เสลดพังพอนตัวเมีย

เสลดพังพอนตัวเมีย

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้ชม 17,093

[16.4258401, 99.2157273, เสลดพังพอนตัวเมีย]

เสลดพังพอนตัวเมีย ชื่อสามัญ Snake Plant

เสลดพังพอนตัวเมีย ชื่อวิทยาศาสตร์ Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clinacanthus burmanni Nees, Clinacanthus siamensis Bremek., Justicia nutans Burm. f.) จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)

สมุนไพรเสลดพังพอนตัวเมีย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลิ้นมังกร ผักมันไก่ ผักลิ้นเขียด (เชียงใหม่), พญาปล้องคำ (ลำปาง), เสลดพังพอนตัวเมีย (พิษณุโลก), พญาปล้องดำ พญาปล้องทอง (ภาคกลาง), ลิ้นงูเห่า พญายอ (ทั่วไป), โพะโซ่จาง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ชิงเจี้ยน หนิ่วซิ้วฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของเสลดพังพอนตัวเมีย

  • ต้นเสลดพังพอนตัวเมีย จัดเป็นพรรณไม้พุ่มแกมเถา มักเลื้อยพาดไปตามต้นไม้อื่น ๆ มีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นมีลักษณะเกลี้ยง ต้นอ่อนเป็นสีเขียว ลำต้นมีลักษณะกลม ผิวเรียบเป็นปล้องสีเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือแยกเหง้าแขนงไปปลูก เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีแสงแดดจัด มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในประเทศไทยมักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของประเทศ หรือพบปลูกกันตามบ้านทั่วไป
  • ใบเสลดพังพอนตัวเมีย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก รูปรีแคบขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบเรียบ
  • ดอกเสลดพังพอนตัวเมีย ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกประมาณ 3-6 ดอก กลีบดอกเป็นสีแดงส้ม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก คือ ปากล่างและปากบน ดอกหนึ่งมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนกลีบรองกลีบดอกนั้นเป็นสีเขียว ยาวเท่า ๆ กัน มีขนเป็นต่อมเหนียว ๆ อยู่โดยรอบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ส่วนเกสรเพศเมียเกลี้ยงไม่มีขน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม (แต่มักจะไม่ค่อยออกดอก)
  • ผลเสลดพังพอนตัวเมีย ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ (แต่ผลไม่เคยติดเป็นฝักในประเทศไทย) ลักษณะของผลเป็นรูปกลมยาวรี ยาวได้ประมาณ 0.5 เซนติเมตร ก้านสั้น ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 4 เมล็ด

หมายเหตุ : เสลดพังพอน เป็นชื่อพ้องของพรรณไม้ 2 ชนิด คือ เสลดพังพอนตัวผู้ และเสลดพังพอนตัวเมีย ซึ่งจะแตกต่างกันตรงที่เสลดพังพอนตัวผู้ลำต้นจะมีหนามและมีดอกเป็นสีเหลือง ส่วนเสลดพังพอนตัวเมียลำต้นจะไม่มีหนามและมีดอกเป็นสีแดงส้ม เพื่อไม่ให้เป็นการสับสนหลายๆ ตำราจึงนิยมเรียกเสลดพังพอนตัวเมียว่า "พญายอ" หรือ "พญาปล้องทอง" โดยเสลดพังพอนตัวผู้นั้นจะมีสรรพคุณทางยาอ่อนกว่าเสลดพังพอนตัวเมีย และตำรายาไทยนิยมนำมาใช้ทำยากันมาก

