กระทงเปลือกข้าวโพด ตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร

กระทงเปลือกข้าวโพด ตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2022 ผู้ชม 4,650

[16.590893, 99.4002271, กระทงเปลือกข้าวโพด ตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร]

บทนำ
         การทำกระทงเปลือกข้าวโพด ของตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ถูกทิ้งหลังจาการเก็บเกี่ยวทางการเกษตรจากการปลูกข้าวโพด เนื่องจากมีอยู่มากจึงมีปัญหาเกิดการเผาเปลือกข้าวโพด การนำเปลือกข้าวโพดไปทิ้งตามแม่น้ำจึงเกิดผลเสียต่างๆ ทั้งผลเสียจากมลพิษทางอากาศและน้ำเน่าเสีย ชาวบ้านจึงนำเปลือกข้าวโพดมาแปรรูปทำกระทง จากภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีฝีมือจากการเย็บบายศรีจากใบตอง มาเย็บเปลือกข้าวโพด นำเปลือกข้าวโพดไปตากแห้งย้อมสีให้สวยงามแล้วนำมาขึ้นรูปต่อกันจนเกิดเป็นรูปร่างตามต้องการ การนำดอกหญ้าแห้งที่มีอยู่ในพื้นที่มาย้อมสีและตกแต่งจนเกิดความสวยงามเป็นความแปลกใหม่และเป็นที่นิยมต่อความต้องการของลูกค้าจนเกิดเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาเกี่ยวกับ 1) ความเป็นมาของกระทงเปลือกข้าวโพด 2) ความสำคัญของกระทงเปลือกข้าวโพด 3) วัสดุผลิตภัณฑ์เพื่อทำกระทงเปลือกข้าวโพด 4) ขั้นตอนการผลิตกระทงเปลือกข้าวโพด 5) ประเภทการใช้งาน และ 6) ช่องทางการจำหน่ายกระทงเปลือกข้าวโพด

