ประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จากใบบอกเมืองกำแพงเพชร

ประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จากใบบอกเมืองกำแพงเพชร

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2020 ผู้ชม 6,268

[16.3937891, 98.9529695, ประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จากใบบอกเมืองกำแพงเพชร]

           ในสมัยโบราณ การติดต่อระหว่างเมืองประเทศราช เมืองพระยามหานคร และเมืองต่างๆ ในพระบรมโพธิสมภาร มีการติดต่อและรายงานโดยการใช้ใบบอก มีประโยชน์ในการรายงาน เรื่องราชการ ใบบอกเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง อาจมีข้อเท็จจริงอยู่ในใบบอกประสมกันอยู่ แต่อาจเป็นต้นเค้าของหลักฐานในการสืบค้นให้ลึกลงไปในอดีตที่ยังไม่มีใครสนใจนัก ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองหลวงของราชธานี ส่วนประวัติศาสตร์ของหัวเมืองมิใคร่มีผู้ใดใส่ใจ ใบบอกจึงเป็นหลักฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ฉายภาพในอดีตของแต่ละเมืองอย่างชัดเจนในสมัยนั้นๆ
           ใบบอกเมืองกำแพงเพชร มีจำนวนมาก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนหน้านั้นเราไม่พบ อาจมีแต่ถูกทำลายไปสิ้นในสมัยเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ใบบอกของเมืองกำแพงเพชรมีมากในสมัยปฏิรูปการเมืองของรัชกาลที่ 5 เพื่อให้หัวเมืองได้รายงานความเคลื่อนไหวทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องเล็กน้อยเพื่อสะดวกในการควบคุมดูแล มิให้กระด้างกระเดื่องหรือแข็งเมือง และสามารถควบคุมจัดการมิให้หัวเมืองได้มีโอกาสจัดการอะไรด้วยตนเองได้ นับว่าเป็นการลดความสำคัญของเจ้าผู้ครองนครลงกำแพงเพชรก็เช่นกัน
           ใบบอกเมืองกำแพงเพชร จะขึ้นต้นด้วย ที่ตั้งคือเมืองกำแพงเพชร ใช้จุลศักราช เป็นสำคัญในการวันเดือนปี และจะขึ้นต้นด้วยคำว่า………
           ข้าพเจ้า พระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ ผู้สำเร็จราชการเมือง พระอินทแสนแสง ปลัดเมือง พระมนตรีราชยกบัตร... ซึ่งทั้งสามท่านเป็นกรรมการเมืองกำแพงเพชร แสดงถึงมิให้รายงานคนเดียวเพื่อให้ข้อความเป็นจริง ตอนจบลงนาม พร้อมประทับตราทุกท่าน บางฉบับจะมีเฉพาะชื่อของพระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะเพียงท่านเดียว และต่อด้วยกรมการเมืองเลย เจ้าเมืองกำแพงเพชร มีชื่อราชทินนามว่า พระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ก็เรียกกันสั้น ๆ ว่าพระยาราม น่าจะสืบเชื้อสายในคนตระกูลเดียวกันมาหลายยุคสมัย....มีหลักฐานจากหลายแห่งในพงศาวดารเกือบทุกฉบับ ซึ่งเราจะมิได้กล่าวถึงในที่นี้ แต่จะกล่าวถึงเฉพาะพระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะในใบบอกเมืองกำแพงเพชรที่ค้นคว้ามา เริ่มตั้งแต่พระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ (เกริก) ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี คือราวพุทธศักราช 2310-2325 เรียกกันโดยสามัญว่าเจ้าคุณเกริก ไม่ทราบชื่อภริยา เจ้าคุณเกริกมีบุตรหนึ่งคน ชื่อเจ้าคุณนุชๆ มีภริยาชื่อเกา ภายหลังบวชเป็นชี และได้สร้างวัดมีนามว่าวัดชีนางเกา (อยู่บริเวณเยื้องกับที่ทำการไปรษณีย์กำแพงเพชร) ในสมัยรัชกาลพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้นายนุชร่วมทัพไปตีทัพแขกที่เมืองปัตตานีกับนายบุญศรี บุตรชาย ได้ชัยชนะกลับมา ได้รับพระราชทานความดีความชอบให้ดำรงตำแหน่งพระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะแทนบิดา