พระเครื่องสกุลกำแพงเพชร

พระเครื่องสกุลกำแพงเพชร

เผยแพร่เมื่อ 14-08-2019 ผู้ชม 6,871

[16.4733496, 99.5203839, พระเครื่องสกุลกำแพงเพชร]

บทนำ
         บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านพระเครื่องของจังหวัดกำแพงเพชร พระเครื่องกำแพงเพชรมีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัยและได้รับความนิยมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน พระเครื่องที่สำคัญและโด่งดังมากของจังหวัดกำแพงเพชรก็คือพระเครื่องกรุทุ่งเศรษฐีที่อยู่บริเวณเมืองเก่านครชุม ได้แก่ กรุวัดบรมธาตุ กรุเจดีย์กลางทุ่ง กรุวัดพิกุล กรุวัดซุ้มกอ กรุบ้านเศรษฐี กรุฤๅษี กรุวัดน้อย กรุวัดหนองลังกา กรุหัวยาง กรุคลองไพร กรุท่าเดื่อ และกรุโน่นม่วง เป็นต้น ส่วนพระเครื่องที่มีชื่อเสียงมากของกรุทุ่งเศรษฐีก็คือพระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงเม็ดขนุน และพระกำแพงพลูจีบ เป็นต้น พระกำแพงซุ้มกอจัดเป็นหนึ่งในพระเครื่องเบญจภาคีอันเป็นตัวแทนความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในยุคสุโขทัยและมีพุทธคุณทางด้านโภคทรัพย์ ซึ่งสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของพุทธศาสนิกชนสมัยโบราณได้เป็นอย่างดี

ประวัติความเป็นมาพระเครื่องกำแพงเพชร
         กำแพงเพชรในปัจจุบันนั้น ได้รวมเมืองโบราณไว้หลายเมือง เช่น เมืองชากังราว เมืองนครชุม เมืองแปบ เมืองเทพนคร เมืองพาน เมืองคณฑี เมืองพังคา เมืองโกสัมพี เมืองรอ เมืองแสนตอ และเมืองไตรตรึงษ์ เป็นต้น จังหวัดกำแพงเพชรเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยกรุงสุโขทัยได้มีการสร้างวัดวาอารามไว้มากมายทั้งทางด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ต่อมาได้มีการรื้อพระศรีรัตนมหาธาตุเจดีย์ที่เมืองนครชุมซึ่งได้พบตำนานการสร้างพระพิมพ์ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างพระพิมพ์หรือที่เราเรียกว่าพระเครื่องไว้อย่างมโหฬารครั้งหนึ่งทีเดียว ไม่ใช่แต่พระเครื่องเท่านั้นพระพุทธรูปต่างๆ และถาวรวัตถุต่างๆ ก็คงสร้างไว้อย่างมากมายเช่นกัน และพระเครื่องที่สำคัญและโด่งดังมากของจังหวัดนี้ก็คือพระเครื่องตระกูลทุ่งเศรษฐีที่อยู่บริเวณเมืองเก่านครชุมนั่นเอง นครชุมเมืองโบราณอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงหลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบันคือกำแพงเมืองซึ่งเป็นมูลดินสูง 2-3 เมตร รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวไปตามแม่น้ำปิงตามแผนที่ ที่ได้สำรวจไว้ วัดบรมธาตุจะอยู่ใจกลางเมืองพอดี ด้านตะวันตกจรดคลองสวนหมากยังมีแนวคันคูอยู่บางตอนกว้าง 500 เมตรเศษ กำแพงด้านใต้มีแนวคันดินเป็นกำแพงเมือง 2 ชั้น ด้านตะวันออกยังมีแนวกำแพงหลงเหลืออยู่ริมแม่น้ำ 150 เมตรเศษ กำแพงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือพังลงน้ำไปหมด วัดที่อยู่ในเขตกำแพงเมืองมีอยู่ 2-3 วัด และวัดที่อยู่นอกกำแพงเมืองอีกหลายวัด ซึ่งอยู่ในบริเวณทุ่งเศรษฐี และเป็นที่มาของกรุพระเมืองกำแพงเพชรที่โด่งดังมาจนทุกวันนี้ พระเครื่องจังหวัดกำแพงเพชรกรุพระที่สำคัญๆ พระกรุเมืองกำแพงเพชรของเมืองนครชุมได้แก่ กรุวัดบรมธาตุ กรุเจดีย์กลางทุ่ง กรุวัดพิกุล กรุวัดซุ้มกอ กรุบ้านเศรษฐี กรุฤๅษี กรุวัดน้อย กรุวัดหนองลังกา กรุหัวยาง กรุคลองไพร กรุท่าเดื่อ และกรุโน่นม่วง เป็นต้น พระเครื่องที่มีชื่อเสียงมากของกรุทุ่งเศรษฐีก็คือพระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงเม็ดขนุน พระกำแพงพลูจีบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบพระเครื่องต่างๆ ที่เป็นที่นิยมทั้งสิ้นก็คือพระกำแพงกลีบจำปา พระกำแพงเปิดโลก พระกำแพงกลีบบัว พระยอดขุนพล พระกำแพงเม็ดมะลื่น พระนางกำแพงพิมพ์ต่างๆ เป็นต้น พระที่พบในบริเวณทุ่งเศรษฐีนี้ ถ้าเป็นพระเนื้อดินเผาแล้วจะมีเนื้อหาที่ละเอียดอ่อนหนึกนุ่มเป็นพิเศษ จนกล่าวกันติดปากว่า "เนื้อทุ่ง" ซึ่งหมายถึงพระเนื้อดินที่ละเอียดหนึกนุ่มนั่นเอง (แทน ท่าพระจันทร์, มปป, ออนไลน์) 

ประเภทของพระเครื่องกำแพงเพชร
         ในบรรดาพระเครื่องของจังหวัดกำแพงเพชร พระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่มีกระหนก (กระหนกหมายถึงลวดลาย) พระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ไม่มีกระหนก (ซุ้มกอดำ) และพระกำแพงลีลาเม็ดขนุน เป็นพระยอดนิยมของพระเครื่องจังหวัดกำแพงเพชร พระเครื่องกำแพงเพชรมีมากมายหลายชนิดเรียกชื่อต่าง ๆ กัน ดังนี้ (ฐานข้อมูลท้องถิ่น มรภ.กำแพงเพชร, ออนไลน์) 
         1. เรียกชื่อตามสถานที่ หรือกรุที่พระเครื่องบรรจุอยู่ เช่น กำแพงทุ่งเศรษฐีใช้เรียกชื่อพระเครื่องทุกชนิดที่ได้จากบริเวณเมืองเก่าฝั่งตะวันตกที่เรียกกันว่า“ทุ่งเศรษฐี”และวงการนักพระเครื่องทั่วไป เมื่อกล่าวถึงพระกำแพงเพชรหรือพระที่อื่นคล้ายพระกำแพงเพชร ก็เติมคำว่า“กำแพง”ลงข้างหน้า ชื่อพระนั้น ๆ เช่น เรียกพระลีลาศ(เดิน)ของจังหวัดกำแพงเพชรว่า “กำแพงเขย่ง” เรียกพระสุพรรณว่า“กำแพงเขย่งสุพรรณ”พระกำแพงเพชรที่มีลักษณะคล้ายกับพระอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงมาก่อนเรียกชื่อตามนั้น เช่น กำแพงท่ามะปราง
         2. เรียกชื่อตามพุทธลักษณะอาการขององค์พระ เช่น กำแพงลีลาศ (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กำแพงเขย่ง” เพราะดูอาการเดินนั้นเหมือนเขย่งพระบาทข้างหนึ่ง) กำแพงประทานพร กำแพงนาคปรก เป็นต้น
         3. เรียกตามสัณฐานของพระ เช่น กำแพงเม็ดขนุน กำแพงพลูจีบ กำแพงกลีบจำปา กำแพงกลีบบัว กำแพงเม็ดมะเคล็ด เป็นต้น
         4. เรียกตามลักษณะประภามณฑล หรือซุ้มของพระ เช่น กำแพงซุ้มกอ กำแพงซุ้มแก้ว เป็นต้น
         5. เรียกตามเนื้อวัสดุที่สร้าง เช่น ว่านหน้าเงิน ว่านหน้าทอง และกำแพงสำริด เป็นต้น
         6. เรียกชื่อตามจำนวนพระ เช่น กำแพงสอง กำแพงสาม กำแพงห้าพระองค์ กำแพงสิบชาติ กำแพงห้าร้อย เป็นต้น