สรรพคุณของเสลดพังพอนตัวเมีย

  • รากและเปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (รากและเปลือกต้น)
  • ทั้งต้นและใบใช้กินเป็นยาถอนพิษไข้ ดับพิษร้อน (ทั้งต้นและใบ) ใช้เป็นยาลดไข้ ด้วยการใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำซาวข้าว ใช้พอกบนศีรษะคนไข้ประมาณ 30 นาที อาการไข้และอาการปวดศีรษะจะหายไป (ใบ)
  • ช่วยแก้อาการผิดสำแดง (กินอาหารแสลงไข้ แล้วทำให้โรคกำเริบ) ด้วยการใช้รากสดนำมาต้มกินครั้งละประมาณ 2 ช้อนแกง (ราก)
  • ใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ ด้วยการนำใบสดมาเคี้ยวประมาณ 10 ใบ กลืนเอาแต่น้ำยาพอให้ยาจืด แล้วจึงคายกากทิ้ง (ใบ)
  • ช่วยแก้คางทูม ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 10-15 ใบ ตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรง คั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่บวม อาการบวมจะหายไป และอาการเจ็บปวดจะหายไปภายใน 30 นาที (ใบ)
  • ใช้เป็นยารักษาโรคบิด (ทั้งต้นและใบ)
  • รากใช้ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ ขับประจำเดือน (ราก)
  • ใช้เป็นยาแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ (ทั้งต้น)
  • ช่วยแก้อักเสบแบบดีซ่าน (ทั้งต้น)
  • ใช้เป็นยาแก้แผลอักเสบมีไข้ ไข่ดันบวม ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 3-4 ใบ นำมาตำกับข้าวสาร 3-4 เม็ด ผสมกับน้ำพอเปียก ใช้พอกประมาณ 2-3 รอบ จะช่วยให้อาการดีขึ้น (ใบ)
  • ลำต้นนำมาฝนแล้วใช้ทาแผลสดจะช่วยทำให้แผลหายเร็ว (ลำต้น)
  • ใช้รักษาแผลจากสุนัขกัดมีเลือดไหล ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 5 ใบ นำมาตำพอกบริเวณแผลสัก 10 นาที (ใบ)
  • ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าวหรือน้ำมันงา เอากากพอกแผล แผลจะแห้ง หรือจะใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้า ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก จะมีสรรพคุณช่วยดับพิษร้อนได้ดี ส่วนอีกตำราระบุว่า นอกจากจะใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกได้แล้ว ยังช่วยรักษาแผลเปื่อยเนื่องจากถูกแมงกะพรุนไฟ แผลสุนัขกัด และแผลที่เกิดจากการถูกกรดได้อีกด้วย เพียงแค่นำใบไปหุงกับน้ำมันแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น (ใบ)
  • ใช้รักษาแผลน้ำเหลืองเสีย ด้วยการใช้ใบประมาณ 3-4 ใบ กับข้าวสาร 5-6 เม็ด เติมน้ำลงไปให้พอเปียก แล้วนำมาพอก จะรู้สึกเย็น ๆ ซึ่งยาจะช่วยดูดน้ำเหลืองได้ดี ทำให้แผลแห้งไว โดยให้เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง พอกไปสักพักหนึ่งแล้วให้เอาน้ำมาหยอดกันยาแห้งด้วย (ใบ)
  • ใช้แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ด้วยการใช้ใบสดตำผสมกับเหล้าใช้ทา หรือใช้เหล้าสกัดใบเสลดพังพอน จะได้น้ำยาสีเขียวนำมาทาแก้ผื่นคัน (ใบ)
  • ใช้แก้สิวเม็ดผดผื่นคัน ด้วยการนำใบมาดองกับเหล้า แล้วผสมดินสอพองใช้ทาแก้สิวและเม็ดผดผื่นคัน (ใบ)
