เพลงพวงมาลัย

เพลงพวงมาลัย

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้ชม 22,310

[16.4336195, 99.4094765, เพลงพวงมาลัย]

บทนำ
         เพลงพวงมาลัย เป็นเพลงเก่าแก่เพลงหนึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เพราะเคยเป็นเพลงที่นิยมเล่นในภาคกลาง หลายท้องถิ่นมักนำไปประกอบการละเล่นพื้นบ้าน หรือใช้ปรับเป็นเพลงในการเล่นกีฬาพื้นบ้านหลายชนิด และบางพื้นที่ใช้เป็นเพลงร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกันในกลุ่มหนุ่มสาว เพลงพวงมาลัย ไม่มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่า มีกำเนิดเมื่อใด แต่รู้กันว่าเป็นเพลงที่ร้องเล่นได้ทุกโอกาส ทุกเวลา มักเล่นในงานเทศกาล เช่น สงกรานต์ งานลอยกระทง งานขึ้นบ้านใหม่ งานนบพระเล่นเพลง เป็นต้น บทความนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อการศึกษา 1) ประวัติความเป็นมาของเพลงพวงมาลัย 2) โอกาสที่ใช้ในการแสดง 3) อุปกรณ์ประกอบ 4) ขั้นตอนวิธีการเล่น 5) ข้อมูลผู้แสดง 6) การแต่งกาย/เครื่องประดับ 7) ข้อมูลเพลง/ดนตรี 

ประวัติความเป็นมาของเพลงพวงมาลัย
         เพลงพวงมาลัยเริ่มเล่นมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ปรากฏแต่หลักฐานจากคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่าได้รับการสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายาย ดังที่หลายท่านที่สืบค้นเรื่องเพลงพวงมาลัยได้กล่าวไว้ เช่น เอนก นาวิกมูล ได้สัมภาษณ์แม่เพลงพ่อเพลงชาวสุพรรณบุรี ถึงการละเล่นในงานวัดป่าเลไลยก์เมื่อ 50 ปีก่อนว่า นอกจากเพลงฉ่อย เพลงอีแซวที่เล่นกันแล้ว ก็มีเพลงพวงมาลัยและเพลงระบำบ้านไร่ ซึ่งเพลงทั้งสองชนิดนี้ดูจะเกยิ่งกว่าเพลงฉ่อย เพลงอีแซว และเป็นเพลงที่เล่นกันแพร่หลายมาก ในบริเวณภาคกลางมักร้องเล่นยามตรุษสงกรานต์เป็นต้น แต่ไม่ค่อยมีใครนำมาร้องเป็นอาชีพ (เอนก นาวิกมูล, 2527, หน้า 330)  
         ผู้เขียนได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ ลำไย เทพสุวรรณ (การสัมภาษณ์, 14 ตุลาคม 2564) พบว่า เพลงพวงมาลัยมีความเหมือนกันตรงที่ไม่ทราบถึงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน และต่างกันตรงที่กำแพงเพชรไม่ใช่ต้นกำเนิดของเพลงพวงมาลัย แต่มีประวัติอยู่ในกำแพงเพชรมานานมากกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งเป็นการนำมาจากครูพักลักจำ และสืบทอดมาจากพ่อเพลงแม่เพลงในพื้นที่ภาคกลาง
         นอกจากนี้เพลงพวงมาลัย คำนวณตามอายุ ของพ่อเพลง แม่เพลง ตามหลักแบบเพลงพื้นบ้านโบราณจากการศึกษาของ เอนก นาวิกมูล เรื่อง เพลงนอกศตวรรษ ได้คำนวณตามอายุของ แม่เพลง พ่อเพลงผู้ให้ข้อมูล ได้อนุมานอายุของเพลงชนิดนี้ว่าน่าจะเป็นเพลงเก่าที่มีอายุนับร้อยปีซึ่งก็ตรงกับที่บันทึกไว้ในหนังสือ "วัฒนธรรมไทย" ที่กล่าวถึงประวัติของเพลงพวงมาลัยว่า "เป็นการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่งที่มีมาแต่โบราณตามทางสืบค้นได้ความว่ามีการเล่นกันมากกว่า 100 ปี" และสุกัญญา สุจฉายา ได้กล่าวไว้ในประวัติของเพลงอีแซวว่า “เพลงอีแซวมีกำเนิดในสมัยเดียวกับเพลงเหย่ยของกาญจนบุรีคือราวๆ 60 ปี โดยมีเพลงพวงมาลัยเป็นต้นแบบของเพลงทั้งสอง เพลงพวงมาลัยจึงน่าจะมีอายุร่วมร้อยปีหรือมากกว่านั้น และจากการที่ผู้วิจัยได้สืบสาวถึงประวัติความเป็นมาของเพลงพวงมาลัย ในพื้นที่ที่เก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามพบว่า ส่วนใหญ่ต้นตระกูล  รุ่นปู่ย่าตายายของพ่อเพลงแม่เพลงจะเล่นเพลงเป็น และได้รับการสืบทอดต่อๆ กันมาถึงรุ่นพ่อเพลงแม่เพลงซึ่งมีอายุตั้งแต่ 50-80 ปีบางท่านจดจำมาจาก พ่อเพลง แม่เพลง ในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียง มาฝึกร้องเล่นจนมีความชำนาญการสืบทอดต่อๆ กันมานี้จึงเป็นการยืนยัน "ความเก่า" ของเพลงพวงมาลัยได้เป็นอย่างดี ซึ่งประวัติของเพลงพวงมาลัยนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในเนื้อร้องของเพลงพวงมาลัยหลายสำนวนดังนี้
 

