สำรอง

สำรอง

เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้ชม 3,299

[16.4258401, 99.2157273, สำรอง]

สำรอง ชื่อสามัญ Malva nut

สำรอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Scaphium scaphigerum (Wall. ex G. Don) G.Planch. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sterculia scaphigera Wall. ex G. Don) ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scaphium macropodum (Miq.) Beumée ex K.Heyne (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Carpophyllum macropodum Miq., Sterculia macropoda (Miq.) Hook. ex Kloppenb.) โดยจัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)

สมุนไพรสำรอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จอง หมากจอง (อุบลราชธานี), บักจอง หมากจอง (ภาคอีสาน), ท้ายเภา (ภาคใต้), พุงทะลาย, ฮวงไต้ไฮ้ (จีน), พ่างต้าห่าย (จีนกลาง) เป็นต้น ส่วนในจังหวัดจันทบุรี ตราด และทั่วไปจะเรียก "สำรอง"

สาเหตุที่เรียกสมุนไพรชนิดว่า "พุงทะลาย" เป็นเพราะในปัจจุบันมีผู้นำสำรองไปรับประทานเพื่อลดความอ้วน เนื่องจากสำรองสามารถพองตัวได้ดี เชื่อว่าจะช่วยกำจัดไขมันออกจากร่างกายได้ โดยการดูดซับไขมันเอาไว้แล้วขับถ่ายออกมาทางอุจจาระ เชื่อว่ารับประทานเป็นประจำแล้วจะช่วยลดพุงได้ด้วยการรับประทานก่อนเข้านอนเพื่อจะช่วยในการขับถ่ายได้ดีในตอนเช้า จึงเป็นที่มาของเชื่อ "พุงทะลาย" นั่นเองครับ

ลักษณะของต้นสำรอง

  • ต้นสำรอง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 30-40 เมตร และอาจสูงได้ถึง 45 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงสูงชะลูด แตกกิ่งก้านออกรอบต้น เรียงกันเป็นชั้น ๆ ลำต้นเป็นสีเทาดำ เปลือกต้นหยาบ มีเส้นเป็นร่องตามแนวดิ่ง สามารถพบได้ตามป่าดิบเขาที่มีฝนตกชุกและมีแสงแดดส่องถึง พบได้มากในจังหวัดจันทบุรี แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าอาจจะสูญพันธุ์ได้ 
  • ใบสำรอง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงแบบสลับ ลักษณะของใบมีหลากหลายรูปร่าง เช่น รูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปคล้ายรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อยเป็นรูปหัวใจ และใบมีรูปร่างเป็นแฉกเว้าลึกประมาณ 2-5 แฉก ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-20 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร เนื้อใบแข็ง ผิวเรียบเป็นมัน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร ใบต้นอ่อนมักเป็นหยักประมาณ 3-5 หยักและมีก้านใบยาวมาก[1],[2] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าใบสำรองจะมีอยู่ด้วยกัน 4 รูปแบบ โดยจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ เมื่อมีอายุประมาณ 1 ปี ลักษณะของใบจะเป็นรูปปลายแหลม ฐานโค้ง เมื่อเข้าปีที่ 2 ใบจะเริ่มเปลี่ยนรูปร่างเป็นรูปฝ่ามือ 3 แฉก เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3-4 ใบจะมีลักษณะเป็นรูปฝ่ามือ 5 แฉก และในระยะสุดท้ายหรือช่วงอายุประมาณ 4-6 ปีหรือมากกว่านั้น ใบจะมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน 
  • ดอกสำรอง ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งและง่ามใบ โดยจะออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ ดอกเป็นแบบแยกเพศ กลีบดอกเป็นแฉกคล้ายรูปดาว ยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร กลีบดอกปลายแหลม เป็นสีเขียวอ่อน ส่วนกลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปร่างคล้ายทรงบอก มีขนปกสีแดงปกคลุม ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 10-15 ก้านและเกสรเพศเมียอีก 1 ก้าน[1],[2] โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม 
  • ลูกสำรอง หรือ ผลสำรอง ผลจะออกตามปลายกิ่ง กิ่งหนึ่งจะมีผลประมาณ 1-5 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปร่างคล้ายเรือหรือรูปกระสวย เมื่อแก่จะแตกออก ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 18-24 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดลักษณะกลมรีเล็กน้อย ลักษณะคล้ายกับลูกสมอ ผลแก่เป็นสีน้ำตาล ผิวเหี่ยวย่น แห้ง และขรุขระ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 18-25 มิลลิเมตร ส่วนเมล็ดเป็นรูปมนรี มีเยื่อหุ้มอยู่ ซึ่งเป็นสารเมือกมีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อถูกน้ำหรือนำมาแช่ในน้ำจะพองตัวออกและขยายตัวเป็นวุ้นคล้ายกับเยลลี่สีน้ำตาล ใช้รับประทานได้[1],[2] โดยผลจะเริ่มแก่และร่วงในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[6] เปลือกหุ้มเมล็ดชั้นนอกจะมีสารเมือก (Mucilage) ที่สามารถพองตัวได้ดีในน้ำ เพราะมีความสามารถในการดูดซับน้ำถึง 40-45 มิลลิลิตรต่อกรัม ทำให้เกิดเป็นเจล (Gel) หรือเป็นวุ้นได้โดนไม่ต้องอาศัยความร้อน 