เมื่อบิดาถึงแอนิจกรรมแล้ว พระราชทานครอบครัวแขกมาหนึ่งร้อยครอบครัว มาอยู่ที่บริเวณเกาะแขก ซึ่งอยู่ตอนใต้โรงพยาบาลกำแพงเพชร (ปัจจุบันไม่มีแขกปัตตานีในบริเวณบ้านแขกแล้ว) และพระราชทานดาบฝักทองให้เป็นบำเหน็จมือ ซึ่งต่อมาดาบฝักทองได้เป็นพระแสงราชศัตราประจำเมืองกำแพงเพชร ส่วนคุณบุญศรีบุตรชาย ได้พระราชทานให้ไปกินเมืองศรีสัชนาลัย นามว่าพระยาฤทธิ์เดช และได้พระราชทานหม่อมฉิม ให้เป็นภริยา นับว่ามีความดีความชอบมาก สังเกตจากการพระราชทานสิ่งของและบุคคลให้ ในส่วนพระยาฤทธิเดชกับหม่อมฉิม มีธิดาชื่อคุณหญิงพลับๆ ได้สมรสกับพระยากบัตร เมืองสุโขทัย มีบุตรธิดา 4 คน คือ พระยานิ่ม พระยาพุ่มพิจิตร เจ้าคุณอ่อง และพระยารณชัย... และเนื่องจากไปกันเมืองอื่นจึงไม่ได้สืบค้นต่อ...
            ส่วนพระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ (พระยากำแพงนุช) กับท่านผู้หญิงเกา หรือท่านผู้หญิงชิ มีธิดาท่านหนึ่งนามว่า ท่านผู้หญิงแพง ท่านผู้หญิงแพงได้สมรสกับเจ้าคุณนาคและดั้บพระราชทานตำแหน่งเป็นพระยากำแพง พระยากำแพงนุชและท่านผู้หญิงแพง มีบุตรธิดา 7 ท่าน ล้วนได้รับพระราชทานตำแหน่งที่สำคัญทั้งสิ้น แสดงถึงบารมีของพระยากำแพงนุช ยังมีถึงลูกหลายอย่างทั่วถึงจึงได้รับพระราชทานตำแหน่งสำคัญเรียงตามอายุคือ
             1. พระยากำแพง (บัว) ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อจากพระยากำแพงนาค นามพระราชทานว่า พระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ (บัว)
             2. พระยากำแพง (เถื่อน) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นถวิล ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อมาจากพระยากำแพง (บัว) ได้รับพระราชทานให้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรนามพระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ (เถื่อน)
             3. พระยากำแพง (น้อย) ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อจากพระยากำแพง (เถื่อน) ได้รับพระราชทานนามว่า พระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ (น้อย)
             4. พระยากำแพง (เกิด) ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรต่อจากพระยากำแพง (น้อย) ได้รับพระราชทานนามว่า พระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ (เกิด)
             5. หม่อมสุดใจ ได้ถวายตัวเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
             6. พระยาพลไกร (อ๋อง)
             7. คุณฉิม (สืบไม่ได้น่าจะเป็นสตรี)
             8. พระยากำแพง (เกิด) กับท่านผู้หญิงทรัพย์ มีบุตรธิดา 9 คน คือ 
             9. คุณย่าหุ่น แต่งงานกับหลวงพินิจ
             10. คุณย่านก แต่งงานกับคุณปู่เสือ
             11. คุณย่าขา ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย
             12. หลวงวิเศษสงคราม (ดศิ)
             13. คุณย่าผึ้ง แต่งานกับพระพล (เรียม นุชนิยม)
             14. หลวงพิพิธอภัยผู้ช่วย (ต่าย)  
             15. พระยากำแพง (อ้น)
             16. คุณหญิงภู่ (ภริยาพระยารามรณรงคสงคราม หรุ่น อินทรสูต) คือพระยากำแพงคนสุดท้าย ในสกุลนี้
             17. คณุยา่หญิงทองหยิบ ถวายตัวเป็นนางห้าม รัชกาลที 4
