สายน้ำผึ้ง

สายน้ำผึ้ง

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้ชม 3,390

[16.4258401, 99.2157273, สายน้ำผึ้ง]

สายน้ำผึ้ง ชื่อสามัญ Japanese Honeysuckle, Honeysuckle, Lonicera, Woodbine

สายน้ำผึ้ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Lonicera japonica Thunb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lonicera brachypoda Siebold, Lonicera japonica var. japonica) จัดอยู่ในวงศ์สายน้ำผึ้ง (CAPRIFOLIACEAE)

สมุนไพรสายน้ำผึ้ง มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า กิมงิ่งฮวย หยิ่มตังติ้ง (จีนแต้จิ๋ว), เหยิ่นตงเถิง จินหยิงฮัว จินอิ๋นฮวา ซวงฮัว (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของสายน้ำผึ้ง

  • ต้นสายน้ำผึ้ง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย เช่น ประเทศไทย จีน ญี่ปุ่น จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพัน มีอายุหลายปี มีความยาวประมาณ 9 เมตร เถามีลักษณะกลมเป็นสีน้ำตาล ส่วนเนื้อในเถากลวง แตกกิ่งก้านสาขาออกมากมายเป็นทรงพุ่ม ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ ตอนกิ่ง และเพาะเมล็ด (แต่การปักชำเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด) โดยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ดีสวยในดินร่วนซุยและมีความชื้นปานกลาง มักพบขึ้นมากทางป่าแถบภูเขา
  • ใบสายน้ำผึ้ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ก้านใบยาวประมาณ 4-10 มิลลิเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ รูปไข่ รูปรี หรือรูปมนรี ปลายใบแหลมมีหางสั้น โคนใบมน หรือตัด หรือเว้าเข้าหากันคล้ายรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8.5 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเทาอมเขียว เนื้อใบอ่อนนุ่มมีขนขึ้นปกคุลมเล็กน้อย
  • ดอกสายน้ำผึ้ง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อละ 2 ดอก ก้านใบชูช่อสั้นมีขนนุ่ม ลักษณะของดอกเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ส่วนปลายแยกเป็นรูปปาก กลีบดอกเป็นสีครีม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยแหลมยาว ปลายแยกเป็นปาก 2 ปาก ล่างและบน ปากล่างมี 1 กลีบ ส่วนปากบน 4 กลีบ ดอกมีใบประดับคล้ายใบ 1 คู่ ส่วนนอกกลีบจะมีขนปกคลุมอยู่ กลีบรองดอกติดกัน ปลายแยกเป็นรูปสามเหลี่ยม ใจกลางดอกมีเกสรอยู่ 5 อันยื่นออกมา ดอกตูมหรือดอกที่เริ่มบานจะเป็นสีขาว พอต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มหรือสีเหลืองทองประมาณ 2-3 วัน สามารถออกดอกได้ตลอดปี แต่จะออกดอกมากในช่วงฤดูฝน และดอกจะมีกลิ่นหอมในช่วงเย็นใกล้มืดจนถึงเช้าก่อนแดดออก
  • ผลสายน้ำผึ้ง ผลเป็นผลสด ลักษณะเป็นรูปทรงกลม มีขนาดประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ผิวผลเกลี้ยง เรียบเป็นมันเงา ผลเมื่อสุกจะเป็นสีดำ

