เจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐี

เจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐี

เผยแพร่เมื่อ 15-08-2019 ผู้ชม 31,603

[16.4821705, 99.5081905, เจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐี]

เจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐี
          พระซุ้มกอ หรือเจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐีเป็นยอดพระเครื่องอันดับนำของจังหวัดกำแพงเพชรที่ใครได้ไว้บูชาติดตัวแล้ว นับว่าเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง เพชรนพเก้าค่าล้นปานใดก็ตาม บางครั้งก็หาเปรียบได้กับ พระซุ้มกอ ซึ่งสูงทั้งค่าและมีประสิทธิภาพซึ่งมนุษย์ไม่อาจเนรมิตได้ การมีชีวิตเพื่ออยู่และสร้างแต่กรรมดีแล้ว พระซุ้มกอ ย่อมคุ้มครองท่านได้เสมอ และสิ่งที่น่าอิจฉาสำหรับผู้มีพระพิมพ์นี้ยิ่งขึ้นก็คือ ท่านจะอยู่อย่างคนมีโชคตลอดเวลาทีเดียว  ผมเองนั้นเชื่อเหลือเกิน เชื่อว่า มึงมีกูไม่จน ประกาศิตที่กังวานจากเจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐีนั้นจะเป็นใครกล่าวหรือใครพูดขึ้นเล่นก็ตามทีเถิด เพราะจนบัดนี้ ผู้ที่ใช้ พระซุ้มกอ แล้วก็ยังไม่เคยมีใคร บอกว่าห้อยพระซุ้มกอแล้ว ยากจน เลยสักรายเดียว

