ประเพณีเผาข้าวหลาม เพ็ญเดือนสาม ไหว้พระบรมธาตุกำแพงเพชร

ประเพณีเผาข้าวหลาม เพ็ญเดือนสาม ไหว้พระบรมธาตุกำแพงเพชร

เผยแพร่เมื่อ 27-06-2022 ผู้ชม 2,595

[16.4264988, 99.2157188, ประเพณีเผาข้าวหลาม เพ็ญเดือนสาม ไหว้พระบรมธาตุกำแพงเพชร]

        ประเพณี หมายถึง การทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างสืบเนื่อง มีการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งมายังรุ่น ต่อ ๆ มาได้ ถ้าหากผู้หนึ่งผู้ใดไม่เห็นด้วยหรือไม่ทำตามก็อาจถือได้ว่ากระทำผิดประเพณี อาจได้รับการติฉินนินทาหรือแม้กระทั่งการถูกลงโทษ ประเพณีและพิธีกรรมในประเทศไทยเกิดจากความเชื่อในอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติและศาสนา อันประกอบด้วยพุทธและพราหมณ์ มีการปฏิบัติเพื่อบูชาตามความเชื่อดังกล่าวผ่านประเพณีและพิธีกรรมในรอบปีหรือประเพณี 12 เดือน ทั้งนี้จำแนกได้เป็น ประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์หรือประเพณีท้องถิ่น ประเพณีหลวง คือ ประเพณีและพิธีกรรมอันเกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์ ขณะที่ประเพณีราษฎร์หรือประเพณีท้องถิ่น คือ ประเพณีและพิธีกรรมอันเกี่ยวแก่ราษฎร มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา และสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2559)
        ประเพณีหลวง เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ปฏิบัติเฉพาะในราชสำนัก ปัจจุบันกระทำขึ้นเพื่อเทิดทูนศาสนาและความเป็นสิริมงคลแก่สิริราชสมบัติ ตลอดจนเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของบูรพกษัตริย์ และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ราษฎรในการทำการเกษตร ทั้งนี้พระราชพิธี 12 เดือน ที่ปรากฏในปัจจุบัน ได้แก่ พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช พระราชพิธีสงกรานต์ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชกุศลวิสาขบูชา พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราช เป็นต้น ขณะที่ประเพณีราษฎร์หรือประเพณีท้องถิ่น เป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายและมีความแตกต่างไปในแต่ละพื้นที่เนื่องจากมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ สภาพอากาศตลอดจนประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ประกอบไปด้วย ประเพณีเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ ประเพณีเพื่อความเป็นสิริมงคลของชุมชนและงานรื่นเริง ประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อในโลกหน้าและความสำคัญของเครือญาติกลุ่มสายตระกูลและความสามัคคีและบูรณาการของชุมชนและท้องถิ่น และประเพณีการทำบุญเนื่องในพระพุทธศาสนามีการจัดขึ้นในรอบปีหรือเรียกว่า ประเพณี 12 เดือน ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ เทศกาลสารท เทศกาลออกพรรษา ประเพณีเซิ้งบั้งไฟหรือบุญบั้งไฟ เทศกาลเข้าพรรษา งานปอยส่างลอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเพณีทิ้งกระจาดวัดพนัญเชิง จังหวัดอยุธยา ประเพณีกำเกียง จังหวัดสุโขทัย ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประเพณีสารทไทยกล้วยไข่ จังหวัดกำแพงเพชร ประเพณีเผาข้าวหลาม ไหว้พระบรมธาตุนครชุม เป็นต้น (ศิราพร ณ ถลาง, 2558, หน้า 360)
        ประเพณีเผาข้าวหลาม เป็นประเพณีที่จัดสืบทอดกันมาและเพื่อสืบสานพิธีกรรมทางศาสนา นอกจากการทำบุญกุศลแล้วยังเป็นการชุมนุมพบปะกันของคนในชุมชน นิยมจัดงานประเพณีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ปัจจุบันมีการจัดงานประเพณีเผาข้าวหลามในหลายพื้นที่ และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ประเพณีเผาข้าวหลาม จังหวัดระยอง ประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลามหรือประเพณีบุญข้าวหลาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และประเพณีเผาข้าวหลาม ไหว้พระบรมธาตุนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น