สรรพคุณของสายน้ำผึ้ง

  1. ดอกมีรสหวานเย็น ใช้ดอกสดหรือดอกแห้ง นำมาชงดื่มแทนชา จะมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้กระปรี้กระเปร่าและอายุยืน (ดอก)
  2. ดอกนำมาคั้นรับประทานเป็นยาช่วยเจริญอาหาร (ดอกตูม)
  3. ดอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ความดันโลหิตสูง (ดอก)
  4. ช่วยแก้อาการมึนเมา (ทั้งต้น)
  5. เถามีรสหวานชุ่ม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอดและหัวใจ ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยทะลวงลมปราณ รักษาไข้อันเกิดจากการกระทบจากปัจจัยภายนอก (เถา)
  6. ดอกมีรสชุ่มและขมเล็กน้อย เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะอาหาร ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้พิษ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ไข้หวัดใหญ่ มีไข้ตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว (ดอก)
  7. ใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด แก้คอแห้ง ให้ใช้ใบหรือเถา หรือดอกแห้ง 30 กรัม ถ้าเป็นสดให้ใช้ 90 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินบ่อย ๆ (ใบหรือเถา,ดอก) ส่วนตำรับยาแก้ไข้หวัดอีกวิธี ระบุให้ใช้ดอกสายน้ำผึ้ง 15 กรัม, โหล่วกิง 20 กรัม, เหลี่ยงเคี้ยว 15 กรัม, ใบไผ่เขียว 15 กรัม, เต่าซี่แห้ง 10 กรัม, เก็งสุ่ย 6 กรัม, หงู่ผั่งจี้ 5 กรัม, กิ๊กแก้ 5 กรัม, ใบสะระแหน่ 3 กรัม, และชะเอม 3 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก) (บางข้อมูลระบุว่าดอกใช้ร่วมกับใบหม่อนเป็นยาแก้ไอ และรักษาหอบหืดในระยะแรก)
  8. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ (ทั้งต้น)
  9. ช่วยแก้เหงือกอักเสบ (ต้น)
  10. ช่วยรักษาปากนกกระจอก (ทั้งต้น)
  11. บางข้อมูลระบุว่าดอกมีสรรพคุณเป็นยารักษาแผลในปาก (ดอก)
  12. ดอกใช้เป็นยารักษาระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ (ดอก)
  13. ช่วยแก้เต้านมอักเสบ (ดอก)
  14. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคลำไส้ (ทั้งต้น)
  15. ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร (ทั้งต้น)
  16. เถาสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ท้องเสีย (บิดไม่มีตัว) ท้องร่วง แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด และลำไส้อักเสบ โดยมีการทดลองกับผู้ป่วยแล้วและพบว่ามีฤทธิ์แก้ท้องเสีย (เถา,เถาหรือใบ,ทั้งต้น) ส่วนดอกตูมก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเสีย และแก้ลำไส้อักเสบเช่นกัน (ดอกตูมจะมีสรรพคุณทางยาที่ดีกว่าดอกบาน) (ดอก) ตำรายาแก้ท้องร่วง ระบุให้ใช้เถาสด 100 กรัม นำมาสับเป็นท่อนเล็ก ๆ ใส่ลงในหม้อเคลือบ แล้วเติมน้ำลงไป 200 มิลลิลิตร แช่ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง แล้วต้มด้วยไฟอ่อน ๆ 3 ชั่วโมง แล้วเติมน้ำให้ได้ 100 มิลลิลิตร กรองเอาน้ำมากินวันละ 1.6-2.4 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยให้เพิ่มหรือลดขนาดของยาไปตามอาการที่เป็น แต่โดยทั่วไปให้เริ่มต้นกินครั้งละ 20 มิลลิลิตร ทุก ๆ 4 ชั่วโมง เมื่ออาการดีขึ้นก็ให้กินครั้งละ 20 มิลลิลิตร ทุก ๆ 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นถ้าอาการท้องร่วงหายไปแล้วก็ให้รับประทานต่อไปอีก 2 วัน (เถา)
  17. แก้บิดติดเชื้อถ่ายเป็นเลือด บิดมูกเลือด ให้ใช้เถาแห้ง 10-30 กรัม (ถ้าเป็นเถาสดให้ใช้ 20-60 กรัม) หรือดอกแห้ง 10-30 กรัม นำมาต้มเคี่ยวกับน้ำให้ข้น แล้วนำมากิน (เถา,ดอก,ทั้งต้น)
  18. ช่วยรักษาลำไส้ติดเชื้อ (ดอก)
  19. ตำรายาจีนจะใช้เถาสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะ (เถา,เถาหรือใบ) ส่วนดอกและทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (ดอก,ทั้งต้น)
