น้ำคั้นจากเถาสดหรือเอาเถาไปต้มกับน้ำกินเป็นยาขับเสมหะก็ได้ (เถา, น้ำคั้นจากเถา) ส่วนใบและเมล็ดบวบเหลี่ยมที่มีรสขมก็เป็นยาขับเสมหะเช่นกัน หากใช้ใบสดให้นำมาต้มกับน้ำดื่ม ถ้าเป็นใบแห้งให้ใช้ 5 กรัม นำมาชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ดื่มก่อนอาการเช้าและเย็น (ใบ, เมล็ด)
18. เมล็ดบวบเหลี่ยมที่มีรสขม มีฤทธิ์ทำให้คลื่นไส้อาเจียน (เมล็ด)
19. ใช้เป็นยารักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยทำเป็นยาต้ม ให้ใช้เถาแห้งประมาณ 100-250 กรัม นำมาหั่นเป็นฝอยแล้วแช่กับน้ำจนพองตัว แล้วนำไปต้มและแยกเอากากออก ใส่น้ำตาลพอประมาณ แล้วกินวันละ 2-3 ครั้งติดต่อกันประมาณ 10 วันจะเห็นผล (เถา)
20. เมล็ดและใบแก้บิด ถ้าใช้ใบให้ใช้ประมาณ 300-600 มิลลิกรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ใบ, เมล็ด)
21. น้ำจากเถาใช้ผสมกับน้ำตาลทราย ใช้กินพอประมาณเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (น้ำจากเถา)
22. เมล็ดบวบเหลี่ยมชนิดขมที่แกะเปลือกออกแล้ว ใช้กินเป็นยาช่วยหล่อลื่นลำไส้ ช่วยรักษาโรคบิดแทน ipecacuanha ได้ดี แต่เมื่อกินเข้าไปแล้วอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน (เมล็ด)
23. ผลมีรสชุ่มและเย็น ใช้รักษาโรคบิดถ่ายเป็นเลือด แก้อาการปวดท้องเนื่องจากดื่มเหล้ามาก โดยให้ใช้ผลแห้งประมาณ 1 ผล นำไปเผาให้เป็นถ่าน บดให้เป็นผงผสมกับเหล้าดื่มครั้งละประมาณ 6 กรัม (ผล)
24. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบาย ส่วนผลก็มีสรรพคุณเป็นยาระบายเช่นกัน (ราก, ผล) รากและเมล็ดบวบเหลี่ยมที่มีรสขม มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย (ราก, เมล็ด)
25. เถาใช้เป็นยาขับพยาธิ (เถา) ส่วนเมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม โดยนำเมล็ดแก่มาเคี้ยวกินตอนท้องว่าง เมล็ดจะมีรสหวานมัน ถ้าเป็นเด็กให้กินครั้งละประมาณ 30 เม็ด หากเป็นผู้ใหญ่ให้ใช้ 40-50 เม็ดติดต่อกัน 2 วัน หรือจะนำมาเมล็ดบดให้ละเอียดใส่แคปซูลกินวันละครั้ง (เมล็ด)
26. ผลและเมล็ดเป็นยาขับปัสสาวะ (ผลอ่อนนำไปต้มกับน้ำ โดยใส่น้ำพอท่วมแล้วต้มจนเดือด ใช้น้ำที่ได้นำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น) หรือจะใช้ดอกสดเป็นยาขับปัสสาวะก็ได้ เข้าใจว่าใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัมนำไปต้มกับน้ำดื่ม ส่วนใบให้ใช้ใบสด 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำ ใส่น้ำพอท่วมแล้วต้มจนเดือด ใช้น้ำที่ได้ดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ถ้าเป็นใบแห้งให้ใช้ 5 กรัม นำมาชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (ใบ, ดอก, ผล, เมล็ด)
27. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาขับนิ่ว (เมล็ด)
28. ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้ใบนำมาตำพอกหรือจะบดให้เป็นผงใช้ผสมเป็นยาทาก็ได้ หรือจะใช้ดอกสดผสมกับฮั่วเถ่าเช่าสดนำไปตำพอก หรือจะใช้ใยผลหรือรังบวบนำไปเผาไฟให้เป็นเถ้า แล้วนำไปผสมกับปูนขาวที่เก็บไว้นาน ๆ และผสมกับหย่งอึ้งบดเป็นผง แล้วนำไปต้มกับดีหมู ใส่ไข่ขาวผสมน้ำมันหอมนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น แต่หากเป็นโรคริดสีดวงทวารที่เกิดจากการดื่มเหล้ามาก ๆ ก็ให้ใช้ใยผล (รังบวบ) ที่เผาเป็นถ่านแล้ว นำไปบดให้เป็นผงผสมกับเหล้ากินครั้งละ 6 กรัม (ใบ, ดอก, ใยผล)
29. หากเลือดน้อย ประจำเดือนของสตรีมาผิดปกติ ให้ใช้ผลนำไปเผาให้เป็นถ่าน ผสมกับเหล้ากินหลังอาหารตอนที่สบายใจ ส่วนใบและเถาก็ช่วยแก้ประจำเดือนที่ผิดปกติของสตรีเช่นกัน (เถา, ใบ, ผล)
30. ใบใช้เป็นยารักษาสตรีที่ตกเลือด ด้วยการนำใบไปคั่วให้เป็นถ่าน แล้วบดให้เป็นผงผสมกับเหล้าดื่มครั้งละประมาณ 6-15 กรัม (ใบ)
31. ช่วยบำรุงม้าม (เถา)
32. ใบนำมาตำใช้เป็นยาพอกทาถอนพิษในคนไข้ม้ามโต (ใบ)
33. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทรายกินพอประมาณก็ได้ (ราก, น้ำจากเถา)
34. ใบสดนำมาตำพอกแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษคัน (ใบ)
35. ช่วยรักษาบาดแผลเรื้อรัง แผลจากแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการใช้ใบนำมาต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้าง หรือจะตำพอก หรือบดให้เป็นผงละเอียดผสมเป็นยาทาก็ได้ (ใบ)
36. หากเป็นแผลมีหนองและมีเนื้อนูน ก็ให้ใช้ผลสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมกับผงเบญกานี Gall จากต้น Rhus chinensis Mill. แล้วนำมาใช้ทา (ผล)
37. น้ำมันที่บีบได้จากเมล็ดบวบเหลี่ยมสามารถนำมาใช้ทารักษาโรคผิวหนังได้ บ้างว่าใช้แก้โรคผิวหนังได้บางชนิด และถ้าบริสุทธิ์พอก็ใช้กินได้ (น้ำมันจากเมล็ด)
38. หากผิวหนังเป็นผดผื่นคันให้ใช้ใบสดผสมกับเมนทอล นำมาตำแล้วพอกหรือใช้ทาบริเวณที่เป็น (ใบ)
39. ใช้รักษากลากเกลื้อน ด้วยการใช้ใบนำมาต้มเอาน้ำใช้ชะล้าง หรือจะตำพอก หรือจะบดให้เป็นผงละเอียดผสมเป็นยาทาก็ได้ (ใบ)
40. หากเป็นฝีบวมแดงและมีหนอง รักษาฝีไม่มีหัว ให้ใช้ดอกสดผสมกับฮั่วเถ่าเช่าสด นำไปตำใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น (ดอก)
41. ช่วยรักษาแขนขาเป็นเหน็บชา (เถา)
42. หากมีอาการปวดเอวเรื้อรัง ให้นำเมล็ดมาคั่วจนเหลือง แล้วบดให้เป็นผงผสมกับเหล้าดื่ม และให้นำกากมาพอกบริเวณที่มีอาการปวด (เมล็ด)
43. ผลช่วยขับน้ำนมของสตรีที่มีน้ำนมน้อยหลังการคลอดบุตร หรือจะใช้ใยผล (รังบวบ) ที่เผาเป็นถ่านแล้ว นำมาบดให้เป็นผงผสมกับเหล้าดื่มก็ได้ แล้วห่มผ้าห่มให้เหงื่อออกด้วย (ผล, ใยผล)
หมายเหตุ : จากหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทยของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ได้ระบุไว้ว่า บวบเหลี่ยมมีสรรพคุณเหมือนกับบวบกลม (บวบหอม) ผู้เขียนจึงได้นำสรรพคุณของบวบกลมในหนังสือดังกล่าวมาเขียนไว้ตาม [1] แต่อย่างไรก็ตามบวบที่นิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรนั้น จะนิยมใช้บวบกลมมากกว่า