เอ่อระเหยลอยมา

ลอยมาก็ลอยไป (ลูกคู่รับ 1 ครั้ง)

มันกรุดมันกรานต์มันเป็นงานของหลวง

ก็เล่นกัน แต่พวงมาลัยมา

แต่ปู่ย่าตายาย

มีกันมาหลายปีเอย (ลูกคู่รับ 2 ครั้ง)

(เพลงพวงมาลัยสำนวนที่ 5/1 ทวี พรหมชนะ อ้างถึงใน วิบูลย์ ศรีคำจันทร์, 2537)

เรื่องราวทั้งหลายแม่สมัยโบราณ

มันก็มีมานานแล้วพี่น้องไทย

ยามกรุดสงกรานต์ แต่เป็นงานปี

แต่พอสิ้นเดือนสี่เรียกว่ามีใหม่

ยามกรุดสงกรานต์มันเป็นงานหลวง

เขาก็เล่นกัน แต่พวงมาลัย ..

 

 

(เพลงพวงมาลัยสำนวนที่ 3/78 ขวัญเมือง สังข์ทอง อ้างถึงใน วิบูลย์ ศรีคำจันทร์, 2537)

         จากเนื้อร้องของเพลงพวงมาลัยที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้น จะเห็นได้ว่าการเล่นเพลงชนิดนี้ได้รับการสืบทอดมาแต่โบราณ และเป็นเพลงที่นิยมเล่นกันในช่วงเทศกาลตรุษสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยแต่โบราณ มีเทศกาลเฉลิมฉลองดังปรากฏอยู่ในพระราชกำหนดกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นโบราณมงคลราชพิธี ซึ่งพระมหากษัตริย์ได้ทรงกระทำเป็นพิธีการประจำพระนคร ทำเพื่อจะให้เป็นสิริมงคลแก่พระนคร และพระเจ้าแผ่นดินพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการตลอดจนประชาราษฎรทั้งปวงและได้รับการสืบทอดมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์เพิ่งมาเปลี่ยนใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่เมื่อสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนประเพณีสงกรานต์ยังคงไว้ตามเดิม และได้รับการสืบทอดจนมาถึงปัจจุบัน โดยประชาชนส่วนใหญ่ยังถือว่าตรุษสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอยู่ ชาวบ้านยังถือว่าเป็น “งานหลวง” ซึ่ง “เขาก็เล่นกัน แต่พวงมาลัย” ดังที่กล่าวไว้ในเพลงซึ่งถ้านับจากประเพณีตรุษสงกรานต์ที่ได้รับการสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และเพลงพวงมาลัยเกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือ กรุงรัตนโกสินทร์ เพลงชนิดนี้ก็เป็นเพลงที่เก่าแก่เพลงหนึ่ง แต่แปลกที่ไม่มีการกล่าวถึงหรือมีการบันทึกถึงเพลงชนิดนี้เลยในวรรณคดีลายลักษณ์อักษร ทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยา และ กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือ ในหนังสือเพลงพื้นเมือง (วิบูลย์ ศรีคำจันทร์, 2537, หน้า 19)
         จากข้อมูลข้างต้นผู้เขียนสรุปได้ว่า เพลงพวงมาลัยมีการเล่นกันมากกว่า 100 ปี ซึ่งมักสืบทอดกันมาจากต้นตระกูลที่เคยมีปู่ย่าตายายเป็นพ่อเพลง แม่เพลงมาก่อน จนมาถึงรุ่นพ่อเพลงแม่เพลงที่มีอายุตั้งแต่ 50-80 ปี บางคนจำมาจาก พ่อเพลง แม่เพลง ในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียง และนำมาฝึกร้องเล่นจนมีความชำนาญการสืบทอดต่อ ๆ กันมา โดยคาดว่าถูกบันทึกไว้ในเนื้อร้องของเพลงพวงมาลัย 

โอกาสที่ใช้ในการแสดง
         จากการสำรวจข้อมูลการสัมภาษณ์ เพลงพวงมาลัยเป็นเพลงที่ร้องเล่นได้ทุกโอกาส ทุกเวลา มักเล่นในงานเทศกาล หรืองานประเพณีต่างๆ ได้แก่ สงกรานต์ งานขึ้นบ้านใหม่ งานลอยกระทง งานนบพระเล่นเพลง งานแต่ง งานทอดผ้าป่า ทำบุญร้อยวัน ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว และแก้บน
         สถานที่ริเริ่ม จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าเพลงพวงมาลัยที่ใช้ ร้องโต้ตอบ มีแพร่กระจายอยู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตกในเขตภาคกลางด้านตะวันตก และตอนล่าง พบในจังหวัดอ่างทอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และ เพชรบุรี จากถิ่นที่ปรากฏของเพลงพวงมาลัยนี้เมื่อสำรวจดูพบว่าเป็นชุมชนไทยดั้งเดิม ที่มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อยู่ในระหว่าง พ.ศ.1600-2000 ซึ่งโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะไทยสันนิษฐานจากหลักฐานทางศิลปะด้านต่างๆ ที่พบในบริเวณ นี้ที่เรียกว่า "ศิลปะอู่ทอง" ยืนยันได้ว่าชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและบริเวณตั้งแต่สุโขทัยลงมาจนถึงเพชรบุรีมีศิลปะ สกุลช่างอู่ทองปรากฏอยู่ทั่วไป สกุลช่างอู่ทองนี้มีอายุเก่าแก่กว่าศิลปะอยุธยา เกิดขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อันเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนบริเวณนี้เป็นชุมชนไทยดั้งเดิม

