เอื้องหมายนา
เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้ชม 25,328
[16.4258401, 99.2157273, เอื้องหมายนา]
เอื้องหมายนา ชื่อสามัญ Crape ginger, Malay ginger, Spiral Flag, Wild ginger
เอื้องหมายนา ชื่อวิทยาศาสตร์ Cheilocostus speciosus (J.Koenig) C.D.Specht (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Costus speciosus (J.Koenig) Sm.) จัดอยู่ในวงศ์เอื้องหมายนา (COSTACEAE)
สมุนไพรเอื้องหมายนา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เอื้อง (อุบลราชธานี), เอื้องช้าง (นครศรีธรรมราช), เอื้องต้น (ยะลา), เอื้องเพ็ดม้า (ภาคกลาง), เอื้องดิน เอื้องใหญ่ บันไดสวรรค์ (ภาคใต้), ซูแลโบ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ชู้ไลบ้อง ซูเลโบ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กู่เก้ง (ม้ง), ชิ่งก๋วน (เมี่ยน), ลำพิย้อก (ลั้วะ), ดื่อเหม้ (ยึ) (ปะหล่อง), จุยเจียวฮวย (จีน) เป็นต้น
ลักษณะของเอื้องหมายนา
- ต้นเอื้องหมายนา มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงเกาะนิวกินี จัดเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าอยู่ใต้ดิน มักขึ้นเป็นกอ ๆ มีความสูงของต้นประมาณ 1-3 เมตร ไม่แตกกิ่งก้านสาขา ลำต้นกลมฉ่ำน้ำและเป็นสีแดง วัดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร รากเป็นหัวใหญ่ยาว ที่โคนแข็งเหมือนไม้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการแตกหน่อ เจริญเติบโตได้ดีร่วนระบายน้ำดี ต้องการน้ำค่อนข้างมาก ควรปลูกในที่มีแสงแดดร่มรำไร มักพบขึ้นตามบริเวณที่มีความชุ่มชื้น ใต้ต้นไม้ใหญ่ ตามน้ำตก ชายน้ำ ริมทางน้ำ ริมหนองบึง ตามบริเวณเชิงเขา และป่าดิบชื้นทั่วทุกภาคของประเทศ ที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 87-126 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบได้ตั้งแต่อินเดียตะวันออกจนถึงคาบสมุทรอินโดจีน
- ใบเอื้องหมายนา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับรอบลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมนเรียวเข้าหาก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบ กาบใบอวบเป็นสีเขียวหรือสีน้ำตาลแดงโอบรอบลำต้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนนุ่มสั้นคล้ายกำมะหยี่ เส้นใบขนานกับขอบใบ เส้นใบออกจากเส้นกลางใบแต่จะไปสิ้นสุดที่จุดเดียวกัน ทุกส่วนของต้นมีขน ก้านใบมีขนาดสั้นหรือไม่มีก้านใบ
- ดอกเอื้องหมายนา ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกจะออกที่ปลายของลำต้น ลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร กาบรองดอกเป็นรูปไข่ปลายแหลม ปลายแข็งคล้ายหนาม สีเขียวปนแดง ยาวประมาณ 1.5-4.5 เซนติเมตร ในแต่ละกาบรองรับดอกย่อย 1 ดอก ดอกจะทยอยบายครั้งละ 1-2 ดอก กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ๆ และเป็นสัน 3 สัน ปลายแยกเป็น 3 กลีบ แยกออกเป็น 2 ปาก มีปากด้านบน 2 กลีบ และปากด้านล่าง 1 กลีบ กลีบแยกลึก ส่วนกลีบดอกนั้นมี 3 กลีบ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเล็กน้อยเป็นสีขาว ดอกมีเกสรเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์เปลี่ยนไปมีลักษณะคล้ายกลีบดอก มีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอก มีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ลักษณะเป็นรูปไข่กลับสีขาว ขอบม้วนซ้อนทับกัน ตรงกลางกลีบด้านในของดอกเป็นสีเหลือง มีขนสีเหลืองปกคลุม เป็นสันตื้น ๆ 3 สันไปยังปลายกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 1 อัน ก้านเกสรเพศผู้จะแผ่แบนเป็นแถบ มีขนาดกว้างประมาณ 1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-4.5 เซนติเมตร โดยส่วนของปลายจะกว้างประมาณ 6-7 มิลลิเมตร สีเหลืองเข้มและม้วนลงด้านล่าง อับละอองเกสรเพศผู้จะติดอยู่ใต้บริเวณสีเหลือง ขนาดกว้างประมาณ 3.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนเกสรเพศเมียนั้นมี 1 อัน ก้านเกสรเป็นอิสระ ส่วนปลายแทรกอยู่ระหว่างถุงละอองเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียจะแผ่ออกอยู่เหนืออับละอองเกสรเพศผู้ มีรังไข่ 3 ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม หรือในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
- ผลเอื้องหมายนา ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปขอบขนานแกมรูปสามเหลี่ยม ผลมีขนาดยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ผลเมื่อแห้งแล้วจะแตก มีเนื้อแข็ง สุกสีแดงสด ปลายยอดมีกลีบเลี้ยง 1 กลีบ หรืออยู่เป็นกระจุกแหลม 3 แฉก กาบหุ้มผลเป็นสีแดง ภายในผลมีเมล็ดสีดำเป็นมัน
สรรพคุณของเอื้องหมายนา
- ชาวม้งจะใช้เหง้าใต้ดิน นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตต่ำ อาการหน้าซีด (เหง้า)
- ชาวไทใหญ่จะใช้รากนำมาดองกับเหล้าดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ราก) หลายพื้นที่ริยมกินหน่ออ่อนและดอกอ่อนเป็นผัก โดยชาวม้งจะนิยมนำมาต้มกินกับไก่เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ตัวเหลือง แก้อาการอ่อนเพลียไม่มีแรง (หน่อ,ดอก)
- คนเมืองจะใช้ลำต้นนำไปต้มกิน เชื่อว่าเป็นยาต้านโรคมะเร็ง (ลำต้น)
- ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี จะใช้เหง้าเอื้องหมายนาเข้ายาแก้ซางเด็ก (เหง้า)
- ลำต้นนำมาย่างไฟคั้นเอาน้ำใช้หยอดหู แก้หูน้ำหนวก (ลำต้น)[4],[8]ส่วนชาวไทใหญ่จะใช้ใบนำไปรมไฟ แล้วบีบเอาน้ำมาหยอดหู รักษาโรคหูเป็นหนอง (ใบ)
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ใบ) รากใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด (ราก)
- รากมีรสขมเมา มีสรรพคุณช่วยแก้อาการไอ (ราก)
- ช่วยขับเสมหะ (ราก)
- หมอยาบางพื้นที่จะใช้ใบเอื้องหมายนากับใบเปล้าใหญ่ นำมาซอยตากแห้งอย่างละเท่ากัน นำมามวนสูบเป็นบุหรี่เพื่อรักษาริดสีดวงจมูก (ใบ)
- ต้นตลอดถึงราก มีสรรพคุณเป็นยาช่วยบำบัดอาการปวดมวนในท้องคล้ายโรคกระเพาะ ถ่ายเป็นเลือด กินอาหารแสลงแล้วจะมีอาการปวดและออกทางทวาร (ต้นตลอดถึงราก)
- น้ำคั้นจากลำต้นใช้เป็นยารักษาโรคบิด (น้ำคั้นจากลำต้น)
- ช่วยแก้อาการท้องผูกเป็นประจำ (ต้นตลอดถึงราก)
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ราก)
- เหง้านำมาตำพอกบริเวณสะดือเป็นยารักษาโรคท้องมาน (เหง้า)
- เหง้าใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาสมานแผลภายใน (เหง้า)
- เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาถ่าย ยาแก้พยาธิ ฆ่าพยาธิ (เหง้า) น้ำคั้นจากเหง้าสดมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง (น้ำคั้นจากเหง้าสด)
- รากมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ (ราก)
- เหง้ามีรสขมเมา มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (เหง้า)
- ใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือจะใช้ลำต้นนำมารับประทานสดเป็นยาแก้นิ่ว โดยตัดให้มีความยาวหนึ่งวา แล้วเอาไปย่างไฟคั้นเอาน้ำดื่ม (ลำต้น) ส่วนชาวลั้วะจะใช้ใบเป็นส่วนประกอบในยารักษาโรคนิ่ว ร่วมกับใบของมะละกอตัวผู้ และพืชอื่น ๆ อีกหลายชนิด (ใบ)
- ช่วยแก้โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (เหง้า)
- น้ำคั้นจากเหง้าสด ใช้เป็นยารักษาซิฟิลิส (เหง้า)
- ต้นตลอดถึงรากมีสรรพคุณเป็นยาสมานมดลูก (ต้นตลอดถึงราก)
- เหง้ามีสรพคุณช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี (เหง้า)
- เหง้ามีฤทธิ์ทำให้แท้ง ควรระวังในการใช้ (เหง้า)
- เหง้าใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยบำรุงมดลูก (เหง้า)
- รากมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นความต้องการทางเพศ (ราก)
- ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (เหง้า)
- รากใช้เป็นยาขม ฝาดสมาน (ราก)
- ใช้รักษาพิษงูกัด (ราก)
- รากใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง (ราก)
- เอื้องหมายนายังมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการผิวหนังเป็นผื่น มีอาการคันตามผิวหนัง รวมทั้งอาการคันจากพิษหมามุ่ย โดยชาวไทใหญ่จะนิยมตัดลำต้นเอื้องหมายนายาวประมาณ 1 นิ้ว พกใส่กระเป๋าในยามที่ต้องเข้าป่า หรือไปถางไร่เพื่อป้องกันไม่ให้ขนหมามุ่ยติด กล่าวคือ มีความเชื่อว่าถ้ามีก้านเอื้องหมายนาพกติดตัวไว้จะไม่มีคันเมื่อถูกหมามุ่ย (ลำต้น)
- เหง้าใช้เป็นยาแก้แผลหนอง อักเสบ บวม ด้วยการนำเหง้ามาต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้างหรือใช้ตำพอกบริเวณที่เป็น (เหง้า)
หมายเหตุ : วิธีการใช้ตาม [3] ในส่วนของเหง้า ให้ใช้เหง้าแห้งครั้งละประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินหรือใช้ตุ๋นกับเนื้อสัตว์กิน[3]
ข้อควรระวังในการใช้เอื้องหมายนา
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ เพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้ เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อนที่ผนังมดลูก และการใช้สมุนไพรชนิดนี้อาจไปรบกวนรอบประจำเดือนด้วย[10]
- เหง้าสดมีพิษมาก หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วงอย่างรุนแรง ต้องนำมาทำให้สุกก่อนนำมาใช้
- ส่วนการรักษาพิษให้กินน้ำข้าวที่เย็นครั้งละ 1 ถ้วย ทุก ๆ 15 นาที จนกว่าอาการท้องร่วงจะหายไป
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเอื้องหมายนา
- เหง้าพบสาร beta-sitosterol glucoside, cyanophoric substance, dipsgenin, dioscin, fatty acid, gracillin, tigofenin, saponin A, B, C, D
