น้ำเต้า

น้ำเต้า

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้ชม 6,125

[16.4258401, 99.2157273, น้ำเต้า]

น้ำเต้า ชื่อสามัญ Bottle gourd, Calabash gourd, Flowered gourd, White flowered gourd
น้ำเต้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagenaria siceraria (Molina) Standl. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lagenaria leucantha Rusby, Lagenaria vulgaris Ser.) จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)
สมุนไพรน้ำเต้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะน้ำเต้า (ภาคเหนือ), คิลูส่า คูลูส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลุ้นออก แผละลุนอ้อก (ลั้วะ), Dudhi Lauki (อินเดีย), หมากน้ำ, น้ำโต่น เป็นต้น

ลักษณะของต้นน้ำเต้า
         ต้นน้ำเต้า มีถิ่นกำเนิดทางทวีปแอฟริกาตอนใต้ โดยจัดเป็นไม้เถาล้มลุกอายุปีเดียวหรืออาจข้ามปี เลื้อยตามพื้นดินหรือไต่พันกับต้นไม้อื่น ลำต้นแข็งแรง ลำต้นมีมือสำหรับใช้ยึดเกาะต้นไม้อื่น ๆ ตามเถามีขนยาวสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ชอบดินร่วนระบายน้ำได้ดี สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย น้ำเต้านั้นมีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น น้ำเต้าที่ลักษณะเป็นน้ำเต้าทรงเซียน ชนิดนี้นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับ เราจะเรียกว่า "น้ำเต้าพื้นบ้าน" หรืออีกชนิดมีลักษณะของผลคล้ายกับน้ำเต้าพื้นบ้าน แต่เนื้อ ต้น และใบมีรสขม ก็จะเรียกว่า "น้ำเต้าขม" (ชนิดนี้หาได้ยากและนำมาใช้ทำเป็นยาเท่านั้น) แต่ถ้าผลมีลักษณะกลมเกลี้ยงไม่มีคอขวดจะเรียกว่า "น้ำเต้า" หรือหากผลกลมยาวเหมือนงาช้างจะเรียกว่า "น้ำเต้างาช้าง" เป็นต้น
         ใบน้ำเต้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปห้าเหลี่ยม ขอบใบหยักเว้าเป็นแฉก 5-7 แฉก โคนใบเว้าเข้าถึงเส้นกลางใบ เส้นใบด้านล่างนูนเด่นชัด ใบมีขนตลอดทั้งใบและก้านใบ ก้านใบยาวประมาณ 5-30 เซนติเมตร มีต่อมเทียม 2 ต่อม ซึ่งอยู่ตรงรอยต่อระหว่างก้านใบกับแผ่นใบ
          ดอกน้ำเต้า ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกเป็นสีขาว โดยดอกเพศผู้ (รูปที่ 2) ก้านดอกจะยาวประมาณ 5-25 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาวมี 5 กลีบไม่ติดกัน ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร กลีบดอกมีขน มีลักษณะบางและย่น มีเกสร 3 ก้าน ก้านเกสรไม่ติดกัน อับเรณูเป็นสีขาวอยู่ชิดกัน ส่วนดอกเพศเมีย (รูปที่ 3) มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับดอกเพศผู้ แต่ต่างกันที่จะมีผลเล็ก ๆ ติดอยู่ที่โคนดอก โดยก้านดอกจะสั้นและแข็งแรง ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร และก้านจะยาวขึ้นเมื่อรังไข่เจริญเติบโตไปเป็นผล ดอกไม่มีเกสรเพศผู้เทียม มีรังไข่ยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร มีขนสีขาว ท่อรังไข่สั้น ปลายแยกเป็นแฉกหนา ๆ 3 แฉก
          ผลน้ำเต้า หรือ ลูกน้ำเต้า ผลน้ำเต้ามีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ เช่น ทรงกลม ทรงกลมซ้อน ทรงกลมหัวจุก ทรงยาว ทรงแบน เป็นรูปกระบอง หรือเป็นรูปขวด มีความยาวตั้งแต่ 10-100 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปแล้วผลจะมีลักษณะกลมโต มีขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตร คอดกิ่วบริเวณยอด โคนขั้วคอดคดงอหรือขดเป็นวงผิวผลเกลี้ยง เรียบ และเนียน เปลือกผลแข็งและทนทาน ผลอ่อนเป็นสีเขียว ก้านผลยาว ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก วางตัวแนวรัศมี เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงแบนป้านคล้ายเล็บมือ ส่วนปลายมีติ่งยื่น 2 ข้าง เป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน และมีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดตามยาวของเมล็ด

