วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)
เผยแพร่เมื่อ 11-02-2017 ผู้ชม 3,225
[16.4928485, 99.4527812, วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)]
วัดนาควัชรโสภณ เดิมชื่อ วัดช้าง สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนปลาย ประมาณหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นวัดที่มีความสำคัญ ตั้งอยู่หน้าเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงข้ามกับวัดเจ้าเมือง กำแพงเพชร เป็นวัดอยู่ในกลุ่มอรัญญิกด้านทิศตะวันออก รูปแบบสภาพแวดล้อมทั้งหมดได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสมัยลพบุรีหรือขอม นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของถนนพระร่วงตัดผ่านหน้าวัดนี้ด้วย วัดช้างนับเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาประมาณ ๗๐๐ ปีเศษ ลักษณะสภาพโดยทั่วไปของกลุ่มโบราณสถานจะถูกล้อมรอบด้วยคูน้ำกว้างประมาณ ๑๐ เมตร ยาวประมาณ ๕๐๙ เมตร มีเนื้อที่ตั้งวัด ๖๒ ไร่ การคมนาคมสะดวก บริเวณวัดสะอาด ร่มรื่นด้วยต้นไม้ สวยงามตามธรรมชาติ วัดช้าง เป็นวัดที่ร้างจากพระสงฆ์มาประมาณ ๔๐๐ - ๕๐๐ ปี ครั้นลุถึงปีพุทธศักราช พ.ศ. ๒๕๐๙ พระวิชัย ปสนฺโน
๑ ได้จาริกธุดงค์มาปักกลดจำพรรษาอยู่ ณ บริเวณ เจดีย์โบราณสถานวัดช้าง โดยในช่วงดังกล่าวได้ปฏิบัติธรรมและเทศนาอบรมสั่งสอนพุทธศานิกชนแถบถิ่นนี้เป็นอย่างดี จนทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเลื่อมใสศรัทธา และได้อุปัฏฐากบำรุงท่านเป็นลำดับ ต่อมา จ.ส.อ. ศักดิ์ และนางสังเวียน เดชานนท์ มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินมอบถวายให้สร้างวัด และภายหลังมีผู้ซื้อที่ดินถวายเพิ่มเติมอีก รวมเป็นเนื้อที่ทั้งสิ้น ๗๖ ไร่ ๑ งานเศษ
๒ จากนั้นได้เริ่มสร้างเสนาสนะที่พักอาศัย สาธารณูปการที่จำเป็นต่างๆ มีการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสามเณรที่มาอยู่จำพรรษาที่วัดช้างแห่งนี้ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้ขออนุญาตสร้างวัด และเริ่มก่อสร้างอุโบสถ โดยได้รับความอุปถัมภ์จาก พระราชมุนี (โฮม โสภโณ) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร และได้สร้างตำหนักทรงธรรม-สังฆราชานุสรณ์ เพื่อเตรียมรับเสด็จ พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อุฏฐายีมหาเถระ) ซึ่งได้เสด็จมาทรงยกช่อฟ้าอุโบสถ ใน พ.ศ. ๒๕๑๓
พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (จวน อุฏฐายี) ได้ประทานชื่อจากวัดช้าง (เดิม) เป็น “วัดนาควัชรโสภณ” และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ มีพื้นที่ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๓๒ ถนนราชดำเนิน ๒ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จึงนับได้ว่า “วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)” เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แห่งแรกในจังหวัดกำแพงเพชร
พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) เป็นพระสุปฏิปันโนรักษาข้อวัตรปฏิบัติตามแนวพระกัมมัฏฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ชาวจังหวัดกำแพงเพชร ให้ความเคารพนับถือท่านเป็นอันมาก นอกจากการเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนโดยทั่วไปแล้ว ท่านยังได้จัดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณรอีกด้วย ในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาด้านสาธารณูปการต่างๆ ภายในวัด อีกทั้งได้ขยายวัดและสำนักสงฆ์ออกไปสู่ตำบลและอำเภอต่างๆ อีกหลายแห่ง ด้านการคณะสงฆ์ พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) ได้รับความเมตตาจากพระเถระผู้ใหญ่ให้การอุปถัมภ์สนับสนุน อาทิ พระธรรมจินดาภรณ์ (ทองเจือ จินฺตเถโร)
๓ วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม, พระอริยเมธี (ปฐม อุดมดี) และ พระราชมุนี (โฮม โสภโณ) วัดปทุมวนาราม ร่วมกับคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และอุบาสก อุบาสิกา ได้ร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างวัดและสำนักสงฆ์ขึ้นในเขตพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรอีกหลายแห่ง จนสามารถตั้งเป็นเขตการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชร - พิจิตร (ธรรมยุต) โดย พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนาควัชรโสภณ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอจังหวัดกำแพงเพชร-พิจิตร (ธรรมยุต) เป็นองค์ปฐม
วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) ได้มรณภาพลงด้วยโรคกลัวน้ำ รวมสิริอายุ ๕๖ ปี ๓ เดือน นับว่าวงการคณะสงฆ์ได้สูญเสียพระสังฆาธิการที่มีความคิดริเริ่มพัฒนา และวางรากฐานของงานคณะสงฆ์ธรรมยุตในเขตภาคนี้ให้เป็นปึกแผ่นไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง ต่อมา พระมหาสมจิตต์ อภิจิตฺโต กรรมการเลขานุการ มูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นศิษย์ของพระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) ที่ไปพำนักจำ พรรษ าอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยความอุปถัมภ์สนับสนุนจากพระเถระผู้ใหญ่ อาทิ พระพรหมมุนี (วิชมัย ปุญฺญาราโม)๔ วัดบวรนิเวศวิหาร และ นายวัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้พาคณะญาติโยมผู้มีจิตศรัทธามาช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรม อาคารที่พักพระภิกษุสามเณร อาคารหอสมุด และตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เพื่อพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่ศึกษา และปฏิบัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรให้เป็นที่สัปปายะยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ยังได้เปิดโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น เพื่ออบรมเยาวชนให้ได้รับความรู้ด้านศีลธรรม หลักธรรมตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา ตลอดจนจริยธรรมอันดีงาม และได้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา วชิรกุญชร มัธยม เพื่อการศึกษาวิชาสามัญศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรอีกด้วย และในช่วงเดียวกันนี้ พระครูโสภณธรรมวัชร์ (เฉลิม วีรธมฺโม)๕ ได้มาดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดนาควัชรโสภณ และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ พร้อมกับดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอจังหวัดกำแพงเพชร-พิจิตร (ธรรมยุต) สืบต่อจากพระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนาควัชรโสภณ ที่ได้มรณภาพลง
เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธาน ในการพระราชทานเพลิงศพ พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) และเสด็จเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดอาคารสมเด็จพระญาณสังวร หอสมุดสมเด็จพระญาณสังวร และตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ต่อมาได้มีการปรับปรุงบริเวณพื้นที่และก่อสร้างอาคารเสนาสนะต่างภายในวัดนาค วัชรโภณ เป็นลำดับ คือ พ.ศ. ๒๕๓๕ ก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา มหาราชินี, พ.ศ. ๒๕๓๖ ก่อสร้างอาคาร ๘๐ พรรษา สมเด็จพระสังฆราช วิหารพระไพรีพินาศ, อาคารที่พักพระภิกษุ-สามเณร เป็นต้น รวมงบประมาณการพัฒนาด้านสาธาณูปการ และการจัดการศึกษาแผนกต่างๆ ของสำนักเรียนวัดนาควัชรโสภณ ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากมูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์ โดยการบริจาคร่วมของพุทธศาสนิกชน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๖๐,๔๗๗,๔๗๖.- บาท (หกสิบล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นเจ็ดพันสี่ร้อยเจ็ดสิบหกบาทถ้วน)
ปัจจุบัน วัดนาควัชรโสภณ ใช้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม แผนกบาลี แผนกสามัญศึกษา และยังเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์สำหรับเยาวชน แห่งแรกและแห่งเดียวในจังหวัดกำแพงเพชร เป็นสำนักเรียนที่ใช้เป็นสถานที่สอบธรรมชั้นนวกะภูมิและสอบธรรมสนามหลวง สำหรับพระภิกษุสามเณรฝ่ายธรรมยุติกนิกายมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์ในเขตนี้อีกด้วย จนได้รับการยกย่องให้เป็นวัดอุทยานการศึกษา และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดนาควัชรโสภณ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๙
