พิธีกรรมซ้อนขวัญ บ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร
เผยแพร่เมื่อ 19-07-2022 ผู้ชม 897
[16.3417696, 99.1243407, พิธีกรรมซ้อนขวัญ บ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร]
บทนำ
ความเชื่อเรื่องขวัญของคนไทยทุกภูมิภาคมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังจะปรากฏในการดำเนินวิถีชีวิต ตั้งแต่เกิด คือเมื่อมีเด็กเกิดจะมีการรับขวัญเด็กที่เกิด ดังปรากฏในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายแก้ว ก็ได้จัดพิธีการรับขวัญพลายแก้ว ดังบทที่ว่า
๏ ศรีศรีวันนี้ฤกษ์ดีแล้ว เชิญขวัญพลายแก้วอย่าไปไหน
ขวัญมาอยู่สู่กายให้สบายใจ ชมช้างม้าข้าไททั้งเงินทอง
ขวัญเอ๋ยเจ้ามาเถิดพ่อมา อย่าเที่ยวล่ากะเกณฑ์ตระเวนท่อง
มาชมพวงแก้วแล้วพวงทอง ข้าวของเหลือหลายสบายใจ
ครั้นแล้วก็โห่อีกสามที ดับอัคคีโบกควันเจิมพักตร์ให้
ให้ชันษายืนหมื่นปีไป มีชัยชำนะสวัสดี
ครั้นทำขวัญเสร็จสำเร็จการ วงศ์วานปรีดิ์เปรมเกษมศรี
จนอายุพลายแก้วได้ห้าปี พาทีแคล่วคล่องว่องไว ฯ
(ขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายแก้ว, อ้างถึงใน เรไร ไพรวรรณ์, 2551 หน้า 258)
หรือแม้กระทั่งการประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ข้าวจวนตั้งท้องก็ได้มีการทำขวัญข้าว ที่แสดงออกถึงความเคารพพระแม่โพสพ ซึ่งเป็นอีกประเพณีหนึ่งของทางภาคกลาง เมื่อชายไทยมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ที่นับถือพระพุทธศาสนาจะต้องมีการบวชเป็นพระ ซึ่งถือเป็นประเพณีนิยมของคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งในการบวชจะต้องมีการทำขวัญเรียกว่า “ทำขวัญนาค” เพื่อเป็นการอบรม สั่งสอนให้ผู้บวชได้ระลึกถึงพระคุณของบิดามารดา หรือผู้มีพระคุณที่เลี้ยงดูมา ชาวไทยทางภาคเหนือและอีสานเมื่อมีการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ จะมีการเรียกขวัญเพื่อให้ผู้ที่เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ มีขวัญและกำลังใจจะเรียกพิธีนี้ว่า ช้อนขวัญ ซ้อนขวัญ หรือ ส้อนขวัญ บ้างตามแต่ละท้องถิ่น เรไร ไพรวรรณ์ (2551, หน้า 258 -266) กล่าวไว้ดังนี้ ถ้าจะพิจารณาถึงเหตุที่มีการทำขวัญจะมีสาเหตุใหญ่ 2 สาเหตุ คือ
1. เหตุอันเนื่องมาจากสิ่งดีที่เกิดขึ้น หรือได้รับ เช่น ได้รับโชคลาภ การเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ เจ้านายหรือผู้ใหญ่ที่เคารพมาเยือน ได้รับลาภพิเศษจากสัตว์ใหม่ เป็นต้น จึงจัดพิธีขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคล
2. เหตุอันเนื่องมาจากสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้น หรือได้รับ จึงจัดพิธีทำขวัญขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาเคราะห์ปัดเสนียดจัญไรต่าง ๆ ให้พ้นไป เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย ได้รับอุบัติเหตุ
ได้รับความตกใจจากเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เคราะห์ร้ายเสียทรัพย์สินเงินทอง เกิดคดีความ สัตว์หรือสิ่งของหายไปแล้วได้คืน เป็นต้น