บทนำ
        วัดพระบรมธาตุนครชุม
        วัดพระบรมธาตุ เป็นวัดที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุม เป็นพระอารามหลวงประจำเมืองกำแพงเพชรเหมือนกับวัดพระแก้ว วัดพระบรมธาตุ ขึ้นทะเบียนเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 1858 ในสมัยต้นกรุงสุโขทัย เมื่อตีความจากจารึกนครชุม วัดพระบรมธาตุควรจะสร้างเมื่อ พ.ศ. 1762 ในสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เจดีย์มหาธาตุเมืองนครชุมเดิมมี 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน สันนิษฐานว่าสร้างโดยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระมหาธรรมราชาลิไท สร้างเป็นพุทธเจดีย์ประจำรัชกาล
        วัดพระบรมธาตุ เจริญรุ่งเรืองมากกว่า 200 ปี จนกระทั่งเมืองนครชุมถึงภาวะล่มสลายตามกฎแห่งอนิจจัง เพราะแม่น้ำปิงกัดเซาะแนวกำแพงเมืองพังพินาศ ความเจริญรุ่งทางพุทธจักรและอาณาจักรได้สูญสิ้นไปจากเมืองนครชุม เมืองฝั่งตรงข้ามทางทิศตะวันออกคือ เมืองกำแพงเพชรได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่วัดพระบรมธาตุร้างมานานกว่า 300 ปี จนกระทั่งถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ วัดพระบรมธาตุจึงมีหลักฐานที่ชัดเจนอีกครั้ง จากหนังสือพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2449  ณ เมืองกำแพงเพชร ความว่า ใน พ.ศ.2392 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม ได้เสด็จมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชรพักที่วัดเสด็จ ได้อ่านจารึกนครชุม ที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดเสด็จ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร ได้ทราบว่ามีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตกตรงข้ามเมืองเก่าสามองค์ จึงได้ให้เจ้าเมืองกำแพงเพชรพระยารามรณรงค์สงคราม (น้อย) ได้ป่าวร้องให้ประชาชนแผ้วถาง พบพระเจดีย์ตามจารึกจริง และปฏิสังขรณ์ขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ.2414 แซภอ (แซงพอ หรือ พระยาตะก่า) พ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงมีใจศรัทธาจะบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดพระบรมธาตุนครชุม พระยากำแพงเพชร เจ้าเมืองได้ทำหนังสือขออนุญาตลงมาที่กรุงเทพ ทางกรุงเทพจึงตอบอนุโมทนาและอนุญาตให้ซ่อมแซมได้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2418 แซภอ ถึงแก่กรรมจึงทำให้การปฏิสังขรณ์ชะงักไปจนถึง พ.ศ. 2448-2449 พะโป้จึงรวบรวมทุนทรัพย์ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่จนสำเร็จ และยกยอดฉัตรขึ้นประดิษฐานในเพ็ญเดือน 6 พ.ศ. 2449 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรเพียง 3 เดือน
        ปัจจุบันวัดพระบรมธาตุ มีฐานะเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2509 ตามประกาศของกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2509  ตั้งอยู่เลขที่ 15 หมู่ที่ 3 บ้านปากคลองใต้ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค 4 บริเวณวัดมีเนื้อที่ 32 ไร่ 2 งาน บนที่ราบริมแม่น้ำปิง ภายในวัดมีเจดีย์ขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า "พระบรมธาตุเจดีย์" เป็นเจดีย์เก่าแก่ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเช่นกันกับตัววัด พระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ดอกบัวตูม) ตั้งเรียงกันสามองค์อยู่บนฐานเดียวกัน โดยองค์กลางของพระเจดีย์นั้นประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์อยู่ภายในภาชนะเงินรูปสำเภา พระเจดีย์องค์ปัจจุบันเป็นพระเจดีย์ทรงมอญซึ่งได้รับการบูรณะขึ้นภายหลัง   สิ่งสำคัญอีกอย่างในวัดคือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งชาวกำแพงเพชรเชื่อกันว่าเป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระยาลิไททรงปลูกเมื่อ พ.ศ.1900 เป็นต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ประมาณ 9 คนโอบ
        วัดพระบรมธาตุเปิดให้เข้านมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ทุกวัน ตั้งแต่เช้าจนเย็น และศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. และเพื่อสืบทอดประเพณีบูชาพระบรมธาตุ ทางจังหวัดกำแพงเพชรจะจัดงานประเพณีนบพระเล่นเพลงโดยจะจัดพิธีรำพุทธบูชา ซึ่งเป็นประเพณีไหว้พระบรมธาตุ ที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยงานจะจัดขึ้นทุกปี ในวันเพ็ญเดือน 3 ตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งในทุก ๆ ปี มีประชาชนเข้ามาร่วมในงานเป็นจำนวนมาก

