โบราณสถานทางวัฒนธรรม
เผยแพร่เมื่อ 27-06-2022 ผู้ชม 846
[16.425332, 98.9544425, โบราณสถานทางวัฒนธรรม]
บทนำ
การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย ช่วยฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนในสังคม ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการเติบโตและแข่งขันกันสูง ทุกประเทศเริ่มนำสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมของตนเองที่เป็นอัตลักษณ์มาเป็นจุดขายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกันอย่างดุเดือด จังหวัดกำแพงเพชรก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความโดดเด่นทางอัตลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรม จากการได้รับขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองมรดกโลกจาก UNESCO โดยมีอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นจุดขาย เช่นเดียวกันกับ สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเช่นเดียวกัน
โดยในการศึกษาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดกำแพงเพชรในครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาข้อมูล ประวัติ ของสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่บริเวณใจกลางเมือง โดยยึดที่ศาลหลักเมืองจังหวัดกำแพงเพชรที่เปรียบเสมือนเสาหลักกลางของจังหวัดกำแพงเพชรเป็นจุดศูนย์กลาง โดยจะศึกษาข้อมูลของสถานที่สำคัญเหล่านี้ได้แก่ ศาลหลักเมือง และ โบราณสถานที่อยู่ติดกับศาลหลักเมือง ได้แก่ วัดพระแก้ว และวัดพระธาตุ
ศาลหลักเมืองจังหวัดกำแพงเพชร
ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ที่เคยปกครองดูแลเมืองกําแพงเพชร เป็นศาลที่เก่าแก่มานานกว่า 700 ปี เชื่อกันว่าพระเจ้าวรมันต์ (เหม่) ทําด้วยศิลาแลงรูปกลมยาวประมาณ 2 เมตร ฝังโผล่พ้นดินขึ้นมาประมาณหนึ่งเมตร มีรูปเศียรเทพารักษ์อยู่บนยอดศิลาแลง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังคาศาลได้พังลงมาทับเสาหลักเมืองและเศียรเทพารักษ์ หลังจากนั้นก็อยู่ในสภาพรกร้างมาเป็นเวลานานจนถึงปี พ.ศ. 2472 รองอํามาตย์เอกหลวงมนตรีราช (หวาน) อัยการจังหวัดกําแพงเพชรได้ริเริ่มสร้างศาลหลักเมืองขึ้นใหม่โดยเป็นศาลาทรงไทย
มีเหตุการณ์ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2488 ได้มีผู้ลักตัดเศียรเทพารักษ์ไป หลวงปริวรรตวรวิจิตร (จันทร เจริญชัย) ผู้ว่าราชการจังหวัดกําแพงเพชร ได้ให้ทําขึ้นใหม่ด้วยดินจากยอดเขาสูงสุดของเขาหลวง ดินใจกลางโบสถ์ ใจกลางเจดีย์เก่าทั้งในจังหวัดกําแพงเพชร สุโขทัย ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก และตาก ต่อมานายเชาว์ วัตสุดลาภา เดินทางมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2525 ได้ไปสักการะเจ้าพ่อหลักเมืองและมีความรู้สึกว่าศาลหลักเมืองนั้นอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมไร้สง่าราศรี จึงได้มีการปรับปรุงศาลหลักเมืองขึ้นใหม่ให้สมฐานะการเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งในการบูรณะปรับปรุงศาลหลักเมืองครั้งนี้ได้คำนึงถึงความถูกต้องและความสมบูรณ์ของรูปแบบของศาลหลักเมือง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นเป็นสำคัญ โดยอาคารศาลหลักเมืองที่ปรับปรุงใหม่นี้ เป็นอาคารจัตุรมุขพร้อมเขตปริมณฑลกว้าง 17.5 x 17.5 เมตร สูงจากระดับเดิมประมาณ 19 เมตร หันหน้าเข้าหาทิศทั้งสี่ถูกต้องตามหลักโหราศาสตร์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กพื้นหินอ่อนทรายล้างสีศิลาแลง กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จและประกอบพิธีเชิญหลักเมืองและเศียรเทพารักษ์ขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม 2527 ตรงวันฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช-สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการทรงเจิมเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 16 เมษายน พุทธศักราช 2527 (Amazing Thailand, ม.ป.ป.)