ประคอง นิมมานเหมินทร์ (2521, หน้า 108-109) อธิบายความหมายของ “ขวัญ” ไว้ทำนองเดียวกัน แต่ให้เหตุผลเชิงจิตวิทยาประกอบด้วย ดังนี้
ขวัญ คือ พลังหรือกำลังใจของคนเรา ที่มีการเรียกขวัญเมื่อเกิดหกล้มหรือเคราะห์ร้าย ก็เพราะปกติของคนเรามักมีจิตใจอ่อนแอ เมื่อมีเหตุให้ตกใจหรือเสียใจก็เกิดความหวั่นไหวเสียกำลังใจได้ บรรพบุรุษจึงมีวิธีการช่วยให้กำลังใจคืนมาเกิดความมั่นใจขึ้น การเรียกขวัญในคราวเจ็บป่วยบางทีก็ทำควบคู่ไปกับพิธีสืบชะตา ซึ่งก็เป็นพิธีทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและสบายใจขึ้นเช่นกัน การเรียกขวัญจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ ทำให้ผู้ได้รับการเรียกขวัญเกิดความเข้มแข็งขึ้น มีพลังขึ้นและมีความอบอุ่นใจขึ้น
จากข้อความข้างต้น สรุปได้ว่า “ขวัญ” คือสิ่งที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง เป็นพลังหรือกำลังใจที่ส่งผลให้คนหรือสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ได้มีความปกติสุข ในการดำรงอยู่
ความเป็นมาพิธีกรรมซ้อนขวัญ
พิธีซ้อนขวัญนี้ยังเป็นพิธีกรรมที่แสดงออกถึงความใส่ใจและระลึกถึงความรู้สึกของจิตใจของผู้ที่เป็นครอบครัวหรือเครือญาติเดียวกัน อันเป็นการให้กำลังใจในการดำรงชีวิตต่อไปของคนในครอบครัวและสังคม ซึ่งการซ้อนขวัญนี้เป็นพิธีกรรมที่แสดงออกถึงการให้กำลังใจแก่ผู้เจ็บป่วยหรือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุต่าง ๆ ของคนไทยทางภาคอีสานและบางกลุ่มของคนไทยเหนือ ซึ่งบ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร เป็นหมู่บ้านที่ใหญ่มีถึง 12 หมู่บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายทางภาคเหนือที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยภาคเหนือที่อพยพมาจากอำเภอเสริมงามจังหวัดลำปาง จึงได้นำพิธีกรรมซ้อนขวัญนี้มาใช้ด้วย นางผัด จันทร์นิ้ว (หล้า) อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 2/1 หมู่ 4 บ้านคลองไพร ต. โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ได้ให้ข้อมูลว่า พิธีกรรมซ้อนขวัญ เป็นพิธีกรรมที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า โดยจะเป็นพิธีกรรมที่ใช้เฉพาะผู้หญิงเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ซึ่งจะใช้ในกรณีที่คนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุ เมื่อคนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุ เช่น รถล้ม รถชน แม่หรือ ย่ายาย จะเป็นผู้ไปซ้อนขวัญ ถ้าหากคนในครอบครัวไม่สามารถทำได้ ก็จะไปบอกให้ผู้หญิงผู้เฒ่าผู้แก่ท่านอื่นที่เคารพและสามารถประกอบพิธีกรรมได้เป็นผู้กระทำให้ แต่ในปัจจุบันพิธีกรรมซ้อนขวัญไม่ค่อยได้มีการปฏิบัติหรือมีให้เห็นบ่อยครั้งนัก เพราะเด็กสาวไม่ค่อยให้ความสำคัญและมองว่าเป็นพิธีกรรมที่งมงาย เนื่องจาก ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาการทางวิทยาการทางการแพทย์ เมื่อประประสบอุบัติเหตุก็จะไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลในท้องถิ่น อีกทั้งผู้ที่รู้จักและผู้ที่จะประกอบพิธีกรรมซ้อนขวัญเหลือน้อยทั้งยังเป็นการประกอบพิธีกรรมของคนไทยกลุ่มไทยเหนือเท่านั้น และเป็นพิธีกรรมที่จะประกอบกันในแต่ละครอบครัวเท่านั้น
