เมืองคณฑี : เมืองที่ถูกจารไว้ในจารึกสมัยสุโขทัย

เมืองคณฑี : เมืองที่ถูกจารไว้ในจารึกสมัยสุโขทัย

เผยแพร่เมื่อ 11-03-2020 ผู้ชม 2,241

[16.378346, 99.5340804, เมืองคณฑี : เมืองที่ถูกจารไว้ในจารึกสมัยสุโขทัย]

          เมืองคณฑี ตั้งอยู่ในเขตตำบลคณฑี ริมฝั่งแม่น้ำปิงทางด้านตะวันออก เยื้องตรงข้ามกับวัดวังพระธาตุลงมาทางใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร แม้ไม่มีการตรวจพบร่องรอยของคูน้ำและคันดิน แต่เหนือบ้านโคนขึ้นไปมีร่องรอยบริเวณที่มีคูน้ำโดยรอบ มีผุ้พบซากเจดีย์ร้าง และเศษโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากในป่าก่อนจะถูกปรับไถให้โล่งเตียน โดยเฉพาะบริเวณวัดกาทิ้งได้ปรากฏร่องรอยบริเวณที่มีคูน้ำโอบล้อม มีซากโบราณสถานและเศษโบราณวัตถุ โคกเนินต่าง ๆ แม้จะถูกชาวบ้านปรับไถที่ดินทำไร่ ทำนา จนหมดสิ้น แต่ยังมีคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ว่า เคยมีร่องรอยของถนนโบราณที่ตัดมาจากเมืองกำแพงเพชรถึงเมืองคณฑี ทำให้สันนิษฐานได้ว่าบริเวณนี้อาจเป็นที่ตั้งของเมืองคณฑีในสมัยโบราณ
          แม้จะไม่มีร่องรอยของคูน้ำและคันดินในเขตตำบลคณฑีเป็นหลักฐานว่าเป็นที่ตั้งของเมืองคณฑีอย่างแท้จริง แต่ก็พบว่ายังมีซากโบราณอีกหลายแห่งในท้องถิ่นนี้ มีการพบซากโบราณสถานทั้งแบบกำแพงเพชรและสุโขทัย เช่น ที่วัดกาทิ้งยังมีฐานวิหารเหลืออยู่ และที่วัดปราสาทซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิงในปัจจุบันยังมีซากเจดีย์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ และจากการสำรวจของนักประวัติศาสตร์ ได้แก่ อาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ใต้จากบริเวณบ้านโคนลงไปยังไม่ปรากฏพบร่องรอยของเมืองโบราณในสมัยสุโขทัยจนถึงเมืองพระบางที่นครสวรรค์ หลักฐานและข้อมูลเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าบริเวณดังกล่าวในเขตตำบลคณฑีเป็นเขตของเมืองโบราณคณฑีทั้งสิ้น
          เมืองคณฑี คงเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในแว่นแคว้นสุโขทัย แต่พอมาถึงสมัยอยุธยาคงได้รับภัยสงครามหรือเกิดการร้างเมือง ทำให้เมืองใหญ่ลดฐานะลงมาเป็นชุมชน
          หลักฐานสำคัญที่กล่าวมาถึงเมืองคณฑี คือศิลาจารึก ซึ่งกล่าวถึงเมืองคณฑี คือศิลาจารึกหลักที่ 1 (พ่อขุนรามคำแหง) และจารึกหลักที่ 3 (นครชุม) ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญและแสดงให้เห็นว่าเมืองคณฑีมีพัฒนาการมาตั้งแต่ครั้งโบราณ และมาเจริญรุ่งเรืองในสมัยกรุงสุโขทัย
          ศิลาจารึกหลักที่ 1 (พ่อขุนรามคำแหง) พ.ศ. 1835 ด้านที่ 4 กล่าวถึงอาณาเขตของบ้านเมืองในสสมัยสุโขทัย บ้านเมืองอยู่รวมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรือง ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีป่าหมากป่าพลูอยู่ทั่วทุกหนแห่ง มีอาณาเขตกว้างขวาง โดยเฉพาะในบรรทัดที่ 19-20 กล่าวถึงอาณาเขตทางทิศใต้ไว้ว่า “เบื้องหัวนอนรอดคณฑีพระบาง แพรกสุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทเป็นที่แล้ว” ขยายความจากจารึกนี้ได้ความว่า อาณาเขตทางด้านทิศใต้ของกรุงสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น กินอาณาเขตตั้งแต่เมืองคณฑี (กำแพงเพชร) พระบาง (นครสวรรค์) แพรก (สวรรค์บุรี) สุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ราชบุรี เพชรบุรี ลงไปถึงนครศรีธรรมราช ตลอดจนแหลมมาลายู