ตามข้อความที่ได้บันทึกไว้บนผนังของพระหลักเมือง เป็นข้อความบอกเล่าถึงเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ของศาลหลักเมืองกำแพงเพชรเอาไว้ ดังนี้
“พ.ศ. 2472 หลวงมนตรีราชได้สร้างอาคารศาลหลักเมืองขึ้นเป็นศาลาทรงไทยทำด้วยไม้
พ.ศ. 2484 หลวงปริวรรต วรวิจิตร (จันทร์ เจริญชัย) ได้ให้นายฉกาจ กุสสุ ปั้นเศียรเทพารักษ์ขึ้นใหม่
พ.ศ. 2526 นายเชาวน์วัศ สุดสาภา ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เดินทางมารับตำแหน่ง พิจารณาเห็นว่าศาลหลักเมืองทรุดโทรมมากขาดความเป็นสง่าราศี จึงมอบให้ นายประมวล รุจนเสรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ดำเนินการปรับปรุงอาคาร บริเวณสถานที่ตามรูปแบบที่ปรากฏในปัจจุบัน สิ้นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งสิ้น 1,579,972.28 บาท โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด
16 เมษายน 2527 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเจิมเสาหลักเมืองเสาใหม่
5 พฤษภาคม 2527 พิธีเชิญเสาหลักเมือง เศียรเทพารักษ์ขึ้นศาล”
การสังเวยเจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร ในวันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกปี เรียกว่า “วันพญาวัน” ซึ่งประชาชนจำนวนมากจะมาชุมนุมพร้อมกันที่ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร มักเรียกประชาชนที่มาร่วมกันว่า “ลูกช้าง”ทุกคนที่มาชุมนุมกันจะบนบานศาลกล่าวขอพรต่างๆ และพวกที่ยังไม่ได้แก้บนจะแก้บนให้เสร็จสิ้น ในวันนี้ นอกจากนี้ พราหมณ์จะทำพิธีบวงสรวงประจำปี เสร็จแล้วทำพิธีสรงน้ำเจ้าพ่อหลักเมืองและนิมนต์พระสงฆ์มาถวายภัตราหารเพลด้วย ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร หรือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร ตั้งอยู่ที่บริเวณวัดพระแก้ว ปากทางเข้าโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ถนนสายกำแพงเพชร-สุโขทัย ผ่านหน้าศาล ชาวเมืองกำแพงเพชรและประชาชนทั่วไปให้ความนับถือเลื่อมใสศรัทธาอย่างมากและเป็นที่กล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นศาลเจ้าตามกฎเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า พ.ศ.๒๔๖๓ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๘ และอยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองกำแพงเพชร (องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร, ม.ป.ป.)
วัดพระแก้ว
เป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางเมืองกำแพงเพชร ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นวัดที่สำคัญอยู่ติดกับบริเวณวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย เป็นวัดที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาสคือเป็นวัดที่ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ชื่อวัดพระแก้ว นี้เรียกกันมาแต่เดิม เพราะในตำนาน พระแก้วมรกต กล่าวว่า ในสมัยอยุธยาวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ถ้าพระแก้วมรกตได้มาประดิษฐานอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรจริง ก็น่าจะต้องอยู่บนบุษบกที่ย่อมุมอย่างงดงามนี้ โดยสร้างไว้บนพื้นยกสูงกว้างใหญ่มาก ด้านหน้าของบุษบกเป็นแท่นสูงใหญ่ ข้างบนยกพื้นสี่เหลี่ยม เข้าใจว่าเดิมอาจจะเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ติดกับแท่นใหญ่นี้เป็นโบสถ์ มีใบเสมาทำด้วยหินชนวนอยู่ล้อมรอบ เป็นใบเสมาเกลี้ยงๆ มีขนาดใหญ่ ไม่มีลวดลายอะไร ภายในโบสถ์วัดพระแก้วมีพระประธานขนาดใหญ่ ที่เดิมหักครึ่งซีก และล้มอยู่ แต่ได้รับการบูรณะเรียบร้อยแล้ว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