กำแพงเพชรเมื่อในอดีต
          จากซากวัตถุโบราณบางชิ้นแสดงให้รู้ว่า กำแพงเพชร เมื่ออดีตนั้น คงเป็นส่วนหนึ่งที่ ขอม เข้ามามีอำนาจปกครองอยู่ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 1890  พระยาเลอไท กษัตริย์องค์ที่ 4 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย ได้โปรดให้ฟื้นฟูบูรณะเมืองกำแพงเพชรขึ้นใหม่พร้อมกับพระราชทานนามว่า นครชุม แล้วยกให้เป็นเมืองลูกหลวงควบคู่กันไปกับ ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร แม้จะมีชื่อใหม่ในยุคนั้นว่า นครชุม แล้วก็ตาม ชาวเมืองก็ยังคงเรียกว่า ชากังราว หรือ นครชุม ตลอดมาจนถึงสมัยอยุธยา ในแผ่นดินของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงได้กลับมาเรียกเมือง 2 ชื่อนี้ใหม่อีกครั้งว่า กำแพงเพชร และได้กันเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ เมืองกำแพงเพชร นี้ได้ประมาณกันว่ามีอายุกว่า 700 ปี ขึ้นไป นับเป็นเมืองหน้าด่านที่ต้องเผชิญกับภัยสงครามตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมา จนถึงสมัยกรุงธนบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 1926-2317 นับเป็นสงครามที่สร้างความบอบช้ำให้กับกำแพงเพชร ในช่วงนั้นไว้มาก ก่อนหน้าที่จะเรียกกันว่า กำแพงเพชร นั้น ปรากฏว่าเมื่อ พ.ศ. 1900 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ พระมหาธรรมราชาลิไทย ครองราชย์อยู่นั้น พระองค์นับเป็นกษัตริย์องค์เดียวของกรุงสุโขทัย ที่ทรงฝักใฝ่การพระศาสนามากกว่าด้านการทหาร และในช่วงระยะ พ.ศ. 1900 ดังกล่าวนี้เอง กำแพงเพชร นับว่าเป็นเมืองสำคัญยิ่งนัก ทั้งนี้ก็เพราะ พระพุทธศาสนา ได้เจิดจ้าขึ้นอย่างคาดไม่ถึง จากศิลาจารึกหลักที่ 3 ได้แสดงให้รู้ว่า พระมหาธรรมราชาลิไทย ได้เสด็จไปสถาปนาพระบรมธาตุ, ปลูกพระศรีมหาโพธิ์, และยังได้บำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับการพระศาสนาไว้ ณ ที่ นครชุม นั้นอีกเป็นอันมาก นอกจากนั้นกำแพงเพชร จากตำนานยังได้กล่าวไว้ว่า เมืองนี้ได้เคยเป็นที่ประดิษฐานองค์พระแก้วมรกต, และพระพุทธสีหิงค์อีกด้วย
           ณ จังหวัดกำแพงเพชรปัจจุบันนี้ ถ้ามองจากตัวจังหวัดพุ่งสายตาข้ามลำน้ำปิงไปทางทิศนะวันตกก็จะพบกับผืนแผ่นดินนั่นนั้น ซึ่งเมื่อครั้งอดีต คือ นครชุม แต่ปัจจุบันนี้เป็น ตำบล ซึ่งรู้จกกันทั่วไปว่า ทุ่งเศรษฐี อาณาจักรของพระเครื่องที่โด่งดังในด้านโชคลาภมหานิยมยิ่งนัก และที่ฝั่งลำน้ำปิง ซึ่งใกล้กับปากคลองสวนหมากฝั่งนครชุมนั้นเอง จะปรากฏ วัดพระบรมธาตุ อารามหลวงที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไทย กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงในรัชกาลที่ 5 ได้เป็นผู้สถาปนาพระบรมธาตุ ไว้เมื่อ พ.ศ. 1900 นอกจากนั้น ที่ลานทุ่งเศรษฐียังปรากฏโบราณสถานที่รกร้างเหลืออยู่บ้าง, กับที่เป็นเนินดินไม่ปรากฏซากปรักหักพังเสียก็มาก คงมีแต่ชื่อวัดที่สำคัญ เช่น วัดพิกุล, วัดฤาษี, วัดทุ่งเศรษฐี, วัดน้อยบ้านไร่, วัดเจดีย์กลางทุ่ง ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้ ประมาณว่าได้กำเนิดขึ้นยุคเดียวกัน โดยอยู่ที่ลานทุ่งเศรษฐีทั้งสิ้น นอกจากนั้น วัดสำคัญที่กำเนิดในสมัยเดียวกันแต่อยู่ฝั่งจังหวัดก็มีเช่น วัดอาวาสน้อย, วัดอาวาสใหญ่, วัดช้างล้อม,วัดกำแพงงาม, วัดสี่อิริยาบถ, วัดเชิงหวาย, วัดช้าง, วัดป่ามืด, วัดพระแก้ว, วัดพระนอน, วัดกะโลทัย, วัดพระธาตุ และวัดนาคเจ็ดเศียร ฯลฯ เป็นต้น ปฐมเหตุที่ทำให้พบกรุกำเนิดอันเป็นที่มาของพระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ นั้น ก็ด้วยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ แห่งวัดระฆังฯ ได้ขึ้นไปเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ. 2392 ท่านได้อ่านศิลาจารึกที่วัดเสด็จ ก็พบว่าที่เมืองกำแพงเพชรนี้ ยังมีโบราณสถานและพระบรมธาตุอยู่ทางฝั่งตะวันตก ซึ่งได้สร้างไว้เมื่อ พ.ศ. 1900 พระยากำแพง เจ้าเมืองเดิมจึงบุกป่าสำรวจตามแผ่นศิลาจารึกนั้น ก็พบพระเจดีย์ 3 องค์ องค์ใหญ่เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุไว้ด้วย ต่อมา พระยาตะก่า จึงได้ขอปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ทั้ง 3 นั้น โดยรวมเข้าเป็นองค์เดียวกันแล้วสร้างเป็นแบบศิลปพม่า แต่พระยาตะก่าได้สิ้นชีวิตเสียก่อนจะปฏิสังขรณ์เสร็จต่อมา พะโป้ และ นางทองย้อย จึงได้ทำการสร้างต่อจนสำเร็จในที่สุด 
            ในปัจจุบันนี้เหนือลำน้ำแม่ปิงขึ้นไปบนฝั่งนครชุมวัดที่จะยังคงอยู่ก็แต่ วัดพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดพระเครื่องกรุแรกเท่านั้น และจากคราวท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ได้อ่านศิลาจารึกและพ่อเมืองกำแพงเพชรได้ไปสำรวจพบพระเจดีย์จน พระยาตะก่า และ พระโป้ ได้ขอบูรณปฏิสังขรณ์เสียใหม่ในครั้งนั้นนั่นเอง เมื่อทำการรื้อเจดีย์ก็ได้พบพระพุทธรูปและพระเครื่องมากมายอยู่ในเจดีย์นั้นทั้งยังเป็นที่ประจักษ์อีกว่า ผู้สร้างพระเจดีย์ทั้ง 3 องค์นั้น ได้เป็นผู้นำพระบรมธาตุจากลังกามาบรรจุไว้อีกด้วย นั่นก็คือ พระมหาธรรมราชาลิไทย กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยนั่นเอง พระเครื่องที่พบทั้งหมดจาการปฏิสังขรณ์คราวนั้นจึงมีอายุ 600 กว่าปีขึ้นไป ส่วนพระเครื่องที่ขึ้นจากกรุวัดพระบรมธาตุครั้งนั้นก็มี พระซุ้มกอ, พระเม็ดขนุน, พระพลูจีบ, พระซุ้มยอ พระเชยคางข้างเม็ด,พระท่ามะปราง, พระฝักดาบเนื้อว่านหน้าทอง-เงิน, พระกำแพงขาโต๊ะ, พระกำแพงขาว, พระนาคปรก, พระเม็ดมะรื่น,พระนางพญากำแพง, พระกลีบบัว, พระกำแพงห้าร้อย, พระกำแพงเรือนแก้ว, พระเปิดโลก, พระกลีบจำปา, พระเม็ดมะเคล็ด, พระสาม, พระเชตุพน, พระงบน้ำอ้อย, และพิมพ์อื่น ๆ มากกว่าร้อยพิมพ์ทีเดียว ทั้งนี้ยังปรากฏว่าพระแผงเช่นพระนารายฯทรงปืน, พระซุ้มกระรอกกระแต, พระสาม พระปางมหาปาฏิหาริย์ ก็ได้รวมอยู่ในกรุนี้ขึ้นมาอีด้วยเช่นกัน
           จากการอ่านศิลาจารึก ที่วัดเสด็จจนเป็นผลให้นำไปสู่กรุพระเครื่องมหึมาและได้พบพระบรมธาตุด้วยแล้ว ยังได้พบแผ่นลานเงินจารึกอักษรขอม เป็นตำนานกล่าวไว้ว่า ตำบลเมืองพิษณุโลก, เมืองกำแพงเพชร, เมืองพิชัย, เมืองพิจิตร, เมืองสุพรรณ, ว่ามีฤาษี 11 ตน ฤาษีเป็นใหญ่ 3 ตน ฤาษีพิลาลัยตนหนึ่ง ฤาษีตาไฟตนหนึ่ง, ฤาษีตาวัวตนหนึ่ง ซึ่งเป็นประธานฤาษีทั้งหลาย จึงปรึกษากันว่าเราทั้งหลายนี้จะเอาอันใดให้แก่พระศรีธรรมาโศกราช ฤาษีทั้ง 3 จึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่าเราจำทำด้วยฤทธิ์ ทำด้วยเครื่องประดิษฐานเงินทองไว้ฉะนี้ ฉลองพระองค์จึงทำเป็นเมฆพัตรอุทุมพร เป็นมฤตย์พิศย์อายุวัฒนะ พระฤาษีประดิษฐ์ไว้ในถ้ำเหวใหญ่น้อย เป็นอานุภาพแก่มนุษย์ทั้งหลายสมณชีพราหมณาจารย์ไปถ้วนทั่ว 5000 พรรษา พระฤาษีองค์หนึ่งจึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่าท่านจงไปเอาว่านทั้งหลายอันมีฤทธิ์เอามาให้ได้ 1000 เก็บเอาเกสรดอกไม้อันวิเศษที่มีกฤษณาเป็นอาทิจึงป่าวร้อยเทวดาทั้งปวงให้มาช่วยกันบดยา ทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่งทำเป็นเมฆพัตรสถานหนึ่ง ฤาษีทั้ง 3 องค์นั้นจึงบังคับฤาษีทั้งปวงให้เอาว่านทำเป็นผงเป็นก้อน ถ้าผู้ใดได้ถวายพระพรแล้วจึงเอาไว้ใช้ตามอานุภาพเถิด ให้ระลึกถึงพระฤาษีที่ทำไว้นั้นเถิด ฯลฯ ยังมีข้อความที่พระฤาษีได้กล่าวอุปเท่ห์ไว้อีกมาก ถ้าหากท่านได้ทราบเรื่องราวข้อความจารึกจากแผ่นลานทองที่ได้จากพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณแล้ว บางท่านก็อาจจะสงสัยว่า ข้อความที่แปลจากใบลานทองดังกล่าว กับใบที่พบจากกรุพระปรางค์เมืองสุพรรณนั้น ช่างมีข้อความที่ออกจะไม่ต่างไปกว่ากันเลยละก้อ ขอให้นึกเสียว่า นั่นเป็นเรื่องราวที่ต่างก็ เล่ากันว่า... แล้วก็ยังมีการคัดลอกข้อความกันต่อ ๆ มาอีกเป็นทอด ๆ โดยจะจริงเท็จประการใดก็หาหลักฐานมาพิสูจน์ไม่ได้เลย จากเรื่องราวดังได้กล่าวไปแล้ว จึงพอสรุปได้ว่าพระเครื่องในสกุลทุ่งเศรษฐีที่กำเนิดขึ้นระยะแรก โดยพระมหาธรรมาราชาลิไทยเป็นผู้สร้างไว้นั้น เมื่อ พ.ศ. 2524นี้แล้ว พระทุ่งเศรษฐีซึ่งพบครั้งแรกที่วัดพระบรมธาตุนั้น บัดนี้ได้แตกกรุออกมาเป็นเวลาถึง 132 ปีแล้ว และนับตังแต่ปีที่ได้สร้างพระ พ.ศ. 1900 พระทุ่งเศรษฐีกรุปฐมฤกษ์ก็จะมีอายุถึง 624 ปีแล้วด้วยเช่นกัน
 
