ผักปลัง

ผักปลัง

เผยแพร่เมื่อ 10-07-2020 ผู้ชม 5,737

[16.4258401, 99.2157273, ผักปลัง]

ผักปลัง ชื่อสามัญ Ceylon spinach, East Indian spinach, Indian spinach, Malabar nightshade, Vine spinach

ผักปลัง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ผักปลังแดง ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Basella rubra L. และอีกชนิดคือ ผักปลังขาว ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Basella alba L. จัดอยู่ในวงศ์ผักปลัง (BASELLACEAE)

สมุนไพรผักปลัง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักปั๋ง ผักปั่ง (ภาคเหนือ), ผักปลังใหญ่ ผักปลังขาว ผักปลังแดง (ภาคกลาง), ผักปรัง ผักปรังใหญ่ (ไทย), เดี้ยจุ่น (เมี่ยน), มั้งฉ่าง (ม้ง), เหลาะขุ้ย โปแดงฉ้าย (แต้จิ๋ว), ลั่วขุย (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของผักปลัง

  • ต้นผักปลัง มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชียและแอฟริกา โดยจัดเป็นไม้เถาเลื้อยล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ เกลี้ยง กลม ไม่มีขน แตกกิ่งก้านสาขามาก มีความยาวประมาณ 2-6 เมตร หากลำต้นเป็นสีเขียวจะเรียกว่า "ผักปลังขาว" ส่วนชนิดที่ลำต้นเป็นสีม่วงแดงจะเรียกว่า "ผักปลังแดง" ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำเถาแก่ เจริญเติบโตได้ดีในที่ชื้นระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดรำไร สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ตามป่าทุ่ง ที่รกร้าง หรือตามที่ชุ่มชื้นทั่วไป
  • ใบผักปลัง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับกันไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-12 เซนติเมตร ใบมีลักษณะอวบน้ำและเป็นมันหนานุ่มมือ ฉีกขาดได้ง่าย หลังใบและท้องใบเกลี้ยงไม่มีขน เมื่อนำมาขยี้จะเป็นเมือกเหนียว ก้านใบอวบน้ำยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร เป็นสีเขียวและสีแดง 
  • ดอกผักปลัง ออกดอกเป็นช่อเชิงลด โดยจะออกตรงซอกใบ มีขนาดยาวประมาณ 3-21 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ไม่มีก้านชูดอก แต่ละดอกจะมีกลีบ 5 กลีบ โดยผักปลังขาวดอกจะเป็นสีเขียว ส่วนผักปลังแดงดอกจะเป็นสีม่วงแดง มีความยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีใบประดับขนาดเล็ก 2 ใบติดอยู่ที่โคนของกลีบรวม ลักษณะของกลีบรวมเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ 0.1-3 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อ ที่ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉกเล็กน้อย ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้าน ติดอยู่ที่ฐานของกลีบดอก มีอับเรณูเป็นรูปกลม ยาวประมาณ 0.1-0.5 มิลลิเมตร รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ มี 1 ช่อง ลักษณะเป็นรูปค่อนข้างรี ยาวประมาณ 0.1-0.5 มิลลิเมตร ส่วนก้านชูเกสรเพศเมียจะยาวประมาณ 0.1-0.5 มิลลิเมตร 
  • ผลผักปลัง ผลเป็นผลสด ฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลกลมแป้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบ ปลายผลมีร่องแบ่งเป็นลอน และไม่มีก้านผล ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เนื้อผลนิ่ม ภายในผลมีน้ำสีม่วงดำ และมีเมล็ด 1 เมล็ด 