          ศิลาจารึกหลักที่ 3 (นครชุม) พ.ศ. 1900 เป็นศิลาจารึกที่พระยาลิไทเสด็จมาประดิษฐานพระธาตุและปลูกพระศรีมหาโพธิ์ที่เมืองนครชุม เมื่อ พ.ศ. 1900 พร้อมทั้งจัดทำศิลาจารึก มีข้อความสรุปได้ดังนี้
         1. พระยาลิไท ได้ขึ้นเสวยราชย์ครองกรุงสุโขทัย โดยการสนับสนุนของบรรดาเจ้าเมืองและมิตรสหายต่าง ๆ
         2. ได้นำพระมหาธาตุและต้นศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้จากลังกาเทวีมาประดิษฐานไว้ที่เมืองนครชุม
         3. การนับอายุเฉลี่ยของผู้คนจะลดถอยไปอีก 1 ปี จาก 100 ปี เหลือ 99 ปี
         4. ความศรัทธาในพุทธศาสนาจะลดน้อยถอยลงไป ศีลจะเหลือน้อย การแต่งกายของพระสงฆ์จะเหลือเพียงผ้าเหลืองที่เหน็บหูไว้เท่านั้น โลกจะถูกกาลล่มสลาย บรรดาพระธาตุจะมารวมกันที่พระบรมธาตุนครชุม แล้วไฟบรรลัยกัลป์ก็จะเผาไหม้พระบรมธาตุและล้างโลกให้สิ้นสุดไปพร้อม ๆ กัน
         5. ได้เล่าย้อนถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหง ว่ามีอาณาเขตกว้างขวาง เมื่อสิ้นยุคของพ่อขุนรามคำแหงแล้ว บ้านเมืองในแว่นแคว้นได้แตกเป็นเมืองต่าง ๆ ตั้งตัวเป็นอิสระ ซึ่งในบรรดาของเมืองที่ตั้งตัวเป็นอิสระนั้นมีเมืองคณฑีรวมอยู่ด้วย
          จารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม) ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 19 จารึกไว้ว่า “เมืองคณฑี พระบางหาเป็นขุนหนึ่ง เมืองเชียงของหาเป็นขุนหนึ่ง... เป็นขุนหนึ่ง เมืองบางพานหาเป็นขุนหนึ่ง เมืองบางฉลังหาเป็นขุนหนึ่ง ต่างทำเนื้อทำตนเขาอยู่”
          ความหมายจากจารึกหลักนี้ ได้ความว่า “เมื่อสิ้นสมัยของพ่อขุนรรามคำแหงมหาราช อาณาจักรสุโขทัยได้แตกแยกเป็นเสี่ยง ๆ บรรดาหัวเมือง ได้แก่ เมืองคณฑี (กำแพงเพชร) พระบาง (นครสวรรค์) เชียงทอง (ตาก) เมืองบางพาน (กำแพงเพชร) และเมืองบางฉลัง (สุโขทัย) เมืองต่าง ๆ เหล่านี้ต่างตั้งตัวเป็นรัฐอิสระไม่ยอมขึ้นแก่กรุงสุโขทัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในช่วงสมัยพระยาลิไทเมืองคณฑีคงมีเจ้าเมืองที่มีความเข้มแข็งขึ้นปกครองบ้านเมือง มีความเจริญรุ่งเรืองจนกล้าที่จะตั้งตนเป็นอิสระจากการปกครองของกรุงสุโขทัยได้ จนเป็นเหตุให้พระมหาธรรมราชาลิไทต้องมาปราบปราม
          หลักฐานจากศิลาจารึกทั้ง 2 หลักดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่าเมืองคณฑีเป็นเมืองที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เคยรุ่งเรืองในสมัยพ่อขุนรามคำแหง และเจริญรุ่งเรืองสูงสุดจนแยกตนเป็นเมืองอิสระในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ก่อนที่จะเข้ามาสวามิภักดิ์อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อสิ้นยุคของพระมหาธรรมราชาลิไทแล้ว เมืองคณฑีก็เสื่อมความสำคัญลง จากเมืองกลายเป็นชุมชนใหญ่ริมแม่น้ำปิง

คำสำคัญ : คณฑี

ที่มา : สันติ อภัยราช. (2549). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาตำบลคณฑี อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร. กำแพงเพชร: สภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร.