  20. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ทั้งต้น) ส่วนดอกมีสรรพคุณช่วยรักษาริดสีดวงในลำไส้ (ดอก)
  21. ปากมดลูกอักเสบเป็นหนอง ให้ใช้ดอกสายน้ําผึ้งแห้ง 1,000 กรัม นำมาบดให้เป็นผง แล้วนำไปแช่กับเหล้าขาว 40 ดีกรี ในปริมาณ 1,500 ซีซี โดยให้แช่ทิ้งไว้ 2 วัน จากนั้นให้กรองเอาแต่เหล้าประมาณ 400 ซีซี ใช้ทาบริเวณปากมดลูก โดยให้ทาติดต่อกันประมาณ 7-12 วัน (ดอก)
  22. ช่วยรักษาไส้ติ่งอักเสบ (ดอก)
  23. ช่วยรักษาตับอักเสบ (ทั้งต้น) รักษาตับอักเสบชนิดเอ (เถาหรือใบ) รักษาโรคติดเชื้อในตับ (เถา)
  24. ช่วยรักษาโรคติดเชื้อบางชนิด (เถาหรือใบ)
  25. สำหรับผู้ที่เป็นงูสวัดที่ดูเหมือนแผลจะหายดีแล้ว แต่ยังมีพิษของโรคงูสวัดตกค้างในร่างกาย คือมีอาการปวดแสบปวดร้อนและบวม ให้ใช้ดอกสายน้ำผึ้ง 10 กรัม, ใบโด่ไม่รู้ล้ม 10 กรัม, ข้าวเย็นเหนือ 30 กรัม, และข้าวเย็นใต้ 30 กรัม (แบบแห้งทั้งหมด) นำมาต้มรวมกันในน้ำ 1 ลิตร จนเดือด ใช้ดื่มในขณะอุ่นครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น โดยให้ดื่มไปเรื่อย ๆ จะช่วยขับพิษของโรคงูสวัดที่ตกค้างในร่างกายออกได้ และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด (ดอก)
  26. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้แผลฝีต่างๆ แผลเปื่อย และโรคผิวหนังต่าง ๆ (เถาหรือใบ,ทั้งต้น)
  27. ส่วนดอกใช้ภายนอกรักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน พิษฝีหนอง เชื้อไวรัสบริเวณผิวหนัง (ดอกตูม) (บางข้อมูลระบุว่าดอกสามารถใช้รักษาอาการคันผิวหนังได้ โดยใช้ดอกนำมาตำพอกบริเวณที่มีอาการคัน และยังใช้ได้กับรอยแผลจากการถูกขีดข่วนหรือถูกมีดบาดได้ด้วย)
  28. ช่วยรักษาฝีฝักบัว (เถาหรือใบ)
  29. ดอกใช้เป็นยาแก้ฝีหนองอักเสบ ปวดบวม (ดอก)
  30. หากเมาเห็ด ให้ใช้กิ่งและใบอ่อนจำนวนพอสมควร นำมาล้างให้สะอาด ใช้เคี้ยวให้ละเอียดกินเป็นยา (กิ่ง,ใบ)
  31. ช่วยแก้อาการปวดเส้นปวดกระดูก (เถา) ปวดเมื่อยตามข้อ (ทั้งต้น)
  32. ช่วยแก้อาการปวดหลัง ปวดเมื่อยปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัวและแขนขา ด้วยการใช้ใบหรือเถา หรือดอกแห้งประมาณ 30 กรัม (ถ้าสดให้ใช้ประมาณ 90 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกินบ่อย ๆ (ดอก)
  33. ส่วนสรรพคุณของกิมหงึ่งฮวย (ดอกสายน้ําผึ้ง) ตามตำราการแพทย์แผนจีนระบุว่ากิมหงึ่งฮวย (ดอกสายน้ำผึ้ง) มีรสอมหวานและเย็น มีฤทธิ์ผ่อนคลายและกระจายความร้อน แก้หวัดอันเกิดจากการกระทบลมร้อน ช่วยขับพิษ แก้บิด ถ่ายบิดเป็นมูกเลือด แก้แผลฝี แผลเปื่อย บวม ส่วนกิมหงึ่งฮวยถ่าน จะมีสรรพคุณแก้ถ่ายบิดเป็นมูกเลือด แก้สตรีที่มีอาการตกเลือด อาเจียนเป็นเลือด และมีเลือดกำเดาไหล สำหรับขนาดที่ใช้ ให้ใช้ในขนาด 6-15 กรัม นำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม และห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเย็นพร่องของม้ามและกระเพาะอาหาร (ดอก)
  34. นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณอื่น ๆ ของสายน้ำผึ้งที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอีกเช่น ช่วยแก้อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ รักษาวัณโรคและอาการทางผิวหนังทีเกิดจากโรคซิฟิลิส รวมทั้งผื่นคันทีเกิดจากการติดเชื้อ ส่วนสารสกัดจากดอกยังมีสรรพคุณช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้อีกด้วย ส่วนก้านดอกจะใช้เป็นยารักษาอาการไขข้ออักเสบ และคางทูม นอกจากนี้ก้านและดอกยังสามารถนำมาใช้ผสมกันเพื่อรักษาอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและโรคนิวมอเนียได้ด้วย และจากการศึกษาวิจัยในประเทศจีนยังพบด้วยว่าสายน้ําผึ้งอาจมีสรรพคุณเป็นยารักษามะเร็งบางชนิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งทรวงอก อีกทั้งยังมีการนำไปทดลองใช้เพื่อรักษาเอดส์ด้วยเช่นกัน

