คันทรง

คันทรง

เผยแพร่เมื่อ 01-06-2020 ผู้ชม 1,642

[16.4258401, 99.2157273, คันทรง]

 

คันทรง ชื่อวิทยาศาสตร์ Colubrina asiatica (L.) Brongn. จัดอยู่ในวงศ์พุทรา (RHAMNACEAE)
สมุนไพรคันทรง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ก้านตรง (สุรินทร์), ก้านถึง ก้านเถิ่ง ก้านเถิง ผักก้านเถิง (ภาคเหนือ), คันซง คันซุง คันชุง คันทรง (ภาคกลาง), กะทรง ทรง (ภาคใต้), เพลโพเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ผักหวานต้น (ลั้วะ), ก้านเถง ผักก้านตรง ผักก้านถึง ผักคันทรง เป็นต้น

ลักษณะของคันทรง
       ต้นคันทรง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลางกึ่งไม้เลื้อย ลำต้นตั้งตรงและมีความสูงของต้นประมาณ 2-3 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 1-9 เมตร แตกกิ่งก้านมากตั้งแต่โคนต้น กิ่งก้านมีขนาดเล็กกลมสีเขียว กิ่งก้านสีเขียวเข้มเป็นมัน เปลือกต้นเป็นสีเทา มีรอยแตกเป็นร่องตื้น ๆ ถี่ ๆ และตามลำต้นจะมีตาที่ทิ้งใบเป็นตุ่มห่าง ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและวิธีการปักชำลำต้น มักขึ้นเองตามป่าราบ ป่าดงดิบ ป่าละเมาะ หรือที่รกร้างข้างทางทั่วไป โดยจะพบได้มากทางภาคเหนือ บ้างว่าพบได้มากตามชายทะเลหรือชายหาดหินปูน
        ใบคันทรง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ รูปไข่กว้าง หรือรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือแหลม ส่วนขอบใบหยักมนแกมจักเป็นฟันเลื่อยละเอียด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร แผ่นใบบาง หลังใบเรียบเป็นมันและเป็นสีเขียวเข้มกว่าท้องใบ ส่วนท้องใบเรียบมีขนที่เส้นใบ ผิวใบทั้งสองด้านมันเงา โดยมีเส้นใบ 3 เส้นออกจากโคนใบ เส้นใบข้างอีก 3-4 เส้นออกจากเส้นกลางใบ ก้านใบยาวประมาณ 1-1.6 เซนติเมตร มีหูใบขนาดเล็กยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร
         ดอกคันทรง ออกดอกเป็นช่อกระจุกเล็ก ๆ ตามซอกใบตามกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านเรียงเป็นแถวเป็นช่อเล็ก ๆ ในแต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 8-14 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็ก เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองอ่อนปนเขียว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ในดอกย่อยจะประกอบไปด้วยดอกสมบูรณ์เพศประมาณ 2-3 ดอก และดอกเพศผู้อีกหลายดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปจาน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้าน กลีบดอกเป็นสีเหลืองแกมเขียวมี 5 กลีบ ปลายกลีบดอกแหลม ส่วนโคนกลีบดอกติดกันที่ฐานดอก จานรองสีเหลืองส้ม มีรังไข่ประมาณ 2-3 ห้องหลอมรวมกับจานรอง ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวสดมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนก้านดอกสั้น มีความยาวประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร โดยจะออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม
          ผลคันทรง ผลเป็นผลเดี่ยว ลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือกลมแป้น ที่ขั้วผลมีวงกลีบเลี้ยงสีเขียวติดอยู่ เรียงห้อยลงเป็นแถว ๆ ตามกิ่ง ปลายผลเว้าเข้าแบ่งออกเป็นพู 3 พู ผลเป็นสีเขียวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อผลแก่ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-0.9 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน มีก้านผลที่ยาวประมาณ 0.4-0.6 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวน 3 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบนและเป็นสีดำหรือเป็นสีน้ำตาลเทา มีขนาด 0.5-0.6 x 0.4-0.5 เซนติเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม

สรรพคุณของคันทรง
1. ใบมีรสขม ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)
2. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (น้ำมันจากเมล็ด)
3. รากมีสรรพคุณเป็นยาเย็น ช่วยแก้พิษร้อนถอนพิษไข้ โดยนิยมใช้รากคันทรงร่วมกับรากย่านางและรากผักหวานบ้าน เพื่อใช้เป็นยาหลักในตำรับยาแก้ไข้ แก้ไข้พิษ ไข้ออก
    ตุ่มต่าง ๆ ส่วนน้ำมันจากเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ด้วยเช่นกัน (ราก, น้ำมันจากเมล็ด)
4. รากนำมาฝนกับน้ำมะพร้าวใช้กินแก้ตานขโมยในเด็ก (โรคพยาธิในเด็กอายุระหว่าง 5-13 ปี เป็นโรคที่ทำให้เด็กมีอาการซูบผอม อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และอาจมีอาการท้อง
    เสียร่วมด้วย) (ราก)
5. รากใช้ดินแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ราก)
6. ทั้งใบและผลมีสารซาโปนิน มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน การบริโภคมากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายได้ และสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานทั้งใบและผล (ผล, ใบ)
7. ในประเทศมาเลเซียจะใช้ต้นนำมาต้มรับประทานเพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร (ต้น)
8. ผลทำให้แท้งบุตร สำหรับสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานทั้งผลและใบ (ผล)
9. รากใช้ฝนกับน้ำมะพร้าวกินเป็นยาแก้บวม (ราก)
10. เปลือกต้น ราก หรือใบมีรสฝาดเฝื่อน ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (ใบ, เปลือกต้น, ราก)
11. เปลือกต้นและใบใช้ต้มอาบ จะช่วยแก้อาการบวมทั้งตัวเนื่องจากไตและหัวใจพิการ (เปลือกต้นและใบ)
12. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (ใบ, เปลือกต้น, ราก)
13. ใบนำมาปรุงเป็นยาต้มใช้ทาบรรเทาอาการระคายเคืองที่ผิว อาการแพ้ ผื่นคัน โรคผิวหนังอักเสบ ฝี และช่วยรักษาโรคผิวหนังได้บางชนิด (ใบ)
14. เปลือกต้นและใบใช้ต้มกับน้ำอาบจะช่วยแก้เม็ดผื่นคันตามตัว (เปลือกต้นและใบ)
15. ช่วยแก้อาการชา ช่วยบรรเทาอาการปวด แก้อาการปวดตามร่างกาย (น้ำมันจากเมล็ด)
16. เปลือกต้นและใบใช้ต้มอาบ ช่วยแก้อาการเหน็บชา (เปลือกต้นและใบ)
17. น้ำมันจากเมล็ดคันทรงใช้รักษาโรคข้อรูมาติกได้ (น้ำมันจากเมล็ด)

ประโยชน์ของคันทรง
1. ใบอ่อนและยอดอ่อนนำมานึ่งหรือต้มให้สุก ใช้รับประทานเป็นผักจิ้มร่วมกับน้ำพริก น้ำพริกปลาร้า ตาแดง หรือใช้เป็นผักรองห่อหมก และยังนำมาใส่ในแกงแคร่วมกับผักอื่น ๆ
    ใช้ทำแกงกับปลาย่าง ใส่ในแกงขนุน ใช้ทำแกงผักคันทรงกุ้งสด นำมาทำแกงส้ม แกงเลี้ยง หรือนำมาผัดกับน้ำมัน
2. ชาวฮาวายจะใช้ใบแทนสบู่ (ไม่ได้ระบุว่าใช้อย่างไร)
3. ผลใช้เป็นยาเบื่อปลา

คำสำคัญ : คันทรง

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). คันทรง. สืบค้น 17 กรกฎาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?code_db=610010&code_type=01&nu=pages&page_id=1619

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1619&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

