ชนเผ่าปกาเกอะญอ หรือ กะเหรี่ยง ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
เผยแพร่เมื่อ 13-06-2022 ผู้ชม 8,653
[16.2851021, 98.9325563, ชนเผ่าปกาเกอะญอ หรือ กะเหรี่ยง ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร]
บทนำ
กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือเดิมเรียกกันว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง สะกอ หรือยางขาว เรียกตัวเองว่า ปกากะญอ เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุดกะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่จัดได้ว่ามีหลายเผ่าพันธุ์ หลายภาษา มีการนับถือศาสนาที่ต่างกัน แต่กะเหรี่ยงดั้งเดิมจะนับถือผี เชื่อเรื่องต้นไม้ป่าใหญ่ ภายหลังหันมานับถือพุทธ คริสต์ เป็นต้น กะเหรี่ยง มีถิ่นฐานตั้งอยู่ที่ประเทศพม่า แต่หลังจากถูกรุกรานจากสงคราม จึงมีกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ประเทศไทย กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย กะเหรี่ยงสะกอ หรือที่เรียกนามตัวเองว่า ปากะญอ หมายถึงคน หรือมนุษย์นั้นเอง กะเหรี่ยงสะกอเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง โดยมีมิชชันนารีเป็นผู้คิดค้นดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่า ผสมภาษาโรมัน กลุ่มนี้หันมานับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ กะเหรี่ยงโปร์นั้นเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเคร่งครัดในประเพณี อาศัยอยู่มากที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และแถบตะวันตกของประเทศไทย คือ กะเหรี่ยงบเว อาศัยอยู่มากที่อำเภอขุนยวม แม่ฮ่องสอน ส่วนปะโอ หรือตองสูก็มีอยู่บ้าง แต่พบน้อยมากในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือเดิมเรียกกันว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการอพยพย้ายถิ่นฐานกระจายไปทั่วประเทศไทย และส่วนหนึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เดิมทีอาศัยอยู่เหนือยอดน้ำตก หลังจากได้ประกาศพื้นที่เป็นเขตอุทยานจึงได้อพยพลงมาจากยอดน้ำตกเมื่อปี พ.ศ.2529 บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา 1) ชาติพันธุ์ ชุมชนและสังคม (ข้อมูลทั่วไป) 2) วิถีชีวิต และ 3) ประเพณี และความเชื่อ
ประวัติความเป็นมา
จากข้อมูลการสำรวจ มี 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 3 บ้านคลองน้ำไหลใต้ ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีจำนวนประมาณ 80 หลังคาเรือน อาชีพหลัก คือ รับจ้างทำไร่มันสำปะหลังหมู่ 18 บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีจำนวนประมาณ 100 หลังคาเรือน อาชีพหลัก คือ ทำไร่มันสำปะหลังและหาของป่าขาย ละติจูด : 16.127472 ลองติจูด : 99.293742 บ้านวุ้งกะสัง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
ลักษณะภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านอาณาเขตติดต่อทิศเหนือจรด หมู่ที่ 2 ตำบลคลองลานพัฒนา ทิศใต้จรด หมู่ที่ 17 ตำบลคลองลานพัฒนา ทิศตะวันออกจรด หมู่ที่ 16 ตำบลคลองลานพัฒนา ทิศตะวันตกจรด อุทยานแห่งชาติคลองลานขนาดพื้นที่ พื้นที่ 3,100 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศมีพื้นที่เป็นเนินเขาส่วนใหญ่ รองลงมาเป็นพื้นที่ราบและภูเขาสลับกัน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกเดิมเป็นส่วนหนึ่งของบ้านสวนส้มหมู่ที่ 2 ต.คลองลานพัฒนาตามประวัติเล่าว่าเดิมมีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงอยู่มาก่อนคาดว่าอาจเป็นร้อยปีและมีนายกุน คำแก้ว คนไทยชุดแรกที่ย้ายเข้ามาอยู่เมื่อประมาณ 60 ปีมาแล้วและต่อมาจึงเริมมีคนไทยพื้นราบเข้ามาอยู่รวมกับคนไทยภูเขาที่อยู่คู่กับคลองลานมาตั้งแต่สมัยยังเป็นป่าอยู่ ปัจจุบันบ้านกระเหรี่ยงน้ำตกมีผู้ใหญ่บ้านคือ นายบวรเกียรติ คชินทร 2. ลักษณะภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านอาณาเขตติดต่อทิศเหนือจรด หมู่ที่ 2 ตำบลคลองลานพัฒนา ทิศใต้จรด หมู่ที่17 ตำบลคลองลานพัฒนา ทิศตะวันออกจรด หมู่ที่ 16 ตำบลคลองลานพัฒนา ทิศตะวันตกจรด อุทยานแห่งชาติคลองลานขนาดพื้นที่ พื้นที่ 3,100 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศมีพื้นที่เป็นเนินเขาส่วนใหญ่ รองลงมาเป็นพื้นที่ราบและภูเขาสลับกัน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย
