ตาล

ตาล

เผยแพร่เมื่อ 01-06-2020 ผู้ชม 7,614

[16.4258401, 99.2157273, ตาล]

ตาล ชื่อสามัญ Asian palmyra palm, Palmyra palm, Brab palm, Doub palm, Fan palm, Lontar palm, Toddy palm, Tala palm, Wine palm
ตาล ชื่อวิทยาศาสตร์ Borassus flabellifer L. จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEAE
ต้นตาล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตาลนา ปลีตาล (เชียงใหม่), ตาล ตาลใหญ่ ตาลโตนด (ภาคกลาง), โหนด ลูกโนด(ภาคใต้), ถาล (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ถาน (ชาน-แม่ฮ่องสอน), ทอถู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ท้าง (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ตะนอด (เขมร), ทะเนาด์ (เขมร-พระตะบอง) เป็นต้น
ต้นตาล จัดเป็นพืชดั้งเดิมของทวีปแอฟริกา และภายหลังได้ขยายแพร่พันธุ์ไปเรื่อย ๆ จนมีอยู่ทั่วไปในเอเชียเขตร้อนรวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งพบทั่วไปในทุกภาคของประเทศ และสามารถพบได้มากในภาคตะวันตก ในจังหวัดเพชรบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา และนครปฐม
ประโยชน์ของต้นตาล หลัก ๆ แล้วจะนิยมนำมาใช้ประกอบอาหารและใช้ในงานหัตถกรรมต่าง ๆ และอาจมีการนำไปใช้ทางยาสมุนไพรบ้าง โดยต้นตาลนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆ ได้แก่
       ตาลบ้าน เป็นตาลที่มีจำนวนของเต้าจาวในแต่ละผลประมาณ 1-4 เต้า และยังมีสายพันธุ์ย่อยอีก 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ตาลหม้อ (ผลใหญ่ ผิวดำคล้ำ), ตาลไข่ (ผลเล็กกว่า ผลมีสีขาวเหลือง), และตาลจาก (มีผลในทะลายแน่นคล้ายกับทะลายจาก)
         ตาลป่า หรือ ตาลก้านยาว ชนิดนี้จะมีผลเล็ก มีสีเขียวคล้ำ มีเต้าอยู่ 1-2 เต้า ลำต้นเขียวสดและก้านใบยาว และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก

ลักษณะของต้นตาล
        ต้นตาล หรือ ต้นตาลโตนด เป็นปาล์มต้นเดี่ยวที่มีความสูงชะลูด มีลำต้นใหญ่และเนื้อแข็งแรงมาก และเป็นปาล์มที่แยกเพศกันอยู่คนละต้น ลำต้นขนาดประมาณ 30-60 เซนติเมตร มีความสูงของต้นได้ถึง 25-40 เมตร ลำต้นเป็นเสี้ยนสีดำและแข็งมาก แต่ไส้กลางของลำต้นจะอ่อน ส่วนบริเวณโคนต้นจะมีรากเป็นกลุ่มใหญ่ ในขณะที่ต้นยังเตี้ยจะมีทางใบแห้งและติดแน่น เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนและระบายน้ำได้ดี มีความชื้นปานกลาง ไม่ชอบอากาศเย็น ชอบแสงแดดจัด ทนต่อดินเค็ม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด การย้ายไปปลูกต้นจะไม่รอด เพราะรากแรกที่แทงลงดินอยู่ลึกมาก หากรากแรกขาดก็จะตายทันที
       ใบตาล ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ลักษณะค่อนข้างกลมคล้ายพัด มีความกว้างประมาณ 1-1.5 เมตร แผ่นใบหนามีสีเขียว ปลายใบเป็นจักลึกถึงครึ่งแผ่นใบ ส่วนก้านใบหนามีสีเหลืองเป็นทางยาวประมาณ 1-2 เมตร และขอบของทางก้านทั้งสองข้าง จะมีหนามแข็งคล้ายฟันเลื่อยแข็ง ๆ สีดำและคมมากอยู่ตามขอบก้านใบ ส่วนโคนก้านจะแยกออกจากกันคล้ายกับคีมเหล็กโอบหุ้มลำต้นเอาไว้
        ดอกตาล ดอกมีสีขาวอมเหลือง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงระหว่างกาบใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ช่อดอกมีดอกอยู่ช่อละ 8-16 ดอก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีความกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร[1] ช่อดอกเพศผู้ใหญ่จะรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ คล้ายนิ้วมือ หรือเรียกว่า "นิ้วตาล" โดยแต่ละนิ้วจะมีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ที่โคนกลุ่มช่อจะมีก้านช่อรวมและมีกาบแข็ง ๆ อยู่หลายกาบหุ้มโคนก้านช่ออีกทีหนึ่ง ส่วนช่อดอกเพศเมียก็คล้ายกับเพศผู้ แต่ลักษณะของนิ้วจะเป็นปุ่มปม โดยปุ่มปมคือดอกที่ติดนิ้วตาล ในดอกหนึ่ง ๆ จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร และมีกาบแข็ง ๆ หุ้มอยู่ในแต่ละดอก โดยกาบนี้จะเจริญเติบโตไปเป็นหัวจุกลูกตาลอีกทีหนึ่ง
        ผลตาล หรือ ลูกตาล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ผลติดกันเป็นกลุ่มแน่น ลักษณะของผลเป็นทรงกลมหรือเป็นรูปทรงกระบอกสั้น ผลเป็นเส้นใยแข็งเป็นมัน มักมีสีน้ำตาลถึงสีม่วงเข้ม ปลายผลมีสีเหลือง หรือมีสีเหลืองแกมดำคล้ำเป็นมันหุ้มห่อเนื้อเยื่อสีเหลืองไว้ภายใน ผิวผลเป็นมัน และผลมีขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตร เมื่อผลสุกแล้วจะมีสีดำ[1],[3] ซึ่งในผลหนึ่ง ๆ จะมีเมล็ดใหญ่และแข็งอยู่ประมาณ 1-3 เมล็ด (จาวตาล) ซึ่งจะถูกหุ้มด้วยใยและเนื้อผลสีเหลืองสด
         สำหรับต้นตาลตัวผู้และต้นตาลตัวเมีย ในปัจจุบันต้นตัวเมียจะให้ผลผลิตที่มีมูลค่ามากกว่าต้นตัวผู้ โดยเฉพาะผลผลิตของจาวตาลที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นจาวตาลเชื่อมได้
         เราสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างตาลไข่กับตาลหม้อได้อย่างชัดเจนเมื่อเป็นผล โดยตาลไข่จะมีลูกเล็ก สีเหลืองตลอดทั้งผล ผิวมีประเป็นจุด ๆ สีดำทั่วไป ส่วนเนื้อเยื่อมีความชื้นมากและให้แป้งน้อย ส่วนตาลหม้อนั้นลูกจะใหญ่ บางทีอาจยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร และวัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง 23 เซนติเมตร โดยผิวผลจะดำสนิทและมีสีเหลืองเล็กน้อยบริเวณก้นผลเท่านั้น ส่วนเยื่อจะมีความชื้นน้อยและให้แป้งมาก