พ.ศ. ๒๕๔๒ พระจันทโคจรคุณ (เฉลิม วีรธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดนาควัชรโสภณ ได้ดำรงตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ เป็น เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร-พิจิตร-พิษณุโลก-สุโขทัย-อุตรดิตถ์-ตาก (ธรรมยุต)
พ.ศ. ๒๕๔๓ พระจันทโคจรคุณ (เฉลิม วีรธมฺโม) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ที่ “พระราชสารโมลี” เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๓
ภาพโดย : http://www.panoramio.com/photo/11408268
คำสำคัญ : วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)
ที่มา : https://www.web-pra.com
รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2560). วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง). สืบค้น 20 มีนาคม 2568, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=275&code_db=610009&code_type=01
Google search
กลุ่มวัดในเขตอรัญญิกเมืองนครชุมแตกต่างจากกลุ่มวัดในเขตอรัญญิกเมืองกำแพงเพชร คือส่วนใหญ่นิยมสร้างด้วยอิฐ ขนาดสิ่งก่อสร้างไม่ใหญ่โตมากนัก วัดที่สำคัญ เช่น วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ วัดหม่องกาเล และวัดหนองยายช่วย รูปแบบทางสถาปัตยกรรม เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท เสด็จมาเมืองนครชุม
เผยแพร่เมื่อ 12-02-2017 ผู้เช้าชม 3,685
ที่ท้ายเมืองเก่าของกำแพงเพชร มีวัดอยู่ทางทิศตะวันออก นอกกำแพงเมือง พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐเรียกว่า วัดยม เป็นวัดขนาดใหญ่ เป็นที่พักทัพ ของ กษัตริย์ อยุธยาที่ยกมาเมืองกำแพงเพชร หรือไปตีเมืองเหนือ ลักษณะของวัดที่ปรากฏ มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ขนาดใหญ่ที่งดงามและสมบูรณ์ ที่สุด และเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ องค์เดียว ทางฝั่งกำแพงเพชร วัดนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดกะโลทัย เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ในยุคเดียวกับการสร้างเมืองนครชุม มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือเป็นวัดที่ได้เคยใช้เป็นที่ประทับแรมของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งยกทัพไปตีเมืองเหนือ วัดกะโลทัยมีโบราณสถานที่ โดดเด่น คือเจดีย์ทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เช่นเดียวกับวัดเจดีย์กลางทุ่ง และ วัดวังพระธาตุ
เผยแพร่เมื่อ 11-02-2017 ผู้เช้าชม 3,756
เป็นวัดที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรถ้านักท่องเที่ยวเดินทางมาจากทางวัดสิงห์แล้วให้ตรงไปตามทางจนเจอแยกให้ดูป้ายจะมีป้ายบอกว่าวัดกำแพงงามมาทางซ้ายตรงมาประมาณ 100-200 เมตร ก็จะถึงวัดกำแพงงาม วัดกำแพงงาม เป็นวัดขนาดใหญ่วัดหนึ่ง ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ส่วนที่สำคัญที่สุด คือมีกำแพงศิลาแลงที่มั่นคงและงดงามอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ จึงเรียกกันโดยสามัญว่า วัดกำแพงงามเพราะลักษณะของกำแพงงามนักส่วนชื่อเดิมของวัด ไม่มีผู้ใดทราบเช่นเดียวกับวัดอื่นๆ
เผยแพร่เมื่อ 16-02-2017 ผู้เช้าชม 3,295
เป็นวัดสำคัญ ที่สุดของบ้านร้านดอกไม้ ซึ่งปัจจุบัน เรียนขานกันว่าบ้านลานดอกไม้ ซึ่งมีที่มาว่าเมื่อเจ้าดารารัศมี พระวรชายา ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครา เสด็จ กลับชียงใหม่ ได้ประทับที่ บ้านร้านดอกไม้ ซึ่งประชาชนได้ เตรียมร้านดอกไม้เพื่อเตรียมการรับเสด็จเจ้าดารารัศมี ชาวบ้านกล่าวขานกันว่า เจ้าดารารัศมี เรียกชุมชนแห่งนี้ว่าบ้านร้าน ดอกไม้ ต่อมา เลือนไปกลายเป็นบ้านลานดอกไม้ ในที่สุด
เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 4,412