ภาษาที่ใช้พูด/เขียน
กะเหรี่ยงแต่ละเผ่ามีภาษาพูด และภาษาเขียนเป็นของตนเอง โดยการดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่า ผสมอักษรโรมัน
ลำดับที่ |
ภาษาเขียน |
ความหมาย |
1 |
โอ๊ะมื่อโชเปอ |
คำทักทาย/สวัสดี |
2 |
เนอะ โอ๋ ชู่ อะ |
สบายดีไหม/ครับ/ค่ะ |
3 |
นา เนอะ มี ดี หลอ |
คุณชื่ออะไร |
4 |
ยา เจ่อ มี เลอะ/ ชิ |
ผมชื่อ/เล็ก |
5 |
เน่อ โอ๊ะ พา หลอ |
คุณอยู่ที่ไหน |
6 |
ยา เจ่อ โอ๊ะ เลอะ /เจียงฮาย |
ผมอยู่ที่/เชียงราย |
7 |
นา เน่อ นี่ แปว หลอ |
คุณอายุเท่าไหร่ |
8 |
ซะ คือ เลอะ เน่ สิ ยา บะ นา |
ยินดีที่ได้รู้จักกับคุณ |
9 |
คี เลอะ นา เน่อ เก๊อะ บะ ต่า โช่ เง |
ขอให้คุณจงโชคดี |
10 |
ตะ บลือ |
ขอบคุณ/ครับ/ค่ะ |
11 |
เยอ แอ่ะ นา |
ฉันรักเธอ |
12 |
วี ซะ จู |
เป็นคำกล่าวขออภัย/ขอโทษ |
13 |
ดี หลอ อี |
เท่าไหร่ครับ/ค่ะ |
14 |
มา เจอ ยา เจ๋ |
ช่วยฉันด้วย |
15 |
ต่า นี ยา อี |
วันนี้ |
16 |
งอ คอ |
ตอนเช้า |
17 |
มื่อ ทู่ |
ตอนบ่าย |
18 |
มื่อ หา ลอ |
ตอนเย็น |
19 |
เน่อ จะ แหล |
อะไรนะ |
20 |
เอาะ เม |
กินข้าว |
21 |
เอาะ ที |
กินนํ้า |
22 |
พะ แหละ ตอ หลอ |
ที่ไหน |
23 |
เย่อ ซะ เก่อ ยื่อ บะ นา |
ฉันคิดถึงเธอ |
24 |
โอ๋ ชู่ |
สบายดี |
25 |
ชิ้ หลอ |
เมื่อไหร่ |
26 |
แล พะ หลอ เก |
ไปไหนมา |
ที่มา : เจษฎา ขวัญเมือง, 2562, ออนไลน์
ที่อยู่อาศัย/ความเป็นอยู่
ที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือชนเผ่ากะเหรี่ยงจะสร้างบ้านใต้ถุนสูงแบบต่าง ๆ แบบมีชานบ้าน บางส่วนก็ตั้งบ้านเรือนบนที่ราบเช่นเดียวกับชาวพื้นราบทั่วไปโดยชาวกะเหรี่ยงจะตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งถาวร ไม่ย้ายถิ่นบ่อยๆ พื้นและฝาฟากหลังคามุงจากหรือตองตึง ใต้ถุนนั้นเป็นที่นั่งเล่นและทำกิจวัตรเช่น ตำข้าว ผ่าฟืน เลื่อยไม้ ในเวลากลางวัน กลางคืนก็จะต้อน หมู ไก่ และวัว ควายเข้าล้อมไว้ที่ใต้ถุนนี้ พ่อบ้านที่ดีก็มักจะผูกชิงช้าไว้ใต้ถุนให้ลูกเล่น บ้านชนปกาเกอะญอแท้มีห้องเดียว สมาชิกของครอบครัวปูเสื่อนอนกันรอบเตาผิง ซึ่งอยู่กลางห้อง อาจมีการกั้นบังตาเป็นสัดส่วนให้ลูกสาววัยกำดัดอยู่รวมกันมุมหนึ่งของห้อง ยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกและพืชผลสร้างต่างหากจากตัวบ้านแต่จะต้องอยู่ต่ำกว่าตัวบ้านแต่จะต้องไม่อยู่หน้าหรือหลังบ้าน หากอยู่เยื้องกันและหากบ้านอยู่บนไหล่เขา ยุ้งฉางก็จะต้องอยู่ต่ำกว่าตัวบ้าน ถ้าสร้างผิดไปจากธรรมเนียมที่ว่านี้เชื่อว่าจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้นในครอบครัวได้ การสร้างบ้านเรือนมีธรรมเนียมอยู่ว่าญาติข้างมารดาจะอยู่รวมกลุ่มกัน ไม่ควรมีคนอื่นมา สร้างบ้านแทรกกลางบ้านให้ผีบ้านผีเรือนขัดใจ จะต้องไม่สร้างบ้านสามหลังในลักษณะสามเส้า หากฝ่าฝืนข้อห้ามนี้ก็จะมีเหตุเภทภัยอัปมงคลต่าง ๆ เกิดขึ้น แต่ละบ้านไม่จำเป็นต้องมีครกตำข้าวของตนเองอาจใช้รวมกันหลาย ๆ ครอบครัวได้ และเป็นชุมชนอีกแห่งหนึ่ง (พะซะนุย คามภูผา, 2562, สัมภาษณ์)
กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือชนเผ่ากะเหรี่ยงมีระบบครอบครัวของกะเหรี่ยงเป็นแบบผัวเดียว เมียเดียว และไม่มีการอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานเป็นอันขาดการหย่าร้างมีน้อยมาก ขณะที่การแต่งงานใหม่ก็ไม่ค่อยปรากฏ ส่วนการเลือกคู่ครองนั้น ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้เลือกชายก่อน และบางครั้งฝ่ายหญิงก็ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการแต่งงาน สังคมกะเหรี่ยงเป็นครอบครัวเดี่ยว เมื่อลูกแต่งงานก็จะแยกครอบครัวไปปลูกบ้านใหม่ ถ้าแต่งงานแล้ว ชายจะต้องมาอยู่กับบ้านพ่อแม่ภรรยาเป็นเวลา 1 ฤดูเก็บเกี่ยว หลังจากนั้นจึงปลูกบ้านใกล้กับพ่อแม่ฝ่ายภรรยา ถ้ามีลูกสาวคนเล็กจะต้องอยู่ดูแลพ่อกับแม่
อาชีพของชาวกะเหรี่ยง หรือ “ปกากะญอ” ขึ้นชื่อว่าเป็นชนเผ่าที่รักความสันโดษ ปลูกมัน สานตะกร้า และทอผ้า ชนเผ่ากะเหรี่ยงจะอยู่อย่างเงียบ ๆ ชอบใช้ชีวิตอยู่กับป่าไม้ลำเนาไพร ยึดถืออาชีพที่เป็นอิสระ กะเหรียงดั้งเดิมส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา อยู่ตามป่าตามเขา ปลูกพืชผักสวนครัวตามฤดูกาล ส่วนสัตว์เลี้ยงก็จะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารมากกว่าการค้าขาย ใช้ชีวิตแบบพึ่งป่าพึ่งน้ำอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่