กรุพระต่างๆ ในจังหวัดกำแพงเพชร
         จากการได้ลงภาคสนามของ อ.แป๊ะ สายไหม ที่เคยขับรถไปจังหวัดกำแพงเพชรเพื่อศึกษาสถานที่จริงพร้อมๆ กับการไปหาเช่าพระจากคนในท้องถิ่นพบว่าจำนวนกรุทั้งหมดที่มีการกล่าวถึงแต่ไม่มีใครรวบรวมไว้ อ.แป๊ะรวบรวมได้ 53 กรุ ถ้าถามว่าทุกกรุมีพระซุ้มกออยู่ด้วยหรือไม่ คำถามนี้ต้องหาคำตอบต่อไปในจำนวน 53 กรุนี้จะมีกรุทุ่งเศรษฐีรวมอยู่ด้วยมีจำนวน 9 กรุ และไม่มีใครกล้ายืนยันว่าในจำนวนทั้ง 9 กรุนั้นจะมีพระซุ้มกอรวมอยู่ด้วยทุกกรุ ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่มีการยืนยันจากผู้ขุดพบพระซุ้มกอ (เก่ง กำแพง, ออนไลน์) ส่วนวิธีการแบ่งชนิดของกรุโดยทั่วไปอาศัยเส้นลำน้ำแม่ปิงเป็นหลัก แนวลำน้ำแม่ปิงไหลจากเหนือลงใต้ ให้นับทางฝั่งขวาของลำน้ำซึ่งเป็นทุ่งกว้างอยู่ตรงข้ามตัวเมืองกำแพงเพชรเรียกว่าทุ่งเศรษฐี หรือกรุทุ่งเศรษฐี และ อีกสองกรุที่จะกล่าวไว้ในบทความนี้ก็คือ กรุงเมือง และกรุนอกทุ่ง
         กรุทุ่งเศรษฐี (9 กรุ) 1) วัดพระบรมธาตุ 2) วัดหนองพิกุล (นิยมเรียกสั้นๆว่า วัดพิกุล) 3) วัดซุ้มกอ หรือนาตาคำ 4) บ้านเศรษฐี 5) วัดฤาษี 6) วัดน้อย หรือ ซุ้มกอดำ 7) วัดหนองลังกา 8) วัดเจดีย์กลางทุ่ง 9) วัดหัวยาง
         กรุเมือง (20 กรุ) ส่วนฝั่งซ้ายของลำน้ำปิงซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองและเป็นเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร รวมทั้งพระราชวังเก่าที่มีวัดพระแก้วอยู่ภายในด้วยรวมเรียกว่า กรุเมือง มีจำนวนทั้งสิ้น 20 กรุตัวอย่างชื่อกรุในกรุเมืองที่มีชื่อเสียง เช่น กรุวัดพระแก้ว กรุวัดพระธาตุ กรุวัดป่ามืด กรุวัดช้างล้อม กรุวัดอาวาสน้อย กรุวัดอาวาสใหญ่ กรุวัดตะแบกลาย กรุวัดกะโลทัย กรุวัดป่าแลง กรุวัดนาคเจ็ดเศียร เป็นต้น
         กรุนอกทุ่ง (24 กรุ) ก็จะหมายถึงกรุอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากกรุทุ่งเศรษฐีและกรุเมือง ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 24 กรุ อาทิ กรุนอกเมือง กรุวัดวังพระธาตุ กรุลานดอกไม้ กรุหน้าศูนย์ กรุผู้ใหญ่เชื้อ กรุเทคนิค กรุวัดหัวเขา กรุตาพุ่ม และกรุวัดเซิงหวาย เป็นต้น
         นอกจากนี้จากการได้เดินทางไปหาเช่าพระซุ้มกอที่ จ.กำแพงเพชร เป็นเวลานับสิบปี เซียนพระต่างๆ รวมทั้งผู้ที่ขุดพระได้มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กรุลานดอกไม้จัดเป็นกรุทุ่งเศรษฐีเพราะอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำปิง ตอนที่ยังไม่รู้ชัดว่ากรุลานดอกไม้อยู่ที่ไหนก็จำต้องเชื่อไว้ก่อน หลังจากได้เดินทางไปที่กรุลานดอกไม้จริงๆ ซึ่งต้องขับรถขึ้นไปทาง จ.ตาก เป็นระยะทางราว 26 กม. ด้วยทางรถยนต์ ทำให้ อ.แป๊ะ สายไหม ไม่ยอมจัดให้กรุลานดอกไม้อยู่ในทุ่งเศรษฐี ด้วยเหตุผลสองประการ 1) กรุลานดอกไม้ถึงแม้ว่าจะอยู่ฝั่งเดียวทุ่งเศรษฐี แต่ระยะทางนั้นห่างออกไปถึง 26 กม. ถ้าเป็นสมัยกรุงสุโขทัยต้องใช้เวลาเดินทางไม่น้อยกว่าหนึ่งวันและทางก็จะเป็นป่ารกชัฏ ซึ่งตรงข้ามกับบริเวณทุ่งเศรษฐีที่มีอาณาบริเวณเดียว แต่ละที่จะห่างกันเพียง 200-300 เมตร สามารถเดินไปมาหาสู่กันได้ 2) พระซุ้มกอที่พบในกรุลานดอกไม้นั้นมีความแตกต่างจากของทุ่งเศรษฐีอย่างชัดเจน ทั้งพิมพ์และมวลสาร เรื่องของพิมพ์พระนั้นพอจะอนุโลมกันได้ เพราะต่างหมู่บ้านก็คิดพิมพ์ที่เป็นของตัวเอง ส่วนวิธีการสร้างโดยเฉพาะการใช้มวลสารนั้นมักจะมีการลอกเลียนแบบกัน ดังจะเห็นได้จากพระซุ้มกอในทุ่งส่วนใหญ่จะมีเนื้อคล้ายกัน พูดง่ายๆว่าการคัดเลือกมวลสารนั้นจะมีการลอกเลียนแบบกัน เมื่อกรุลานดอกไม้มีพระที่แตกต่างออกไป ก็ไม่สมควรจะจัดอยู่ในกรุทุ่งเศรษฐี นอกเสียจากหวังผลประโยชน์ในราคาพระจนลืมความเป็นจริง
         ทำไมพิมพ์พระซุ้มกอกับชื่อกรุในหนังสือหลายเล่มจึงไม่เหมือนกัน นักสะสมรุ่นปัจจุบันหลายท่านได้พระซุ้มกอจากหลายแนวทาง ส่วนใหญ่แล้วได้จากการที่มีคนนำมาให้เช่าหรือมาขายให้ คนที่ขุดพบแล้วนำมาปล่อยให้เซียนพระส่วนใหญ่ก็จะไม่พูดความจริงด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยและไม่ต้องการให้ใครไปแย่งขุด บ้างก็แต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อให้พระตัวเองมีราคา สรุปแล้วการหาความจริงจากหนังสือเป็นเรื่องที่ยากมาก หากท่านได้มีโอกาสไปพบกับคนขุดจริงๆ ซึ่งได้พระมาเป็นมือแรก ข้อมูลเรื่องกรุก็น่าจะเชื่อถือได้มากกว่าครึ่ง
         ทำไมคนทั่วไปจึงนิยมพระกรุทุ่งเศรษฐีมากกว่ากรุอื่น  เหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระกรุทุ่งเศรษฐีได้รับความนิยมมากกว่ากรุอื่น ๆ ก็คือเรื่องประวัติการสร้างพระ คนส่วนใหญ่เคยได้ยินเรื่องราวของแผ่นลานเงินที่จารึกประวัติการสร้างพระซุ้มกอกรุบรมธาตุที่มีบทความตอนหนึ่งว่า " ใครมีกูไว้ไม่จน "

