ความเชื่อ ความศรัทธาจากชาวจีนโพ้นทะเลสู่คลองลาน กำแพงเพชร

ความเชื่อ ความศรัทธาจากชาวจีนโพ้นทะเลสู่คลองลาน กำแพงเพชร

เผยแพร่เมื่อ 13-06-2022 ผู้ชม 1,444

[16.2851021, 98.9325563, ความเชื่อ ความศรัทธาจากชาวจีนโพ้นทะเลสู่คลองลาน กำแพงเพชร]

บทนำ
         ชาวจีนโพ้นทะเล หรือชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพในประเทศไทยเป็นเวลานาน โดยมีการผสมผสานกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมของชนทั้งสองกลุ่ม ความเชื่อ ความศรัทธารวมถึงเอกลักษณ์กลายเป็นวัฒนธรรมผสม แต่ถึงอย่างไรก็ตามชาวจีนโพ้นทะเลยังคงรักษา ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ของตนไว้เป็นอย่างดี อย่างที่เราจะเห็นได้ในทุกพื้นที่ที่มีคนจีนอาศัยอยู่ จะมีเทศกาลปีใหม่จีน(ตรุษจีน) สารทจีน ให้อยู่ในทุกพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ครบถ้วนเกี่ยวกับที่มาที่ไปของความเชื่อ ความศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีน ผู้ศึกษาขอพาไปรู้จักกับประเพณีในรอบ 1 ปีของชาวจีนดังในหัวข้อ “ประเพณีที่ถือปฏิบัติในรอบปี” 

