ผักปลัง
เผยแพร่เมื่อ 10-07-2020 ผู้ชม 4,206
[16.4258401, 99.2157273, ผักปลัง]
ผักปลัง ชื่อสามัญ Ceylon spinach, East Indian spinach, Indian spinach, Malabar nightshade, Vine spinach
ผักปลัง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ผักปลังแดง ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Basella rubra L. และอีกชนิดคือ ผักปลังขาว ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Basella alba L. จัดอยู่ในวงศ์ผักปลัง (BASELLACEAE)
สมุนไพรผักปลัง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักปั๋ง ผักปั่ง (ภาคเหนือ), ผักปลังใหญ่ ผักปลังขาว ผักปลังแดง (ภาคกลาง), ผักปรัง ผักปรังใหญ่ (ไทย), เดี้ยจุ่น (เมี่ยน), มั้งฉ่าง (ม้ง), เหลาะขุ้ย โปแดงฉ้าย (แต้จิ๋ว), ลั่วขุย (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของผักปลัง
- ต้นผักปลัง มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชียและแอฟริกา โดยจัดเป็นไม้เถาเลื้อยล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ เกลี้ยง กลม ไม่มีขน แตกกิ่งก้านสาขามาก มีความยาวประมาณ 2-6 เมตร หากลำต้นเป็นสีเขียวจะเรียกว่า "ผักปลังขาว" ส่วนชนิดที่ลำต้นเป็นสีม่วงแดงจะเรียกว่า "ผักปลังแดง" ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำเถาแก่ เจริญเติบโตได้ดีในที่ชื้นระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดรำไร สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ตามป่าทุ่ง ที่รกร้าง หรือตามที่ชุ่มชื้นทั่วไป
- ใบผักปลัง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับกันไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-12 เซนติเมตร ใบมีลักษณะอวบน้ำและเป็นมันหนานุ่มมือ ฉีกขาดได้ง่าย หลังใบและท้องใบเกลี้ยงไม่มีขน เมื่อนำมาขยี้จะเป็นเมือกเหนียว ก้านใบอวบน้ำยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร เป็นสีเขียวและสีแดง
- ดอกผักปลัง ออกดอกเป็นช่อเชิงลด โดยจะออกตรงซอกใบ มีขนาดยาวประมาณ 3-21 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ไม่มีก้านชูดอก แต่ละดอกจะมีกลีบ 5 กลีบ โดยผักปลังขาวดอกจะเป็นสีเขียว ส่วนผักปลังแดงดอกจะเป็นสีม่วงแดง มีความยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีใบประดับขนาดเล็ก 2 ใบติดอยู่ที่โคนของกลีบรวม ลักษณะของกลีบรวมเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ 0.1-3 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อ ที่ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉกเล็กน้อย ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้าน ติดอยู่ที่ฐานของกลีบดอก มีอับเรณูเป็นรูปกลม ยาวประมาณ 0.1-0.5 มิลลิเมตร รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ มี 1 ช่อง ลักษณะเป็นรูปค่อนข้างรี ยาวประมาณ 0.1-0.5 มิลลิเมตร ส่วนก้านชูเกสรเพศเมียจะยาวประมาณ 0.1-0.5 มิลลิเมตร
- ผลผักปลัง ผลเป็นผลสด ฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลกลมแป้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบ ปลายผลมีร่องแบ่งเป็นลอน และไม่มีก้านผล ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เนื้อผลนิ่ม ภายในผลมีน้ำสีม่วงดำ และมีเมล็ด 1 เมล็ด
สรรพคุณของผักปลัง
- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)
- ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน มีสารเบตาแคโรทีนที่ช่วยบำรุงดวงตา และยังมีสารที่มีคุณสมบัติเป็นสารช่วยป้องกันมะเร็งอีกด้วย (ใบ)
- ดอกใช้เป็นยาดับพิษในเลือด (ดอก)