  • ใช้แก้ฝี ด้วยการใช้ใบนำมาโขลกผสมกับเกลือและเหล้า ใช้พอกบริเวณที่เป็น เปลี่ยนยาทุกเช้าและเย็น (ใบ)
  • ทั้งต้นและใบใช้เป็นยาขับพิษ ถอนพิษ โดยเฉพาะพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง มด ยุง ฯลฯ รวมถึงผื่นคัน ไฟลามทุ่ง ลมพิษ แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 5-10 ใบ นำมาขยี้หรือตำใช้ทาบริเวณที่เป็น หรือใช้ใบสดนำมาตำให้พอแหลก แช่ในเหล้าขาวประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วจึงนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นแผล ส่วนอีกตำรับยาแก้ลมพิษ ตามข้อมูลระบุว่า ให้ใช้ใบตำผสมกับดินสอพอง ใส่น้ำเล็กน้อย ใช้ทาบริเวณที่เป็น (ใบ)
  • คนเมืองจะนำใบมาตากแห้งแล้วตำผสมกับแมงป่องปิ้ง ใช้เป็นยาแก้พิษงู (ใบ)
  • ใช้รักษาอาการอักเสบ รักษาแผลร้อนในปาก แก้เริม (แผลผิวหนังชนิดเริม) อีสุกอีใส แก้งูสวัด ขยุ้มตีนหมา และใช้เป็นยาถอนพิษต่าง ๆ ด้วยการใช้ใบเสลดพังพอนตัวเมียสดประมาณ 10-20 ใบ (เลือกเอาเฉพาะใบสดสีเขียวเข้มเป็นมัน ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป) แล้วนำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำมะนาว คั้นเอาน้ำมาดื่มหรือเอาน้ำมาทาแผลและเอากากพอกบริเวณแผล หรืออีกวิธีให้เตรียมเป็นทิงเจอร์เพื่อใช้ทารักษาอาการอักเสบจากเริมในปาก โดยใช้ใบสด 1 กิโลกรัม นำมาปั่นให้ละเอียด เติมแอลกอฮอล์ 70% ลงไป 1 ลิตร แล้วหมักทิ้งไว้ 7 วัน ระเหยบนเครื่องอังไอน้ำให้ปริมาตรลดลงครึ่งหนึ่ง (ห้ามตั้งบนเตาไฟโดยเด็ดขาด) และเติมกลีเซอรีน (Glycerine pure) อีกเท่าตัว (ครึ่งลิตร) แล้วนำน้ำยาเสลดพังพอนกลีเซอรีนที่ได้มาใช้ทาแผลเริม งูสวัด แผลร้อนในปาก และใช้ถอนพิษต่าง ๆ สำหรับตำรายาแก้งูสวัดอีกตำรับจะใช้ใบสดผสมกับดอกลำโพง โกฐน้ำเต้า อย่างละเท่ากัน รวมกันตำให้พอแหลก แช่กับเหล้า แล้วนำมาใช้ทาแก้แผลงูสวัด (ใบ)
  • ใช้แก้ถูกหนามพุงดอตำหรือถูกใบตะลังตังช้าง ด้วยการนำขี้ผึ้งแท้มาลนไฟให้ร้อน แล้วนำมาคลึงเพื่อดูดเอาขนของใบตะลังตังช้างออกเสียก่อน แล้วจึงใช้ใบเสลดพังพอนผสมกับเหล้าทาบริเวณที่เป็น (ใบ)
  • ใช้เป็นยาแก้แพ้เกสรรักษาป่า ยางรักป่า และยางสาวน้อยประแป้ง ด้วยการใช้ใบผสมกับเหล้า นำมาทาบริเวณที่คัน (ใบ)
  • ใช้แก้หัด เหือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 7 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 8 แก้ว ต้มให้เดือด 30 นาที เทยาออกและผึ่งให้เย็น แล้วนำใบสดมาอีก 7 กำมือ ตำผสมกับน้ำ 8 แก้ว แล้วเอาน้ำยาทั้งสองมาผสมกัน ใช้ทั้งกินและชโลมทา (ยาชโลมให้ใส่พิมเสนลงไปเล็กน้อย) เด็กที่เป็นหัด เหือด ให้กินวันละ 3 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว (ใบ)
  • ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ปวดบวม เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ กระดูกร้าว ช่วยขับความชื้นในร่างกาย แก้อาการปวดเมื่อยเนื่องจากเย็นชื้น (ทั้งต้น)
    รากใช้เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยบั้นเอว (ราก)