พระลีลา ทุ่งเศรษฐี พิมพ์เม็ดขนุน
         พระลีลาเม็ดขนุน หรือกำแพงเม็ดขนุน หรือกำแพงเขย่งก็เรียก ในอดีตเป็นพระที่ได้รับความนิยมสูงกว่าพระกำแพงซุ้มกอ และถูกจัดอยู่ในชุดพระเบญจภาคีชุดใหญ่ แต่ภายหลัง พระกำแพงเม็ดขนุนเป็นพระที่ค่อนข้างหายาก และเป็นพระที่มีลักษณะทรงยาว ซึ่งไม่เข้าชุดกับพระเบญจภาคีที่เหลือ ภายหลังจึงได้มีการเปลี่ยนเอาพระกำแพงซุ้มกอเข้าไปแทนที่ (ฐานข้อมูลท้องถิ่น มรภ.กำแพงเพชร, มปป, ออนไลน์)
         พุทธลักษณะ
         พระกำแพงเม็ดขนุน เป็นพระปางลีลาศิลปะสุโขทัย แบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก ส่วนเนื้อพระกำแพงเม็ดขนุน แบ่งออกได้ดังนี้
              1. เนื้อดิน
              2. เนื้อว่านล้วนๆ
              3. เนื้อว่านหน้าทอง และเนื้อว่านหน้าเงิน
              4. เนื้อชิน
         ส่วนเนื้อที่ได้รับความนิยมที่สุดคือเนื้อดิน มีด้วยกันหลายสี เช่น เนื้อสีแดง เนื้อสีเหลือง เนื้อสีเขียว เนื้อสีดำ และเนื้อสีผ่าน (คือมีมากกว่า 1 สี ในองค์เดียวกัน) รองลงมาก็จะเป็นเนื้อว่านหน้าทอง และว่านหน้าเงิน แต่ก็เป็นเนื้อที่หายากมากเช่นกัน
         หลักการพิจารณาตำหนิพิมพ์ กำแพงเม็ดขนุน (ด้านหน้า)
              1. ให้ดูขอบข้างก่อนเริ่มจากด้านบน จะเป็นรอยเฉียงเป็นเส้นตรง นั่นคือรอยขอบแม่พิมพ์เดิม
              2. ขอบด้านนอกจากเกศพระถึงปลายเท้าด้านซ้ายมือพระ ให้สังเกตจะลาดชันกว่าด้านขวามือพระ
              3. ขอบข้างด้านขวามือบริเวณแนวกระจังตามลูกศรชี้ จะมีร่องเป็นรูปตัวเอ็น (7 1) เอียงๆ แต่จุดนี้ค่อนข้างติดยาก เนื่องจากส่วนใหญ่จะสึกหมด หรือตอนกดพิมพ์ เนื้อจะอุดร่องตัวเอ็น (7 1)ทำให้มองไม่เห็น
              4. ขอบข้างด้านซ้าย บริเวณแนวปลายจมูก และบริเวณแนวมุมแหลมรักแร้ซ้ายพระด้านบน จะมีเนื้อเกินทั้งสองจุด แต่ส่วนใหญ่จะสึกหมดเห็นแค่ราง ๆ เท่านั้น
              5. ร่องเส้นซุ้มด้านขวามือพระช่วงระหว่างเกศพระถึงหัวไหล่พระจะเป็นร่องโค้งมากกว่าด้านซ้าย และจะเอียงโค้งลงไปทางซ้ายมือพระ ส่วนภายในร่องจะค่อนข้างกว้างกว่าทุกตำแหน่งของร่องซุ้ม