- ทั้งต้นมีรสเย็น เป็นขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยยาลดไข้ แก้อาการร้อนใน ทำให้เลือดเย็น (ทั้งต้น)
- น้ำคั้นจากดอกใช้เป็นยาทาแก้หัวนมแตกเจ็บ (ดอก)
- ต้นและใบมีรสหวานเอียน เป็นยาช่วยระบายท้อง (ต้น, ใบ)
- ช่วยแก้อาการอึดอัดแน่นท้อง ด้วยการใช้ต้นสด 60 กรัม นำมาเคี่ยวกับน้ำให้ข้นแล้วรับประทาน (ต้น)
- ต้น ราก ใบ และทั้งต้นช่วยแก้อาการท้องผูก ยอดอ่อนหรือใบยอดอ่อนสดจะมีเส้นใย ช่วยหล่อลื่นลำไส้ และเป็นยาระบายอ่อน ๆ ที่เหมาะสำหรับเด็กและสตรีตั้งครรภ์ เมื่อนำมาต้มรับประทานเป็นอาหารจะช่วยแก้อาการท้องผูกได้ และเมือกที่อยู่ในผักปลังจะมีคุณสมบัติเป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยทำให้ท้องไม่ผูกได้ (ต้น, ราก, ใบ, ทั้งต้น)
- รากมีรสหวานเอียน ใช้เป็นยาแก้พรรดึก (หรืออุจจาระที่เป็นก้อนแข็งกลม) (ราก)
- ใบใช้เป็นยาแก้บิด (ใบ)
- ใช้ต้นสด 60-120 กรัมนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ไส้ติ่งอักเสบ (ต้น)
- ช่วยแก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้ขัดเบา ด้วยการใช้ต้นสด 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ทั้งต้น)[1],[9]ตำรายาแก้ปัสสาวะขัดระบุให้ใช้ใบสด 60 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่มแบบชาต่อหนึ่งครั้ง (ใบ)
- รากและใบช่วยขับปัสสาวะ (ราก, ใบ)
- หมอตำแยทางภาคเหนือมักจะใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำเมือกมาทาบริเวณช่องคลอดของสตรี เพื่อช่วยให้สตรีมีครรภ์คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์รับประทานผักปลังด้วย เพราะจะช่วยทำให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น โดยนำมาทำเป็นแกงผักปลังให้รับประทานทุกวันเดือนดับเดือนเต็ม เชื่อว่าจะช่วยทำให้คลอดบุตรง่าย ทำให้ไหลลื่นเหมือนผักปลัง (จากความเชื่อนี้เองจึงทำให้ผู้มีคาถาอาคมไม่กล้ารับประทาน เพราะกลัวคาถาเสื่อม) (ใบ)
- ตกเลือดเรื้อรัง ให้ใช้ใบสด ยอดอ่อน 30 กรัม นำมาต้มรับประทาน (ใบ)
- หมอเมืองบางท่านจะใช้ใบผักปลังนำมาตำกับข้าวสารเจ้า ใช้เป็นยาพอกแก้โรคมะเร็งไข่ปลา (เริม) (ใบ)
- ใช้เป็นยาใส่แผลสด ใช้ห้ามเลือด หรือใช้แก้อาการฟกช้ำ ให้นำใบมาตำให้พอแหลก ผสมกับน้ำตาลทรายหรือเหล้าเล็กน้อย ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[5]ทั้งต้นใช้เป็นยาใส่แผลสดเพื่อห้ามเลือด รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (ทั้งต้น)
- ใช้ใบและผลนำมาขยี้ทาบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย มีลักษณะเป็นแผลไหม้ จะช่วยบรรเทาอาการและทำให้รู้สึกเย็นขึ้นได้ (ใบและผล)
- ช่วยแก้อักเสบ (ใบ, ทั้งต้น)[1]แก้อักเสบบวม (ต้น)
- ช่วยแก้อีสุกอีใส (ดอก)
- รากใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง แก้รังแค (ราก)
- ดอกมีรสหวานเอียน น้ำคั้นจากดอกใช้เป็นยาทาแก้กลากเกลื้อน แก้โรคเรื้อน แก้เกลื้อน (ดอก)
- ใบนำมาตำใช้เป็นยาพอกแก้กลากเกลื้อน แก้ผื่นคัน ผื่นแดง และฝี (ใบ)[1],[2],[3],[4]ใช้แก้ฝีหรือแผลสด ให้ใช้ใบสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น หรือขยี้ทาก็ได้เช่นกัน (ใบ)[2] บ้างว่าใช้ผลนำมาต้มรับประทานแก้ฝี (ผล)
- ช่วยดับพิษ ดับพิษฝีดาษ แก้พิษฝีดาษ ด้วยการใช้น้ำคั้นจากดอกสด นำมาทาบริเวณที่เป็น (ต้น, ดอก, ทั้งต้น)
- ช่วยแก้พิษฝี (ต้น)
- ช่วยรักษาฝีเนื้อร้าย ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น โดยให้เปลี่ยนยาวันละ 1-2 ครั้ง (ใบ)
- รากนำมาต้มรับประทานเป็นยาแก้มือเท้าด่าง (ราก)
