ข้าวเย็นเหนือ

ข้าวเย็นเหนือ

เผยแพร่เมื่อ 25-05-2020 ผู้ชม 6,340

[16.4258401, 99.2157273, ข้าวเย็นเหนือ]

ข้าวเย็นเหนือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Smilax corbularia Kunth (และยังมีข้าวเย็นเหนืออีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Smilax china L.) โดยจัดอยู่ในวงศ์ข้าวเย็นเหนือ (SMILACACEAE) เช่นเดียวกับข้าวเย็นใต้
สมุนไพรข้าวเย็นเหนือ มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ข้าวเย็นโคกแดง ค้อนกระแต หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นวอก ยาหัวข้อ (อุบลราชธานี), หัวยาข้าวเย็น หัวข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นวอก (ภาคเหนือ), หัวยาจีนปักษ์เหนือ (ภาคใต้), เสี้ยมโค่ฮก เสี้ยมโถ่ฮก[1],[2] (จีนแต้จิ๋ว), ควงเถียวป๋าเชี๋ย (จีนกลาง) เป็นต้น
จากหนังสือสารานุกรมสมุนไพรของอาจารย์วุฒิ วุฒิธรรมเวช ได้ระบุว่า ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้มีสรรพคุณที่เหมือนกัน และนิยมนำมาใช้คู่กัน โดยจะเรียกว่า "ข้าวเย็นทั้งสอง"

ลักษณะของข้าวเย็นเหนือ
        ต้นข้าวเย็นเหนือ มักพบขึ้นตามป่าดงดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีใช้หัวฝังดิน เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนชุ่มชื้น ระบายน้ำได้ดีและมีอินทรียวัตถุ และเป็นไม้ที่เลี้ยงยากและหาดูได้ยาก โดยจัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นหรือเลื้อยไปตามพื้นดิน อาจเลื้อยได้ยาวถึง 5 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เถามีหนามแหลมโดยรอบกระจายอยู่ห่าง ๆ ที่โคนใบยอดอ่อนมีมือเป็นเส้น 2 เส้นไว้สำหรับจับยึด และมีหัวเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินและมีรากแตกอยู่ใต้ดินมาก หัวมีลักษณะกลมยาวเป็นท่อน ๆ ท่อนละประมาณ 5-15 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 เซนติเมตร รากที่เจาะลึกลงใต้ดินจะมีความยาวสูงสุดเกือบ 1 เมตร เนื้อไม้แข็ง ผิวแดงและขรุขระ ส่วนเนื้อในเหง้าเป็นสีเหลืองอ่อน เมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีแดงน้ำตาลอ่อน เนื้อละเอียด มีรสมัน (ถ้าเหง้าหรือหัวมีเนื้อสีขาวจะเรียกว่า "ข้าวเย็นใต้")
        ใบข้าวเย็นเหนือ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาว รูปรีแกมรูปใบหอกหรือรูปกลมรี ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-18 เซนติเมตร หน้าใบเป็นสีเขียว ส่วนหลังใบมีขนสีขาวปกคลุม ใบมีเส้นใบหลักประมาณ 5-7 เส้น มีเส้นกลาง 3 เส้นที่เด่นชัดกว่าเส้นที่เหลือด้านข้าง เชื่อมกับเหนือโคนใบ 3-5 มิลลิเมตร แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบอ่อนจะค่อนข้างป้อม ก้านใบยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ส่วนมือจับยาวได้ถึง 12 เซนติเมตร
        ดอกข้าวเย็นเหนือ ออกดอกตามซอกใบที่โคนต้นหรือกลางต้น ลักษณะของช่อดอกเป็นแบบช่อซี่ร่ม มีประมาณ 1-3 ช่อดอก ดอกมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกสั้น ยาวประมาณ 1-1.7 เซนติเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น (บ้างว่าอยู่กันคนละช่อแต่อยู่บนต้นเดียวกัน) ดอกมีใบประดับย่อยลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง ดอกเป็นสีเขียวปนขาว มีกลีบรวม 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปรีหรือเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน กลีบวงในมักแคบกว่ากลีบวงนอก ช่อดอกเพศผู้มีดอกประมาณ 20-40 ดอกต่อหนึ่งช่อ มีเกสรเพศผู้จำนวน 6 ก้าน อับเรณูเป็นรูปขอบขนาน ส่วนช่อดอกเพศเมียมีดอกประมาณ 15-30 ดอกต่อหนึ่งช่อ รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปรี ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มี 3 ช่อง ในแต่ละช่องมีออวุลประมาณ 1-2 เมล็ด มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3 ก้าน ลักษณะเป็นรูปคล้ายเข็ม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม
        ผลข้าวเย็นเหนือ ออกผลเป็นกระจุกชิดกันแน่นคล้ายทรงกลม ผลมีลักษณะกลม เป็นผลแบบมีเนื้อ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-0.6 เซนติเมตร เวลาสุกจะเป็นสีม่วงดำ ผิวของผลจะมีผงแป้งสีขาวปกคลุม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด โดยจะออกผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม

สรรพคุณของข้าวเย็นเหนือ
1. ตำรายาพื้นบ้านมุกดาหารและประเทศมาเลเซียจะใช้เหง้าเป็นยาบำรุง (หัว)
2. หัวนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงเลือด (หัว)
3. หัวตากแห้งนำมาหั่นผสมในตำรับยาบำรุงกำลัง (หัว)
4. ใช้หัวในยาตำรับ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้มะเร็ง ด้วยการบดยาหัวให้ละเอียดผสมกับส้มโมง ต้มจนแห้งแล้วผสมกับน้ำผึ้งรับประทานวันละ 1 เม็ด (หัว) หัวข้าวเย็นทั้งสองมีกลไกลการออกฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านม (หัว)
5. ตำรับยาแก้เบาหวานให้ใช้หัวข้าวเย็นทั้งสอง ใบโพธิ์ และไม้สัก นำมาต้มในหม้อดินเป็นยาดื่ม ส่วนอีกตำรับยาหนึ่งให้ใช้หัวข้าวเย็นทั้งสองผสมกับต้นลูกใต้ใบ นำมาต้มกับน้ำดื่ม (หัว)
6. หัวหรือรากมีรสหวานจืด เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับ กระเพาะ ใช้เป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (หัว)
7. ต้นมีรสจืดเย็น เป็นยาแก้ไข้เรื้อรังและแก้ไข้ตัวร้อน (ผล)
8. ใบมีรสจืดเย็น เป็นยาแก้ไข้เหนือ ไข้สันนิบาต (ใบ)
9. ตำรับยาแก้ไข้ทับระดูและระดูทับไข้ โดยมีอยู่ 2 ตำรับ ตำรับยาแรกใช้ยารวม 4 อย่าง ส่วนตำรับที่สองใช้ 6 อย่าง โดยใช้หัวข้าวเย็นทั้งสองผสมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับ นำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม (หัว)
10. หัวมีรสมันกร่อน หวานเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้ประดง (หัว)
11. ตำรับยาแก้ไอ ให้ใช้หัวข้าวเย็นเหนือ 5 บาทและหัวข้าวเย็นใต้ 5 บาท นำมาต้มในหม้อดินและเติมเกลือทะเลเล็กน้อย ใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (หัว)
12. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (หัว)
13. ช่วยแก้ตาแดง (หัว)
14. ช่วยขับลมชื้น ด้วยการใช้ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้อย่างละ 30 กรัม โกฐเขมา, โกฐหัวบัว, เจตมูลเพลิง (ไม่ได้ระบุว่าใช้เจตมูลเพลิงแดงหรือเจตมูลเพลิงขาว), เถาวัลย์เปรียงอย่างละ 20 กรัม นำมาต้มรวมกันใช้เป็นน้ำดื่ม หรือจะนำมาแช่กับเหล้า โดยใส่เหล้าให้ท่วมตัวยา ทิ้งไว้ 7 วัน แล้วนำมารับประทานก็ได้ (หัว)
15. รากใช้เป็นยาแก้พยาธิในท้อง (ราก)
16. หัวใช้เป็นยาแก้นิ่ว (หัว)
17. หัวและรากใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ (หัว, ราก)
18. ช่วยแก้กามโรค เข้าข้อออกดอก (ระยะของกามโรคที่เกิดมีเม็ดผื่นเป็นดอก ๆ ขึ้นตามตัว) (หัว)
19. ใช้เป็นยาแก้โรคหนองในทั้งหญิงและชาย ด้วยการใช้หัวข้าวเย็นทั้งสองร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นอีก รวมทั้งสิ้น 14 อย่าง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคหนองในหรือโรคโกโนเรีย โดยจะหายภายใน 7 วัน (หัว)
20. ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร (หัว) ตามตำรับยาแก้ริดสีดวงทวารจะใช้ตัวอย่าง 12 อย่าง อันประกอบไปด้วย หัวข้าวเหนือเย็น หัวข้าวเย็นใต้ เหง้าสับปะรด แก่นจำปา เครือส้มกุ้ง จุกกระเทียม จุกหอมแดง จันทน์ขาว จันทน์แดง พริกไทยล่อน รากลำเจียก และสารส้ม นำมาต้มในหม้อดิน ใช้ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น ท่านว่าริดสีดวงทวารจะหายภายใน 7 วัน (หัว)