สรรพคุณของผักปลัง

  1. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)
  2. ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน มีสารเบตาแคโรทีนที่ช่วยบำรุงดวงตา และยังมีสารที่มีคุณสมบัติเป็นสารช่วยป้องกันมะเร็งอีกด้วย (ใบ)
  3. ดอกใช้เป็นยาดับพิษในเลือด (ดอก)
  4. ทั้งต้นมีรสเย็น เป็นขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยยาลดไข้ แก้อาการร้อนใน ทำให้เลือดเย็น (ทั้งต้น)
  5. น้ำคั้นจากดอกใช้เป็นยาทาแก้หัวนมแตกเจ็บ (ดอก)
  6. ต้นและใบมีรสหวานเอียน เป็นยาช่วยระบายท้อง (ต้น, ใบ)
  7. ช่วยแก้อาการอึดอัดแน่นท้อง ด้วยการใช้ต้นสด 60 กรัม นำมาเคี่ยวกับน้ำให้ข้นแล้วรับประทาน (ต้น)
  8. ต้น ราก ใบ และทั้งต้นช่วยแก้อาการท้องผูก ยอดอ่อนหรือใบยอดอ่อนสดจะมีเส้นใย ช่วยหล่อลื่นลำไส้ และเป็นยาระบายอ่อน ๆ ที่เหมาะสำหรับเด็กและสตรีตั้งครรภ์ เมื่อนำมาต้มรับประทานเป็นอาหารจะช่วยแก้อาการท้องผูกได้ และเมือกที่อยู่ในผักปลังจะมีคุณสมบัติเป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยทำให้ท้องไม่ผูกได้ (ต้น, ราก, ใบ, ทั้งต้น)
  9. รากมีรสหวานเอียน ใช้เป็นยาแก้พรรดึก (หรืออุจจาระที่เป็นก้อนแข็งกลม) (ราก)
  10. ใบใช้เป็นยาแก้บิด (ใบ)
  11. ใช้ต้นสด 60-120 กรัมนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ไส้ติ่งอักเสบ (ต้น)
  12. ช่วยแก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ทั้งต้น)
  13. ช่วยแก้ขัดเบา ด้วยการใช้ต้นสด 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ทั้งต้น)[1],[9]ตำรายาแก้ปัสสาวะขัดระบุให้ใช้ใบสด 60 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่มแบบชาต่อหนึ่งครั้ง (ใบ)
  14. รากและใบช่วยขับปัสสาวะ (ราก, ใบ)
  15. หมอตำแยทางภาคเหนือมักจะใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำเมือกมาทาบริเวณช่องคลอดของสตรี เพื่อช่วยให้สตรีมีครรภ์คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์รับประทานผักปลังด้วย เพราะจะช่วยทำให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น โดยนำมาทำเป็นแกงผักปลังให้รับประทานทุกวันเดือนดับเดือนเต็ม เชื่อว่าจะช่วยทำให้คลอดบุตรง่าย ทำให้ไหลลื่นเหมือนผักปลัง (จากความเชื่อนี้เองจึงทำให้ผู้มีคาถาอาคมไม่กล้ารับประทาน เพราะกลัวคาถาเสื่อม) (ใบ)
  16. ตกเลือดเรื้อรัง ให้ใช้ใบสด ยอดอ่อน 30 กรัม นำมาต้มรับประทาน (ใบ)
  17. หมอเมืองบางท่านจะใช้ใบผักปลังนำมาตำกับข้าวสารเจ้า ใช้เป็นยาพอกแก้โรคมะเร็งไข่ปลา (เริม) (ใบ)
  18. ใช้เป็นยาใส่แผลสด ใช้ห้ามเลือด หรือใช้แก้อาการฟกช้ำ ให้นำใบมาตำให้พอแหลก ผสมกับน้ำตาลทรายหรือเหล้าเล็กน้อย ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[5]ทั้งต้นใช้เป็นยาใส่แผลสดเพื่อห้ามเลือด รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (ทั้งต้น)
  19. ใช้ใบและผลนำมาขยี้ทาบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย มีลักษณะเป็นแผลไหม้ จะช่วยบรรเทาอาการและทำให้รู้สึกเย็นขึ้นได้ (ใบและผล)
  20. ช่วยแก้อักเสบ (ใบ, ทั้งต้น)[1]แก้อักเสบบวม (ต้น)
  21. ช่วยแก้อีสุกอีใส (ดอก)
  22. รากใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง แก้รังแค (ราก)
  23. ดอกมีรสหวานเอียน น้ำคั้นจากดอกใช้เป็นยาทาแก้กลากเกลื้อน แก้โรคเรื้อน แก้เกลื้อน (ดอก)
  24. ใบนำมาตำใช้เป็นยาพอกแก้กลากเกลื้อน แก้ผื่นคัน ผื่นแดง และฝี (ใบ)[1],[2],[3],[4]ใช้แก้ฝีหรือแผลสด ให้ใช้ใบสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น หรือขยี้ทาก็ได้เช่นกัน (ใบ)[2] บ้างว่าใช้ผลนำมาต้มรับประทานแก้ฝี (ผล)
  25. ช่วยดับพิษ ดับพิษฝีดาษ แก้พิษฝีดาษ ด้วยการใช้น้ำคั้นจากดอกสด นำมาทาบริเวณที่เป็น (ต้น, ดอก, ทั้งต้น)
  26. ช่วยแก้พิษฝี (ต้น)
  27. ช่วยรักษาฝีเนื้อร้าย ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น โดยให้เปลี่ยนยาวันละ 1-2 ครั้ง (ใบ)
  28. รากนำมาต้มรับประทานเป็นยาแก้มือเท้าด่าง (ราก)
  29. ช่วยแก้อาการช้ำใน กระดูกร้าว (ทั้งต้น)
  30. ช่วยแก้อาการปวดแขนขา ด้วยการใช้ใบสด ยอดอ่อน 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
  31. รากใช้เป็นยาทาถูนวดให้ร้อนเพื่อให้เลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณที่ทามากขึ้น ส่วนน้ำคั้นจากรากก็เป็นยาหล่อลื่นได้เป็นอย่างดี (ราก)
  32. ยอดอ่อนนำมาแกงหรือใส่ต้มไก่รับประทานเป็นยาบำรุงเลือดลม สำหรับคนหน้าซีด เลือดลมไม่ดี (ใบ)
  33. ยอดอ่อนใช้ใส่แกงหรือต้มให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟรับประทานเป็นยาบำรุง (ใบ)