- ช่วยแก้อาการช้ำใน กระดูกร้าว (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการปวดแขนขา ด้วยการใช้ใบสด ยอดอ่อน 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
- รากใช้เป็นยาทาถูนวดให้ร้อนเพื่อให้เลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณที่ทามากขึ้น ส่วนน้ำคั้นจากรากก็เป็นยาหล่อลื่นได้เป็นอย่างดี (ราก)
- ยอดอ่อนนำมาแกงหรือใส่ต้มไก่รับประทานเป็นยาบำรุงเลือดลม สำหรับคนหน้าซีด เลือดลมไม่ดี (ใบ)
- ยอดอ่อนใช้ใส่แกงหรือต้มให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟรับประทานเป็นยาบำรุง (ใบ)
หมายเหตุ : ผักปลังแดงและผักปลังขาวมีลักษณะและคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้
วิธีใช้สมุนไพรผักปลัง
- การใช้ทั้งต้นตาม [5] ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ถ้าเป็นต้นสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หากใช้ภายนอกให้นำต้นสดมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น
- การใช้ดอกตาม [5] ถ้าเป็นดอกแห้งให้ใช้ครั้งละ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หากเป็นดอกสดให้ใช้ครั้งละ 35 กรัม นำมาตำพอกหรือตำคั้นเอาแต่น้ำใช้ใส่แผล[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักปลัง
- ทั้งต้นพบสาร Glucan, Glucolin, Saponin, โปรตีน, วิตามินเอ, วิตามินบี, วิตามินซี, แร่ธาตุ, แคลเซียม, ธาตุเหล็ก
- ใบผักปลังมีกรดอะมิโน ที่ประกอบไปด้วย Lysine, Leucine, Isoleucine และสารจำพวก Glucan, Polysaccharide ประกอบไปด้วย D-galactose, L-arabinose, L-rhamnose, Uronic acid และยังมีสาร Saponin และ Carotene
- จากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Yaounde ในประเทศแคเมอรูน เมื่อปี พ.ศ.2555 พบว่าสารสกัดเมทานอลจากผักปลังสามารถช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของเพศชายได้ แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ได้ทำการทดลองกับเซลล์สืบพันธุ์ของหนูเท่านั้น ยังไม่ได้ทำการศึกษากับมนุษย์โดยตรง และจากผลการวิจัยดังกล่าวจึงได้มีการนำไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสรรพคุณส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน สำหรับลดการเป็นหมัน และในงานวิจัยเดียวกันนี้ยังพบว่าสารสกัดเมทานอลของผักปลังที่ความเข้มข้น 10-100 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม จะไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการศึกษาความปลอดภัยโดยให้หนูทดลองกินสารสกัดเอทานอลของผักปลังในขนาด 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว นาน 2 เดือน ก็ไม่ความเป็นพิษต่อตับและไตของหนูทดลอง
- และในปีเดียวกันนี้เองที่นักวิจัยอินเดียได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบผลของสารสกัดจากใบผักปลังด้วยเอทานอลและน้ำในหนูถีบจักรทดลอง ด้วยการกรอกสารสกัดน้ำของใบในขนาด 100-200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวให้หนูทดลองเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ไม่พบว่ามีความผิดปกติของค่าทางโลหิตวิทยา และสำหรับหนูขาวทดลองที่กินสารสกัดจากใบผักปลังด้วยเอทานอล น้ำ และเฮกเซน ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ พบว่าหนูขาวที่ได้รับสารสกัดด้วยเอทานอลและเฮกเซนจากใบผักปลัง จะมีปริมาณน้ำย่อยอะไมเลสเพิ่มขึ้น (น้ำย่อยที่ทำหน้าที่ย่อยแป้งในปากให้เป็นน้ำตาลมอลโทส) ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยลดภาวะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้