สรรพคุณของสำรอง

  1. เมล็ดช่วยลดการดูดซึมไขมัน (เมล็ด)
  2. ช่วยแก้ธาตุพิการ (ผลและเมล็ด)
  3. ใบ, ผลและเมล็ด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม (ใบ, ผลและเมล็ด)
  4. ช่วยแก้ตานขโมยในเด็ก (ผลและเมล็ด)
  5. ช่วยรักษาโรคหอมหืด (วุ้น)
  6. วุ้นใสที่ได้จากเปลือกหุ้มเมล็ด ใช้พอกตา แก้ตาอักเสบบวมแดง ปอดบวม โดยวุ้นสำรองเป็นยาเย็น ไม่เป็นอันตรายต่อเยื่อบุอ่อน ๆ จึงสามารถนำมาใช้รักษาอาการตาอักเสบได้ วิธีการก็คือให้นำผ้าก๊อซชุบน้ำพอชุ่มชื้น แล้วนำไปวางทับบนเปลือกตาที่อักเสบ จากนั้นให้วางแผ่นเปลือกหุ้มเมล็ดสำรองลงบนผ้าก๊อซ แล้วเปลือกจะพองตัวเป็นวุ้นแทรกซึมเข้าไปในผ้าก๊อซ และช่วยบรรเทาอาการเจ็บตา ตาอักเสบอย่างได้ผล (เปลือกหุ้มเมล็ด) ผลแก้ตาแดง (ผล) ส่วนเมล็ดช่วยแก้โรคตาแดงอักเสบ (เมล็ด)
  7. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ไข้ (เปลือกต้น)
  8. ผลแห้งนำมาแช่กับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ผล)
  9. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้อาการไอแห้ง คันคอ คอเจ็บไม่มีเสียง ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ผลประมาณ 2-3 ผล นำมาชงเป็นน้ำชาดื่ม หรือจะใช้ผลแห้งครั้งละประมาณ 3-10 กรัม (หรือประมาณ 3-5 ผล) นำมาแช่กับน้ำพอสมควรจนพองเป็นวุ้น แล้วใส่น้ำเชื่อมหรือน้ำตาลกรวดลงไป ใช้รับประทานทั้งเนื้อและน้ำ วันละ 3 ครั้ง (ผล) หรือจะใช้เปลือกหุ้มเมล็ดที่พองตัว (มีรสจืดเย็น) นำมาปรุงกับน้ำตาลทรายแดงหรือชะเอมเทศ ใช้รับประทานแก้อาการร้อนในกระหายน้ำก็ได้ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ทำให้ใจคอชุ่มชื่น และช่วยขับเสมหะ (เปลือกหุ้มเมล็ด) ส่วนเมล็ดก็ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้เช่นกัน (เมล็ด) รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ราก)
  10. เมล็ดใช้เป็นยารักษาโรคคออักเสบ (เมล็ด)
  11. ช่วยแก้เจ็บคอ แก้ไข้ ด้วยการใช้ลูกสำรองประมาณ 10-20 ลูก นำมาต้มกับชะเอมจีนให้พอหวานจนได้น้ำยาที่เข้มข้น นำมาใช้จิบบ่อย ๆ จะช่วยแก้ไข้เจ็บคอได้เป็นอย่างดี (ผล)
  12. ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด (ผล)
  13. ช่วยแก้โลหิตกำเดา (ผล)
  14. ช่วยแก้อาการปวดฟัน (ผล)
  15. ผลมีรสจืด ขุ่นเล็กน้อย เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอดและลำไส้ใหญ่ ใช้เป็นยาแก้ปอดร้อน ช่วยทำให้ปอดชุ่มชื่น (ผล)
  16. ช่วยแก้อาการแสบร้อนอวัยวะภายในร่างกายหรือธาตุไฟแทรกซึมอยู่ในกระบังลมทั้งสาม (ผล)
  17. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้น, ราก, ผลและเมล็ด)
  18. ช่วยแก้อาการท้องผูก ลดอาการท้องผูก (ผล, เมล็ด) ผลและเมล็ดมีฤทธิ์เป็นยาระบาย (ผลและเมล็ด)
  19. ใบ้ใช้เป็นยาแก้พยาธิ (ใบ)
  20. ช่วยแก้กามโรค (แก่นต้น)
  21. ช่วยแก้ริดสีดวงทวารมีเลือด (ผล)
  22. แก่นต้นช่วยแก้โรคเรื้อน (แก่นต้น)
  23. ช่วยแก้พยาธิผิวหนัง (ราก)
  24. ช่วยแก้พิษ (ผล)
  25. ในประเทศอินเดียมีรายงานการใช้สมุนไพรสำรองเพื่อการรักษาอาการอักเสบ แก้ไข้ และขับเสมหะ ส่วนในประเทศจีนจะใช้สำรองร่วมกับชะเอมนำมาจิบบ่อย ๆ เพื่อช่วยแก้อาการเจ็บคอ ลดอาหารปวด และบำรุงไต