ประเพณีที่ถือปฏิบัติในรอบปี
         เมื่อพูดถึงประเพณีแล้ว จากการศึกษางานวิจัยและบทความต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและหลักการดำเนินชีวิตของคนไทยและคนจีนพบว่า ทั้ง 2 ชนชาติมีความเชื่อและหลักถือปฏิบัติที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยนั้นในปัจจุบันได้มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่กลมกลืนกับชาวจีนเดิมเป็นอย่างมาก แต่ถึงกระนั้น ในการดำเนินชีวิตชาวจีนยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมที่มีการสืบทอดปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน มีการศึกษาครั้งนี้ขอยกตัวอย่างประเพณีที่ชาวจีนถึงถือการปฏิบัติตลอดทั้งปี ทั้งหมด 11 ประเพณี ดังนี้
         1. ประเพณีตรุษจีน คือ เทศกาลขึ้นปีใหม่ หรือที่ชาวจีนเรียกประเพณีนี้ว่า “ซุนเจี้ย” ซึ่งหมายถึง “วันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ” โดยประเพณีตรุษจีนจะมีช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธี ตั้งแต่ช่วงสิ้นปีไปจนถึงไม่เกินวันที่ 15 เดือน 1 ของจีน ประเพณีนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ญาติพี่น้องจะมารวมตัวกันทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การทำความสะอาดบ้าน การจัดเตรียมอาหารและเครื่องเซ่นไหว้ที่ใช้ในการประกอบพิธี
         2. ประเพณีเช็งเม้ง หรือการไหว้หลุมศพบรรพบุรุษ ตรงกับวันที่ 5 เดือน 3 ของจีน หรือประมาณวันที่ 5 เมษายนของทุกปี ประเพณีเช็งเม้งเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติตามคำสอนของลัทธิขงจื้อ เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ลูกหลานของชาวจีนจะรวมตัวและพากันเซ่นไหว้สุสานหรือฮวงซุ้ยของบรรพบุรุษ ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน
         3. ประเพณีไหว้ขนมจ่าง ประเพณีไหว้ขนมจ่างของชาวจีน ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน ประเพณีนี้เป็นประเพณีที่ชาวจีนถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่ได้ทำความดีให้กับประเทศชาติบ้านเมืองในสมัยโบราณ
         4. ประเพณีสารทจีน เป็นประเพณีทำบุญกลางปี ตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ของจีน เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้กับดวงวิญญาณเร่ร่อนไร้ญาติ โดยเชื่อว่าการเซ่นไหว้นี้จะช่วยให้ครอบครัวเป็นสุข ดังนั้นในประเพณี สารทจีนบางบ้านจะจัดให้มีอาหารทำพิธีจำนวน 3 ชุด คือ สำหรับไหว้เจ้าหน้าที่ชุดที่ 1 ไหว้บรรพบุรุษชุดที่ 2 และไหว้ต้นตระกูลจีนชุดที่ 3 ของเซ่นไหว้ในประเพณีนั้นมีทั้งอาหารคาวขนมเข่งขนมเทียนผลไม้และกระดาษเงินกระดาษทอง เป็นต้น (นฤมล ลี้ปิยะชาติ, 2559, น. 126-128)
         5. ประเพณีไหว้พระจันทร์ ในอดีตประเพณีนี้จัดขึ้นเพื่อสวดขอพรเทพเจ้า เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศเกษตรกรรมและในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของจีนจะตรงกับช่วงหลังการเก็บเกี่ยวของฤดูใบไม้ร่วงพอดี โดยทั่วไปในช่วงเวลานี้ท้องฟ้าจะปลอดโปร่งและอากาศดี ซึ่งเป็นเวลาที่พระจันทร์สว่างมากที่สุด ชาวจีนจึงเฉลิมฉลองด้วยการจัดเลี้ยงหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อแสดงถึงการเคารพบูชาและแสดงการขอบคุณต่อเทพเจ้า
         6. ประเพณีถือศีลกินเจ การกินเจของคนจีนหมายถึง การงดรับประทานของคาวประเภทเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ตลอดจนการถือศีลไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ประเพณีถือศีลกินเจตรงกับวันที่ 1-9 เดือน 9 ของจีน (บางคนอาจจะเริ่มกินเจก่อนประมาณ 1-2 วัน เพื่อเป็นการล้างท้อง) ประเพณีกินเจเป็นประเพณีที่มุ่งบูชาดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ตามความเชื่อของชาวจีนนั้น กลุ่มดาวจระเข้ทั้ง 9 นี้ถือกำเนิดมาจากผู้วิเศษ 9 องค์ ซึ่งเป็นผู้ถือบัญชารายชื่อมนุษย์ในโลก ดังนั้น จึงเป็นเทพเจ้าที่กำหนดความเป็น ความตายให้แก่มนุษย์ได้ เพื่อเป็นการแสดงให้เทพเจ้าแห่งความดีที่ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและถือศีลกินเจ รวมถึงเพื่อเป็นการชำระล้างร่างกายและทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ชาวจีนจึงถือปฏิบัติตามความเชื่อดังกล่าวในช่วงเวลานี้ของทุกปี
         7. ประเพณีทิ้งกระจาด ตรงกับช่วงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 ของจีน และยังถือปฏิบัติในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจอีกด้วย การทิ้งกระจาดถือเป็นงานบุญที่กระทำไปเพื่อความเมตตาเป็นธรรมช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก
         8. ประเพณีไหว้ขนมอี้ จะจัดขึ้นในช่วงอาทิตย์สุดท้ายสิ้นปีจีน เป็นประเพณีเซ่นไหว้เพื่อขอบคุณเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่ช่วยให้ความคุ้มครองและให้มีชีวิตอย่างปลอดภัยมาตลอดทั้งปี เทพเจ้าที่เซ่นไหว้ประกอบไปด้วยเทวดาทั่วไป เทพเจ้าประจำบ้าน เทพเจ้าเตาไฟและบรรพบุรุษภายในบ้าน บางครอบครัวอาจเซ่นไหว้วิญญาณเร่ร่อนภายนอกบ้านด้วย
         9. ประเพณีแต่งงาน การแต่งงานถือเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของคนจีนตั้งแต่สมัยโบราณถึงปัจจุบันการแต่งงานจะมีพิธีการขั้นตอนและการเฉลิมฉลองที่ซับซ้อนมากมาย นอกจากนั้นการแต่งงานยังเป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อดั้งเดิมของคนจีนในเรื่องของการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษทั้งที่ยังมีชีวิตและล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นการแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นประเพณีที่แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้อาวุโสและผู้มีพระคุณ ประเพณีแต่งงานของจีนยังแฝงไว้ด้วยจริยธรรมและการสอนให้รู้จักประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงามดังจะเห็นได้จากการมีขั้นตอนสู่ขอที่ต้องได้รับการยินยอมจากญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย รวมถึงการห้ามอยู่กินกันก่อนพิธีแต่งงาน โดยเฉพาะหากมีการตั้งครรภ์ก่อนการทำพิธีแต่งงานนั้น คู่บ่าวสาวจะทำพิธีไหว้ฟ้าดินไม่ได้เพราะถือว่าไม่ได้ขออนุญาตจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน
         10. ประเพณีแซยิด ในธรรมเนียมของชาวจีนประเพณีแซยิดคือ ประเพณีที่จะระลึกถึงวันคล้ายวันเกิดให้กับผู้อาวุโสเป็นประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวที ความซื่อสัตย์และการเคารพผู้อาวุโส การประกอบพิธีแซยิดหรือการทำบุญคล้ายวันเกิดครบรอบ 60 ปีนั้น เป็นการแสดงความยินดีที่มีอายุยืนยาวเป็นการแสดงถึงการบรรลุความเป็นคนอย่างสมบูรณ์พอได้ผ่านประสบการณ์ด้านต่าง ๆ สุดท้าย
         11. ประเพณีงานศพ เป็นงานที่จัดขึ้นเมื่อมีสมาชิกในครอบครัวถึงแก่กรรมบรรดาญาติพี่น้องก็จะประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อให้ผู้ถึงแก่กรรมได้รับความสุขในปรภพและเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ รวมทั้งยังเชื่อว่าจะส่งผลให้บรรดาญาติพี่น้องตลอดจนผู้ที่มีส่วนในการทำพิธีศพได้รับความสุขความเจริญการจัดงานศพเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อของชาวจีนทั้งในความเชื่อตามลัทธิขงจื้อลัทธิเต๋าและความเชื่อในพุทธศาสนา (ศุภการ สิริไพศาล, 2550, น.74)
         จากทั้งหมดนี้คือ ประเพณีที่เกิดขึ้นตลอด 1 ปี แต่ที่สำคัญคือ ตามความเชื่อที่คนจีนมักจะประพฤติปฏิบัติกัน มากไปกว่านั้นบางครอบครัวยังนับถือและปฏิบัติมากกว่า 11 ประเพณีนี้ อาทิ ประเพณีหยวนเซียว เป็นต้น นอกจากประเพณีดังกล่าวจะแสดงถึงวิถีชีวิต ความเชื่อ และความเป็นไปของชาวจีนแล้ว การนับถือเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ยังเป็นอีกรูปแบบที่แสดงออกถึงความเหนียวแน่นของคนจีนที่มีต่อสิ่งลี้ลับตามความเชื่อดั้งเดิมและเก่าแก่ที่สุดของชาวจีนมักจะเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ที่กระทบต่อชีวิตมนุษย์เกิดจากการดลบันดาลของเทพเจ้าเพื่อเป็นการเอาใจเทพเจ้าและช่วยขจัดปัดเป่าความไม่ดีที่เกิดขึ้นจึงต้องมีพิธีกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างศาลเจ้าให้เป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้าทั้งหลาย เช่น เทพเจ้าประจำอาชีพ เทพเจ้าประจำทะเล ภูเขา ป่า แม่น้ำ บ้านเรือน เป็นต้น เทพเจ้าของจีนสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มคือ
         1. เทพเจ้าระดับชาวบ้าน หมายถึงวิญญาณที่สถิตอยู่ตามบ้านเรือนมีระดับความบริสุทธิ์และอิทธิฤทธิ์ไม่สูงนะเช่น ตี่ จู๋เอี๊ยะ จะเซ่นไหว้ด้วยอาหารคาวหวานแบบเดียวกับที่ชาวบ้านรับประทาน
         2. เทพเจ้าป่าเขาและเทพที่ล่องหนได้ ถือว่าอยู่ระดับสูงกว่าพวกแรกและมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากกว่า
         3. เทพเจ้าชั้นสูงเป็นเทพเจ้าที่ทรงคุณธรรมเป็นเลิศเช่นเทพเจ้ากวนอูเจ้าแม่ทับทิมเป็นต้นซึ่งอยู่ในศาลเจ้าที่ควรสร้างให้มีขนาดใหญ่ซึ่งขณะนั้นแสดงถึงความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย
         4. เทพเจ้าชั้นสูงสุดได้แก่พระพุทธเจ้าพระโพธิสัตว์และเทพเจ้าที่เป็นเสียงต่าง ๆ เช่น โป๊ยเซียน เป็นต้น
         ความเชื่อในเรื่องลี้ลับนี้นั้นแสดงออกอย่างชัดเจนจากการศึกษากระบวนการสืบทอดประเพณีทางสังคมของชาวไทยเชื้อสายจีน ชุมชนบ้านใหม่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ของชนาภา เมธีเกรียงไกร (ชนาภา เมธีเกรียงไกร, 2559, น.90) จากการศึกษาดังกล่าวทำให้ทราบว่า ความเชื่อเรื่องลี้ลับนั้นมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ชาวจีนยังอาศัยอยู่ในแผ่นดินใหญ่จนอพยพมาสู่ผืนแผ่นดินไทย จากการศึกษาดังกล่าวพบว่า ชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิจและสร้างครอบครัว ซึ่งชาวจีนแต้จิ๋วนี้เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อในเรื่องผีสาง เทวดาและการบูชาบรรพบุรุษเข้มข้นกว่าชาวจีนกลุ่มอื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่เคร่งครัดต่อประเพณีเป็นอย่างมาก บางครั้งอาจจะเรียกได้ว่างมงายก็ว่าได้
         ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เมื่อชาวจีนเข้ามาอยู่อาศัยและตั้งชุมชนในเมืองไทย อาทิ ชุมชนในอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่มีการดำเนินชีวิตและประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของตน จนในปัจจุบันพิธีกรรมดังกล่าวผสมผสานเข้ากับพิธีกรรมของคนไทยในพื้นที่ แต่ในหลายพิธีกรรม คนไทยเชื้อสายจีนยังคงอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี อาทิประเพณีแต่งงานหรือโครงสร้างอำนาจในครอบครัวชาวจีนยังคงให้สิทธิกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนในหลายประเพณีเกิดการผสมผสานระหว่างความเป็นไทยและจีน เช่น คนไทยถือศีลกินเจในเทศบาลของคนจีน และคนจีนเข้าร่วมในประเพณีสงกรานต์ตามอย่างคนไทย เป็นต้น เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับการค้าขาย ซึ่งเป็นอาชีพที่คนจีนถนัดและนิยมทำกันมาเป็นเวลานาน จากการศึกษางานวิจัยและบทความต่าง ๆ พบว่า ชาวจีนในพื้นที่ต่าง ๆ มีความเชื่อคล้ายคลึงกัน โดยเชื่อว่า ลูกปัดหินสี ฮกลกซิ่ว ปี่เซี๊ยะ เต่า กบ โดยเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิริมงคลให้ค้าขายดี ชาวไทยเชื้อสายจีนในชุมชนบ้านใหม่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเรื่องลี้ลับคล้ายกับชาวบ้านในอำเภอคลองลาน กล่าวคือ ชาวบ้านในชุมชนบ้านใหม่ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการนับถือเทพเจ้าตามบรรพบุรุษ โดยส่วนใหญ่นับถือ เจ้าแม่กวนอิม เจ้าพ่อกวนอู พระสังกัจจาย และที่สำคัญคือ เจ้าพ่อโกมินทร์และเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งทั้ง 2 องค์หลังเป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่นก็ว่าได้ เป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของชุมชนตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ความเชื่อดังกล่าวเกิดจากการที่ในปี 2447 ที่ชุมชนตลาดบ้านใหม่เกิดเหตุไฟไหม้ ระหว่างที่เกิดเหตุ ชาวไทยเชื้อสายจีนในรุ่นที่ 2 (อายุระหว่าง 50-70 ปี) หรือผู้ที่ดูแลศาลเจ้าพ่อโกมินทร์กล่าวว่า ตนได้อธิษฐานขอให้เจ้าพ่อโกมินทร์คุ้มครองชาวชุมชนตลาดบ้านใหม่ด้วย ตนก็พูดอธิษฐานอยู่เช่นนั้นวนไปวนมาซ้ำ ๆ เพราะในเวลานั้นชาวชุมชนตลาดบ้านใหม่ต้องการที่พึ่งเป็นอย่างมาก สิ่งอัศจรรย์ก็ปรากฏคือ อยู่ ๆ ฝนก็ตกลงมาช่วยดับไฟ ทุกคนในชุมชนจึงเชื่อว่าเป็นเพราะเจ้าพ่อโกมินทร์และเจ้าแม่ทับทิมที่ดลบันดาลให้ฝนตกทำให้ความเสียหายไม่เกิดขึ้นมากไปกว่านี้ ด้วยความเชื่อในอิทธิฤทธิ์และปาฏิหาริย์ของศาลเจ้าทั้งสองแห่งนี้ จึงทำให้ชาวไทยเชื้อสายจีนในชุมชนบ้านใหม่โดยเฉพาะรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า มีความเชื่อและศรัทธาต่อองค์เทพทั้งสองเป็นอย่างมาก 