ผู้ที่จะประกอบพิธีกรรมนี้ได้ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น จะเป็นแม่ ย่า หรือยายของผู้ประสบอุบัติเหตุก็ได้หากผู้ที่เป็นแม่ ย่าหรือยาย ไม่สามารถประกอบพิธีกรรมได้ก็จะไปเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นผู้หญิงมากระทำให้
การแต่งกายของผู้ประกอบพิธีกรรมนั้นไม่มีการกำหนดจะแต่งกายอย่างไรก็ได้แล้วแต่ความสะดวกของผู้ประกอบพิธีกรรมแต่ต้องสำรวมและสุภาพ
วันที่ใช้ประกอบพิธีกรรมนั้นจะต้องไม่เป็นวันเสีย (วันที่ต้องห้ามประกอบพิธีกรรมหรือการมงคลของภาคเหนือตามจันทรคติแต่ละเดือนซึ่งกำหนดวันไม่ตรงกันหรือคนไทยทางภาคกลางเรียกว่าวันจมและไม่นิยมกระทำกันในวันพระ) เวลาที่จะใช้ประกอบพิธีกรรมนี้จะประมาณตั้งแต่ 16.00-18.00 น. กล่าวคือ ไม่ร้อนจนเกินไปเมื่อแดดเริ่มอ่อนแสงและไม่เย็นค่ำจนมองอะไรไม่เห็นเนื่องจากจะทำให้ผู้ไปประกอบพิธีกรรมได้รับอุบัติเหตุเองหรือพบกับสัตว์เลื้อยคลานมีพิษจำพวกงูหรือตะขาบ แมงป่องได้
อุปกรณ์ที่ประกอบพิธีกรรม
อุปกรณ์ที่ประกอบพิธีกรรม คือ หิงหรือสวิง กล้วยน้ำว้าสุก 2 ผล ไข่ต้มจะเป็นไข่เป็ดหรือไข่ไก่ก็ได้ 2 ฟอง ข้าวนึ่งหรือข้าวเหนียวหุงสุก 2 ปั้นพอประมาณ ด้ายสายสิญจน์สำหรับผูกข้อมือตามจำนวนที่จะผูกให้ตัดความยาวพอผู้ข้อมือผู้ประสบอุบัติเหตุได้
ขั้นตอนหรือกระบวนการในการซ้อนขวัญ
ขั้นตอนหรือกระบวนการในการซ้อนขวัญจะกระทำดังนี้ เมื่อคนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุ ผู้ที่เป็นแม่ ย่าหรือยาย จะประกอบพิธีกรรมซ้อนโดยจะไปกำหนดวันที่ไม่ใช่วันเสียหรือวันจม คือ วันที่ห้ามทำการมงคลในแต่ละเดือนที่กำหนดทางจันคติจะไปยังสถานที่ประสบอุบัติเหตุ ในเวลาประมาณ 16.00-18.00 น. พร้อมด้วยอุปกรณ์คือ หิง (สวิง) พร้อมบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางด้วยวาจา ขออนุญาตว่าจะมาเก็บขวัญหรือซ้อนขวัญของคนที่ประสบอุบัติเหตุเมื่อวันใดเวลา ใด โดยบอกชื่อ และวันเวลาที่ประสบอุบัติเหตุและจากอุบัติเหตุอะไรอย่างไร จากนั้นจะซ้อนสวิงไปรอบๆ บริเวณนั้น พร้อมกับพูดเรียกขวัญในคำพูดดีๆ เช่น “ขวัญทั้ง 32 ที่ตกอยู่ของ....(ชื่อคนที่ประสบอุบัติเหตุ)....ว่าอยู่ตรงไหนให้กลับเข้ามา เพื่อจะได้อยู่ดีมีสุข อยู่ดีมีแรง หายเจ็บหายไข้ให้มา ...” ซึ่งคำพูดที่พูดนั้นจะต้องเป็นคำพูดที่ดีและเป็นศรีเป็นมงคล แล้วแต่ผู้ที่กระทำพิธีจะกล่าว เมื่อซ้อนขวัญได้สักครู่ก็ให้รวบที่ก้นสวิงและจับให้แน่น สมมุติว่าได้ขวัญกลับมาแล้วและเดินทางกลับมาที่บ้านที่ผู้ประสบอุบัติเหตุรออยู่ โดยระหว่างทางกลับมาจะต้องจับก้นสวิงให้แน่นห้ามปล่อยเด็ดขาด เสร็จแล้วก้นสวิงกลับด้านคลอบลง ที่หัวที่ตัวของผู้ประสบอุบัติเหตุให้ขวัญที่อยู่ในสวิงในกลับเข้าร่างของคนนั้น จากนั้นจะให้ผู้ประสบอุบัติเหตุนั่งและให้กางแขนออกกำไข่ต้มข้างละ 1 ฟอง และข้าวเหนียว ข้างละ 1 ปั้น พร้อมกล้วยน้ำว้าอีกข้างละ 1 ผล จากนั่นผู้ที่ไปซ้อนขวัญมาก็จะพูดว่าให้ขวัญกลับมาอยู่กลับเนื้อกลับตัว อยู่ดีมีแรง หรือใช้คำพูดเชิงปลอบใจ ให้หายตกในและใช้ได้สายสิญจน์ผู้ที่ข้อมือ และเมื่อผูกข้อมือเสร็จก็จะให้ทานไข่ต้ม ข้าวเหนียวและกล้วยพอเป็นพิธี ก็เสร็จพิธีกรรมแล้ว