ความเป็นมาของกระทงเปลือกข้าวโพด
         การประดิษฐ์กระทง สมัยก่อนใช้วัสดุพื้นบ้านหรือตามธรรมชาติ เช่น ทำจากใบตอง หยวกกล้วยมาพับตกแต่งประดับด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และวัสดุตามธรรมชาติมาประดิษฐ์ เป็นวัสดุย่อยสลายง่าย แต่ปัจจุบันกลับนิยมใช้วัสดุโฟม ซึ่งย่อยสลายยาก ทำให้แม่น้ำลำคลองสกปรก เน่าเหม็น เกิดมลภาวะเป็นพิษ ต่อมาชาวบ้านได้เริ่มทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติ โดยเริ่มจากหาเก็บเปลือกมะพร้าว ตามบ้านชาวบ้านที่ปอกทิ้ง เก็บเปลือกข้าวโพดจากชาวนาที่หักข้าวโพดไปแล้ว และดอกกก หรือหญ้ากกซึ่งมักจะออกช่วงหน้าฝน โดยเริ่มเก็บตั้งแต่ช่วงต้นปี พอใกล้จะถึงเทศกาลลอยกระทง ก็จะมานั่งรวมกลุ่มกันทำกระทง โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำบายศรีที่มีอยู่ มาใช้ในการพับกลีบเปลือกข้าวโพด ทำกลีบกระทงแทนใบตองสด ซึ่งมีราคาสูงและพับเปลือกข้าวโพดทำเป็นดอกไม้ ร่วมกับดอกกก ดอกหญ้ามุ้ง ในท้องนานำมาตากแห้ง แล้วย้อมสี นำมาประกอบกันกับฐานที่ใช้จากเปลือกลูกมะพร้าวแห้ง ตัดเป็นรูปทรงตามต้องการ เช่น ทรงกลม ทรงรี รูปทรงหัวใจ จากนั้นประดับตกแต่งให้มีสีสันที่สดใสสวยงามอีกนิดหน่อย ก็จะออกมากระทงสีสันสดใสสวยงาม จะได้กระทงทรงกลม กระทงรูปดาว รูปหัวใจ ซึ่งตอนนี้มีด้วยกันทั้งหมด 9 แบบ ถ้าจะเน้นความสวยงามสำหรับตั้งโชว์ก็จะเป็นกระทงรูปนกยูงรำแพน กระเช้าหงส์ กระทงนกคู่ ที่มีความสวยงามละเอียดอ่อน ซึ่งวัสดุที่นำมาประดิษฐ์นั้นล้วนใช้วัสดุธรรมชาติทั้งสิ้น (แนวหน้า, 2563)
         ซึ่งสอดคล้องกับการสัมภาษณ์ตรงที่ว่า “เหตุผลที่เลือกทำกระทำกระทงเปลือกข้าวโพดเพราะว่าที่นี่เริ่มต้นคือ วัสดุเหลือใช้จากเปลือกข้าวโพดมีเยอะมาก เพราะที่มีส่วนใหญ่แล้วทำไร่ทำนาแล้วก็ทำข้าวโพด พอเปลือกข้าวโพดมีจำนวนเยอะมากทำให้มีปัญหา ทำให้อากาศเป็นพิษเพราะประชาชนส่วนใหญ่นั้นเผาเปลือกข้าวโพด บางที่ไปสีข้าวโพดที่ริมแม่น้ำแล้วก็ทิ้งลงในน้ำหรือกองไว้ พอลมพัดมาก็ปลิวเป็นอันตรายเวลาสัญจรตามถนน จริงๆ แล้วการทำกระทงเปลือกข้าวโพดเกิดขึ้นเพราะภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีฝีมือจากการทำบายศรีเย็บใบตอง ซึ่งในปัจจุบันนี้ใบตองมีราคาที่แพงและหายาก พอเห็นว่าตัวเปลือกข้าวโพดนี้ลองเอามาคลี่ออกมามันมีลักษณะที่กว้าง แล้วพอพรมน้ำมันมีลักษณะที่ยืดหยุ่นเวลาพับสามารถจับจีบเป็นรูปแบบมากมายนำดอกไม้ตากแห้งมาย้อมสีตกแต่งก็ออกมาสวย พอผู้สูงอายุเริ่มนำปราชญ์ชุมชนหรือว่าปราชญ์ชาวบ้านมาใช้ทำออกมาในรูปแบบต่างๆ สวย จึงมีการถ่ายทอด ซึ่งทุกบ้านนั้นทำข้าวโพดอยู่แล้วมันมีวัสดุอยู่แล้วซึ่งเราก็ได้รับการถ่ายทอดไปทั่วตำบลลานดอกไม้ตกเลย จึงเป็นที่มาของการทำกระทงเปลือกข้าวโพดสร้างรายได้ (สตรีรัตน์ ชูอินทร์, การสัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2563)
         นางน้ำทิพย์ ภูรี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 และเป็นเหรัญญิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกระทงตำบลลานดอกไม้ตก เล่าว่า “คนทำกระทงเปลือกข้าวโพดคนแรกเลยคือนางทองรวม คุณนาน กับกลุ่มเพื่อนในปี พ.ศ.2538 แต่ก่อนทำกระทงเปลือกข้าวโพดนั้นในอดีตชาวบ้านตำบลลานดอกไม้นั้นไม่ได้ทำกระทงเปลือกข้าวโพดขายเป็นเป็นอาชีพ แต่เป็นการทำกระทงถวายวัด ในแต่ละปีชาวบ้านจะช่วยกันทำกระทงใบตองเพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินมาทางเที่ยวชมงานลอยกระทงแล้วนำเงินมาเข้าวัด แต่ด้วยระยะเวลาที่มันน้อยแค่ 2 – 3 วัน มันทำไม่ทันและไม่พอกับนักท่องเที่ยวเพราะกระทงทำจากใบตองสด ด้วยความที่อยากจะหาเงินเข้าวัดเยอะ ๆ ทำกระทงไว้เยอะ ๆ เลยพากันคิดหาวิธีที่จะทำเลยพากันทำกระทงใบตองแห้ง ชาวบ้านได้นำใบตองไปตากแดดให้แห้งแล้วมาทำเป็นกลีบกระทง กับเอาเปลือกมะพร้าวมาทำฐาน ใบตองพอมันแหงก็เป็นสีน้ำตาลแล้วมันไม่สวยแต่มันก็ทำได้หลายใบเลยพากันไปเอาดอกหญ้าตากแห้งย้อมสีตกแต่งเอามันก็ทำได้แต่ไม่ค่อยตอบโจทย์ เลยพากันมาเห็นเปลือกข้าวโพดจากที่เกษตรกรเขาเอาข้าวโพดไปสีแล้วเหลือเปลือกมันเลยลองเอามาทำดูแล้วมันสวย โดยใช้เปลือกข้าวโพดและดอกหญ้ามาตกแต่งแตงย้อมสีให้สวยงาม ปรากฏว่าขายดีมาก คนจากต่างจังหวัดเขามาเห็นแล้วเขาซื้อ บางคนซื้อ 3 – 4 กระทง แต่ไม่ได้เอาไปลอยเอากลับไปฝากญาติเพราะมันมีสีสันที่สวยงามเหมือนมันเป็นของที่แปลกใหม่ แล้วต่อคนในชุมชนเลยมองเห็นว่ามันน่าจะขายได้ เลยพากันไปเรียนรู้การทำจากนางทองรวมเพื่อทำขายส่งไปขายให้กับญาติพี่น้องที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัด ต่อมาก็มีนักธุรกิจ พวกพ่อค้าคนกลางเขามารับซื้อไปขาย ก็เลยเกิดการเรียนรู้แล้วพากันเริ่มออกแบบ จากที่มันเป็นวงกลมธรรมดาก็พากันคิดหาทำรูปใหม่ๆ ทำเป็นนกเป็นหัวใจกันจากนั้นก็พากันทั้งตำบลเลย แต่ที่เริ่มโด่งดังกันสุดๆ เลยก็คือปี พ.ศ.2550” (น้ำทิพย์ ภูรี, การสัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2563)
         จากข้างต้นสรุปว่าในอดีตชาวบ้านได้ทำกระทงใบตองขายแต่ไม่พอต่อความต้องการของลูกค้า และวัสดุจากใบตองนั้นอยู่ได้ไม่นานจึงคิดหาวิธีที่จะเก็บไว้ได้นานและทำได้เป็นจำนวนมาก จึงได้ลองทำกระทงจากเปลือกข้าวโพดที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรแล้วซึ่งทุกบ้านนั้นมี และได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาของชาวบ้านในการทำบายศรีมาพับกลีบเปลือกข้าวโพดและตกแต่งให้ดูสวยงาม จนสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชน  