หมายเหตุ : การใช้ผลตาม [2] ให้ใช้ผลแห้งครั้งละประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ผลประมาณ 2-3 ผล นำมาชงกับน้ำเป็นชาดื่ม

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของลูกสำรอง

  • ในลูกสำรองพบว่ามีสาร Glucorine 15%, Pentose 24% และพบสาร Bassorin เป็นต้น
  • ลูกสำรอง ประกอบไปด้วย ใยอาหาร 64.12-76.45%, ความชื้น 15.31-16.86%, เถ้า 5.84-27.9%, โปรตีน 3.75-9.5%, ไขมัน 0.41-9.5% นอกจากนี้ยังมีความหวาน 3 บริกซ์ และให้พลังงาน 4,175.24 แคลอรีต่อ 100 กรัม
  • ใยอาหารที่พบในลูกสำรอง ส่วนใหญ่เป็นคาร์โบไฮเดรตมากถึง 62%, โปรตีน 3.8%, เถ้า 8.4% ซึ่งคาร์โบไฮเดรตที่พบส่วนใหญ่แล้วจะเป็นน้ำตาลโมโนแซกคาไรด์ ได้แก่ Arabinose, Galactose, Glucose, Mannose, Rhamnose และ Xylose
  • เมื่อนำสารสกัดที่ได้จากผลในความเข้มข้น 25% มาฉีดให้สุนัขหรือแมวทดลองกิน พบว่ามีฤทธิ์ทำให้ความดันของสัตว์ทดลองลดลง
  • เมื่อนำน้ำที่แช่กับเมล็ดมาให้กระต่ายทดลองกิน พบว่าจะทำให้ลำไส้ใหญ่ของกระต่ายเกิดการขยายตัว และมีอาการถ่ายท้อง หรือเมื่อนำเนื้อในผลมาให้สุนัขทดลองกิน ก็พบว่ามีฤทธิ์ในการกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้มีการบีบตัวมากขึ้น
  • พืชในวงศ์ STERCULIACEAE สามารถนำไปใช้เป็น bulk-forming (ยาระบาย) ได้ โดย Srivastava GS และคณะ ได้ทำการศึกษาการใช้พืชในวงศ์นี้เดี่ยว ๆ ในขนาด 10 กรัม มาใช้กับผู้ป่วยที่ท้องผูกจำนวน 50 ราย เป็นระยะเวลา 1 เดือน พบว่าผู้ป่วยหายจากอาการท้องผูกจำนวน 47 คน
  • เปลือกผลมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะของสัตว์ทดลอง
  • จากการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน พิษกึ่งเรื้อรัง และฤทธิ์การก่อกลายพันธุ์ พบว่าสมุนไพรชนิดนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ซึ่งอาหารเสริมจากสำรองจะมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีร่างกายเป็นปกติ แต่ไม่แนะนำสำหรับเด็ก ผู้เป็นภูมิแพ้ และสตรีมีครรภ์ เพราะบุคคลเหล่านี้มีภูมิที่ไว ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายขึ้น และการรับประทานอาหารเสริมจากสมุนไพรชนิดนี้ (ชนิดแคปซูล) ควรรับประทาน 7 วัน แล้วเว้นไปอีก 7 วัน เนื่องจากในปริมาณดังกล่าวสมุนไพรนี้จะมีฤทธิ์ต่อเนื่องไป 7 วัน (ฉันทรา พูนศิริ นักวิชาการฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว.)

