มะกล่ำเผือก
เผยแพร่เมื่อ 10-07-2020 ผู้ชม 2,739
[16.4258401, 99.2157273, มะกล่ำเผือก]
มะกล่ำเผือก ชื่อวิทยาศาสตร์ Abrus pulchellus Thwaites (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Abrus fruticulosus auct. non Wight & Arn., Abrus pulchellus subsp. pulchellus) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)
สมุนไพรมะกล่ำเผือก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะกล่ำตาหนู แปบฝาง (เชียงใหม่), คอกิ่ว มะขามป่า (จันทบุรี), มะขามย่าน (ตรัง), โกยกุกเช่า (จีนแต้จิ๋ว), จีกู่เฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของมะกล่ำเผือก
- ต้นมะกล่ำเผือก จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่นหรือเลื้อยบนพื้นดิน ยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมากเป็นพุ่มทึบ สีน้ำตาลเข้มอมสีม่วงแดง ก้านเล็กปกคลุมด้วยขนสีเหลืองบาง ๆ เถามีลักษณะกลมเป็นสีเขียว รากมีลักษณะกลมใหญ่ ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีน ภูฏาน เนปาล อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา พม่า ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย โดยมักขึ้นกระจายทั่วไปตามป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งระดับต่ำ
- ใบมะกล่ำเผือก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 4-7 คู่ ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ปลายใบเป็นติ่งหนามหรือมน โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดยาวประมาณ 3.2-4.5 เซนติเมตร แผ่นใบบาง ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนด้านล่างมีขนสีขาวประปราย ก้านใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มีขนหนาแน่น เส้นกลางใบนูนขึ้นเล็กน้อย หูใบเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร หูใบย่อยเป็นเส้นเรียวยาว ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร
- ดอกมะกล่ำเผือก ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ ยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร ใบประดับและใบประดับย่อยเป็นรูปไข่ ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร ดอกเป็นรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวปนสีชมพูอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายเว้าเป็นรอยหยักตื้น ๆ หรือเป็นปลายตัด กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบกลางเป็นสีขาว ลักษณะเป็นรูปรี ยาวประมาณ 1.2-1.3 เซนติเมตร ปลายเว้าบุ๋ม โคนเป็นรูปลิ่ม ขอบเรียบ ส่วนกลีบคู่ด้านข้างเป็นสีชมพูอ่อน ลักษณะเป็นรูปเคียว มีความยาวรวมก้านกลีบประมาณ 1.1-1.2 เซนติเมตร ปลายมน โคนสอบเรียว คอดลงไปคล้ายก้านกลีบ มีรยางค์เป็นติ่ง ส่วนกลีบคู่ล่างเป็นสีชมพู โคนเป็นสีขาว ลักษณะเป็นรูปเคียว ยาวประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร ปลายมน โคนสอบเรียว คลอดลงไปคล้ายก้านกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 อัน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีแบบสั้นและแบบยาวออกเรียงสลับกัน แบบสั้นก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนแบบยาวก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1.2-1.3 เซนติเมตร อับเรณูเป็นสีเหลือง ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ติดทางด้านหลัง ส่วนเกสรเพศเมียเป็นรูปแถบ แบน และมีขนขึ้นหนาแน่น