        ประเพณีเผาข้าวหลาม ไหว้พระบรมธาตุนครชุม
        ข้าวหลามเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมบริโภคในทุกจังหวัดของประเทศไทย กระบวนการผลิตได้จากการนำข้าวเหนียว กะทิ น้ำตาล และเกลือ อาจเติมส่วนประกอบอื่น ๆ เป็นไส้ข้าวหลาม เช่น สังขยา เผือก ถั่ว เนื้อสัตว์ ผัก หรือ ผลไม้มาบรรจุในกระบอกไม้ไผ่แล้วปิ้งจนสุก เนื่องจากในสมัยก่อนคนไทยจะใช้กระบอกไม้ไผ่ในการหุงข้าว ข้าวที่ได้มีลักษณะเป็นทรงกระบอกที่ถูกเชื่อมกันไว้ด้วยเยื่อไผ่ทำให้เป็นรูปทรงสวยงาม ปัจจุบันนี้คนไทยนิยมรับประทานข้าวหลามเป็นขนมหวาน โดยมีส่วนผสมหลักคือ ข้าวเหนียว กะทิ เกลือ ถั่วดำ และน้ำตาล หรืออาจมีส่วนผสมอื่นที่หลากหลายขึ้น เช่น ข้าวหลามสอดไส้โมจิซึ่งเป็นข้าวหลามที่นำเอาไส้ขนมโมจิที่เป็นที่นิยมและชื่นชอบ เช่น ไส้ถั่วไข่เค็ม แห้ว เผือก มะพร้าวอ่อน เป็นต้น นำมาใส่ในเนื้อข้าวหลามทำให้ได้รสชาติกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันพบว่ามีแหล่งผลิตข้าวหลามที่มีชื่อเสียงและเป็นผลิตภัณฑ์ของฝากประจำท้องถิ่นในประเทศไทยในหลายจังหวัด ได้แก่ ข้าวหลามหนองมน อำเภอแสนสุข จังหวัดชลบุรี ข้าวหลามพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ข้าวหลามแม่สวิงหนองเบน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ข้าวหลามชุมชนบ้านสวนตาล อำเภอเมือง จังหวัดน่าน และข้าวหลามบ้านพร้าว อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว และมีการพัฒนารูปแบบของบรรจุภัณฑ์ข้าวหลามทดแทนการใช้ไม้ไผ่เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เช่น ข้าวหลามในลูกมะพร้าวอ่อน และข้าวหลามบรรจุในถ้วยฟลอยด์พร้อมฝาพลาสติกปิดสนิท ซึ่งสามารถเก็บรักษาในตู้เย็นได้นานถึง 1 เดือน เวลารับประทานก็เพียงนำมาอุ่นในตู้ไมโครเวฟ เป็นต้น
        ประเพณีเผาข้าวหลาม ไหว้พระบรมธาตุนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร โดยตำนานการเผาข้าวหลามของชาวนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร มีการเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ในช่วงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 2 ของทุกปี ช่วงนี้เกษตรกรชาวนาชาวไร่ เสร็จจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวและถั่ว ชาวบ้านจึงนิยมนำข้าวใหม่และถั่วที่ได้จากการเพาะปลูกมาทำบุญ ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับแม่โพสพ และพิธีเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกร และชาวบ้านในชนบท กระบวนการผลิตข้าวหลามเริ่มตั้งแต่การเตรียมข้าวเหนียว ถ้าเป็นข้าวใหม่จะอร่อย สำหรับการทำข้าวหลามของชาวนครชุม เป็นการเผาข้าวหลามแบบท้องถิ่นในสมัยดั้งเดิมทำกันมาโดยการตั้งเผากับดิน การทำบุญเพ็ญเดือน 3 ของชาวกำแพงเพชรในอดีตนั้นจะต้องเดินทางมาทำบุญที่วัดพระบรมธาตุนครชุมซึ่งอยู่ห่างไกลและค่อนข้างลำบาก ข้าวสวยที่หุงสุกเมื่อเดินทางมาทำบุญที่วัดส่วนใหญ่จะบูด ดังนั้นชาวบ้านจึงได้นำข้าวไปเผาเป็นข้าวหลาม ซึ่งจะอยู่ได้นานหลายวัน ต่อมาชาวบ้านทุกหมู่บ้านจึงได้นำข้าวหลามมาทำบุญ สำหรับข้าวหลามของชาวนครชุมจะมีรสชาติไม่หวานแหลม ข้าวจะนุ่มสามารถรับประทานกับส้มตำ ไก่ย่าง เนื้อทอดหมูทอด หรือกับแกงเหมือนกับข้าวเหนียวนึ่งได้ด้วย โดยข้าวหลามที่เผาเสร็จจะมีประชาชนมารอซื้อกลับไปทันทีจนสุกไม่ทันขาย โดยรายได้ทั้งหมดจะนำไปทำนุบำรุงวัดพระบรมธาตุนครชุมต่อไป (ไทยรัฐออนไลน์, 2559, กุมภาพันธ์ 22)