สรรพคุณของตาล
1. สำหรับบางคนใช้เป็นยาชูกำลัง (รากต้มกับน้ำดื่ม)
2. ช่วยทำให้สดชื่น จิตใจแจ่มใสเบิกบาน ด้วยการใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก) หรือจะใช้งวงตาลหรือช่อตาลก็ได้
3. จาวตาลมีฟอสฟอรัสสูง จึงช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรงได้ (จาวตาล)
4. ช่วยแก้ไข้ ด้วยการใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก) ส่วนรากที่งอกอยู่เหนือดิน (ตาลแขวน) มีรสหวานเย็นปนฝาดเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้ไข้ที่มีพิษร้อน
5. รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม แก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (ราก)
6. กาบหรือก้านใบสดนำมาอังไฟบีบเอาแต่น้ำใช้อมรักษาอาการปากเปื่อยได้ (กาบใบ, ก้านใบสด)
7. ช่วยแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ (รากต้มกับน้ำ)
8. ใบนำมาคั่วให้เหลืองแล้วนำมาบดจนเป็นผง ใช้สูบหรือเป่าช่วยลดความดันโลหิต (ใบ)
9. ช่วยขับเลือด (รากต้มกับน้ำดื่ม)
10. ช่วยแก้ตานขโมยในเด็ก (งวงตาลหรือช่อตาล, ราก)
11. กาบหรือก้านใบสดนำมาอังไฟแล้วบีบเอาน้ำมากินแก้อาการท้องเสีย ท้องร่วงได้ (กาบใบ, ก้านใบสด)
12. รากตาลหรืองวงตาลนำมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยขับพยาธิได้ (งวงตาล, ราก)
13. ใช้รากหรืองวงตาลนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้พิษตานซางได้ (งวงตาล, ราก) หรือจะใช้รากที่งอกอยู่เหนือดินที่เรียกว่า "ตาลแขวน" ก็แก้พิษซางตานได้ดีเช่นกัน (ตาลแขวน)
14. ใบตาลช่วยแก้อาการกระสับกระส่ายของสตรีหลังคลอดบุตร (ใบ)
15. เปลือกตาลหรือส่วนที่เป็นกะลามีการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของยาแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร (เปลือกตาลหรือกะลา) ส่วนช่อดอกตัวผู้ยังมีการนำมาใช้เป็นส่วนผสมเพื่อต้มเป็นยาบำรุงกำลังอีกด้วย (ช่อดอกตัวผู้)