ประวัติความเป็นมาของประเพณีงานประจำปีสักการะเจ้าพ่อเจ้าแม่คลองลาน
         เช่นเดียวกับความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่คลองลาน ซึ่งชาวคลองลานเชื่อว่า เจ้าพ่อเจ้าแม่คลองลานคอยให้ความคุ้มครองชาวบ้านในตัวตลาดคลองลานอยู่ ความเชื่อและความศรัทธาดังกล่าว เกิดขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้ในปีพ.ศ. 2538 ตลาดคลองลานได้เกิดเหตุไฟไหม้บ้านกว่า 10 หลังคาเรือน ถึง 2 ครั้งในระยะเวลา 1 เดือน หลังจากเหตุไฟไหม้ครั้งที่ 2 ประชาชนภายในตลาดคลองลานจึงมีความคิดที่จะรวมตัวกันเพื่อทำบุญตลาดขึ้น โดยได้นิมนต์หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล มาทำพิธี ในระหว่างทำพิธีอยู่นั้น หลวงพ่อไพบูลย์ก็ได้กล่าวกับคนในตลาดว่า เมื่อตอนที่ระหว่างอยู่ในสมาธิ ท่านได้เห็นแสงไฟสีขาว 2 ดวง อยู่บริเวณต้นไทรต้นใหญ่หลังตลาด หลังจากนั้นหลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล จึงได้นำชาวบ้านไปยังต้นไทรต้นใหญ่ที่หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล ได้เห็นในนิมิต เมื่อถึงต้นไทรต้นดังกล่าวก็พบว่า ใต้ต้นไทรต้นดังกล่าวมีศาลเจ้าเล็ก ๆ อยู่ 1 ศาลด้วย หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล ได้กล่าวต่อไปว่า เมื่อท่านอยู่ในสมาธินั้นได้พบกับคนจีน 2 คน ผู้ชายสูงอายุ 1 คน และผู้หญิงสูงอายุอีก 1 คน ประทับอยู่ที่ศาลแห่งนั้น จากนั้นชาวบ้านภายในตลาดคลองลานจึงได้กราบสักการะผู้ชายและผู้หญิงสูงอายุที่ประทับอยู่ ณ ศาลเจ้าแห่งนั้นตามที่หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล ได้เห็นในนิมิตและตั้งให้เป็นปึงเถ่ากงปึงเถ่าม่า (เจ้าพ่อเจ้าแม่) ประจำตลาดคลองลาน นอกจากนั้นแล้วหลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล ยังกล่าวต่ออีกว่าสิ่งที่เจ้าพ่อเจ้าแม่ชื่นชอบเป็นอย่างมากนั้นก็คือ หัวใจสีน้ำเงิน สมควรที่จะเอามาสำหรับสักการะ บูชาเป็นอย่างมาก จากนั้นชาวบ้านภายในตลาดคลองลานจึงจัดทำล็อกเก็ตหัวใจสีน้ำเงินขึ้นมาเพื่อนำมาบูชาและสักการะปึงเถ่ากงปึงเถ่าม่า เมื่อสักการะปึงเถ่ากงปึงเถ่าม่าแล้ว หลังจากนั้นตลาดคลองลานก็ไม่เกิดเหตุการณไฟไหม้อีกเลย
         ในปีต่อ ๆ มา ด้วยความเชื่อ เคารพ นับถือและเพื่อสักการะให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวภายในตัวตลาดคลองลานจึงได้มีการจัดงานงิ้ว เพื่อถวายแก่ปึงเถ่ากงปึงเถ่าม่า (เจ้าพ่อเจ้าแม่) เป็นประจำทุกปี จนกลายเป็นงานประเพณีประจำปีพื้นที่อำเภอคลองลานมาจนถึงปัจจุบัน เพราะนอกจากจะเป็นการถวายสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ยังเป็นงานประเพณีที่กระตุ้นให้เกิดความรักความสามัคคีและความปรองดองภายในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย (สมพงษ์ พงศ์สุทธิยากร, 2561, สัมภาษณ์) 