การแต่งกาย
ปัจจุบันกลุ่มกะเหรี่ยงที่ยังคงสวมเครื่องแต่งกายประจำเผ่า วิถีชีวิตปกติมีเพียงกลุ่มโปและกะกอเท่านั้น ส่วนกลุ่มคะยาและตองสูไม่สวมชุดประจำชนเผ่าในชีวิตประจำวันแล้ว แต่กระนั้นก็ตามกลุ่มสะกอและโปในทุกจังหวัดยังคงรักษาลักษณะร่วมที่แสดงสถานะของหญิงสาวและหญิงแม่เรือนเช่นเดียวกัน คือ หญิงทุกวัยที่ยังไม่ได้แต่งงานต้องสวมชุดยาวกรอมเท้าสีขาว เมื่อแต่งงานแล้วจะต้องเปลี่ยนมาสวมใส่เสื้อและผ้าถุงคนละท่อนเท่านั้น ห้ามกลับไปสวมใส่ชุดยาวสีขาวอีก ส่วนผู้ชายทั้งกลุ่มโปและสะกอแถบจังหวัดภาคเหนือมักสวมกางเกงสีดำและสีน้ำเงิน หรือกรมท่าในขณะที่แถบจังหวัดตาก และอำเภอลี้ จังหวัดลำพูนมักสวมโสร่ง ลักษณะเสื้อผู้ชายวัยหนุ่มใช้สีแดงทุกกลุ่มแต่มีลวดลายมากน้อยต่างกัน ผู้ชายลสะกอวัยกลางคนถึงสูงอายุมักสวมเสื้อสีขาว ส่วนผู้ชายสูงอายุโปจะสวมใส่เสื้อสีขาวเช่นเดียวกัน แต่มีความยาวเลยลงมาคลุมเข่าเป็นเครื่องแต่งกายปกติประจำวัน การผลิตเครื่องนุ่งห่ม ชุมชนกะเหรี่ยงที่ยังคงแต่งกายตามแบบเดิมจะมีการทอผ้าขึ้นใช้เองทั้งนี้เนื่องจากรูปแบบเครื่องแต่งกายส่วนใหญ่จะใช้ผ้าหน้าแคบ ผืนยาวมาเย็บประกอบกันลักษณะผ้าดังกล่าวหาซื้อไม่ได้ในตลาดทั่วไป ทำให้กะเหรี่ยงยังคงรักษาภูมิปัญญาในการทอผ้าและสืบทอดสู่ลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับการแต่งกายแบ่งออกดังนี้
1. การแต่งกายเด็กและหญิงสาวที่ยังไม่มีครอบครัว จะสวมใส่ชุดทรงกระสอบ ผ้าฝ้ายพื้นขาว ทอ ปักประดับลวดลายให้งดงาม
2. การแต่งกายของผู้ชายยังไม่แต่งงานจะสวมกางเกงขายาวแบบจีน สีดำ หรือขาว สวมเสื้อสีแดงยกดอกเป็นหมู่ แขนสั้น เสื้อยาวครึ่งเข่า บางคนสวมเสื้อเชิ้ต สีขาวด้วยเสื้อชุดสีแดง บางคนสวมชุดดำ
3. หญิงที่มีครอบครัวแล้วจะสวมเสื้อสีดำ น้ำเงิน และผ้านุ่งสีแดงคนละท่อนตกแต่งด้วยลูกเดือย หรือทอยกดอกยกลาย และ ผู้ชายที่แต่งงานแล้วนั้นส่วนมากจะสวมเสื้อตัวยาวถึงสะโพก ตัวเสื้อจะมีการตกแต่งด้วยแถบสีนุ่งกางเกงสะดอ นิยมใช้สร้อยลูกปัดเป็นเครื่องประดับ และสวมกำไลเงินหรือตุ้มหู
วัฒนธรรมด้านความเชื่อและพิธีกรรม
ความเชื่อ
เดิมชาวกะเหรี่ยงนับถือผี มีการบวงสรวงและเซ่นสังเวยอย่างเคร่งครัด ภายหลังหันมานับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์มากขึ้น แต่ก็ยังคงความเชื่อเดิมอยู่ไม่น้อย เช่น ความเชื่อเรื่องขวัญหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ จะต้องมีการเซ่นเจ้าที่เจ้าทาง และบอกกล่าวบรรพชนให้อุดหนุนค้ำจุน ช่วยให้กิจการงานนั้น ๆ เจริญก้าวหน้า ทำเกษตรกรรมได้ผลผลิตดี ให้อยู่เย็นเป็นสุข ปกป้องคุ้มครองดูแล และยังเป็นการขอขมาอีกด้วย และยังมีการไหว้ดอกไม้บนหัวนอนเฉพาะคนที่แต่งงานแล้วเท่านั้น ปีละ 1-2 ครั้ง
ประเพณี
กี่บะหน่าจึ (ปวาเกอญอ) หรือ พิธีทำขวัญให้ควาย (ปัจจุบันไม่มีแล้ว)
พิธีกรรมนี้ทำเฉพาะครอบครัวที่มีควายเท่านั้น และทำกันปีละครั้งเมื่อเสร็จจากฤดูไถหว่านของแต่ละปี ส่วนใหญ่วันที่ประกอบพิธีกรรมจะทำในวันพฤหัสบดี แต่ต้องทำก่อนที่จะหมดฤดูฝนในปีนั้น ๆ ครอบครัวที่มีควายจะนัดหมายให้ลูกของตัวเองกลับมา แม้ว่าจะไปทำงานหรือเรียน ก็ต้องกลับมาทำพิธีนี้ แต่ถ้าหากว่าคนอื่นที่ไม่ได้รับคัดเลือกไปทำพิธี มีความเชื่อว่าจะทำให้ควายสุขภาพไม่ดี ตาบอด ไม่มีลูก เป็นโรค ล้มตายไป สำหรับคนที่จะทำพิธีนั้นจะต้องผ่านการคัดเลือก โดยคนที่มีความรู้ในการทำนาย ซึ่งการทำนายนี้มักจะใช้ข้าวสาร ใบไม้ ไข่ กระดูกไก่หรือบางทีก็ดูลายมือ หลังจากที่ได้ทราบผลการทำนายซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกนั้น อาจเป็นเพศชายหรือหญิงก็ได้ โดยความเชื่อในเรื่องการทำขวัญให้ควายนั้น ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่า เพราะควายเป็นสัตว์ที่มีพระคุณและผูกพันธ์กันมานาน การทำขวัญให้ควายเป็นการแสดงความเคารพ ขอบคุณ ขออโหสิกรรม ตลอดจนถึงการอวยพรให้ควายมีสุขภาพแข็งแรง มีลูกดก ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเยือน
การทำพิธีกรรม เริ่มจากเตรียมเครื่องเซ่นให้พร้อม สำหรับไก่ 1 คู่ (ต้องฆ่าและต้มมาเรียบร้อยแล้ว) หลังจากนั้นผู้ประกอบพิธีกรรมก็จะถือเครื่องเซ่น ไปยังคอกที่มัดควายไว้ จากนั้นก็เอาวงฝ้ายที่เตรียมไว้เท่าจำนวนควายของตัวเองที่มีอยู่ไปกล้องที่เขาควายทั้งสองข้างของแต่ละตัว จนครบทุกตัว ถัดจากนั้นมาก็เอาเทียนไปสอดติดกับเขาควายที่เอาฝ้ายคล้องไว้ก่อนแล้ว หลังจากนั้นก็โปรยข้าวสาร และประพรมน้ำขมิ้นส้มป่อย ระหว่างที่พรมน้ำขมิ้นส้มป่อย ผู้เป็นพ่อจะสวดตามให้ด้วย ขั้นตอนสุดท้ายคือรินเหล้าให้ควาย อาจเทราดบนหัวควายก็ได้ เป็นอันเสร็จพิธี สำหรับไก่ที่นำมาประกอบพิธีกรรมนั้น ก็เอาไปทำกินในครอบครัว และเชิญญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านที่สนิทกันมาร่วมรับประทานอาหารร่วมกัน (มูลนิธิกระจกเงา, 2562,ออนไลน์)
"ถางซีไกงย" หรือ พิธีขับไล่สิ่งชั่วร้ายโรคภัยไข้เจ็บออกจากหมู่บ้าน
พิธีกรรมและความเชื่อของกระเหรี่ยงมีอยู่หลายพิธี แต่พิธีกรรมที่ทำสำหรับชาวบ้านทั้งหมู่บ้านก็เห็นจะมีอยู่พิธีเดียวคือพิธี “ถางซีไกงย” ซึ่งมีที่มาจากความเชื่อว่า หากชาวบ้านเจ็บป่วยพร้อมกันหลาย ๆ คน โดยไม่รู้สาเหตุของอาการป่วยนั้น และหรือความเชื่อที่ว่ามีสิ่งอัปมงคลเข้ามาในหมู่บ้าน ยกตัวอย่างเช่น หากไก่ป่าบินเข้ามาในหมู่บ้านก็จะเชื่อว่าเป็นลางไม่ดี ผู้นำและผู้อาวุโสของหมู่บ้านก็จักปรึกษากันเพื่อหาวิธีรักษาและป้องกัน เมื่อหารือจนได้ข้อสรุปแล้ว จึงกำหนดวันเพื่อทำพิธี ซึ่งกำหนดให้เป็นวันอังคารของเดือนไหนก็ได้ในปีที่เห็นว่ามีคนในหมู่บ้านเจ็บป่วยพร้อมกันมากจนผิดสังเกตุ การทำพิธีกรรมนี้ ต้องทำวันอังคารเท่านั้นเพราะเชื่อว่าเป็นวันแรง
การทำพิธีกรรม เริ่มจากชาวบ้านจะช่วยกันสานตะแกรงขึ้นมา 4 ใบ ที่บ้านของผู้นำประกอบพิธีกรรม เมื่อสานตะแกรงเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะนำไปแขวนไว้กลางลานบ้านผู้นำในลักษณะเรียงต่อกัน หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำเครื่องประกอบพิธีกรรมห่อไว้ในใบสัก แล้วนำไปวางบนตะแกรงทั้งสี่ใบนั้น เมื่อถึงเวลา ซึ่งตามประเพณีแล้วจะกำหนดเวลาให้เป็นช่วงเย็นของวัน เมื่อถึงเวลา ผู้นำและผู้อาวุโสของหมู่บ้านจะเริ่มสวดขับไล่สิ่งชั่วร้าย โรคภัยไข้เจ็บ สิ่งอัปมงคลต่าง ๆให้ออกไปจากหมู่บ้าน เมื่อสวดเสร็จแล้วผู้นำและผู้อาวุโสที่สวดจะถ่มน้ำลายลงในตะแกรงทั้งสี่ใบ หลังจากนั้นลูกบ้านคนอื่น ๆ ทั้งหมู่บ้านก็จะทยอยกันมาถ่มน้ำลายลงบนตะแกรงทั้งสี่จนครบทุกคน ส่วนผู้ที่ไม่ได้มาร่วมพิธีกรรม ก็จะบ้วนน้ำลายลงบนสำลี แล้วฝากให้คนในครอบครัวที่สามารถ ไปร่วมพิธีได้นำไปทิ้งบนตะแกรงทั้งสี่ เมื่อลูกบ้านร่วมพิธีเสร็จทุกคนแล้ว ก็จะมีตัวแทนของคนในหมู่บ้านช่วยกันหามตะแกรงทั้งสี่ใบนั้นไปทิ้งไว้ที่ทิศทั้งสี่ของหมู่บ้าน ระหว่างที่นำตะแกรงออกไป ผู้นำและผู้อาวุโสจะใช้ขี้เถ้าโปรยตามหลังตัวแทนก่อนที่จะออกจากบริเวณพิธี ด้วยเชื่อว่าขี้เถ้านั้นจะบังสิ่งชั่วร้าย อัปมงคลต่าง ๆ ไม่ให้ย่างกรายเข้าในหมู่บ้านอีกต่อไป (มูลนิธิกระจกเงา, 2562, ออนไลน์)
นี่ซอโค่ หรือ พิธีขึ้นปีใหม่
วันขึ้นปีใหม่ ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า นี่ซอโค่ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งจะตรงกับช่วงหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันขึ้นปีใหม่จะจัดปีละครั้งเท่านั้น เป็นวันที่สำคัญวันหนึ่งของชาวกะเหรี่ยง เพราะเหล่าญาติพี่น้องที่ได้แต่งงาน หรือจากบ้านไปทำงานที่อื่น จะกลับมาร่วมงาน ปีใหม่กันอย่างถ้วนหน้า การทำพิธีกรรม เริ่มจากจัดเตรียมขนมหลายชนิด เช่น ข้าวเหนียวต้ม ข้าวปุ๊ก ข้าวหลาม เพื่อวันรุ่งขึ้นจะถวายแด่เทพเจ้า เตรียมเหล้า สำหรับประกอบพิธีและดื่มร่วมกัน ตกกลางคืนของก่อนวันขึ้นปีใหม่ ผู้นำศาสนาที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า "ฮี่โข่" จะทำการเรียกเหล่าชาวบ้านมาชุมนุม ในแต่ละบ้านจะส่งตัวแทนบ้านละหนึ่งคน คือ หัวหน้าครอบครัว (ต้องเป็นผู้ชาย) ตอนไปชุมนุมจะต้องเตรียมเหล้า บ้านละหนึ่งขวดไปยังบ้านของผู้นำศาสนา (ฮี่โข่) ด้วย เมื่อมาพร้อมกันทั้งคน และเหล้าแล้ว ฮี่โข่จะเริ่มทำพิธีกรรมพิธีกรรมนี้ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า พิธีกินหัวเหล้า (เอาะซิโค) โดยตอนแรกจะนำขวดเหล้ามารวมกัน โดยฮี่โข่จะทำการอธิษฐาน จากนั้นจะรินเหล้าลงในแก้ว แล้วให้คนที่มาร่วมพิธีดื่ม วิธีการดื่มคือ เอาขวดแรกของคนที่มาถึงก่อน ฮีโข่จะเอามาเทลงแก้ว แล้วฮี่โข่จะจิบเป็นคนแรก จากนั้นก็ให้คนต่อไปจิบต่อ จิบเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบทุกคนที่มาร่วมงาน แล้ววนกลับมาถึงคิวฮี่โข่ ฮี่โข่จะทำการเททิ้งพร้อมอธิษฐานให้พร แด่เจ้าบ้านและครอบครัวของเจ้าของเหล้าขวดที่ได้เทไปแล้ว จะทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบทุกขวดของทุกบ้านที่มาร่วมงาน บางครั้งบางทีหมู่บ้านไหนที่มีหลังคาเรือนเยอะอาจทำถึงเช้าเลยก็ว่าได้