หมายเหตุ : การใช้ดอกตาม [1] ให้ใช้ดอกแห้งหรือดอกสดนำมาชงดื่มแทนชา ส่วนการใช้ตาม [4] ถ้าเป็นดอกให้ใช้ดอกแห้งครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาตามต้องการ ถ้าใช้ภายนอก ให้นำมาต้มเอาน้ำล้างแผล หรือเอากากพอกแผลได้ตามต้องการ ส่วนเถาให้ใช้เถาแห้งครั้งละ 10-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาตามต้องการ ถ้าใช้ภายนอกให้นำมาต้มเอาน้ำใช้ล้างแผล หรือเอากากพอกแผลได้ตามต้องการ

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสายน้ำผึ้ง

  • ในดอกสายน้ำผึ้ง พบว่ามีสาร Luteolin-7-rhamnoglucoside, Luteolin, Lonicerin, Inositol, Saponin เป็นต้น ส่วนเถาพบสาร Loincerin, Loganin, Syringin, Luteolin-7-rhamnoglucoside เป็นต้น[4], ส่วนใบพบสาร Lonicerin และ Luteolin-7-rhamnoglucoside และผลมีสาร Cryptosanthin
  • เมื่อนำน้ำที่ต้มหรือแช่กับดอกสายน้ำผึ้ง มาให้กระต่ายทดลองกิน พบว่าน้ำดังกล่าว กับคอเลสเตอรอลในลำไส้กระต่ายเกิดปฏิกิริยาการรวมตัวทางเคมี ทำให้ลำไส้มีการดูดซึมคอเลสเตอรอลได้น้อยลง และยังช่วยทำให้คอเลสเตอรอลส่วนที่เหลือถูกขับถ่ายออกมาด้วย
  • จากการรักษาตับอักเสบชนิดเอ ด้วยการใช้เถาสด 60 กรัม เติมน้ำ 1,000 มิลลิลิตร แล้วต้มให้เหลือ 400 มิลลิลิตร ใช้แบ่งดื่มเช้าและเย็นเป็นระยะเวลา 15 นาที จากการรักษาผู้ป่วยจำนวน 22 ราย พบว่าการทำงานของตับเป็นปกติจำนวน 12 ราย ตับมีการทำงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนจำนวน 6 ราย และไม่ดีขึ้น 4 ราย
  • จากการรักษาบิดไม่มีตัวและลำไส้อักเสบ โดยทำการรักษา 2 วิธี คือ วิธีแรกใช้เถาสายน้ำผึ้งสด 100 กรัม นำมาสับเป็นท่อนเล็ก ๆ ใส่ลงไปในหม้อดินเคลือบ เติมน้ำ 200 มิลลิลิตร แช่ทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง แล้วต้มโดยใช้ไฟอ่อน 3 ชั่วโมง จากนั้นเติมน้ำ 100 มิลลิลิตร เสร็จแล้วกรองเอาแต่น้ำมากินวันละ 1.6-2.4 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว โดยให้เพิ่มหรือลดขนาดของยาตามอาการ โดยให้เริ่มกินในขนาด 20 มิลลิลิตร ทุก ๆ 4 ชั่วโมง เมื่ออาการดีขึ้นให้กินครั้งละ 20 มิลลิลิตร ทุก ๆ 6 ชั่วโมง เมื่ออาการท้องร่วงหายไป ให้กินต่อไปอีก 2 วัน ซึ่งจากการรักษาด้วยวิธีนี้กับผู้ป่วยจำนวน 150 ราย แบ่งเป็นบิดไม่มีตัว 60 ราย และเป็นลำไส้อักเสบ 90 ราย พบว่าได้ผลดีมากกับผู้ป่วยจำนวน 146 คน ส่วนอีก 4 รายไม่ได้ผล และโดยเฉลี่ยอาการไข้และท้องร่วงจะลดลงภายใน 