โบสถ์หลังนี้มีการก่อสร้างเป็น 2 สมัย คือ สมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา เป็นไปได้ว่า ในสมัยเดิมโบสถ์หลังนี้คงเป็นวิหาร ต่อมาได้รับการดัดแปลงเป็นโบสถ์ในสมัยอยุธยา วัดพระแก้วมีสิ่งก่อสร้างเรียงเป็นแนวยาวในแกนทิศตะวันออก – ตะวันตก กำแพงวัดเป็นศิลาแลงกลมทั้งท่อนสูงประมาณเมตรเศษ แผนผังของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานไปกับกำแพงเพชร กำแพงวัดขาดเป็นตอน ๆ สิ่งก่อสร้างภายในใช้ศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่ โดยสิ่งก่อสร้างต่างๆนั้นคงมีการสร้างเพิ่มเติมต่อเนื่องมาเรื่อยๆในหลายสมัย ด้านหน้าสุดทางทิศตะวันออก ของวัดเป็นวิหารขนาดใหญ่ที่มีการยกพื้นสูงมาก ที่ฐานชุกชียังเหลือร่องรอยของโกลนพระพุทธรูปศิลาแลงพระพุทธรูปประธาน ด้านหลังวิหารเป็นอาคารที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันสันนิษฐานว่าเป็นมณฑป ถัดจากนั้นเป็นฐานย่อมุม 3 ชั้น ด้านบนพังพลายหมดแล้วซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระปรางค์ซึ่งฐานนี้เชื่อกันว่าเป็นฐานบุษบกที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตถัดมาในส่วนตรงกลางของวัดเป็นเจดีย์ประธานทรงระฆังที่ฐานทำเป็นซุ้มคูหาโดยรอบมีประติมากรรมพระพุทธรูปและรูปสิงห์อยู่ในซุ้มแต่ชำรุดหมด จำนวน 32 ตัว (กรมศิลปากร, ม.ป.ป.)
ถัดมาเป็นวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 3 องค์ เป็นพระพุทธรูปไสยาสน์ 1 องค์ และพระพุทธรูปมารวิชัย 2 องค์ซึ่งพระพักตร์ของพระพุทธรูปเป็นพระพักตร์เหลี่ยมซึ่งเป็นอิทธิพลจากศิลปะอยุธยาตอนต้น
ด้านหลังสุดของวัดเป็นกลุ่มเจดีย์ที่มีเจดีย์ประธานทรงระฆังที่มีฐานช้างล้อมรอบ เรียกกันว่า เจดีย์ช้างเผือก มีรูปปั้นช้างที่ฐานโดยรอบจำนวน 32 เชือก ทางด้านตะวันออกของเจดีย์ช้างล้อมนี้ มีสิ่งสำคัญคือ พระบาทคู่ ขนาดใหญ่ของพระพุทธรูปทำด้วยศิลาแลง แต่ไม่ปรากฏมีชิ้นส่วนของพระพุทธรูปเหลืออยู่เลย โบราณวัตถุสำคัญที่พบในบริเวณวัดคือ ขันสัมฤทธิ์ ขนาดใหญ่ ซึ่งพบที่ฐานเจดีย์ มุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ภายในขันมีกระดูกซึ่งเผาแล้วบรรจุไว้ นอกจากนี้ยังพบอาวุธเป็นรูปสามง่าม ทำด้วยเหล็ก และยังได้พบเศียรพระพุทธรูปสมัยอยุธยาขนาดเล็ก รวมทั้งพระพุทธรูปสมัยอู่ทองอีกด้วย ในกรุนี้มีพระเครื่องประเภทพระกรุจำนวนไม่มากนัก แต่มีพระอยู่พิมพ์หนึ่ง เป็น พระยืนปางเปิดโลก มีขนาดจิ๋ว ลักษณะเรียวแหลมยาวเหมือนเข็ม จึงมีชื่อเรียกว่า พระกำแพงเข็ม ซึ่งเป็นปางที่นิยมมากที่สุด จากการขุดแต่งวัดพระแก้วพบฐานเจดีย์แบบต่างๆ กัน รวม 35 ฐาน วิหาร 10 วิหาร ฐานโบสถ์ 1 แห่ง แสดงถึงความเป็นวัดใหญ่และมีความสำคัญมาก จากรูปแบบศิลปะและหลักฐานที่พบ สันนิษฐานว่าวัดพระแก้วมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20-22 ในสมัยอยุธยาที่มีศิลปะสุโขทัยและอยุธยาผสมอยู่ปัจจุบันงานนบพระเล่นเพลง และงานวันสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร ก็จัดให้มีขึ้นในบริเวณวัดพระแก้วแห่งนี้ (กรมศิลปากร, ม.ป.ป.)