 
 ลักษณะของศิลปะ
          พระเครื่องซึ่งพบที่จังหวัดกำแพงเพชร ไม่ว่าจะเป็นของพระเครื่องของกรุปฐมฤกษ์ วัดพระบรมธาตุ อันเป็นปราการด่านแรกของพระกรุทุ่งเศรษฐี หรือจากกรุอื่น ๆ ในบริเวณทุ่งฯ หรือแม้แต่กระทั่งกรุฝั่งเมืองกำแพงเพชรปัจจุบันนี้ก็ตาม ในจำนวนพระเครื่องเหล่านั้นทั้งหมด ศิลปที่ปรากฏประมาณ 70% จะแสดงออกตามจินตนาการของช่างสุโขทัย ซึ่งจะมีทั้งศิลปสุโขทัยยุคต้น ยุคกลางและยุคปลาย โดยเฉพาะศิลปสุโขทัยแบบกำแพงเพชรมากที่สุด นอกจากนั้น พระอีกประมาณ 30% เราจะเห็นว่า ศิลปะ จะมีส่วนสัมพันธ์กันถึง 4 สมัย เช่นพระเครื่องบางองค์เป็นแบบ สุโขทัย แต่รับเอาอิทธิพลของศิลป เชียงแสน ผสมเข้าไว้ และบางองค์ก็รับอิทธิพลของศิลป อู่ทอง สัมพันธ์ร่วมไว้อย่างอลังการ แม้กระทั่งศิลป ลพบุรี ก็ยังเข้ามามีอำนาจอยู่ในพระเครื่องเมืองนี้อยู่ด้วยเช่นกัน ก็ด้วยเหตุนี้เอง จากการพบกรุพระในลานทุ่งเศรษฐีนั้น บางครั้ง กลับมีผู้ได้พระเครื่องศิลปแบบอยุธยายุคต้นก็มี นั่นย่อมแสดงให้รู้ว่า สมัยราชวงศ์พระร่วงได้เสื่อมลงไปแล้ว ศิลปย่อมสืบสมัยต่อมาโดยไม่สิ้นสุด เมื่อสมัยอยุธยารุ่งโรจน์ ศิลปะ ของสมัยนั้นย่อมเข้ามามีอิทธิพลแทนที่ในระยะต่อมา ดังนั้น นักเลงพระ ที่ชาญฉลาดเขามักจะสังเกต ศิลปะ ที่เกี่ยวโยงกัน ซึ่งจะสามารถบอกให้รู้ถึงอายุของพระได้ หรือสังเกต เนื้อ ก็จะบอกให้รู้ถึงความเก่า-ใหม่ และถ้าทราบประวัติศาสตร์ไว้บ้างก็จะเป็นส่วนหนึ่งให้เราได้รู้ว่าพระ ทุ่งเศรษฐี นี้ มิใช่จะมีแต่พระศิลปแบบสุโขทัยเสมอไปเพราะจากคำว่า กำแพงเพชร หมายถึง ปราการที่แข็งแกร่ง รู้จักกันดีอยู่ในสมัยอยุธยา ส่วน นครชุม นั้นอยู่ในสมัยสุโขทัย และ ชากังราว ต่างก็เข้าใจว่า อาจเป็นระยะหนึ่งที่อยู่ในความปกครองของขอม ดังนั้นจึงเป็นของแน่เหลือเกินที่อาจมีผู้ได้พระเครื่องศิลปแบบลพบุรี จากลานทุ่งเศรษฐีนี้ไว้บ้างก็ได้
 