2 วัน อาการปวดมวนหายไปภายใน 2.5วัน และอาการปวดท้องหายภายไปใน 3 วัน อุจจาระเหลวจะหายไปภายใน 4.4 วัน และไม่พบว่ามีอาการข้างเคียง ส่วนอีกวิธีทดลองโดยการใช้เถาสด 45 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น และในขณะเดียวกันก็ใช้เถาสด 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำใช้สวนทวารอีกวันละครั้ง แบ่งการรักษาเป็นช่วง ช่วงละ 7 วัน ผลการรักษาด้วยวิธีนี้พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มแรกจำนวน 167 ราย เมื่อรักษาเพียงช่วงแรกแล้วอาการหายไป 131 ราย และไม่ได้ผล 36 ราย โดยเฉลี่ยแล้วไข้ลดลงภายใน 2 วัน ถ่ายเป็นปกติภายใน 5.6 วัน อุจจาระหายเหลวภายใน 4.5 วัน และไม่พบเชื้อบิดในอุจจาระภายใน 4.9 วัน ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่สอง ซึ่งคนไข้เป็นบิดไม่มีตัวจำนวน 80 ราย พบว่ารักษาหายในช่วงแรกคิดเป็น 73.9% อาการไข้ลดลงภายใน 1.5 วัน ถ่ายเป็นปกติภายใน 5.5 วัน อุจจาระหายเหลวภายใน 4.6 วัน และไม่พบเชื้อบิดในอุจจาระภายใน 3.7 วัน
  • สาร Luteolin ที่ได้จากดอกมีฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ โดยทดลองกับลำไส้เล็กของกระต่ายที่อยู่นอกร่างกาย แต่จะมีฤทธิ์อ่อนกว่า Papaverine และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะอย่างอ่อนด้วย โดย Luteolin ที่ความเข้มข้น 1 : 2,000 จะทำให้ความแรงในการบีบตัวและอัตราการเต้นของหัวใจกบที่อยู่นอกร่างกายลดลงเล็กน้อย รวมทั้งยังทำให้ปริมาณของเลือดที่ฉีดออกมาในแต่ละครั้งลดลงด้วย แต่ถ้าใช้
  • Luteolin ที่ความเข้มข้น 1 : 5,000 จะทำให้ความแรงในการบีบตัวและอัตราการเต้นของหัวใจหนูตะเภาที่อยู่นอกร่างกายเพิ่มขึ้น เมื่อกรอก Luteolin ให้กับหนูขาวที่มีอายุ 25-28 วัน พบว่าต่อมน้ำนมฝ่อ ซึ่งผลนี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไต
  • น้ำที่ต้มได้จากดอกสายน้ำผึ้ง มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Stepto coccus, Staphelo coccus, Bacillus inuza, เชื้อไทฟอยด์ในลำไส้ และเชื้อวัณโรคได้ ซึ่งจากการทดลองดังกล่าวยังพบว่า น้ำที่ใช้แช่ดอกสายน้ําผึ้งจะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อมากกว่าน้ำที่ต้มกับดอกสายน้ำผึ้ง
  • สาร Luteolin ที่ความเข้มข้น 1 : 350,000 สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Bacillus subtilis และ Staphylococcus spp. ได้