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของบวบเหลี่ยม
1. ในเมล็ดมีสารไขมันอยู่ประมาณ 37.5% มีโปรตีนประมาณ 33.4% และประกอบไปด้วยกรดอะมิโน และเมล็ดบวบที่มีรสขมจะมีสาร Cucurbitacin B 0.12%, น้ำมันประมาณ 18.4%, กรดไขมันไม่อิ่มตัวประมาณ 80.3%, กรดไขมันอิ่มตัวประมาณ 19.34%
    unsaponified matters 1.5% กรดไขมันได้แก่ Oleic acid, Palmitic acid, Stearic acid, Linoleic acid และมี Lignoceric acid อีกเล็กน้อย
2. เมล็ดบวบเหลี่ยมที่มีรสขมจะมีฤทธิ์ทำให้อาเจียน มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ทำให้ท้องเสียอย่างรุนแรงเนื่องจากมีสาร Elaterin ที่ทำให้ถ่าย ส่วนรากก็มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายเช่นกัน[1] เมล็ดหากกินมากจะทำให้อาเจียน
3. ในเมล็ดมีสารจำพวกซาโปนิน (Saponins) มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจกบคล้ายกับดิยิลลิส (Digitalis) ซึ่งสามารถย่อยเม็ดเลือดแดงสุนัขและเป็นพิษต่อปลาเป็นอย่างมาก และสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเมล็ดบวบเหลี่ยมในขนาด 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1
    กิโลกรัม มีผลทำให้สุนัขที่กินเข้าไปตาย และก่อนตายจะมีอาการอาเจียนน้ำลายฟูมปาก อีกทั้งยังมีเลือดออกในลำไส้อีกด้วย