พระกำแพง ซุ้มกอ ทุ่งเศรษฐี
          พระกำแพงซุ้มกอ เป็นยอดพระเครื่องอันดับ 1 จากลานทุ่งเศรษฐี พิมพ์ที่นิยมกันมากได้กับพระซุ้มกอชนิดที่มีลายกนก ที่นิยมรองลงมาได้กับ พระกำแพงซุ้มกอดำ ซึ่งพระพิมพ์นี้จะไม่มีลวดลายกนกปรากฏรวมอยู่ในองค์พระไว้เลย  พระกำแพงซุ้มกอ เป็นพระเครื่องปางสมาธิแบบ ขัดราบ ประทับนั่งบนฐานบัวเล็บช้างห้ากลีบ ด้านข้างทั้งสองขององค์พระใกล้ ๆ กับพระกรนั้นจะปรากฏลวดลายกนก 4 ขดม้วนตัววิ่งขึ้นไปบรรจบกับพระรัศมี ที่เป็นเส้นแฉกวิ่งจากประภามณฑล ที่ปรากฏ ที่ปรากฏล้อมรอบพระเศียรองค์พระซุ้มกอไว้อีกชั้นหนึ่ง อย่างอลังการไว้ทุกองค์ เว้นแต่พระกำแพงซุ้มกอพิมพ์กลางบางพิมพ์เท่านั้น  พระยอดมหาโชคมหาลาภพิมพ์นี้ เป็นพระเครื่องเนื้อผง ผสมด้วยดินกับมวลสารที่รวมตัวเป็นองค์พระเครื่องนั้น จะมีว่านร้อยแปด โดยเฉพาะว่านดอกมะขาม จะต้องปรากฏให้เห็นตามผิวองค์พระ อันเป็นสัญลักษณ์ของพระเนื้อทุ่งเศรษฐีไว้ทุกๆ องค์ นอกจากนั้นก็มีทรายเงิน, ทรายทอง, และผงเกสรดอกไม้ร้อยแปดรวมอยู่ด้วย จึงทำให้พระกำแพง ซุ้มกอ กว่า80% เนื้อจะนุ่มอ่อนตัวกว่าคล้ายกับพระผงสุพรรณทีเดียวว่ากันที่จริงแล้วพระเครื่องพิมพ์ยอดนิยมจากลานทุ่งเศรษฐี ที่เราเรียกกันว่าพระกำแพงซุ้มกอนี้ หาได้มีแต่พิมพ์เดียวไม่ เพราะทั้งขนาดและเนื้อก็ยังมีแตกต่างกันออกไปอีกมาก ฉะนั้นเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้ซึ้งถึงการแตกต่างของพระเครื่องพิมพ์นี้ได้โดยละเอียดยิ่งขึ้น ผมจึงจะขอแยกกล่าวเป็นชนิดๆ ดังต่อไปนี้
           1.   พระซุ้มกอเนื้อผงชนิดมีลายกนก แบบมีลายกนกนี้ โดยเฉพาะเนื้อผงจะมีแต่สีแดง, และสีเหลือง, เท่านั้น ทั้งนี้ยังแยกแบบออกได้เป็น 3 พิมพ์คือ 
                  พิมพ์ใหญ่ พระซุ้มกอพิมพ์นี้ด้านข้างจะหนา อย่างน้อยครึ่ง ซ.ม. ขึ้นไป พุทธลักษณะนับว่างดงามกว่าพระซุ้มกอทุกชนิด งามถึงขนาดเห็นหู, ตา, ปาก, จมูก และจะมีราคาเช่าแพงกว่าทุกพิมพ์อีกด้วย ข้อควรจำสำหรับพระพิมพ์ใหญ่นี้ก็คือ ซอกแขนทั้งสองข้างจะลึกมาก ด้านข้างจะถูกตัดด้วยเส้นตอก เหมือนกับด้านข้างพระนางพญา ส่วนด้านหลังสำหรับพระพิมพ์นี้จะต้องปรากฏเป็นลายกาบหมากอยู่ที่ด้านหลังไว้ทุกองค์ สำหรับขนาดจะมีประมาณ 1.7คูณ 2.5 ซ.ม. 
                   พิมพ์กลาง พระซุ้มกอพิมพ์กลางนี้ ความหนาบางที่ปรากฏไม่ค่อยจะอยู่ในระดับมาตรฐาน แต่ถึงกระนั้นก็ควรจะหนาประมาณ 4 ม.ม. ขึ้นไป และพูดได้เลยว่า เป็นพิมพ์ที่ค่อนข้างจะหายากด้วย สำหรับความงามออกจะด้อยกว่าพิมพ์ใหญ่มากอยู่หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ หูตาปากจมูกตลอดจนชายสังฆาฏิจะเห็นเพียงราง ๆ เท่านั้น ทั้งซอกแขนก็จะตื้นมาก ส่วนด้านข้างจะถูกตัดด้วยคมตอกหรือปาดด้วยมีดก็มี แต่ด้านหลังจะเป็นมุมกลับกับพิมพ์ใหญ่คือ จะต้องมีลายมือปรากฏอยู่ หรือไม่ก็เป็นแบบปาดราบไปเลย พระพิมพ์นี้จะมีขนาดประมาณ 1.7 คูณ 2.3 ซ.ม.
                  พิมพ์เล็ก พระซุ้มกอพิมพ์เล็กนับว่าเป็นพระเครื่องที่ค่อนข้างมีมากกว่าทุก ๆ พิมพ์ทีเดียว ความหนาบางองค์พระก็จะไม่มาตรฐานอีกเช่นกัน ทั้งในด้านความงาม หรือขอบข้างหรือด้านหลัง ก็จะปรากฏ เช่นเดียวกับพระซุ้มกอพิมพ์กลางทุกอย่าง ขนาดวัดได้ประมาณ 1.5 คูณ 2.2 ซ.ม. 
พิมพ์จิ๋ว พระซุ้มกอพิมพ์นี้ออกจะหาชมได้ยากมาก ทั้งของจริงก็ไม่งดงามด้วย ขณะนี้มีมากแต่ละองค์ก็สวยงามชัดเจนประมาณ 95% มักจะเป็นของปลอม พระพิมพ์จิ๋วนี้ส่วนมากมักจะเป็นของกรุวัดพิกุลองค์พระจะบางกว่าพิมพ์เล็กลงไปเล็กน้อย ส่วนด้านหลังจะมีลายมือปรากฏอยู่ประปราย ขนาดโดยประมาณวัดได้ 1.1 คูณ 1.4 ซ.ม. เท่านั้นเอง
          2.   พระซุ้มกอพิมพ์ ขนมเปี้ย พิมพ์ขนมเปี้ยดังกล่าวนี้ เป็นพระซุ้มกออีกพิมพ์หนึ่งที่ให้แบบ คล้ายกับพระงบน้ำอ้อย แต่จะเล็กกว่า ลักษณะทำเป็นพิมพ์กลม ๆ ด้านหลังอูมนูนและมีลายมือปรากฏด้วย ส่วนด้านข้างจะโค้งทรงกลมโดยไม่มีรอยตัดเลย พระพิมพ์นี้ความจริงแล้วก็คือ พระซุ้มกอพิมพ์กลาง หรือ พิมพ์เล็ก นั่นเอง จะผิดกันก็ตรงที่มีปีกยื่นออกเป็นวงกลม นักเลงพระยุคโน้นเห็นพิมพ์ท่านอยู่ในลักษณะเช่นนั้นครั้นจะเรียกว่า ซุ้มกอพิมพ์งบน้ำอ้อย ฟัง ๆ ดูก็จะไปจ๊ะเอ๋กับพิมพ์จริง ๆ เข้า ทั้งยังเป็นพระเครื่องคนละสกุลกันอีกด้วย ดังนั้นจากความกลมของพระซุ้มกอพิมพ์นี้จึงได้ถูกเรียกกันต่อมา โดยไม่ซ้ำกับพิมพ์งบน้ำอ้อยว่า พิมพ์ขนมเปี้ย เพราะขนมเปี้ยนั้นเขาก็กลมอยู่แล้วเช่นกัน  พระซุ้มกอ พิมพ์ขนมเปี้ย นี้ ได้แยกขนาดออกเป็น 2 แบบด้วยกันคือ พิมพ์ใหญ่ พระพิมพ์ใหญ่ซุ้มกอขนมเปี้ยนี้ ความจริงก็คือ พระซุ้มกอพิมพ์กลางและพิมพ์ธรรมดา ๆ เรานี่เอง จะผิดก็ตรงที่มีปีกวงกลมแผ่ออกไป โดยจะมีพระลอยองค์ตรงกลางเท่านั้นเอง ขนาดพิมพ์ใหญ่นี้เส้นผ่าศูนย์กลางวัดได้ประมาณ  2.5 ซ.ม.  พิมพ์เล็ก สำหรับพระซุ้มกอขนมเปี้ยเล็กนี้ ค่อนข้างจะหายากสักหน่อย จะสังเกตองค์พระได้โดยจะเล็กกว่าพิมพ์ใหญ่ ส่วนปีกที่ยื่นออกเป็นทรงกลมนั้นจะไม่กลมทีเดียวทั้งขอบข้างบางองค์ก็จะเว้าแหว่งเป็นคลื่นด้วย ขนาดพระพิมพ์เล็กนี้เส้นผ่าศูนย์กลางวัดได้ประมาณ 1.7 ซ.ม. เท่านั้น