ความสำคัญของกระทงเปลือกข้าวโพด
         เอกลักษณ์กระทงเปลือกข้าวโพด คือ ทำจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ และสามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าเป็นกระทงใบตอง ขนมปัง หรือวัสดุอื่น ๆ จะเก็บได้ไม่นาน แต่กระทงเปลือกข้าวโพดเก็บได้นาน ไม่เน่าเสียง่าย และที่สำคัญน้ำหนักเบา จึงเป็นที่ต้องการของตลาด และนับเป็นการสืบสานประเพณีไทย โดยใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาตินั้น (แนวหน้า, 2563) จึงถือได้ว่าเป็นกระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากเก็บขึ้นมาก็สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย (สตรีรัตน์ ชูอินทร์, การสัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2563)
         แม้ว่ากระทงเปลือกข้าวโพดอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมีการทำออกมาจำหน่ายตั้งแต่ปี 2539 แต่ด้วยกระแสตอบรับที่ดีในปีที่ผ่านมา ในปีนี้จึงได้มีพ่อค้า แม่ค้าสนใจทำกระทงเปลือกข้าวโพดออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก แหล่งผลิตกระทงเปลือกข้าวโพดก็ต้องเป็นที่จังหวัดกำแพงเพชร เพราะมีการทำไร่ข้าวโพดจำนวนมาก จึงมีเปลือกข้าวโพดที่เป็นขยะทิ้งจำนวนมาก และด้วยเหตุนี้เองจึงได้เป็นที่มาของแนวคิดการนำเปลือกข้าวโพดวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาแปรรูป ที่ผ่านมาไม่ได้เห็นเฉพาะกระทงเท่านั้น แต่มีของแต่งบ้านในรูปแบบต่างๆ ที่ทำจากเปลือกข้าวโพดออกมาจำหน่าย เช่น ตุ๊กตาเปลือกข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับการสัมภาษณ์ตรงที่ว่า “กระทงเปลือกข้าวโพด คือ ทำจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ และสามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าเป็นกระทงใบตองจะเก็บไว้ได้ไม่นานก็เหี่ยวหรือเน่าไม่สวย แถมน้ำหนักของกระทงกาบมะพร้าวก็มีน้ำหนักเบาเวลาลูกค้ามารับใส่ถุงได้หลายอันกระทงทับกันก็ไม่ได้เสียหาย และยังทำได้ตลอดทั้งปีเพราะที่นี่ปลูกข้าวโพดเยอะ พอเอาข้าวโพดไปสีแล้วก็เอาเปลือกมาตากแห้งไม่ต้องทิ้ง” (รุ่งทิพย์ ทรัพย์เอี่ยม, การสัมภาษณ์, 16 สิงหาคม 2563)
         นางสาวพรพรรณ เพิ่มพิพัฒน์ (คุณแอน) หนึ่งในผู้ผลิตกระทงเปลือกข้าวโพด เล่าว่า สำหรับกระทงเปลือกข้าวโพดของเรามีฐานการผลิตอยู่ที่ บ้านอมฤต ตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร ถือได้ว่าเราเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มทำกระทงเปลือกข้าวโพด และทำมานานตั้งแต่ปี 2539 เริ่มแรกขายเฉพาะในพื้นที่ แต่พอทำได้ระยะหนึ่งเริ่มเข้ามาทำตลาดในกรุงเทพฯ โดยแอนรับหน้าที่ทำงานด้านการตลาด และนำสินค้าเข้ามาจำหน่าย แต่พอต่อมาได้รับความนิยมมากขึ้น มีการนำเข้ามาขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต และมีผู้ผลิตรายอื่นๆ ในจังหวัดกำแพงเพชรทำจำหน่าย และส่วนใหญ่เริ่มขายในเว็บไซต์ ปัจจุบันกระทงเปลือกข้าวโพดมีขายทั่วประเทศ โดยดูแบบและสั่งซื้อกันผ่านทางเว็บไซต์ ข้อดีของกระทงเปลือกข้าวโพด คือ ทำจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ และสามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าเป็นกระทงใบตอง ขนมปัง หรือวัสดุอื่น ๆ จะเก็บได้ไม่นาน แต่กระทงเปลือกข้าวโพดเก็บได้นาน ไม่เน่าเสียง่าย และที่สำคัญน้ำหนักเบา โดยวัสดุที่นำมาทำกระทง ประกอบด้วย ฐานกระทงจะทำจากเปลือกมะพร้าว กลีบและดอกไม้กลางจะทำจากเปลือกข้าวโพด และหญ้า ซึ่งหญ้าที่ใส่ดอกไม้เป็นหญ้าจริงที่เราเอามาตากแดด และย้อมสีอีกครั้งหนึ่ง โดยทางกลุ่มจะคัดเลือกเปลือกข้าวโพดที่เป็นข้าวโพดพันธุ์เลี้ยงสัตว์ เพราะมีการปลูกกันมากในพื้นที่ ซึ่งในส่วนของขั้นตอนการทำกระทงเปลือกข้าวโพดไม่ยาก เพราะมีการพับกลีบคล้ายกับกระทงใบตอง ดังนั้น จึงปรับรูปแบบของกระทงใบตองมาใช้กับกระทงเปลือกข้าวโพดได้ สำหรับรูปแบบของกระทงเปลือกข้าวโพด ปัจจุบันจะทำออกมาใน  4 รูปแบบหลัก คือ ทรงกลม ทรงหัวใจ ทรงดาว และทรงเรือ ส่วนรูปแบบอื่น ๆ ก็มีการคิดดัดแปลงขึ้นมาใหม่ เช่น รูปนกยูง เป็นต้น และปัจจุบันเริ่มเห็นกระทงเปลือกข้าวโพดมีสีสันมากขึ้น ซึ่งมาจากการนำเปลือกข้าวโพดมาย้อมสีให้มีสีสันต่าง ๆ แล้วแต่กลุ่มผู้ผลิตว่าจะออกแบบกระทงออกมาอย่างไร (ผู้จัดการออนไลน์, 2563) 