ประโยชน์ของตาล
1. ประโยชน์ของต้นตาลเนื่องจากต้นตาลมีทรงพุ่มที่สวยงาม จึงนิยมใช้ปลูกไว้กลางแจ้งเป็นกลุ่มหรือเป็นแถว หรือปลูกไว้เดี่ยว ๆ ตามชายทะเลหรือริมถนนหนทาง
2. ลำต้นของต้นตาลสามารถนำมาใช้ทำไม้กระดานหรือใช้ทำเสา สร้างบ้าน ซึ่งมีคุณสมบัติทนแดดทนฝนและการเสียดสีได้ดี นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้และเฟอร์นิเจอร์สำหรับเครื่องตกแต่งบ้าน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ไม้เท้า ด้ามร่ม สาก กรอบรูป เชิงเทียน แก้วน้ำ ฯลฯ หรือใช้ในงานฝีมือที่มีราคาสูง ใช้ทำเรือขุด (เรืออีโปง) หรือจะนำลำต้นมาตัดขุดไส้กลางออกทำเป็นท่อระบายน้ำสำหรับพื้นที่ทางการเกษตร สะพาน กลอง เสา เป็นต้น
3. ประโยชน์ของเปลือกตาลหรือส่วนที่เป็น "กะลา" นิยมนำไปใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง เมื่อนำไปเข้าเตาเผาแล้วจะได้ถ่านสีดำที่มีคาร์บอนสูงเป็นพิเศษ และกำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน หรือจะนำมาใช้เป็นกล่องหรือตลับสำหรับเก็บสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่น เข็ม กระดุม เส้นยาสูบ ฯลฯ
4. ประโยชน์ของใบตาลใบอ่อนนำมาใช้ในการจักสาน งานฝีมือ หรือทำเป็นของใช้และของเล่นสำหรับเด็ก โดยสานเป็นรูปสัตว์ชนิดต่าง ๆ ส่วนใบแก่นำไปใช้ทำหลังคากันแดดกันฝน มุงหลังคา ทำเสื่อ สานตะกร้อ ตะกร้า สานกระเป๋า ทำหมวก ทำลิ้นปี่ ทำแว่นสำหรับทำน้ำตาลแว่น ทำเชื้อเพลิง ฯลฯ หากตัดใบตาลเป็นท่อนสั้น ๆ ก็สามารถนำมาใช้แทนช้อนเพื่อตักขนมหรืออาหารได้ชั่วคราว และในประเทศอินเดียสมัยโบราณมีการนำมาใช้เพื่อจารึกตัวอักษรลงบนใบแทนการใช้กระดาษ หรือใช้ทำตาลปัตร (พัดยศ) ของพระสงฆ์ในอดีต
5. ประโยชน์ของทางตาลหรือส่วนของก้านใบตาล สามารถลอกผิวภายนอกส่วนที่อยู่ด้านบนที่เรียกว่า "หน้าตาล" มาฟั่นทำเป็นเชือกสำหรับผูกหรือล่ามวัว และมีความเหนียวที่ดีมากแม้จะไม่ทนทานเท่าเชือกที่ทำจากต้นปอหรือต้นเส็งก็ตาม จึงเหมาะสำหรับการใช้งานที่ต้องมีการตากแดดตากฝน ส่วนทางตาลตอนโคน ที่อยู่ติดกับต้นตาลนั้นจะมีอยู่ 2 แฉก มีลักษณะบางและแบน หรือที่เรียกว่า "ขาตาล" สามารถนำมาตัดใช้เป็นคราดหรือไม้กวาด เพื่อใช้กอบสิ่งของที่เป็นกอง อย่างเช่น มูลวัว ขี้เถ้า เมล็ดข้าว เป็นต้น แต่หากต่อด้ามหรือทำเป็นกาบจะเรียกว่า "กาบตาล" นอกจากนี้ทางตาลยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นคอกสัตว์ รั้วบ้าน ใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง หรือใช้ในงานหัตถกรรมจักสานหรืองานฝีมือ เช่น การทำเป็นกระเป๋า หมวก ฯลฯ
6. ประโยชน์ของลูกตาลโตนดผลสามารถนำมารับประทานหรือใช้ทำเป็นขนมได้ (ผลเมื่อสุกแล้วจะมีกลิ่นหอม) สามารถทำเป็น "ลูกตาลลอยแก้ว" หัวลูกตาลอ่อน นำมาต้มให้สุกใช้รับประทานกับน้ำพริกได้ หรือนำมาต้มกับน้ำปลาร้าที่เรียกว่า "ต้มปลาร้าหัวตาล" ส่วนผลลูกตาลสุกจะใช้เนื้อเยื่อสีเหลืองที่หุ้มเมล็ดนำมาทำเป็นขนมที่เรียกวา "ขนมตาล" ส่วนเมล็ดทิ้งไว้จนรากงอก หากทิ้งไว้พอสมควรจะมีเนื้อเยื่อข้างใน สามารถนำมาเชื่อมทำเป็นขนมหรือที่เรียกว่า "ลูกตาลเชื่อม" นอกจากนี้ยังใช้ผสมกับแป้งทำเป็นขนมหวาน จาวตาลเชื่อม ลูกตาลลอยแก้ว เป็นต้น[1],[3],[4],[8] ผลอ่อน หน่ออ่อน สามารถนำมาใช้ประกอบอาหาร ประเภทผัด ต้ม แกง ได้