21. ผลมีรสขื่นจัด เป็นยาแก้ลมริดสีดวง (ผล)
22. ตำรับยาแก้ระดูขาวของสตรีและโรคบุรุษ ให้ใช้หัวข้าวเย็นเหนือ 1 บาท, หัวข้าวเย็นใต้ 1 บาท, ต้นบานไม่รู้โรยดอกสีขาวทั้งต้นรวมราก 1 ต้น, ต้นตะไคร้ทั้งต้นรวมราก 20 บาท และเกลือทะเล นำมาต้มกับน้ำ 3 ส่วนให้เหลือเพียง 1 ส่วน แล้วนำมาใช้ดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยตะไล วันละสองครั้งเช้าและเย็น จะช่วยแก้ระดูขาวและโรคบุรุษได้ผลชะงัดดีนัก (หัว)[5]
23. ใช้รักษาโรคเนื้องอกบริเวณปากมดลูก ให้นำข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้อย่างละ 25 กรัม นำมาต้มด้วยไฟอ่อน ๆ ประมาณ 3 ชั่วโมง หรือต้มให้เหลือน้ำประมาณ 100 ซีซี แล้วใช้แบ่งรับประทาน 4 ครั้ง ครั้งละ 25 ซีซี (หัว)
24. ช่วยขับน้ำชื้นในร่างกาย (หัว)
25. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (หัว, ราก)
26. ใช้เป็นยาแก้พิษและแก้พิษจากสารปรอท (หัว)
27. ดอกใช้เป็นยาแก้พิษงูเห่า (ดอก)
28. ช่วยแก้มะเร็งคุดทะราด (หัว)
29. ใช้เป็นยาทารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ นำมาบดเป็นผง ผสมกับน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันงา แล้วนำมาใช้ทาบริเวณแผล (หัว)
30. รากช่วยแก้พุพอง (ราก)
31. ช่วยรักษาฝีแผลเน่าเปื่อยพุพอง ทำให้แผลฝียุบแห้ง แก้เม็ดผื่นคัน (หัว)
32. ตำรับยาแก้ฝีทุกชนิดระบุให้ใช้หัวข้าวเย็นเหนือ 1 ส่วน, หัวข้าวเย็นใต้ 1 ส่วน, กระดูกควายเผือก 1 ส่วน, กำมะถันเหลือง 1 ส่วน, ขันทองพยาบาท 1 ส่วน และหัวต้นหนอนตายหยาก 1 ส่วน หนักอย่างละ 20 บาท และเหง้าสับปะรด 10 บาท, กระดูกม้า 4 บาท, ต้นพริกขี้หนูรวมราก 1 ต้น, ผิวไม้รวก 3 กำมือ (รวมเป็น 10 อย่าง) นำมาต้มในหม้อดินพอสมควร ใช้ดื่มหลังอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 เวลา ตำรับนี้นอกจากจะช่วยแก้ฝีทุกชนิดแล้ว ยังช่วยแก้โรคแผลกลาย รักษาแผลในหลอดลมและในลำไส้อย่างได้ผลชะงัด (หัว)
33. ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน กลากเกลื้อน ผิวหนังอักเสบ น้ำกัดเท้า (หัว)[2]หัวใต้ดินนำมาต้มกับน้ำให้เด็กอาบจะช่วยแก้อาการตุ่มแดง มีผื่นคัน และถ่ายเหลวได้ (หัว)
34. หัวช่วยฆ่าเชื้อหนอง (หัว)
35. หัวนิยมใช้เป็นยาแก้อักเสบในร่างกาย (หัว)
36. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ด้วยการใช้ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้อย่างละ 30 กรัม โกฐเขมา, โกฐหัวบัว, เจตมูลเพลิง, เถาวัลย์เปรียงอย่างละ 20 กรัม นำมาต้มรวมกันใช้เป็นน้ำรับประทาน หรือจะนำมาแช่กับเหล้า โดยใส่เหล้าให้ท่วมตัวยา ทิ้งไว้ 7 วัน แล้วนำมารับประทานก็ได้ (หัว)[2],[4]แก้อาการปวดหลังปวดเอว ปวดเมื่อยในผู้สูงอายุ (หัว)
37. ช่วยแก้อาการปวดข้ออันเนื่องมาจากลมชื้นหรือฝีหนองทั้งภายนอกและภายใน (หัว)
38. หัวมีสรรพคุณแก้เส้นเอ็นพิการ ช่วยดับพิษในกระดูก (หัว)
39. หัวนำมาต้มกับน้ำรับประทานเพื่อลดอาการปวดสำหรับหญิงอยู่ไฟหลังการคลอดบุตร (หัว)
หมายเหตุ : การใช้ตาม ยาแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน และนิยมใช้ข้าวเย็นเหนือร่วมกับข้าวเย็นใต้ โดยจะเรียกว่า "ข้าวเย็นทั้งสอง"