หมายเหตุ : สำรองหรือพุงทะลายในวงศ์เดียวกันยังมีอีกสองชนิด ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sterculia lychnophorum Hance มีลักษณะของลำต้นคล้ายกัน แต่ผลจะเป็นสีแดง มีสรรพคุณทางยาที่ใกล้เคียงกัน สามารถใช้แทนกันได้ และอีกชนิดหนึ่งพบได้ในไทย อยู่ในวงศ์เดียวกันแต่ต่างสกุลกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scaphium scaphigerum (G.Don) Guib. & Planch มีลักษณะและสรรพคุณที่ใกล้เคียงกัน นำมาใช้ทดแทนกันได้เช่นกัน และพันธุ์ไม้ทั้งสองชนิดนี้ยังจัดเป็นไม้หวงห้ามอีกด้วย โดยสกุล Sterculia เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ส่วนสกุล Scaphuim จะเป็นไม้หวงห้ามประเภท ข.

ประโยชน์ของสำรอง

  1. เมื่อนำผลมาแช่ในน้ำ เนื้อบาง ๆ ที่หุ้มเมล็ดอยู่จะดูดน้ำและพองตัวออกมา มีลักษณะเป็นแผ่นวุ้น เมื่อนำมาแยกวุ้นออกจากเมล็ด เปลือก และเส้นใย จะสามารถนำแผ่นวุ้นดังกล่าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น น้ำพริก ลาบ ยำ แกงจืด (ใช้แทนสาหร่าย) ใช้รับประทานเป็นขนมหวาน ใช้รับประทานกับน้ำกะทิ หรือใช้แทนรังนก หรือใช้ทำเป็นสำรองลอยแก้ว หรือน้ำสำรองพร้อมดื่มที่บรรจุในกระป๋อง หรือทำเป็นสำรองผง เป็นต้น
  2. คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อผลสำรองประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรต 68.59%, โปรตีน 8.45%, ไขมัน 0.11%, ใยอาหาร 3.97%, เถ้า 8.01%, แคลเซียม 0.25%, ฟอสฟอรัส 0.20%, ธาตุเหล็ก 0.007%, โซเดียม 0.12%, โพแทสเซียม 0.14% (ผลวิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย)
  3. ลูกสำรองเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่ใส่ใจสุขภาพและรูปร่าง เนื่องจากวุ้นจากเนื้อของผลแก่ "มีส่วน" ช่วยในการลดน้ำหนักได้ เพราะมีเส้นใยอาหารมาก เมื่อรับประทานเข้าไปจะช่วยทำให้อิ่มท้องได้นาน ทำให้ไม่รู้สึกหิว ส่งผลให้รับประทานอาหารอื่น ๆ ได้น้อยลง และวุ้นยังมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำ ช่วยดูดซับไขมัน น้ำตาล สารต่าง ๆ (รวมถึงสารที่มีประโยชน์อื่น ๆ อย่างเช่น วิตามินและเกลือแร่ไปด้วย) มันจึงมีส่วนช่วยชะลอการดำเนินของโรคเบาหวานและโรคไขมันในเลือดสูง และช่วยลดอาการท้องผูกได้ (เพราะเนื้อวุ้นจะช่วยทำให้อุจจาระนิ่ม ช่วยเพิ่มปริมาณของใยอาหาร ทำให้มีการบีบรูดของลำไส้เพื่อขับเป็นอุจจาระได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ขับถ่ายคล่อง) อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร ช่วยลดคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตได้อีกด้วย โดยให้รับประทานในช่วงก่อนนอน จะช่วยในการขับถ่ายตอนเช้า กากใยที่รับประทานเข้าไปจะไปช่วยชะล้างไขมันที่สะสมอยู่ในลำไส้ ทำให้ลำไส้ใหญ่สะอาดขึ้น ช่วยลดสารพิษตกค้าง แต่หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นได้ พลอยทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา จุดนี้ขอให้ตระหนักไว้ด้วยครับ
  4. นอกจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำดื่มสมุนไพรแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสำรองที่อยู่ในรูปของแคปซูลอีกด้วย โดยมีสรรพคุณช่วยต้านอนุมูลอิสระและเสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยบำรุงตับ และเป็นยาแก้ร้อนใน
  5. นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ได้นำสารเมือกจากลูกสำรองไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ได้แก่ การนำไปใช้เป็นสารช่วยในการแตกกระจายตัวในยาเม็ด เมื่อเทียบกับสตาร์ชข้าวโพด ก็พบว่าการแตกกระจายตัวของยาเม็ดที่มีสารเมือกสำรองเป็นสารช่วยแตกกระจายตัว จะมีอัตราเร็วในการดูดซับน้ำสูงกว่า และเม็ดยาจะแตกกระจายเร็วกว่าการใช้สตาร์ชข้าวโพดที่ระดับความเข้มข้นเดียวกัน แลกเนื่องจากคุณสมบัติในการอุ้มน้ำของสารเมือกนี้เอง จึงมีการนำสารเมือกนี้ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก เพื่อช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และยังนำไปใช้ในไส้กรอกแฟรงค์เฟอร์เตอร์ เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำจากการใช้ความร้อนกับไส้กรอกมากที่สุด ซึ่งจากการทดสอบทางประสาทสัมผัสพบว่าจะให้ค่าความแน่นเนื้อและค่าความยืดหยุ่นมาก