- ผลมะกล่ำเผือก ออกผลเป็นฝักรูปขอบขนาน ขนาดกว้างประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร มีขนสีเหลืองอ่อน ฝักแห้งแตกออกได้ ในฝักมีเมล็ดประมาณ 4-5 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลมรี แบนเล็กน้อย ผิวเงาเรียบ เมล็ดอ่อนเป็นสีขาว เมื่อสุกเป็นสีดำเข้มหรือสีเหลืองอ่อน
สรรพคุณของมะกล่ำเผือก
- ทั้งต้นมีรสจืด ชุ่ม เป็นยาเย็นเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้อาการร้อนใน แก้พิษร้อน ถอนพิษไข้ (ทั้งต้น)
- เถาและรากมีรสเปรี้ยวหวานชุ่ม ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หืด หลอดลมอักเสบ แก้ไอแห้ง แก้เจ็บคอ ช่วยกัดเสมหะ ขับเสมหะ แก้อาเจียน แก้ร้อนใน (เถาและราก)
- ใบมีรสเปรี้ยวหาน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ช่วยกระตุ้นน้ำลาย (ใบ)
- ทั้งต้นหรือเครือ นำไปต้มกับน้ำดื่มช่วยลดความดันโลหิต (ทั้งต้น)
- รากใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้องและแก้จุกเสียด (ราก)
- ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้อาการปวดกระเพาะ (ทั้งต้น)
- ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ, เถาและราก)
- ใช้เป็นยากล่อมตับ ใช้รักษาตับอักเสบชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ตับแข็ง ท้องมาน ช่วยคลายและกระจายการคั่งของตับ รักษาตับอักเสบที่ติดเชื้อแบบดีซ่าน ตำรายาแก้การติดเชื้อของตับอักเสบชนิดเฉียบพลันแบบดีซ่าน ให้ใช้ต้นสดของมะกล่ำเผือก 30 กรัม, ต้นยินเฉิน 30 กรัม, ตี้เอ๋อเฉ่า 30 กรัม, ซานจีจื่อ (เมล็ดพุดตานแห้ง) 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน และถ้ามีอาการตัวร้อนและอักเสบ ก็ให้เพิ่มต้นหมากดิบน้ำค้าง 30 กรัม และดอกสายน้ำผึ้ง 30 กรัม นำมาต้มรวมกันรับประทาน (ทั้งต้น)
- ใบใช้ตำพอกแก้อักเสบ ปวดบวม (ใบ)
- เมล็ดมีรสขมเผ็ดเมาเบื่อ เป็นพิษ ใช้ได้เฉพาะภายนอก ด้วยการนำมาบดผสมกับน้ำมันพืช ใช้ทาแก้กลากเกลื้อน ฆ่าพยาธิผิวหนัง ฝีมีหนอง บวมอักเสบ (เมล็ด)
- ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้พิษงู (ทั้งต้น)
- ทั้งต้นใช้เป็นยาขับความชื้น แก้อาการปวดข้อ ปวดกระดูกเนื่องจากลมชื้นเกาะติด (ทั้งต้น)
- ใบมีสรรพคุณแก้อาการปวดตามแนวประสาท ปวดบวมตามข้อ (ใบ)
ขนาดและวิธีใช้ : ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานหรือใช้เข้ากับตำรายาอื่น ส่วนยาสดให้ใช้ภายนอก ประมาณ 30-60 กรัม หรือตามที่ต้องการ ห้ามใช้เมล็ดรับประทานเพราะมีพิษ ก่อนใช้จะต้องเอาเมล็ดออกให้หมดก่อน
ข้อควรระวัง : เมล็ดมะกล่ำเผือกมีพิษเหมือนเมล็ดมะกล่ำตาหนู ทำให้ตายได้ เมล็ดใช้เป็นยารับประทานไม่ได้ ให้ใช้เฉพาะภายนอก ต้องระมัดระวังในการใช้
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะกล่ำเผือก
- ในใบพบสารรสหวานชื่อ Glycyrrhizin, Abrine และสาร Choline อีกทั้งยังพบสารจำพวก Flavonoid, Amino acid และมีกลูโคสกลูโคลิน รวมทั้งมีสารจำพวก Sterol อีกด้วย
ประโยชน์ของมะกล่ำเผือก
- ใบใช้ตำพอกแก้จุดด่างดำบนใบหน้า (ใบ)
- เมล็ดใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลง มีพิษแรง ถ้าเคี้ยวกินเพียง 1-2 เมล็ด อาจทำให้ตายได้ โดยสามารถออกฤทธิ์ได้นานถึง 2 วัน
- ใบมะกล่ำเผือกมีสารให้ความหวานชื่อ glycyrrhizin ซึ่งมีความหวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 50 เท่า ซึ่งอาจนำมาพัฒนาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มแทนน้ำตาลทรายได้
คำสำคัญ : มะกล่ำเผือก
ที่มา : https://medthai.com/
รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). มะกล่ำเผือก. สืบค้น 25 มกราคม 2568, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=1685&code_db=610010&code_type=01
Google search
ต้นผักขี้มด จัดเป็นพุ่ม ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก รูปวงรีแกมรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร ผิวใบมีขนนุ่มละเอียดทั้งสองด้าน ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ มีดอกย่อยหลายดอก กลีบดอกเป็นสีเหลืองแกมเขียว ขนาดเล็ก ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแป้นสีเขียว มีหลายพู
เผยแพร่เมื่อ 09-07-2020 ผู้เช้าชม 2,552
เขยตายเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ ในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ตามชายป่าและหมู่บ้าน ประโยชน์ของเขยตาย ผลสุกมีรสหวานใช้รับประทานได้ แต่มีกลิ่นฉุน ใบใช้เป็นอาหารของหนอนผีเสื้อ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องมือทางการเกษตร ลำต้นเขยตายมีสารอัลคาลอยด์ arborinine เป็นหลัก และอัลคาลอยด์อื่นๆ ข้อควรระวัง คือ ยางจากทุกส่วนของลำต้นมีฤทธิ์ทำให้อาเจียน เพ้อคลั่งและเสียชีวิตได้
เผยแพร่เมื่อ 17-02-2017 ผู้เช้าชม 2,341
ต้นกระเช้าสีดาไม้เถา รากมีเนื้อแข็ง กิ่งยาวเรียวเป็นร่อง ใบกระเช้าสีดาใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปสามเหลี่ยมแคบ กว้าง 5-5 ซม. ยาว 5-10 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนตัดตรง ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นใบออกจากโคนใบ 3-5 เส้น ใบมีกลิ่น ดอกกระเช้าสีดาช่อดอกสั้น ออกตามง่ามใบ กลิ่นเหม็น ช่อหนึ่งมีเพียง 2-3 ดอก ก้านดอกยาว 5-1 ซม. กลีบดอกมีเพียงชั้นเดียว ยาว 2-3.5 ซม. เชื่อมติดกันเป็นหลอด โคนหลอดพองออกเป็นกระเปาะกลม กระเปาะและหลอดดอกด้านนอกสีเขียวอ่อน ภายในกระเปาะเป็นที่ดักย่อยแมลงเพื่อเป็นอาหารเสริม
เผยแพร่เมื่อ 13-05-2020 ผู้เช้าชม 7,324
ต้นโคกกระสุน จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ยาวได้ถึง 160 เซนติเมตร เป็นพืชจำพวกหญ้าที่มีอายุได้ประมาณ 1 ปี แตกกิ่งก้านแผ่ออกโดยรอบปกคลุมไปตามพื้นดิน ชูส่วนปลายยอดและดอกตั้งขึ้นมา มีขนตามลำต้น ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วโดยใช้เมล็ด ขึ้นได้ดีในดินทรายที่ค่อนข้างแห้ง มีการระบายน้ำดี เจริญงอกงามได้ดีในช่วงฤดูฝน เป็นพรรณไม้ที่ชอบขึ้นตามทางรถไฟ ตามที่รกร้าง ตามสวนผลไม้ ทุ่งหญ้า ท้องนา และริมทางสาธารณะทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลางของประเทศ
เผยแพร่เมื่อ 09-07-2020 ผู้เช้าชม 9,108
เตยหอม (Pandanus Palm, Fragrant Pandan, Pandom Wangi) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้น ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ชาวจีนเรียก พังลั้ง และชาวมลายูเรียก ปาแนะวองิง หรือหวานข้าวไหม้ เป็นต้น ซึ่งพืชสมุนไพรอย่างต้นเตยหอมนั้นในใบของต้นจะมีกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยอยู่ โดยสีเขียวที่ได้จากใบเตยหอมนั้นจะเป็นสีของคลอโรฟิลล์ นำมาใช้แต่งสีขนมได้ สามารถใช้ได้ทั้งกับใบสดหรือใบแห้ง ซึ่งปัจจุบันมีการขายในรูปใบแช่แข็งเพื่อให้ประเทศที่ไม่สามารถปลูกได้ได้ใช้ปรุงแต่งกลิ่นในอาหาร
เผยแพร่เมื่อ 08-05-2020 ผู้เช้าชม 6,165