ผักบุ้ง

ผักบุ้ง

ลักษณะทั่วไป ต้นเป็นพรรณไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ที่มีเนื้ออ่อนลำต้นกลวง มีข้อปล้องสีเขียว  ขึ้นเลื้อยตามหน้าน้ำ หรือดินแฉะ  ใบมีสีเขียวเข้ม ลักษณะของใบจะเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมแหลม คล้ายๆกับปลายหอก เป็นไม้ใบเดี่ยว อออกสลับทิศทางกันตามข้อต้น ใบยาว ประมาณ 2-3 นิ้ว  ดอกลักษณะของดอก เป็นรูประฆังเล็ก มีสีม่วงอ่อน ๆ หรือสีชมพูด้านในของโคนดอก จะมีสีเข้มกว่าด้านนอก ดอกบานเต็มที่ประมาณ 2 นิ้วและจะตกในฤดูแล้ง  ผลเป็นรูปมนรี คล้ายกับ capsule

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 5,542

ตับเต่านา

ตับเต่านา

ต้นตับเต่านา จัดเป็นพืชลอยน้ำ มีอายุหลายฤดู ลำต้นมีลักษณะเป็นไหลทอดเลื้อย หากน้ำตื้นจะหยั่งรากลงยึดดินใต้น้ำ มักขึ้นในน้ำนิ่งทั่วไป เช่น ตามนาข้าวหรือบริเวณหนองน้ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแตกไหลและอาศัยเมล็ด โดยต้นตับเต่านาเป็นพืชที่มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปยุโรปและเอเชีย สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำตื้น ๆ ที่ระดับใกล้น้ำทะเลจนถึงระดับ 1,200 เมตร

เผยแพร่เมื่อ 01-06-2020 ผู้เช้าชม 3,869

การะเกด

การะเกด

สำหรับต้นการะเกดนั้นเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น มีความสูงของลำต้นประมาณ 3-7 เมตร โดยแตกกิ่งก้านมีรากยาวและใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน 3 เกลียวตรงปลายกิ่ง คล้ายรูปรางน้ำ บริเวณขอบใบมีหนามแข็งๆ อยู่ และดอกนั้นจะแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน โดยดอกจะออกตามปลายยอดจำนวนมาก ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีกาบสีนวลๆ หุ้มอยู่ กลิ่นหอมเฉพาะตัว และผลออกเบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-20 เซนติเมตร ผลสุกมีกลิ่นหอม มีสีเหลืองตรงโคน ส่วนตรงกลางจะเป็นสีแสด และตรงปลายจะมีสีน้ำตาลอมเหลือง

เผยแพร่เมื่อ 29-04-2020 ผู้เช้าชม 3,044

ผักเป็ดน้ำ

ผักเป็ดน้ำ

ผักเป็ดน้ำ จัดเป็นพรรณไม้น้ำหรือพรรณไม้ล้มลุก มีอายุราว 1 ปี ชอบขึ้นตามแอ่งน้ำรกร้างหรือริมน้ำทั่วไป มีลำต้นอยู่บนผิวน้ำ ลำต้นมีความสูงประมาณ 1 เมตร เลื้อยทอดไปตามผิวน้ำหรือพื้นดิน แตกกิ่งก้านสาขามาก ส่วนรากจะติดอยู่ตามข้อต้น ลำต้นกลมเป็นข้อๆ ภายในของลำต้นกลวง ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้นไปปลูกลงในแอ่งน้ำ

เผยแพร่เมื่อ 10-07-2020 ผู้เช้าชม 4,481

ไทร

ไทร

ลักษณะทั่วไป  เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มีลำต้นแข็งแรง บางชนิดมีเรือนยอดพุ่มทรงหนาทึบและบางชนิดเป็นทรงพุ่มโปร่งแต่บางชนิดตามลำต้น จะมีรากอากาศห้อยย้อยตามกิ่งก้าน  ใบต้นไทร มีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันไปตามชนิดของมันแต่โดยมากสีของใบจะมีสีเขียวด่างขาว ด่างดำปนเทา หรือสีครีมก็มี  ถิ่นกำเนิดอยู่แถบทวีปเอเชีย อินเดีย ไทย จีน  เป็นไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ตอนหรือปักชำ