          3.   พระซุ้มกอดำ ถัดจากพระซุ้มกอพิมพ์ขนมเปี้ยผ่านไปแล้วคราวนี้ก็มาถึงเรื่องพิมพ์ซุ้มกอดำกันบ้าง พระพิมพ์นี้ พิมพ์ ค่อนข้างจะแหวกแนวไปมากอยู่แต่พุทธลักษณะของท่านจะเหมือนกับพระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ชนิดที่มีลายกนกทุกอย่าง จะผิดก็แต่ตัดกนกด้านข้าง กับบัวเล็บช้างใต้ฐานประทับออกจนหมด พระซุ้มกอดำ จึงมีแต่พระประทับนั่งปางสมาธิบนฐานเชียง โดยมีปีกโค้งเว้า รองรับไว้กับมีประภามณฑลล้อมรอบพระเศียรไว้ด้วยพระพักตร์ค่อนข้างป้อม พระอุระจะผึ่งผายเข้มข้นกว่าพิมพ์นิยมชนิดมีลายกนกเอามากทีเดียว ด้วยเหตุนี้เองเราจึงต้องยกให้ พระซุ้มกอดำ นี้ เป็นพระเครื่องศิลปะ วัดตระกวน ซึ่งเป็นยอดศิลปะชั้นหนึ่งของสมัยสุโขทัยยุคต้น และก็เลยทำให้ผู้เขียนได้คิดไปอีกว่า พระซุ้มกอดำ พิมพ์นี้ น่าจะเป็นพระซุ้มกอพิมพ์ปฐมฤกษ์ที่กำเนิดขึ้นก่อนพระซุ้มกอชนิดที่มีลายกนกเสียมากกว่า เพราะต่อเมื่อภายหลังขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของสุโขทัยได้รุ่งโรจน์ขึ้นแล้ว ก็ย่อมเป็นของธรรมดาที่ ศิลปะจะต้องได้รับการพัฒนาให้อลังการยิ่งขึ้นไปด้วยเช่นกัน ถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้ว จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระซุ้มกอชนิดที่มีลายกนกด้านข้างนั้น ที่จริงแล้วอาจเป็นพระเครื่องที่ช่างให้การพัฒนามาจาก พระซุ้มกอดำนั่นเอง และการที่เรียกว่า พระซุ้มกอดำ นั้น ก็เพราะเมื่อก่อนไม่ว่าจะขุดพระพิมพ์นี้ได้จากกรุใดในลานทุ่งเศรษฐีก็ตาม พระทุกองค์มักจะมีสีดำ ไปหมดพระซุ้มกอพิมพ์นี้จึงถูกขนานนามว่า พระซุ้มกอดำ โดยถือเอาสีมาเรียกเป็นชื่อตั้งแต่นั้นมา ออกจะหย่อนงามไปบ้างสำหรับพระซุ้มกอดำ เป็นที่รู้กันว่ากรุกำเนิดของพระซุ้มกอดำ และพระซุ้มกอชนิดที่มีลายกนกมากแบบนั้น ต่างก็ขึ้นจากกรุ วัดพระบรมธาตุ เป็นปฐมฤกษ์ด้วยกันทั้งนั้น พระซุ้มกอดำ ที่จัดว่างามผึ่งผายและเป็นที่นิยมกันมาก ก็เห็นจะได้กับพระซุ้มกอดำของ กรุวัดพิกุล ภายหลังต่อมาก็ได้มีผู้พบพระซุ้มกอดำพิมพ์นี้อีกที่กรุตาพุ่ม และ กรุวัดน้อย แต่ก็ได้เพียง 10 กว่าองค์เท่านั้น โดยองค์พระจะเล็กกว่าของกรุวัดพิกุล ทั้งเนื้อก็จะออกสีดำอมน้ำตาลเป็นส่วนมากด้วย
            4.   พระซุ้มกอ เนื้อว่าน พระซุ้มกอชนิดเนื้อว่าน จัดเป็นพระเครื่องทุ่งเศรษฐีที่อยู่ในอันดับ ยอดหายาก อีกพิมพ์หนึ่งเนื้อเท่าที่ปรากฏจะคล้ายกับพิมพ์ฝักดาบ พิมพ์เม็ดขนุน, คือใช้ว่านมากชนิดรวมทั้งผงเกสรตำรวมกันแล้วอัดลงแน่พิมพ์อีกทอดหนึ่งเรื่องพระเนื้อว่านนี้ พระบางพิมพ์ของกรุทุ่งเศรษฐียังเคยปรากฏพบเนื้อที่เป็นแผ่นว่านล้วน ๆ กดลงแม่พิมพ์เป็นองค์พระก็มี พระซุ้มกอที่เป็นชนิดเนื้อว่านนี้ปัจจุบันนี้เราจะพบก็แต่หน้าทองหรือเงินประกบไว้กับว่านอีกชั้นหนึ่งเท่านั้น เพราะเกือบ 80% พระทุ่งเศรษฐีเนื้อนี้มักจะกะเทาะกร่อนแตกหมด เรื่องพระซุ้มกอชนิดเนื้อว่านดังกล่าวนี้ (มีผู้ทำปลอมกันไว้มาก โดยเนื้อจะอยู่ในสภาพที่ดีเกินไป) นอกจากจะมีทำเป็นพิมพ์ประกบด้วยแผ่นทองคำ หรือแผ่นเงินปิดหน้าไว้แล้วชนิดที่เป็นว่านล้วน ๆ โดยไม่ประกบหน้าอะไรไว้เลยก็มี เราจะพบกับพระเนื้อว่านซึ่งมีเฉพาะพระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ชนิดมีลายกนกกับพิมพ์กลางเท่านั้น และก็ยังไม่เคยมีผู้ใดได้พบจากกรุอื่น ๆ ในภายหลังอีกเลย นอกจากกรุวัดพระบรมธาตุ ซึ่งได้แตกกรุออกมาเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2392 เท่านั้นเอง 
            5.   พระซุ้มกอ เนื้อชิน พระซุ้มกอชนิดเนื้อชินดังกล่าวนี้ นับเป็นพระอีกพิมพ์หนึ่งที่หายากกว่าชนิดเนื้อผงเสียอีก ความแตกต่างของพระซุ้มกอชนิดเนื้อชินเงินนี้ ยังแยกพิมพ์ออกได้เป็น 3 ขนาดดังนี้ 
                   พิมพ์ใหญ่ ความงามจะลึกคมพอ ๆ กับพระซุ้มกอชนิดเนื้อผงทีเดียว ทั้งนี้แม้แต่ขนาดก็จะเท่ากันด้วย แต่ด้านหลังแทนที่จะเป็นลายกาบหมาก กลับเป็นลายผ้าเหมือนพระเนื้อชินทั่ว ๆ ไป 
                   พิมพ์กลาง ดูกันในด้านความงามแล้ว พระซุ้มกอชนิดเนื้อชินพิมพ์นี้ จะงามกว่าชนิดเนื้อผงพิมพ์กลางมาก แต่ความตื้นและขนาดยังคงเท่ากัน ส่วนด้านหลังจะเป็นลายผ้าและต้นปาดราบก็มี 
                   พิมพ์เล็ก ในด้านความงามสำหรับพิมพ์นี้จะดีกว่าชนิดเนื้อผง แต่ขนาดจะเท่ากัน นอกจากนั้นทุก ๆ อย่างของพระซุ้มกอชนิดเนื้อชินพิมพ์เล็กนี้ จะมีเหมือนกับพระซุ้มกอเนื้อชินพิมพ์กลางทุกอย่าง
 