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). เมืองคณฑี : เมืองที่ถูกจารไว้ในจารึกสมัยสุโขทัย. สืบค้น 17 กรกฎาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?code_db=610001&code_type=01&nu=pages&page_id=1374

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1374&code_db=610001&code_type=01

Google search

Mic

เมืองไตรตรึงษ์ตามเอกสารประชุมพงศาวดาร

เมืองไตรตรึงษ์ตามเอกสารประชุมพงศาวดาร

มีหลักฐานเกี่ยวกับเมืองไตรตรึงษ์และพระเจ้าอู่ทองว่าเป็นใครมาจากไหน ปรากฏอยู่ในหนังสือประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1 ซึ่งเขียนไว้มีความว่า ในกาลครั้งนั้นยังมีบุรุษผู้หนึ่ง มีสรีรกายเป็นปมเปาหูดต่อมทั่วทั้งตัว เป็นคนไพร่อยู่ในบ้านนอกใต้เมืองไตรตรึงษ์ อันชื่อว่าเมืองแปปนั้นลงมาทางไกลวันหนึ่ง ทำไร่ปลูกฟักแฟงแตงน้ำเต้าพริกมะเขือต่าง ๆ กล้วย อ้อย เผือก มัน ขายแลกเลี้ยงชีวิต หาภริยามิได้มาช้านาน มะเขือต้นหนึ่งอยู่ใกล้บันไดเรือน บุรุษนั้นไปเบาลงที่ริมต้น มะเขือนั้นเนือง ๆ ลูกมะเขือนั้นใหญ่โตงามกว่าทุกต้นในไร่นั้น ผลมะเขือนั้นเป็นที่รักที่ชอบใจยิ่งนักครั้งนั้นยังมีราชธิดาแห่งพญาไตรตรึงษ์พระองค์หนึ่ง มีพระรูปพระโฉมงามพร้อมบริบูรณ์ด้วยเบญจกัลป์ยานี

เผยแพร่เมื่อ 02-03-2020 ผู้เช้าชม 783

ดาบที่สร้างจากประวัติศาสตร์

ดาบที่สร้างจากประวัติศาสตร์

พระแสงราชศัสตราแห่งเมืองกำแพงเพชร เป็นพระแสงประจำเมืองเล่มเดียวในประเทศที่เป็นของเก่าที่แท้จริง เนื่องด้วยเป็นพระแสงที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ให้เป็นบำเหน็จความดีความชอบในการศึกปัตตานี ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์แก่พระยากำแพงเพชร (นุช ) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรคนที่ 2 ต่อจากบิดา ส่วนพระแสงประจำเมืองของจังหวัดอื่น ๆ ล้วนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

เผยแพร่เมื่อ 02-03-2020 ผู้เช้าชม 3,359

เมืองไตรตรึงษ์สมัยพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้น

เมืองไตรตรึงษ์สมัยพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้น

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพรจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือพระพุทธเจ้าหลวงของปวงชนชาวไทย ได้เสด็จประพาสต้นหัวเมืองทางเหนือโดยมีจุดปลายปลายทางอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร ในการเสด็จประพาสต้นในครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ  ที่ได้ทอดพระเนตรและทรงให้บันทึกเรื่องราวเอาไว้เป็นบทพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้น ซึ่งมีเนื้อเรื่องบางตอนเกี่ยวข้องกับเมืองไตรตรึงษ์ ดังข้อความดังนี้

เผยแพร่เมื่อ 02-03-2020 ผู้เช้าชม 1,244

หนึ่งพันปีเมืองกำแพงเพชร

หนึ่งพันปีเมืองกำแพงเพชร

จังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองโบราณที่สำคัญยิ่ง มาตลอดยุคสมัย และเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยมาโดยตลอด อาจนับตั้งแต่ พระร่วงโรจนราช กษัตริย์ต้นราชวงศ์พระร่วง
จากตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ว่ามาจากบ้านโคน เมืองคณฑี จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งชาวบ้านโคนถือกันว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้ตำนานท้าวแสนปม ได้กล่าวถึงท้าวแสนปมเป็นพระราชบิดาของ พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา..เป็นความเชื่อทั้งสองเรื่องที่คู่กับจังหวัดกำแพงเพชรเล่าขานสืบต่อกันมาช้านาน…ว่าปฐมกษัตริย์ทั้งกรุงสุโขทัย และอยุธยามาจากกำแพงเพชรทั้งสองพระองค์ …. จากตำนานสิงหนวติกุมาร ฉบับสอบค้น ของนายมานิต วัลลิโภดม ได้กล่าวถึงกำแพงเพชรที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์หลายตอน