ประโยชน์ของสายน้ำผึ้ง

  1. ดอกสายน้ําผึ้งจะมีเกสรยื่นยาวออกมา เด็ก ๆ จะนำมาเล่นด้วยการดึงเอาเกสรออกมาจากดอกแล้วปล่อยให้น้ำหวานหยดลงบนลิ้นเพื่อดูดความหวานหอมของดอกไม้ชนิดนี้ สายน้ำผึ้งจึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มและขนมหวานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไวน์ น้ำเชื่อม ไอศกรีม แยม หรือเยลลี่ ส่วนช่อดอกสดจะนำมาใช้แต่งหน้าขนมเค้กหรือขนมหวานเพื่อเพิ่มความสวยงามทำให้ดูน่ารับประทาน
  2. ชาวตะวันตกถือว่าสายน้ำผึ้งเป็นสัญลักษณ์ของความรักความผูกพัน ความสวยงาม และความอ่อนหวานไร้เดียงสา เชื่อว่ากลิ่นของสายน้ำผึ้งสามารถทำให้จิตใจร่าเริงเบิกบาน ขับไล่ความโศกเศร้าและความกลัวได้ ทำให้รู้สึกเป็นสุข อบอุ่น และปลอดภัย และด้วยรูปลักษณ์ของดอกที่ดูบอบบางน่าเอ็นดูและยังมีกลิ่นหอมหวานอันสดใส จึงทำให้ดอกน้ำผึ้งเป็นแรงบันดาลใจของกวีและศิลปินจำนวนมาก
  3. Dr. Edward Bach แพทย์ชาวอังกฤษ เชื่อว่าสายน้ำผึ้งเหมาะกับผู้ป่วยทางจิตที่มักจมอยู่กับอดีตและปฏิเสธชีวิที่จะอยู่กับปัจจุบัน เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เกิดจากการคิดถึงบ้าน เพราะสายน้ําผึ้งมีสรรพคุณช่วยปลอบประโลมจิตใจ ทำให้ปล่อยวางความเครียดหรือความวิตกกังวลที่คั่งค้างในใจ และหันมามีความสุขกับชีวิตในปัจจุบันได้ โดยเขาเชื่อว่าพลังจากดอกไม้ จะถ่ายทอดไปยังผู้ใช้และช่วยบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้
  4. ในด้านของความเป็นน้ำหอม หัวน้ำมันดอกสายน้ำผึ้งแท้ 100% ถือว่าหาได้ยากมาก ในปัจจุบันแทบไม่พบว่ามีการใช้หัวน้ำมันดอกสายน้ำผึ้งแท้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมหรือใช้ในทางสุคนธบำบัด (Aromatherapy) เลย แม้กระทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีขายอยู่ทั่วไปที่บอกว่าเป็นน้ำมันหอมสายน้ําผึ้งแท้ ความจริงแล้วก็มักจะผสมขึ้นมาจากหัวน้ำมันดอกไม้ชนิดอื่น ๆ ที่หาได้ง่ายกว่า เพื่อนำมาปรุงแต่งกลิ่นให้ได้ความหอมใกล้เคียงกับกลิ่นของดอกสายน้ำผึ้ง
  5. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป หรือปลูกให้ขึ้นพันกับต้นไม้หรือรั้วบ้าน เพราะเป็นพันธุ์ไม้หอมเลื้อยที่ดอกมีกลิ่นหอมและสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี และจากการทดลองให้กองอยู่กับพื้นและควบคุมขนาดทรงพุ่มอยู่ตลอดเวลา พบว่าสามารถให้ดอกได้ดีโดยไม่ต้องทำค้างให้เกาะ แต่ควรดูแลเรื่องน้ำและปุ๋ยมาเป็นอันดับแรก

คำสำคัญ : สายน้ำผึ้ง

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). สายน้ำผึ้ง. สืบค้น 10 มิถุนายน 2566, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=1792&code_db=610010&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1792&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

กระชาย

กระชาย

กระชายนั้นเป็นพืชล้มลุก เหง้าสั้น อวบน้ำ สามารถแตกรากและหน่อได้ดี รูปทรงกระบอก ปลายเรียว บริเวณผิวมีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีเหลืองมีกลิ่นหอม ส่วนใบนั้นเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ โคนใบมนแหลม ขอบเรียบ ส่วนดอกกระชายนั้นเป็นช่อเชิงลด โดยแต่ละดอกจะมีใบประดับอยู่ 2 ใบ สีขาวหรือชมพูอ่อน และผลของกระชายนั้นมักนิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร เพื่อเพิ่มรสชาติและคุณค่าให้แก่อาหารนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นแกงป่า หรือเมนูผัดต่างๆ แถมยังช่วยดับกลิ่นคาวเนื้อสัตว์ในอาหารได้ดีอีกด้วย