วัสดุผลิตภัณฑ์เพื่อทำกระทงเปลือกข้าวโพด
        วัสดุผลิตภัณฑ์ในการทำกระทงเปลือกข้าวโพดประกอบด้วย
        1. เปลือกข้าวโพด ที่ใช้ทำกระทงควรเป็นพันธุ์ 984 เพราะเป็นพันธุ์ข้าวโพดที่ดีที่สุดเปลือกบางเนียนไม่มีรอยที่เปลือกสะดวกต่อการทำกลีบกระทง
        2. เปลือกมะพร้าว ควรเลือกมะพร้าวที่แห้งแล้วจะเป็นมะพร้าวเปลือกขุยหรือไม่เป็นขุยก็ได้นำมาทำเป็นฐานกระทง
        3. ดอกหญ้า นำมาจากต้นกกแล้วตัดเอาแต่ส่วนยอดแล้วนำไปตากแห้งจะได้ดอกหญ้าที่นำมาใช้ตกแต่งกระทง
        4. กระดาษย่น สีต่าง ๆ ใช้กระดาษยี่ห้อไหนตามร้านค้าทั่วไปใช้มาทำเป็นฐานติดกับเปลือกมะพร้าว
        5. กาว เป็นกาวลาเท็กซ์ใช้ทายึดให้ดอกหญ้าติดกับฐานกระทง
        6. สีย้อมกก ใช้เป็นสีย้อมผ้าของยี่ห้อตราช้างใช้ย้อมเปลือกข้าวโพดและดอกหญ้าให้มีสีสันที่สวยงาม
        7. ลวดเย็บกระดาษ ใช้ลวดที่มาขนาดเล็กง่ายต่อการม้วนใช้เย็บกระดาษย่น
        8. กรรไกร ใช้กรรไกรทั่วไปที่เป็นปากเรียบใช้ตัดตกแต่งสิ่งที่เป็นส่วนเกินของกระทงออก
        9. ลูกแม็ก แม่แม็ก ใช้เป็นขนาดกลางใช้แม็กตัวเปลือกข้าวโพดมาทำเป็นกลีบ
        10. กระบอกฉีดน้ำ ใช้เป็นกระบอกน้ำที่มีหัวฉีดเล็กเพื่อให้ได้ละอองน้ำใช้ฉีดพรมบนเปลือกข้าวโพดให้อ่อนพับง่าย
        11. ด้ายขาว ใช้เป็นได้ด้ายเย็บผ้าสีขาวทั่วไปใช้มัดยึดเปลือกข้าวโพดกับดอกหญ้าเวลาทำดอก
(รุ่งทิพย์ ทรัพย์เอี่ยม, การสัมภาษณ์, 16 สิงหาคม 2563)
        แสดงให้เห็นว่าวัสดุในการทำกระทงเปลือกข้าวโพดเป็นวัสดุที่หาได้ทั่วไปตามชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเปลือกมะพร้าว เปลือกข้าวโพด ดอกหญ้า อุปกรณ์เสริมเช่นกระดาษย่น กาว สีย้อมกก ลวดเย็บกระดาษ กรรไกร แม็ก ลูกแม็ก กระบอกฉีดน้ำและด้ายขาวสามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าที่มีในชุมชน