พระกำแพงซุ้มกอ
         จากพระราชนิพนธ์ประพาสต้นกำแพงเพชรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกไว้ว่า นายชิด มหาดเล็กหลานพระยาประธานนคโรทัยจางวางเมืองอุทัยธานีเดิมได้รับราชการในกระทรวงมหาดไทยเป็นตำแหน่งนายอำเภอ อยู่ในมณฑลนครชัยศรี ป่วยลาออกมารักษาตัวอยู่บ้านภรรยาที่เมืองกำแพงเพชร ไปได้ตำนานพระพิมพ์มาให้ว่า มีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระยาศรีธรรมาโศกราช จะบำรุงพระพุทธศาสนาจึงไปเชิญพระธาตุมาแต่ลังกาสร้างเจดีย์บรรจุไว้แควน้ำปิงและน้ำยมเป็นจำนวนพระเจดีย์ 84,000 องค์ พระฤาษีจึงได้สร้างพระพิมพ์ขึ้นถวายพระยาศรีธรรมาโศกราชเป็นอุปการะ จึงได้บรรจุพระธาตุและพระพิมพ์ไว้ในพระเจดีย์แต่นั้นมา เหตุที่จะพบพระพิมพ์กำแพงเพชรขึ้นนี้ว่า เมื่อปีระกาเอกศก  จุลศักราช 1211 สมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆัง ขึ้นมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร ได้อ่านศิลาจารึกไทยโบราณมีอยู่ที่วัดเสด็จได้ความว่า มีพระเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่ริมน้ำปิง ฝั่งตะวันตกตรงข้ามเมือง จึงได้ค้นคว้ากันขึ้น พบพระเจดีย์สามองค์นี้ชำรุดทั้งสามองค์ เมื่อพญาตะก่าขอสร้างรวมเป็นองค์เดียวรื้อพระเจดีย์ลงจึงได้พบพระพิมพ์กับได้ลานเงินจารึกอักษรขอม เป็นตำนานสร้างพระพิมพ์และวิธีบูชา นายชิดได้คัดตำนานและวิธีบูชามาให้ด้วย ของถวายในเมืองกำแพงเพชรนี้มีพระพิมพ์เป็นพื้น ได้คัดตำนานติดท้ายหนังสือเล่มนี้ไว้ด้วย
         เมืองกำแพงเพชร วันที่ 25 สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก 125 ข้าพระพุทธเจ้า นายชิด มหาดเล็กเวร หลานพระยานคโรทัย จางวางเมืองอุทัยธานี เดิมได้รับราชการในกระทรวงมหาดไทย เป็นตำแหน่งนายอำเภอ อยู่มณฑลนครชัยศรี ข้าพระพุทธเจ้า เจ็บทุพลภาพจึงกราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่ราชการขึ้นมารักษาตัวอยู่บ้านภรรยาที่เมืองกำแพงเพชร ข้าพระพุทธเจ้าได้สืบเสาะหาพระพิมพ์ของโบราณ ซึ่งมีผู้ขุดค้นได้ในเมืองกำแพงเพชรนี้ได้ไว้หลายอย่างพร้อมกัน พิมพ์แบบทำพระหนึ่งแบบ ขอพระราชทานทูลเกล้าถวาย ข้าพระพุทธเจ้า ได้สืบถามผู้เฒ่าผู้แก่ถึงตำนานพระพิมพ์เหล่านี้ อันเป็นที่เชื่อถือกันในแขวงเมืองกำแพงเพชรสืบมาแต่ก่อน ได้ความว่า พระพิมพ์เมืองกำแพงเพชรนี้ มีมหาชนเป็นอันมากนิยมนับถือลือชามาช้านานว่า มีคุณาสงส์แก่ผู้สักการบูชาในปัจจุบัน หรือมีอานุภาพทำให้สำเร็จผลความปรารถนาแห่งผู้สักการบูชาด้วยอเนกประการ สัณฐานของพระพุทธรูปพิมพ์นี้ ตามที่มีผู้ได้พบเห็นแล้วมีสามอย่าง คือ พระลีลาศ (ที่เรียกว่าพระเดิน) อย่าง1 พระยืนอย่าง 1 พระนั่งสมาธิอย่าง 1 วัตถุที่ทำเป็นองค์พระต่างกันเป็น 4 อย่างคือ ดีบุกหรือตะกั่ว อย่าง 1 ว่านอย่าง 1 เกสรอย่าง 1 ดินอย่าง 1 พระพิมพ์นี้ ครั้งแรกที่มหาชนจะได้พบเห็นนั้น ได้ในเจดีย์วัด พระธาตุฝั่งตะวันตกเป็นเดิม และการสร้างพระพิมพ์นี้ขึ้นนั้น ตามสามัญนิยมว่า ณ กาลครั้งหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว มีพระบรมกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระยาศรีธรรมาโศกราช เป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ทรงมหิทธิเดชานุภาพแผ่ไปในทิศานุทิศ ตลอดจนถึงลังกาทวีปรวบรวมพระบรมธาตุ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำมาสร้างสถูปเจดีย์บรรจุไว้ในแควน้ำปิงและน้ำยม เป็นต้นเป็นจำนวนเจดีย์ 84,000 องค์ ครั้งนั้นพระฤาษี จึงได้กระทำพิธีสร้างพระพิมพ์เหล่านี้ถวายแก่พระยาศรีธรรมาโศกราช เป็นการอุปการะในพระพุทธศาสนา ครั้งแรกที่จะได้พบพระเจดีย์ บรรจุพระบรมธาตุและพระพิมพ์เหล่านี้ เดิม ณ ปีระกาเอกศกจุลศักราช 1211 สมเด็จพุฒาจารย์(โต) วัดระฆัง กรุงเทพ ขึ้นมาเยี่ยมญาติ ณ เมืองกำแพงเพชร ได้อ่านแผ่นศิลาจารึกอักษรไทยโบราณที่ประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดเสด็จ ได้ความว่า... มีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุ อยู่น้ำปิงฝั่งตะวันตก ตรงหน้าเมืองเก่าข้ามสามองค์ ขณะนั้นพระยากำแพง(น้อย) ผู้ว่าราชการเมืองได้จัดการ ค้นคว้า พบวัดและเจดีย์สมตามอักษรในแผ่นศิลา จึงป่าวร้องบอกบุญราษฎร ช่วยกันแผ้วถาง และปฏิสังขรณ์ขึ้น เจดีย์ที่ค้นพบเดิมมีสามองค์ องค์ใหญ่ซึ่งบรรจุพระบรมธาตุอยู่กลางชำรุดบ้างทั้งสามองค์ ภายหลังพระยากำแพง(อ่อง) เป็นผู้ว่าราชการเมือง แซงพอกะเหรี่ยง (ที่ราษฎรเรียกพญาตะก่า) ได้ขออนุญาตรื้อพระเจดีย์สามองค์นี้ทำใหม่ รวมเป็นองค์เดียว ขณะที่รื้อพระเจดีย์ 3 องค์นั้น ได้พบกรุพระพุทธรูปพิมพ์ และลานเงินจารึกอักษรขอม กล่าวตำนานการสร้างพระพิมพ์ และลักษณะการสักการบูชาด้วยประการต่างๆ พระพิมพ์ชนิดนี้ มีผู้ขุดได้ที่เมืองสรรค์บุรีครั้งหนึ่งแต่หามีแผ่นลานเงินไม่แผ่นลานเงิน ในตำนานนี้กล่าวว่า มีเฉพาะแต่ในพระเจดีย์วัดพระธาตุฝั่งน้ำปิงตะวันตกแห่งเดียว มีสำเนาที่ผู้อื่นเขียนไว้ดังนี้
         ตำนานที่ปรากฏในจารึกลานเงิน ตำบลเมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัยสงคราม เมืองพิจิตร เมืองสุพรรณบุรี ว่ายังมีฤาษี 11 ตน ฤาษีเป็นใหญ่สามตน ตนหนึ่งฤาษีพิลาไลย ตนหนึ่งฤาษีตาไฟ ตนหนึ่งฤาษีตางัว เป็นประธานแก่ฤาษีทั้งหลาย จึงปรึกษากันว่า เราท่านทั้งนี้ จะเอาอะไรให้แก่พระยาศรีธรรมาโศกราช ฤาษีทั้งสาม จึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่า เราจะทำด้วยฤทธิ์ ทำด้วยเครื่องประดิษฐานเงินทอง ไว้ฉะนี้ฉลองพระองค์ จึงทำเป็นเมฆพัด อุทุมพร เป็นมฤตย์พิศม์ อายุวัฒนะ พระฤาษี ประดิษฐานในถ้ำเหวน้อยใหญ่เป็นอานุภาพแก่มนุษย์ทั้งหลายสมณชีพราหมณาจารย์เจ้าไปถ้วน 5,000 พระพรรษา ฤาษีตนหนึ่งจึงว่าแก่ฤาษีทั้งหลายว่า ท่านจงไปเอาว่านทั้งหลาย อันมีฤทธิ์เอามาได้สัก 1000 เก็บเอาเกสรไม้อันวิเศษที่มีกฤษณาเป็นอาทิให้ได้ 1000 ครั้นเสร็จแล้ว ฤาษีจึงป่าวร้องเทวดาทั้งปวงให้ช่วยกันบดยาทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่ง เมฆพัดสถานหนึ่ง ฤาษีทั้งสามองค์จึงให้ฤาษีทั้งปวง ให้เอาว่านทำเป็นผง เป็นก้อนประดิษฐาน ด้วยมนตร์คาถาทั้งปวงให้ประสิทธิทุกอัน จึงให้ฤาษีทั้งนั้นเอาเกสรและว่านมาประสมกันดี เป็นพระให้ประสิทธิแล้ว ด้วยเนาว หรคุณ ประดิษฐานไว้บนเจดีย์อันหนึ่งถ้าผู้ใดถวายพระพรแล้วจึงเอาไว้ใช้ตามอานุภาพเถิด ให้ระลึกถึงคุณพระฤาษีที่ทำไว้นั้นเถิด ฤาษีไว้อุปเทศดังนี้
         1. แม้อันตรายสักเท่าใด ให้นิมนต์พระใส่ศีรษะ อันตรายทั้งปวงหายสิ้น
         2. ถ้าทำการสงคราม ให้เอาพระใส่น้ำมันหอม แล้วใส่ผม จะไม่ต้องศัตราวุธ
         3. ถ้าจะใคร่มาตุคาม (สตรี) เอาพระสรงน้ำมันหอมใส่ ใบพลู ทาตัว
         4. ถ้าจะเจรจาให้สง่างาม คนเกรงกลัวเอาพระใส่น้ำมันหอมหุงขี้ผึ้งเสกทาปาก
         5. ถ้าค้าขาย หรือเดินทาง เอาพระสรงน้ำหอมเสกด้วยพระพุทธคุณ
         6. ถ้าเป็นความกัน ให้เอาพระสรงน้ำหอม เอาด้าย 11 เส้น ชุบน้ำมันหอมนั้นและทำไส้เทียนตามถวายพระ แล้วพิษฐานตามใจชอบ