วัดพระธาตุ
เป็นวัดที่ก่อสร้างด้วยแบบสถาปัตยกรรมศิลปะกำแพงเพชร ซึ่งปัจจุบันเรียกขานกันว่า วัดพระธาตุ เป็นวัดที่สำคัญภายในกำแพงเมืองกำแพงเพชร อยู่กึ่งกลางของเมืองกำแพงเพชร โบราณสถานภายในวัดประกอบด้วย เจดีย์ประธาน 1 องค์ วิหาร 2 หลัง มีระเบียงคดล้อมรอบเจดีย์ประธานและวิหาร เจดีย์ราย 2 องค์ ที่มุมด้านหน้าวัดกำแพงวัด ศาลา 1 หลัง ที่ด้านนอกกำแพงวัดทางทิศใต้ และสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมอยู่ทางทิศตะวันออกด้านหน้าวัด
เหตุที่ชื่อว่าวัดพระธาตุ เพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางเมือง เช่นเดียวกับวัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย จากพระราชนิพนธ์ เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนวัดนั้นคงเป็นอย่างวัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงทวาราวดี มีเจดีย์ โบสถ์วิหารใหญ่ๆ งามๆอยู่มาก การก่อสร้างใช้ศิลาแลงเป็นพื้น มีที่ก่อซ่อมแซมด้วยอิฐภายหลังก็มาก มีกำแพงแก้วสูงประมาณ ๓ ศอก ล้อมรอบลาน ต่อลงไปทางทิศใต้มีลานอีกลานหนี่ง มีกำแพงแก้วล้อมรอบเหมือนกัน ในที่กลางมีพระธาตุใหญ่ตั้งอยู่บนลานสูง พระวิเชียรปราการ ตั้งชื่อไว้ว่า วัดมหาธาตุ (สันติ อภัยราช, ม.ป.ป.)
จากแผนผังของวัด ทำให้สันนิษฐานว่าวัดพระแก้วและวัดพระธาตุ เดิมอาจเป็นวัดเดียวกัน ต่อมา สร้างวัดพระแก้วต่อไปข้างหน้า จึงทำให้วัดแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ แต่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมมีลักษณะที่แตกต่างกัน คือ วัดพระแก้วสร้างด้วยศิลาแลง แต่วัดพระธาตุสร้างด้วยอิฐ จึงทำให้สันนิษฐานว่าสร้างที่หลังวัดพระแก้ว ลักษณะของสถาปัตยกรรมจัดเป็นแบบเฉพาะของตระกูลช่างกำแพงเพชร มีฐานแปดเหลี่ยมต่อจากฐานเขียงอีกหลายชั้น ต่อจากนั้นเป็นลักษณะของเจดีย์ทรงกลม ตระกูลช่างกำแพงเพชร มีผู้พบจารึกลานเงินได้ที่วัดนี้ ต่อมาเมื่อข้าศึกถอยกลับไปหมดแล้ว เจ้าสร้อยแสงดาว ซึ่งมาจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่
จากการขุดค้นของกรมศิลปากร พบพระพุทธรูปทองคำและเงิน ขนาดหน้าตัก 3 นิ้ว เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2543 ประมาณ 10 องค์ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร ความจริงก่อนหน้าไม่กี่ปีได้มีการลักลอบขุดพบพระว่านหน้าทองจำนวนมาก จึงยืนยันได้ว่า วัดพระธาตุ เป็นวัดหลวง ประจำเมืองกำแพงเพชร (สันติ อภัยราช, ม.ป.ป.)