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของข้าวเย็นเหนือ
1. สารที่พบ ได้แก่ Alkaloid, Amino acid, Diosgennin, Saponin, Saponins, Smilax, Smilacin, Parillin, Tanin, Tigogenin ส่วนในเมล็ดพบน้ำมันหอมระเหย 11.2%
2. จากการทดลองกับหนูขาวและกระต่าย ด้วยการนำน้ำยาที่ต้มได้จากข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 4 ให้หนูทดลองกิน พบว่าสามารถช่วยยับยั้งเชื้อรา และเชื้อ Staphylo coccus ได้
3. เมื่อนำน้ำยาที่ต้มได้จากข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 มาฉีดเข้าบริเวณช่องท้องของหนูขาวและกระต่ายทดลอง พบว่าสามารถช่วยห้ามเลือดที่ออกในบริเวณช่องท้องได้

ประโยชน์ของข้าวเย็นเหนือ
       ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกได้ (ไม่ยืนยัน)

คำสำคัญ : ข้าวเย็นเหนือ

ที่มา : ้https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). ข้าวเย็นเหนือ. สืบค้น 27 เมษายน 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=1579&code_db=610010&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1579&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

พลูคาว

พลูคาว

พลูคาวเป็นพืชล้มลุกที่พบได้ทั่วไปในแถบทวีปเอเชียในแถบเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงเวียดนาม ญี่ปุ่น รวมถึงไทยด้วย เป็นที่รู้จักกันดีในทางภาคเหนือ วิธีใช้ทั้งต้นแห้งประมาณ 15-30 กรัม (ต้นสด 30-60 กรัม) นำมาแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที แล้วนำมาต้มน้ำให้เดือดประมาณ 5 นาทีแล้วนำมาดื่ม แต่หากใช้ร่วมกับสมุนไพรหรือยาชนิดอื่น ให้ต้มยาอื่นให้เดือดก่อนจึงใส่ยา ต้มให้เดือด การรับประทานถ้ามากเกินไปอาจจะทำให้หัวใจเต้นสั้นและถี่ อาจเป็นอันตรายได้

เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 1,888

งิ้ว

งิ้ว

ลักษณะทั่วไป  เป็นไม้ต้น ผลัดใบ ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลม กิ่งแผ่ ออกตั้งฉากกับลำต้น ใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกสลับ ใบย่อย 5-7 ใบ รูปไข่หรือรูปรีปลายเรียวแหลมโคนสอบแคบ ดอกสีแดง ตามปลาย ๆ กิ่ง กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ปลายแยก 3-4 แฉก ไม่เท่ากัน ด้านนอกมีขน มันเป๋นเงากลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบม้วนออก เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ จำนวนมากโคนก้าน เกสรติดกันเป็นกลุ่ม ๆ ผลรูปรี หรือรูปขอบขนาน คล้ายผลนุ่น เมล็ดสีดำ หุ้มด้วยปุยสีขาว