- เหง้าเอื้องหมายนา มีสาร diosgenin ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง ใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยาสเตียรอยด์หลายชนิด
- เหง้าเอื้องหมายนามีสารจำพวก Saponins ซึ่งมีฤทธิ์รักษาอาการอักเสบและข้ออักเสบอย่างเฉียบพลันในหนูใหญ่สีขาวทดลอง ที่เกิดจากการละลายคาร์ราจีนินและฟอร์มาลิน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์รักษาอาการผิวหนังอักเสบมีน้ำเหลือง เนื่องจากการระคายเคืองจากน้ำมันสลอด และแผลผิวหนังอักเสบเนื่องจากการระคายเคืองของใยสำลีในหนูใหญ่สีขาวทดลอง
- สาร Saponins ในเหง้าเอื้องหมายนา มีผลทำให้มดลูกของหนูใหญ่สีขาวที่ทำให้เป็นหมัน จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อเยื่อบุภายในมดลูก และช่องคลอดของหนูใหญ่สีขาว
- น้ำคั้นที่ได้จากเหง้าเอื้องหมายนามีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูก ที่แยกจากตัวของหนูใหญ่ หนูตะเถา กระต่าย และคน และมดลูกที่อยู่ในตัวของสุนัขและกระต่าย โดยการทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวมากขึ้น สารสกัดด้วยคลอโรฟอร์ม ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัวได้แรงที่สุดและออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อมดลูกโดยตรง ผลึก Saponin D มีฤทธิ์ในการกระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูกของหนูใหญ่ หนูตะเถา สุนัข กระต่าย และคน ในภาวะที่ระดับฮอร์โมนต่างกันส่วนมดลูกที่แยกจากตัวของคน มดลูกในระยะตั้งท้อง และมดลูกที่อยู่ในตัวของหนูตะเภา สุนัข และกระต่าย จะไวต่อฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูกของผลึก Saponin D นี้มาก
- นอกจากนี้ยังพบสารอัลคาลอยด์ที่สกัดได้จากเอื้องหมายนา มีฤทธิ์ยับยั้งฤทธิ์ของเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส และมีฤทธิ์คล้ายกับ acetylcholine ที่กระตุ้นกล้ามเนื้อลำไส้ตรงของกบ และยังเพิ่มความดันโลหิตของสุนัข ซึ่งเป็นสารอัลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์คล้ายกับ physostigmine แต่จะอ่อนกว่า
ประโยชน์ของต้นเอื้องหมายนา
- หน่ออ่อนที่งอกจากต้นในช่วงฤดูฝน สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นอาหารได้ แต่ต้องนำมาต้มให้สุกเสียก่อนเพื่อขจัดกลิ่น เมื่อนำมาต้มหรือลวกแล้วจะใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงอาหาร เช่น แกงเลียง แกงส้ม นำมาหั่นแล้วผัดใส่เนื้อหรือใส่แกงเนื้อ เป็นต้น หรือใช้เหง้าซึ่งมีเมือกลื่นรสฝาด และไม่มีกลิ่นเป็นอาหาร[3] ในประเทศอินเดีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์จะใช้หน่ออ่อนใส่แกง และใช้รับปะทานเป็นผัก
- ใช้เป็นอาหารสัตว์จำพวก โค กระบือ
- ใช้กำจัดหอยเชอรี่ ด้วยการใช้ใบ ดอก และเหง้าเอื้องหมายนามาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำ แล้วนำไปเทลาดลงบนแปลงนาที่มีการระบาดของหอยเชอรี่ เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้มีสารแทนนินที่สามารถทำให้ไข่ฝ่อ และหอยเชอรี่ตายได้