 
เจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐี
            จากความยิ่งใหญ่ของพระกำแพงซุ้มกอนี้เอง บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมพระเครื่องพิมพ์นี้ จึงไดรับเกียรติยกย่องให้อยู่ในอันดับ  เหนือกว่าพระทุ่งเศรษฐีที่ขึ้นจากเมืองกำแพงเพชรทั้งปวง แม้กระทั่งผู้เขียนเองก็ยังถึงกับขนานนามว่า พระซุ้มกอ พิมพ์นี้ว่า เจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐี ที่เป็นเช่นนี้มิใช่ว่า พระซุ้มกอ จะเป็นพระเครื่องที่งามเพียบพร้อมทั้งพิมพ์และเนื้อก็หาไม่ แต่พระพุทธคุณของพระซุ้มกอนี่ซิ คือหัวใจของความยิงใหญ่ที่ทำให้พระเครื่องพิมพ์นี้ ได้เป็นพระยอดนิยมอันดับ 1 อยู่ในอาณาจักรพระเครื่องมาจนปัจจุบันนี้
            พระซุ้มกอ หรือเจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐีเป็นยอดพระเครื่องอันดับนำของจังหวัดกำแพงเพชรที่ใครได้ไว้บูชาติดตัวแล้ว นับว่าเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง เพชรนพเก้า ทองคำมากมาย แก้วแหวนเงินทองค่าล้นปานใดก็ตาม บางครั้งก็หาเปรียบได้กับ พระซุ้มกอ ซึ่งสูงทั้งค่าและมีประสิทธิภาพซึ่งมนุษย์ไม่อาจเนรมิตได้ การมีชีวิตเพื่ออยู่ของท่านและสร้างแต่กรรมดีแล้ว หมั่นระลึกถึงบาปบุญคุณโทษใส่ใจในทั้งสามโลก แล้วพระซุ้มกอ ย่อมคุ้มครองท่านได้เสมอ และสิ่งที่น่าอิจฉาสำหรับผู้มีพระพิมพ์นี้ยิ่งขึ้นก็คือ ท่านจะอยู่อย่างคนมีโชคตลอดเวลาทีเดียว  