7. ประโยชน์ของตาลโตนดเปลือกหุ้มผลอ่อนนำมาใช้ปรุงอาหารได้ทั้งคาวและหวาน เช่น อาหารจำพวกยำ แกงเลียง ฯลฯ ส่วนเปลือกหุ้มผลตาลจากแห้งใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงได้ หรือจะคั้นเอาแต่น้ำของผลแก่ใช้ปรุงเพื่อแต่งกลิ่นขนม นอกจากนี้ผลตาลแก่ยังสามารถนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู วัว ได้อีกด้วย
8. หากเอาส่วนของหัวตาลมาปอกผิวนอกออก แล้วนำมาหั่นออกเป็นชิ้นบาง ๆ จะได้หัวตาลอ่อน ที่นำไปใช้ปรุงเป็น "แกงคั่วหัวตาล"
9. ประโยชน์ของหัวตาลอ่อนนิยมนำไปลอยน้ำตาลใส ด้วยการตัดเฉพาะส่วนหัวลูกตาลที่ค่อนข้างอ่อนนำมาร้อยกับเส้นตอกให้เป็นพวง ประมาณพวงละ 7-10 หัว แล้วนำไปลอยน้ำตาลใสที่กำลังเคี่ยวเดือดในกระทะ เมื่อสุกแล้วจึงนำขึ้นมารับประทานได้
10. ประโยชน์ของลอนตาลต้นตาลตัวเมียจะมี "ลูกตาล" ที่ติดกันเป็นทะลาย หากยังไม่แก่จัด จะนิยมตัดลงมาทั้งทะลาย แล้วนำมาเฉาะเพื่อเอา "เต้าตาล" หรือ "ลอนตาล" นำมาใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ โดยให้รสหอมหวานและนุ่มเนื้อน่ารับประทาน หรือจะแช่เย็นก่อนนำมารับประทานก็ใช้ได้ หรือจะนำไปทำเป็นขนมด้วยการต้มกับน้ำตาลทรายทำเป็น "ลอนตาลลอยแก้ว" ก็ได้
11. ประโยชน์ของจาวตาลนิยมนำไปเชื่อมรับประทานเป็นของหวาน ด้วยการนำมาทำเป็น "จาวตาลเชื่อม" หรือที่นิยมเรียกว่า "ลูกตาลเชื่อม" มีทั้งการเชื่อมเปียก (จาวตาลจะฉ่ำน้ำตาล) และการเชื่อมแห้ง (จาวตาลจะมีเกล็ดน้ำตาลจับแข็ง สามารถเก็บไว้ได้นาน) หรือจะนำจาวตาลเชื่อมน้ำตาลโตนดชุบแป้งทอด เป็นของกินเล่นที่เรียกว่า "โตนดทอด"
12. ประโยชน์ของเมล็ดตาล สามารถนำมาใช้รับประทานสด หรือใช้ทำเป็นขนมเป็นของหวาน หรือนำไปใส่ในแกงส้มหรือแกงเหลือง ส่วนเมล็ดตาลสุกเมื่อนำไปล้างทำความสะอาดแล้วนำไปตากให้แห้ง จะมีลักษณะเป็นฟูฝอยสวยงามคล้ายกับขนสัตว์ จึงนิยมนำไปใช้ทำเป็นของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิง ด้วยการใช้หวีเพื่อจัดรูปทรงได้หลายแบบ คล้ายกับเป็นช่างทำผม นอกจากนี้ยังนำมาใช้เผาถ่านได้อีกด้วย
13. สำหรับลูกตาลอ่อน เราจะนำส่วนที่ติดขั้วจุกและใจกลางของลูกมาใช้ทำเป็นอาหาร หรือใช้รับประทานแทนผัก
14. ประโยชน์ของงวงตาล (ช่อดอก) ใช้น้ำหวานที่ได้จากการปาดและนวด นำมาใช้ทำเป็นเครื่องดื่มและน้ำตาล หรือทำเป็นน้ำตาลสด น้ำตาลเมา น้ำตาลแว่น น้ำตาลโตนด[7] นอกจากนี้ยังมีการใช้ช่อดอกตัวผู้นำมาตากแห้งทำเป็นเชื้อเพลิง และนำมาใช้กินต่างหมาก ต้นตาลทั้งเพศผู้และเพศเมียที่ยังไม่แก่เต็มที่จะให้น้ำตาลที่สามารถนำมาทำเป็นน้ำตาลก้อนหรือน้ำตาลปี๊บ
15. ปัจจุบันมีการนำงวงตาลมาใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ที่อยู่ในรูปแบบแคปซูลเพื่อความสะดวกในการบริโภค โดยมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ แก้พิษตานซาง ทำให้จิตใจชื่นบาน ฯลฯ