เผยแพร่เมื่อ 29-04-2020 ผู้เช้าชม 2,284

กะทกรก

กะทกรก

ต้นกะทกรกจัดเป็นไม้เถาเลื้อย มีอายุประมาณ 2-5 ปี มีมือสำหรับใช้ยึดเกาะ และมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทุกส่วน และทุกส่วนของลำต้นเมื่อนำมาขยี้จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และเจริญเติบโตได้ดีในที่ราบ มีใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหัว ปลายใบแหลม โคนใบเว้า ส่วนขอบใบเว้าเป็น 3 แฉก แผ่นใบมีขนสีน้ำตาลขนาดเล็กขึ้นทั้งสองด้าน และที่ขนมีน้ำยางเหนียว 

เผยแพร่เมื่อ 13-05-2020 ผู้เช้าชม 10,405

ข้าวเย็นเหนือ

ข้าวเย็นเหนือ

ข้าวเย็นเหนือ มักพบขึ้นตามป่าดงดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีใช้หัวฝังดิน เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนชุ่มชื้น ระบายน้ำได้ดีและมีอินทรียวัตถุ และเป็นไม้ที่เลี้ยงยากและหาดูได้ยาก โดยจัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นหรือเลื้อยไปตามพื้นดิน อาจเลื้อยได้ยาวถึง 5 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย

เผยแพร่เมื่อ 25-05-2020 ผู้เช้าชม 5,155

สะเดา

สะเดา

สะเดามีสรรพคุณบำรุงธาตุไฟ สร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย และแก้ไข้ อีกทั้งรสขมของสะเดายังช่วยเรียกน้ำย่อย และช่วยให้ขับน้ำดีตกลงสู่ลำไส้มากขึ้น ทำให้ร่างกายเกิดความอยากอาหาร ช่วยย่อยอาหาร ช่วยให้อุจจาระละเอียดขับถ่ายคล่อง และช่วยให้นอนหลับสบายอีกด้วย

เผยแพร่เมื่อ 20-02-2017 ผู้เช้าชม 1,308

พันงูขาว

พันงูขาว

ลักษณะทั่วไป   เป็นต้นวัชพืชล้มลุก ลำต้นตั้งตรง รากเป็นระบบรากแก้ว ทรงพุ่ม กิ่งอ่อนมีสีเขียวหรือสีแดง เป็นสี่เหลี่ยมมีขนสีขาว  ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ ฐานใบเรียว แหลมมากกว่าปลายใบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบบาง ดอก   ออกเป็นช่อชนิดสไปด์ ปลายขอด ช่อดอกยาว 10-30 ซม. ดอกย่อย มีสีเขียวติดอยู่บนก้านดอก  ดอกย่อยไม่มีก้านดอก มีกลีบเลี้ยงแข็ง 2 กลีบ เมื่อแก่จะกลายเป็นหนามแหลมติดบนผลมีเกสรตัวผู้ 5 อัน ก้านชูเกสรตัวผู้มีสีม่วงแดง  มีเกสรตัวเมีย 1 อันเป็นเส้นกลม มักจะออกดอกในฤดูร้อน

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 5,206

ผักแว่น

ผักแว่น

ผักแว่น จัดเป็นไม้น้ำล้มลุกจำพวกเฟิร์น มีลำต้นสูงได้ถึง 20 เซนติเมตร เจริญเติบโตในน้ำตื้นๆ มีลำต้นเป็นเหง้าเรียวยาวทอดเกาะเลื้อย และแตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ มีขนสีน้ำตาลอ่อนๆ ขึ้นปกคลุมและใบอยู่เหนือน้ำ โดยต้นอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีน้ำตาล ส่วนของรากสามารถเกาะติดและเจริญอยู่ได้ทั้งบนพื้นดินหรือเจริญอยู่ในน้ำก็ได้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เถา ไหล สปอร์ โดยผักแว่นมีเขตกระจายพันธุ์ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงประเทศญี่ปุ่น สามารถพบได้ทั่วไปตามหนองน้ำที่ชื้นแฉะหรือตามทุ่งนาในช่วงฤดูฝน