ประโยชน์ของผักปลัง
- ผักปลังเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหาร มีแคลเซียมและธาตุเหล็กสูง และยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี นิยมใช้ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อน นำมาลวกหรือต้มให้สุก ใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก เช่น น้ำพริกอ่อง พริกตาแดง น้ำพริกดำ เป็นต้น หรือจะใช้ยอดอ่อนและใบอ่อนนำไปประกอบอาหารเมนูผักปลัง เช่น แกงจืดหมูสับ แกงแค แกงเลียง แกงส้ม แกงใส่อ่อมหอย แกงปลา แกงผักปลัง ผัดกับแหนม ผัดน้ำมัน ผัดใส่ไข่ ส่วนช่อดอก ต้นและ ใบ นำมาทำแกงส้ม เป็นต้น ส่วนผลอ่อนก็ใช้รับประทานได้เช่นกัน[1],[7],[8] ส่วนชาวล้านนาจะนิยมนำยอดอ่อนและดอกอ่อนมาใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารประเภท จอ ที่เรียกว่า "จอผักปลัง" หรือ "จอผักปั๋ง"
- คุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนและใบอ่อนของผักปลังต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วยโปรตีน 1.2%, วิตามินเอ 3,250 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 40 หน่วยสากล, วิตามินบี 2 10 Sherman U., แคลเซียม 0.15%, และธาตุเหล็ก 1.4 มิลลิกรัม% ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าคุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ต่อ 100 กรัม (ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน ผลอ่อน) ประกอบไปด้วย พลังงาน 20 แคลอรี, น้ำ 93.4%, โปรตีน 2 กรัม, ไขมัน 0.2 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 2.6 กรัม, ใยอาหาร 0.8 กรัม, เถ้า 0.9 กรัม, วิตามินเอ 9,316 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 0.07 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.2 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 1.1 มิลลิกรัม, วิตามินซี 22 มิลลิกรัม, แคลเซียม 4 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 50 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 1.5 มิลลิกรัม
- ผลใช้สำหรับแต่งสีอาหารทั้งคาวและหวานให้น่ารับประทาน โดยนำมาตำให้ละเอียด เติมน้ำ แล้วคั้นเอาแต่น้ำจะได้สีม่วงแดงที่ประกอบด้วยสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) แล้วจึงนำไปใช้เป็นสีผสมในอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น ขนมบัวลอย ขนมเปียกปูน ขนมซ่าหริ่ม ขนมน้ำดอกไม้ เป็นต้น
- เด็ก ๆ ยังนิยมนำน้ำสีแดงในผลมาเล่นกันได้หลายอย่าง เช่น ใช้ทาหน้า ทาปากก็ติดทนดี เมื่อเล่นลิเกหรือเล่นละครต่างๆ จะนิยมใช้กันมาก หรือเล่นขายของหรือทำครัวก็จะนำไปย้อมสี หรือนำไปผสมน้ำใช้แทนหมึกสีแดง เขียนหนังสือได้ดี
- นิยมปลูกเป็นผักริมรั้วหรือขึ้นร้านเป็นประดับได้ โดยเฉพาะถ้าปลูกทั้งผักปลังแดงและผักปลังขาวด้วยกันก็จะให้สีสันยิ่งขึ้นไปอีก อีกทั้งพืชชนิดนี้ยังดูแลได้ง่าย และสามารถออกยอดได้ตลอดทั้งปี
- ทั้งห้าส่วนมีรสหวาน (ต้น, ราก, ใบ, ดอก, ผล) ใช้แต่งรสอาหาร
- รากนำมาต้มน้ำใช้สระผมจะช่วยแก้รังแคได้
- นอกจากนี้ชาวเหนือยังใช้ผักปลังในพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อป้องกันผีตายโหง และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว
- มีการนำเครือมาทำเป็น "บ่วงเครือผักปลัง" โดยใช้เครือมาพันเกี้ยวกันทำเป็นบ่วงขนาดที่หญิงมีครรภ์ลอดได้ แล้วเอาบ่วงผักปลังนี้ไปแช่กับน้ำอาบในวันเดือนดับเดือนเต็ม เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วให้นำบ่วงผักปลังมาสวมหัวลงไปให้ผ่านจนถึงเท้า เชื่อว่าจะทำให้คลอดบุตรได้ง่ายไม่มีติดขัด สาเหตุที่ทำเช่นนี้คงเป็นเพราะต้องการให้กำลังใจหญิงตั้งครรภ์ให้คลายความกังวล ไม่กลัวเจ็บในยามคลอด