เผยแพร่เมื่อ 21-01-2020 ผู้เช้าชม 2,689

เมืองไตรตรึงษ์ ตามร่องรอยแห่งตำนานและประวัติศาสตร์

เมืองไตรตรึงษ์ ตามร่องรอยแห่งตำนานและประวัติศาสตร์

บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงในเขตท้องที่ของจังหวัดกำแพงเพชร ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงความเป็นอยู่ของชุมชน เคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายเมืองด้วยกัน คือ เมืองแปป เมือง กำแพงเพชร เมืองชากังราว เมืองนครชุม เมืองคณฑี เมืองไตรตรึงษ์ เมืองเทพนคร ฯลฯ ซึ่งชื่อเมืองเหล่านี้พบตามจารึก ในเอกสารต่าง ๆ โดยแต่ละเมืองมี ความสำคัญแตกต่างกันไปตามยุคสมัย เหมือนอย่างเมืองไตรตรึงษ์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมโบราณระหว่างบ้านเมืองในแถบภาคกลางอย่างละโว้ อโยธยา และเมืองในเขตล้านนาอย่างหริภุญไชย เป็นเมืองสำคัญชั้น ลุงของกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยซึ่งเคยเข้ามาเป็นเจ้าครองเมือง และเป็นเมืองที่มีตำนานปรัมปราเรื่อง “ท้าวแสนปม” อันโด่งดัง

เผยแพร่เมื่อ 02-03-2020 ผู้เช้าชม 1,610

เมืองไตรตรึงษ์ เมืองแห่งการกำเนิดราชวงศ์เชียงราย

เมืองไตรตรึงษ์ เมืองแห่งการกำเนิดราชวงศ์เชียงราย

ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับ รศ. 125 ซึ่งดำเนินเรื่องตามต้นพระราชพงศาวดารได้กล่าวไว้ดังนี้ “เดิมพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งครองราชย์สมบัติอยู่ ณ เมืองเชียงรายโยนกประเทศ เป็นพระนครใหญ่ มีพระเจ้ามหาราชพระองค์หนึ่ง ครองราชย์สมบัติอยู่ ณ เมืองสตอง ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงรายได้ทำสงครามแก่กัน พระเจ้าเชียงรายพ่ายแพ้เสียเมืองแก่พระยาสตอง จึงกวาดครอบครัวอพยพชาวเมืองเชียงราย หนีข้าศึกลงมายังแว่นแคว้นสยามประเทศนี้ ข้ามแม่น้ำโพมาถึงเมืองแปปเป็นเมืองร้าง อยู่คนละฟากฝั่งกับเมืองกำแพงเพชร

เผยแพร่เมื่อ 02-03-2020 ผู้เช้าชม 2,107

จากชาวนครเวียงจันทน์มาเป็นประชาชนชาวปากคลอง

จากชาวนครเวียงจันทน์มาเป็นประชาชนชาวปากคลอง

ชาวบ้านปากคลองมีหลายชนชาติมาอาศัยอยู่มาก นอกจากลาวเวียงจันทน์แล้วยังมีชาวกะเหรี่ยง รวมถึงชาวเขาเผ่าต่างๆ ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ อพยพมาอยู่กันมากมาย คนที่มาอยู่บ้านปากคลองได้ ต้องเป็นคนเข้มแข็ง และแกร่งจริงๆ เพราะเล่ากันว่า เมื่อจะขึ้นล่องจากปากน้ำโพไปเมืองตาก ต้องผ่านบ้านปากคลอง ว่าต้องหันหน้าไปมองทางฝั่งกำแพง ถ้ามองมาทางบ้านปากคลองจะเป็นไข้ป่าตายเป็นสิ่งที่คนกลัวกันมากจนลือกันไปทั่วกำแพง ปากน้ำโพ และเมืองระแหง

เผยแพร่เมื่อ 17-04-2020 ผู้เช้าชม 1,555

ย้อนรอย “เที่ยวเมืองพระร่วง” ตอนที่ 2  (พระราชวัง,วัดพระแก้ว,วัดพระธาตุ)