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 3,955

จันทน์กะพ้อ

จันทน์กะพ้อ

จันทน์กะพ้อ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลมโปร่งไม่ค่อยสวย มีใบน้อย แตกกิ่งก้านจำนวนมากที่ยอด กิ่งเปลา เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมเทา หรือสีเทาคล้ำ และมักมียางใสซึมออกมาตามรอยแตก ส่วนเปลือกชั้นเป็นสีเหลือง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำดี มีร่มเงาจากไม้อื่น มีความชื้นในอากาศดี และลมไม่แรงมากนัก มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน

เผยแพร่เมื่อ 26-05-2020 ผู้เช้าชม 7,342

ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร จัดเป็นพืชล้มลุกที่มีความสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร หรือประมาณ 1-2 ศอก ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แตกกิ่งมาก ทุกส่วนของต้นมีรสขม กิ่งเป็นใบสีเหลี่ยม สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ใบฟ้าทะลายโจร ลักษณะเป็นใบเดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ลักษณะของใบรียาว ปลายใบแหลม ดอกฟ้าทะลายโจร ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว มีดอกย่อย กลีบดอกมีสีขาวโคนกลีบติดกัน ปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากบนมี 3 กลีบ (มีเส้นสีม่วงแดงพาดอยู่) ส่วนปากล่างมี 2 กลีบ ผลฟ้าทะลายโจร ลักษณะเป็นฝัก ฝักจะคล้ายกับฝักต้อยติ่ง (หรือเป๊าะแป๊ะ) ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่ฝักจะเป็นสีน้ำตาลและแตกได้ ภายในฝักมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อนจำนวนมาก

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 3,331

บอนส้ม

บอนส้ม

บอนส้ม จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นสั้นป้อมเป็นกาบหุ้มคล้ายบอน แต่จะมีขนาดเล็กกว่า โดยจะมีความยาวได้ประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหัว พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นตามที่ชื้นในป่าทั่วไป โดยเฉพาะทางภาคใต้ ใบบอนส้ม ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปหอกกลับ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือแคบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-60 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้เช้าชม 2,231

พรมมิแดง

พรมมิแดง

พรมมิแดง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นเตี้ย แตกกิ่งก้านสาขาบริเวณโคนต้น ส่วนกิ่งที่แตกนั้นจะทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามดินปนทรายทั่วไป ในประเทศไทยพบได้ที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ส่วนในต่างประเทศพบในแอฟริกา ปากีสถาน อินเดีย พม่า มาเลเซีย และออสเตรเลีย

เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 1,568

กระถิน

กระถิน

สำหรับต้นกระถินนั้นเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 3-10 เมตร เปลือกลำต้นมีสีเทา ส่วนใบนั้นคล้ายขนนกสองชั้น เรียงสลับ ยาวประมาณ 12.5-25.0 เซนติเมตร โดยแยกแขนงออกประมาณ 3-19 คู่ แกนกลางใบมีขน โคนใบเบี้ยว ปลายแหลม และดอกกระถินนั้นจะมีสีขาว โดยออกดอกเป็นช่อประมาณ 1-3 ช่อ แบบกระจุกแน่นตามง่ามใบรวมทั้งปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงโคนคล้ายรูประฆังติดกัน มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ ปลายเป็นรูปสามเหลี่ยม 5 แฉก เมื่อดอกกระถินบานเจริญเต็มที่แล้วกว้างประมาณ 2.0-2.5 เซนติเมตร และเมล็ดเป็นมันมีสีน้ำตาลรูปไข่แบนกว้าง

เผยแพร่เมื่อ 29-04-2020 ผู้เช้าชม 7,085