        ช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี พุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดกำแพงเพชรจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านในตำบลนครชุม และจากต่างอำเภอต่างพร้อมใจกันมาร่วมลงแรงเผาข้าวหลามตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาแต่โบราณที่วัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อนำออกขายกระบอกละ 10-20 บาท หารายได้ทำนุบำรุงวัดพระบรมธาตุนครชุมเหมือนที่เคยปฏิบัติกันมาเป็นประจำทุกปีจนกลายเป็นมหกรรมเผาข้าวหลามภูมิปัญญาไทย ในงานประเพณีไหว้พระบรมธาตุนครชุม เพ็ญเดือน 3 ซึ่งนิยมจัดงานทุกปี โดยการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในพื้นที่ตั้งแต่เตรียมข้าวสาร ตัดกระบอกไม้ไผ่ ขูดมะพร้าวที่ทางวัดเตรียมไว้จำนวนมาก ก่อนที่จะคั้นน้ำกะทิ บรรจุข้าวเหนียว น้ำกะทิ แล้วมาตั้งไว้บนราวเหล็กก่อนที่จะใช้ไฟสุมจนข้าวหลามสุกแล้วนำออกขาย
        เจ้าคุณพระราชวชิรเมธี (2562) เจ้าอาวาสวัดบรมธาตุ รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ประเพณีเผาข้าวหลามของชาวนครชุม นี้ได้มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยผู้เฒ่าผู้แก่ชาวนครชุมได้เล่าให้ฟังว่า เนื่องจากที่วัดพระบรมธาตุเจดียารามนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระธาตุองค์เดียวที่มีอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ดังนั้นชาวพุทธจึงมาทำบุญกันที่วัดพระบรมธาตุนครชุมอย่างมากมาย
        เนื่องจากในอดีตการเดินทางมาทำบุญค่อนข้างลำบาก ต้องใช้เวลานาน การนำข้าวปลาอาหารมาทำบุญ ถ้านำมาจากบ้านจะทำให้อาหารบูดเน่า ไม่สามารถถวายพระได้ ประกอบกับในช่วงเดือน 3 นี้เป็นช่วงที่ชาวบ้านกำลังเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ ดังนั้นชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธจึงนิยมนำข้าวเหนียวที่เก็บเกี่ยวได้ในช่วงต้นฤดู มาทำบุญกับพระสงฆ์เพื่อเป็นสิริมงคล คนโบราณจึงได้นำข้าวเหนียวมาเผาในบริเวณวัดเพื่อถวายพระสงฆ์ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติให้เข้ากับยุคสมัยในภายหลัง ซึ่งทุกขั้นตอนกระบวนการทำข้าวหลามนั้นต้องใช้วัตถุดิบที่สดใหม่ทุกวันเพื่อคุณภาพและความหอมอร่อยของข้าวหลามที่ไม่เหมือนใครทำให้เวลามีการจัดงานประเพณีเผาข้าวหลามไหว้พระบรมธาตุนครชุมนี้ขึ้น ข้าวหลามที่ขายอยู่เป็นประจำในเมืองจะขายแทบไม่ได้เลยเพราะประชาชนจะแห่มาซื้อข้าวหลามที่วัดพระบรมธาตุกันหมด เพราะความอร่อยหอมมันแบบโบราณที่เจ้าคุณพระราชวชิรเมธี อยากเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อกันไป ประชาชนจะชอบรสชาติที่อร่อยแบบโบราณและเมื่อมีงานก็จะมีมหรสพซึ่งจะได้ทานข้าวหลามไปด้วยและเดินชมมหรสพไปด้วยทำให้ผู้ชมจากทั่วทุกที่หลั่งไหลเข้ามาชิมข้าวหลามที่วัดพระบรมธาตุนครชุมอย่างหนาแน่น