บทสรุป
การศึกษาข้อมูลและประวัติความเป็นมาของโบราณสถานทั้งสามแห่งที่อยู่บริเวณใจกลางเมืองกำแพงเพชรแล้วนั้นทำให้เราได้ทราบถึง ลักษณะโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมแบบกำแพงเพชร สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองกำแพงเพชร และความเจริญรุ่งเรื่องของสังคมในสมัยก่อนได้อย่างชัดเจน ซึ่งโบราณสถานส่วนใหญ่ที่อยู่บริเวณใจกลางเมืองนั้นเป็นศาสนสถานหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีความสำคัญในการเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในสมัยก่อนจนมาถึงปัจจุบัน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ภาคภูมิใจของคนเมืองกำแพงเพชร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งของชาติไทย
คำสำคัญ : โบราณสถาน
ที่มา : https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=โบราณสถานทางวัฒนธรรมบริเวณใจกลางเมืองจังหวัดกำแพงเพชร
รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). โบราณสถานทางวัฒนธรรม. สืบค้น 14 ธันวาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2113&code_db=610009&code_type=01
Google search
วัดเตาหม้อ เมื่อได้ยินชื่อวัดเตาหม้อ จะไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นวัดสำคัญ คิดว่าเป็นวัดขนาดเล็กวัดหนึ่ง ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร แต่เมื่อได้มีโอกาสเข้าชมแล้วจะรู้สึกถึงความมหัศจรรย์ ของ วัดเตาหม้อ
เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 2,667
เมื่อท่านชมโบราณสถานฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิงตามสมควรแล้ว ถ้ามีเวลาพอก็ข้ามสะพานกำแพงเพชรไปยังเมืองนครชุมฝั่งตะวันตก ท่านจะพบเจดีย์มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์กโลทัยอยู่ทางซ้ายมือ ไม่ห่างจากถนนมากนัก วัดนี้ชื่อวัดเจดีย์กลางทุ่ง ฐานสีเหลี่ยมกว้างด้านละ 17 เมตร มีฐานเชียงซ้อนกัน 3 ชั้น แล้วถึงหน้ากระดานย่อเหลี่ยม 4 มุม ๆ ละ 5 เหลี่ยม ตอนบนเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์หรือดอกบัวตูม วัดนี้ยังไม่ได้ขุดแต่งบูรณะ
เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 4,756
ตั้งอยู่กลางเมืองกำแพงเพชร เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโบราณสถานมรดกโลกในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นวัดที่สำคัญอยู่ติดกับบริเวณวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย ภายในบริเวณวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธานที่ฐานมีสิงห์ล้อม เจดีย์ทรงกลมที่ฐานมีช้างรอบ วิหาร มณฑป อุโบสถ และเจดีย์ราย ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงเป็นแท่งๆ โดยรอบ
เผยแพร่เมื่อ 03-02-2017 ผู้เช้าชม 7,610
เป็นวัดที่ก่อสร้างใหญ่โต มีเจดีย์และวิหารมาก อยู่ริมถนนไปอำเภอพรานกระต่าย ห่างจากประตูโคมไฟไปทางเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร กำแพงวัดเป็นศิลาแลง กลางวัดมีฐานพระเจดีย์แปดเหลี่ยมใหญ่กว้างด้านละ 16 เมตร ด้านหน้าวัดอาวาสใหญ่ ริมถนนมีบ่อสี่เหลี่ยมใหญ่ขุดลงไปในพื้นศิลาแลงกว้าง 9 เมตร ยาว 17 เมตร ลึก 7-8 เมตร เรียกว่า “บ่อสามแสน” และตรงด้านหน้าเจดีย์ประธานด้านทิศเหนือ มีบ่อศิลาแลงขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีฐานวิหารทั้งใหญ่และเล็กรวม 10 วิหาร ฐานเจดีย์รวม 9 ฐาน วัดนี้อยู่ริมถนนสะดวกในการเข้าชม