คำสำคัญ : พระเครื่อง, พระซุ้มกอ

ที่มา : http://www.dopratae.com/บทความ/เจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐี/117/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2562). เจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐี. สืบค้น 27 กรกฎาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1153&code_db=610005&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1153&code_db=610005&code_type=01

Google search

Mic

พระลีลากล้วยปิ้ง

พระลีลากล้วยปิ้ง

พระลีลากล้วยปิ้ง กรุผู้ใหญ่เชื้อ จังหวัดกำแพงเพชรพระลีลากรุผู้ใหญ่เชื้อ องค์นี้สภาพสวยคมชัดลึก ดินกรุยังติดอยู่พอมองเห็นเนื้อพระ พระเนื้อแกร่งแห้ง พระกรุนี้เนื้อจะหยาบ ราคาจึงถูกทั้งที่แตกกรุในเขตนครชุมเหมือนกับพระกรุอื่นๆ

เผยแพร่เมื่อ 22-02-2017 ผู้เช้าชม 5,407

กรุอาวาสน้อย

กรุอาวาสน้อย

ที่ตั้งกรุพระวัดอาวาสน้อย เข้าทางตรงข้ามกรุอาวาสใหญ่ไปประมาณ 800 เมตร ประเภทพระที่พบ ได้แก่ พระฝักดาบ พระลีลากำแพง พระเชยคางข้างเม็ดพิมพ์กลาง พระประธานพร พระท่ามะปราง พระนางพญาพิมพ์ใหญ่ พระเปิดโลก พระกำแพงขาโต๊ะ พระกำแพงฐานสำเภา พระกำแพงคืบ พระลีลากำแพง พระลีลาพิมพ์ใหญ่-กลาง พระประธานพร พระกำแพงขาวพิมพ์กลาง พระยอดขุนพล พระนางพญาพิมพ์สดุ้งมาร พระซุ้มยอ พระกำแพงขาโต๊ะ พระกำแพงพิมพ์รัศมี พระกำแพงห้าร้อย และพิมพ์อื่นๆ

เผยแพร่เมื่อ 20-08-2019 ผู้เช้าชม 4,421

พระเครื่องเนื้อดินกรุ

พระเครื่องเนื้อดินกรุ

การพิจารณาพระเนื้อดินก็พอๆ กับพระเนื้อชิน กล่าวคือต้องจดจำพุทธลักษณะรูปพิมพ์ของพระแต่ละกรุให้มากเป็นหลัก ให้พิจารณาว่าพระกรุนี้เป็นอย่างนี้ และพระกรุนั่นเป็นอย่างนั้น เป็นต้น ผิวของพระเครื่องเนื้อดิน พระส่วนมากเมื่อขึ้นจากกรุจะจับเกือบติดแน่นกับองค์พระหนามาก ขนาดนำมาล้างและขัดปัดแล้วก็ยังไม่เป็นเนื้อพระ และส่วนมากคราบกรุจะเคลือบติดแน่นอยู่ตามซอกขององค์พระเครื่องโดยธรรมชาติ จะแตกต่างกับคราบที่เลียนแบบใช้ดินใหม่ป้ายติดเฉพาะบนผิวจะไม่แน่นเหมือนคราบธรรมชาติ บางกรุองค์พระจะไม่มีคราบกรุก็มี

เผยแพร่เมื่อ 14-08-2019 ผู้เช้าชม 9,584

สมเด็จพบกรุพระ

สมเด็จพบกรุพระ

ตามตำนานท่านพระมหาโต ได้ขึ้นไปเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชรสมัยอายุท่าน 62 ปี คือตรงกับ พ.ศ. 2392 ประจำวัดที่วัดเสด็จ ท่านได้อ่านศิลาจารึกอักษรไทยโบราณ ซึ่งอยู่ในโบสถ์วัดเสด็จ (คือพบเป็นศิลาจารึกหลักที่ 3) ได้ความว่า มีพระเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง คือตรงข้ามกับตัวเมือง สมัยนั้นพระยาน้อยซึ่งเป็นเจ้าเมือง เมื่อทราบข่าวจึงได้เป่าร้องให้ชาวบ้านไปช่วยกันค้นหาจนพบ เป็นพระเจดีย์ชำรุดอยู่ 3 องค์ ต่อมาสมัยผู้ว่าราชการอ๋อง ปี พ.ศ. 2444 พญาตะก่า ได้ขออนุญาตรื้อสร้างเป็นเจดีย์องค์เดียวคือ เจดีย์วัดพระบรมธาตุปัจจุบัน มีพระเครื่องพิมพ์เนื้อชินและเนื้อดินแบบพิมพ์ต่างๆ มากมาย

เผยแพร่เมื่อ 15-08-2019 ผู้เช้าชม 2,978

กรุวัดคูยาง

กรุวัดคูยาง

เมื่อพูดถึงพระกรุวัดคูยาง ก็อดที่จะกล่าวถึงพระสงฆ์ผู้ที่คนเคารพนับถือว่าเป็นผู้ทรงวิทยาคุณ ขนานนามว่าพระเกจิอาจารย์เสียมิได้ โดยเฉพาะในส่วนของวัดคูยางแล้วก็นับว่าเป็นที่รู้จักและยอมรับนับถือของคนทั่วไป ไม่น้อยไปกว่าวัดอื่นๆ เลย เช่น พระครูธรรมาธิมุตมุนี (กลึง) พระครูเมธีคณานุรักษ์ (ปลั่ง) ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระวิเชียรโมลี และพระวิเชียรธรรมคณี (ทองพาน) อดีตเจ้าอาวาสวัดคูยางและอดีตเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชรทั้ง 3 รูป เป็นต้น โดยเฉพาะพระครูธรรมาธิมุตมุนี (กลึง) ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยกับหลวงพ่อขำ อินทะปัญญา วัดลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร หลวงพ่อศุข วัดปากคลอง มะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท และหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร เป็นต้น

เผยแพร่เมื่อ 23-08-2019 ผู้เช้าชม 5,002

พระเครื่องสกุลกำแพงเพชร

พระเครื่องสกุลกำแพงเพชร

พระเครื่องสกุลกำแพงเพชร ปรากฏหลักฐานชัดเจนจากการพบจารึกบนแผ่นลานเงินในกรุขณะรื้อพระเจดีย์องค์ใหญ่ของวัดพระบรมธาตุ เมืองนครชุม ในพระราชนิพนธ์ เรื่อง เสด็จประพาสกำแพงเพชร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเขียนเมื่อ พ.ศ. 2449 ได้กล่าวถึงจารึกบนแผ่นลานทอง อันมีข้อความเกี่ยวกับการขุดพบพระต่างๆ ตามกรุต่างๆ หลักฐานชิ้นสำคัญ อันเกี่ยวกับเมืองกำแพงเพชร ได้แก่ ศิลาจารึกนครชุม ที่กล่าวถึงการสร้างเมือง โดยพระมหาธรรมราชาลิไท ประมาณ พ.ศ. 1279 จากหลักฐานการศึกษา เทียบเคียงทั้งหลายมีข้อสันนิษฐาน ที่น่าเชื่อถือได้โดยสรุปว่า พระซุ้มกอกำแพงเพชรนั้น สร้างโดยพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งดำรงพระยศผู้ครองเมืองชากังราว ในฐานะเมืองหน้าด่านสำคัญของอาณาจักรสุโขทัย ก่อนที่จะทรงได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุโขทัยและปลุกเสกโดยพระฤๅษี ดังนั้นอายุการสร้างของพระซุ้มกอกำแพงเพชรจนถึงปัจจุบันจึงมีประมาณ 700-800 ปี สถานที่ขุดค้นพบบริเวณฝั่งตะวันตกของลำแม่น้ำปิง จ.กำแพงเพชร เป็นบริเวณทุ่งกว้างที่มีชื่อว่า “ลานทุ่งเศรษฐี” หรือโบราณเรียกว่า “เมืองนครชุมเก่า” บริเวณลานทุ่งเศรษฐีอันกว้างใหญ่นี้ ปรากฏซากโบราณสถานอยู่มากมาย เป็นชื่อวัดนับสิบกว่าวัดด้วยกัน พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์มีกนก 