ขนาดและวิธีใช้ : ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนยาสดให้ใช้ครั้งละ 30 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำรับประทาน หรือตำพอกแผลภายนอก

ข้อควรระวัง : แม้ในอดีตจะมีการใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็นแผล แต่ในปัจจุบันวิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมแล้ว เพราะจะทำความสะอาดได้ยาก ทำให้กากติดแผล และอาจทำให้ติดเชื้อเป็นหนองได้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเสลดพังพอนตัวเมีย

  • รากพบสาร Betulin, Lupeol, β-sitosterol ส่วนใบพบสาร Flavonoids ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ สารกลุ่ม monoglycosyl diglycerides เช่น 1,2-O-dilinolenoyl-3-O-b-d-glucopyranosyl-sn-glycerol และสารกลุ่ม glycoglycerolipids ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสเริม
  • จากการทดลองในสัตว์ใช้สกัดจากใบสดของเสลดพังพอนตัวเมียด้วย n-butanol พบว่า สามารถลดการอักเสบได้ โดยพบว่าจะช่วยลดการอักเสบของข้อเท้าหนูที่ทำให้บวมด้วยสาร carrageenan ได้ เมื่อใช้ตำรับยาที่มีเสลดพังพอนตัวเมียร้อยละ 5 ใน Cold cream และสารสกัดด้วยเอทานอลจากใบ นำมาทาเฉพาะที่ให้หนูแรท จะช่วยลดการอักเสบเรื้อรังได้ แต่เมื่อใช้สารสกัดด้วย n-butanol มาทาที่ผิวหนังจะไม่ได้ผล
  • สารสกัดจากใบความเข้ม 15 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม มีประสิทธิภาพต้านการอักเสบได้ดี
  • เมื่อให้หนูเม้าส์กินสารสกัดด้วย n-butanol จากใบ พบว่า จะช่วยลดความเจ็บปวดของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้ปวดด้วยกรดอะซีติคได้ โดยสารสกัดความแรง 90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จะมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับเฟนนิวบิวทาโซนขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนสารสกัดด้วยน้ำและสารสกัดด้วยเอทานอล 60 จากใบ พบว่าไม่มีผลลดความเจ็บปวด
  • สารสกัดด้วยเฮกเซน บิวทานอล และเอทิลอะซิเตทจากใบเสลดพังพอนตัวเมียมีฤทธิ์ต้านไวรัสเชื้อเริม HSV-1 เมื่อนำไปทำเป็นตำรับเจลโดยใช้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้นร้อยละ 4 และใช้ carbopol 940 เป็นสารก่อเจล พบว่าจะมีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ดีและไม่เป็นพิษต่อเซลล์ ในขณะที่เมื่อใช้สารก่อเจล poloxamer 407 จะมีพิษต่อเซลล์ และจากรายงานการรักษาผู้ป่วยโรคเริมที่อวัยวะสืบพันธุ์ชนิดเป็นซ้ำด้วยการใช้ยาจากสารสกัดเสลดพังพอนตัวเมีย เปรียบเทียบกับยา acyclovir และยาหลอก โดยให้ผู้ป่วยทายาวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 6 วัน พบว่าไม่มีความแตกต่างในระยะเวลาการตกสะเก็ดของแผลผู้ป่วยที่ใช้ยาจากสารสกัดใบและยา acyclovir โดยแผลจะตกสะเก็ดภายใน 3 วัน และหายสนิทภายใน 7 วัน ซึ่งแตกต่างกับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ โดยยาที่สกัดจากใบเสลดพังพอนตัวเมียจะไม่ทำให้เกิดการอักเสบและระคายเคือง ในขณะที่ acyclovir จะทำให้แสบ นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาที่ทำจากเสลดพังพอนตัวเมียในผู้ป่วยโรคเริม งูสวัด และแผลอักเสบในปาก แล้วพบว่าสามารถรักษาแผลและลดการอักเสบได้ดี
  • สารที่สกัดจากบิวทานอล (Butanol) ของใบเสลดพังพอนตัวเมีย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส Varicella zoster ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดที่ทำให้เกิดเริมและอีสุกอีใส จากรายงานการรักษาผู้ป่วยโรคงูสวัดด้วยยาจากสารสกัดจากใบเปรียบเทียบกับยาหลอก โดยให้ทายาวันละ 5 ครั้ง เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ จนกว่าแผลจะหาย พบว่าผู้ป่วยที่รักษาด้วยสารสกัดจากใบเสลดพังพอนตัวเมีย แล้วมีแผลตกสะเก็ดภายใน 3 วัน และหายภายใน 7-10 วัน จะมีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่รักษาด้วยยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และระดับความเจ็บปวดจะลดลงเร็วกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก โดยไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อป้อนสารสกัด n-butanol จากใบให้หนูเม้าส์ พบว่ามีพิษเล็กน้อย แต่จะมีพิษปานกลางเมื่อฉีดเข้าช่องท้อง ส่วนสารสกัดด้วยเอทานอลขนาด 1.3 กรัมต่อกิโลกรัม (เทียบเท่าใบแห้ง 5.44 กรัมต่อกิโลกรัม) เมื่อนำมาป้อนเข้าทางปากหรือฉีดเข้าช่องท้องหนูเม้าส์ พบว่าไม่ทำให้เกิดอาการเป็นพิษใด ๆ
  • จากการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง ด้วยการป้อนสารสกัด n-butanol จากใบในขนาด 270 และ 540 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ให้หนูแรททุกวัน นาน 6 สัปดาห์ พบว่าไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต แต่พบว่ามีน้ำหนักต่อมธัยมัสลดลง ในขณะที่น้ำหนักของตับเพิ่มขึ้น และไม่พบว่ามีความผิดปกติต่ออวัยวะอื่น ๆ หรืออาการไม่พึงประสงค์แต่อย่างใด หนูแรทที่กินสารสกัดด้วยเอทานอลในขนาด 1 กรัมต่อกิโลกรัม ทุกวันนาน 90 วัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดและกลุ่มควบคุมไม่ต่างกัน แต่น้ำหนักของหนูเพศผู้ที่ได้รับสารสกัดจะต่ำกว่ากลุ่มควบคุม เกล็ดเลือดของหนูแรททั้งสองเพศสูงกว่า และครีอาตินินต่ำกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่พบความผิดปกติด้านด้านจุลพยาธิวิทยาของอวัยวะภายในและพยาธิสภาพภายนอก