- ชาวลั้วะจะใช้ใบเอื้องหมายนาเป็นส่วนประกอบในการทำพิธีสู่ขวัญควาย (การขอขมาลาโทษจากควาย เนื่องจากที่ถูกชาวนาดุด่า ทุบตีระหว่างการไถพรวน)[8],[10]ซึ่งในพิธีจะมีการนำต้นเอื้องหมายนามาปักไว้ทั้ง 4 ทิศของพื้นที่นา โดยจะมีประโยชน์ในการช่วงป้องกันวัชพืชของต้นข้าวที่จะมาทำลายต้นข้าว จึงช่วยทำให้ต้นข้าวออกรวงได้ดี นี้จึงเป็นที่มาของชื่อสมุนไพรชนิดนี้ว่า "เอื้องหมายนา"
- ชาวไทลื้อจะใช้ทั้งต้นเพื่อประกอบพิธีกรรมก่อนการทำนา (พิธีแฮกข้าว) โดยนำไปมัดติดกับตะแหลวร่วมกับดอกปิ้งแดง แล้วนำไปใส่ไม้ปักไว้ที่ไร่น่าก่อนจะปลูกข้าว เพื่อเป็นการบอกกล่าวเจ้าที่ว่าจะทำการปลูกข้าวในที่นาผืนนั้นๆ โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้ข้าวเจริญงอกงามขึ้น (แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยทำกันแล้ว)
- เอื้องหมายนา เป็นดอกไม้ที่นิยมนำมาตัดไว้ประดับแจกันทั้งต้นที่มีช่อดอก เนื่องจากทั้งต้นและกาบประดับมีความสวยงามแปลกตา
- ต้นเอื้องหมายนานิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเลี้ยงได้ง่าย
คำสำคัญ : เอื้องหมายนา
ที่มา : https://medthai.com/
รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). เอื้องหมายนา. สืบค้น 15 มกราคม 2568, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1784&code_db=610010&code_type=01
Google search
ลักษณะทั่วไป ต้นเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ถึงขนาดกลาง เปลือกสีขาวหรือเทาอ่อน อ่อนนิ่ม คล้ายจุกไม้ค็อร์ค ใบมน ปลายยาวเรียว โคนแหลม ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ เมื่อเริ่มบานภายนอกมีสีเขียวอ่อน ด้านในสีขาวอมเหลือง ใกล้ร่วงเป็นสีม่วงแกมเหลืองหรือม่วงแดง ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอก ผิวขรุขระ เมล็ดคล้ายเมล็ดโมกหลวง ขึ้นตามป่าโปร่ง และป่าเบญจพรรณทั่วไป การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดและตอนกิ่ง
เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 2,208
สายน้ำผึ้ง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย เช่น ประเทศไทย จีน ญี่ปุ่น จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพัน มีอายุหลายปี มีความยาวประมาณ 9 เมตร เถามีลักษณะกลมเป็นสีน้ำตาล ส่วนเนื้อในเถากลวง แตกกิ่งก้านสาขาออกมากมายเป็นทรงพุ่ม ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ ตอนกิ่ง และเพาะเมล็ด (แต่การปักชำเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด) โดยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ดีสวยในดินร่วนซุยและมีความชื้นปานกลาง มักพบขึ้นมากทางป่าแถบภูเขา
เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 5,378
ต้นกกลังกาเป็นพรรณไม้ที่มีลำต้นออกเป็นกอมีหัวอยู่ใต้ดิน คล้ายจำพวกขิงหรือเร่ว ลำต้นมีความสูงประมาณ 100-150 ซม. ลักษณะของลำต้นตั้งตรงไม่มีกิ่งก้าน ลำต้นกลมมีสีเขียวใบกกลังกาจะออกแผ่ซ้อน ๆ กัน อยู่ปลายยอดของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปยาว ปลายใบแหลม กว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 18-19 ซม. ใบมีสีเขียว ริมขอบ ใบเรียบใต้ท้องใบสาก ลำต้นหนึ่งจะมีใบประมาณ 18-25 ใบ ดอกกกลังกา ออกเป็นกระจุก อยู่รวมกันเป็นใบ ดอกมีขนาดเล็ก เป็นสีขาวแกมเขียว ก้านดอกเป็นเส้นเล็ก ๆ สีเขียว ยาวประมาณ 6-7 ซม.