กระบวนการผลิต/ขั้นตอนการใช้งาน
         1. นำเปลือกมะพร้าวมาตากให้แห้ง ใช้มีดฝานให้เป็นแผ่นบาง ๆ สำหรับเป็นฐานกระทง แล้วแต่ว่าเปลือกมะพร้าวที่ฝานออกมาแล้วจะได้ออกมาในลักษณะไหน ถ้าได้มาแบบยาวก็สามารถนำมาทำฐานที่เป็นรูปเรือได้ ถ้าได้สั้นก็สามารถทำเป็นรูปวงกลม และรูปหัวใจ
         2. การเลือกพันธุ์ข้าวโพดที่ดีจะสามารถทำให้กลีบกระทงนั้นออกมาสวยงามและสะดวกต่อคนทำ เช่น ข้าวโพดพันธุ์ 984 จะเป็นพันธุ์ข้าวโพดที่ดีที่สุด เพราะเปลือกบาง เนียน ไม่มีรอยที่เปลือก และไม่คันจึงทำให้ทำง่าย จากนั้นนำฝักข้าวโพดมาปลอกเปลือกซักสองถึงสามใบเอามีดมาควั่นตรงคั่วฝักนิดหน่อยควั่นให้รอบ ดึงตรงจุกออกก็จะได้เปลือกข้าวโพด
         3. นำเปลือกข้าวโพดไปตากแดดสักสองวันหรือจนแห้งแล้วนำมาย้อมสีโดยสีที่ใช้นั้นจะเป็นสีย้อมกก ตราช้าง การย้อมต้องตั้งน้ำให้เดือดแล้วใส่สีลงไปคนให้ละลายเข้ากับน้ำ จากนั้นนำเปลือกข้าวโพดที่ตากไว้ ลงไปจุ่มประมาณสองถึงสามครั้งหรือจนกว่าจะได้สีที่พอใจ แล้วนำมาตากให้สีแห้ง การเก็บรักษาเปลือกข้าวโพดหลังจากย้อมสีแล้วนั้นจะไม่นำไปตากแดดหรือโดนแดดเลยจะตากภายในบ้านหรือที่ร่มปล่อยให้แห้งไปตามลมไม่อย่างนั้นสีจะซีดและไม่สวย จากนั้นนำกลับมาเพื่อทำการฉีก ก่อนฉีกเอากรรไกรมาตัดตรงปลายฝักและแกะออกทีละเปลือกแล้วจึงทำการฉีกเปลือกละสองใบ นำมาพรมน้ำนิดหน่อยเพื่อให้เปลือกนิ่มจะได้พับสะดวกขึ้น ตัดเปลือกข้าวโพดให้ได้ขนาดตามที่ต้องการพับเป็นตัว (กลีบกระทง) เตรียมไว้ จำนวนตามที่ต้องการ
         4. นำดอกหญ้ามาย้อมสีต่างๆ ก่อนนำมาย้อมดอกหญ้าต้องแห้งสนิทตากด้วยแดดจัดๆ เท่านั้นไม่อย่างนั้นดอกหญ้าจะมีเชื้อรา โดยดอกหญ้าเอามาทำนั้นทำมาจากดอกกก ที่ตัวต้นกกสามารถนำไปทำเสื่อ ส่วนดอกที่คนส่วนใหญ่นำไปทิ้งก็เก็บมาตากและนำมาให้ตกแต่งกระทงให้สวยงาม
         5. นำกระดาษย่นมาทา ชุบด้วยเทียนไข เย็บกลีบกระทง เป็นรูปแบบต่างๆ ที่ต้องการ เช่น วงกลมวงรี รูปหัวใจ เป็นไปตามรูปที่เราต้องการหรือตามที่เราได้ตัดไว้แล้ว
         6. นำมาติดฐาน ก็คือเปลือกมะพร้าวนั่นเอง พอติดฐานเสร็จรอจนแห้งดี นำมาตกแต่งด้วยดอกกกที่เราย้อมสีและใส่ดอกไม้ที่ทำมาจากเปลือกข้าวโพด ตกแต่งให้สวยงาม
         7. กระทงที่ได้ทำเสร็จแล้วคัดคุณภาพ และขนาดก่อนส่งจำหน่ายเปลือกข้าวโพดเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะทำจากวัสดุจากธรรมชาติลดมลพิษ และมีความสวยงามแปลกตา (รุ่งทิพย์ ทรัพย์เอี่ยม, การสัมภาษณ์, 16 สิงหาคม 2563)
         แสดงให้เห็นว่าขั้นตอนการทำกระทงเปลือกข้าวโพดมีทั้งหมด 7 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกนำเปลือกมะพร้าวมาตากให้แห้ง ใช้มีดฝานให้เป็นแผ่นบาง เพื่อเป็นฐานกระทง ขั้นตอนที่สองคัดเลือกพันธุ์ข้าวโพด เพื่อนำมาทำกลีบ ขั้นตอนที่สามนำเปลือกข้าวโพดไปตากให้แห้งแล้วนำมาย้อมสี ขั้นตอนที่สี่นำดอกหญ้ามาตากแห้งแล้วย้อมสีเพื่อตกแต่งกระทง ขั้นตอนที่ห้านำกระดาษย่นมาทาชุบด้วยเทียนไข เย็บกลีบกระทงให้เป็นรูปแบบที่ต้องการ ขั้นตอนที่หกนำทั้งหมดที่ทำไว้มาประกอบฐานและตกแต่งด้วยดอกหญ้า ขั้นตอนสุดท้ายคัดเลือกคุณภาพและขนาดก่อนส่งจำหน่าย