สรรพคุณของน้ำเต้า
1. ชาวอินเดียจะใช้ผลของน้ำเต้าในการประกอบอาหารให้ผู้ป่วยเบาหวานและผู้เป็นโรคความดันโลหิตรับประทาน และในประเทศจีนและอินเดียจะมีการรับประทานน้ำเต้าเพื่อควบคุมเบาหวาน (ผล)
2. รากช่วยทำให้เจริญอาหาร แต่ในประเทศจีนจะใช้เมล็ดนำไปต้มกับเกลือรับประทานเป็นยาเจริญอาหาร (ราก, เมล็ด, ทั้งต้น)
3. น้ำเต้าเป็นยาเย็นและชื้น มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและผู้ชราภาพ (ผล)
4. น้ำเต้าช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งปอด (ผล)
5. ใบมี ผลอ่อน และเนื้อในผล ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ, ผลอ่อน, เนื้อในผล)
6. น้ำมันจากเมล็ดใช้ทาศีรษะจะช่วยแก้อาการทางประสาทบางชนิดได้ (น้ำมันจากเมล็ด)
7. เมล็ดช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (เมล็ด)
8. ใบมีรสเย็น ช่วยดับพิษ เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (ใบ)
9. ช่วยแก้อาการไอ (เนื้อในผล)
10. ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (ใบ, ทั้งต้น)
11. น้ำมันจากเมล็ดนำมากินจะช่วยทำให้อาเจียน (น้ำมันจากเมล็ด) ส่วนผลหากรับประทานมาก ๆ ก็ทำให้อาเจียนได้เช่นกัน (ผล)
12. เปลือกผลใช้ผสมหัวทารกเพื่อใช้ลดอาการไข้ (เปลือกผล)
13. ผลหรือโคนขั้วผลนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้องที่เกิดจากไข้ (ผล, โคนขั้วผล)
14. ใช้รักษาโรคทางลำคอ ด้วยการใช้ลูกน้ำเต้าแก่ นำมาตัดจุก แล้วใส่น้ำไว้รับประทานเป็นประจำจะช่วยป้องกันและรักษาโรคทางลำคอได้ (ผล)
15. ช่วยรักษาโรคปวดอักเสบ ด้วยการใช้ส่วนที่เป็นเปลือกสดนำมารับประทาน (เปลือกผล)
16. น้ำคั้นจากผลมีฤทธิ์ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยและแผลในกระเพาะอาหาร (ผล)
17. ใบอ่อน ผล และเนื้อในผลใช้รับประทานได้ โดยมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ใบ, ผล, เนื้อในผล)
18. เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิ (เมล็ด)
19. ผลมีรสเย็น ช่วยขับปัสสาวะ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ รักษาท่อปัสสาวะอักเสบ ช่วยลดการอักเสบของทางเดินปัสสาวะและอาการปัสสาวะยาก (ผล)[1],[2],[7],[8],[10] ส่วนใบก็เป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (ใบ)
20. ช่วยรักษาโรคลูกอัณฑะบวม ด้วยการใช้ลูกน้ำเต้านำมาต้มรับประทาน (ผล)
21. ช่วยรักษาโรคเริม (ใบ)
22. รากและทั้งต้นช่วยบำรุงน้ำดี (ราก, ทั้งต้น)
23. แพทย์แผนไทยจะใช้รากน้ำเต้าขมเป็นยาแก้ดีแห้ง ขับน้ำดีให้ตกลำไส้ (ราก)
24. น้ำต้มใบกับน้ำตาล ใช้แก้โรคดีซ่าน (ใบ)
25. เมล็ดมีรสเย็นเมา ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (เมล็ด) หรือใช้รากนำมาต้มกับน้ำใช้กินเป็นยาแก้อาการบวมน้ำตามร่างกายก็ได้เช่นกัน (ราก)
26. ช่วยแก้อาการปวดฝีในเด็ก ด้วยการใช้น้ำเต้าหั่นเป็นชิ้น ๆ นำมาผสมกับของต้มเป็นน้ำซุปรับประทาน (ผล)
27. ใบใช้รักษางูสวัด แก้ไฟลามทุ่ง (ใบ)[10]
28. ใบสดนำมาโขลกผสมกับเหล้าขาวหรือโขลกเพื่อคั้นเอาแต่น้ำ หรือใช้ใบสดผสมกับขี้วัวแห้งหรือขี้วัวสด โขลกให้เข้ากันจนได้ที่แล้วผสมเหล้าขาว 40 ดีกรี (การผสมขี้วัวเข้าใจว่าขี้วัวมีแอมโมเนีย จึงทำให้เย็นและช่วยถอนพิษอักเสบได้ดีกว่าตัวยาอื่น) ใช้
      เป็นยาทาถอนพิษร้อน ดับพิษ แก้อาการฟกช้ำบวม พุพอง แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน รักษาอาการพองตามผิวหนังตามตัว แก้เริม และงูสวัดได้ดี (ใบ)
29. ช่วยทำให้เกิดน้ำนม (ผล)
หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [10] ในส่วนของใบ ให้ใช้ใบแห้งประมาณ 1 กำมือนำมาชงกับน้ำร้อนเป็นชาดื่มแทนน้ำตลอดวัน