             หลวงพิพิธอภัยผู้ช่วย (ต่าย) มีภรรยาชื่อคุณหญิงกระจับ ๆ เป็นภรรยาในนามของพระยากำแพง (อ้น) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่สะใภ้ สันนิษฐานว่า เมื่อหลวงพิพิธอภัยผู้ช่วย (ต่าย) ถึงแก่กรรม หลวงพิพิธอภัย (หวล) ผู้เป็นบุตร ได้มาเป็นบุตรบุญธรรมของพระยากำแพง (อ้น) จากพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุประพาสต้นกำแพงเพชรในรัชกาลที่ 5 บันทึกว่า หลวงพิพิธอภัย (หวล) เป็นบุตรพระยากำแพง (อ้น) ผู้ถวายดาบฝักทองแด่รัชกาลที่ 5
              หลวงพิพิธอภัย (หวล) มีภรรยา 2 คน คือนางจัน มีบุตรธิดา 2 คน คือ
              1. นางหวีด รามสูต ภรรยารองอำมาตย์ตรี ขุนทรงราชผล (พลี ศุภดิษฐ์) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสาวงามกำแพงเพชร ในพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุประพาสต้นของพระพุทธเจ้าหลวง ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวง พระองค์บันทึกไว้ว่า ...ผู้หญิงเมืองนี้นับว่ารูปพรรณสัณฐานดีกว่าเมืองอื่นในข้างเหนือ คนงามทั้ง 4 ที่จะให้ถ่ายรูปนั้น เขาให้ถือกระเช้าหมากคอยแจก คือหวีด บุตรหลวงพิพิธอภัย อายุ 16 ปี คนนี้รู้จักโปสต์ถ่ายรูป จึงได้ถ่ายรูปเฉพาะคนเดียว... แม่หวีดผู้นี้คือมารดาของคุณครูวัฒนา ศุภดิษฐ์ ขุนทรงราชผล (พลี ศุภดิษฐ์) ได้บันทึกไว้ว่า ได้แต่งานกับแม่หวีด เมื่อเดือนแปด มีมะแม พุทธศักราช 2450 หลังจากพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับ 1 ปี แม่หวีดถึงแก่กรรม เมื่อวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2461 เวลา 7 นาฬิกา อายุได้ 29 ปี (แม่หวีดเกิดเมื่อวันศุกร์ เดือนสาม มีขาล พุทธศักราช 2433)
              2. นายหอม รามสูต (มีรายละเอียดมากยังไม่นำเสนอ)
             ส่วนภรรยาอีกคนหนึ่งคือ นางพัน มีบุตรธิดา 8 คน จะไม่นำเสนอในครั้งนี้ .....นับว่าสิ้นสุดประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เมื่อสิ้นสุดรัชกาลที่ 5 ส่วนรายละเอียดได้เก็บไว้นำเสนอในคราวต่อไป
              ใบบอกกำแพงเพชร ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีจำนวนมากแต่จะนำเสนอในบางส่วนที่น่าสนใจ
              เรื่องที่ 1 การเบิกเงินของหัวเมืองกำแพงเพชร เพื่อจ่ายค่าทำทางสายโทรเลข เมื่อวันพุธขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนสิบ ปีระกาสัปตศก ศักราช 1247 ความโดยย่อกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงษ์ กรมหลวงภานุพันธ์วรเดช สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข กราบทูลว่าให้หม่อมเทวาธิราชนุกุลไปทำงานสายโทรเลข เบิกเงิน 1,400 บาทจากเมืองกำแพงเพชรเป็นเงินเดือน จำนวน 7 เดือน
             เรื่องที่ 2 รายงานการสืบสวนจับกุมผู้ร้ายระหว่างเมืองกำแพงเพชรกับเมืองตาก เมื่อวันพุธขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนสิบ ปีระกาสัปตศก ศักราช 1247 ความโดยย่อ กล่าวถึงระหว่างเมืองกำแพงเพชรกับเมืองตาก มีโจรผู้ร้ายชุกชุมมาก ลูกค้าอังกฤษทำมาค้าขายเป็นที่ลำบากมาก ให้พระยารามฯ แต่งตั้งพระมนตรีราชยกระบัตรออกชำระจับตัวผู้ร้ายให้ได้ จับได้ไอ้เสือถิ่น ไอ้เสือแย้ม ปล้นจีนถุ้ง และไอ้เอมผู้ร้ายปล้นฆ่าที่เมืองตาก มาซ่อนตัวที่ลานดอกไม้ จับตัวได้และพิจารณาตัดสินความแล้ว
             เรื่องที่ 3 การขอเปลี่ยนทนายความของพระยากำแพงเพชร จากจีนแดงเป็นหลวงเทพสุภา ณ วันศุกร์ แรมสองค่ำ เดือนสิบ ปีระกา สปัตศก 1247 ความโดยย่อกล่าวถึง นายกักฟ้องกล่าวโทษพระยากำแพง หลวงวัง หลวงพิไชยภักดี หลวงพรหม หลวงเทพอาญา นายขุนทอง นายผู้คุม โดยมีจีนแดงเป็นทนายความให้ พระยากำแพงกับพวก ต่อมาพระยากำแพงกับพวกขอเปลี่ยนทนายความจีนแดงเป็นหลวงเทพสุภาแพ่ง