ความเชื่อของชาวบ้านกับพิธีกรรมซ้อนขวัญ
พิธีกรรมซ้อนขวัญนี้ชาวบ้านคลองไพรจะเชื่อว่าหากประสบอุบัติเหตุแล้วไม่ได้ซ้อนขวัญจะทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุนั้นไม่หาย อยู่ไม่สบายตัว นอนหลับไม่สนิทและขวัญผวา จึงได้ประกอบพิธีกรรมนี้ ส่วนความเชื่อที่เกิดจากอุปกรณ์และภาษาที่ใช้ในพิธีกรรมนั้น จะมีความเชื่อเรื่องขวัญทั้ง 32 ของคนโดยจะกล่าวขณะทำการซ้อนขวัญว่า ขวัญทั้ง 32 ที่ตกอยู่ของ....(ชื่อคนที่ประสบอุบัติเหตุ)....ว่าอยู่ตรงไหนให้กลับเข้ามา เพื่อจะได้อยู่ดีมีสุข อยู่ดีมีแรง หายเจ็บหายไข้ ให้มา ...” ซึ่งคำพูดที่พูดนั้นจะต้องเป็นคำพูดที่ดีและเป็นศรีเป็นมงคล สะท้อนให้เห็นว่าการกระทำการสิ่งใดที่เป็นสิ่งดีสิ่งมงคลจะต้องใช้คำพูดที่ดีและเป็นมงคลจะทำให้การงานนั้นประสบความสำเร็จ ดังที่คนโบราณกล่าวว่า เมื่อเข้าป่าอย่าพูดถึงเสือ ซึ่งเป็นข้อห้ามหรือการสั่งสอนไปด้วยเพราะจะไม่เป็นสิ่งดีอันเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจของคนที่จะทำการสิ่งนั้น
การที่ใช้กล้วยน้ำว้าให้ทานหลังจากประกอบพิธีกรรม เพราะคนสมัยโบราณใช้กล้วยน้ำว้าให้เด็กทานในขณะยังเล็กโดยจะใช้กล้วยน้ำว้าสุกเผาและบดให้เด็กทานเป็นการเลี้ยงเด็กทารกสมัยก่อนเมื่อทารกนั้นเริ่มจะทิ้งนมแล้ว ขวัญที่เข้ามาก็เป็นเหมือนเด็กที่ต้องเลี้ยงดูและยังเชื่ออีกว่าการใช้กล้วยจะทำให้อะไรง่ายเหมือนกับการกินกล้วยที่กลืนง่าย จึงเห็นได้ว่ากล้วยน้ำว้ามีความเกี่ยวพันกับคนไทยซึ่งเราจะสามารถพบเห็นได้ทั้งในการดำรงชีวิตและการประกอบพิธีกรรมต่างๆ
ข้าวนึ่งหรือข้าวเหนียวพิธีกรรมซ้อนขวัญนี้เป็นพิธีกรรมของคนทางภาคเหนือจึง ซึ่งคนภาคเหนือนั้นรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก จึงได้นำมาใช้เช่นกันเหมือนกับ การเลี้ยงขวัญที่เข้ามาอยู่ในตัวผู้ประสบอุบติเหตุเช่นกัน
ไข่ต้ม การให้ทานไข่ต้มจะถือว่าได้รับสิ่งมงคลเพราะไข่ต้มจะเป็นสีขาวด้านนอกและยังมีลักษณะผิวเกลี้ยงลื่นเป็นมันจึงจะเป็นสัญลักษณ์ว่าผู้ที่ได้รับการประกอบพิธีกรรมซ้อนขวัญนี้แล้วจะคลาดแคล้วจากสิ่งไม่มีดีและไม่เกิดอุบัติเหตุอีก อีกทั้งผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุมักจะเกิดแผล จึงให้กินไข่เผื่อจะได้เป็นการบำรุงจะได้หายไวๆ
สายสิญจน์ที่ใช้ผูกข้อมือจะเป็นการให้ขวัญนั้นอยู่กับเนื้อกลับตัวและเป็นสิ่งที่ดีเหมือนเป็นเครื่องรางที่จะช่วยคุ้มครองผู้ประสบอุบัติเหตุ นอกจากนี้ผู้ให้ข้อมูลยังกล่าวว่าในขณะที่มีการผูกสายสิญจน์จะมีการกล่าวคำที่เป็นมงคลจากญาติพี่น้องด้วยจึงเป็นเหมือนการให้พรและลงคาถาอาคมไปด้วย
บทสรุป