คำสำคัญ : ตาล

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). ตาล. สืบค้น 27 กรกฎาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=1628&code_db=610010&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1628&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

อัญชัน

อัญชัน

อัญชัน เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้ ปลูกทั่วไปในเขตร้อน ลักษณะของดอกอัญชันจะมีสีขาว สีฟ้า สีม่วง ส่วนตรงกลางดอกจะมีสีเหลือง และรูปทรงคล้ายหอยเชลล์ มีสรรพคุณที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะมีสารที่ชื่อว่า "แอนโทไซยานิน" (Anthocyanin) ซึ่งมีหน้าที่ไปช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้น เช่น ไปเลี้ยงบริเวณรากผม ซึ่งช่วยทำให้ผมดกดำ เงางาม หรือไปเลี้ยงบริเวณดวงตาจึงช่วยบำรุงสายตาไปด้วยในตัว หรือไปเลี้ยงบริเวณปลายนิ้วมือ ซึ่งก็จะช่วยแก้อาการเหน็บชาได้ด้วย 

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 4,907

ขมิ้นชัน

ขมิ้นชัน

ขมิ้นชันนั้นเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับขิง มีอายุได้หลายปี ความสูงลำต้นประมาณ 30-95 เซนติเมตร มีรากเหง้าอยู่ใต้ดินเป็นรูปทรงไข่ อวบและสั้น และมีแขนงรูปทรงกระบอกแตกออกเป็น 2 ด้าน ส่วนเนื้อในของเหง้านั้นมีกลิ่นหอมฉุนแบบเฉพาะตัว สีเหลืองอมส้ม หรือเหลืองจำปาอมแสด เป็นใบเดี่ยว ตรงกลางใบมีสีแดงเข้ม เหง้าเรียงตัวเป็นวงซ้อนทับกัน และดอกแทงออกมาจากเหง้ารูปทรงกระบอก กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ส่วนใบประดับสีเขียวอ่อนๆ และส่วนผลมีด้วยกัน 3 พู เป็นรูปทรงกลม

เผยแพร่เมื่อ 29-04-2020 ผู้เช้าชม 7,361

จันทนา

จันทนา

จันทนา จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นได้ถึง 2-5 เมตร (บ้างว่าสูงได้ประมาณ 5-10 เมตร) กิ่งแขนงแตกเป็นพุ่มแน่น ลำต้นเดี่ยวตั้งตรง เปลือกต้นบาง ผิวเรียบ เป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนกิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมมีขนสั้น เนื้อไม้และแก่นมีสีออกน้ำตาลอ่อนๆ หรืออกขาวนวล มีรสขม หวาน หรือรสขมเย็นระคนกัน โดยต้นจันทนามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและพม่า มักขึ้นตามป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบ

เผยแพร่เมื่อ 26-05-2020 ผู้เช้าชม 3,414

เสน่ห์จันทน์แดง

เสน่ห์จันทน์แดง

เสน่ห์จันทน์แดง หรือ ว่านเสน่ห์จันทน์แดง มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของเอเชียและอเมริกา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นเกิดจากหัวใต้ดิน ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ประกอบด้วยก้านใบหลายๆ ก้าน ไม่แตกกิ่งก้านสาขา มีความสูงได้ประมาณ 45-60 เซนติเมตร นอกนั้นจะเป็นก้านใบและตัวใบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือแยกหัว เป็นพรรณไม้ในที่ร่มหรือแดดรำไร เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้นสูง ระบายน้ำได้ดี แต่ไม่ชอบน้ำขัง

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 6,567

เพกา

เพกา

ลักษณะทั่วไป     ต้นเป็นพรรณไม้ยืนต้น ผลัดใบสูง ประมาณ 4 – 20 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีรูระบายอากาศ กระจัดกระจายทั่วไป ส่วนเปลือกเรียบสีเทา บางทีแตกออกเป็นรอยตื้น ๆ เล็กน้อย หรือรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ เกิดจากใบร่วงหล่นไปแล้ว  ใบออกเป็นช่อคล้ายขนนกประมาณ 2-3 ชั้น มีใบเดียว ๆ ตรงปลายก้านจะเรียงตรงข้ามชิดกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ใบย่อยจะมีลักษณะเป็นรูปไข่และรูปขอบขนาน ส่วนปลายใบจะแหลม ขอบใบเรียบ โคนสอบกลม มักจะเบี้ยว  ดอกจะออกเป็นช่อใหญ่ตรงยอด กลีบรองกลีบดอกจะมีลักษณะเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอกเป็นรูปทรงกระบอก เมื่อเป็นผล แข็งมากค่อนข้างหนา ภายนอกสีม่วงแดงหรือน้ำตาลคล้ำ ส่วนภายในจะเป็นสีเหลือง สีชมพู ตรงโคนจะเชื่อมติดกัน มีลักษณะรูปลำโพง บริเวณปากลำโพงด้านในนั้นจะเป็นสีขาวอมเหลือง หรือสีขาวอมเขียว เกสรตัวผู้จะมีประมาณ 5 อัน ติดกับท่อดอก โคนก้านมีขน ส่วนเกสรตัวเมียจะมีอยู่ 1 อัน มีท่อเกสรยาวประมาณ 4-6 ซม.  สีม่วงคล้ำ