             เรื่องที่ 4 รายงานการติดตามเก็บส่วยคงค้างเพื่อนำส่งเข้าพระคลังมหาสมบัติ วันพุธ ขึ้นสิบสามค่ำ เดือนสิบเอ็ด ปีระกา สปัตศก ศักราช 1247 ความโดยย่อกล่าวถึง ตามที่ให้เก็บส่วยส่งถึงพระคลังมหาสมบัติให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้น ได้พยายามเก็บส่วยอย่างละเอียดแล้ว รวมเงินหกชั่งสิบห้าตำลึง พร้อมบัญชีหางว่าวให้ขุนรักษาพลคุมลงมาส่งกรุงเทพมหานคร (ส่วยในที่นี้คือเงินรัชชปุการเงินที่เรียกเก็บจากราษฏรชายที่มิได้รับราชการทหาร เป็นรายบุคคล)
            เรื่องที่ 5 รายงานการใช้เงินหลวง ให้สำหรับซื้อข้าวจ่ายราชการ ณ วันศุกร์ ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ เดือนยี่ ปีระกา สปัตศก ศักราช 1247 ความโดยย่อกล่าวถึง พระยารามได้แต่งขุนพิพิธสาลี ว่าที่หลวงนาไปเบิกเงินพระราชทานหกชั่ง เพื่อจัดซื้อข้าวสารจ่ายข้าราชการ ข้าวเปลือกเกวียนละห้าตำลึก และจัดทำฏีกาเพื่อเบิกเงินหลวงอีกสิบชั่ง เพื่อจัดซื้อข้าวอีกสำหรับจ่ายราชการบ้านเมือง
            เรื่องที่ 6 รายงานการตัดไม้จากกำแพงเพชร เพื่อนำไปใช้ในการทำพระเมรุงานพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังวรสถานมงคล ณ วันศุกร์ ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ เดือนยี่ ปีระกา สปัตศก ศักราช 1247 ความโดยย่อกล่าวถึงพระยารามฯ ได้รับตราพระราชสีห์ โดยหลวงพิจารณาถือมาว่ากรม พระราชวังบวรสถานมงคลทิวงคต ให้หาไม้ไปทำพระเมรุที่ท้องสนามหลวง จึงได้ให้พระสวัสดิ์ภักดี คุมไพร่ออกตัดไม้ ได้ไม้รวมทั้งสิ้นหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดต้น แต่ปีนี้น้ำน้อยทำแพงมาส่งไม่น่าจะทันราชการ แต่ส่งไม้ไผ่สองพันลำ ไม้ใช้ร้อยหน้าสิบต้น ได้ผูกแพรบรรทุกเครื่องพระเมรุมาแล้ว
            เรื่องที่ 7 คดีหลวงบรรเทา ณ วันจันทร์ ขึ้นหกค่ำ ปีระกา สปัตศก ศักราช 1247 ความโดยย่อกล่วถึง พระยารามฯ ได้ชำระคดีระหว่างขุนทรมาทิพย์ โจทย์หลวงบรรเทาจำเลยขัดข้องจึงส่งสำนวนใส่ชะลอมและให้หลวงพิชัยภักดี ผู้ช่วยนำหลักฐานและนำทั้งโจทย์และจำเลยมาส่งที่กรุงเทพ เพื่อให้ตัดสินความ
            เรื่องที่ 8 ขุนบานบุรี ฟ้องนายศิษย์กับพวก คดีทำร้ายร่างกาย ณ วันจันทร์ ขึ้นหกค่ำ ปีระกา สปัตศก ศักราช 1247 ความโดยย่อว่า พระยารามบอกมาว่าขุนบานบุรีฟ้องนายศิษย์กับพวกทำร้ายร่างกายแต่คดีซับซ้อนมาก จึงมอบให้หลวงพิไชยภักดีนำเรื่องมาส่ง ณ กรุงเทพมหานคร
            เรื่องที่ 9 เกณฑ์กองทัพกำแพงเพชร เพื่อไปทัพเมืองพิชัย ณ วันจันทร์ แรมสิบสามค่ำ ปีระกา สปัตศก 1247 ความโดยย่อว่า พระยารามฯ ว่าได้มีตราพระราชสีห์ให้เกณฑ์พระอินทรแสนแสง ปลัดหนึ่ง ขุนหมื่น ไพร่ร้อยหนึ่งช้างสิบช้าง เข้ากองทัพเจ้าหมื่นไวยวรนาถ พร้อมด้วยอาวุธไปคอยรับกองทัพที่เมืองพิไชย และให้เพิ่มอีกยี่สิบช้างรวมสามสิบช้าง แต่ในกำแพงเพชรมีช้างทั้งสิ้นยี่สิบสองช้าง พระอินทรแสนแสงได้ไปส่งให้พระยาสีสิงหเทพ ณ เมืองพิไชยแล้ว
            เรื่องที่ 10 หม่อมเทวาธิราชทำสายโทรเลขเมืองกำแพงเพชร ณ วันจันทร์ เดือนเก้า ขึ้นสิบสามค่ำ ปีระกา สัปตศก 1247 ความโดยย่อว่า หม่อมเทวาธิราช เจ้าพนักงานโทรเลข เบิกเงินเดือน 1,400 บาท พระยารามได้แจ้งให้ทราบและให้หลวงพิไชยภักดีนำฏีกามาถวายขอหักเงินค้าไม้เกณฑ์ตัด ประจำปีระกาเบญจศกต่อเจ้าพนักงานแล้ว
            นอกจากเรื่องราวเหล่านี้แล้ว ยังมีเรื่องดังต่อไปนี้ คือ
            - กงสุลอังกฤษแจ้งว่ากำแพงเพชรและตากมีโจรผู้ร้ายชุกชุม
            - ให้หลวงชำนาญสิงขรกับหมื่นแสวงภุมรา เสียค่าตัดฟันไม้
            - ตั้งหลวงพิไชยภักดีเป็นพระกำแหงสงครามพระพล