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 1,658

หญ้าตีนกา

หญ้าตีนกา

หญ้าปากควาย (อังกฤษ: Crowfoot grass, Beach wiregrass; ชื่อวิทยาศาสตร์: Dactyloctenium aegyptium) เป็นพืชวงศ์หญ้าและเป็นพืชฤดูเดียว แตกหน่อเป็นกลุ่ม ออกรากและยอดจากข้อของไหลที่อยู่ด้านล่าง สูง 30 - 50 ซม.ใบเป็นเส้นตรงยาว 20 ซม. มีขนที่ขอบใบ ดอกเป็นดอกช่อแบบ spike ประกอบด้วยช่อดอกย่อย 2-7 อัน ยาว 2-4 ซม. มีขนตรงกลาง วงชีวิตสั้น ออกดอกได้ตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและไหล ชอบดินแห้ง พบตามที่สูง และที่ดินรกร้าง กระจายพันธุ์ทั่วประเทศไทยในทวีปแอฟริกา พืชชนิดนี้ใช้เป็นพืชอาหารแบบดั้งเดิม โดยมีการใช้เมล็ดของพืชชนิดเป็นอาหารสัตว์เมื่อความแห้งแล้ง อดอยาก ในขณะที่ในพื้นที่อื่นๆถือว่าเป็นวัชพืช

เผยแพร่เมื่อ 09-02-2017 ผู้เช้าชม 5,487

ผักตบไทย

ผักตบไทย

ผักตบไทย มีถิ่นกำเนิดในแถบเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี อาศัยอยู่ในน้ำ มีเหง้าใหญ่ แตกลำต้นเป็นกอ มีความสูงได้ประมาณ 50-100 เซนติเมตร ลำต้นอยู่ใต้ดิน ชูก้านใบเหนือระดับน้ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือแยกต้นอ่อนไปปลูกในบริเวณที่ต้องการ มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่อินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามแหล่งน้ำจืด ริมหนองน้ำ คลองบึง ที่ชื้นแฉะ โคลนตม และตามท้องนาทั่วไป

เผยแพร่เมื่อ 10-07-2020 ผู้เช้าชม 4,784

เกล็ดมังกร

เกล็ดมังกร

ต้นเกล็ดมังกร จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีลำต้นพันหรือเลื้อยเกาะยึดไปตามต้นไม้อื่นๆ ย้อยห้อยเป็นสายลงมา ยาวประมาณ 10-50 เซนติเมตร มีรากตามลำต้น ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาวเหมือนน้ำนม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้ที่มักพบขึ้นตามบริเวณป่าเบญจพรรณหรือตามป่าทั่วๆ ไป มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ในต่างประเทศพบได้ที่มาเลเซีย