หมายเหตุ : ผักปลังแดงและผักปลังขาวมีลักษณะและคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้

วิธีใช้สมุนไพรผักปลัง

  • การใช้ทั้งต้นตาม [5] ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ถ้าเป็นต้นสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หากใช้ภายนอกให้นำต้นสดมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น
  • การใช้ดอกตาม [5] ถ้าเป็นดอกแห้งให้ใช้ครั้งละ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หากเป็นดอกสดให้ใช้ครั้งละ 35 กรัม นำมาตำพอกหรือตำคั้นเอาแต่น้ำใช้ใส่แผล[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักปลัง

  • ทั้งต้นพบสาร Glucan, Glucolin, Saponin, โปรตีน, วิตามินเอ, วิตามินบี, วิตามินซี, แร่ธาตุ, แคลเซียม, ธาตุเหล็ก
  • ใบผักปลังมีกรดอะมิโน ที่ประกอบไปด้วย Lysine, Leucine, Isoleucine และสารจำพวก Glucan, Polysaccharide ประกอบไปด้วย D-galactose, L-arabinose, L-rhamnose, Uronic acid และยังมีสาร Saponin และ Carotene
  • จากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Yaounde ในประเทศแคเมอรูน เมื่อปี พ.ศ.2555 พบว่าสารสกัดเมทานอลจากผักปลังสามารถช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของเพศชายได้ แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ได้ทำการทดลองกับเซลล์สืบพันธุ์ของหนูเท่านั้น ยังไม่ได้ทำการศึกษากับมนุษย์โดยตรง และจากผลการวิจัยดังกล่าวจึงได้มีการนำไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสรรพคุณส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน สำหรับลดการเป็นหมัน และในงานวิจัยเดียวกันนี้ยังพบว่าสารสกัดเมทานอลของผักปลังที่ความเข้มข้น 10-100 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม จะไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการศึกษาความปลอดภัยโดยให้หนูทดลองกินสารสกัดเอทานอลของผักปลังในขนาด 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว นาน 2 เดือน ก็ไม่ความเป็นพิษต่อตับและไตของหนูทดลอง
  • และในปีเดียวกันนี้เองที่นักวิจัยอินเดียได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบผลของสารสกัดจากใบผักปลังด้วยเอทานอลและน้ำในหนูถีบจักรทดลอง ด้วยการกรอกสารสกัดน้ำของใบในขนาด 100-200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวให้หนูทดลองเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ไม่พบว่ามีความผิดปกติของค่าทางโลหิตวิทยา และสำหรับหนูขาวทดลองที่กินสารสกัดจากใบผักปลังด้วยเอทานอล น้ำ และเฮกเซน ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ พบว่าหนูขาวที่ได้รับสารสกัดด้วยเอทานอลและเฮกเซนจากใบผักปลัง จะมีปริมาณน้ำย่อยอะไมเลสเพิ่มขึ้น (น้ำย่อยที่ทำหน้าที่ย่อยแป้งในปากให้เป็นน้ำตาลมอลโทส) ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยลดภาวะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้