วิธีการทำข้าวหลาม
         ส่วนผสม
         1. ข้าวสารเหนียว
         2. น้ำตาลทราย
         3. กะทิ
         4. ถั่วดำต้มสุก
         5. เกลือป่น
         6. ไม้ไผ่ข้าวหลาม
         7. กาบมะพร้าว

         วัสดุอุปกรณ์
         1. ไม้ไผ่อ่อน
         2. มีดปลอกข้าวหลาม (พร้า)
         3. ราวเหล็ก (เตาเผาข้าวหลาม)
         4. ถ่าน
         5. ช้อนหรือทัพพี
         6. หม้อสำหรับต้มน้ำกะทิ ใช้ในการต้มน้ำกะทิที่ผสมน้ำตาลและเกลือเพื่อจะนำมากรอกใส่ข้าวหลามและทำให้ข้าวหลามบูดช้าลง เพราะกะทิมีการต้มให้สุกแล้วนั่นเอง
         7. ไม้คีบถ่าน

         ขั้นตอนและวิธีการดำเนินงาน
         1. ตัดไผ่ข้าวหลามให้ยาวประมาณ 12 นิ้ว ล้างเฉพาะด้านนอกกระบอกให้สะอาด คว่ำกระบอกลง พักไว้ให้แห้ง
         2. ผสมกะทิ น้ำตาล และเกลือ รวมกันแล้วคนให้เข้ากันจนน้ำตาลละลาย
         3. ล้างข้าวสารเหนียวให้สะอาดจนกระทั่งน้ำใส นำข้าวใส่ตะกร้าเพื่อให้สะเด็ดน้ำ ใส่ถั่วดำ ต้มสุกลงในข้าว คลุกเคล้าให้เข้ากัน
         4. นำข้าวที่ผสมถั่วดำแล้วใส่ลงในกระบอก 1 กำมือ กระแทกเบา ๆ ทำสลับกันต่อไป เรื่อย ๆ จนเต็มกระบอก เลือกด้านบนกระบอกไว้ประมาณ 2 นิ้ว สำหรับปิดจุก
         5. นำกาบมะพร้าวม้วนมาปิดกระบอกข้าวหลาม
         6. เผาข้าวหลามพอประมาณ 30-45 นาที สังเกตกระบอกมีสีเหลืองทั่ว แสดงว่าข้าวหลามสุก
         7. ทิ้งไว้ให้อุ่น ปอกเปลือก และเหลาให้เปลือกข้าวหลามบางลง เพื่อให้แกะรับประทานได้ง่าย

         วิธีการย่างไฟ
         1. ติดไฟเตา เมื่อไฟติดได้ที่แล้วจึงนำกระบอกข้าวหลามที่เตรียมไว้มาวางเรียงในลักษณะตั้งเอนขึ้นให้พิงกับแนวหลักที่ทำจากท่อนเหล็ก
         2. ควรพลิกข้าวหลามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้าวหลามสุกอย่างทั่วถึง และไม่ให้ข้าวหลามไหม้บริเวณใดบริเวณหนึ่ง
         3. หากกะทิเดือดมาก ต้องคอยดึงจุกข้าวหลามออก แล้วเทกะทิใส่เข้าไปใหม่
         4. การย่างข้าวหลามจะต้องอาศัยระยะเวลาในการย่างถึง 1 ชั่วโมง ข้าวหลามจึงจะออกมาดูน่ารับประทาน