ประโยชน์ของบวบเหลี่ยม
1. ผลอ่อนมีเนื้อนุ่ม ฉ่ำน้ำ และมีรสหวาน ใช้กินหรือใช้ประกอบอาหารได้หลายประเภท เช่น ต้ม แกง ผัด หรือจิ้มกับน้ำพริกรับประทาน เช่น น้ำพริกปลาร้า ปลาเจ่า ฯลฯ โดยเมนูที่ทำด้วยบวบเหลี่ยมก็มีอย่างหลากหลาย เช่น แกงเลียง แกงป่า แกงอ่อม แกงจืด
    แกงกับปลาแห้ง ผัดกับไข่ หรือนำไปปิ้ง หมก หลาม ฯลฯ เป็นต้น
2. โดยสรุปแล้วผลของบวบเหลี่ยม จะช่วยบำรุงร่างกาย แก้ร้อนใน ลดไข้ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้คางทูม รักษาโรคบิดถ่ายเป็ด เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ขับน้ำนมของสตรี และใช้รักษาแผลมีหนองและมีเนื้อนูน
3. ใยผลของบวบเหลี่ยมสามารถนำมาใช้สระผมเพื่อช่วยรักษารังแคได้
4. เมล็ดสามารถนำไปใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้
         นอกจากจะใช้ใยผล (รังบวบ) มาทำเป็นยาแล้ว ยังนำใยผลมาใช้ในการทำความสะอาดรถยนต์ เครื่องแก้ว เครื่องครัว และยังใช้ใส่ในหีบห่อเพื่อป้องกันการกระทบกระแทก หรือใช้เป็นที่บุรองภายในหมวกเหล็ก ใช้ทำเบาะรองไหล่ ใช้ยัดในหมอน ในรถหุ้มเกราะ ใช้ผสมทำแผ่นเก็บเสียง ฯลฯ อีกทั้งใยผลมีคุณสมบัติที่ทนความร้อนได้ดี ใช้ทำหน้าที่สำหรับจับหม้อที่ร้อน ๆ หรือใช้ในการกรองน้ำมันในเรือเดินทะเล และเครื่องยนต์ที่มีระบบการเผาไหม้ภายในต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ยังนำมาใช้สานเป็นเสื่อ หมวก และผ้าปูโต๊ะ ใช้ผสมกับปูนปลาสเตอร์ และสารเคลือบทำแผ่นเก็บความร้อน และใยผลหรือรังบวบยังเป็นแหล่งให้ Cellulose ที่นำมาใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษได้อีกด้วย (แต่เส้นใยจากบวบเหลี่ยมจะไม่เป็นที่นิยมใช้กันนัก เพราะแยกเส้นใยออกจากเปลือกและเนื้อผลได้ยาก จึงนิยมใช้บวบหอมมากกว่า)

คำสำคัญ : บวบเหลี่ยม

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). บวบเหลี่ยม. สืบค้น 29 มิถุนายน 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?code_db=610010&code_type=01&nu=pages&page_id=1644

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1644&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