น้ำสำรองลดความอ้วนได้จริงหรือ ?

  • ในปัจจุบัน "น้ำสำรอง" กำลังเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มผู้ที่ต้องการจะลดความอ้วน โดยน้ำสำรองดังกล่าวนั้นได้บรรยายสรรพคุณไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การช่วยลดความอ้วน ช่วยกำจัดไขมันให้ออกมาจากร่างกาย ล้างไขมันในลำไส้ ด้วยการดูดซับไขมันเอาไว้แล้วอุ้มไปทิ้งพร้อมกับขับถ่าย เป็นยาระบาย แก้ร้อนในกระหายน้ำ ฯลฯ ซึ่งจากคำบอกเล่าแบบปากต่อปากถึง "สรรพคุณของน้ำสำรอง" ทำให้น้ำดื่มชนิดนี้กลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมถึงขั้นติด 1 ใน 10 ไปเลยก็ว่าได้
  • จากข้อมูลทางเภสัชวิทยาเบื้องต้นที่กล่าวไป เราจะเห็นได้ว่าสารอาหารในลูกสำรอง แทบจะไม่มีสารตัวไหนที่สามารถช่วยลดความอ้วนได้เลย แต่ที่คนทั่วไปเข้าใจว่ามันช่วยลดความอ้วนได้ ก็น่าจะเกิดจากใยอาหารในลูกสำรองที่เป็นใยอาหารที่ละลายน้ำ มีสารเมือกและมิวซิเลจสูง ซึ่งใยอาหารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการพองตัวได้ดี เมื่อสัมผัสกับน้ำจะละลาย เกิดเป็นสารข้นหนืดที่สามารถช่วยเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ได้มากขึ้น มีผลทำให้อาหารเคลื่อนตัวได้ช้าลงและอยู่ในระบบทางเดินอาหารนานขึ้น จึงส่งผลไปรบกวนการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ทำให้ไปชะลอการดูดซึมไขมันและน้ำตาลได้ดีนั่นเอง และหากรับประทานมากเกินไปหรือรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ร่างกายรับสารอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุบางชนิดลดลงได้
  • หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องการลดความอ้วน นอกจากคุณจะเลือกรับประทานเครื่องดื่มจากสมุนไพรแล้ว ก็ควรจะควบคุมอาหารเพื่อลดพลังงานจากอาหารที่รับประทานเข้าไป และเร่งการใช้พลังงานหรือเผาผลาญพลังงานของร่างกายให้มากขึ้นด้วยการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย ก็จะช่วยทำให้คุณสามารถลดน้ำหนักได้ตามที่หวังไว้[5]
  • โทษของน้ำสำรอง ยังไม่พบว่ามีรายงานเรื่องความเป็นพิษ แต่สิ่งที่ควรจะระวังก็คือ การดื่มน้ำสำรองที่มีจำหน่ายในท้องตลาดซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณมาก อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ และการดื่มน้ำสำรองแทนการรับประทานอาหาร ก็อาจจะทำให้ขาดสารอาหารได้