การแสดงภายในงาน
         จากความศรัทธาและความพยายามที่จะสืบทอดความเชื่อ จากรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งนั้น ชาวอำเภอคลองลานจึงจัดให้มีการแสดงเป็นประจำทุกปีเพื่อสักการะเจ้าพ่อเจ้าแม่คลองลาน อาทิ การแสดงงิ้ว การแห่มังกรและสิงโต นอกจากนั้นแล้วยังมีการแสดงของศิลปินนักร้องอีกมากมายทำให้ประเพณีงานประจำปีสักการะเจ้าพ่อเจ้าแม่คลองลานได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมาก
         1. การแสดงงิ้ว หรือที่เรียกว่า “ป่วงเซียง” เป็นการแสดงโดยมีวัตถุเพื่อให้เจ้าพ่อเจ้าแม่ซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำท้องถิ่นได้ชม นอกจากจะแสดงให้กับเจ้าพ่อเจ้าแม่คลองลานได้ชมแล้วยังแสดงให้กับประชาชนทั่วไปได้ดูอีกด้วย โดยงิ้วจะเล่นตามเรื่องราวตำนานต่าง ๆ ของคนจีน ทั้งนี้คณะงิ้วทุกคณะ จะไม่นิยมเล่นเรื่องการเมือง เพราะอาจเกิดทำให้ความแตกแยกในชุมชนได้ (สมพงษ์ พงศ์สุทธิยากร, 2561)
         2. การแห่มังกรและสิงโต คือ พิธีศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งของคนจีน หรือคนไทยเชื้อสายจีน โดยชาวชุมชนที่นับถือนั้น เมื่อมีพิธีการแห่สิงโต มังกร ก็จะนำเทพที่ปั้นขึ้นมาเป็นกายสมมุติ ที่มีอยู่ภายในบ้านออกมาขึ้นเกี้ยวหรือหาม พร้อมมังกร สิงโต และโหล่โก๊ ไปตามบ้านแต่ละหลัง ให้ได้กราบไหว้สักการะ มังกรและสิงโตนั้นคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งมี มั่งคั่ง ร่ำรวย โชคลาภ เงินทอง ค้าขายร่ำรวย กิจการเจริญรุ่งเรืองและช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป เป็นต้น
         3. การแห่เกี้ยวเจ้าพ่อเจ้าแม่คลองลานเข้าในตัวบ้าน คือ การแห่เกี้ยวหรือการอัญเชิญเจ้าพ่อเจ้าแม่คลองลานเข้าสู่ตัวบ้านนั้น เป็นความเชื่อและความศรัทธาของคนในชุมชนคลองลานว่า หากมีการอัญเชิญเจ้าพ่อเจ้าแม่คลองลานเข้าสู่ตัวบ้านและสักการะแล้วจะทำให้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านนั้นอยู่เย็นเป็นสุข มีแต่ความเจริญรุ่งเรือน ในอดีตเจ้าของบ้านที่จะอัญเชิญเกี้ยวเจ้าพ่อเจ้าแม่เข้าบ้านนั้นจะมีการจัดเตรียมพื้นที่คือ หน้าบริเวณที่สักการะศาลเจ้าที่ที่อยู่ภายในตัวบ้าน นอกกจากนั้นแล้วจะเตรียมพื้นที่ทำเป็นบ่อหรืออ่างสำหรับให้มังกร ลงไปเล่นน้ำ และพ่นน้ำเพราะชาวบ้านมีความเชื่อว่า เมื่อมังกรได้เล่นน้ำและพ่นน้ำจะทำให้มังกรมีความสุข และมังกรจะอวยพรให้บ้านนั้นอยู่เย็นเป็นสุข ร่ำรวยเงินทองตามไปด้วย แต่ในปัจจุบันจะชาวบ้านส่วนหนึ่งหันมาปรับเปลี่ยนการรับเกี้ยวเจ้าพ่อเจ้าแม่คลองลานที่หน้าบ้านแทนในตัวบ้านนั้นเอง 