เผยแพร่เมื่อ 14-08-2019 ผู้เช้าชม 7,356

พระซุ้มเสมา

พระซุ้มเสมา

พระซุ้มเสมาทิศ มีผู้ค้นพบมากมายหลากหลายกรุ ในแถบพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ล้วนเป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงโด่งดังทั้งสิ้น ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ 2450 เป็นต้นมาจน ประมาณ พ.ศ 2490-6 มีการเปิดกรุอย่างเป็นทางการและมีผู้พบพระซุ้มเสมาทิศ ทั้งที่กรุวัดอรัญญิก จังหวัดพิษณุโลก โดยพบพร้อมกับพระชินราชใบมะยม มีทั้งเนื้อดิน และชินแข็งสภาพผุกร่อนไม่สมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับที่พบตามวัดร้าง และเนินดินตามเขตเมืองเก่าในจังหวัดชัยนาท มีบางส่วนพบที่จังหวัดกำแพงเพชร กรุวัดอาวาสใหญ่ส่วนมากเป็นพิมพ์กลาง เนื้อดินและเนื้อชินแก่ตะกั่วมีไขขาวแซมตามซอกองค์พระและที่กรุวัดอาวาสน้อย เนื้อชินจะเป็นลักษณะเป็นชินแข็งมีสนิมตีนกาและตามรอยผุระเบิดจะเป็นปื้นเกร็ดกระดี่มีปรอทขาวสีซีดแห้งสมอายุ เมื่อสัมผัสถูกความชื้นนานไปจะกลับเป็นสีเทาเข้มจนเกือบดำ กรุสำคัญที่ถือได้ว่ามีพระพิมพ์ซุ้มเสมาทิศทุกพิมพ์อยู่เป็นจำนวนมาก 

เผยแพร่เมื่อ 22-02-2017 ผู้เช้าชม 6,690

พระเม็ดขนุน

พระเม็ดขนุน

พระลีลาเม็ดขนุนนั้น เป็นพระดินเผา เหมือนพระซุ้มกอ พระนางกำแพง พระพลูจีบ พระกลีบจำปา และพิมพ์อื่นๆ เป็นหลายสิบพิมพ์ เป็นพระดินเผาที่เป็นดินบริสุทธิ์ไม่มีกรวดทรายผสม มีแต่ทรายเงินทรายทองผสมเป็นบางส่วนเท่านั้น เนื้อดินเผาจึงดูนุ่มมีเอกลักษณ์ของพระดินเผา จังหวัดกำแพงเพชร 

เผยแพร่เมื่อ 21-02-2017 ผู้เช้าชม 27,594

กรุวัดหนองลังกา

กรุวัดหนองลังกา

จากบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองกำแพงเพชร ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกสู่ตำบลนครชุม ประมาณ 850 เมตร จะพบทางแยกเข้าซอยทางด้านซ้ายมือบริเวณตรงข้ามสถานีขนส่งจังหวัดกำแพงเพชร วัดหนองลังกาอยู่ลึกเข้าไปในซอยประมาณ 540 เมตร ที่ตั้งกรุพระวัดหนองลังกา อยู่ทิศตะวันออกของกรุวัดหนองพิกุล ประมาณ 200 เมตร ประเภทพระที่พบ ได้แก่ พระซุ้มกอกนกพิมพ์ใหญ่ พระซุ้มกอพิมพ์เล็ก พระนางพญากำแพง พระซุ้มกอพิมพ์กลาง พระนางพญากำแพงพิมพ์ใหญ่ พระกลีบบัว และพิมพ์อื่นๆ

เผยแพร่เมื่อ 19-08-2019 ผู้เช้าชม 3,032

พระซุ้มยอ

พระซุ้มยอ

พระซุ้มยอนี้ นักพระเครื่องสมัยก่อนเห็นลวดลายเรือนแก้วของพระเครื่องพิมพ์นี้ใหญ่เป็นตุ่มคล้ายลูกยอ จึงเรียกกันว่า “ ปรกลูกยอ “ เนื้อดินมักมีคราบกรุจับและมีว่านดอกมะขามอยู่ทั่วไป เนื้อดินมีทั้งชนิดเนื้อค่อนข้างหยาบและเนื้อละเอียดนุ่ม มีทั้งกลังเรียบและหลังเบี้ย เนื้อชินเป็นชินเงินสนิมเขียว สนิมปรอท และสนิมดำก็มี สำหรับชนิดเนื้อชินมักทำหลังเป็นร่อง หลังเรียบก็มีบ้างแต่ก็มีน้อยมาก ขนาดมี 2 ขนาด ขนาดเล็กและขนาดใหญ่แต่ว่าต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขนาดใหญ่สูงประมาณ 2.5 ซม.กว้าง 1.5 ซม.” 
พระกำแพงซุ้มยอพบที่กรุวัดพระบรมธาตุ ทั้งชนิดเนื้อชินและเนื้อดิน จากนั้นก็พบที่บริเวณทุ่งเศรษฐีที่กรุหนองพิกุล และกรุซุ้มกอ นับว่าเป็นพระเครื่องทุ่งเศรษฐีอีกพิมพ์หนึ่งที่มีชื่อเสียงเคียงคู่มากับบรรดาพระชั้นนำของเมืองกำแพงเพชร ปัจจุบันนี้พระกำแพงซุ้มยอเป็นพระที่หายากไปแล้ว ราคาค่านิยมยังไม่สูงมากเหมือนกับพระกำแพงซุ้มกอ แต่ก็ถือว่าเป็นพระที่นำมาอาราธนาบูชาติดตัวได้อย่างเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าพระพิมพ์อื่นๆ

เผยแพร่เมื่อ 19-08-2019 ผู้เช้าชม 12,634