เผยแพร่เมื่อ 12-05-2020 ผู้เช้าชม 5,831
ต้นโคกกระสุน จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ยาวได้ถึง 160 เซนติเมตร เป็นพืชจำพวกหญ้าที่มีอายุได้ประมาณ 1 ปี แตกกิ่งก้านแผ่ออกโดยรอบปกคลุมไปตามพื้นดิน ชูส่วนปลายยอดและดอกตั้งขึ้นมา มีขนตามลำต้น ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วโดยใช้เมล็ด ขึ้นได้ดีในดินทรายที่ค่อนข้างแห้ง มีการระบายน้ำดี เจริญงอกงามได้ดีในช่วงฤดูฝน เป็นพรรณไม้ที่ชอบขึ้นตามทางรถไฟ ตามที่รกร้าง ตามสวนผลไม้ ทุ่งหญ้า ท้องนา และริมทางสาธารณะทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลางของประเทศ
เผยแพร่เมื่อ 09-07-2020 ผู้เช้าชม 9,043
ว่านตีนตะขาบ จัดเป็นพรรณไม้ขนาดเล็ก ลำต้นเป็นปล้อง ๆ มีลักษณะกลมโตเท่ากับหางหนูมะพร้าวอ่อน แต่เมื่อลำต้นนั้นสูงขึ้นก็จะกลายเป็นไม้เลื้อย ต้นหนึ่งจะยาวได้ประมาณ 7-10 ฟุต ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ ใบว่านตีนตะขาบ ใบจะออกติดกันเป็นปีกสองข้าง จากโคนต้นจนถึงยอด ดูคล้ายตะขาบ
เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 16,332
เถาตดหมา จัดเป็นไม้เถาเนื้ออ่อนล้มลุก มักเลื้อยตามพื้นดิน ลำต้นเล็กและเรียว เถานั้นมีความยาวได้ประมาณ 4 เมตร ลำต้นเป็นเหลี่ยมหรือมีปีกแคบ ๆ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่ในมาดากัสการ์ แอฟริกา ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีน และในประเทศมาเลเซีย จนถึงทางตอนบนของออสเตรเลีย ส่วนในประเทศพบขึ้นเป็นวัชพืชทั่วทุกภาค โดยมักพบขึ้นตามที่โล่ง ท้องไร่ ท้องนา ข้างถนน ชายป่า ริมลำธาร หรือชายทะเล
เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้เช้าชม 2,703
บวบเหลี่ยม เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เนื่องจากพบต้นที่มีลักษณะเป็นพืชป่าในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย และมีเขตการกระจายพันธุ์และนิยมบริโภคกันมากในประเทศเขตร้อน เช่น ไทย จีน ฮ่องกง และอินเดีย โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุเพียงปีเดียว ชอบเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้อื่นหรือทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ยอดอ่อนนุ่ม เถาหรือลำต้นเป็นเหลี่ยม ตามข้อเถามีมือสำหรับใช้ยึดเกาะเป็นเส้นยาว บางทีแยกเป็นหลายแขนง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ทนแล้ง ทนฝนได้ดี โรคและเมล็ดไม่มารบกวน พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามที่รกร้าง ตามริมห้วย หนอง คลอง และตามบึงทั่วไป
เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้เช้าชม 12,329
ต้นผักขี้มด จัดเป็นพุ่ม ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก รูปวงรีแกมรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร ผิวใบมีขนนุ่มละเอียดทั้งสองด้าน ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ มีดอกย่อยหลายดอก กลีบดอกเป็นสีเหลืองแกมเขียว ขนาดเล็ก ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแป้นสีเขียว มีหลายพู
เผยแพร่เมื่อ 09-07-2020 ผู้เช้าชม 2,537
ผักแว่น จัดเป็นไม้น้ำล้มลุกจำพวกเฟิร์น มีลำต้นสูงได้ถึง 20 เซนติเมตร เจริญเติบโตในน้ำตื้นๆ มีลำต้นเป็นเหง้าเรียวยาวทอดเกาะเลื้อย และแตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ มีขนสีน้ำตาลอ่อนๆ ขึ้นปกคลุมและใบอยู่เหนือน้ำ โดยต้นอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีน้ำตาล ส่วนของรากสามารถเกาะติดและเจริญอยู่ได้ทั้งบนพื้นดินหรือเจริญอยู่ในน้ำก็ได้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เถา ไหล สปอร์ โดยผักแว่นมีเขตกระจายพันธุ์ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงประเทศญี่ปุ่น สามารถพบได้ทั่วไปตามหนองน้ำที่ชื้นแฉะหรือตามทุ่งนาในช่วงฤดูฝน
เผยแพร่เมื่อ 13-07-2020 ผู้เช้าชม 13,539
ชะมวงเป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงกลาง สูง 15-30 เมตร ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มเป็นรูปกรวยคว่ำทรงสูง เปลือกสีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นสะเก็ด มีน้ำยางสีเหลือง ใบชะมวงเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปวงรีแกมใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง 2-3.5 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร ปลายใบป้านหรือแหลมเล็กน้อย ฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนาและแข็งเปราะ ก้านใบสีแดงยาว 5-1 เซนติเมตร
เผยแพร่เมื่อ 28-05-2020 ผู้เช้าชม 7,876