เผยแพร่เมื่อ 13-07-2020 ผู้เช้าชม 10,209

อ้อย

อ้อย

อ้อย จัดเป็นไม้ล้มลุก มักขึ้นเป็นกอ ๆ มีความสูงของลำต้นประมาณ 2-5 เมตร ลำต้นมีลักษณะแข็งแรงและเป็นมัน มีลำต้นคล้ายกับต้นอ้อยทั่วไป แต่จะมีสีม่วงแดงถึงสีดำ และมีไขสีขาวเคลือบลำต้นอยู่ ลำต้นมีลักษณะกลมยาว เห็นข้อปล้องอย่างชัดเจน โดยแต่ละปล้องอาจจะยาวหรือสั้นก็ได้ ผิวเปลือกเรียบสีแดงอมม่วง มีตาออกตามข้อ ไม่แตกกิ่งก้าน เนื้ออ่อน ฉ่ำน้ำ เปลือกมีรสขม ส่วนน้ำไม่ค่อยหวานแหลมเหมือนอ้อยธรรมดา และมักมีรากอากาศขึ้นอยู่ประปราย โดยเป็นพืชที่ชอบดินร่วน น้ำไม่ท่วมขัง มีแสงแดดจัด สามารถปลูกขึ้นได้ในดินทั่วประเทศไทย และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือการใช้หน่อจากเหง้า 

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 10,175

มะตูม

มะตูม

ลักษณะทั่วไป  ไม้ต้นผลัดใบ สูง 5-10 เมตร แตกกิ่งต่ำ ตามลำต้นมีหนามยาว เปลือกสีเทา เรือนยอดโปร่ง  ประกอบรูปขนนกเรียงสลับกัน ใบมีใบย่อยรูปไข่  3 ใบ  สองใบล่างออกตรงกันข้าม ใบปลายมีขนาดใหญ่กว่า  กว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 4-12 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโคนสอบ ดอกเล็ก สีขาวอมเขียวหรือสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม  ผลรูปไข่แข็งมาก เนื้อในสีเหลืองมียางเหนียว เมล็ดรูปรี  พบประปรายตามป่าเบญจพรรณ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ออกดอกมีนาคม-พฤษภาคม ผลแก่ ธันวาคม-กุมภาพันธ์

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 1,056

เคี่ยม

เคี่ยม

ต้นเคี่ยม จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงประมาณ 20-40 เมตร ลักษณะเรือนยอดเป็นพุ่มทึบ รูปเจดีย์แบบต่ำ ๆ ส่วนเปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล เปลือกเรียบ มีรอยด่างสีเทาและสีเหลืองสลับกัน และมีต่อมระบายอากาศกระจายอยู่ทั่วไป เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีชันใสตามลำต้นและจะจับกันเป็นก้อนสีเหลืองเมื่อทิ้งไว้นานๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด (โดยเด็ดปีกออกก่อนการนำไปเพาะ) และวิธีการตอนกิ่ง

เผยแพร่เมื่อ 25-05-2020 ผู้เช้าชม 3,696

ผักเป็ดน้ำ

ผักเป็ดน้ำ

ผักเป็ดน้ำ จัดเป็นพรรณไม้น้ำหรือพรรณไม้ล้มลุก มีอายุราว 1 ปี ชอบขึ้นตามแอ่งน้ำรกร้างหรือริมน้ำทั่วไป มีลำต้นอยู่บนผิวน้ำ ลำต้นมีความสูงประมาณ 1 เมตร เลื้อยทอดไปตามผิวน้ำหรือพื้นดิน แตกกิ่งก้านสาขามาก ส่วนรากจะติดอยู่ตามข้อต้น ลำต้นกลมเป็นข้อๆ ภายในของลำต้นกลวง ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้นไปปลูกลงในแอ่งน้ำ

เผยแพร่เมื่อ 10-07-2020 ผู้เช้าชม 2,613