พิธีกรรมซ้อนขวัญบ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มี 12 หมู่บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายทางภาคเหนือที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยภาคเหนือที่อพยพมาจากอำเภอเสริมงามจังหวัดลำปาง จึงได้นำพิธีกรรมซ้อนขวัญนี้มาใช้ที่บ้านคลองไพรด้วยซึ่งพิธีกรรมซ้อนขวัญนี้เป็นพิธีกรรมที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า โดยจะเป็นพิธีกรรมที่ใช้เฉพาะผู้หญิงเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ซึ่งจะใช้ในกรณีที่คนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุ เมื่อคนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุ เช่น รถล้ม รถชน แม่หรือ ย่ายาย จะเป็นผู้ไปซ้อนขวัญ ถ้าหากคนในครอบครัวไม่สามารถทำได้ ก็จะให้ผู้หญิงผู้เฒ่าผู้แก่ท่านอื่นที่เคารพและสามารถประกอบพิธีกรรมได้เป็นผู้กระทำให้ ทั้งนี้เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่ประสบอุบัติเหตุและคนใคนในครอบครัวผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ ประเพณีพิธีกรรมซ้อนขวัญจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวบ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชรที่ควรอนุรักษ์ สืบสานให้คงอยู่สืบไป
คำสำคัญ : พิธีกรรมซ้อนขวัญ คลองไพร โป่งน้ำร้อน คลองลาน กำแพงเพชร
ที่มา : https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=พิธีกรรมซ้อนขวัญ_บ้านคลองไพร_ต.โป่งน้ำร้อน_อ.คลองลาน_จ.กำแพงเพชร
รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). พิธีกรรมซ้อนขวัญ บ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร. สืบค้น 16 ตุลาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=2123&code_db=610004&code_type=05
Google search
อุปกรณ์ เครื่องใช้ของม้งโดยปกติแล้วม้งจะมีการทำงานหนักในไร่หรือในสวนต่าง ๆ ม้งจึงมีการตีมีดให้เหมาะสมกับงานที่ทำเช่น การตัดไม้จะต้องใช้ มีดด้ามยาว (เม้าะจั๊วะ) หรืออาจจะใช้ขวานก็ได้ ส่วนการทำอาหารต่างจะใช้มีดด้ามสั้นหรือมีดปลายแหลม ส่วนงานที่หนักจะต้องใช้มีดที่มีขนาดใหญ่ เหมาะกับการใช้งาน
เผยแพร่เมื่อ 20-09-2024 ผู้เช้าชม 52
จะมีการจัดขึ้นทุกๆ ปี ประมาณปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ซึ่งจะตรงกับช่วงที่ผลผลิตกำลังงอกงาม และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่วัน ในระหว่างนี้อาข่าจะดายหญ้าในไร่ข้าวเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากดายหญ้าแล้วก็รอการเก็บเกี่ยว ตรงกับเดือนของอาข่าคือ “ฉ่อลาบาลา”
เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 3,796
ชาวม้งมีการนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่อยู่บนฟ้า ในลำน้ำ ประจำต้นไม้ ภูเขา ไร่นา ฯลฯ ชาวม้งจะต้องเซ่นสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เหล่านี้ปีละครั้ง โดยเชื่อว่าพิธีไสยศาสตร์เหล่านี้จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ถูกต้องและทำการรักษาได้ผล เพราะความเจ็บป่วยทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นผลมาจากการผิดผี ทำให้ผีเดือดดาลมาแก้แค้นลงโทษให้เจ็บป่วย จึงต้องใช้วิธีจัดการกับผีให้คนไข้หายจากโรค