ประเภทการใช้งาน
         ใช้ในพิธีการลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เป็นประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณโดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น ลอยเคราะห์บูชาพระพุทธเจ้า แต่ปัจจุบันนิยมทำเพื่อขอขมา และระลึกถึงคุณแม่พระคงคา ที่ได้อำนวยประโยชน์ต่างๆ แก่มนุษย์ โดยประเพณีลอยกระทงมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยประมาณ 700 ปีมาแล้ว ประเพณีลอยกระทงได้เข้าสู่ประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีประมาณ พ.ศ.1800 ดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศ ผู้เป็นพระสนมเอกของพระร่วงเจ้าว่า "ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกษรสีต่างๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย..." เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงมีพระราชโองการฯให้จัดพิธีลอยกระทงเป็นประจำทุกปี ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง พระราชพิธีนี้จึงได้ถือปฏิบัติเป็นประจำ จนกระทั่งตอนนี้ (โรงเรียนธารทองพิทยาคม, 2563)
         ผู้เขียนสรุปได้ว่า กระทงใช้ประกอบในพิธีลอยกระทงตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า และระลึกถึงคุณพระแม่คงคาที่ได้อำนวยประโยชน์ต่างๆ แก่มนุษย์โดยประเพณีลอยกระทงนี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ช่องทางการจัดจำหน่าย
         จำหน่ายผ่านเพจเฟสบุ๊คและการมารับเองจากบ้านที่ทำ ขั้นต่ำที่ขายได้ในแต่ละปี 5,000 - 10,000 ใบต่อปี โดยมีขนาดหลัก ๆ สองขนาดคือ 10 นิ้ว และ 7 นิ้ว โดยขนาด 10 นิ้วราคาอยู่ที่ 30 บาท ขนาด 7 นิ้วราคา 25 บาท เป็นราคาขายของทรงกลม รูปหัวใจ และเรือ แต่ถ้าเป็นรูปนก ขนาด 10 นิ้ว อยู่ที่ราคา 60 บาท ขนาด 7 นิ้ว ราคา 40 บาทตามความยากง่ายของทรง (รุ่งทิพย์ ทรัพย์เอี่ยม, การสัมภาษณ์, 16 สิงหาคม 2563) แสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านได้ใช้สื่อโซเชียลเข้ามาเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนจำหน่ายผ่านเพจเฟสบุ๊ค โดยราคาของกระทงเปลือกข้าวโพดนั้นขึ้นอยู่กับขนาดและความยากง่ายของรูปแบบกระทง

บทสรุป
         ความเป็นมาของกระทงเปลือกข้าวโพด พบว่า กระทงเปลือกข้าวโพดเกิดขึ้นได้จากความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการทำกระทงขายเพื่อนำเงินไปถวายวัด และได้เล็งเห็นถึงวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนอย่างเช่นกระทงเปลือกข้าวโพด กาบมะพร้าว และดอกหญ้า จึงพากันนำวัสดุเหล่านี้มาทดลองทำเป็นกระทง แต่พอลองทำดูแล้วมีผลตอบรับออกมาในทางที่ดีคือทำออกมาได้สวยงาม เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยว จึงเกิดการเรียนรู้การถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่มาของการสร้างรายได้จากกระทงเปลือกข้าวโพด ความสำคัญของกระทงเปลือกข้าวโพด พบว่า ทำจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ สามารถเก็บไว้ได้นาน ไม่เน่าเสียง่าย และที่สำคัญน้ำหนักเบา แต่ถ้าเป็นกระทงใบตอง ขนมปัง หรือวัสดุอื่นจะเก็บได้ไม่นาน โดยบ้านอมฤตเป็นที่แรกในจังหวัดกำแพงเพชร ที่เริ่มทำกระทงจากเปลือกข้าวโพด วัสดุผลิตภัณฑ์เพื่อทำกระทงเปลือกข้าวโพด พบว่า วัสดุในการทำกระทงเปลือกข้าวโพดเป็นวัสดุที่หาได้ทั่วไปตามชุมน กระบวนการผลิต/ขั้นตอนการใช้งานกระทงเปลือกข้าวโพดพบว่า ขั้นตอนการทำกระทงเปลือกข้าวโพดมีทั้งหมด 7 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกนำเปลือกมะพร้าวมาตากให้แห้ง ใช้มีดฝานให้เป็นแผ่นบาง เพื่อเป็นฐานกระทง ขั้นตอนที่สองขัดเลือกพันธุ์ข้าวโพดเพื่อนำมาทำกลีบ ขั้นตอนที่สามนำเปลือกข้าวโพดไปตากให้แห้งแล้วนำมาย้อมสี ขั้นตอนที่สี่นำดอกหญ้ามาตากแห้งแล้วย้อมสีเพื่อตกแต่งกระทง ขั้นตอนที่ห้านำกระดาษย่นมาทาชุบด้วยเทียนไข เย็บกลีบกระทงให้เป็นรูปแบบที่ต้องการ ขั้นตอนที่หกนำทั้งหมดที่ทำไว้มาประกอบฐานและตกแต่งด้วยดอกหญ้า ขั้นตอนสุดท้ายคัดเลือกคุณภาพและขนาดก่อนส่งจำหน่ายประเภทการใช้งานกระทง พบว่า นำมาใช้ประกอบในพิธีลอยกระทงตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าและ ระลึกถึงคุณพระแม่คงคาที่ได้อำนวยประโยชน์ต่าง ๆ แก่มนุษย์โดยประเพณีลอยกระทงนี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ช่องทางการจำหน่าย พบว่า ชาวบ้านได้ใช้สื่อโซเชียลเข้ามาเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน

คำสำคัญ : กระทง เปลือกข้าวโพด

ที่มา : https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=กระทงเปลือกข้าวโพด_ตำบลลานดอกไม้ตก_อำเภอโกสัมพีนคร_จังหวัดกำแพงเพชร

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). กระทงเปลือกข้าวโพด ตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร. สืบค้น 29 มีนาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2080&code_db=610007&code_type=02

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2080&code_db=610007&code_type=02