            - การทำทะเบียนคนจีนในกำแพงเพชร
            - มองม่อพม่าขอทำไม้ขอนสักที่คลองขลุง
            - การจัดช้างไปเมืองพิชัย
            - เรื่องฉลองพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 4
            - โจรผู้ร้ายชุกชุมที่ขาณุ
            - กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทิวงคต ใช้ชักลากไม้ทำพระเมรุ
            - ให้ทำบัญชีวัดในกำแพงเพชร
            - ผู้ร้ายลักม้าสีหมอกของหลวงประเวศ
            - ค่าผูกปี ค่าแรงจีน
            - เรียกตัวมองม่อไปกรมมหาดไทย
            - จับโจรผู้ร้ายในแขวงเมืองกำแพงเพชร
            - การลักช้างและพระรามยึดของกลาง
            - การเกณฑ์ผู้คนดูแลเสาโทรเลขที่สร้างใหม่
            - การผูกสีมาวัดบ้านลานดอกไม้
            - การประเมินที่นาราษฏีกำแพงเพชร
            - การติดตั้งสายโทรเลขประจำเมืองกำแพงเพชร
            - หมื่นศรีสมบัติคุมเงินไปส่ง
            - คดีหลวงพิพิธกับจีนชือเหียน
            - ผู้ร้ายแย่งชิงนายร้อยคาปาง
            - อำแดงแจงภรรยาหลวงพิพิธเป็นชู้กับจีนหวด
            - เตือนนายกองปลัดกองให้เอาเงินส่วยของส่วยมาส่ง
            - หลวงยกกระบัตรบัวชุม กล่าวโทษพระยากำแพงกับพวก
            - พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิชิตปรีชากร เสด็จลำปาง ลำพูน เชียงใหม่
            - นายสงกล่าวโทษพระวรลักษณ์แลกรมการเมือง
            - การก่อสร้างพัทธสีมาที่วัดทุ่งสวน
            - ให้ส่งตัวนายสงมายังเมืองขาณุบุรี
            - นายฉ่ำกล่าวโทษนายยัง กำนันบ้านบ่อถ้ำ แขวงเมืองขาณุ
            - จีนชิงหิน ไม้ขอนหายที่ลานดอกไม้
            - คดีกระบือนายฉ่ำกับพวกหาย
            - การเก็บเงินค่านาในแขวงเมืองกำแพงเพชร
            - มิสเตอร์ยอดคูปองชาวอเมริกันทำไม้ขอนสักที่วังเจ้า
            - ขอเบิกจ่ายค่าเซอร์เวย์ทางจากเมืองกำแพงเพชร
            - อำแดงนวลกล่าวโทษนายฉาย
            - เอาตัวไอ้แยมมอบให้หลวงนามาส่งยังกรุงเทพ
            - หลวงเทพนรินทร์ซื้อไม้ขอนสักจากกำแพงเพชรมาซ่อมวิหารพระนอนจักรศรี
            - ผู้ร้ายลักทรัพย์ลูกขุนตระเวน
            - ผู้ร้ายลักกระบือหลวงรามราชปลัดอำแดงกลีบตักยางพระจัตุรงค์
            - ขุนพินิจสุราการกล่าวโทษพระยาราม
            - ให้ส่งพระยากำแพงกับพวกเข้ากรุงเทพ
            - หลวงอินเกสรขอทำไม้ขอนสัก
            - พระยากำแพงแต่งหลวงเมืองเป็นทนาย
            - พระยารามรณรงค์ยื่นทัณฑ์บนรับผิดชอบของกลับรับราชการตามเดิม
            - มองเตงเผในบังคับอังกฤษของเช่าไม้ตำบลคลองขลุง แขวงเมืองกำแพงเพชร
            รายละเอียดของใบบอกต่างๆ นั้นล้วนเป็นเรื่องที่ฉายภาพสังคม การเมืองและวัฒนธรรมในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของเมืองกำแพงเพชรได้เด่นชัดมาก สมควรได้มีการศึกษา ค้นคว้า เพื่อจะได้เข้าใจในสังคมเมืองกำแพงเพชรมากขึ้น
            ภาพที่ชัดที่สุด คือภาะการฉ้อราษฏรบังหลวงของพระยากำแพงเพชร (หรุ่น) ในปี พ.ศ.2447 ก่อนที่พระพุทธเจ้าหลวงส่งพระวิเชียรปราการ (ฉาย อัมพเศวต) นายอำเภอสรรค์บุรี มาเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรแทนและทำให้ตระกูลพระยากำแพงเพชร ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี คือ พ.ศ.2310 จนถึง 2447 เกือบหนึ่งร้อยสี่สิบปีที่ตระกูลพระยากำแพงมีอำนาจในกำแพงเพชรมีรายละเอียดจากใบบอกสามารถอ่านจากเอกสารอ่านเพิ่มเติมตอนท้าย....