วัดวังอ้อ ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นใจกลางหมู่บ้าน หมู่ที่ 9 บ้านวังอ้อ ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล แรกเริ่มก่อตั้งเป็นที่พักสงฆ์ ในสมัยหลวงปู่แดง ท่านธุดงค์มาเร่ิมเกิดเป็นวัดเต็มรูปแบบเมื่อปีพุทธศักราช 2512 คือวัดวังอ้อ มาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันมีพระอธิการ ปัญญา ประภัสสะโร เป็นเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์ จำนวน 4 รูป ในวัดมีพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ กุฏิ 6 หลัง วิหาร 1 หลัง เมรุ 1 หลัง ศาลาธรรมสังเวช 1 หลัง นอกจากนี้วัดวังอ้อยังเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีพุทธอีกแหล่งหนึ่งของตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล
เผยแพร่เมื่อ 09-01-2020 ผู้เช้าชม 2,844
อยู่ถัดจากวัดพระสี่อิริยาบถไปทางทิศเหนือประมาณ 100 เมตร สันนิษฐานว่าใช้เวลาสร้างถึง 2 สมัย คือสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา ผังรวมของวัดแบ่งเขตพุทธาวาสให้อยู่ในกลุ่มกลางล้อมรอบด้วยเขตสังฆาวาสหรือกุฏิสงฆ์ โดยมีพระเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม มีซุ้มทั้ง 4 ด้านเป็นประธาน ด้านหน้าเป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ ยกฐานประทักษิณสูง บนฐานประทักษิณนี้ ประดิษฐานพัทธสีมาไว้ทั้งแปดทิศ มุขด้านหน้าของฐานประทักษิณ มีรูปสิงห์ นาค ประดับ
เผยแพร่เมื่อ 08-02-2017 ผู้เช้าชม 3,771
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองไตรตรึงษ์ มีวังแม่น้ำปิงขนาดใหญ่ใกล้บริเวณวัด คนในท้องถิ่นเรียกว่า "วัดวังพระธาตุ" ภายในมีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์พระประธานทรงข้าวบิณฑ์ (ทรงดอกบัว) ศิลปะสุโขทัย
เผยแพร่เมื่อ 11-02-2017 ผู้เช้าชม 5,958
วัดพระนอน อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑ (พ.ศ. ๒๑๐๐ – พ.ศ. ๒๒๙๙) เป็นวัดขนาดใหญ่ที่มีแผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศเหนือ หรือบริเวณที่เรียกว่าอรัญญิก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก กำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลงเฉพาะด้านทิศตะวันออกและด้านทิศใต้ หน้าวัดมีศาลา บ่อน้ำ และห้องน้ำ ภายในวัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๒ ส่วน คือ เขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส มีกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลง สิ่งก่อสร้างสำคัญในเขตพุทธาวาสประกอบด้วย พระอุโบสถ วิหารพระนอน เจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ และมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย เขตสังฆาวาสตั้งอยู่ด้านเหนือของเขตพุทธาวาส เป็นบริเวณที่พักอาศัยของสงฆ์ มีกุฏิ ศาลา บ่อน้ำ และเว็จกุฎิ (ห้องส้วม) และได้พบใบเสมาหินชนวนจำหลักลวดลาย ปัจจุบันนำไปแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานกำแพงเพชร
เผยแพร่เมื่อ 08-02-2017 ผู้เช้าชม 7,770
เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกาพญาลิไททรงประดิษฐานไว้เมื่อปี พ.ศ.1900 ประชาชนชาวกำแพงเพชรมีความศรัทธาต่อองค์พระธาตุและมีความเชื่อดังจารึกที่ว่า "ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตมหาธาตุและพระศรีมหาโพธิ์นี้ว่าไซร้ มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอดังได้นบพระผู้เป็นเจ้า" เป็นตำนานที่มาของงานประเพณี "นบพระเล่นเพลง" ในวันมาฆบูชาของจังหวัดกำแพงเพชร พระบรมธาตุนครชุม มหาเจดีย์ทรงสูงใหญ่ สวยงามไปด้วยสถาปัตยกรรมและสีทองอร่ามทั้งองค์ เสมือนดั่งเจดีย์ชเวดากองในเมืองพม่า เป็นพระบรมเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 9 องค์ จวบจนปัจจุบัน
เผยแพร่เมื่อ 02-02-2017 ผู้เช้าชม 3,388
วัดดงหวายตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองไปทางทิศเหนือ ห่างจากประตูสะพานโคมไปประมาณ 200 เมตร ปัจจุบันทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 กำแพงเพชร สุโขทัย ตัดผ่านด้านหลังวัด ทำให้บริเวณสังฆาวาส และเจดีย์รายบางส่วนได้หายไปกับการสร้างถนน เหตุที่เรียกว่าวัดดงหวาย เพราะสมัยที่ประชาชนเข้าไปขุดค้นพระเครื่องและพระบูชานั้น บริเวณนั้นเป็นดงหวายจริงๆ กว่าจะเข้าไปถึงเจดีย์และวิหารได้ต้องแหวกดงหวายเข้าไป รกทึบมาก จึงเรียกวัดนี้ว่าวัดดงหวาย
เผยแพร่เมื่อ 22-02-2017 ผู้เช้าชม 2,320