อุปกรณ์ประกอบ
         จากการสัมภาษณ์ พบว่า อุปกรณ์ในการเล่นเพลงพวงมาลัยไม่มี ยกเว้นมีการมีการไหว้ครูจะมีอยู่ 2 องค์ประกอบ คือ
         1. การไหว้ครูต้องใช้พาน ประกอบด้วยธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกไม้ 3 สี บุหรี่ 1 ซอง เหล้าขาว 1 ขวด และเงินค่ายกครู 12 บาท
         2. ในงานประเพณีทั่วไปจะร้องยกครูด้วยปากเปล่า ในลักษณะบอกเล่าหรือระลึกถึงพระคุณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือให้มาช่วยคุ้มครอง ดังภาพที่ 2

ขั้นตอน/วิธี/กระบวนการ
         วิธีเล่นการเล่นเพลงพวงมาลัยนั้น นิยมตั้งเป็นวงแบ่งเป็น ฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง อยู่กันฝ่ายละครึ่งวงกลม แต่ละฝ่ายจะมีพ่อเพลงแม่เพลง ข้างละ 1 คนและมีลูกคู่เท่าไรก็ได้แล้วแต่วงเล็กหรือวงใหญ่ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 3 คนเป็นอย่างน้อย การเล่นมีวิธีเล่นดังนี้เริ่มเล่นถ้ามีการไหว้ครูทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง จะนั่งลงเป็นรูปครึ่งวงกลมแล้วฝ่ายชายจะร้องไหว้ครูก่อน เมื่อฝ่ายชายร้องไหว้ครูจบฝ่ายหญิงจะร้องไหว้ครูจนจบการร้องไหว้ครูจะร้องเช่นเดียวเหมือนกับบททั่วไป มีลูกคู่คอยปรบมือให้จังหวะ และรองรับเมื่อไหว้ครูเสร็จ ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะลุกขึ้นยืน ตั้งวงเป็นรูปวงกลมตามเดิมแล้วร้องเพลงพวงมาลัย ไปตามลำดับขั้นที่เล่น 
         ถ้าเป็นการไหว้ครูปากเปล่าโดยไม่มีอุปกรณ์ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะยืนในที่ของตนแล้วฝ่ายชายจะขึ้นเพลงไหว้ครูก่อนแล้วฝ่ายหญิงจึงร้องไหว้ครู เมื่อทั้งสองฝ่ายร้องไหว้ครูเสร็จก็จะร้องเล่นเพลงเลยหรือในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีครูแต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีครูก็จะให้ฝ่ายที่มีครูร้องไหว้ครูก่อนจึงเริ่มเล่นเรื่อง แต่ปกติการเล่นเพลงพวงมาลัยมักเริ่มที่บทเกริ่นก่อนเพราะผู้เล่นไม่นิยมไหว้ครู การเกริ่นฝ่ายชายจะร้องเกริ่นเรียกหรือเชิญให้ฝ่ายหญิงออกมาเล่นการร้องเกริ่นจะร้องจนกว่าฝ่ายหญิงจะออกมาเล่นหรือออกมาร้องแก้ ฝ่ายใดร้องก็ต้องออกมารออยู่กลางวง เมื่อฝ่ายชายร้องจบลงก็จะกลับมายืนที่ฝ่ายตนและลูกคู่ร้องรับจนลงเพลงเรียบร้อยแล้วฝ่ายหญิงจึงร้องแก้ การร้องจะผลัดกันร้องฝ่ายละครั้งทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะร้องแก้กันไปมาตามลำดับขั้นจนเลิกเล่นส่วนลูกคู่จะเป็นผู้คอยปรบมือให้จังหวะขณะที่ทั้งสองฝ่ายร้องเล่นกันอยู่นั้นลูกคู่หรือผู้ฟังสามารถเข้าไปร่ายรำในวงได้ปกติจะมีผู้เล่น”ครั้งละ 1 คู่สลับกันไปตลอดจนเลิกเส้น แต่ปัจจุบันลูกคู่จะออกไปรำกลางวงครั้งละหลายคู่คล้ายรวงผู้ร้องหรือพ่อเพลงแม่เพลงเดิมจะมีหลายคนและคอยผลัดเปลี่ยนร้องแก้กันและร้องรับบาทขึ้นกับบาทลง
         พ่อเพลงแม่เพลงคนใดมีความสามารถก็ร้องแก้กันไปหากร้องแก้ไม่ได้ก็จะถอยออกมาให้ผู้อื่นที่มีความสามารถกว่าเข้าไปร้องแทนซึ่งเนื้อเรื่องจะยังคงต่อเนื่องกัน แต่ปัจจุบันผู้เล่นส่วนใหญ่มักร้องคนเดียวยืนพื้นหากมีพ่อเพลงแม่เพลงคนอื่นเข้ามาช่วยร้องเนื้อหาก็จะไม่ต่อเนื่องกันหรือเปลี่ยนเรื่องไปเลยเช่นเพลงพวงมาลัยสำนวนที่ 4 ในการร้องแก้กันนั้นผู้เล่นจะต้องร้องตามเพลงของอีกฝ่ายหนึ่งก่อนแล้วจึงร้องแก้เนื้อหาของเพลงที่ตามนั้นเมื่อร้องแก้เนื้อหาที่อีกฝ่ายหนึ่งร้องเอาไว้แล้วก็จะร้องเนื้อหาใหม่ต่อเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งใช้ร้องแก้การตามเราลงนั้นก็คือการเนื้อหาสำคัญที่ฝ่ายหนึ่งร้องไว้และตนจะต้องร้องแก้เพื่อให้เนื้อหาต่อเนื่องกัน