ประโยชน์ของผักปลัง

  1. ผักปลังเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหาร มีแคลเซียมและธาตุเหล็กสูง และยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี นิยมใช้ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อน นำมาลวกหรือต้มให้สุก ใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก เช่น น้ำพริกอ่อง พริกตาแดง น้ำพริกดำ เป็นต้น หรือจะใช้ยอดอ่อนและใบอ่อนนำไปประกอบอาหารเมนูผักปลัง เช่น แกงจืดหมูสับ แกงแค แกงเลียง แกงส้ม แกงใส่อ่อมหอย แกงปลา แกงผักปลัง ผัดกับแหนม ผัดน้ำมัน ผัดใส่ไข่ ส่วนช่อดอก ต้นและ ใบ นำมาทำแกงส้ม เป็นต้น ส่วนผลอ่อนก็ใช้รับประทานได้เช่นกัน[1],[7],[8] ส่วนชาวล้านนาจะนิยมนำยอดอ่อนและดอกอ่อนมาใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารประเภท จอ ที่เรียกว่า "จอผักปลัง" หรือ "จอผักปั๋ง"
  2. คุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนและใบอ่อนของผักปลังต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วยโปรตีน 1.2%, วิตามินเอ 3,250 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 40 หน่วยสากล, วิตามินบี 2 10 Sherman U., แคลเซียม 0.15%, และธาตุเหล็ก 1.4 มิลลิกรัม% ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าคุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ต่อ 100 กรัม (ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน ผลอ่อน) ประกอบไปด้วย พลังงาน 20 แคลอรี, น้ำ 93.4%, โปรตีน 2 กรัม, ไขมัน 0.2 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 2.6 กรัม, ใยอาหาร 0.8 กรัม, เถ้า 0.9 กรัม, วิตามินเอ 9,316 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 0.07 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.2 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 1.1 มิลลิกรัม, วิตามินซี 22 มิลลิกรัม, แคลเซียม 4 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 50 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 1.5 มิลลิกรัม
  3. ผลใช้สำหรับแต่งสีอาหารทั้งคาวและหวานให้น่ารับประทาน โดยนำมาตำให้ละเอียด เติมน้ำ แล้วคั้นเอาแต่น้ำจะได้สีม่วงแดงที่ประกอบด้วยสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) แล้วจึงนำไปใช้เป็นสีผสมในอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น ขนมบัวลอย ขนมเปียกปูน ขนมซ่าหริ่ม ขนมน้ำดอกไม้ เป็นต้น
  4. เด็ก ๆ ยังนิยมนำน้ำสีแดงในผลมาเล่นกันได้หลายอย่าง เช่น ใช้ทาหน้า ทาปากก็ติดทนดี เมื่อเล่นลิเกหรือเล่นละครต่างๆ จะนิยมใช้กันมาก หรือเล่นขายของหรือทำครัวก็จะนำไปย้อมสี หรือนำไปผสมน้ำใช้แทนหมึกสีแดง เขียนหนังสือได้ดี
  5. นิยมปลูกเป็นผักริมรั้วหรือขึ้นร้านเป็นประดับได้ โดยเฉพาะถ้าปลูกทั้งผักปลังแดงและผักปลังขาวด้วยกันก็จะให้สีสันยิ่งขึ้นไปอีก อีกทั้งพืชชนิดนี้ยังดูแลได้ง่าย และสามารถออกยอดได้ตลอดทั้งปี
  6. ทั้งห้าส่วนมีรสหวาน (ต้น, ราก, ใบ, ดอก, ผล) ใช้แต่งรสอาหาร
  7. รากนำมาต้มน้ำใช้สระผมจะช่วยแก้รังแคได้
  8. นอกจากนี้ชาวเหนือยังใช้ผักปลังในพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อป้องกันผีตายโหง และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว
  9. มีการนำเครือมาทำเป็น "บ่วงเครือผักปลัง" โดยใช้เครือมาพันเกี้ยวกันทำเป็นบ่วงขนาดที่หญิงมีครรภ์ลอดได้ แล้วเอาบ่วงผักปลังนี้ไปแช่กับน้ำอาบในวันเดือนดับเดือนเต็ม เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วให้นำบ่วงผักปลังมาสวมหัวลงไปให้ผ่านจนถึงเท้า เชื่อว่าจะทำให้คลอดบุตรได้ง่ายไม่มีติดขัด สาเหตุที่ทำเช่นนี้คงเป็นเพราะต้องการให้กำลังใจหญิงตั้งครรภ์ให้คลายความกังวล ไม่กลัวเจ็บในยามคลอด

คำสำคัญ : ผักปลัง

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). ผักปลัง. สืบค้น 27 กรกฎาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1707&code_db=610010&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1707&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