บทสรุป
         ประเพณีเผาข้าวหลาม เพ็ญเดือนสาม ไหว้พระบรมธาตุนครชุม เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวนครชุมและชาวจังหวัดกำแพงเพชรที่มีประวัติความเป็นมาตามที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันมายาวนาน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญในสังคมของแต่ละยุคสมัย แสดงถึงความสงบสุขร่มรื่น มีความผูกพันกันแบบพี่น้อง เครือญาติ มีความเป็นระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์ที่ทุกคนต่างยึดถือปฏิบัติในรูปแบบเดียว สมาชิกในสังคมจึงมีส่วนช่วยทำให้เกิดวัฒนธรรมที่ดีงาม ช่วยให้สังคมและชุมชนมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นและเกิดความเจริญอย่างยั่งยืน ถึงแม้ว่าสภาพของสังคมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์โลก และเมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงจากสาเหตุดังที่กล่าวไว้แล้วจึงต้องทำให้วัฒนธรรมและประเพณีเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แต่เราจำเป็นจะต้องช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีในรูปแบบต่าง ๆ ที่มองเห็นว่ามีประโยชน์ต่อส่วนรวมในปัจจุบันและอนาคตเข้าไว้ เพื่อให้วัฒนธรรม พิธีกรรม และประเพณีเคียงคู่ไปพร้อมสังคมต่อไป

คำสำคัญ : ประเพณีเผาข้าวหลาม งานเพ็ญเดือนสาม ไหว้พระบรมธาตุนครชุม

ที่มา : https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=ประเพณีเผาข้าวหลาม_เพ็ญเดือนสาม_ไว้พระบรมธาตุกำแพงเพชร

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). ประเพณีเผาข้าวหลาม เพ็ญเดือนสาม ไหว้พระบรมธาตุกำแพงเพชร. สืบค้น 28 มีนาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2116&code_db=610004&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2116&code_db=610004&code_type=01

Google search

Mic

มหกรรมวัฒนธรรมภาคเหนือ 16 จังหวัด

มหกรรมวัฒนธรรมภาคเหนือ 16 จังหวัด

ทางจังหวัดกำแพงเพชรได้จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมภาคเหนือ 16 จังหวัดขึ้นทุกวันที่ 21-23 สิงหาคมของทุกปี นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมและเลือกซื้ออาหารพื้นเมือง และสินค้าพื้นเมือง รวมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน ดังนี้ การแสดงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาในแต่ละจังหวัดในภาคเหนือรวม 16 จังหวัด

เผยแพร่เมื่อ 20-02-2017 ผู้เช้าชม 2,129

เพลงกล่อมเด็กนครไตรตรึงษ์

เพลงกล่อมเด็กนครไตรตรึงษ์

เพลงกล่อมเด็ก เป็นบทเพลงที่จัดอยู่ในเพลงพื้นบ้านโดยมีจุดประสงค์ใช้ร้องกล่อมเด็ก หรือปลอบเด็ก เพื่อให้เด็กนอนหลับ การร้องเพลงกล่อมเด็กมักสืบทอดกันด้วยวิธีการจดจำจากรุ่นสู่รุ่น เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมมขุปาฐะ โดยใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดที่สำคัญส่วนเนื้อหาและท่วงทำนองจะแตกต่างกัน ตามลักษณะท้องถิ่นนั่น ๆ เช่น เพลงกล่อมเด็กในภาคเหนือเรียก “เพลงอื่อลูก” ภาคอีสานเรียก “เพลงนอนสาหล่า” “เพลงนอนสาเดอ” ภาคกลางเรียก “เพลงกล่อมเด็ก” “เพลงกล่อมลูก” ภาคใต้ เรียก “เพลงชาน้อง” “เพลงร้องเรือ” เป็นต้น