ข้อมูลผู้แสดง
         จากการศึกษาของ วิบูลย์ ศรีคำจันทร์ (2537, หน้า 36) เรื่องเพลงพวงมาลัย พบว่า ข้อมูลผู้แสดงเพลงพวงมาลัยประกอบไปด้วย เพศผู้แสดง จำนวนนักแสดง และลักษณะผู้แสดง
         1. เพศผู้แสดง เป็นการแสดงในโอกาสสำคัญต่างๆ มีผู้แสดงทั้งชาย และหญิง ออกมาร้องรำทำเพลงกันเป็นคู่
         2. จำนวนนักแสดง ประกอบด้วยผู้เล่น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง แต่ละฝ่ายจะมีผู้ร้องนำเรียกว่า พ่อเพลง แม่เพลง (พ่อพวง แม่พวง) ฝ่ายละ 1 คนและมีลูกคู่คอยช่วยร้องรับ ร้องกระทุ่งพร้อมทั้งปรบมือให้จังหวะฝ่ายละเท่าไรก็ได้ไม่ จำกัดจำนวน แต่อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าฝ่ายละ 5 คน
         3. ลักษณะผู้แสดง ผู้เล่นจะต้องมีความสามารถในการจำเนื้อร้อง และเป็นผู้เล่นที่มาด้วยความสมัครใจของแต่ละฝ่าย ส่วนผู้เล่นที่เป็นลูกคู่นั้นจะต้องปรบมือให้จังหวะเพื่อให้ผู้ร้อง ร้องได้ถูกต้องตามจังหวะและทำนอง ถ้าหากปรบมือไม่เป็น หรือไม่ถูกจังหวะผู้ร้องนำก็ไม่สามารถร้องต่อได้ การเล่นเพลงพวงมาลัยก็จะล่ม

การแต่งกายผู้แสดง/เครื่องประดับ
         เนื่องจากเพลงพวงมาลัยไม่ใช่เพลงอาชีพ การเล่นเป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้เล่นแต่ละฝ่าย ซึ่งมักจะไม่ได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้า ดังนั้นการแต่งกายจึงเป็นไปตามสมัยนิยม และเป็นไปตามสถานการณ์หรือโอกาสที่เล่นนั้นๆ เช่น ถ้าเล่นในทุ่งนาในการเก็บเกี่ยวข้าว ก็จะใช้ชุดทำงานอยู่นั้นเล่น แต่ถ้าเล่นยามเทศกาลหรือประเพณีต่างๆ ผู้เล่นจะแต่งกายตามความนิยมของแต่ละถิ่นแต่ละสมัย 
         เดิมทีนั้นการแต่งกายนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่ไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่ยังคงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ คือจะแต่งกายตามความนิยมของ แต่ละถิ่น แต่ละสมัย หรือตามฐานะของผู้แสดง โดยส่วนใหญ่การแต่งกายจะอยู่ตามโอกาสที่ไปแสดง เช่น ถ้าร้องตอนเกี่ยวข้าวก็จะใส่ชุดที่ทำงานมาร้องเลย ถ้าตอนงานรื่นเริงทั่วไปก็จะตามชุดที่ไปเข้าร่วมงาน เป็นต้น
         ผู้แสดงฝ่ายชาย จะนุ่งโจงกระเบนด้วยผ้าไหม หรือผ้าม่วง แล้วแต่ฐานะของผู้เล่น สวมเสื้อมิสกรีคอกลม สีขาว มีผ้าขาวม้าคาดพุง และใส่เครื่องประดับ ได้แก่ สร้อยคอ แหวน สร้อยข้อมือ ตุ้มหูระย้า 1 ข้าง และถ้าผู้เล่นมีฐานะดีจะใส่สังวาลไขว้แบบลิเก ซึ่งปัจจุบันถ้ามีการหาไปเล่นในงานที่เป็นพิธีรีตองผู้ร้องนำฝ่ายชาย ก็จะนุ่งโจงกระเบนชนิดชายธงและสวมเสื้อ "มิสกรี" คอกลมสีขาว และทับด้วยผ้าขาวม้า เครื่องประดับแล้วแต่ฐานะของผู้เล่น แต่ถ้าเล่นในงานประเพณีทั่วไปจะแต่งกายตามสมัยนิยม คือนุ่งกางเกงขาก๊วยและสวมเสื้อคอกลม
         ผู้แสดงฝ่ายหญิง ทั้งในอดีต และปัจจุบันจะแต่งกายคล้ายคลึงกันไม่มาก คือ สวมเสื้อแขนสามส่วน หรือเสื้อแขนทรงกระบอก นุ่งโจงกระเบนผ้าไหม ทับเสื้อแล้วคาดด้วยเข็มขัดมีผ้าสไบเฉียง เครื่องประดับมี ต่างหูระย้า แหวน สร้อยข้อมือ สร้อยคอ และกำไลข้อเท้า ถ้าเล่นในงานที่เป็นพิธี ผู้เล่นจะแต่งกายเหมือนกันทุกคน