         ......จารึกลานเงินยังบันทึกว่า.....พระเกสรก็ดี พระว่านก็ดี พระปรอทก็ดี อานุภาพดังกำแพงล้อมกันภัยแก่ผู้นั้น
         ขนาดของพระซุ้มกอ เท่าที่พบในจังหวัดกำแพงเพชร มีหลายขนาดคือ พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ พระซุ้มกอพิมพ์กลาง พระซุ้มกอพิมพ์เล็ก พระซุ้มกอพิมพ์คะแนน
         พิมพ์ของพระซุ้มกอ มีหลายพิมพ์ คือ พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่มีกระหนก พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ไม่มีกระหนก (ซุ้มกอดำ) พระซุ้มกอพิมพ์กลาง พระซุ้มกอพิมพ์เล็ก พระซุ้มกอพิมพ์ขนมเปี๊ยะ (ไม่ตัดปีก) พระซุ้มกอพิมพ์เล็ก พัดใบลาน
         พระซุ้มกอที่นิยมกันมากที่สุดคือ พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่มีลายกระหนก พบที่กรุทุ่งเศรษฐีและพระบรมธาตุนครชุม เป็นพระดินเผาเนื้อค่อนข้างนิ่มละเอียดมาก มีว่านดอกมะขามปรากฏทั่วองค์ การที่มีเนื้อละเอียดและนิ่มทำให้พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่มักหักชำรุดเสียหายเป็นส่วนใหญ่ เหลือที่สมบูรณ์จริงๆ น้อยมาก ทำให้ราคาเช่าสูงมาก เป็นที่นิยมสูงสุด คนกำแพงเพชรน้อยคนนักที่ได้มีโอกาสเห็นพระซุ้มกอองค์นี้ทั้งที่กรุอยู่ที่กำแพงเพชร พุทธลักษณะของพระกำแพงซุ้มกอเป็นปางสมาธิ พบทั้งสมาธิราบ และสมาธิเพชร เป็นศิลปะเชียงแสนผสมกับสุโขทัย คือองค์พระอวบอ้วน พระอุระผึ่งนูนดูเด่นสง่างามมาก แบบเชียงแสนพระนาภีเรียว การทิ้งพระพาหา และขัดสมาธิงดงามแบบสุโขทัย มีประภามณฑลรอบพระเศียรคล้ายรูปตัว ก ไก่ บางท่านว่าซุ้มที่องค์พระเหมือนรูปก.ไก่มาก จึงเรียกกันว่าพระซุ้มกอ
         พระซุ้มกอมีหลายประเภท มีหลายสี มีทั้งสีแดง สีดำ สีขาว สีเขียว ชนิดซุ้มกอดำ เป็นพระที่ไม่ได้เผา องค์พระสร้างด้วยไส้ในของเม็ดมะค่าผสมปูนกินหมาก ผงอิทธิเจ เกสรดอกไม้ 108 ชนิด
         ความเชื่อบุญฤทธิ์ของพระซุ้มกอ
         1. พระซุ้มกอดำ มีอิทธิฤทธิ์ อานุภาพ ในทางเมตตามหานิยมและอยู่ยงคงกระพัน มีลักษณะเป็นพระนั่งสมาธิมือวางบนพระเพลา ไม่เผามีรักทาทั้งองค์
         2. พระซุ้มกอแดง ขาว และเขียว มีอิทธิฤทธิ์สูงทางเมตตามหานิยมสูง มีลักษณะเดียวกับ พระซุ้มกอดำ โดยเฉพาะพระซุ้มกอแดง เผาแล้วซัดด้วยว่านผง องค์พระจึงสีสดงดงามมาก เนื้อมันปู มีความแข็งแกร่งคงทนกว่าสีดำ ยังพอมีให้เห็นบ้างในบ้านคหบดีที่กำแพงเพชร
         การค้นพบพระซุ้มกอ เมื่อสมเด็จพุฒาจารย์(โต)เสด็จมาเยี่ยมญาติที่กำแพงเพชร บางท่านว่ามาฌาปนกิจท่านผู้หญิงแพง ภริยาพระยากำแพง(นาค) มีศักดิ์เป็นป้าหลวงพ่อโตได้เสด็จมาพักที่วิหารวัดเสด็จ ท่านได้นั่งทางในพบว่าในจอมปลวกมีสิ่งสำคัญอยู่ จึงโปรดให้เลกวัด (ผู้ดูแลรับใช้ในวัด) ขุดพบศิลาจารึกนครชุม (ศิลาจารึกหลักที่สาม) ท่านได้อ่านได้ทราบว่ามีพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองนครชุมตรงข้ามเมืองกำแพงเพชร จึงโปรดให้พระยากำแพงผู้เป็นหลานได้ไปแผ้วถางและค้นพบพระเจดีย์สามองค์อยู่บนฐานเดียวกัน เมื่อสมเด็จพุฒาจารย์(โต) ไปค้นหาพระธาตุ พบพระบรมธาตุและค้นพบพระพิมพ์จำนวนมาก มีพระซุ้มกอจำนวนมากด้วย ทรงสั่งให้ปฏิสังขรณ์และรับสั่งให้ฟื้นฟูวัดพระบรมธาตุใหม่ แล้วพระองค์เสด็จกลับกรุงเทพ พญาตะก่า (แซงพอ) ชาวกะเหรี่ยง มาทำไม้ขอนสักที่เมืองกำแพงได้ขออนุญาตรื้อพระเจดีย์ทั้งสามองค์และสร้างเจดีย์ทรงมอญครอบไว้ แต่พญาตะก่าทำไม่เสร็จถึงแก่กรรมก่อน พะโป้ น้องชายพญาตะก่า เป็นคนในบังคับอังกฤษ มาขอสัมปทานป่าไม้ในกำแพงเพชรได้ผลประโยชน์มากมายจึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุต่อ สร้างเสร็จก่อนพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกำแพงเพชรเพียงสามเดือน ระหว่างที่รื้อเพื่อดำเนินการซ่อมพระบรมธาตุได้ค้นพบพระซุ้มกอจำนวนมาก ในสมัยนั้นประชาชนไม่นิยมนำพระไปไว้ที่บ้านถือว่าไม่เหมาะสม ไม่เป็นสิริมงคล เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเมืองกำแพงเพชร เมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2449 จึงมีผู้นำพระเครื่องมาถวายจำนวนมากพระองค์พระราชนิพนธ์ไว้ว่า ต่อเมื่อเสด็จมา จึงรู้ว่าพระพิมพ์มีมากถึงเพียงนี้ ต่างคนต่างเตรียมกันออกมาถวาย ไม่ได้ถือหรือห่อมาตามปกติ จัดมาในพานดอกไม้นั่งรายตามริมถนนได้เสมอทุกวันไม่ได้ขาด เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานพระเครื่องให้พระบรมวงศานุวงศ์และผู้ติดตาม ทำให้ประชาชนนิยมแขวนพระเครื่องหรือเก็บพระเครื่องไว้กับตัวเองเพื่อเป็นสิริมงคล จึงทำให้ประชาชนแสวงหาพระเครื่องกันอย่างมากมาย แต่ความเชื่อที่ว่าพระควรอยู่วัดไม่ควรอยู่ที่บ้านยังอยู่ในหัวใจประชาชน