Google search

Mic

เสื้อลวดลายสลับสี

เสื้อลวดลายสลับสี

เป็นการทอแบบธรรมดา คือใช้ด้ายยืนและด้ายขวางจำนวนเท่าปกติ แต่แทรกด้ายสีต่าง ๆ สลับเข้าไป ขณะเรียงด้ายยืนหรือเมื่อสอดด้ายขวาง เช่น การทอผ้าห่ม ย่าม และผ้าถุงของหญิงที่แต่งงานแล้ว (ลวดลายผ้าถุงในบางท้องถิ่นจะมีลักษณะพิเศษกว่าการทอลายสลับสีธรรมดา คือจะใช้ด้ายย้อมมัดหมี่ หรือย้อมแบบลายนํ้าไหลเป็นด้ายยืน ลวดลายที่ปรากฏบนเนื้อผ้ามีลักษณะงดงามมากซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป) บางครั้งกะเหรี่ยงจะทอลวดลาย สลับสีเป็นลายนูนในเนื้อผ้า เช่น บริเวณเหนืออกของชุดเด็กหญิงกะเหรี่ยงสะกอ

เผยแพร่เมื่อ 26-02-2017 ผู้เช้าชม 617

ลายผ้ากะเหรี่ยง

ลายผ้ากะเหรี่ยง

ลายผ้าทอกะเหรี่ยงโบราณมาจากผู้ทำลายชื่อ นางมึเอ โดยนางจะทอผ้าอยู่ในถ้ำ ซึ่งมีอยู่วันหนึ่งมีงูเหลือมเข้าไปในถ้ำนางมึเอเห็นลายงูเหลือมจึงได้นำลายของงูเหลือมมาทอเป็นลายในผืนผ้า และต่อมาก็ได้มีการดัดแปลงจนเกิดเป็นลวดลายต่างในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ลวดลายนั้นจะมาจากการมองดูธรรมชาติรอบๆตัวแล้วนำมาดัดแปลงให้เป็นลวดลายในผืนผ้า โดยการยกเขา 4 เขา เป็นกะเหรี่ยงลายดั้งเดิมตั้งแต่นั้นมา

เผยแพร่เมื่อ 27-02-2017 ผู้เช้าชม 4,679

ลายอ๊ะหน่ายือ (ฟันหมา)

ลายอ๊ะหน่ายือ (ฟันหมา)

อ๊ะหน่ายือ เป็นภาษาชนเผ่าลีซอ มีความหมายในภาษาไทยหมายถึง ฟันหมา  (สุนัข) เป็นลวดลายโบราณ ดั้งเดิมที่บรรพบุรุษชาวลีซอเลียนแบบรูปร่างของฟันสุนัข ลักษณะของลวดลายมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมเล็กๆ เย็บ เรียงต่อกันเป็นแถวยาว การสร้างลวดลายทําได้โดยการการนําผ้าที่ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ พับเป็นสามเหลี่ยม นํามาเย็บ ติดกันต่อเนื่องกันเป็นสามเหลี่ยมซิกแซกดูคล้ายฟันของสุนัข

เผยแพร่เมื่อ 26-02-2017 ผู้เช้าชม 949

ลายทูต๊ะ

ลายทูต๊ะ

ในอดีตการปักผ้าม้งบริเวณต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้หญิงเผ่าม้งจะต้องทำเป็นทุกคน และต้องทำใส่เอง ถ้าใครทำไม่เป็นก็จะไม่มีเสื้อผ้าใส่ ทุกปีผู้หญิงม้งจะปักเสื้อผ้าอย่างน้อย 1 ชุดไว้ใส่ครั้งแรกในงานสำคัญหรือในช่วงปีใหม่ก็จะใส่ชุดใหม่กัน บางปีก็จะได้แค่ชุดเดียว และปักกับสามี ลูกชาย ด้วยเพราะผู้ชายจะไม่ปักผ้า แต่ถ้าเป็นชาวม้งภาคกลางหรือบางกลุ่มจะปักทั้งผู้ชายและผู้หญิง

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 571

ลายฉุ่ยข่อล่อ

ลายฉุ่ยข่อล่อ

ชาวกะเหรี่ยงขาวมีความเชื่อแต่โบราณว่าลายของผ้าทอกะเหรี่ยงนั้น ได้มาจากลายหนังงูใหญ่ซึ่งเป็นคู่รักในอดีตของหญิงสาวชาวกะเหรี่ยงโดยที่งูตัวนั้นจะเปลี่ยนลายทุกวัน และหญิงสาวก็ทอผ้าตามลายที่ปรากฏจนครบ 7 วัน ทอได้ 7 ลาย คือ ลายโยห่อกือ เกอเปเผลอ ฉุ่ยข่อล่อ ที่ข่า เกอแนเดอ เซอกอพอ และแชะฉ่าแอะ แต่ลายที่นิยมนำมาทอและปัก มี 4 ลายคือ โยห่อกือ เกอเปเผลอ ฉุ่ยข่อลอ และลายทีข่า ปัจจุบันยังมีการคิดค้นลายใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย

เผยแพร่เมื่อ 26-02-2017 ผู้เช้าชม 1,084

ลายตัวตั้งตะ

ลายตัวตั้งตะ

ลายบริเวณตีนขาที่เรียกว่า "ตัวตั้งตะ" มีเครื่องแต่งกายที่แตกต่างระหว่างม้งจั๊วะและม้งเด๊อะสำหรับผู้ชายจะเห็นได้ชัดในชุดของผู้ชายม้ง โดยที่กางเกงของผู้ชายม้งจั๊วะจะมีลักษณะเป็นกางเกงหย่อนลงมามาก ขากางเกงบริเวณส่วนบนกว้างมากและมีขอบปลายแคบผิดกับกางเกงของชายม้งเด๊อะซึ่งเหมือนกางเกงขาก๊วยจีนหรือที่ทางภาคเหนือเรียกว่า กางเกงสามดูก ส่วนเสื้อม้งเด๊อะชายจะสั้นกว่าม้งจั๊วะ การสวมเสื้อจะป้ายจากด้านขวาไปด้านซ้าย

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 694

เผ่าถิ่น

เผ่าถิ่น

ถิ่นจัดอยู่ในสาขามอญ-เขมร ซึ่งอยู่ในกลุ่มภาษาออสโตรเอเชียติค มี 2 กลุ่มย่อยคือ ถิ่น คมาลหรือมาล และถิ่นคลำไปร๊ต์หรือไปร๊ต์ ถิ่นทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีความแตกต่างกันในภาษาพูดและขนบธรรมเนียมประเพณีส่วนการตั้งถิ่นฐานและการแต่งกายเหมือนๆ กัน ถิ่นอพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 60-80 ปีมานี้ โดยอพยพมาจากแขวงไชยบุรี ประเทศลาว เข้าสู่ประเทศไทยทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดน่าน ถิ่นในประเทศไทยอาศัยอยู่ในจังหวัดน่าน เพชรบูรณ์ และเลย

เผยแพร่เมื่อ 26-02-2017 ผู้เช้าชม 1,346

ลายอี๊เมียนี้ต่า

ลายอี๊เมียนี้ต่า

อี๊เมียจือนี้ต่า คือภาษาชนเผ่าลีซอ เป็นการเรียกตามเทคนิคของการสร้างสรรค์ลวดลาย ที่นําชิ้นผ้าสสีันสดใส มาตัดออกเป็นริ้วยาว ลักษณะเป็นการต่ออแถบผ้าสีเป็นชิ้นๆต่อเนื่องกันไป ใช้เป็นชื่อเรียกเอกลักษณ์ของผ้าใน ลักษณะเช่นนี้มาแต่โบราณครั้งบรรพบุรุษของชาวลีซอ ที่ได้รับการถ่ายทอดสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ลายอี๊ เมียจือนี้ต่ามักนิยมนี้มาใช้ประดับบริเวณคอเสื้อมากที่สุด

เผยแพร่เมื่อ 26-02-2017 ผู้เช้าชม 925

ภูมิปัญญาการแต่งกาย : ลีซอ

ภูมิปัญญาการแต่งกาย : ลีซอ

ลีซูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มธิเบต-พม่า ของชนชาติโลโล ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของชนเผ่าลีซูอยู่บริเวณต้นน้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน อยู่เหนือหุบเขาสาละวินในเขตมณฑลยูนนานตะวันตกเฉียงเหนือและตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า ชนเผ่าลีซูส่วนใหญ่เชื่อว่าเมื่อ 4,000 ปี ที่ผ่านมา เคยมีอาณาจักร เป็นของตนเอง แต่ต้องเสียดินแดนให้กับจีนและกลายเป็นคนไร้ชาติต่อมาชนเผ่าลีซู จึงได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่รัฐฉานตอนใต้ กระจัดกระจายอยู่ตามภูเขาในเมืองต่างๆ เช่น เมืองเชียงตุง บางส่วนอพยพไปอยู่เขตเมืองซือเหมา สิบสองปันนา ประเทศจีน หลังจากนั้นได้อพยพลงมา ทางใต้เนื่องจากเกิดการสู้รบกันระหว่างชนเผ่าอื่น นับเวลาหลายศตวรรษ ชนเผ่าลีซูได้ถอยร่นเรื่อยลงมา จนในที่สุดก็แตกกระจายกัน เข้าสู่ประเทศพม่า จีน อินเดีย แล้วเข้าสู่ประเทศไทย

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 2,471

เสื้อเซวากะเหรี่ยงโปว์

เสื้อเซวากะเหรี่ยงโปว์

ปัจจุบันกลุ่มกะเหรี่ยงที่ยังคงสวมใส่เครื่องแต่งกายประจำเผ่าในวิถีชีวิตปกติ มีเพียงกลุ่มโป และสะกอเท่านั้น ส่วนกลุ่มคะยาและตองูไม่สวมใส่ชุดประจำเผ่า ในชีวิตประจำวันแล้ว กะเหรี่ยงแต่ละกลุ่ม นอกจากจะมีการแต่งกายที่แตกต่างกัน กะเหรี่ยงกลุ่มเดียวกันแต่อยู่ต่างพื้นที่ ก็มีลักษณะการแต่งกาย ไม่เหมือนกันด้วย เช่น กะเหรี่ยงโปแถบอำเภอแม่เสรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่งกายมีสีสันมากกว่าแถบจังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มกะเหรี่ยงสะกอ และโปในทุกจังหวัดของประเทศไทย

เผยแพร่เมื่อ 27-02-2017 ผู้เช้าชม 2,550