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของน้ำเต้า
1. สารสำคัญที่พบ ได้แก่ apigenin-4, 7-O-diglucosyl-6-C-glucoside โดยสารนี้จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด bryonolic acid, campesterol, cucurbitacin B, D, E, G, H, fixed oil, kaempferol-3-monoglycoside, linoleic acid, oleic acid, palmitic
    acid, palmitoleic acid, rutin, saponarin, sitosterol, stachyose, stearic acid, vitexin
2. น้ำเต้ามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อยีสต์ ช่วยยับยั้งเบาหวาน และช่วยขับพยาธิตัวตืด
3. งานวิจัยจากประเทศอินเดียเมื่อปี พ.ศ.2549 พบว่าสารสกัดจากผลน้ำเต้าด้วยคลอโรฟอร์มและแอลกอฮอล์ในขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อน้ำหนักของหนู สามารถช่วยยับยั้งการเพิ่มปริมาณของระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมัน
    ชนิดไม่ดีได้ และยังช่วยเพิ่มปริมาณของไขมันชนิดดีในหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้มีปริมาณไขมันสูงเป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณการกินสารสกัด และยังช่วยลดปริมาณของคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดไม่ดีในหนูทดลองที่มีปริมาณไขมัน
    ในเลือดอยู่ในระดับปกติได้ และจากการตรวจสอบพฤกษเคมีของน้ำเต้า พบว่ามีสาร flavonoids, sterols, cucurbitacin, saponins, polyphenolics, protein และ carbohydrates โดยสารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการช่วยลดระดับไขมันในเลือด
4. มีรายงายว่าเปลือกลำต้นและเปลือกของผลน้ำเต้ามีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ
5. สารในกลุ่ม triterpenoids จากน้ำเต้า ชนิด D:C-friedooleane-type triterpenes แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ human hepatoma SK-Hep 1 โดยมีสาร etoposide เป็น positive control ซึ่งมีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ได้
    50% เท่ากับ 2.2 มคก./มล. และหลังจากการนำสารในกลุ่ม triterpenoids ดังกล่าวมาแยกหาสารสำคัญ พบว่ามีสาร 3 beta-O-(E)-coumaroyl-D:C-friedooleana-7,9(11)-dien-29-oic acid และสาร 20-epibryonolic acid ซึ่งแสดงความเป็นพิษต่อเซลล์
    human hepatoma SK-Hep 1 อย่างชัดเจน โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 4.8 และ 2.1 มคก./มล. ตามลำดับ จึงเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งต่อไป[6]
6. จากการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดจากใบน้ำเต้าแห้งด้วย 60% เอทานอล ด้วยวิธีการป้อนหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนูถีบจักร ในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่ทำให้เกิดพิษ
7. หากฉีดสารสกัดส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นน้ำเต้าด้วย 50% เอทานอลเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตาย 50% มีค่าเท่ากับ 176 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ประโยชน์ของน้ำเต้า
1. ใบอ่อนใช้รับประทานได้ ยอดอ่อนใช้ทำแกงส้มกับปลาเนื้ออ่อนหรือกุ้งสด มีรสชาติอร่อยมาก ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาจะรับประทานใบน้ำเต้าเป็นผักชนิดหนึ่ง หรือใช้ใส่ในซุปข้าวโพด หรือดองสดไว้รับประทาน ส่วนใบแห้งเก็บไว้เป็นเสบียงเมื่อยาม