ระกำป่า จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่มีความสูงของต้นประมาณ 4-8 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่กว้าง เปลือกต้นแตกเป็นร่องตามยาว มีหนามทั่วไปตามลำต้นและกิ่งก้าน กิ่งมีขนประปราย มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่ศรีลังกา อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน ชวา และนิวกินี ส่วนในประเทศไทยพบได้แทบทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง หรือมีน้ำท่วมในหน้าฝน ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 100 เมตร ถ้าขึ้นตามซอกหินของผา ลำต้นจะแคระแกร็น กิ่งจะแผ่รายไปตามหน้าผาด้วยแรงลม โคนและเหง้าใหญ่แข็งแรง ยึดซอกหินได้อย่างมั่นคง
เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 2,919
ผักหวานป่า (Melientha Suavis Pierre) เป็นพืชผักสมุนไพรไทยชนิดหนึ่งที่นิยมนำมารับประทานทั้งในแบบผักปกติและในแบบสมุนไพรเพื่อรักษาโรคต่างๆ ผักหวานป่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่มีใบและยอดสีเขียวอ่อน ประโยชน์ของผักหวานป่านั้นมีมากมาย อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ โดยมีโปรตีน วิตามินและใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย เนื่องจากความนิยมบริโภคผักหวานป่าที่สูงขึ้น ปัจจุบันจึงที่การนำผักหวานป่ามาปลูกเป็นสวนเกษตร ทำให้สามารถหารับประทานได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
เผยแพร่เมื่อ 17-02-2017 ผู้เช้าชม 4,211
พันงูน้อย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 30-100 เซนติเมตร มีรากอยู่ใต้ดินยาวเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร ลักษณะของลำต้นจะคล้ายกับหญ้าพันงูขาว แต่ก้านค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมและมีสีน้ำตาลเหลือง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง ปลายใบและโคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ผิวใบเรียบ ใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 5-20 มิลลิเมตร
เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 2,071
ชิงชัน (Tamalin, Rosewood, Black-wood) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้น ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคอีสานเรียก ประดู่ชิงชัน ส่วนภาคเหนือเรียก เกิดแดง เป็นต้น และที่สำคัญคือต้นชิงชันนี้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดหนองคายอีกด้วย ซึ่งต้นชิงชันนี้จะทำการขยายพันธุ์โดยเมล็ด เป็นไม้กลางแจ้ง ส่วนใหญ่อยู่ในป่าดิบแล้ง หรือป่าเบญจพรรณทั่วไป โดยสามารถเจริญเติบโตได้ดีกับดินทุกชนิดในทุกภาคของประเทศไทย, ลาว และพม่า ยกเว้นในภาคใต้ของไทยเท่านั้นที่ไม่สามารถกระจายพันธุ์ของชิงชันได้ นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าต้นชิงชันมักจะเจริญอยู่ร่วมกับไม้ไผ่และไม้สักหรือในป่าเต็งรังด้วย
เผยแพร่เมื่อ 08-05-2020 ผู้เช้าชม 26,145
ประเทศไทยเป็นประเทศอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารมากมาย พืชผักที่ปลูกกันในปัจจุบัน มีทั้งผักที่เป็นของไทยดั้งเดิม และผักที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว เป็นต้น ผักเหล่านี้ได้ปลูกมานานจนคนรุ่นใหม่เข้าใจผิด คิดว่าเป็นผักของไทย และนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย ได้มองข้ามคุณค่าของผักพื้นบ้านดั้งเดิมไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่ผักเหล่านี้มีแมลงศัตรูพืชรบกวนมาก ต้องใช้ยาฆ่าแมลงในปริมาณที่สูง ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ทำลายระบบนิเวศน์วิทยา และสิ้นเปลืองงบประมาณในการบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ อีกด้วย
เผยแพร่เมื่อ 12-05-2020 ผู้เช้าชม 2,727