เผยแพร่เมื่อ 19-07-2022 ผู้เช้าชม 1,362

ประเพณีทอดผ้าป่าแถว จังหวัดกำแพงเพชร

ประเพณีทอดผ้าป่าแถว จังหวัดกำแพงเพชร

ประเพณีการทอดผ้าป่าแถวของจังหวัดกำแพงเพชร มีประวัติย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ยังไม่ได้มีพุทธานุญาตให้ภิกษุรับจีวรจากชาวบ้านได้ ภิกษุทั้งหลาย จึงต้องเที่ยวไปเก็บผ้าที่เจ้าของเขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าเปรอะเปื้อน ผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) หรือผ้าห่อศพ ตามป่าช้า หรือตามป่า ทั่วไป แล้วนำผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหล่านั้น มาซักเย็บปะติดปะต่อกัน แล้วย้อมเป็นสบงจีวรสังฆาฏิตามต้องการ ด้วยเหตุนี้การทำจีวรของพระภิกษุในครั้งนั้น จึงต้องช่วยกันทำหลายรูป และการที่มีพุทธานุญาตให้คนตัดเย็บจีวรเป็นขันธ์ อย่างกระทงนาของชาวมคธ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาปะติดปะต่อกันนั่นเอง เวลาต่อมาชาวบ้านเห็นความยากลำบากของพระสงฆ์

เผยแพร่เมื่อ 05-02-2017 ผู้เช้าชม 3,370

ประเพณีเผาข้าวหลาม เพ็ญเดือนสาม ไหว้พระบรมธาตุกำแพงเพชร

ประเพณีเผาข้าวหลาม เพ็ญเดือนสาม ไหว้พระบรมธาตุกำแพงเพชร

ประเพณีเผาข้าวหลาม ไหว้พระบรมธาตุนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร โดยตำนานการเผาข้าวหลามของชาวนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร มีการเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ในช่วงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 2 ของทุกปี ช่วงนี้เกษตรกรชาวนาชาวไร่ เสร็จจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวและถั่ว ชาวบ้านจึงนิยมนำข้าวใหม่และถั่วที่ได้จากการเพาะปลูกมาทำบุญ ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับแม่โพสพ และพิธีเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกร และชาวบ้านในชนบท กระบวนการผลิตข้าวหลามเริ่มตั้งแต่การเตรียมข้าวเหนียว ถ้าเป็นข้าวใหม่จะอร่อย สำหรับการทำข้าวหลามของชาวนครชุม เป็นการเผาข้าวหลามแบบท้องถิ่นในสมัยดั้งเดิมทำกันมาโดยการตั้งเผากับดิน 

เผยแพร่เมื่อ 27-06-2022 ผู้เช้าชม 2,595

ระบำ ก. ไก่

ระบำ ก. ไก่

ชุมชนบ้านวังพระธาตุ ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นชุมชนโบราณมีความเป็นมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์หลายด้าน เช่น นิทานเรื่องท้าวแสนปม การละเล่นพื้นบ้านต่างๆ และขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงระบำ ก. ไก่ ซึ่งมีลักษณะการใช้ภาษาที่โดดเด่นเล่นคำอักษร ก ถึง ฮ เนื้อหาของบทร้องเป็นไปในเชิงเกี้ยวพาราสี โดยสะท้อนถึงชีวิตของคนไทยสมัยหนึ่ง จึงเป็นกิจกรรมที่พึงกระทำ และเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้สืบสานต่อมา

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 6,583

ประเพณีกินแกงขี้เหล็กในวันเพ็ญเดือน 12

ประเพณีกินแกงขี้เหล็กในวันเพ็ญเดือน 12

ขี้เหล็กเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง คนโบราณเอาใบอ่อนและดอกมาปรุงเป็นของกิน ในวันเพ็ญ เดือน 12 ทำแกงขี้เหล็กกันทุกครัวเรือน คนนครชุมโบราณถือว่า วันเพ็ญเดือน 12 ยอดขี้เหล็กจะเป็นยารักษาสารพัดโรค แต่ต้องเก็บตอนเช้ามืด โดยมีความเชื่อที่ว่า การปรุงแกงขี้เหล็กเพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ ก่อนหน้าการลอยกระทงเพียง 12 ชั่วโมง ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น จะมีพิธีพลียาจากต้นขี้เหล็ก เพราะมีความเชื่อว่าต้นขี้เหล็กจะมีเทพเทวดาคอยรักษา จึงต้องทำพิธีนี้ขึ้นเพื่อขออนุญาตนำดอกขี้เหล็กและใบอ่อนไปปรุงเป็นอาหารและต้องแกงขี้เหล็กให้เสร็จภายในวันนั้น จะเก็บล่วงหน้าไม่ได้ มิฉะนั้นสรรพคุณจะไม่ขลัง 