    จำเป็น
2. ผลใช้รับประทานได้ มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย[2]โดยผลน้ำเต้าที่นำมาประกอบอาหารก็คือผลอ่อนที่เปลือกและเมล็ดยังไม่แข็ง เพราะสามารถรับประทานได้ทั้งเปลือก เนื้อ และเมล็ด อีกทั้งผลที่ยังอ่อนอยู่จะมีน้ำอยู่มาก ทำให้
    เนื้อน้ำเต้ามีความอ่อนนุ่ม (อาจใกล้เคียงกับบวบแต่มากกว่าฟักและมะระ) ซึ่งน้ำเต้าที่ชาวไทยนิยมนำมารับประทานจะเป็นน้ำเต้าพันธุ์ผลกลมแป้นมีคอยาว ตรงขั้วอาจจะป่องออกเป็นคอคอดหรือไม่ป่องก็มี โดยพันธุ์ที่ปลูกไว้รับประทานนั้น เปลือกจะมีสีเขียว
    อ่อนและบางกว่าพันธุ์อื่น ๆ โดยอาจนำผลมาต้มหรือนึ่งรับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริก ลาบ แจ่ว หรืออาจทำไปทำแกง แกงเลียง แกงอ่อม แกงส้ม แกงหน่อไม้ แกงเผ็ดน้ำเต้าอ่อน ผัดพริก ฟักน้ำเต้าเห็ดหอม ผัดน้ำมัน น้ำเต้าผัดกับหมูใส่ไข่ หรือต้มเป็นผัก
    จิ้ม ฯลฯ (ไม่ควรต้มหรือผัดนานเพราะจะทำให้เละได้) นอกจากนี้ยังนำผลมาเชื่อมเป็นของหวานได้อีกด้วย ส่วนชาวอินเดียจะใช้ผลของน้ำเต้านำมาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน ในอเมริกาจะนำเนื้อผลอ่อนมานึ่งผัดในกระทะ ชุบแป้งท้อง ต้มสตูว์ หรือใช้ 
    ใส่ในแกงจืด ด้วยการเลาะเมล็ดและใยหุ้มเมล็ดออก ส่วนแผ่นน้ำเต้าตากแห้งก็นำมาชุบกับซีอิ๊วกินกับปลาดิบญี่ปุ่นได้ดี
3. ในทวีปแอฟริกาจะใช้น้ำมันจากเมล็ดน้ำเต้าในการปรุงอาหาร บ้างว่าใช้เมล็ดนำมาตากให้แห้ง แล้วคั่วกินเป็นของว่าง
4. น้ำต้มกับผลสามารถนำมาใช้สระผมได้
5. ผลน้ำเต้าแห้งสามารถนำมาใช้ทำเป็นภาชนะได้ เช่น กระบวยตักน้ำ ขันน้ำ ช้อน ทัพพี ทำขวดบรรจุสิ่งของหรือเมล็ดพันธุ์พืช เป็นต้น ขันน้ำหรืออาจใช้ผลน้ำเต้าแก่ ปล่อยให้เนื้อแห้งแล้วขูดเอาเนื้อออก ใช้บรรจุน้ำดื่ม เบียร์ หรือไวน์ บางคนอาจนำเชือกถักมา
    ห่อหุ้มไว้เพื่อป้องกันของแข็งกระแทก อีกทั้งยังดูสวยงามดีอีกด้วย ส่วนชนิดที่มีจุกขวดแต่ไม่ยาวมาก (มักเห็นในเรื่องจี้กง) ก็ใช้ทำเป็นที่ใส่เหล้าห้อยเอว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "น้ำเต้าจี้กง"
6. น้ำเต้างาช้างที่มีจุกยาวนิยมเอามาทำเป็นเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ เช่น ลูกซัดหรือลูกแซก สำหรับเล่นประกอบเพลง ซึ่งให้เสียงดังไพเราะดีมาก
7. ในอดีตมีคนนำผลน้ำเต้าแห้งหลาย ๆ ลูกมาผูกรวมกันเพื่อทำเป็นเสื้อชูชีพพยุงตัวให้ลอยน้ำได้[4]หรืออาจใช้ทำเป็นรังนกกระจอกบ้าน ใช้ทำเป็นทุ่นประกอบการจับปลาก็ได้
8. ในเรื่องการใช้ผลน้ำเต้าทำเป็นเครื่องประดับหรือใช้ทำงานศิลปะ เช่น การวาดภาพลงบนผิวน้ำเต้า หรือการแกะสลักผิวเป็นรูปร่างต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ประดับหรือปกปิดร่างกาย อย่างที่คนไทยส่วนใหญ่อาจนึกไม่ถึงอีกด้วย นั่นก็คือ การนำมาใช้
    แทนกางเกงหรือผ้าเตี่ยวสำหรับผู้ชายในชนเผ่าดั้งเดิมของเกาะนิวกินี กล่าวคือเมื่อผู้ชายเติบโตเป็นหนุ่มแล้วเขาจะหาผลน้ำเต้าแห้งที่มีส่วนคอเรียวยาวมาตัดเอาส่วนคอนั้นมาร้อยเชือก สวมอวัยวะเพศเข้าไป (เพื่อไม่ให้ดูโป๊หรือุจาดตา) แล้วผูกเชือกเอาไว้
    กับเอวแค่นั้นก็พอ โดยไม่ต้องสวมเสื้อผ้าอะไรอีก
9. ชาวจีนนิยมแขวนน้ำเต้าไว้ในบ้านเกือบทุกครัวเรือน ด้วยเชื่อว่าจะทำให้บ้านเกิดความร่มเย็น