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 1,852

เผือก

เผือก

เผือกมีสายพันธุ์มากกว่า 200 พันธุ์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทเอดโด (eddoe) ได้แก่ Colocasia esculenta var. antiquorum หรือ Colocasia esculenta var. globulifera ประเภทนี้จะเป็นเผือกที่มีหัวขนาดไม่ใหญ่ และมีหัวเล็กกว่าล้อมรอบอยู่หลายหัว ทุกหัวใช้รับประทานและใช้ทำพันธุ์ได้ ส่วนอีกประเภทคือ ประเภทแดชีน (dasheen) ได้แก่ Colocasia esculenta var. esculenta ประเภทนี้เป็นเผือกที่มีหัวขนาดใหญ่ และมีหัวขนาดเล็กล้อมรอบ ใช้รับประทานได้ เผือกประเภทนี้ได้แก่ เผือกหอม ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกทั่วไปในบ้านเรา

เผยแพร่เมื่อ 13-07-2020 ผู้เช้าชม 11,097

ตะขบ

ตะขบ

ต้นตะขบ จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านแผ่ขนานกับพื้นดิน เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ตะขับหรือตะขบฝรั่งนี้มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ พบปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ผลทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศพบปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ผล และมักพบขึ้นเป็นวัชพืชตามที่รกร้างว่างเปล่าตามป่าโปร่งทั่วไป หรือมักขึ้นเองตามธรรมชาติที่นกและสัตว์ขนาดเล็กถ่ายมูลเมล็ดตะขบทิ้งไว้ สามารถขยายพันธุ์ได้เองโดยวิธีการเพาะเมล็ด ออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี

เผยแพร่เมื่อ 01-06-2020 ผู้เช้าชม 22,542

ข่อย

ข่อย

ลักษณะเป็นต้นไม้ขนาดเล็กหรือกลาง เปลือกขรุขระ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่กลับ หรือรูปรี โนสอบ ขอบใบหยัก ดอกสีเหลืองแกมเขียวออกเป็นช่อสั้น ผลเป็นผลสดทรงกลมเมื่อสุกสีเหลือง ฉ่ำน้ำ ประโยชน์ เปลือกต้น แก้ท้องร่วง บิด รำมะนาด ปวดฟัน โรคผิวหนัง รักษาแผลเมล็ดบำรุงธาตุเจริญอาหาร ขับลม  แก่น ม้วนบุหรี่สูบรักษาริดสีดวงจมูก เปลือกต้ม ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 2,761

สาบเสือ

สาบเสือ

ลักษณะทั่วไป  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2เมตร อายุหลายปี   ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ รูปขอบขนานแกน สามเหลี่ยมกว้าง 3-7 ซม. ยาว6-12ซม.ขอบใบหยัก  ดอกสีขาวถึงม่วงอ่อน ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ลักษณะเป็นก้อน ขนาด 4-8 มม. ดอกย่อยจำนวนมาก รอบนอกเป็นดอกเพศเมีย มีก้านชูเกสรยาว ด้านในเป็นดอกสมบูรณ์เพศกลีบ ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรผู้สั้น 5 อันอยู่ภายในหลอดดอกเมล็ดขนาดเล็ก รูปกระสวย แบนส่วนปลายมีขนยาวสีขาว  เป็นพืชพื้นดินเดิมของทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ปัจจุบันพบทั่วไปในเขตร้อนตามพื้นที่เปิดหรือบริเวณป่าที่ถูกทำลายตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงความสูง1,500เมตร

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 5,005

บอน

บอน

บอนมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตที่ราบลุ่มของเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ของประเทศไทยด้วย โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี มีเหง้าลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกอยู่ใต้ดิน มักขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ หลายต้นเรียงรายตามพื้นที่ลุ่มริมน้ำ มีความสูงของต้นประมาณ 0.7-1.2 เมตร ลำต้นประกอบไปด้วยหัวกลางและหัวย่อยอยู่รอบ ๆ หัวใหญ่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ ไหล และวิธีการปักชำหัว เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ อุ้มน้ำได้ดี เพาะปลูกได้ง่าย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค มักขึ้นเองตามที่ลุ่ม บนดินโคลน บริเวณริมน้ำลำธาร หรือบริเวณที่มีน้ำขังตื้น ๆ

เผยแพร่เมื่อ 17-02-2017 ผู้เช้าชม 15,261