ประโยชน์ของเสลดพังพอนตัวเมีย

  • ยอดอ่อนและใบอ่อนสามารถนำมาใช้บริโภคได้ โดยนำไปปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงแค
  • ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมได้มีการผลิตครีมจากสมุนไพรชนิดนี้สำหรับรักษาและบรรเทาโรคเริมและงูสวัดใช้กันแล้ว โดยแบบครีมจะมีสารสกัดอยู่ร้อยละ 4-5 แบบโลชั่นจะมีสารสกัดอยู่ร้อยละ 1.25 ส่วนแบบสารละลายสำหรับป้ายปากจะมีสารสกัดเสลดพังพอนตัวเมียในกลีเซอรีน ร้อยละ 2.5-4

คำสำคัญ : เสลดพังพอนตัวเมีย

ที่มา : https://pharmoffice.kku.ac.th/iss/smhcontrol/herb/110

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). เสลดพังพอนตัวเมีย. สืบค้น 17 กรกฎาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?code_db=610010&code_type=01&nu=pages&page_id=1794

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1794&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

ผักปลาบใบแคบ

ผักปลาบใบแคบ

ลักษณะทั่วไป  เป็นพืชล้มลุก สามารถเจริญเติบโตโดยอยู่ข้ามปีได้ มีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ลำต้นกลม เรียบหรือมีขนเล็กน้อย อวบน้ำ จะชูส่วนปลายยอด แตกแขนงบริเวณโคนต้น รากฝอยแตกออกตามข้อของลำต้น  ใบเป็นใบเดี่ยวออกจากลำต้นแบบสลับ ใบรูปร่างยาวรีรูปหยก ปลายใบแหลมไม่มีก้านใบ ฐานใบเรียวและแผ่ออกเป็นกาบห่อหุ้มลำต้น ใบกว้าง 1-2 ซม. ยาว 4-7 ซม.  ดอกออกเป็นช่อชนิดไซม์ บนก้านช่อดอกจะมีใบประดับดอก สีเขียวคล้ายใบเป็นแผ่นกลม หรือรูปหัวใจห่อหุ้มดอกเอาไว้ ช่อดอกแตกออกเป็น 2 กิ่ง กิ่งบนมีดอกย่อย 1-3 ดอก ก้านดอกยาว กิ่งล่างมีดอกย่อย 2-5ดอก ก้านดอกสั้น ดอกย่อยแต่ละดอกจะมีกลีบดอกด้านล่าง มีเกสรตัวผู้ 6 อัน เป็นหมัน 4 อัน เกสรตัวเมียมีท่อรังไข่ยาวสีขาว