คำสำคัญ : น้ำเต้า

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). น้ำเต้า. สืบค้น 17 กรกฎาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?code_db=610010&code_type=01&nu=pages&page_id=1640

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1640&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

โมกหลวง

โมกหลวง

ลักษณะทั่วไป  ต้นเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ถึงขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 2 – 12 เมตร  ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นใบรี หรือรูปไข่ ปลายใบแหลม หรือมน ใบมี ขนาดกว้างประมาณ 2-5 นิ้วยาวประมาณ 4-10 นิ้วมีพื้นผิวใบบางใต้ท้องใบมีขนเส้นประมาณ 10-20 คู่เห็นได้ชัด  ดอกออกเป็นช่อออกบริเวณปลายยอด ช่อหนึ่งยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ลักษณะของดอกมีกลีบรองกลีบดอก  โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อเล็ก ๆ ปลายกลีบแยกเป็น 5 กลีบ ในท่อหลอดทีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมีย  ผลมีลักษณะเป็นฝักลักษณะฝักออกเป็นคู่ฝักตรง ปลายฝักแหลม ส่วนโคนแบน ฝักยาวประมาณ 6-12 นิ้ว กว้างประมาณ 6 – 7 มิลลิเมตร พื้นผิวเปลือกเรียบเกลี้ยง ฝักแก่มีสีดำ แล้วแต่อ้าออกจากกันเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ดเรียงกันอยู่เป็นแถวหลายเมล็ดเป็นรูปขอบขนานยาวประมาณ 15 มิลลิเมตร