ข้อมูลเพลง/ดนตรี
         เพลงพวงมาลัย มีรูปแบบที่เฉพาะตัว คือจะขึ้นด้วย “เอ่อกระเลยลอยไป ลอยมา” และลงท้ายด้วย “เอย” โดยในการแสดงส่วนใหญ่จะใช้การปรบมือจากผู้แสดงคนอื่น ๆ เพี่อให้ดูมีความครึกครื้นมากยิ่งขึ้น แต่ในบางครั้งจะมีการใช้เครื่องดนตรีบางชนิดมาช่วยให้จังหวะ เช่น กลองยาว เป็นต้น

         ผู้แต่งเพลง/เนื้อร้อง/ทำนอง
         จากการสัมภาษณ์ ลำไย เทพสุวรรณ (การสัมภาษณ์, 14 ตุลาคม 2564) พบว่า เพลงพวงมาลัยที่จังหวัดกำแพงเพชร ไม่มีผู้แต่งที่แน่ชัด โดยส่วนใหญ่จะจำมาจากการครูพักลักจำหรือสืบทอดกันมาจากปู่ย่า ตายาย ที่เป็นพ่อเพลงแม่เพลงภายในหมู่บ้าน

         เครื่องดนตรีประกอบ
         จากการสัมภาษณ์ ลำไย เทพสุวรรณ (การสัมภาษณ์, 14 ตุลาคม 2564) พบว่า ในการแสดงเพลงพวงมาลัยในแต่ละครั้ง มักใช้การปรบมือเพื่อให้จังหวะ แต่ในบางพื้นจะมีกลองยาวเป็นเครื่องดนตรีเข้ามาร่วมด้วย

         เพลงที่ใช้ในการแสดง
         ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร-ตาก (2561)

ท่อนที่ 1

         คู่ที่ 1 ชายร้อง    

         (สร้อย) ชาย เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อกระเลยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย         

         ชาย เจ้าฉุยฉายเอย เจ้าเยื้องย่างกรายกระเดียดกระทาย กระทัดรัด มือหนึ่งก็เด็ดใบบอน มือหนึ่งก็ช้อนปลากัด แม่อุ่นเรือนเพื่อนรัก รักเสมอในเอย........

         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย

         คู่ที่ 2 หญิงร้อง   

         (สร้อย) หญิง เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย

         หญิง พ่อพวงมาลัย พี่อย่าโศกีว่าน้องไม่รัก ถ้าแขนพี่ตก น้องจะยกใส่ตัก พ่ออุ่นเรือนเพื่อนรัก รักเสมอในเอย (ซ้ำ)

         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย

ท่อนที่ 2

         (สร้อย) หญิง เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย

         หญิง เจ้าพวงมะโหดเอย พี่อย่าถือโกรธว่าน้องไม่รัก ไม่ใช่ลูกอ่อนจะมานอนหนุนตัก (ซ้ำ) พ่ออุ่นเรือนเพื่อนรัก รักเสมอใจเอย

         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย

         (สร้อย) ชาย เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อกระเลยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย

         ชาย เจ้าแขนอ่อนเอย เอาแขนไปซ่อนเอย ไว้ที่นอนของใครเอย เวลากลางคืน เจ้าสะอื้อร้องไห้ รำพึงรำพลอยรำเสียหน่อยเดียวเอย (ซ้ำ)

         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย

ท่อนที่ 3

         (สร้อย) ชาย เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อกระเลยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย

         ชาย เจ้าดอกมณฑาเอย แม่หน้ามน รับรักพี่สักคน จะเป็นไร เอยน้องจะให้พี่ฉุด หรือให้มาขอเอย ให้รับบอกพี่มาไว ๆ เอย (ซ้ำ)

         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย

         (สร้อย) หญิง เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย

         หญิง เจ้าดอกมะลิลาเอย คำว่ารักน้องขอพักไว้ก่อนเอย จะว่าแสนงอนเอยนั่นไม่ได้ ถ้าพี่จะฉุดก็มาฉุด ระวังสะดุดตอเอย (ซ้ำ)

         (สร้อย) หญิง เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย

ท่อนที่ 4

         (สร้อย) ชาย เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อกระเลยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย

         ชาย เจ้าดอกรักเอย เอ่อระเหยลอยมา พี่รักจริงเอย พี่จึงได้มา ไม่ว่าแดดกล้าเอย ทางไกลเอย (ซ้ำ)

         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย

         (สร้อย) หญิง เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย

         หญิง เจ้าดอกปีบเอย อย่ามารักน้องเลยเอย นะพ่อเตยต้นเตี้ย ถ้าพี่มีเมียเอย แล้วน้องจะทำอย่างไรเอย หรือพี่มีแกลบ มีรำ พี่จะเอาน้องไปเลี้ยงเอย ขอรับไว้เพียงน้องชายเอย (ซ้ำ)

         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย

ท่อน 5

         (สร้อย) ชาย เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อกระเลยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย

         ชาย เจ้าดอกรักเร่เอย เอยลุยหล่มมาหา จระเข้วางคลอง เสือนอนขวางหน้า พี่ยังอุตส่าห์มาหาจนได้เอย (ซ้ำ)