ข่าตาแดง

ข่าตาแดง

ต้นข่าตาแดง จัดเป็นพรรณไม้ลงหัว เมื่อแตกขึ้นเป็นกอจะมีลักษณะเหมือนกับข่าใหญ่ แต่จะมีขนาดของต้นเล็กและสั้นกว่าข่าใหญ่เล็กน้อย และมีขนาดโตกว่าข่าลิงเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อเอามาปลูก ใบข่าตาแดง ใบมีลักษณะเช่นเดียวกับข่าใหญ่ โดยมีลักษณะของใบเป็นรูปไข่ยาว คล้ายใบพาย ออกสลับกันรอบๆ ลำต้น ดอกข่าตาแดง ออกดอกเป็นช่อตรงปลายยอด ช่อดอกเป็นสีขาว แต้มด้วยสีแดงเล็กน้อย หน่อข่าตาแดง เมื่อแตกหน่อ หน่อจะเป็นสีแดงจัด ซึ่งเรียกว่า "ตาแดง" มีกลิ่นและรสหอมฉุนกว่าข่าใหญ่

เผยแพร่เมื่อ 19-05-2020 ผู้เช้าชม 5,505

ปีบ

ปีบ

ปีบ (Cork Tree, Indian Cork) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้น ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคเหนือเรียก กาดสะลอง, กาซะลอง, ก้องกลางดง เป็นต้น โดยเป็นพรรณไม้ที่มีดอกและใบสวย พร้อมกลิ่นที่หอมชื่นใจ มักนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือนหรือตามข้างทางเพื่อให้ร่มเงา และดอกปีบนั้นยังถือเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดของปราจีนบุรีอีกด้วย และด้วยความที่เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่นแก่ผู้คนจึงได้มีการนำมาเป็นสัญลักษณ์ของการพยาบาลไทย ตลอดจนนำมาทำเป็นเครื่องเรือนสำหรับตกแต่งบ้านเพื่อความสวยงาม พบมากตามป่าดิบแล้ง หรือป่าเบญจพรรณ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ, ภาคตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเรา

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 1,930

กระทุงหมาบ้า

กระทุงหมาบ้า

ต้นกระทุงหมาบ้า จัดเป็นพรรณไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ยาวได้ถึง 10 เมตร เถาจะพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ ลำต้นมีลักษณะเป็นเถากลม เปลือกเถาอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนเถาแก่เป็นสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลอ่อน ตามผิวกิ่งตะปุ่มตะป่ำและมีช่องอากาศ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำดี ชอบที่ชื้น ทนแล้งได้ดี มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดียจนถึงจีนตอนใต้ ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยพบขึ้นตามบริเวณป่าดิบ ป่าราบ หรือบริเวณชายป่าทั่วทุกภาคของประเทศ

เผยแพร่เมื่อ 01-06-2020 ผู้เช้าชม 2,297

สับปะรด

สับปะรด

สับปะรด มีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี และจัดว่าเป็นผลไม้เศรษฐกิจของบ้านเราด้วย แหล่งปลูกที่สำคัญ ๆ มักจะอยู่ใกล้ ๆ ทะเล เช่น ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี หรืออุตรดิตถ์ ลำปาง พิษณุโลก เป็นต้น สำหรับพันธุ์ที่นิยมปลูกในบ้านเราก็มีหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ปัตตาเวีย (สับปะรดศรีราชา ผลใหญ่ เนื้อฉ่ำ สีเหลืองอ่อน), พันธุ์อินทรชิต (หรือพันธุ์พื้นเมือง), พันธุ์ภูเก็ต (ผลเล็กเปลือกหนา เนื้อสีเหลือง หวานกรอบ), พันธุ์นางแล (พันธุ์น้ำผึ้ง เนื้อจะเข้มเหลือง รสออกหวานจัด) เป็นต้น

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 8,420

กะสัง

กะสัง

ต้นกระสังเป็นไม้ล้มลุก สูง 15-30 ซม. ลำต้น และใบอวบน้ำ ใบกระสังเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจ ปลายแหลม โคนเว้าตื้นๆ ขอบเรียบ มีต่อมโปร่งแสง ช่อดอกออกที่ข้อตรงข้ามกับใบ เรียงโค้งขึ้น ประกอบด้วยดอกเล็กๆ ที่ไม่มีก้านดอกจำนวนมากเวียนรอบแกน ดอกกระสังเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ไม่มีทั้งกลีบเลี้ยง และกลีบดอก มีใบประดับดอกละ 1 ใบ มีเกสรเพศผู้ 2 อัน อยู่ข้างๆ รังไข่ อับเรณูสีขาว ก้านชูอับเรณูสั้น เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่รูปกลม อยู่เหนือฐานดอก ผลกระสังลักษณะกลม มี 1 เมล็ด