เผยแพร่เมื่อ 22-02-2017 ผู้เช้าชม 8,032
ลีซอ หมายถึง ผู้ใฝ่รู้แห่งชีวิต มีภาษาพูดในกลุ่มหยี (โลโล) ตระกูลธิเบต-พม่า 30% เป็นภาษาจีนฮ่อ ต้นกำเนิดของลีซูอยู่ที่ต้นน้ำสาละวิน และแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของธิเบต และทางตะวันตกเฉียงเหนือ ของมณฑลยูนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวลีซูได้อพยพเข้าสู่เขตประเทศไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2464 กลุ่มแรกมี 4 ครอบครัว มาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนครั้งแรกอยู่ที่บ้านห้วยส้าน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ต่อมามีอีก 15 ครอบครัวอพยพตามมาด้วยในปีเดียวกัน ลีซูไม่มีภาษาเขียนของตนเอง แต่สำหรับลีซูที่นับถือเป็นคริสเตียน กลุ่มมิชชั่นนารีได้ใช้อักษรโรมันมาดัดแปลงเป็นภาษาเขียนของชนเผ่าลีซู อยู่ได้โดยประมาณ 5-6 ปี ก็มีการแยกกลุ่มไปอยู่หมู่บ้านดอยช้าง ทำมาหากินอยู่แถบ ตำบลวาวี ออำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
เผยแพร่เมื่อ 20-06-2022 ผู้เช้าชม 14,055
ม้งจะชอบตั้งบ้านอยู่บนดอยสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งม้งบางกลุ่มจะมีการปลูกฝิ่นเป็นพืชหลัก แต่ในปัจจุบันนี้ ม้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ให้อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในพื้นราบลุ่มเขา และยังมีม้งบางกลุ่มก็ยังคงตั้งรกรากอยู่บนดอย แต่ไม่ลึกเท่าไร การคมนาคมพอที่จะเข้าไปถึงได้ หมู่บ้านม้งจะประกอบด้วยกลุ่มเรือนหลายๆ หย่อมแต่ละหย่อมจะมีบ้านราวๆ 7-8 หลังคาเรือน โดยที่มีเรือนใหญ่ของคนสำคัญอยู่ตรงกลาง ส่วนเรือนที่เป็นเรือนเล็กจะเป็นลูกบ้านหรือลูกหลาน ส่วนแต่ละหย่อมนั้นจะหมายถึงตระกูลเดียวกัน หรือเป็นญาติพี่น้องกันนั่นเอง
เผยแพร่เมื่อ 20-09-2024 ผู้เช้าชม 109
ชาวเขาเผ่าม้งจังหวัดกำแพงเพชร สืบสานประเพณี จัดงานขึ้นปีใหม่ม้งคลองลาน จัดกิจกรรมการละเล่นลูกช่วง บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนานรื่นเริงที่อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร นายสุรพล วาณิชเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานในพิธีเปิดงานสืบสานประเพณี จัดงานขึ้นปีใหม่ม้งคลองลาน โดยมี พันเอกพิเศษหญิง ศินีนาถ วาณิชเสนี นายกเหล่ากาชาด จังหวัดกำแพงเพชร นายสุนทร รัตนากร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ประชาชน นักท่องเที่ยว และชาวม้งในอำเภอคลองลาน เข้าร่วมพิธีอย่างคับคั่ง
เผยแพร่เมื่อ 22-02-2017 ผู้เช้าชม 4,463