วิธีทำน้ำสำรอง

  1. ให้นำลูกสำรองไปล้างน้ำเพื่อเอาเศษผงที่ติดมาออกให้มากที่สุด แล้วนำไปแช่ในน้ำทิ้งไว้ประมาณ 4-5 ชั่วโมง (พยายามกดให้ลูกสำรองจมน้ำเข้าไว้ เพื่อจะได้พองออกมามากที่สุด)
  2. เมื่อลูกสำรองพองออกแล้วจะเห็นเป็นวุ้น ๆ ลอยอยู่ ก็ให้เราคัดเอาเมล็ดออก (น้ำวุ้นที่ได้จะยังมีเปลือกปนอยู่)
  3. ให้นำวุ้นที่ได้มาใส่ในตะแกรงถี่ ๆ แล้วเปิดน้ำไล่น้ำเก่าออกจนหมดกลิ่น เปิดจนน้ำเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีใส
  4. ให้ตักเอาวุ้นมาใส่ผ้ากรอง แล้วรวบผ้าบีบรูดเอากากออก เก็บเอาเฉพาะเนื้อวุ้นไว้ (ให้ตักวุ้นใส่ผ้ากรองทีละน้อยพอที่จะรูดออกได้)
  5. นำวุ้นที่ได้มาเติมแล้วเอาไปต้ม ระหว่างต้มก็คอยคนอย่าให้เนื้อวุ้นติดก้นหม้อด้วย และให้ใส่น้ำตาลทรายหรือน้ำหญ้าหวานตามแต่ต้องการเป็นอันเสร็จ

หมายเหตุ : หากเพิ่งหัดทำให้ทำทีละน้อย ๆ เพราะลูกสำรองที่แช่น้ำแล้วจะพองออกมาเยอะมาก และน้ำสำรองที่ได้สามารถเก็บไว้ในช่องแช่แข็งได้นาน โดยช่วงเวลาที่เหมาะแก่การรับประทาน จากข้อมูลระบุไว้ว่า ช่วง 03.00-05.00 ช่วยบำรุงปอด, 05.00-07.00 ช่วยบำรุงลำไส้ใหญ่ให้บริหาร, 07.00-09.00 ช่วยรักษาและเคลือบกระเพาะอาหาร, 09.00-11.00 ช่วยดูดซับไขมันในลำไส้และในกระเพาะอาหาร ลดไขมันหน้าท้องได้ดี, ช่วงบ่ายถึงเย็น ช่วยบำรุงไต, ช่วงหลังเวลา 19.00 หากดื่มคู่กับน้ำดอกคำฝอย จะช่วยลดไขมันในเลือด และในช่วงก่อนเข้านอน หากรับประทานช่วงนี้จะช่วยในการขับถ่ายได้ดีในตอนเช้า (ที่มา : กินลืมป่วย)

 

คำสำคัญ : สำรอง

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). สำรอง. สืบค้น 28 มีนาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=1751&code_db=610010&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1751&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

มะปราง

มะปราง

มะปราง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย ลาว พม่า และมาเลเซีย จัดเป็นไม้ผลที่มีทรงของต้นค่อนข้างแหลมถึงทรงกระบอก มีรากแก้วที่แข็งแรง มีกิ่งก้านสาขาค่อนข้างทึบ ลำต้นสูงประมาณ 15-30 เมตร ลักษณะของใบมะปรางจะคล้ายใบมะม่วงแต่มีขนาดเล็กกว่า และใบเป็นใบเรียวยาว มีสีเขียว ขอบใบเรียบ แผ่นใบเหนียว มีเส้นใบเห็นเด่นชัด ใบอ่อนมีสีม่วงแดง ยาวประมาณ 14 เซนติเมตร กว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร ส่วนดอกมะปราง จะออกดอกเป็นช่อ ออกบริเวณปลายกิ่งแขนง ดอกเมื่อบานจะมีสีเหลือง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ และช่อดอกจะยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร

เผยแพร่เมื่อ 13-07-2020 ผู้เช้าชม 11,053

ฟักเขียว

ฟักเขียว

ฟักเขียว จัดเป็นพืชล้มลุกจำพวกไม้เถาเช่นเดียวกับบวบ มะระ หรือแตงชนิดอื่น ๆ มีถิ่นกำเนิดไม่แน่นอนระหว่างทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา เพาะปลูกกันมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ ลักษณะของผลจะเป็นรูปทรงกระบอกปลายมน มีสีเขียวแก่จะเรียกว่า "ฟัก" ถ้าเป็นพันธุ์เล็กผิวมีสีเขียวอ่อน ๆ เราจะเรียกว่า "แฟง" หรือ "ฟักแฟง" (ภาพซ้าย) แต่ถ้าเป็นพันธุ์ที่ลักษณะของผลค่อนข้างกลมสีเขียวแก่ ๆ จะเรียกว่า "ฟักหอม" (ภาพขวา) หรือถ้าเป็นพันธุ์ที่รสขมเราจะเรียกว่า "ฟักขม" เป็นต้น 

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 8,062

กระเบียน

กระเบียน

ต้นกระเบียน จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เรือนยอดค่อนข้างเล็ก ไม่เป็นรูปทรง เปลือกต้นเป็นสีเทาเข้มแกมน้ำตาลหรือเป็นสีน้ำตาลหม่น ล่อนออกเป็นแผ่นบางๆ กิ่งก้านแข็งแรงหรืออาจมีหนามตรงออกเป็นคู่ที่ข้อ มักขึ้นเป็นกลุ่มหรือขึ้นประปรายในป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบเป็นรูปไข่กลับ กลม หรือรูปรี ปลายใบมนหรือแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ โคนใบสอบเรียวไปจนถึงก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ท้องใบมีขนนุ่ม ก้านใบสั้นมาก มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบเป็นรูปสามเหลี่ยม 1 คู่ อยู่ตรงข้ามกัน

เผยแพร่เมื่อ 09-07-2020 ผู้เช้าชม 4,607

รากสามสิบ

รากสามสิบ

รากสามสิบ จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็งเลื้อยพันต้นไม้อื่นด้วยหนาม สามารถเลื้อยปีนป่ายต้นไม้อื่นขึ้นไปได้ แตกแขนงเป็นเถาห่างๆ ลำต้นเป็นสีเขียวหรือสีขาวแกมเหลือง เถามีขนาดเล็กเรียว กลม เรียบ ลื่น และเป็นมัน เถาอ่อนเป็นเหลี่ยม ตามข้อเถามีหนามแหลม หนามมีลักษณะโค้งกลับ  บริเวณข้อมีกิ่งแตกแขนงแบบรอบข้อ และกิ่งนี้จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวลักษณะแบนเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม ทำหน้าที่แทนใบ มีเหง้าและรากอยู่ใต้ดิน ออกเป็นกระจุกคล้ายกระสวย ลักษณะของรากออกเป็นพวงคล้ายรากกระชาย ลักษณะอวบน้ำ เป็นเส้นกลมยาว มีขนาดโตกว่าเถามาก

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 6,173

ผักปลาบใบแคบ

ผักปลาบใบแคบ

ลักษณะทั่วไป  เป็นพืชล้มลุก สามารถเจริญเติบโตโดยอยู่ข้ามปีได้ มีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ลำต้นกลม เรียบหรือมีขนเล็กน้อย อวบน้ำ จะชูส่วนปลายยอด แตกแขนงบริเวณโคนต้น รากฝอยแตกออกตามข้อของลำต้น  ใบเป็นใบเดี่ยวออกจากลำต้นแบบสลับ ใบรูปร่างยาวรีรูปหยก ปลายใบแหลมไม่มีก้านใบ ฐานใบเรียวและแผ่ออกเป็นกาบห่อหุ้มลำต้น ใบกว้าง 1-2 ซม. ยาว 4-7 ซม.  ดอกออกเป็นช่อชนิดไซม์ บนก้านช่อดอกจะมีใบประดับดอก สีเขียวคล้ายใบเป็นแผ่นกลม หรือรูปหัวใจห่อหุ้มดอกเอาไว้ ช่อดอกแตกออกเป็น 2 กิ่ง กิ่งบนมีดอกย่อย 1-3 ดอก ก้านดอกยาว กิ่งล่างมีดอกย่อย 2-5ดอก ก้านดอกสั้น ดอกย่อยแต่ละดอกจะมีกลีบดอกด้านล่าง มีเกสรตัวผู้ 6 อัน เป็นหมัน 4 อัน เกสรตัวเมียมีท่อรังไข่ยาวสีขาว