เช้าวันขึ้นปีใหม่ ชาวกะเหรี่ยงจะตื่นแต่เช้าแล้วมาฆ่าหมู ฆ่าไก่ เพื่อจะนำมาประกอบพิธีในวันรุ่งเช้า โดยเริ่มจากการนำไก่ที่ฆ่าแล้ว พร้อมเหล้าหนึ่งขวดมาตั้งที่ขันโตก เพื่อจะประกอบพิธีมัดข้อมือ หรือเรียกขวัญของลูกหลานในแต่ละบ้าน โดยผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวจะเป็นผู้ประกอบพิธีนี้ เวลานี้สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะอยู่กันครบหน้า (คล้ายๆ กับการรดน้ำดำหัว) ผู้เฒ่าผู้แก่เริ่มมัดข้อมือลูกหลาน โดยจะนำไม้มาเคาะที่ขันโตก เพราะเชื่อว่า เป็นการเรียกขวัญของลูกหลานให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว จากนั้นก็มัดข้อมือพร้อมอธิษฐานให้พร ในคำอธิษฐานนั้น จะกล่าวให้ทุกคนในครอบครัวอยู่ดีมีสุข หลุดพ้นจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง หลังจากมัดข้อมือเสร็จแล้วจะรับประทานอาหารร่วมกัน พอรับประทานอาหารเสร็จ ก็จะออกตระเวนไปตามบ้านของแต่ละบ้านแต่ละครอบครัว เพื่อกินสังสรรค์กัน พร้อมรินเหล้าเพื่ออธิษฐาน และอวยพรให้ซึ่งกันและกัน จากนั้นจะเดินทางไปกินเหล้าทุก ๆ บ้านในหมู่บ้าน และอวยพรให้ทุกบ้านมีแต่ความสุขไปด้วย พิธีขึ้นปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยงนั้นจะมีวันที่สำคัญที่สุด คือ วันแรก ส่วนวันอื่น ๆ แล้วแต่ว่าอยากกินถึงวันไหน ซึ่งแล้วแต่แต่ละหมู่บ้านที่ได้จัดขึ้น หลังจากพิธีขึ้นปีใหม่ “นี่ซอโค่” เรียบร้อยแล้วก็เป็นช่วงเวลาที่จะ ต้องเริ่มต้นวิถีการทำมาหากินของปีถัดไป ที่กล่าวมาทั้งหมดคือกะเหรี่ยงพุทธ หรือ "เอาะ แค" นอกจากนี้ยังมีกะเหรี่ยงอีกกลุ่ม คือ กะเหรี่ยงคริสต์ กะเหรี่ยงคริสต์จะมีพิธีกรรมที่คล้ายๆ กัน แต่จะทำในแบบ ศาสนาของตนเอง คือ เข้าโบสถ์ อธิษฐานเสร็จ จะทานเข้าร่วมกัน จากนั้นจะมีการประมูลราคาข้าวของของแต่ละบ้านที่นำมาประมูลร่วมกัน หลังจากประมูลราคาสิ่งของเสร็จ ก็จะมีการจัดกลุ่มแข่งกีฬาพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ ตกเย็นมีการแสดงละครสร้างความบรรเทิง จะไม่มีการกินเหล้า หรือเมามายในวันนี้ จากนั้นก็จะแยกย้ายกันกลับบ้านของตนเอง ในช่วงนี้จะมีการอธิษฐานทุกคืนจนครบ 7 คืน จึงจะถือว่าสิ้นสุดพิธีขึ้นปีใหม่ (มูลนิธิกระจกเงา, 2562, ออนไลน์)
วันอีสเตอร์
วันอิสเตอร์เป็นวันที่พระเจ้าทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย ซึ่งมีหลักการนับวัน และเวลาอยู่ในช่วงวันอาทิตย์ หลังพระจันทร์เต็มดวงของวันที่ 21 เดือนมีนาคมของทุก ๆ ปี ตามหลักที่พระคัมภีร์ที่ได้บัญญัติไว้จึงทำให้เกิดความเชื่อในเรื่องวันอิสเตอร์ เชื่อกันว่าพระเยซู์ยอมให้ทหารโรมันแห่งชนชาติอิสราเอลตรึงพระองค์บนไม้กางเขน เพื่อถ่ายบาปให้กับมนุษย์โลก หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ลงพระศพของพระองค์ถูกเคลื่อนย้ายเก็บไว้ในอุโมงค์ ก่อนที่จะนำไปฝัง หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ได้สามวันพระองค์ได้ฟื้นคืนชีพในเช้ามืดของวันอาทิตย์ เหตุผลเชื่อกันว่าช่วงเวลาที่ศพของพระองค์ได้ถูกเก็บไว้ในอุโมงค์ มารีย์ หญิงชาวมักดาลา และสะโลเมเป็นสาวกของพระเยซู หญิงเหล่านี้จะตื่นแต่เช้ามืด เพื่อที่จะนำน้ำมันหอมมารินลงบนพระศพของพระองค์ เป็นการช่วยรักษาศพให้คงสภาพไม่เน่าเปื่อย ฉะนั้น เมื่อถึงวันอิสเตอร์คนปกากะญอจะตื่นแต่เช้ามืด เพื่อที่จะไปยังสุสานของแต่ละครอบครัว จะนำดอกที่เตรียมไว้นำไปเคารพศพของบรรพชนของตนเอง เมื่อทุกคนทำธุระของตัวเองเสร็จ ทุกคนในหมู่บ้านมาครบ อาจารย์ศาสนาจะเป็นผู้เริมกล่าวเปิด และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา (มูลนิธิกระจกเงา, 2562,ออนไลน์)
กิจกรรมควานหาไข่