         กรุที่พบพระซุ้มกอ
             1) กรุทุ่งเศรษฐี เมืองนครชุม พบทุกกรุและมีจำนวนมากมาย อาทิ
                   1.1 กรุวัดพระบรมธาตุ นครชุม เป็นกรุแรกที่ค้นพบพระซุ้มกอ มีการขุดค้นกันตลอดแม้ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมายังมีการขุดค้นอยู่ อาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นกำเนิดพระเครื่อง เพราะเนื่องจากพญาลิไทได้บรรจุพระบรมธาตุและพระเครื่องที่วัดพระบรมธาตุแห่งนี้
                   1.2 กรุเจดีย์กลางทุ่ง เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือเจดีย์ทรงดอกบัวตูมที่มีลักษณะงดงามมาก สร้างราวสมัยพญาลิไท มีการขุดค้นพบพระกำแพงซุ้มกออย่างมากมายที่วัดแห่งนี้ ทั้งในพระเจดีย์และบริเวณอุทกสีมา
                   1.3 กรุวัดพิกุล วัดพิกุลมีมณฑปทรงเทวาลัย คาดว่าก่อนหน้าพระพุทธศาสนา วัดพิกุลเป็นเทวาลัยของศาสนาพราหมณ์มาก่อน ผู้ขุดค้นที่วัดพิกุลเล่าให้ฟังว่า เมื่อราวพ.ศ.2490 วัดพิกุลยังเป็นป่าทึบ ได้ขุดค้นพบสมบัติมากมาย พร้อมโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่ฝังไว้พร้อมกับเครื่องแต่งกายสมัยทวาราวดี ใต้ฐานบันไดขั้นที่ 2 ของเทวาลัย มีดาบ สังวาล แหวนและเครื่องประดับอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก เมื่อขุดค้นพบได้แบ่งปันกันไปและทำลายกระดูกนั้นเสีย ส่วนพระเครื่องไปสาดทิ้งในบริเวณอุทกสีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระกำแพงนางพญาที่วัดพิกุลนี้งดงามมาก
                   1.4 กรุวัดซุ้มกอ วัดซุ้มกอเป็นวัดเล็กๆ ในเขตอรัญญิกนครชุม อยู่หน้าศูนย์ท่ารถ บขส. ในปัจจุบันถนนเข้าเมืองกำแพงเพชรตัดผ่านวัดทำให้เสียหายมาก พระซุ้มกอที่ค้นพบในวัดนี้มีจำนวนมาก จนประชาชนเรียกขานวัดแห่งนี้ว่าวัดซุ้มกอ เนื่องจากมีพระดีจำนวนมากวัดจึงถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง แต่เดิมเหลือสภาพเป็นแค่เนินดินคล้ายจอมปลวก
                   1.5 กรุบ้านเศรษฐี อยู่บริเวณป้อมทุ่งเศรษฐี ในบริเวณหลังป้อมมีวัดหลายวัดแต่ในบริเวณป้อมไม่มีวัดอยู่ จากการขุดแต่งของกรมศิลปากรไม่พบสิ่งก่อสร้างในบริเวณป้อมเลย เจดีย์วิหารและโบสถ์ทั้งหลายได้ถูกไถทิ้งไปในคราวขุดสระขนาดใหญ่ของเอกชน มีการขุดค้นพบพระซุ้มกอบริเวณนอกป้อมทุ่งเศรษฐีจำนวนมาก   
                   1.6 กรุวัดหนองลังกา เป็นเจดีย์ทรงลังกา งดงามมากอยู่กลางทุ่ง สร้างสมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่าสมเด็จพระสังฆราชจากลังกา เสด็จมาประทับที่วัดหนองลังกาแห่งนี้ มีการขุดค้นพระเครื่องที่วัดหนองลังกาอยู่ตลอดเวลาแม้ในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังพบพระซุ้มกอในกรุอื่นๆในบริเวณทุ่งเศรษฐีอีกหลายสิบกรุ แต่หลักฐานส่วนสำคัญได้ถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง เนื้อพระซุ้มกอบริเวณทุ่งเศรษฐีนี้งดงามมาก ใช้ดินบริเวณทุ่งเศรษฐีนี้เองในการมาพิมพ์พระ นับว่าเป็นเคล็ดลับสำคัญอย่างหนึ่งของพระซุ้มกอ กรุทุ่งเศรษฐี
             2) กรุพระซุ้มกอฝั่งกำแพงเพชร
                   2.1 กรุวัดพระแก้ว เป็นวัดหลวงอยู่กลางเมืองกำแพงเพชร เป็นวัดมีขนาดใหญ่ เชื่อกันว่าเมื่อครั้งพระแก้วมาประดิษฐานที่กำแพงเพชรได้มาประดิษฐานที่วัดพระแก้วแห่งนี้ จึงเรียกขานกันว่าวัดพระแก้ว พบพระซุ้มกอ เนื่องจากวัดพระแก้วเป็นวัดหลวงจึงพบพระซุ้มกอโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระซุ้มกอหน้าทองจำนวนมาก
                   2.2 วัดในเขตอรัญญิกของกำแพงเพชร ที่มีวัดอยู่กว่า 50 วัด อาทิ วัดพระนอน วัดป่ามืด วัดพระสี่อิริยาบถ วัดนาคเจ็ดเศียร วัดฆ้องชัย วัดสิงห์ วัดช้างรอบ วัดกรุสี่ห้อง วัดริมทาง วัดอาวาสน้อย วัดอาวาสใหญ่ วัดหมาผี วัดกำแพงงาม วัดช้าง ฯลฯ ปรากฏว่าทุกวัดพบพระเครื่องซุ้มกอจำนวนมาก (เก่ง กำแพง, ออนไลน์)