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 3,242

ผักคะน้า

ผักคะน้า

คะน้าเป็นพืชผักใบเขียวที่นิยมรับประทานกันทั่วไป เป็นผักที่หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง แต่มีสิ่งที่ควรจะระวังเป็นพิเศษนอกจากการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงแล้ว อาจจะต้องระวังในเรื่องของธาตุแคดเมียมที่อาจจะปนเปื้อนมากับน้ำและพื้นดินด้วย เพราะหากร่างกายได้รับเข้าไป มันจะเข้าไปสะสมในตับและไต ซึ่งจะเป็นพิษต่อตับและไตของคุณเอง และก่อนนำมารับประทานคุณควรล้างทำความสะอาดก่อนทุกครั้ง ด้วยการล้างน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง

เผยแพร่เมื่อ 27-05-2020 ผู้เช้าชม 11,512

แก้ว

แก้ว

ต้นแก้ว เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศจีน และในออสเตรเลีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคในป่าดิบแล้งจากที่ราบสูงจนถึงที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาแตกเป็นร่อง ๆ เนื้อไม้สีขาวนวล เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดเต็มวัน-รำไร และความชื้นปานกลาง-ต่ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอน

เผยแพร่เมื่อ 18-05-2020 ผู้เช้าชม 7,036

มะตาด

มะตาด

มะตาด จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-20 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลักษณะต้นเป็นทรงเรือนยอดทรงพุ่มกลมหรือรูปไข่ เป็นทรงพุ่มทึบ ลำต้นของมะตาดมักคดงอ ไม่ตั้งตรง และมักมีปุ่มปมปรากฏอยู่บนลำต้น ซึ่งจะเกิดจากร่องรอยของกิ่งแก่ที่หลุดร่วง ส่วนเปลือกต้นเป็นเปลือกหนา มีสีน้ำตาลอมแดงหรือสีทองแดง เมื่อแก่เปลือกต้นจะเปลี่ยนเป็นสีเทา และหลุดล่อนออกเป็นแผ่นบาง ๆ ส่วนการแตกกิ่งก้านของลำต้นจะไม่สูงจากพื้นดินมากนัก และการแตกกิ่งย่อยจะเกิดที่ส่วนปลายของยอดกิ่งหลัก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและกิ่งตอน ต้นไม้มะตาดเป็นไม้ที่ทนต่อความแห้งแล้งและน้ำท่วมได้ดี 

เผยแพร่เมื่อ 13-07-2020 ผู้เช้าชม 9,085

มะขาม

มะขาม

มะขามจัดเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในทวีฟแอฟริกาและมีการนำเข้ามาปลูกในแถบเอเชีย นอกจากนี้มะขามยังเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ และตามตำราพรหมชาติยังถือว่ามะขามเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่ช่วยป้องกันสิ่งเลวร้าย ผีร้ายต่างๆ ไม่ให้มากล้ำกราย อีกทั้งยังเป็นต้นไม้ที่มีชื่อมงคล ถือกันเป็นเคล็ดทำให้มีคนเกรงขาม สำหรับประโยชน์ของมะขามและสรรพคุณมะขามนั้นมีมากมาย จัดว่าเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและยังมีสรรพคุณใช้เป็นยารักษาโรคอีกด้วย 