คำสำคัญ : ผักปลัง
ที่มา : https://medthai.com/
รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). ผักปลัง. สืบค้น 8 มิถุนายน 2566, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=1707&code_db=610010&code_type=01
Google search
ขมิ้นชัน หรือขมิ้น, ขมิ้นแกง (Turmeric, Curcuma, Yellow Root) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกเหง้า ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ทางภาคใต้หรืออีสานเรียกขี้มิ้น ส่วนชาวกะเหรี่ยงเรียกขมิ้นทอง, ขมิ้นป่า, ขมิ้นหัว, ขมิ้นแดง, ขมิ้นหยวก, ขมิ้นไข, ขมิ้นดี, พญาว่าน, ตายอ เป็นต้น ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เผยแพร่เมื่อ 01-02-2017 ผู้เช้าชม 2,358
ย่านางนับว่าเป็นผักที่มีประโยชน์อีกชนิดหนึ่ง มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใช้ในการประกอบอาหารพื้นบ้านไทยหลายๆ ตำรับ ในใบย่านางมีวิตามินเอและซีสูง นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่นๆ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ไฟเบอร์ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไทอะมีน ไรโบฟลาวิน และไนอะซีน
เผยแพร่เมื่อ 20-02-2017 ผู้เช้าชม 1,416
บวบขม จัดเป็นไม้ล้มลุกเลื้อยพันหรือทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน มีขนาดยาวประมาณ 2-5 เมตร มีมือเกาะจับต้นไม้อื่น ตลอดเถา กิ่งก้าน และใบมีขนขึ้นประปราย ขึ้นเองตามริมน้ำ ตามที่รกร้างทั่วไป ไม่นิยมปลูกไว้เพื่อกินผลเป็นอาหาร เนื่องจากเนื้อในผลมีรสขม ส่วนใหญ่แล้วจะปลูกตามสวนสมุนไพรเพื่อใช้เป็นยาเท่านั้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปห้าเหลี่ยม หรือรูปโล่แกมรูปไตถึงรูปไข่กว้าง ปลายใบแหลมหรือกลม โคนใบเว้าเข้าหากลางใบหรือเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันและมีรอยเว้าลึกทำให้เป็น 5 แฉก
เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้เช้าชม 1,683
ลักษณะทั่วไป ต้นเป็นไม้ยืนต้นสูง 8-15 ม. ลำต้นมีเปลือกสีดำ แตกเป็นสะเก็ดหนา ๆ ทรงพุ่มที่ยอดลักษณะกลมรี ใบเดี่ยวเรียงสลับปลายใบโค้งมน และเป็นติ่งสั้นมีรอยหยักเว้าเข้าเล็กน้อย ฐานใบสอบเข้าหรือป้อมมนเนื้อในค่อนข้างหนา เหนียว ด้านบนจะเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่ม ปกคลุม เส้นกลางใบจะแห้งมีสีแดงเรื่อ ๆ ดอกตัวผู้ออกเป็นช่อเล็กตามกิ่งช่อหนึ่งมีดอกย่อย 3 ดอก กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ แยกเป็นแฉกเล็ก ๆ เกสรตัวผู้มี 14-15 อัน มีรังไข่ไม่เจริญ 1 อัน มีสีน้ำตาลปกคลุมผิวหนาแน่น ดอกตัวเมียออกตรงซอกใบ มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนกับดอกตัวผู้ มีเกสรตัวผู้เทียมหรือไม่เจริญ 8-10 อัน เกสรตัวเมียมี 1 อัน รูปร่างป้อม ๆ ติดอยู่เหนือฐานของดอกมี 8-10 ห้อง ออกดอกเดือน มีนาคม-เมษายน
เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 3,292
เขยตาย จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 2-4 เมตร แตกกิ่งก้านต่ำตั้งแต่โคนต้นเป็นพุ่มเตี้ย ลำต้นเป็นเหลี่ยม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมเทา ผิวลำต้นตกกระเป็นวงสีขาว ใบออกดกทึบ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ เป็นพืชในเขตร้อนของทวีปเอเชียและออสเตรเลีย พบได้ในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ประเทศในแถบคาบสมุทรอินโดจีน สุมาตราและชวา ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ตามชายป่าและหมู่บ้าน