เป็นกิจกรรมที่เพลิดเพลิน เด็ก ๆ จะชอบเป็นพิเศษ เป็นกิจกรรมที่น่ารักอบอุ่น จะเห็นความพยายามของทุกคนที่ตั้งใจที่หาไข่ที่ซ่อนไว้ตามจุดต่าง ๆ บริเวณสุสานกิจกรรมนี้มีมาช้านานเป็นกิจกรรมที่สนุก และแฝงไปด้วยคติสอนใจ ความหมาย และที่มาที่ไปเล่ากันว่ามีแกะอยู่หนึ่งร้อยตัว แล้ววันหนึ่งมีแกะที่หลงหายไปหนึ่งตัว ซึ่งเป็นตัวที่เกเร และเจ้าของรักมากจึงออกตามหาจนเจอ เมื่อเจอจึงเกิดความชื่นชมยินดี ฉะนั้นการ หาไข่ จึงเปรียบเสมือนการหาแกะที่หลงหายไปหนึ่งตัวนั้นเอง ซึ่งเป็นตำนานที่บรรพบุรุษชาวปากากะญอที่ นับถือศาสนาคริสต์ ได้สืบทอดเป็นตำนานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่บัญญัติลงไว้ในพระคัมภีร์เพื่อเป็นสื่ออันสำคัญให้ลูกหลาน ได้ศึกษา และได้ปฏิบัติตาม ณ.เวลานี้เป็นระยะเวลากว่าร้อยกว่าปีที่มีการปฏิบัติกันมา และคาดหวังว่าจะมีสืบทอดกันไปในเจตนารมณ์ที่ดีงามตลอดไป (มูลนิธิกระจกเงา, 2562, ออนไลน์)
วันพระ
ทำบายศรีทุกวันพระในช่วงเข้าพรรษา หรือวันพระ ขึ้น 15 ค่ำ แรม 15 ค่ำ ขึ้น 8 ค่ำ แรม 8 ค่ำ (พะซะนุย คามภูผา, 2562, สัมภาษณ์)
ศิลปะการแสดง
เล่นเครื่องดนตรีเตหน่า ซึ่งเครื่องดนตรีของชนเผ่ากะเหรี่ยง ทำด้วยไม้อ่อน เหลาและกลึงให้เป็นรูปเหมือนกล่องรูปทรงรี มีก้านยาวโก่งและโค้งสูงขึ้นไป ที่ตัวจะเจาะรูเป็นโพรงปิดด้วยโลหะบาง ๆ สายทำด้วยเส้นลวดมีสายตั้งแต่ 6-9 สาย ทำจากโลหะ ยึดติดกับลูกบิดพาดจากคอพิณมาถึงลำตัว มีความสั้น-ยาว ไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดระดับเสียงที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะดีดด้วยนิ้ว ตัวพิณเป็นกล่องด้านในกลวงเป็นกระพุ้งเสียง เตหน่าใช้สำหรับดีดและร้องเพลงประกอบ ใช้ในโอกาสมีเวลาว่างและเพื่อความสนุกสนาน โดยเฉพาะหนุ่มๆไว้เกี้ยวพาราสีหญิงสาวในยามค่ำคน และการแสดงรำกะด้ง
บทสรุป
จากการดำเนินเก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือ กะเหรี่ยง ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร จากประประวัติความเป็นมาชาวปกากะญอ เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด กะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่จัดได้ว่ามีหลายเผ่าพันธุ์ หลายภาษา มีการนับถือศาสนาที่ต่างกัน แต่กะเหรี่ยงดั้งเดิมจะนับถือผี เชื่อเรื่องต้นไม้ป่าใหญ่ ภายหลังหันมานับถือพุทธ กะเหรี่ยงได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ประเทศไทย ภาษาที่ใช้ของชาวกะเหรี่ยง แต่ละเผ่ามีภาษาพูด และภาษาเขียนเป็นของตนเอง โดยการดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่า ผสมอักษรโรมัน ด้านที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) จะสร้างบ้านใต้ถุนสูงแบบต่าง ๆ แบบมีชานบ้าน บางส่วนก็ตั้งบ้านเรือนบนที่ราบเช่นเดียวกับชาวพื้นราบทั่วไปโดยชาวกะเหรี่ยงจะตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งถาวร ไม่ย้ายถิ่นบ่อย ๆ พื้นและฝาฟากหลังคามุงจากหรือตองตึง ด้านอาชีพของชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ส่วนใหญ่จะปลูกมัน สานตะกร้า และทอผ้า ชนเผ่ากะเหรี่ยงจะอยู่อย่างเงียบ ๆ ยึดถืออาชีพที่เป็น ด้านการแต่งการจะแตกต่างกันออกไป ด้านวัฒนธรรมด้านความเชื่อและพิธีกรรมความเชื่อเดิมชาวกะเหรี่ยงนับถือผี มีการบวงสรวงและเซ่นสังเวยอย่างเคร่งครัด ภายหลังหันมานับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ยังคงความเชื่อเดิมอยู่ไม่น้อย เช่น ความเชื่อเรื่องขวัญหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ จะต้องมีการเซ่นเจ้าที่เจ้าทาง และบอกกล่าวบรรพชนให้อุดหนุนค้ำจูน ช่วยให้กิจการงานนั้น ๆ เจริญก้าวหน้า ทำเกษตรกรรมได้ผลผลิตดี ให้อยู่เย็นเป็นสุข ปกป้องคุ้มครองดูแล
คำสำคัญ : กลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง ปะกาเกอะญอ หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน
ที่มา : https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=ชนเผ่าปกาเกอะญอ_หรือ_กะเหรี่ยง_ตำบลคลองลานพัฒนา_อำเภอคลองลาน_จังหวัดกำแพงเพชร
รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). ชนเผ่าปกาเกอะญอ หรือ กะเหรี่ยง ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร. สืบค้น 11 ตุลาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2099&code_db=610004&code_type=05
Google search