ความสำคัญ
         ประเพณีงานประจำปีสักการะเจ้าพ่อเจ้าแม่คลองลานนั้น เป็นงานประเพณีที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ประชาชนปละชาวบ้านในอำเภอคลองลานทั้งชาวบ้านเชื้อสายจีนและชาวไทยเชื้อสายอื่น ๆ ที่มีจิตศรัทธาได้มีโอกาสเข้าร่วมสักการะเจ้าพ่อเจ้าแม่คลองลาน ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในเขตอำเภอคลองลานใช้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นการกระทำที่เสริมสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัวด้วย นอกจากนั้นแล้วประเพณีงานประจำปีสักการะเจ้าพ่อเจ้าแม่คลองลานยังเป็นการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีอันดีระหว่างชาวบ้านในเขตอำเภอคลองลาน เนื่องจากเป็นงานประจำปีที่จะต้องอาศัยทั้งกำลังทรัพย์และกำลังแรงงานของชาวบ้านมาช่วยดำเนินกิจกรรมให้งานประจำปีนี้สามารถสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีนั้นเอง (สมพงษ์ พงศ์สุทธิยากร, 2561) 

การสืบทอดประเพณีของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน
         การสืบทอดหรือรูปแบบในการสืบทอดประเพณีหรือพิธีกรรมต่าง ๆ นั้นมีผลเกี่ยวเนื่องกับการถ่ายทอดเป็นสำคัญซึ่งจะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการถ่ายทอดรายละเอียดของความเชื่อขนบธรรมเนียมประเพณีและค่านิยมในเรื่องสำคัญต่าง ๆ ที่บรรพบุรุษต้องการให้ลูกหลานปฏิบัติตามโดยมีวิธีการที่แตกต่างกันไป ซึ่งลักษณะของการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมหมายถึง การสอนให้คนรุ่นหลังรับรู้ถึงระบบสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่คนในสังคมนั้นได้เคยมีการตกลงกันว่ามีความหมายอย่างไร ต้องการสื่อสารถึงอะไร ด้วยวิธีการใด ในการถ่ายทอดวัฒนธรรมอาจเป็นการถ่ายทอดความคิดความเชื่อรูปแบบการดำเนินชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มคนในสังคมและวัฒนธรรมหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัวและแตกต่างจากสังคมอื่น การถ่ายทอดทางวัฒนธรรมหลักแล้วจะมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบคือ
         1. ทางตรงเป็นกระบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นภายใต้ระยะเวลาที่ยาวนาน ตั้งแต่เด็กเล็กถึงวัยรุ่น ในปัจจุบันการถ่ายทอดจะอยู่ในรูปการพูดคุยบอกเล่ากลมสั่งสอนการให้เป็นผู้ปฏิบัติโดยตรงโดยพ่อแม่ปู่ย่าตายายสู่ลูกหลานโดยตรงซึ่งรูปแบบนี้จะเห็นได้ชัดในครอบครัวเป็นสำคัญ
         2. ทางอ้อมเป็นการถ่ายทอดที่มิได้เจตนาจะก่อให้เกิดพฤติกรรมใด ๆ แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยตรงเช่นการแสดงความคิดเห็นทัศนคติการพูดคุยที่ไม่เป็นทางการหรือการปฏิบัติเป็นตัวอย่างแต่ความคิดความเชื่อค่านิยมอุดมการณ์ตลอดจนพฤติกรรมบางอย่างเกิดขึ้นโดยบังเอิญไม่ได้จงใจซึ่งอาจเป็นผลมาจากการสังเกตการเลียนแบบพฤติกรรม หรือเกิดจากการที่บุคคลค่อยๆซึมซับความคิดความเชื่อลักษณะนิสัยบางอย่างที่ตนเองไม่รู้จนเกิดเป็นจิตสำนึกหรือความรับผิดชอบที่มีต่อบางสิ่งบางอย่างนั้นเอง (ชนาภา เมธีเกรียงไกร, 2559, น. 116-117)
         จากการศึกษากระบวนการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมของชาวชุมชนอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร พบว่า มีกระบวนการถ่ายทอดทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ว่าจะเป็นการจัดงานประเพณีฯ ที่มีสืบเนื่องต่อกันมาอย่างยาวนาน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเชื่อให้คนรุ่นหลังรู้และยึดมั่นปฏิบัติ รวมไปถึงความเชื่อ ความศรัทธาที่คนรุ่นก่อนมีต่อศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่คลองลานนั้นเอง

คำสำคัญ : ชาวจีนโพ้นทะเล ชาวไทยเชื้อสายจีน คลองลาน ความเชื่อ

ที่มา : https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=ความเชื่อ_ความศรัทธาจากชาวจีนโพ้นทะเลสู่คลองลาน_กำแพงเพชร

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). ความเชื่อ ความศรัทธาจากชาวจีนโพ้นทะเลสู่คลองลาน กำแพงเพชร. สืบค้น 10 ตุลาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2095&code_db=610004&code_type=05

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2095&code_db=610004&code_type=05

Google search

Mic

ศาสนาความเชื่อและพิธีกรรมของชาวเขา

ศาสนาความเชื่อและพิธีกรรมของชาวเขา

ชาวม้งมีการนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่อยู่บนฟ้า ในลำน้ำ ประจำต้นไม้ ภูเขา ไร่นา ฯลฯ ชาวม้งจะต้องเซ่นสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เหล่านี้ปีละครั้ง โดยเชื่อว่าพิธีไสยศาสตร์เหล่านี้จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ถูกต้องและทำการรักษาได้ผล เพราะความเจ็บป่วยทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นผลมาจากการผิดผี ทำให้ผีเดือดดาลมาแก้แค้นลงโทษให้เจ็บป่วย จึงต้องใช้วิธีจัดการกับผีให้คนไข้หายจากโรค

เผยแพร่เมื่อ 22-02-2017 ผู้เช้าชม 7,967

ชนเผ่าลีซู (LISU)

ชนเผ่าลีซู (LISU)

ตำนานของลีซู มีตำนานเล่าคล้ายๆ กับชนเผ่าหลายๆ เผ่าในเอเชียอาคเนย์ถึงน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ ซึ่งมีผู้รอดชีวิตอยู่เพียงหญิงหนึ่งชายหนึ่งซึ่งเป็นพี่น้องกัน เพราะได้อาศัยโดยสารอยู่ในน้ำเต้าใบมหึมา พอน้ำแห้งออกมาตามหาใครก็ไม่พบ จึงประจักษ์ใจว่าตนเป็นหญิงชายคู่สุดท้ายในโลก ซึ่งถ้าไม่สืบเผ่ามนุษยชาติก็ต้องเป็นอันสูญพันธุ์สิ้นอนาคต แต่ก็ตะขิดตะขวางใจในการเป็นพี่น้อง เป็นกำลังจึงต้องเสี่ยงทายฟังความเห็นของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เห็นมีโม่อยู่บนยอดเขาจึงจับตัวครกกับลูกโม่แยกกันเข็นให้กลิ้งลงจากเขาคนละฟาก