เผยแพร่เมื่อ 25-05-2020 ผู้เช้าชม 6,834
มะเดื่อปล้อง จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลางหรือใหญ่ มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10 เมตร และอาจสูงได้ถึง 12 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกลำต้นเรียบหนาเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทาปนดำ ตามลำต้นมีรอยเป็นข้อปล้องห่างๆ คล้ายรอยควั่นเป็นข้อๆ ตลอดถึงกิ่ง กิ่งก้านอ้วนสั้น กิ่งอ่อนและลำต้นอ่อนกลวง ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวข้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ชอบดินร่วนอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี ชอบความชุ่มชื้น
เผยแพร่เมื่อ 13-07-2020 ผู้เช้าชม 3,084
ผักแพว จัดเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นสูงประมาณ 30-35 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง มีข้อเป็นระยะๆ ตามข้อมักมีรากงอกออกมา หรือลำต้นเป็นแบบทอดเลื้อยไปตามพื้นดินและมีรากงอกออกมาตามส่วนที่สัมผัสกับพื้นดิน เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ชื้นแฉะ เช่น ในบริเวณห้วย หนอง คลอง บึง หรือตามแอ่งน้ำต่าง ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการใช้ลำต้นปักชำ (เมล็ดงอกยาก นิยมใช้กิ่งปักชำมากกว่า) พรรณไม้ชนิดนี้เป็นพืชล้มลุก พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพราะเกิดได้เองตามธรรมชาติ
เผยแพร่เมื่อ 10-07-2020 ผู้เช้าชม 5,933
รุ่งอรุณ จัดเป็นไม้เลื้อย สามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 6 เมตร มีรากพิเศษที่ออกเป็นกระจุกอยู่รอบข้อ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำกิ่ง เป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด ดินร่วนและระบายน้ำได้ดี จึงควรปลูกในบริเวณที่มีแสงแดดจัด เพราะจะช่วยทำให้ดอกดกและออกดอกได้ตลอดทั้งปี
เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 2,234
ลักษณะทั่วไป วัชพืชน้ำขนาดเล็ก ลำต้นทอดขนานไปกับผิวน้ำ มีระบบรากแก้วและมีรากฝอยจำนวนมาก อายุยืนหลายปี เจริญเติบโตติดกันเป็นกลุ่มลอยอยู่บนผิวน้ำ ลำต้นมีไหล ต้นใหม่เกิดจากโคนต้นและเกิดบนไหล ใบเป็นใบเดี่ยวเกิดบริเวณส่วนโคน ของลำต้นเรียงซ้อนกันหลายชั้น ไม่มีก้านใบรูปร่างใบไม่แน่นอน บางครั้งรูปรี แต่วนมากเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายกลีบหยักลอนเป็นคลื่น ฐานใบมนสอบแคบ ขอบใบเรียบสีแดงมีขนขึ้นปกคลุมแผ่นใบทั้งสองด้าน บริเวณบานใบพองออกมีลักษณะอ่อนนุ่มคล้ายฟองน้ำ ทำให้ลอยน้ำได้ ออกดอกเป็นช่ออยู่ตรงกลางต้นหรือต้นโคนใบระหว่างกลาง ซึ่งดอกนั้นจะมีกาบหุ้มดอกอยู่ 2-3 อันมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในช่อเดียวกัน
เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 5,194
มะลิลาเป็นไม้พุ่ม บางพันธุ์เป็นไม้รอเลื้อย สูง 0.3-3 เมตร ใบเรียงตรงข้าม เป็นใบประกอบชนิดที่มีใบย่อย ใบเดี่ยว รูปไข่ กว้าง 3-6 ซม. ยาว 5-10 ซม. ดอกดอกเป็นช่อเล็ก ๆ มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน ดอกสีขาว โคนดอกติดกันเป็นหลอด สีเขียวอมเหลือง ดอกกลางบานก่อน กลีบเลี้ยงแยกเป็นส่วน 7-10 ส่วน มีขนละเอียด ยาว 2 1/2-7ซม. โคนกลีบดอกเชื่อมเป็นหลอด ยาว 7-15 มม. ส่วนปลายแยกเป็นส่วนรูปไข่ แกมรี สีขาว อาจมีสีม่วงด้านนอกหรือเมื่อดอกร่วงยาว 8-15 มม. ดอกอาจซ้อนหรือลา
เผยแพร่เมื่อ 27-05-2020 ผู้เช้าชม 2,478