กาหลง

กาหลง

ต้นกาหลงนี้จัดเป็นไม้พุ่มที่มีลำต้นสูงประมาณ 1-3 เมตร มีเปลือกเรียบสีน้ำตาล มีใบเดี่ยวรูปไข่ออกเรียงสลับกัน โดยปลายใบนั้นจะเว้าลึกเข้ามาถึงเกือบครึ่งใบ โคนใบเป็นรูปหัวใจ ปลายเส้นกลางใบเป็นติ่งแหลมๆ และปลายแฉกทั้งสองข้างจะแหลม ผลัดใบช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม แล้วจะขึ้นมาใหม่ในช่วงหน้าร้อน หรือเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม ส่วนดอกนั้นจะมีสีขาวออกเป็นช่อสั้นๆ ตรงปลายกิ่ง ช่อละประมาณ 2-3 ดอก มีดอกย่อยสีขาวกลิ่นหอมอ่อนๆ บริเวณปลายกลีบมน โคนสอบ และมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวติดกันอยู่ และผลเป็นฝักแบน ขอบฝักจะเป็นสันหนาๆ แต่ปลายและโคนฝักจะสอบแหลม ตลอดจนปลายฝักมีติ่งแหลมๆ ยื่นออกมา โดยต้นกาหลงนี้จะออกผลในเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม

เผยแพร่เมื่อ 29-04-2020 ผู้เช้าชม 3,665

มะเดื่อปล้อง

มะเดื่อปล้อง

มะเดื่อปล้อง จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลางหรือใหญ่ มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10 เมตร และอาจสูงได้ถึง 12 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกลำต้นเรียบหนาเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทาปนดำ ตามลำต้นมีรอยเป็นข้อปล้องห่างๆ คล้ายรอยควั่นเป็นข้อๆ ตลอดถึงกิ่ง กิ่งก้านอ้วนสั้น กิ่งอ่อนและลำต้นอ่อนกลวง ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวข้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ชอบดินร่วนอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี ชอบความชุ่มชื้น 

เผยแพร่เมื่อ 13-07-2020 ผู้เช้าชม 4,726

กระทือ

กระทือ

ต้นกระทือไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นเทียมสูงได้ถึง 1 เมตร มีเหง้าใต้ดิน แตกแขนงเป็นกอ เปลือกเหง้าสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม จะแทงหน่อใหม่ช่วงฤดูฝน ใบกระทือใบเดี่ยว เรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ หลังใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีเขียวนวล ก้านใบสั้นมาก ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร กาบใบเรียงตัวกันแน่น หุ้มเป็นลำต้นเทียม ดอกช่อ แบบช่อเชิงลด ก้านช่อดอกยาว 14-45 เซนติเมตร ตั้งตรง แทงออกมาจากเหง้าใต้ดิน ดอกทรงกระบอก ปลายมน ใบประดับสีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม

เผยแพร่เมื่อ 13-05-2020 ผู้เช้าชม 2,365

มะเขือขื่น

มะเขือขื่น

ต้นมะเขือขื่น สันนิษฐานว่า มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกกึ่งไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของลำต้นประมาณ 1-3 เมตร ตามลำต้นมีหนามสั้น ลำต้นและกิ่งก้านเป็นรูปทรงกระบอกตั้งตรง มีสีม่วงทั้งลำต้น กิ่งก้านและใบมีขนอ่อนละเอียดขึ้นอยู่ทั่วไป มีขนรูปดาวยาวได้ประมาณ 2 มิลลิเมตร และยังพบขนชนิดมีต่อม มีขนสั้นปกคลุมทั้งลำต้น มีหนามตรงหรือโค้งขนาดประมาณ 1-5 x 2-10 มิลลิเมตร โคนต้นแก่มีเนื้อไม้แข็ง สำหรับการปลูกมะเขือขื่นนั้นจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย

เผยแพร่เมื่อ 10-07-2020 ผู้เช้าชม 7,184

หญ้าแพรก

หญ้าแพรก

หญ้าแพรก มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียและยุโรป เจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและอากาศอบอุ่น โดยจัดเป็นพรรณไม้จำพวกหญ้า ต้นมีขนาดเล็ก มีอายุได้หลายปี ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาปกคลุมดิน เจริญเติบโตแบบแผ่ราบไปตามพื้นดินหรือเลื้อยปกคลุมดินไปได้ยาวประมาณ 1 เมตร ลักษณะของลำต้นเป็นข้อและมีรากงอกออกมา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด กิ่ง ราก และแตกลำต้นไปตามพื้นดิน เจริญเติบเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ต้องการความชื้นในปริมาณค่อนข้างมาก หญ้าชนิดนี้มักพบขึ้นเองตามพื้นที่แห้งแล้ง ที่ว่างริมถนน หรือในบริเวณสนามหญ้า ทนน้ำท่วมทังและสามารถขึ้นได้ในดินเค็ม 