เผยแพร่เมื่อ 04-08-2022 ผู้เช้าชม 2,649

รำโทน

รำโทน

รำโทนมีมาก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการพบปะกันระหว่างหนุ่มสาวในงานเทศกาลต่างๆ เพื่อความสนุกสนาน รื่นเริง ผู้สืบค้น แม่ลำภุ ทองธรรมชาติ และแสดงโดยแม่บ้านตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร วิธีการเล่น  ดนตรีและนักร้องเริ่มบรรเลง หนุ่มสาวจะออกรำเป็นคู่ๆ รำไปรอบลงจะมีลีลาและท่าทางประกอบในแต่ละเพลง

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 7,149

ประเพณีสารทไทย กล้วยไข่เมืองกำแพง

ประเพณีสารทไทย กล้วยไข่เมืองกำแพง

ในช่วงวันสารทไทย ประมาณเดือนกันยายนของทุกปี จะมีผลผลิตของกล้วยไข่ออกมามาก ดังนั้นทางจังหวัดกำแพงเพชรจึงจัดงานสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชรขึ้น เพื่อเผยแพร่กล้วยไข่ซึ่งเป็นผลไม้พื้นเมืองของจังหวัด ภายในงานมีกิจกรรมให้ร่วมสนุกมากมาย เช่น การประกวดกล้วยไข่ดิบ-สุก ชมขบวนแห่รถที่ประดับตกแต่งด้วยกล้วยไข่อย่างประณีต สวยงาม ชมการแสดงต่างๆ และร่วมพิธีกวนกระยาสารทกระทะหลวง นอกจากนี้ยังจัดให้มีการประกวดและจำหน่ายกล้วยไข่ การแข่งขันกวนกระยาสารท กวนข้าวกระยาทิพย์ งานนิทรรศการทางการเกษตร การออกร้านจำหน่ายสินค้าและการแสดงมหรสพต่างๆ

เผยแพร่เมื่อ 05-02-2017 ผู้เช้าชม 4,219

สาวปากคลองที่ยังไม่ได้แต่งงานต้องสวมกำไลข้อเท้า

สาวปากคลองที่ยังไม่ได้แต่งงานต้องสวมกำไลข้อเท้า

“ข้าจะกลับมา ปากคลองจะเป็นเรือนตายของข้าต่อไป เมื่อขายของเก็บเงินที่ติดค้างอยู่เสร็จแล้ว ข้าจะมาสร้างบ้านใหม่ที่นี่เป็นเรือนหอของเรา การถอดกำไลของเอ็งจะไม่ต้องอับอายขายหน้าใคร เราจะอยู่กินด้วยกัน มีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง เราจะทำคลองให้เจริญรุ่งเรืองกว่านี้ และบางทีนานไปวันหนึ่งปากคลองจะเป็นของเรา ปากคลองที่เต็มไปด้วยป่าไม้ ข้าว ไต้ น้ำมันยาง สีเสียด ยาสูบ หนังสัตว์” รื่นหนุ่มวังแขม อายุ 32 ปี บอกแก่สุดใจสาวสวยแห่งคลองสวนหมากวัย 16 ปี ใต้ต้นมะม่วงสายทองริมท่าน้ำคลองสวนหมาก วันสงกรานต์ปี พ.ศ. 2433 จาก ทุ่งมหาราช ของ เรียมเอง (มาลัย ชูพินิจ)

เผยแพร่เมื่อ 17-04-2020 ผู้เช้าชม 1,727

เทศกาลกินก๋วยเตี๋ยว เที่ยวเมืองกำแพงเพชร

เทศกาลกินก๋วยเตี๋ยว เที่ยวเมืองกำแพงเพชร

เนื่องจากก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารจานด่วนยอดนิยมของคนกำแพงเพชร ทั้งก๋วยเตี๋ยวไก่ ก๋วยเตี๋ยวโบราณ และผัดไท ทางจังหวัดจึงได้จัดงานมหกรรมอาหารพื้นบ้าน เทศกาลกินก๋วยเตี๋ยว เที่ยวเมืองกำแพงเพชร ดังกล่าวขึ้นเป็นประ จำทุกปี กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การออกร้านจำหน่ายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่ขึ้นชื่อของจังหวัดกำแพงเพชร ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเลือกได้ตามใจชอบ

เผยแพร่เมื่อ 20-02-2017 ผู้เช้าชม 2,358