เผยแพร่เมื่อ 27-04-2020 ผู้เช้าชม 7,472

ชนเผ่าม้ง : การฉุด

ชนเผ่าม้ง : การฉุด

ในอดีตนั้นม้งนิยมการแต่งงานโดยการฉุดเป็นส่วนมาก การฉุดจะกระทำเมื่อหญิงสาวไม่เต็มใจรับรักชายหนุ่ม จะใช้วิธีการฉุด ซึ่งนำไปสู่การแต่งงานในภายหลัง บิดาทางฝ่ายชายจะหาวิธีในการฉุด และจัดหาคนไปช่วยบุตรชายของตนด้วย การฉุดจะกระทำกันนอกบ้านโดยลวงหญิงรักออกจากบ้านพัก เพราะถ้าฉุดในบ้านถือว่าเป็นการผิดผี จะต้องเสียค่าปรับไหม ฝ่ายหญิงสาวจะไม่ยอมให้ความร่วมมือ และกระทำทุกวิธีทางที่จะให้ญาติช่วยเหลือตนเอง ขณะแย่งชิงกันญาติผู้ใหญ่ทาง ฝ่ายชายจะอ้อนวอนญาติทางฝ่ายหญิงให้ปล่อยหญิงสาวไปกับตนเมื่อตัวหญิงสาวไปถึงบ้านฝ่ายชายแล้วจะถูกจัดให้อยู่ในห้องเดียวกับชายหนุ่มที่ต้องการแต่งงานด้วย 

เผยแพร่เมื่อ 20-09-2024 ผู้เช้าชม 33

ชนเผ่าเมี่ยน หรือ เย้า ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

ชนเผ่าเมี่ยน หรือ เย้า ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

เมี่ยนได้ย้ายถิ่นมาพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร เพราะการกระทำของมนุษย์ การแทรกแซงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติซ้อนทับพื้นที่ของหมู่บ้านชาวเขาเผ่าเมี่ยน จึงถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ป่ามายังพื้นที่ราบทำให้ไม่มีที่ดินทำการเกษตร จึงต้องปรับตัวด้วยการนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย งานสร้างสรรค์นี้คือ มีการปักผ้าลายเจ้าสาวทั้งที่เป็นกางเกงแบบสั้นและแบบยาว อีกทั้งมีลายผ้าประยุกต์ เพื่อนำชิ้นผ้าไปสร้างสรรค์ผลงานต่อไป ทางด้านองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ้าปักชาวเขาถือว่ามีความจำเป็นต่อวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย การปักผ้าของชาวเมี่ยนนี้ นอกจากจะช่วยสร้างรายได้แล้ว ยังมีการปักผ้าส่งศูนย์ศิลปาชีพ ซึ่งถือว่าเป็นการถ่ายทอดความรู้จากผู้หญิงรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง

เผยแพร่เมื่อ 20-06-2022 ผู้เช้าชม 1,208

ชนเผ่าม้ง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

ชนเผ่าม้ง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

ชนเผ่าม้ง (Hmoob/Moob) เป็นสาขาหนึ่งของชนชาติจีน  มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในมณฑลไกวเจา มณฑลฮูนาน และอพยพเข้าอยู่ในมณฑลกวางสีและมณฑลยูนนานกว่า 500 ปีมาแล้ว เล่ากันว่าชนเผ่าม้งอาศัยอยู่บนเขาทางทิศใต้ของมองโกเลีย และเคลื่อนย้ายเข้ามายังแผ่นดินตอนกลางของประเทศจีนมีอาณาจักรและกษัตริย์ปกครองเป็นของตนเอง ชาวจีนเคยเรียกว่าชนชาติฮั่น ชาวจีนตอนใต้ได้แบ่งชนชาติที่ไม่ใช่ชาวจีนออกเป็น 3 ชาติ คือ พวกโล-โล, ฉาน (ไทย) กับ ชนเผ่าม้ง ชนเผ่าม้งแถบแม่น้ำแยงซีเกียงสร้างโรงเรือนคร่อมที่ดินฝาก่อด้วยดินดิบ มีเตาไฟกลางห้องปลูกข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวไร่ ถั่ว ฯลฯ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เวลารับประทานอาหารนั้นจะใช้ตะเกียบมีกระบะไม้ใส่ข้าวตั้งไว้บนโต๊ะ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันได้พบปะกับชนเผ่าม้ง, ชาวโล-โล และชาวปายีเป็นจำนวนมาก

เผยแพร่เมื่อ 20-06-2022 ผู้เช้าชม 3,473

การละเล่นผีนางกวัก ในชุมชนคลองลานพัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร

การละเล่นผีนางกวัก ในชุมชนคลองลานพัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร

การละเล่นนางกวักถือเป็นการละเล่นที่ใช้เพื่อความบันเทิงเท่านั้น ปัจจุบันการละเล่นนางกวักได้ ปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตของชาวลาวครั่งในพื้นที่ต่าง ๆ จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชนแต่อาจมีรูปแบบการละเล่น ที่มีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด ทั้งนี้จากการ สํารวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่าบ้านตําบลคลองลาน อําเภอคลองลาน จังหวัดกําแพงเพชร เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่ได้มีการปฏิบัติและสืบทอดการละเล่นนางด้งและนางกวักมาอย่างยาวนานตามรูปแบบดั้งเดิมมากที่สุดแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามบทเพลงประกอบการละเล่นนางกวักของชาวบ้านในพื้นที่อําเภอคลองลาน จังหวัดกําแพงเพชรที่สืบทอดต่อกันมาในลักษณะปากเปล่า มิได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทําให้ไม่สามารถสืบทราบได้ว่ามีที่มาอย่างไร หรือใครเป็นผู้ริเริ่ม การละเล่นนางกวักนี้ เพียงแต่ทราบว่าได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย

เผยแพร่เมื่อ 23-09-2024 ผู้เช้าชม 25

ชนเผ่าลีซอ (ลีซู) ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

ชนเผ่าลีซอ (ลีซู) ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

ลีซอ หมายถึง ผู้ใฝ่รู้แห่งชีวิต มีภาษาพูดในกลุ่มหยี (โลโล) ตระกูลธิเบต-พม่า 30% เป็นภาษาจีนฮ่อ ต้นกำเนิดของลีซูอยู่ที่ต้นน้ำสาละวิน และแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของธิเบต และทางตะวันตกเฉียงเหนือ ของมณฑลยูนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวลีซูได้อพยพเข้าสู่เขตประเทศไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2464 กลุ่มแรกมี 4 ครอบครัว มาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนครั้งแรกอยู่ที่บ้านห้วยส้าน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ต่อมามีอีก 15 ครอบครัวอพยพตามมาด้วยในปีเดียวกัน ลีซูไม่มีภาษาเขียนของตนเอง แต่สำหรับลีซูที่นับถือเป็นคริสเตียน กลุ่มมิชชั่นนารีได้ใช้อักษรโรมันมาดัดแปลงเป็นภาษาเขียนของชนเผ่าลีซู อยู่ได้โดยประมาณ 5-6 ปี ก็มีการแยกกลุ่มไปอยู่หมู่บ้านดอยช้าง ทำมาหากินอยู่แถบ ตำบลวาวี ออำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

เผยแพร่เมื่อ 20-06-2022 ผู้เช้าชม 13,931

พิธีกรรมซ้อนขวัญ บ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

พิธีกรรมซ้อนขวัญ บ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

พิธีกรรมซ้อนขวัญบ้านคลองไพร ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มี 12 หมู่บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายทางภาคเหนือที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยภาคเหนือที่อพยพมาจากอำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง จึงได้นำพิธีกรรมซ้อนขวัญนี้มาใช้ที่บ้านคลองไพรด้วย ซึ่งพิธีกรรมซ้อนขวัญนี้เป็นพิธีกรรมที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า โดยจะเป็นพิธีกรรมที่ใช้เฉพาะผู้หญิงเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ซึ่งจะใช้ในกรณีที่คนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุ เมื่อคนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุ เช่น รถล้ม รถชน แม่หรือ ย่ายาย จะเป็นผู้ไปซ้อนขวัญ ถ้าหากคนในครอบครัวไม่สามารถทำได้ ก็จะให้ผู้หญิงผู้เฒ่าผู้แก่ท่านอื่นที่เคารพและสามารถประกอบพิธีกรรมได้เป็นผู้กระทำให้

เผยแพร่เมื่อ 19-07-2022 ผู้เช้าชม 882

ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อและข้อห้ามของหมู่บ้านวุ้งกะสัง ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อและข้อห้ามของหมู่บ้านวุ้งกะสัง ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

วิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวไทยกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในหมู่บ้านวุ้งกะสัง ตําบลโป่งน้ําร้อน อําเภอคลองลาน จังหวัดกําแพงเพชร พบว่า ชุมชนบ้านทุ่งกะสังเป็นชุมชน ที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในหลายด้าน เช่น อาหาร การแต่งกาย ภาษา ความเชื่อ ประเพณี วิถีวัฒนธรรม บ้านเรือน ชาวไทยกะเหรี่ยงในหมู่บ้านรุ้งกะสังให้ความสําคัญกับการเกิดและการแต่งงานเป็นอย่างมาก สะท้อนได้จากจํานวนวันที่ยาวนานซึ่งในบางครั้งตั้งแต่การสู่ขอไปจนถึงการออกหาอาหาร ใช้เวลายาวนานถึง 21 วัน นอกจากจํานวนวันในการจัดพิธีต่างๆ จะกินเวลายาวนานแล้วขั้นตอนพิธีการใน วันงานยังมีความละเอียดซับซ้อน 

เผยแพร่เมื่อ 23-09-2024 ผู้เช้าชม 24

ชนเผ่าม้ง : วิถีชีวิตม้งในปัจจุบัน

ชนเผ่าม้ง : วิถีชีวิตม้งในปัจจุบัน

ภาพสวยงามในอดีตที่ยังคงตรึงอยู่ในหัวใจม้งทุกคน นั่นคือชุดม้งที่ยายชราสวมใส่อยู่ เป็นชุดม้งที่ม้งทุกคนต้องสวมใส่ตลอด แต่ปัจจุบันภาพสวย ๆ งาม ๆ เหล่านี้เริ่มสูญหายไปจากสังคมม้ง ส่วนใหญ่จะพบภาพที่สวยในแบบฉบับปัจจุบันนี้ คือ ภาพสองตายาย แต่งชุดทันสมัยใหม่ แม้ว่าจะเป็นชุดลำลองอยู่บ้านเท่านั้น แต่เมื่อสวมใส่แล้วรู้สึกสบายมากขึ้น ไม่ต้องลำบากในเวลาทำความสะอาดเสื้อผ้า เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ม้งต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้มานุ่งเสื้อผ้าสมัยใหม่ เนื่องจากเสื้อผ้าชุดม้งนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อมากกว่า และต้องนำมาตัดเย็บเป็นชุดใหม่ กว่าที่จะตัดเย็บเรียบร้อยใช้เวลานาน และเสื้อผ้าม้งนั้นมีความหนามาก ดังนั้นเวลาสวมใส่หน้าร้อนจะยิ่งเพิ่มความร้อนมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเหตุผลในการปรับเปลี่ยนตัวเอง และอีกเหตุผลหนึ่ง คือเวลาเข้าสังคมกับคนอื่นแล้ว ไม่ได้รับการยอมรับ ดังนั้นม้งจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมมากขึ้น  

เผยแพร่เมื่อ 23-09-2024 ผู้เช้าชม 27