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 5,281

งาขี้ม้อน

งาขี้ม้อน

ต้นงาขี้ม้อน จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุก มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขา ต้นมีกลิ่นหอม เป็นสันสี่เหลี่ยมมน ๆ และระหว่างเหลี่ยมเป็นร่องตามยาว มีขนยาวละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น เมื่อโตเต็มที่โคนต้นจะเกลี้ยง โคนต้นและโคนกิ่งจะแข็ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง หรือรูปกลม ออกดอกเป็นช่อกระจะตามง่ามใบและที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ริ้วประดับดอกย่อยลักษณะเป็นรูปไข่ 

เผยแพร่เมื่อ 25-05-2020 ผู้เช้าชม 9,305

กระโดนดิน

กระโดนดิน

ต้นกระโดนดินไม้พุ่มเตี้ย สูง 10-20 ซม. รากอวบ ใบกระโดนดินใบเดี่ยว เรียงสลับ ออกเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้าง 4-7 ซม. ยาว 10-20 ซม. ปลายมนหรือเว้าเล็กน้อย โคนสอบแคบจนถึงก้านใบดูคล้ายครีบ ขอบจักเล็กๆ และถี่ แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ไม่มีก้านใบหรือมีก้านใบยาวประมาณ 2 ซม. ดอกกระโดนดินดอกใหญ่ ออกที่ยอด 1-2 ดอก ก้านดอกยาว 3-3.5 ซม. มีขนละเอียดสีเทา มีใบประดับรูปใบหอก 2 ใบ ยาวประมาณ 2 ซม. และใบประดับย่อย 2 ใบติดอยู่ที่โคนดอก ยาว 1.5-2 ซม.

เผยแพร่เมื่อ 13-05-2020 ผู้เช้าชม 2,782

ผักเสี้ยน

ผักเสี้ยน

ผักเสี้ยน จัดเป็นไม้ล้มลุก มีความสูงประมาณ 30-15 เซนติเมตร ส่วนต่างๆ ของต้นมีขนปกคลุม ส่วนรากเป็นรากแก้ว และรากแขนงจำนวนมาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยมีถิ่นกำเนิดและมีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในทวีปเอเชีย (รวมทั้งไทย) และแอฟริกา สำหรับในประเทศไทย แหล่งที่พบผักเสี้ยน มักพบขึ้นเป็นวัชพืชตามท้องไร่ปลายนา ที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป และริมลำธาร

เผยแพร่เมื่อ 13-07-2020 ผู้เช้าชม 15,726

ถั่วลิสง

ถั่วลิสง

ถั่วลิสง (Peanut, Groundnut, Monkeynut, Arachis) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้นล้มลุก ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคเหนือและอีสานเรียก ถั่วดิน ส่วนประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรีเรียก ถั่วคุด เป็นต้น ซึ่งถั่วลิสงนั้นจัดเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนทางทวีปอเมริกาใต้ มีทั้งสายพันธุ์ป่าซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 19 ชนิดด้วยกัน และสายพันธุ์สำหรับปลูกซึ่งจะมีอยู่เพียงชนิดเดียวเรียกว่า Hypogaea โดยเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยเลยทีเดียว แต่ส่วนใหญ่จะพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของไทย

เผยแพร่เมื่อ 08-05-2020 ผู้เช้าชม 7,055

มะปราง

มะปราง

มะปราง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย ลาว พม่า และมาเลเซีย จัดเป็นไม้ผลที่มีทรงของต้นค่อนข้างแหลมถึงทรงกระบอก มีรากแก้วที่แข็งแรง มีกิ่งก้านสาขาค่อนข้างทึบ ลำต้นสูงประมาณ 15-30 เมตร ลักษณะของใบมะปรางจะคล้ายใบมะม่วงแต่มีขนาดเล็กกว่า และใบเป็นใบเรียวยาว มีสีเขียว ขอบใบเรียบ แผ่นใบเหนียว มีเส้นใบเห็นเด่นชัด ใบอ่อนมีสีม่วงแดง ยาวประมาณ 14 เซนติเมตร กว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร ส่วนดอกมะปราง จะออกดอกเป็นช่อ ออกบริเวณปลายกิ่งแขนง ดอกเมื่อบานจะมีสีเหลือง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ และช่อดอกจะยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร

เผยแพร่เมื่อ 13-07-2020 ผู้เช้าชม 11,737

เขยตาย

เขยตาย

เขยตาย จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 2-4 เมตร แตกกิ่งก้านต่ำตั้งแต่โคนต้นเป็นพุ่มเตี้ย ลำต้นเป็นเหลี่ยม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมเทา ผิวลำต้นตกกระเป็นวงสีขาว ใบออกดกทึบ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ เป็นพืชในเขตร้อนของทวีปเอเชียและออสเตรเลีย พบได้ในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ประเทศในแถบคาบสมุทรอินโดจีน สุมาตราและชวา ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ตามชายป่าและหมู่บ้าน

เผยแพร่เมื่อ 25-05-2020 ผู้เช้าชม 7,822

กำลังพญาเสือโคร่ง

กำลังพญาเสือโคร่ง

ต้นกำลังพญาเสือโคร่งนี้เป็นไม้ยืนต้นสูงขนาดใหญ่ โดยมีความสูงของลำต้นประมาณ 20-40 เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอมเทาเหลือบดำ และมีต่อมระบายอากาศอยู่มีลักษณะเป็นจุดเล็กๆ สีขาว ทรงกลมหรือรีกระจายกันอยู่ โดยมีกลิ่นคล้ายกับการบูร สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด ส่วนใบมีรูปทรงไข่แกมรูปหอก ใบบางหรือหนาด้านใต้มีตุ่มอยู่ ขอบใบหยักเป็นแบบฟันเลื่อย 2 ถึง 3 ชั้น โคนใบป้าน และปลายเรียวแหลม ส่วนดอกนั้นจะคล้ายหางกระรอก โดยออกดอกตามง่ามใบ และต้นกำลังพญาเสือโคร่งนี้จะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และมีจะมีลักษณะแบน ผลแก่มักร่วงหล่นจากต้นได้ง่าย โดยออกผลในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์

เผยแพร่เมื่อ 29-04-2020 ผู้เช้าชม 4,126

จิงจ้อเหลือง

จิงจ้อเหลือง

ลักษณะทั่วไป  ต้นเป็นไม้เถา ขนาดเล็ก  ลำต้นกลม เกลี้ยง หรือตามกิ่งก้านมีขนแข็งสีขาว หรือสีน้ำตาลปนเหลืองกระจายทั่ว  ใบรูปกลม กว้าง ยาว โคนใบรูปหัวใจ ขอบใบจักเป็นแฉกรูปพัด 5-7 แฉก เป็นรูปสามเหลี่ยมกว้าง หรือรูปหอกปลายแหลมหรือมน มีติ่งสั้น ขอบแฉกจักเป็นซี่ฟันหยาบ ๆ หรือเว้าตื้น ๆ หรือค่อนข้างเรียบ มีขนกระจายหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน ก้านใบยาว 2-15 ซม. มีขนกระจายหรือเกลี้ยง ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบมี 1-3 หรือหลายดอก ก้านช่อดอกยาว 1-15 ซม. หรือยาวกว่านี้ ก้านดอกยาว 8-20 มม.  เมื่อเป็นผลจะใหญ่ขึ้นเป็นรูปกระบองใบประดับแหลมเรียว ยาว 1.5-2 มม. กลีบรองดอกรูปขอบขนาน หรือแหลม มีติ่งสั้น กลีบที่อยู่ด้านนอกมีขนแข็งหรือเกลี้ยงกลีบอยู่ด้านใน

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 3,636

มะคังแดง

มะคังแดง

มะคังแดง จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความของต้นได้ประมาณ 6-12 เมตร ใบดกหนาทึบ เปลือกลำต้นและกิ่งก้านเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม มีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุมทั่วไป ตามโคนต้น ลำต้น และกิ่งมีหนามขนาดใหญ่โดยรอบ พุ่งตรงออกเป็นระยะ ตามกิ่งก้านอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พบได้ตั้งแต่อินเดีย อินโดจีน พม่า และไทย มักขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง และตามป่าเบญจพรรณ

เผยแพร่เมื่อ 10-07-2020 ผู้เช้าชม 2,368