         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย

         (สร้อย) หญิง เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย

         หญิง เจ้าการะเกดเอย พี่ขี่ม้าเทศ จะไปท้ายวัด ชักกริชแดงๆ จะออกมาแทงฝรั่ง เมียห้ามก็ไม่ฟัง สุดกำลังของเมียเอย (ซ้ำ)

         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย

          จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เพลงพวงมาลัยเป็นเพลงเก่าแก่เพลงหนึ่งและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เนื่องจากเป็นเพลงที่นิยมเล่นในภาคกลาง ใช้เป็นเพลงร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกันในกลุ่มหนุ่มสาว เพลงพวงมาลัย ไม่มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจน  ซึ่งเพลงพวงมาลัยเป็นเพลงที่ร้องเล่นได้ทุกโอกาส ทุกเวลามักเล่นในงานเทศกาล เช่น งานสงกรานต์ งานลอยกระทง งานขึ้นบ้านใหม่ งานนบพระเล่นเพลง เป็นต้น และไม่มีใครนำเพลงพวงมาลัยมาร้องเป็นอาชีพ เพลงพวงมาลัยแต่ละแห่งมีความเหมือนกัน คือไม่ทราบถึงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน และต่างกันตรงที่กำแพงเพชรไม่ใช่ต้นกำเนิดของเพลงพวงมาลัย แต่มีประวัติอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชรมานานมากกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นการครูพักลักจำ และสืบทอดมาจากพ่อเพลงแม่เพลงในพื้นที่ภาคกลาง และนำมาฝึกร้องเล่นจนมีความชำนาญการสืบทอดต่อๆ กันมา

บทสรุป
          จากการศึกษาเรื่อง เพลงพวงมาลัยในจังหวัดกำแพงเพชร วัตถุประสงค์ที่ 1) ประวัติความเป็นมาของเพลงพวงมาลัย พบว่า เพลงพวงมาลัยไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน ซึ่งจังหวัดกำแพงเพชรไม่ใช่ต้นกำเนิดเพลงพวงมาลัย แต่เป็นการครูพักลักจำมาจากพ่อเพลงและแม่เพลงในภาคกลาง วัตถุประสงค์ที่ 2) โอกาสที่ใช้ในการแสดง พบว่ามักจะร้องเล่นในวาระโอกาสที่ต่างกันคือ ร้องเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลในการประกอบอาชีพ เช่น ฤดูกาลเก็บเกี่ยว เป็นต้น เทศกาลงานรื่นเริง หรืองานมงคลต่างๆ วัตถุประสงค์ที่ 3) อุปกรณ์ประกอบ พบว่า ก่อนที่จะเล่นเพลงพวงมาลัยจะมีการไหว้ครูทุกครั้ง เพื่อขอให้ตัวเองร้องเพลงได้อย่างไม่มีสะดุด และลื่นไหล โดยจะประกอบด้วยธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกไม้ 3 สี บุหรี่ 1 ซอง เหล้าขาว 1 ขวด และเงินค่ายกครู 12 บาท วัตถุประสงค์ที่ 4) ขั้นตอนวิธีการเล่นพบว่าขั้นตอนการเล่นเพลงพวงมาลัย จะแบ่งผู้แสดงชายหญิงออกเป็น 2 ฝ่าย แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 3 คนเป็นอย่างน้อย จะเริ่มโดยการนั่งลงเป็นรูปครึ่งวงกลม แล้วฝ่ายชายจะร้องไหว้ครูก่อน เมื่อไหว้ครูเสร็จผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะลุกขึ้นยืน ตั้งวงเป็นรูปวงกลมตามเดิมแล้วร้องเพลงพวงมาลัย ไปตามลำดับขั้นที่เล่น วัตถุประสงค์ที่ 5) ข้อมูลผู้แสดง พบว่า ผู้เล่นจะต้องมีความสามารถในการจำเนื้อร้อง และเป็นผู้เล่นที่มาด้วยความสมัครใจของแต่ละฝ่าย ส่วนผู้เล่นที่เป็นลูกคู่นั้นจะต้องปรบมือให้จังหวะเพื่อให้ผู้ร้อง ร้องได้ถูกต้องตามจังหวะและทำนอง วัตถุประสงค์ที่ 6) การแต่งกาย/เครื่องประดับ พบว่าการแต่งกายจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ คือจะแต่งกายตามความนิยมของ แต่ละถิ่น แต่ละสมัย หรือตามฐานะของผู้แสดง วัตถุประสงค์ที่ 7) ข้อมูลเพลง/ดนตรี พบว่าเพลงพวงมาลัยมีการปรบมือเพื่อให้จังหวะกันเป็นหลัก แต่ในการแสดงบางครั้งหรือการแสดงจากถิ่นอื่นจะมีเครื่องดนตรีเข้ามาด้วย

คำสำคัญ : เพลงพื้นบ้าน เพลงพวงมาลัย

ที่มา : https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=เพลงพวงมาลัยจังหวัดกำแพงเพชร

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2561). เพลงพวงมาลัย. สืบค้น 4 ตุลาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=120&code_db=610004&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=120&code_db=610004&code_type=01