บทสรุป
         พระเครื่องกำแพงเพชรเปรียบเสมือนอัญมณีที่ล้ำค่าของคนเมืองกำแพงเพชรจนเป็นคำขวัญวรรคแรกของจังหวัดกำแพงเพชรที่ว่า “กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง ศิลาแลงใหญ่ กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ เลื่องลือมรดกโลก” ดังนั้นจึงเป็นที่น่าภาคภูมิใจในความเป็นเมืองแห่งศิลปะและภูมิปัญญาด้านการสืบสานพระพุทธศาสนาผ่านการสร้างพระเครื่องและการเป็นเมืองมรดกโลกอันควรค่าแก่การอนุรักษ์ไปตราบจนชั่วลูกหลาน

 

คำสำคัญ : พระเครื่อง, กำแพงเพชร

ที่มา : https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=พระเครื่องกำแพงเพชร

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2562). พระเครื่องสกุลกำแพงเพชร. สืบค้น 26 เมษายน 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1147&code_db=610005&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1147&code_db=610005&code_type=01

Google search

Mic

พระกำแพงหน้าอิฐ

พระกำแพงหน้าอิฐ

พระกำแพงหน้าอิฐ เป็นพระเครื่องพิมพ์หนึ่งที่พบครั้งแรกจากกรุวัดพระบรมธาตุเมื่อ พ.ศ. 2392 และจากนั้นก็พบอีกบ้างในบริเวณทุ่งเศรษฐี ฝั่งนครชุม แต่มีจำนวนน้อยมากแทบจะเรียกว่านับองค์ได้ และเท่าที่ติดตามจากแหล่งข้อมูลด้านพระเครื่องเมืองกำแพงไม่เคยปรากฏว่ามีการพบพระพิมพ์นี้ในฝั่งจังหวัดเลยแม้แต่องค์เดียว พระกำแพงหน้าอิฐมีพุทธลักษณะเป็นพระยืนประทานพร ประทับในซุ้มเรียบ รอบองค์พระลึกทำให้องค์พระดูเป็นสง่าสวยงาม ขนาดองค์พระพระทัดรัด กว้างประมาณ 2 x 3 ซม. หนาประมาณ 0.7 ซม.เท่านั้น จากการได้พบและสนทนากับนักสะสมพระเครื่องเมืองกำแพงรุ่นเก่า หลายคนยืนยันว่าได้พบพระพิมพ์นี้เพียงไม่กี่องค์ หนังสือพระเครื่องรุ่นเก่า ๆ แม้กระทั่งหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยจังหวัดกำแพงเพชร หลายเล่ม ไม่เคยปรากฏรูปพระเครื่องพิมพ์นี้ ยังไม่ต้องกล่าวถึงประวัติการค้นพบ เมื่อหนังสือ อมตพระกรุ โดยพิศาล เตชะวิภาค ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือที่รวบรวมภาพพระกรุไว้มากที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดพิมพ์มา ก็ปรากฏว่ามีเพียงรูปเดียวโดยไม่มีคำบรรยายอื่นใดนอกจากระบุว่า เป็นพระกำแพงหน้าอิฐเท่านั้น

เผยแพร่เมื่อ 16-08-2019 ผู้เช้าชม 7,960

พระกำแพงขาว

พระกำแพงขาว

พระกำแพงขาว เป็นพระปางลีลา ศิลปะสุโขทัย สกุลช่างกำแพงเพชร สาเหตุที่เรียกว่า พระกำแพงขาว เพราะว่าตอนขึ้นจากกรุใหม่ ๆ มีคราบฝ้าของกรุและปรอทจับตามองค์พระ คนรุ่นเก่าจึงเรียกว่า พระกำแพงขาวพระกำแพงขาว จัดว่าเป็นพระเอกลักษณ์ของเมืองกำแพงเพชรทีเดียว เพราะนอกจากเป็นฝีมือของช่างสกุลกำแพงเพชรแล้ว ในด้านพุทธคุณ พระกำแพงเพชรมีชื่อเสียงกระฉ่อนและโด่งดัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแคล้วคลาด เมตตา และด้านโภคทรัพย์

เผยแพร่เมื่อ 21-02-2017 ผู้เช้าชม 6,275

พระพลูจีบว่านหน้าทอง

พระพลูจีบว่านหน้าทอง

พระกำแพงพลูจีบ เป็นพระที่มีพุทธลักษณะลีลาก้าวย่างไปข้างหน้า แต่หันด้านข้างออก เป็นพระที่คล้ายคลึงกับพระกำแพงเม็ดขนุน ผิดกันตรงที่องค์พระผอมกว่า และตื้นกว่าพระกำแพงพลูจีบ เป็นพระที่มีการสร้างประมาณ 600 กว่าปี เท่าๆ กับพระกำแพงซุ้มกอ และพระเม็ดขนุนวัสดุในการใช้สร้าง ประกอบด้วยเนื้อดินผสมว่านเกสร เนื้อว่านล้วน ๆ มีหน้าทองปิด และเนื้อชิน

เผยแพร่เมื่อ 21-02-2017 ผู้เช้าชม 3,891

สมเด็จพบกรุพระ

สมเด็จพบกรุพระ

ตามตำนานท่านพระมหาโต ได้ขึ้นไปเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชรสมัยอายุท่าน 62 ปี คือตรงกับ พ.ศ. 2392 ประจำวัดที่วัดเสด็จ ท่านได้อ่านศิลาจารึกอักษรไทยโบราณ ซึ่งอยู่ในโบสถ์วัดเสด็จ (คือพบเป็นศิลาจารึกหลักที่ 3) ได้ความว่า มีพระเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง คือตรงข้ามกับตัวเมือง สมัยนั้นพระยาน้อยซึ่งเป็นเจ้าเมือง เมื่อทราบข่าวจึงได้เป่าร้องให้ชาวบ้านไปช่วยกันค้นหาจนพบ เป็นพระเจดีย์ชำรุดอยู่ 3 องค์ ต่อมาสมัยผู้ว่าราชการอ๋อง ปี พ.ศ. 2444 พญาตะก่า ได้ขออนุญาตรื้อสร้างเป็นเจดีย์องค์เดียวคือ เจดีย์วัดพระบรมธาตุปัจจุบัน มีพระเครื่องพิมพ์เนื้อชินและเนื้อดินแบบพิมพ์ต่างๆ มากมาย

เผยแพร่เมื่อ 15-08-2019 ผู้เช้าชม 2,770

พระกำแพงกลีบจำปา เนื้อชิน

พระกำแพงกลีบจำปา เนื้อชิน

พระกำแพงกลีบจำปาเนื้อชินที่พบเป็นพระชินเงิน พิมพ์ทรงเหมือนกับเนื้อดินทุกประการ เนื่องจากพระกำแพงกลีบจำปาเป็นพระที่สัณฐานบางมาก พระส่วนมากจะผุพังและชำรุดหาที่สมบูรณ์ยาก พระกำแพงกลีบจำปาเป็นพระชินเงินที่มีตะกั่วผสม เนื้อของพระมักจะมีไขขึ้นเป็นบางจุด เนื้อหาจะระเบิดผุเป็นส่วนใหญ่ ส่วนด้านหลังจะเป็นแอ่งและมีลักษณะเป็นลายผ้าทุกองค์ ลักษณะการผุระเบิดเช่นนี้เป็นลักษระของพระ กรุเก่า ซึ่งหมายถึงพระที่ขึ้นมาจากกรุวัดพระบรมธาตุและบริเวณฝั่งทุ่งเศรษฐีในยุคก่อนมี ๒๔๙๐