เผยแพร่เมื่อ 06-02-2017 ผู้เช้าชม 3,428
วัดป่าแลง ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มีวัดร้างที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างมากมายนับร้อยวัด วัดป่าแลงเป็นวัดหนึ่งที่อยู่หน้าวัดหมาผี ได้รับการบูรณะและตกแต่งอย่างงดงามถูกต้องตามหลักการและนับว่าสมบูรณ์ที่สุดโดยมีข้อมูลอย่างครบถ้วน นับว่าน่าศึกษายิ่งนัก วัดป่าแลง เป็นวัดขนาดกลางมีเนื้อที่ 21,700 ตารางเมตร มีบ่อแลงโดยรอบ จึงเรียกกันตามชื่อสามัญว่าวัดป่าแลง
เผยแพร่เมื่อ 22-02-2017 ผู้เช้าชม 1,664
เป็นวัดสำคัญ ที่สุดของบ้านร้านดอกไม้ ซึ่งปัจจุบัน เรียนขานกันว่าบ้านลานดอกไม้ ซึ่งมีที่มาว่าเมื่อเจ้าดารารัศมี พระวรชายา ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครา เสด็จ กลับชียงใหม่ ได้ประทับที่ บ้านร้านดอกไม้ ซึ่งประชาชนได้ เตรียมร้านดอกไม้เพื่อเตรียมการรับเสด็จเจ้าดารารัศมี ชาวบ้านกล่าวขานกันว่า เจ้าดารารัศมี เรียกชุมชนแห่งนี้ว่าบ้านร้าน ดอกไม้ ต่อมา เลือนไปกลายเป็นบ้านลานดอกไม้ ในที่สุด
เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 4,169
อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยวัดตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัดพระแก้ว มีพระเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมเป็นประธาน ล้อมรอบด้วยระเบียบคด ที่เชื่อมต่อกับวิหารด้านทิศตะวันออก ที่สองข้างวิหารมีเจดีย์รายอยู่ข้างละ 1 องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ
เผยแพร่เมื่อ 11-02-2017 ผู้เช้าชม 2,505
วัดท่าหมัน บ้านปากคลอง เคยเป็นวัดที่เก่าแก่และเคยเจริญรุ่งเรือง บ้านปากคลองเหนือ ที่เรียกว่าวัดท่าหมัน เพราะมีต้นหมันขนาดใหญ่ขึ้นเป็นร่มเงาของท่าน้ำ ที่มีการคมนาคมทางน้ำ มีการค้าขายทุกชนิดมีสินค้าออกจากป่า ได้หวาย น้ำมันยาง ไม้ท่อน ไม้แผ่นที่ขายเป็นยก สีเสียด น้ำผึ้ง หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ทุกชนิดมาขึ้นซื้อขายกันที่ท่าหมันแห่งนี้ คือบริเวณตลาดนครชุมปัจจุบัน ท่าน้ำที่มีในตอนนี้ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีผู้คนมาใช้มากที่สุดแห่งหนึ่งที่บ้านปากคลองสวนหมาก ร้านผัดไทยแม่สุภาพปากคลอง ก็เคยเป็นที่ตั้งของวัดท่าหมันเช่นกัน ที่คนปากคลองรู้จักกันดี
เผยแพร่เมื่อ 20-04-2020 ผู้เช้าชม 1,334
บริเวณอรัญญิก เมืองนครชุม มีวัดโบราณเก่าแก่แปลกและสวยงามอยู่วัดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกขานกันว่าวัดหนองพิกุล อยู่บริเวณทางเข้าวัดพิกุล หมู่ที่ 3 ตำบลนครชุมจังหวัดกำแพงเพชร ในท่ามกลาง วัดซุ้มกอ วัดหนองพุทรา วัดหนองลังกา วัดหนองยายช่วย วัดหม่องกาเล และบริเวณวัดเจดีย์กลางทุ่งอันงดงามตระการตา
เผยแพร่เมื่อ 12-02-2017 ผู้เช้าชม 4,307
วัดเชิงหวาย เป็นวัดร้าง ที่อยู่นอกเขตอุทยานประวัติศาสตร์ เป็นวัดขนาดใหญ่ มีเจดีย์ประธานทรงลังกา ที่มีรูปทรงชะลูดงดงาม ฐานมี 4 เหลี่ยม ซ้อนกัน 4 ชั้น ยอดเจดีย์พังตกลงมา มีประวัติเล่ากันต่อมาว่า ผู้ขุดค้นและทำลายเจดีย์ เมื่อ 70 ปีก่อนนั้น ได้นำหวาย ในบริเวณวัด คล้องยอดเจดีย์กับต้นไม้ขนาดใหญ่ และโค่นต้นไม้นั้น ทำให้แรงดึงของต้นไม้ทำให้ยอดเจดีย์พังตกลงมาด้วย เหตุที่เรียกว่า วัดเชิงหวาย เพราะ บริเวณนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งของดงหวาย
เผยแพร่เมื่อ 22-02-2017 ผู้เช้าชม 2,027