Google search

Mic

แกงขี้เหล็กวันลอยกระทง จังหวัดกำแพงเพชร

แกงขี้เหล็กวันลอยกระทง จังหวัดกำแพงเพชร

ประเพณีกินแกงขี้เหล็กวันลอยกระทงเป็นอาหารโบราณที่มีการส่งรุ่นต่อรุ่นแกงขี้เหล็กเป็นอาหารที่ จัดได้ว่าเข้าข่ายอาหารโบราณที่อีกไม่นาน แกงขี้เหล็กวันลอยกระทง สืบทอดประเพณีพื้นถิ่นของนครชุม โบราณ จุดธูปขอขมาแล้วเก็บขี้เหล็กในเวลาเช้ามืดของวันเพ็ญเดือน 12 แกงวันนั้น และกินให้หมดในวันนั้น จะเป็นสุดยอดของยาอายุวัฒนะโดยหลังเที่ยงคืนเข้าสู่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ชาวตําบลนครชุม จะออกจากบ้าน ไปเก็บใบขี้เหล็ก ซึ่งก่อนทําการเก็บนั้นจะต้องมีการจุดธูปขอขมา บอกล่าวกับต้นขี้เหล็กก่อน หรือชาวบ้าน เรียกว่า พลียา หมายถึงขอยาไปรักษาโรคจากนั้นจึงลงมือเก็บยอดขี้เหล็กมาประกอบเป็นอาหารรับประทาน ในวันเพ็ญเดือน 12 ได้ ซึ่งเป็นความเชื่อของคนโบราณว่า ต้องเก็บวันนั้น แกงวันนั้น และกินให้หมดในวันนั้น จะเป็นสุดยอดของยาอายุวัฒนะ

เผยแพร่เมื่อ 23-09-2024 ผู้เช้าชม 17

การเข้าทรงแม่ศรี ที่บ้านปากคลอง

การเข้าทรงแม่ศรี ที่บ้านปากคลอง

การเข้าทรงแม่ศรี ที่บ้านปากคลอง แตกต่างจาก การเข้าทรงแม่ศรี หรือการรำแม่ศรีที่อื่นๆ ครูมาลัย ชูพินิจ เขียนใว้ใน นวนิยายทุ่งมหาราชและมีเรื่องเล่าในบ้านปากคลองว่า สาวงามที่ชาวบ้านคัดเลือก ให้เป็นแม่ศรีในวันสงกรานต์จะนั่งเท้าทั้งสองเหยียบอยู่บนกะลาตาเดียวที่หงายไว้ มือทั้งคู่แตะอยู่ที่พื้นดิน เสียงเพลง ร้องจากผู้เล่นร่วมรอบวงว่า 

เผยแพร่เมื่อ 17-04-2020 ผู้เช้าชม 1,948

ประเพณีไข่แดง

ประเพณีไข่แดง

ประเพณีไข่แดง (ขึ่มสึ ขึ่มมี๊อ่าเผ่ว)มีขึ้นภายหลังจากที่มีการอยู่กรรมจากการเผาไฟในไร่ช่วงกลางเดือนเมษายน ตรงกับเดือนอาข่า "ขึ่มสึ บาลา"อาข่าจะประกอบพิธี "ขึ่มสึ ขึ่มมี้ อาเผ่ว" เป็นประเพณีการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือเรียกอีกอย่างว่า ประเพณีปีใหม่ชนไข่ เนื่องจากประเพณีนี้มีการนำไข่มาใช้ประกอบพิธี เด็กๆ จะมีการเล่นชนไข่ โดยการย้อมเปลือกไข่ให้เป็นสีแดง และใส่ตะกร้าห้อยไปมา เป็นประเพณีที่มีมาช้านาน

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 6,987

ร่างทรง เข้าทรง ความหวัง ความเชื่อและความศรัทธา

ร่างทรง เข้าทรง ความหวัง ความเชื่อและความศรัทธา

พิธีกรรมการเข้าทรง เป็นพิธีกรรมที่มีมานาน โดยมีหลายท่านให้ความหมายไว้ว่า คนทรง หรือ ร่างทรง หมายถึง คนที่ให้เจ้าหรือผีมาเข้าสิงในตัว การเข้าสิงนั้น เรียกว่า "การเข้าทรง" Lan Anh -VOV5 (2557) กล่าวว่า การทรงเจ้าเป็นพิธีการสื่อสารกับเทพเจ้าต่าง ๆ ผ่าน ร่างทรง ลักษณะของการเข้าทรงก็คือ การกลายร่างเดิมมาเป็นร่างใหม่ที่มีวิญญาณของเทพเจ้าหรือเทวดาชั้นสูง มาประทับร่างเพื่อประทานพรให้มนุษย์ ณิชาพร จําเนียร และ อรพรรณ พิศลยบุตร (2565) กล่าวว่า พิธีกรรม เข้าทรง หรือ ร่างทรง ในความหมายของคนทั่วไปคือ บุคคลที่สามารถจะรับจิต วิญญาณของผู้อื่นที่จากไปแล้ว หรือ จากจิตวิญญาณของผู้อื่นที่เป็นเทพ เทวดา มาสิงสถิตอยู่ในร่างกายของตัวเองได้