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 59,027

กำจาย

กำจาย

ต้นกำจาย จัดเป็นพรรณไม้พุ่มรอเลื้อย มีความสูงได้ประมาณ 2.5-10 เมตร ลำต้นและก้านใบมีหนามแหลมแข็งและโค้งคล้ายหนามกุหลาบ ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ส่วนใหญ่จะไม่นิยมปลูกต้นกำจายไว้ตามบ้าน เนื่องจากต้นกำจายเป็นไม้ที่มีหนามแหลมและเป็นไม้เถาเลื้อย แต่จะมีปลูกไว้เพื่อใช้ประโยชน์ทางยาตามสวนยาแผนไทย 

เผยแพร่เมื่อ 18-05-2020 ผู้เช้าชม 4,031

โทงเทง

โทงเทง

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ต้นล้มลุกระบบรากแก้ว  เนื้อไม้อ่อน  แตกกิ่งก้านมาก ทรงพุ่มสูง ประมาณ 40-60 ซม.  ใบเป็นใบเดี่ยว ออกจากลำต้นลักษณะเรียงสลับกัน รูปไข่ ค่อนข้างกลม ปลายใบแหลมสั้น ฐานใบโค้งมน ด้านบนแผ่นใบสีเขียว ก้านใบยาวประมาณ 2 – 4 ซม.มีขนขึ้นปกคลุมก้านใบ  ดอกเป็นดอกเดี่ยว เกิดตามซอกใบมีกลีบเลี้ยงเป็นแผ่นสีเขียวบาง ๆ 5 กลีบ มีขน กลีบเลี้ยงจะเจริญขยายใหญ่ขึ้นมากหุ้มผลคล้ายโคมไฟจีน กลีบดอกมี 5 กลีบ สีเหลืองอ่อน หรือสีเขียวอ่อน บริเวณส่วนฐานของกลีบ มีเกสตัวผู้ 5 อัน ติดที่ฐานกลีบดอก เกสรตัวเมียเป็นเส้นตรงและมีตุ้มที่ปลาย  รังไข่แบ่งเป็น 2 ห้อง

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 3,315

กกธูปฤาษี

กกธูปฤาษี

ต้นกกธูปฤาษีลักษณะเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี เหง้ากลม แทงหน่อขึ้นเป็นระยะสั้นๆ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงประมาณ 5-3 เมตร เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำ ใบกกธูปฤาษีลักษณะเป็นใบเดี่ยว มีกาบใบเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ใบเป็นรูปแถบ มีความกว้างประมาณ 2-1.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 50-120 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนมีลักษณะโค้งเล็กน้อยเพราะมีเซลล์หยุ่นตัวคล้ายฟองน้ำหมุนอยู่กลางใบ ส่วนด้านล่างของใบแบน

เผยแพร่เมื่อ 12-05-2020 ผู้เช้าชม 6,249

หมาก

หมาก

หมาก มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียเขตร้อน จัดเป็นไม้ยืนต้นจำพวกปาล์ม ลำต้นตั้งตรง เป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้าน ลักษณะของลำต้นเป็นรูปทรงกระบอก เปลือกลำต้นเป็นรอยขวั้นรอบๆ ขึ้นไปตลอดลำต้น ในระยะแรกจะเจริญเติบโตด้านกว้างและด้านสูง แต่หลังจากหยุดการเจริญเติบโตจะเจริญเติบโตด้านความสูง ต้นหมากมีตายอดส่วนปลายสุดของลำต้น ถ้ายอดตายหมากจะตาย ตายอดจะเป็นที่เกิดของใบหลังจากใบร่วงหล่นจะทิ้งรอยติดของใบไว้ เรียกว่าข้อ ข้อของต้นหมากสามารถคำนวณหาอายุหมากได้ 1 ปี โดยหมากจะมีใบหรือข้อเพิ่มขึ้น 5 ใบ หรือ 5 ข้อ ต้นหมากจะมีเนื้อเป็นเสี้ยนยาวจับตัวกันแน่นบริเวณเปลือกนอกลึกเข้าไปประมาณ 2 เซนติเมตร 

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 27,727

แคดอกขาว

แคดอกขาว

แคดอกขาว (Cork Wood Tree หรือ Sesbania Grandiflora) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้นขนาดกลาง ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคกลางเรียกดอกแคบ้าน, ต้นแค หรือแค ส่วนกรุงเทพฯและเชียงใหม่เรียกแคขาว เป็นต้น แคดอกขาวเชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออินเดีย เป็นพืชสมุนไพรที่อุดมไปด้วยวิตามินจำนวนมากซึ่งช่วยในการต่อต้านและยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ด้วย จึงทำให้แคดอกขาวเป็นที่นิยมกัน

เผยแพร่เมื่อ 30-04-2020 ผู้เช้าชม 8,493