เผยแพร่เมื่อ 10-07-2020 ผู้เช้าชม 5,894

ฟักเขียว

ฟักเขียว

ฟักเขียว จัดเป็นพืชล้มลุกจำพวกไม้เถาเช่นเดียวกับบวบ มะระ หรือแตงชนิดอื่น ๆ มีถิ่นกำเนิดไม่แน่นอนระหว่างทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา เพาะปลูกกันมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ ลักษณะของผลจะเป็นรูปทรงกระบอกปลายมน มีสีเขียวแก่จะเรียกว่า "ฟัก" ถ้าเป็นพันธุ์เล็กผิวมีสีเขียวอ่อน ๆ เราจะเรียกว่า "แฟง" หรือ "ฟักแฟง" (ภาพซ้าย) แต่ถ้าเป็นพันธุ์ที่ลักษณะของผลค่อนข้างกลมสีเขียวแก่ ๆ จะเรียกว่า "ฟักหอม" (ภาพขวา) หรือถ้าเป็นพันธุ์ที่รสขมเราจะเรียกว่า "ฟักขม" เป็นต้น 

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 9,123

พุดจีบ

พุดจีบ

พุดจีบ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ในประเทศไทยพบขึ้นได้ตามป่าดิบทางภาคเหนือ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 3-5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มเตี้ย แต่มีการทิ้งใบในส่วนของต้นด้านล่าง จึงทำให้พุ่มดูโปร่ง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องเล็กๆ และทุกส่วนของต้นจะมียางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ การตอน และวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวันถึงปานกลาง

เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 9,383

ผักกาดน้ำ

ผักกาดน้ำ

ต้นผักกาดน้ำ หรือ หญ้าเอ็นยืด จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กที่มีเนื้ออ่อน มีอายุหลายปี ลำต้นมีความสูงประมาณ 30-120 เซนติเมตร โคนต้นติดอยู่กับดิน รากสั้น แตกแขนงเป็นฝอยมาก พืชชนิดนี้เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีส่วนผสมพิเศษ ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยมักขึ้นตามทุ่งหญ้า พื้นที่โล่งแจ้งที่มีความชุ่มชื้น ใบจะแทงขึ้นมาจากใต้ดินคล้ายกับใบผักกาด แต่จะมีก้านใบที่ยาวกว่า 

เผยแพร่เมื่อ 09-07-2020 ผู้เช้าชม 6,393

ครอบจักรวาล

ครอบจักรวาล

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ 0.5-2 เมตร ตั้งตรง สามารถแตกกิ่งก้านได้มากตามลำต้น และกิ่งก้านได้มากตามลำต้น และกิ่งก้าน จะมีขนอ่อนนุ่มสีเทาปกคลุม  ใบเป็นใบเดี่ยวออกจากลำต้นแบบสลับ ใบกว้างรูปร่างแบบใบโพธิ์ ปลายใบไม่เรียวแหลมมากเหมือนใบโพธิ์ ขอบใบเป็นหยัก ฐานใบโค้งมนเว้าเข้าหาก้านใบเป็นรูปหัวใจ ออกตามซอกใบ เป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกยาว ใกล้ฐานดอกมีรอยต่อที่ก้านดอก ดอกจะมีกลีบเลี้ยงติดกันสีเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก รังไข่อยู่ปลายสุดของดอกมีผนังรังไข่เรียงติดกันเป็นกลีบ รัศมีวงกลม  ผลมีลักษณะเป็นกลีบๆ เรียงติดกันคล้ายฟันเฟือง 15-20 กลีบ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. หนา 1-1.5 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล เมล็ดรูปไต

 

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 4,859

มะตูม

มะตูม

ลักษณะทั่วไป  ไม้ต้นผลัดใบ สูง 5-10 เมตร แตกกิ่งต่ำ ตามลำต้นมีหนามยาว เปลือกสีเทา เรือนยอดโปร่ง  ประกอบรูปขนนกเรียงสลับกัน ใบมีใบย่อยรูปไข่  3 ใบ  สองใบล่างออกตรงกันข้าม ใบปลายมีขนาดใหญ่กว่า  กว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 4-12 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโคนสอบ ดอกเล็ก สีขาวอมเขียวหรือสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม  ผลรูปไข่แข็งมาก เนื้อในสีเหลืองมียางเหนียว เมล็ดรูปรี  พบประปรายตามป่าเบญจพรรณ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ออกดอกมีนาคม-พฤษภาคม ผลแก่ ธันวาคม-กุมภาพันธ์

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 1,552