คำสำคัญ : กำแพงเพชร, ใบบอก, ประวัติศาสตร์

ที่มา : กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร. (2557). ประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร ยุคหิน-ปัจจุบัน (เรียบเรียงจากการสัมมนาและทบทวน เมื่อวันที่ 27-28 กันยายน 2557). กำแพงเพชร: กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร.

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). ประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จากใบบอกเมืองกำแพงเพชร. สืบค้น 17 กรกฎาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?code_db=610001&code_type=01&nu=pages&page_id=1299

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1299&code_db=610001&code_type=01

Google search

Mic

พญาลิไทกับตำนานประเพณีนบพระ เล่นเพลง

พญาลิไทกับตำนานประเพณีนบพระ เล่นเพลง

มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า พญาลิไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย เมื่อขึ้นครองราชย์ ณ กรุงสุโขทัย บรรดาหัวเมืองต่างๆ พากันแข็งเมือง ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของพญาลิไท เช่น เมืองบางพาน เมืองคณฑี เมืองนครชุม พญาลิไท จึงเสด็จมาด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงนำพระบรมสารีริกธาตุ และพระศรีมหาโพธิ์ มาจากประเทศศรีลังกา มาแสดงความเป็นไมตรี เมื่อเมืองนครชุมรับไมตรี พญาลิไท จึงนำพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์พระบรมธาตุนครชุม ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

เผยแพร่เมื่อ 16-04-2020 ผู้เช้าชม 2,138

ดาบที่สร้างจากประวัติศาสตร์

ดาบที่สร้างจากประวัติศาสตร์

พระแสงราชศัสตราแห่งเมืองกำแพงเพชร เป็นพระแสงประจำเมืองเล่มเดียวในประเทศที่เป็นของเก่าที่แท้จริง เนื่องด้วยเป็นพระแสงที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ให้เป็นบำเหน็จความดีความชอบในการศึกปัตตานี ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์แก่พระยากำแพงเพชร (นุช ) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรคนที่ 2 ต่อจากบิดา ส่วนพระแสงประจำเมืองของจังหวัดอื่น ๆ ล้วนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

เผยแพร่เมื่อ 02-03-2020 ผู้เช้าชม 3,359

กำแพงเพชร : สมัยสุโขทัย

กำแพงเพชร : สมัยสุโขทัย

ข้อความในจารึกหลักที่ 2 ศิลาจารึกวัดศรีชุม ในหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ 1 หน้าที่ 37-39 ในบรรทัดที่ 21-40 อธิบายโดยสรุปว่า พ่อขุนศรีนาวนาถม ได้ครอบครองเมืองสุโขทัยและ เมืองศรีสัชนาลัยมาก่อน หลังสิ้นพ่อขุนศรีนาวนาถมแล้ว พ่อขุนบางกลางหาว ได้เข้ามาครอบครอง ต่อมาถูกขอมขยายอำนาจยึดเมืองต่าง ๆ ได้ พ่อขุนบางกลางหาวจึงต้องขอความช่วยเหลือไปยังพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดซึ่งเป็นโอรสของพ่อขุนศรีนาวนาถม พ่อขุนผาเมืองได้สั่งให้พ่อขุนบางกลางหาวไปนำทหารของพระองค์ที่เมืองบางยางมาสู้รบ พ่อขุนบางกลางหาวก็ยังไม่สามารถที่จะชนะขอมสบาดโขลญลำพงได้ จนทำให้พ่อขุนผาเมืองต้องยกทัพออกมาช่วย จนในที่สุดได้เมืองบางขลัง ศรีสัชนาลัย  และเมืองสุโขทัยคืน ได้และพ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยทรงพระนามว่า “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” 