กฏข้อบังคับของม้ง มีลักษณะคล้ายกับกฏหมายอังกฤษ (Common Law) คือ เป็นกฎหมายที่สืบเนื่องจาก จารีตประเพณีได้มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จะต่างกันตรงที่ม้งนำเอากฎหมายข้อบังคับไปผูกไว้กับภูติผี ม้งเองไม่มีภาษาเขียน ชาวม้งได้ถือหลักปฏิบัติตามจารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด ชาวม้งไม่มีหัวหน้าสูงสุด และไม่ได้รวมกันอยู่เป็นที่หนึ่งที่เดียวกัน แต่แยกหมู่บ้านออกไปปกครองกันเองเป็นอิสระไม่ขึ้นอยู่กับสังคม ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านจัดเป็นสังคมที่เล็ก สามารถเรียกว่า ประชุมโดยตรงได้ การกำหนดวิธีการปกครอง ก็ใช้วิธีออกเสียง ซึ่งทุกคนมีสิทธิเท่ากันหมด และถือเสียงข้างมากเช่นเดียวกับหลักสากลทั่วไปแต่ ผู้มีสิทธิออกเสียงในการปกครอง ได้แก่ ผู้ชายเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น ผู้หญิง เด็กมีสิทธิเข้าร่วมประชุมรับฟัง และให้ความเห็น แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง เพราะถือว่า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ต้องเชื่อฟัง ปรนนิบัติสามีเท่านั้น
เผยแพร่เมื่อ 20-09-2024 ผู้เช้าชม 28
ตามประวัติศาสตร์ของชนชาติ “ลาหู่” มีมานานไม่ต่ำกว่า 4,500 ปี โดยชาวลาหู่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในธิเบต และอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ต่อมาได้ทยอยอพยพลงมาอยู่ทางตอนใต้ของจีน โดยแบ่งออกเป็นสองสาย คือส่วนหนึ่งอพยพเข้ามาในแคว้นเชียงตุง ประเทศพม่า เมื่อพ.ศ. 2383 และราว พ.ศ. 2423 ได้เข้ามาอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย โดยตั้งรกรากที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแห่งแรก อีกส่วนหนึ่งได้อพยพเข้าไปในประเทศลาวและเวียดนาม ทั้งนี้ชนเผ่าลาหู่ได้แบ่งเป็นเผ่าย่อยอีกหลายเผ่า อาทิ ลาหู่ดำ ลาหู่แดง ลาหู่เหลือง ลาหู่ขาว ลาหู่ปะกิว ลาหู่ปะแกว ลาหู่เฮ่กะ ลาหู่ลาบา ลาหู่เชแล ลาหู่บาลา เป็นต้น
เผยแพร่เมื่อ 27-04-2020 ผู้เช้าชม 22,822
วิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวไทยกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในหมู่บ้านวุ้งกะสัง ตําบลโป่งน้ําร้อน อําเภอคลองลาน จังหวัดกําแพงเพชร พบว่า ชุมชนบ้านทุ่งกะสังเป็นชุมชน ที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในหลายด้าน เช่น อาหาร การแต่งกาย ภาษา ความเชื่อ ประเพณี วิถีวัฒนธรรม บ้านเรือน ชาวไทยกะเหรี่ยงในหมู่บ้านรุ้งกะสังให้ความสําคัญกับการเกิดและการแต่งงานเป็นอย่างมาก สะท้อนได้จากจํานวนวันที่ยาวนานซึ่งในบางครั้งตั้งแต่การสู่ขอไปจนถึงการออกหาอาหาร ใช้เวลายาวนานถึง 21 วัน นอกจากจํานวนวันในการจัดพิธีต่างๆ จะกินเวลายาวนานแล้วขั้นตอนพิธีการใน วันงานยังมีความละเอียดซับซ้อน
เผยแพร่เมื่อ 23-09-2024 ผู้เช้าชม 25
ชาวจีนโพ้นทะเล หรือชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพในประเทศไทยเป็นเวลานาน โดยมีการผสมผสานกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมของชนทั้งสองกลุ่ม ความเชื่อ ความศรัทธารวมถึงเอกลักษณ์กลายเป็นวัฒนธรรมผสม แต่ถึงอย่างไรก็ตามชาวจีนโพ้นทะเลยังคงรักษา ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ของตนไว้เป็นอย่างดี อย่างที่เราจะเห็นได้ในทุกพื้นที่ที่มีคนจีนอาศัยอยู่ จะมีเทศกาลปีใหม่จีน(ตรุษจีน) สารทจีน ให้อยู่ในทุกพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ครบถ้วนเกี่ยวกับที่มาที่ไปของความเชื่อ ความศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีน ผู้ศึกษาขอพาไปรู้จักกับประเพณีในรอบ 1 ปีของชาวจีนดังในหัวข้อ “ประเพณีที่ถือปฏิบัติในรอบปี”
เผยแพร่เมื่อ 13-06-2022 ผู้เช้าชม 1,446
ลีซอ หมายถึง ผู้ใฝ่รู้แห่งชีวิต มีภาษาพูดในกลุ่มหยี (โลโล) ตระกูลธิเบต-พม่า 30% เป็นภาษาจีนฮ่อ ต้นกำเนิดของลีซูอยู่ที่ต้นน้ำสาละวิน และแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของธิเบต และทางตะวันตกเฉียงเหนือ ของมณฑลยูนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวลีซูได้อพยพเข้าสู่เขตประเทศไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2464 กลุ่มแรกมี 4 ครอบครัว มาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนครั้งแรกอยู่ที่บ้านห้วยส้าน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ต่อมามีอีก 15 ครอบครัวอพยพตามมาด้วยในปีเดียวกัน ลีซูไม่มีภาษาเขียนของตนเอง แต่สำหรับลีซูที่นับถือเป็นคริสเตียน กลุ่มมิชชั่นนารีได้ใช้อักษรโรมันมาดัดแปลงเป็นภาษาเขียนของชนเผ่าลีซู อยู่ได้โดยประมาณ 5-6 ปี ก็มีการแยกกลุ่มไปอยู่หมู่บ้านดอยช้าง ทำมาหากินอยู่แถบ ตำบลวาวี ออำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