เผยแพร่เมื่อ 23-09-2024 ผู้เช้าชม 28

วัฒนธรรมการกินหมากของคนไทย

วัฒนธรรมการกินหมากของคนไทย

ความงามของนางในวรรณคดีของไทยทุกเรื่อง นางเอกต้องมีฟันดำราวกับนิล จึงจะถือว่างดงาม ดังนั้นการกินหมากจึงอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน และกำลังจะสูญหายไปจากสังคมไทยในไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะคนไทยทุกคนเลิกกินหมาก เราจึงบันทึกวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตไว้ให้เป็นหลักฐาน เพื่ออนุชนที่รักของเราได้เข้าใจในวัฒนธรรมการกินหมาก การกินหมากในสังคมไทยมีมาหลายศตวรรษ ประเทศในแถบตะวันออกใช้หมากเป็นเครื่องดับกลิ่นปากและทำให้ฟันคงทน จากวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ มีคำว่า สลา ซึ่งหมายถึงหมากปู่เจ้าสมิงพราย เสกหมากให้พระลอเสวย ที่เรียกกันว่าสลาเหิน หรือหมากบิน

เผยแพร่เมื่อ 03-03-2020 ผู้เช้าชม 3,447

ระบำพุทธบูชา-นบพระ-มาฆปุรณมี

ระบำพุทธบูชา-นบพระ-มาฆปุรณมี

ระบำพุทธบูชา-มาฆ-ปรุณมี มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแสดงในงานประเพณีนบพระ-เล่นเพลง วันเพ็ญเดือนสามหรือวันมาฆบูชา ระบำชุดนี้เป็นการแสดงความเคารพและบูชาพระรัตนตรัย นบไหว้พระซึ่งในการประกอบพิธีทางศาสนา ได้นำเพลงสาธุการมาบรรเลงในการไหว้และเคารพบูชาใช้ได้กับศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ผู้ประพันธ์ได้นำช่วงเพลงสาธุการเปิดโลกมาประพันธ์เป็นโครงสร้างของเพลง

เผยแพร่เมื่อ 19-07-2022 ผู้เช้าชม 1,168

ชากังราวว่าวไทย

ชากังราวว่าวไทย

เทศบาลเมืองกำแพงเพชรจัดงาน "ชากังราวว่าวไทย" เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมการเล่นว่าว ในประเทศไทยขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ บริเวณลานอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย สิริจิตอุทยาน ภายในงานมีกิจกรรมดังนี้ การประกวดว่าวไทย ในระดับเยาวชนและประชาชนทั่วไป การประกวดปลากัดและปลาสวยงาม เพื่อส่งเสริมกิจกรรม ยามว่างของเยาวชนและประชาชนทั่วไป ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมอีกด้วย

เผยแพร่เมื่อ 20-02-2017 ผู้เช้าชม 1,617

เทศกาลกินก๋วยเตี๋ยว

เทศกาลกินก๋วยเตี๋ยว

เทศกาลกินก๋วยเตี๋ยวเที่ยวเมืองกําแพงเพชรขึ้น เรียกสั้น ๆ ว่า “งานก๋วยเตี๋ยว” จัดครั้งแรก เมื่อวันที่ 3-5 ธันวาคม 2542 เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของจังหวัด จัดขึ้น ณ ลานอนุรักษ์วัฒนธรรม ถนนเลียบแม่น้ําปิง อําเภอเมืองกําแพงเพชร จังหวัดกําแพงเพชร กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การออกร้านจําหน่ายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่ขึ้นชื่อของจังหวัดกําแพงเพชร ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเลือกได้ตามใจชอบ รวมทั้งมีการออกร้านจําหน่ายสินค้าหนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และการแสดงจากเยาวชนในจังหวัดกําแพงเพชรของทุกปี

เผยแพร่เมื่อ 24-09-2024 ผู้เช้าชม 14

ระบำร้องแก้

ระบำร้องแก้

ระบำร้องแก้ มีมาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นิยมเล่นกันเมื่อเสร็จงานบ้านและทำไร่นา งานเทศกาลต่างๆ หนุ่มสาวจะมาจับกลุ่มร้องเกี้ยวพาราสีกัน เนื้อร้องนิยมใช้คำเปรียบเปรยเรื่องความรัก ความงาม วิธีการเล่น หนุ่มสาวล้อมลงหนุ่มสาวคู่แรกเดินออกมากลางวง ร้องโต้ตอบเป็นบทกลอน โดยมีท่ารำประกอบบทร้อง เพื่อนหญิงชายที่ล้อมวงจะรับเป็นลูกคู่ สลับคู่กันจนครบทุกคู่

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 2,750

การทำขวัญข้าว

การทำขวัญข้าว

ตามประเพณีไทย สิ่งที่มีบุญคุณกับคนไทยและมองไม่เห็นจะเรียกว่าแม่เสมอ เช่นน้ำเรียกกันว่า แม่คงคา พื้นดิน เรียกว่า แม่ธรณี ข้าวเรียกว่าแม่โพสพ ทุกสิ่งล้วนมีพระคุณต่อวิถีชีวิตของคนไทย มาตั้งแต่ตั้งเป็นชาติไทย ประเพณี การบูชาแม่โพสพ หรือข้าวนั้น คนไทยนิยมทำกันมาช้านานถือว่า แม่โพสพมีพระคุณกับคนไทยทั้งประเทศ เพราะข้าวนั้นเลี้ยงคนไทย แม่โพสพจึงมีความหมายอย่างลึกซึ้งและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทยมาโดยตลอด จนเกิดประเพณี บูชาแม่โพสพ และขอขมาแม่พระโพสพ หลังการเก็บเกี่ยว

เผยแพร่เมื่อ 20-02-2017 ผู้เช้าชม 5,979