เผยแพร่เมื่อ 24-02-2020 ผู้เช้าชม 4,572

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) กษัตริย์เมืองอู่ทอง เป็นชาวกำแพงเพชร

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) กษัตริย์เมืองอู่ทอง เป็นชาวกำแพงเพชร

กษัตริย์ผู้ครองกรุงสุวรรณภูมิ จากพงศาวดารโยนก ในหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 7 หน้า 435-436 กษัตริย์ผู้ครองกรุงสุวรรณภูมิ ได้เรียงลำดับไว้ว่า ลำดับที่ 6 พระยากาแต เชื้อนเรศร์หงสา ลำดับที่ 7 อู่ทอง มาแต่เชลียง ลำดับที่ 8 ขุนหลวงพะงั่ว ลำดับที่ 7 อู่ทอง มาแต่เชลียง ซึ่ง “เชลียง” ก็หมายถึงเมืองกำแพงเพชรนั่นเอง เรื่อง “อธิบายรัชกาลครั้งกรุงเก่า” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเ์ธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือประชุมพงศาวดารฉบบักาญจนาภิเษก เล่ม 1 หน้า 356 ได้กล่าวถึงความเกี่ยวข้องของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (หลวงพะงั่ว) กับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ไว้ว่า...

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2020 ผู้เช้าชม 15,317

เมืองไตรตรึงษ์ตามพงศาวดารโยนก

เมืองไตรตรึงษ์ตามพงศาวดารโยนก

พงศาวดารโยนกได้กล่าวว่า เมื่อพระเจ้าพรหมกุมารแห่งเมืองโยนกนาคพันธุ์ได้ทรงขับไล่พวกขอมออกจากแคว้นโยนกได้แล้วก็ยกกองทัพไล่ติดตามตีพวกขอมไปอีกนับเดือนและตีบ้านเมืองในแคว้นลวะรัฐได้อีกหลายตำบล โดยยกพลไปถึงท้องที่ใดก็เข้าตีถึงเมืองนั้น ร้อนถึงองค์อัมรินทร์ทรงเห็นว่าเจ้าพรหมกุมารได้ไล่ฆ่าขอมและผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จำต้องช่วยป้องกันชีวิตมนุษย์เอาไว้ให้พ้นจากการถูกฆ่าฟันจึงตรัสให้พระวิษณุกรรมเทวบุตร ลงไปเนรมิตกำแพงเมืองเป็นศิลาขวางกั้นเส้นทางที่เจ้าพรหมกุมารจะเดินทัพต่อไป ด้วยพลังแห่งเทวนุภาพนั้นทำให้เจ้าพรหมไม่สามารถเดินทัพต่อไปได้ จึงหยุดยั้งตั้งทัพอยู่เพียงเมืองนั้นเอง และให้ชื่อเมืองนั้นว่า กำแพงเพชร 

เผยแพร่เมื่อ 02-03-2020 ผู้เช้าชม 1,833

คลองสวนหมาก สายโลหิตชาวปากคลอง

คลองสวนหมาก สายโลหิตชาวปากคลอง

ลำน้ำคลองสวนหมาก เกิดจากน้ำซับจากป่าอุทยานแห่งชาติคลองลานและป่าอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ไหลลงมารวมกันเกิดลำน้ำคลองสวนหมาก สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญและมีชื่อเสียงของลำน้ำคลองสวนหมากคือ แก่งเกาะร้อย สำหรับน้ำคลองสวนหมากจะมีนักท่องเที่ยวนิยมล่องแพยางประมาณเดือน พฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก และมีแก่งหินเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบท้าทายลักษณะของลำคลองสวนหมากจะเป็นแก่งหินและเนินทราย มีน้ำไหลตลอดทั้งปี

เผยแพร่เมื่อ 16-04-2020 ผู้เช้าชม 3,550

เมืองไตรตรึงษ์ ตามร่องรอยแห่งตำนานและประวัติศาสตร์

เมืองไตรตรึงษ์ ตามร่องรอยแห่งตำนานและประวัติศาสตร์

บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงในเขตท้องที่ของจังหวัดกำแพงเพชร ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงความเป็นอยู่ของชุมชน เคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายเมืองด้วยกัน คือ เมืองแปป เมือง กำแพงเพชร เมืองชากังราว เมืองนครชุม เมืองคณฑี เมืองไตรตรึงษ์ เมืองเทพนคร ฯลฯ ซึ่งชื่อเมืองเหล่านี้พบตามจารึก ในเอกสารต่าง ๆ โดยแต่ละเมืองมี ความสำคัญแตกต่างกันไปตามยุคสมัย เหมือนอย่างเมืองไตรตรึงษ์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมโบราณระหว่างบ้านเมืองในแถบภาคกลางอย่างละโว้ อโยธยา และเมืองในเขตล้านนาอย่างหริภุญไชย เป็นเมืองสำคัญชั้น ลุงของกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยซึ่งเคยเข้ามาเป็นเจ้าครองเมือง และเป็นเมืองที่มีตำนานปรัมปราเรื่อง “ท้าวแสนปม” อันโด่งดัง