เผยแพร่เมื่อ 18-05-2020 ผู้เช้าชม 3,745

แก้ว

แก้ว

ต้นแก้ว เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศจีน และในออสเตรเลีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคในป่าดิบแล้งจากที่ราบสูงจนถึงที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาแตกเป็นร่อง ๆ เนื้อไม้สีขาวนวล เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดเต็มวัน-รำไร และความชื้นปานกลาง-ต่ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอน

เผยแพร่เมื่อ 18-05-2020 ผู้เช้าชม 6,353

จิกน้ำ

จิกน้ำ

ต้นจิกน้ำ เป็นไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ มีความสูงประมาณ 5-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มรีหรือแผ่กว้าง มีลำต้นเป็นปุ่มปม เปลือกสีน้ำตาลแตกเป็นร่องและเป็นสันแหลมตามยาว กิ่งก้านมักคดงอ ปลายกิ่งมักลู่ลง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้และอัฟกานิสถาน ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลียในแถบรัฐควีนส์แลนด์ และสำหรับประเทศไทยบ้านเราก็จะพบต้นจิกน้ำได้ทั่วทุกภาคตามริมฝั่งน้ำ ริมคลอง ริมบึง ป่าพรุและป่าชายเลน

เผยแพร่เมื่อ 26-05-2020 ผู้เช้าชม 34,779

จำปี

จำปี

จำปี (White Champaka) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกยืนต้นขนาดกลาง ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคเหนือเรียก จุ๋มปี๋ หรือจุมปี เป็นต้น อยู่ในวงศ์เดียวกับจำปี ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบ้างก็ว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ หรือประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย โดยสามารถแบ่งสปีชีส์ออกได้ประมาณ 50 ชนิดเลยทีเดียว พร้อมสรรพคุณในต้นจำปีอีกมากมายที่ให้คุณประโยชน์และรักษาโรค อาการต่างๆ รวมถึงการนำมาใช้เพื่อทำสิ่งของต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ได้อีกมากมายเลยทีเดียว

เผยแพร่เมื่อ 30-04-2020 ผู้เช้าชม 6,343

กระโดนดิน

กระโดนดิน

ต้นกระโดนดินไม้พุ่มเตี้ย สูง 10-20 ซม. รากอวบ ใบกระโดนดินใบเดี่ยว เรียงสลับ ออกเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้าง 4-7 ซม. ยาว 10-20 ซม. ปลายมนหรือเว้าเล็กน้อย โคนสอบแคบจนถึงก้านใบดูคล้ายครีบ ขอบจักเล็กๆ และถี่ แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ไม่มีก้านใบหรือมีก้านใบยาวประมาณ 2 ซม. ดอกกระโดนดินดอกใหญ่ ออกที่ยอด 1-2 ดอก ก้านดอกยาว 3-3.5 ซม. มีขนละเอียดสีเทา มีใบประดับรูปใบหอก 2 ใบ ยาวประมาณ 2 ซม. และใบประดับย่อย 2 ใบติดอยู่ที่โคนดอก ยาว 1.5-2 ซม.

เผยแพร่เมื่อ 13-05-2020 ผู้เช้าชม 2,603

ปลาไหลเผือก

ปลาไหลเผือก

ปลาไหลเผือก จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง มีความสูงตั้งแต่ 1-10 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านน้อย กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล ก้านใบออกจากลำต้นตรงส่วนปลายของลำต้น เรียงกันหนาแน่นช่วงปลายกิ่ง กิ่งก้านสั้นเป็นกระจุกที่ปลายยอดของลำต้น เป็นไม้ลงราก รากมีลักษณะกลมโตสีเขียวและยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และวิธีการตอนกิ่ง จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ต้องการน้ำและความชื้นสูง เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท มักพบขึ้นกระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าเต็งรัง

เผยแพร่เมื่อ 04-06-2020 ผู้เช้าชม 8,701