เผยแพร่เมื่อ 15-08-2019 ผู้เช้าชม 6,761

พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ กรุวัดหนองพิกุล

พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ กรุวัดหนองพิกุล

พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ กรุวัดหนองพิกุล พบจากกรุวัดหนองพิกุล หรือ เรียกกันสั้นๆ ว่าวัดพิกุล ซึ่งเป็นวัดร้างในบริเวณทุ่งเศรษฐี พระที่พบจากกรุนี้เช่น พระกำแพงซุ้มกอ พระเม็ดขนุน พระว่านหน้าทอง และพระอื่นๆเนื้อนุ่มจัด และมีพุทธศิลป์ที่งดงามอ่อนช้อย สมส่วน พระเครื่องกรุวัดพิกุลนี้ได้ถูกเปิดภายหลังจากกรุวัดพระบรมธาตุเพียงไม่กี่ปี มีพระพิมพ์ต่างเกือบทุกแบบเช่นเดียวกับที่พบในกรุวัดพระบรมธาตุ ลักษณะของพระซุ้มกอจากกรุวัดพิกุลนี้ จะเห็นว่ามีความแตกต่างจากพระกำแพงซุ้มกอ กรุฤาษีที่เคยนำมาให้ศึกษากันอยู่บ้าง กล่าวคือ พระพักตร์เรียวงาม ไม่ต้อป้อมเหมือนกรุฤาษี พระเศียรจะตั้งตรง (กรุฤาษีเอียงขวาเล็กน้อย) บัวที่อาสนะทั้ง 5 กลีบ กลีบบัวจะมนโค้ง ไม่มีลักษณเป็นเหลี่ยมและลายในกลีบบัวจะไม่ลึกเหมือนกรุฤาษี ความคมชัดของพิมพ์ไม่ชัดเท่ากรุฤาษี ซอกพระพาหาตื้นกว่าของกรุฤาษี และหากพิจารณาอย่างพิเคราะห์จะเห็นว่าเนื้อพระจะหนึกแน่นกว่ากรุฤาษี

เผยแพร่เมื่อ 16-08-2019 ผู้เช้าชม 32,204

เจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐี

เจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐี

พระซุ้มกอ หรือเจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐีเป็นยอดพระเครื่องอันดับนำของจังหวัดกำแพงเพชรที่ใครได้ไว้บูชาติดตัวแล้ว นับว่าเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง เพชรนพเก้าค่าล้นปานใดก็ตาม บางครั้งก็หาเปรียบได้กับ พระซุ้มกอ ซึ่งสูงทั้งค่าและมีประสิทธิภาพซึ่งมนุษย์ไม่อาจเนรมิตได้ การมีชีวิตเพื่ออยู่และสร้างแต่กรรมดีแล้ว พระซุ้มกอ ย่อมคุ้มครองท่านได้เสมอ และสิ่งที่น่าอิจฉาสำหรับผู้มีพระพิมพ์นี้ยิ่งขึ้นก็คือ ท่านจะอยู่อย่างคนมีโชคตลอดเวลาทีเดียว  ผมเองนั้นเชื่อเหลือเกิน เชื่อว่า มึงมีกูไม่จน ประกาศิตที่กังวานจากเจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐีนั้นจะเป็นใครกล่าวหรือใครพูดขึ้นเล่นก็ตามทีเถิด เพราะจนบัดนี้ ผู้ที่ใช้ พระซุ้มกอ แล้วก็ยังไม่เคยมีใคร บอกว่าห้อยพระซุ้มกอแล้ว ยากจน เลยสักรายเดียว

เผยแพร่เมื่อ 15-08-2019 ผู้เช้าชม 29,338

กรุนาตาคำ

กรุนาตาคำ

ที่ตั้งกรุพระวัดนาตาคำ อยู่ทิศใต้ของป้อมบ้านเศรษฐี ประมาณ 800 เมตร ปัจจุบันถูกขุดเป็นบ่อปลา ประเภทพระที่พบ ได้แก่ พระซุ้มกอพิมพ์กลาง พระซุ้มกอขนมเปี๊ยะ พระลีลากำแพง พระกลีบบัว พระซุ้มกอพิมพ์เล็ก พระกลีบจำปาเนื้อเหลือง พระเปิดโลก พระมารวิชัย และพิมพ์อื่นๆ

เผยแพร่เมื่อ 19-08-2019 ผู้เช้าชม 7,507

กรุตาพุ่ม

กรุตาพุ่ม

ที่ตั้งกรุพระตาพุ่ม อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดพระบรมธาตุ ไปประมาณ 800 เมตร ประเภทพบที่พบ ได้แก่ พระซุ้มกอมีกนก พิมพ์ใหญ่ พระเทิดขนนก พระเม็ดมะลื่น พระนางพญากำแพงสนิมแดง พระอู่ทองกำแพงพิมพ์เล็ก พระซุ้มกอดำไม่มีกนกพิมพ์ใหญ่ พระเปิดโลกพิมพ์ใหญ่ พระกลีบบัว พระอู่ทองกำแพงพิมพ์ใหญ่ พระนางพญาตราตาราง และพิมพ์อื่นๆ

เผยแพร่เมื่อ 19-08-2019 ผู้เช้าชม 3,559

ประเภทของพระเครื่องกำแพงเพชร

ประเภทของพระเครื่องกำแพงเพชร

 พระเครื่อง พระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่มีกระหนก (กระหนกหมายถึงลวดลาย) พระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ไม่มีกระหนก (ซุ้มกอดำ) และพระกำแพงลีลาเม็ดขนุน พระยอดนิยมของพระเครื่องจังหวัดกำแพงเพชร พระเครื่องกำแพงเพชร มีมากมายหลายชนิดเรียกชื่อต่าง ๆ กันเช่น เรียกชื่อตามสถานที่ หรือกรุที่พระเครื่องบรรจุอยู่ เช่น กำแพงทุ่งเศรษฐีใช้เรียกชื่อพระเครื่องทุกชนิดที่ได้จากบริเวณเมืองเก่าฝั่งตะวันตกที่เรียกกันว่า “ทุ่งเศรษฐี”และวงการนักพระเครื่องทั่วไปเมื่อกล่าวถึงพระกำแพงเพชรหรือพระที่อื่นคล้ายพระกำแพงเพชร ก็เติมคำว่า“กำแพง”ลงข้างหน้า ชื่อพระนั้น ๆ เช่น เรียกพระลีลาศ(เดิน)ของจังหวัดกำแพงเพชรว่า“กำแพงเขย่ง”เรียกพระสุพรรณว่า“กำแพงเขย่งสุพรรณ”พระกำแพงเพชรที่มีลักษณะคล้ายกับพระอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงมาก่อนเรียกชื่อตามนั้น เช่น กำแพงท่ามะปราง  เรียกชื่อตามพุทธลักษณะอาการขององค์พระ เช่น กำแพงลีลาศ (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า“กำแพงเขย่ง”)เพราะดูอาการ เดินนั้นเหมือนเขย่งพระบาทข้างหนึ่ง) กำแพงประทานพร กำแพงนาคปรก เป็นต้น

เผยแพร่เมื่อ 15-08-2019 ผู้เช้าชม 4,885