เผยแพร่เมื่อ 02-03-2020 ผู้เช้าชม 1,610

เมืองนครชุมล่มสลายกลายมาเป็นบ้านปากคลอง

เมืองนครชุมล่มสลายกลายมาเป็นบ้านปากคลอง

เมืองนครชุม เป็นเมืองโบราณ เดิมเป็นเมืองอิสระ มีกษัตริย์ปกครองตนเอง มีกำแพงเมืองใหญ่ก่อนร่วมอาณาจักรกับสุโขทัย สถาปนามาก่อนพุทธศักราช ๑๘๐๐ ได้ยกฐานเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรสุโขทัย (เมืองลูกหลวงหมายถึง เมื่อพระมหากษัตริย์สุโขทัยมีราชโอรสจะส่งมาปกครอง) เมืองนครชุมเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ในสมัยของพญาลิไทกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย โดยเสด็จมาเมืองนครชุม และสถาปนา พระบรมสาริกธาตุ และพระศรีมหาโพธิ์ขึ้นที่เมืองนครชุมแห่งนี้ เมืองนครชุมเจริญรุ่งเรืองถึงราว พุทธศักราช ๒๐๐๐ เกิดน้ำกัดเซาะรวมทั้งเกิดไข้ป่าและโรคระบาด ทำให้เมืองนครชุม ถึงกาลล่มสลาย

เผยแพร่เมื่อ 17-04-2020 ผู้เช้าชม 3,375

เฉลิมฉลอง 504 ปี พระอิศวร เมืองกำแพงเพชร

เฉลิมฉลอง 504 ปี พระอิศวร เมืองกำแพงเพชร

กำแพงเพชร มีเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองสัตว์สองตีนสี่ตีนในเมืองกำแพงเพชรมาช้านาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นคือเทวรูปพระอิศวร พระอิศวร คือเทพสูงสุดแห่งศาสนาพราหมณ์ เรียกกันว่าพระศิวะก็ได้ พระอิศวรเป็นเทพเจ้าที่มีอำนาจมากและดุร้าย จึงนับว่าเป็นเทพผู้สร้าง ผู้ทำลาย เป็นเทพที่มีลักษณะพิเศษ คือพระศอสีนิล พระองค์สีแดง มีพระเนตรที่สาม เมื่อลืมตาที่สามแล้วจะทำลายล้างโลกได้สิ้น แล้วจึงสร้างใหม่ สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดคือ ศิวลึงค์ พระอิศวรมีพระมเหสี คือพระนางอุมาเทวี พระอิศวร มีงูเป็นสังวาล กะโหลกศีรษะมนุษย์ร้อยเป็นสร้อยพระศอ ทรงโคเผือก อุศุภราช นุ่งหนังเสือ แบบพระฤาษีทรงพระจันทร์เป็นปิ่นปักผม สถิต ณ เขาไกรลาส เป็นที่เคารพบูชาของผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ทั่วโลก

เผยแพร่เมื่อ 18-02-2020 ผู้เช้าชม 3,146

คัมภีร์คาถาชินบัญชรสมเด็จพุฒาจารย์(โต) พบในเจดีย์พระบรมธาตุนครชุม

คัมภีร์คาถาชินบัญชรสมเด็จพุฒาจารย์(โต) พบในเจดีย์พระบรมธาตุนครชุม

คำว่า ชินบัญชร นั้นแปลว่า กรง หรือ เกราะป้องกันภัยของพระพุทธเจ้า คำว่า ชิน หมายถึง พระพุทธเจ้า คำว่า บัญชร หมายถึง กรง หรือ เกราะ โดยที่เนื้อหาในคาถาในชินบัญชรนั้นจะเป็นการอัญเชิญพระพุทธเจ้าจำนวน 28 พระองค์ เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระนามว่าตัณหังกร เป็นต้น เดินทางลงมาสถิตอยู่ในทุกอณูของร่างกาย เพื่อเป็นการเสริมให้ตนเองนั้นมีพลังพุทธคุณให้ยิ่งใหญ่ จากนั้นจึงอัญเชิญพระอรหันต์ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 80 องค์ซึ่งเป็นผู้มีบารมีธรรมที่ยิ่งใหญ่ อีกทั้งยังได้มีการอาราธนาพระสูตรอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ทรงอานุภาพในด้านต่างๆ

เผยแพร่เมื่อ 17-04-2020 ผู้เช้าชม 2,740