ย้อนรอย “เที่ยวเมืองพระร่วง” ตอนที่ 2 (พระราชวัง,วัดพระแก้ว,วัดพระธาตุ)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎุเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จมาเมืองกำแพงเพชรเป็นครั้งแรกเมื่อคราวล่องกลับจากเมืองเชียงใหม่ ่ในปี พ.ศ. 2448 เป็นเวลา 3 คืน 2 วัน ด้วยมีเวลาในครั้งนั้นน้อยอยู่ และไม่ค่อยได้มีโอกาสไปตรวจค้นทางโบราณคดีมากนัก จึงได้เสด็จขึ้นมาประพาสเมืองกำแพงเพชรอีกครั้งในช่วงวันที่ 14-18 มกราคม 2450 โดยประทับพักแรมอยู่ที่พลับพลาใกล้วัดชีนาเกา ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการปลูกต้นสัก (ที่สวนสาธารณะเทศบาลฯ หลังธนาคารกรุงไทย) ไว้เป็นที่ระลึก และจารึกบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ที่วงเวียนต้นโพธิ์ การเสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎุเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งที่ 2 นี้ได้ ทรงออกตรวจตราและวินิจฉัยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของเมืองกำแพงเพชรเอาไว้อย่างมากมาย

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2020 ผู้เช้าชม 1,237

จารึกลานเงินจารึกเรื่องการสร้างพระเครื่องและการอาราธนาพระเครื่องที่พบในเจดีย์พระบรมธาตุ นครชุม

จารึกลานเงินจารึกเรื่องการสร้างพระเครื่องและการอาราธนาพระเครื่องที่พบในเจดีย์พระบรมธาตุ นครชุม

เมื่อสมเด็จพุฒาจารย์(โต) ได้รื้อค้นพระเจดีย์พระบรมธาตุนครชุม ภายในกรุพบแผ่นลานเงินจารึกภาษาขอม กล่าวถึงตำนานการสร้างพระพิมพ์และวิธีการสักการบูชาพร้อมลำดับอุปเท่ห์ไว้พระพิมพ์ที่ได้จากกรุนี้คือ ว่ามีฤาษี ๑๑ ตน ฤาษีเป็นใหญ่ ๓ ตนฤาษีพิราลัยตนหนึ่ง ฤาษีตาไฟตนหนึ่งฤาษีตาวัวตนหนึ่ง เป็นประธานแก่ฤาษีทั้งหลาย จึงปรึกษากันว่าเราทั้งนี้จะเอาอันใดให้แก่พระยาศรีธรรมาโศกราช ฤาษีทั้ง ๓ จึงปรึกษาแก่ฤาษีทั้งปวงว่าเราจะทำด้วยฤทธิ์ ทำเครื่องประดิษฐานเงินทองไว้ฉะนี้ฉลองพระองค์จึงทำเป็นเมฆพัตร อุทุมพรเป็นมฤตย์พิศม์ อายุวัฒนะ

เผยแพร่เมื่อ 17-04-2020 ผู้เช้าชม 3,479

ดาบโบราณเมืองกำแพง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

ดาบโบราณเมืองกำแพง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

เมืองกำแพงเพชรในประวัติศาสตร์ขึ้นชื่อว่า เป็นเมืองหน้าด่านที่มีการก่อสงครามอยู่ไม่ขาดสาย และมีป้อมปราการรายล้อมพร้อมคูเมือง เนื่องจากมีสงครามและเพื่อปกป้องบ้านเมือง จึงจำเป็นต้องมีศาสตราวุธคู่กายเพื่อนำมาป้องกันตัวและต่อสู้ ในขณะเดียวกันก็เป็นยุคสมัยที่ดาบสามารถนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเนื่องจากวัตถุดิบที่หาได้ง่าย ทั้งนี้ดาบที่ผู้ถือครองนั้นก็มีความแตกต่างออกไปตามบทบาทและหน้าที่ อาทิ ทหารศึกที่มีไว้เพื่อรบศึกสงครามโดยเฉพาะ หรือชาวบ้านที่มีไว้เพื่อป้องกันตัว แต่ยังมีดาบอีกประเภทที่สามารถบ่งบอกถึงชนชั้น ความสามารถ ไปจนถึงความยิ่งใหญ่ซึ่งถือได้ว่าการจะได้ดาบเล่มนี้มาย่อมจะต้องมีความ สามารถสูงและแลกมากับความพยายามอย่างสุดความสามารถดังเช่นความเป็นมาของดาบโบราณของจังหวัดกำแพงเพชรที่มีประวัติที่แสนวิเศษโดยมีเรื่องราวกล่าวกันว่าดาบเล่มนี้เคยเป็นดาบประจำตระกูลของพระยากำแพงผู้ปกครองเมืองกำแพงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เผยแพร่เมื่อ 20-06-2022 ผู้เช้าชม 3,167