ประเพณีตำข้าวเหนียวชาวม้ง เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ไม่เพียงเฉพาะชาวม้งในจังหวัดกำแพงเพชรเท่านั้นที่ยังคงรักษาประเพณีนี้ไว้ แต่ยังรวมถึงชาวม้งในจังหวัดอื่นๆ หรือประเทศอื่นๆ อีกด้วย ประเพณีตำข้าวเหนียวชาวม้งมักจะจัดขึ้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 2 ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนธันวาคม – มกราคมของทุกปี ในการจัดประเพณีตำข้าวเหนียวชาวม้งนั้นเป็นประเพณีที่สืบเนื่องหรืออยู่ในช่วงเดียวกับงานประเพณีปีใหม่ม้ง ซึ่งการจัดงานดังกล่าวเป็นงานประเพณีที่สืบทอดและแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ม้งเป็นอย่างดี การตำข้าวเหนียวของชาวม้งนั้นบางที่อาจจะตำเพื่อไหว้ผีป่า ผีบรรพบุรุษหรือสิ่งที่ตนเองนับถือแต่เพียงอย่างเดียว บางที่ก็นำข้าวเหนียวที่ผ่านการไหวผีมาทำเป็นอาหารคาวและอาหารหวานเพื่อยืดอายุของข้าวเหนียวอีกด้วย ประวัติความเป็นมาของประเพณีตำข้าวเหนียวชาวม้ง หรือแม้แต่ความเชื่อของประเพณี
เผยแพร่เมื่อ 27-06-2022 ผู้เช้าชม 3,117
ชาวจีนโพ้นทะเล หรือชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพในประเทศไทยเป็นเวลานาน โดยมีการผสมผสานกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมของชนทั้งสองกลุ่ม ความเชื่อ ความศรัทธารวมถึงเอกลักษณ์กลายเป็นวัฒนธรรมผสม แต่ถึงอย่างไรก็ตามชาวจีนโพ้นทะเลยังคงรักษา ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ของตนไว้เป็นอย่างดี อย่างที่เราจะเห็นได้ในทุกพื้นที่ที่มีคนจีนอาศัยอยู่ จะมีเทศกาลปีใหม่จีน(ตรุษจีน) สารทจีน ให้อยู่ในทุกพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ครบถ้วนเกี่ยวกับที่มาที่ไปของความเชื่อ ความศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีน ผู้ศึกษาขอพาไปรู้จักกับประเพณีในรอบ 1 ปีของชาวจีนดังในหัวข้อ “ประเพณีที่ถือปฏิบัติในรอบปี”
เผยแพร่เมื่อ 13-06-2022 ผู้เช้าชม 1,449
ชาวม้งมีบรรพบุรุษโบราณอาศัยอยู่ในดินแดนอันหนาวเย็น หิมะตกหนัก มีกลางคืนและฤดูหนาวที่ยาวนาน อาจอพยพมาจากที่ราบสูงทิเบต ไซบีเรีย และมองโกเลีย ประเทศจีน ชาวม้งอพยพหนีการปกครองของจีน ในเขตที่ราบสูงของหลวงพระบาง ราวพุทธศักราช 2443 กลุ่มม้งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ในจังหวัดกำแพงเพชร ที่อำเภอคลองลาน มีแม่เฒ่าชาวม้งท่านหนึ่งชื่อว่า นางจื่อ แซ่กือ อายุ 64 ปี อาศัยอยู่ หมู่ 1 ตำบลคลองลานพัฒนา ซึ่งเดิมอยู่บนเขาน้ำตกคลองลาน อพยพมาอยู่พื้นราบมาประมาณ 20 ปี งานที่สำคัญและภูมิใจที่สุดของนางจื่อ แซ่กือ คือ การทำผ้าลายขี้ผึ้ง (โอโต๊ะจ๊ะ) เพื่อนำมาตัดเย็บชุดชาวเขาเผ่าม้งของแม่เฒ่า
เผยแพร่เมื่อ 27-04-2020 ผู้เช้าชม 1,954
ชาวเขาเผ่าม้งมีความยึดมั่นในข้อปฏิบัติเฉพาะประจำกลุ่ม ประจำแซ่สกุลของตนเอง ม้งแต่ละสกุลหรือแต่ละแซ่มาอยู่ร่วมกัน เป็นชุมชนหมู่บ้านม้ง ทุกคนต่างก็จะตระหนักถึงข้อปฏิบัติให้อยู่ในกรอบ ซึ่งข้อกำหนดหรือข้อปฏิบัติ อาทิ สมาชิกม้งที่มีนามสกุลเดียวกัน จะแต่งงานด้วยกันไม่ได้ ถ้าจำเป็นต้องแต่งงงานกันจริง ๆ จะต้องให้หญิงและชายคู่กรณี ทำพิธีตัดญาติก่อน แล้วจึงจะแต่งงานกันได้ ชายหญิงม้งจะต้องไม่แสดงพฤติกรรมที่แสดงถึงความรู้สึกชอบพอกันต่อหน้าพ่อ-แม่ของฝ่ายหญิงเด็ดขาด หรือในที่สาธารณะ เป็นต้น
เผยแพร่เมื่อ 20-09-2024 ผู้เช้าชม 38