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 4,983

เตยหอม

เตยหอม

เตยหอม (Pandanus Palm, Fragrant Pandan, Pandom Wangi) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้น ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ชาวจีนเรียก พังลั้ง และชาวมลายูเรียก ปาแนะวองิง หรือหวานข้าวไหม้ เป็นต้น ซึ่งพืชสมุนไพรอย่างต้นเตยหอมนั้นในใบของต้นจะมีกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยอยู่ โดยสีเขียวที่ได้จากใบเตยหอมนั้นจะเป็นสีของคลอโรฟิลล์ นำมาใช้แต่งสีขนมได้ สามารถใช้ได้ทั้งกับใบสดหรือใบแห้ง ซึ่งปัจจุบันมีการขายในรูปใบแช่แข็งเพื่อให้ประเทศที่ไม่สามารถปลูกได้ได้ใช้ปรุงแต่งกลิ่นในอาหาร

เผยแพร่เมื่อ 08-05-2020 ผู้เช้าชม 4,724

เทียนกิ่ง

เทียนกิ่ง

เทียนกิ่ง (Henna Tree, Mignonette Tree, Sinnamomo, Egyptian Privet) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้น ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น เทียนป้อม, เทียนต้น, เทียนย้อม หรือเทียนย้อมมือ เป็นต้น ซึ่งต้นเทียนกิ่งนั้นเป็นพืชพรรณไม้ของต่างประเทศ โดยมีแหล่งกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือของประเทศแอฟริกา, ออสเตรเลีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศที่สามารถเพาะปลูกต้นเทียนกิ่งนี้ได้ดีคือ อียิปต์, อินเดีย และซูดาน

เผยแพร่เมื่อ 08-05-2020 ผู้เช้าชม 4,293

ฟักข้าว

ฟักข้าว

ฟักข้าว จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก เป็นไม้เถาเลื้อย อายุยิ่งมากเถายิ่งใหญ่ มีมือเกาะคล้ายกับตำลึง ชอบแสงแดด เลื้อยได้ทั้งบนพื้น บนต้นไม้ บนรั้ว บนหลังคา (ขอให้มีที่เกาะ) ใบเป็นใบเดี่ยว ใบเป็นรูปหัวใจหรือรูปไข่ คล้ายกับใบโพธิ์ ความกว้างและความยาวของใบมีขนาดเท่ากัน ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉก ดอกจะออกตรงบริเวณข้อต่อระหว่างใบหรือตามซอกใบ โดยจะออกดอกข้อละหนึ่งดอก ลักษณะของดอกฟักข้าวจะคล้ายกับดอกตำลึง กลีบดอกมีสีขาวอมเหลือง หรือขาวแกมเหลือง 

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 5,084

ตะขบฝรั่ง

ตะขบฝรั่ง

ตะขบฝรั่งเป็นพืชผลไม้ตระกูลเบอรี่ของไทยที่อยู่ใกล้ตัว หาได้ง่าย และสามารถพบเห็นได้ทั่วไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ถือเป็นต้นไม้โตเร็วและให้ร่มเงา กิ่งก้านแผ่ออกกว้างส่งผลให้บริเวณใต้ต้นตะขบนั้นจะเป็นที่บังแดดให้ความร่มรื่นในยามแดดจัดได้ดี และยังถือได้อีกว่าเป็นผลไม้ที่มีใยอาหารสูงชนิดหนึ่งโดยใน 100 กรัมหรือประมาณ 25 ผล จะมีใยอาหารมากกว่า 6 กรัม เมื่อเทียบกับปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันอยู่ที่ 25 กรัม ดังนั้นการกินตะขบ 1 ถ้วยจะเท่ากับได้ปริมาณ 1 ใน 4 ของใยอาหารที่แนะนำเลยทีเดียว

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 2,123

ถั่วพู

ถั่วพู

ถั่วพู (Winged Bean, Manila Pea, Goa Bean, Four-angled Bean) เป็นพืชจำพวกเถาที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ถั่วพูตะขาบ, ถั่วพูจีน, หรือถั่วพูใหญ่ เป็นต้น ซึ่งถั่วพูนั้นนับเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยนิยมนำฝักอ่อนมาบริโภคกันมากเลยทีเดียว เป็นพืชในเขตร้อน มีแหล่งกำเนิดอยู่ในไทย, พม่า, ลาว, ฟิลิปปินส์, อินเดีย, และปาปัวนิวกินี และขณะนี้ในรัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกาก็ได้นำถั่วพูนี้ไปปลูกด้วย

เผยแพร่เมื่อ 08-05-2020 ผู้เช้าชม 1,697