เผยแพร่เมื่อ 20-06-2022 ผู้เช้าชม 13,945
หลังจากว่างงานหลังฤดูเก็บเกี่ยว หนุ่มสาวม้งจะหาโอกาสเกี้ยวพาราสีในเวลาค่ำคืน หนุ่มสาวม้งมีข้อห้ามที่จะไม่ไม่เกี้ยวพาราสีกับคนแซ่เดียวกัน หรือตระกูลเดียวกัน เพราะถือว่าเป็นพี่น้องกัน สำหรับโอกาสที่ดีที่สุด คือเทศกาลปีใหม่ ม้งทั้งชายหนุ่ม และหญิงสาวจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสวยสดงดงามที่ได้รับการจัดเตรียมมาตลอดทั้งปี ชายหนุ่มและหญิงสาวจะจับคู่โยนลูกบอล หญิงสาวที่ยังไม่มีคู่จะเป็นคนเข้าไปทักชายหนุ่มที่ตนรู้จัก หรือชอบพอ และยื่นลูกบอลให้เป็นการขอเล่นโยนลูกบอลด้วย หากชายหนุ่มคนใดไม่ชอบพอหญิงสาวคู่โยนของตน ก็จะหาทางปลีกตัวออกไปโดยมิให้เสียมารยาท ระหว่างเล่นโยนลูกบอลไปมาจะสนทนาไปด้วย หรืออาจเล่นเกม โดยตกลงกันว่าใครรับลูกบอลไม่ได้ต้องเสียค่าปรับเป็นสิ่งของ หรือเครื่องประดับให้กับฝ่ายตรงข้าม
เผยแพร่เมื่อ 20-09-2024 ผู้เช้าชม 34
ม้งเชื่อ ว่าพิธีศพที่ครบถ้วนถูกต้อง จึงจะส่งวิญญาณผู้ตายไปสู่สุคติ และควรที่จะตายในบ้านของตน หรือบ้านญาติก็ยังดี เมื่อทราบแน่ชัดว่าบุคคลนั้นใกล้สียชีวิตแล้ว บรรดาญาติสนิทจะมาชุมนุมพร้อมเพียงกัน เพื่อที่จะได้มาดูแลคนที่ใกล้จะเสียชีวิต ม้งมีความเชื่อว่าการตายในบ้านของตนเองนั้น เป็นผู้มีบุญมาก เพราะได้เห็นลูกหลานของตนเองก่อนตาย ผู้ตายจะได้นอนตายตาหลับพร้อมกับหมด ห่วงทุกอย่าง เมื่อแน่ใจว่าสิ้นลมหายใจแล้ว ญาติจะยิงปืนขึ้นไปบนฟ้า 3 นัด เป็นสัญญาณบอกว่ามีการตายเกิดขึ้นในบ้านหลังนั้น
เผยแพร่เมื่อ 20-09-2024 ผู้เช้าชม 33
พิธีเสนเรือน เป็นพิธีสำคัญของลาวโซ่ง ซึ่งจะขาดหรือละเลยไม่ได้ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการกระทำที่เพิ่มความเป็นสวัสดิมงคลแก่ครอบครัว จะต้องจัดปีละครั้งเป็นอย่างน้อย คำว่า เสน แปลว่า เซ่น หรือสังเวย เสนเรือน หมายถึงการเซ่นไหว้ผีเรือน ได้แก่ การเซ่นไหว้ ปู่ย่า ตายาย รวมทั้งบรรพบุรุษทุกคน ตามปกติพิธีเสนเรือนจะปฏิบัติกันทุกครอบครัวเป็นประจำ 2-3 ปีต่อครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะและความพร้อมของครอบครัว เพื่อคุ้มครองบุตรหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินเจริญก้าวหน้า ผู้ประกอบพิธีกรรมคือ “หมอเสน” ส่วนผู้ร่วมพิธีได้แก่บรรดาลูกหลานและญาติ ๆ รวมทั้งแขกเชิญ ญาติที่มาร่วมงาน
เผยแพร่เมื่อ 13-06-2022 ผู้เช้าชม 6,811
ม้งจะชอบตั้งบ้านอยู่บนดอยสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งม้งบางกลุ่มจะมีการปลูกฝิ่นเป็นพืชหลัก แต่ในปัจจุบันนี้ ม้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ให้อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในพื้นราบลุ่มเขา และยังมีม้งบางกลุ่มก็ยังคงตั้งรกรากอยู่บนดอย แต่ไม่ลึกเท่าไร การคมนาคมพอที่จะเข้าไปถึงได้ หมู่บ้านม้งจะประกอบด้วยกลุ่มเรือนหลายๆ หย่อมแต่ละหย่อมจะมีบ้านราวๆ 7-8 หลังคาเรือน โดยที่มีเรือนใหญ่ของคนสำคัญอยู่ตรงกลาง ส่วนเรือนที่เป็นเรือนเล็กจะเป็นลูกบ้านหรือลูกหลาน ส่วนแต่ละหย่อมนั้นจะหมายถึงตระกูลเดียวกัน หรือเป็นญาติพี่น้องกันนั่นเอง
เผยแพร่เมื่อ 20-09-2024 ผู้เช้าชม 29
มารยาททางสังคมที่ชาวเขาเผ่าม้งพึงมีต่อกันเพื่อสร้างความเข้าใจ และความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ส่วนมากเป็นข้าปฏิบัติที่ได้รับแนวคิดมาจากค่านิยมเบื้องต้นในวัฒนธรรมประจำเผ่า มารยาทที่สำคัญได้แก่ มารยาทการเยี่ยมบ้าน แขกที่มาเยี่ยมบ้านแม้วหรือม้งนั้นจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของม้งให้รู้ก่อนที่จะไปเยี่ยมบ้านแม้วหรือม้ง เพื่อจะได้ไม่เสียมารยาท แขกที่ต้องการเข้าไปเยี่ยมบ้านม้งนั้นเมื่อเข้าไปถึงบ้านที่ท่านต้องเข้าไปสนทนาด้วยนั้นจะต้องปฏิบัติ เมื่อแขกเดินไปถึงหน้า ประตูบ้านม้งนั้น ถึงแม้จะเห็นว่าประตูบ้านจะปิดหรือเปิด ก็ต้องตะโกนถามคนในบ้านก่อนว่า “ไจ๊จือไจ๊” เป็นการถามเพื่อขอ อนุญาตเข้าบ้านม้ง (คำว่า ไจ๊จือไจ๊ นั่นมีความหมายว่า ขออนุญาตให้เข้าไปได้หรือไม่) ถ้ามีเสียงตอบในบ้านมาว่า “จือไจ๊” แสดงว่าเจ้าของบ้านม้งยอมอนุญาตให้เข้าบ้านได้
เผยแพร่เมื่อ 20-09-2024 ผู้เช้าชม 24