เผยแพร่เมื่อ 18-05-2020 ผู้เช้าชม 8,222

ผักขวง

ผักขวง

ผักขวง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีลำต้นเตี้ยหรือทอดเลื้อยแตกแขนงแผ่ราบไปกับพื้นดิน แตกกิ่งก้านสาขาแผ่กระจายออกไปรอบ ๆ ต้น ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจ้า เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ทนแล้งได้ดี พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ โดยมักขึ้นได้ในบริเวณที่ชื้นแฉะ ตามไร่นา และตามสนามหญ้าทั่วไป ใบเป็นใบเดี่ยว ใบมีขนาดเล็ก แตกใบออกตามข้อต้น ซึ่งในแต่ละข้อจะมีใบอยู่ประมาณ 4-5 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบสอบ

เผยแพร่เมื่อ 27-05-2020 ผู้เช้าชม 4,193

บัวหลวง

บัวหลวง

บัวหลวง จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี ลำต้นมีทั้งเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินและเป็นไหลอยู่เหนือดินใต้น้ำ ลักษณะของเหง้าเป็นท่อนยาว มีปล้องสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลือง มีความแข็งเล็กน้อย หากตัดตามขวางจะเห็นเป็นรูปกลม ๆ อยู่หลายรู โดยส่วนของไหลจะเป็นส่วนเจริญไปเป็นต้นใหม่ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียว ในระดับน้ำลึก 30-50 เซนติเมตร และสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดหรือวิธีการแยกไหล มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้เช้าชม 13,242

พญาไร้ใบ

พญาไร้ใบ

พญาไร้ใบ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 4-7 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก ดูคล้ายกับปะการัง เปลือกลำต้นแก่เป็นสีน้ำตาลเข้ม ไม่มีหนาม ส่วนกิ่งอ่อนเป็นรูปทรงกระบอกเป็นสีเขียวเรียบเกลี้ยง อวบน้ำ เมื่อหักหรือกรีดดูจะมีน้ำยางสีขาวข้นออกมาจำนวนมาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการตัดชำ ชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี และมีแสงแดดตลอดวัน มักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ โดยจะออกดอกและติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 

เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 26,704

เอื้องเข็มแสด

เอื้องเข็มแสด

เอื้องเข็มแสด จัดเป็นกล้วยไม้อิงอาศัยที่อยู่ในสกุลเข็ม มีความสูงได้ประมาณ 10-20 เซนติเมตร ลำต้นเรียว รากเป็นแบบรากอากาศ มีเขตการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค ยกเว้นทางภาคตะวันออก โดยมักขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้ง และตามป่าเบญจพรรณ ทั้งในลักษณะภูมิประเทศที่ราบและที่เป็นภูเขา จึงสามารถปลูกเลี้ยงได้ดีในทุกภาคของประเทศ

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 2,711

พลูช้าง

พลูช้าง

ลักษณะทั่วไป  ต้นเป็นพันธุ์ไม้ที่มีลำต้นอวบ และชอบอาศัยเกาะตามไม้ยืนต้น ลำต้นโตวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 1 ซม.  ใบจะเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน เป็นสีเขียวเข้ม ลักษณะใบจะเป็นแผ่นรูปไข่เบี้ยวรูปรี  ขอบใบเรียบ ตรงปลายใบเรียวแหลม ส่วนโคนใบจะกลม หรือจะเว้าเป็นรูปหัวใจ มีเส้นใบเห็นเด่นชัด ใบจะมีความกว้างประมาณ 6.5-15 ซม.  ดอกจะออกเป็นช่อเดี่ยว ๆ ตรงยอด มีลักษณะเป็นแท่งกลมยาวและมีก้านช่อ ดอกสั้นกว่าก้านใบมาก กาบหุ้มช่อดอกด้านนอกจะเป็นสีเขียว ส่วนด้านในจะเป็นสีเหลือง กาบหุ้มบนแห่งช่อดอกจะประกอบด้วยดอกสมบูรณ์เพศเป็นจำนวนมากแต่ละดอกจะมีเกสรตัวผู้อยู่ประมาณ 4-6 อัน และจะมีอยู่ 1 ช่อง

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 3,599