หงอนไก่

หงอนไก่

เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้ชม 18,208

[16.4258401, 99.2157273, หงอนไก่]

สมุนไพรหงอนไก่ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดที่ต้นตั้งตรงช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก (หงอนไก่ไทย) และชนิดที่ดอกมีรูปทรงคล้ายหงอนไก่ (หงอนไก่ฝรั่ง) ซึ่งทั้งสองชนิดเป็นพืชชนิดเดียวกันและอยู่ในวงศ์เดียวกัน (แต่ต่างสายพันธุ์) อีกทั้งยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นที่คล้ายกันอีกด้วย ส่วนสรรพคุณทางยาโดยรวมของทั้งสองก็คล้ายคลึงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ครับ

หงอนไก่ไทย

หงอนไก่ไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Celosia argentea L. จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า หงอนไก่ดง (นครสวรรค์), ดอกด้าย, ด้ายสร้อย, สร้อยไก่, หงอนไก่ (ภาคเหนือ), หงอนไก่ดอกกลม หงอนไก่ฟ้า หงอนไก่ฝรั่ง (ภาคกลาง), แซเซียง ชิงเซียงจื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น และมีชื่อสามัญว่า Cockscomb, Chainese Wool flower, Wool flower

  • ต้นหงอนไก่ไทย มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกาเขตร้อน ภายหลังได้กระจายพันธุ์ปลูกไปทั่วโลก โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกฤดูเดียว มีอายุเพียง 1 ปี มีลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 40-150 เซนติเมตร มักแตกกิ่งก้านเป็นสีเขียวแกมแดง ลำต้นมีลักษณะฉ่ำน้ำและมีร่องตามยาว เปลือกลำต้นมีทั้งสีแดงและสีเขียว แบ่งออกไปตามสายพันธุ์ 
  • ใบหงอนไก่ไทย ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน รูปหอกยาว หรือรูปเส้นแกมใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเรียวแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-18 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวและมักมีสีแดงแต้ม หรือเป็นสีแดงอมม่วง ใบตอนล่างจะมีขนาดใหญ่ ส่วนใบที่อยู่ส่วนยอดจะมีขนาดเล็กกว่า มีก้านใบยาวประมาณ 0.3-1.7 เซนติเมตร 
  • ดอกหงอนไก่ไทย ออกดอกเป็นช่อเป็นแท่งยาว โดยจะตามซอกใบและปลายกิ่งหรือปลายยอด ปลายช่อดอกแหลม ช่อดอกยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร อัดแน่นอยู่ในช่อเดียว ช่อดอกมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกย่อยมีกลีบดอกเป็นสีม่วงแกมสีชมพู หรือเป็นสีขาวปลายแต้มด้วยสีชมพู อยู่ติดกันเป็นกระจุก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ เกสรเพศผู้ 5 อัน และไม่มีก้านดอก 
  • ผลหงอนไก่ไทย ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ผลมีกลีบเลี้ยงบางหุ้มเมล็ดอยู่ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่กลับ เมล็ดกลมแบนสีดำเป็นมันเงาและแข็ง มีจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมรี 

หงอนไก่ฝรั่ง

หงอนไก่ฝรั่ง (หงอนไก่เทศ) ชื่อวิทยาศาสตร์ Celosia argentea var. cristata (L.) Kuntze, Celosia cristata L. จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หงอนไก่ดง (นครสวรรค์), ดอกด้าย ด้ายสร้อย สร้อยไก่ หงอนไก่ (ภาคเหนือ), หงอนไก่ดอกกลม หงอนไก่ฟ้า หงอนไก่ฝรั่ง หงอนไก่เทศ หงอนไก่ไทย (ภาคกลาง), พอคอที (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ชองพุ ซองพุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), กระลารอน (เขมร-ปราจีนบุรี), แชเสี่ยง โกยกวงฮวย (จีนแต้จิ๋ว), จีกวนฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น และมีชื่อสามัญว่า Wild Cockcomb, Cockcomb, Common cockscomb, Crested celosin

  • ต้นหงอนไก่ฝรั่ง จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 20 นิ้ว ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาไม่มากนัก และไม่มีแก่นด้วย เป็นพรรณไม้ที่กลายพันธุ์ได้ง่าย ทำให้บางต้นจึงมักไม่เป็นสีเขียวเสมอไป โดยอาจจะเป็นสีเขียวอ่อน สีขาว หรือสีแดง เป็นต้น ซึ่งก็แล้วแต่พันธุ์ของต้นนั้นๆ สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและระบายน้ำได้ดี เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ชอบแสงแดดจัด และเจริญเติบโตได้ง่ายและงอกงามเร็ว 
  • ใบหงอนไก่ฝรั่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกรวมกันเป็นกลุ่มตามข้อของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปทรงมนรี รูปรี หรือรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก แผ่นใบเป็นสีเขียว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวได้ประมาณ 10-15 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวหรือสีม่วงแดง ย่นเล็กน้อย ส่วนเส้นกลางใบเป็นสีชมพู
  • ดอกหงอนไก่ฝรั่ง ดอกจริง ๆ ของหงอนไก่ฝรั่งนั้นจะมีขนาดเล็กเป็นละอองแต่จะออกติดกันแน่นเป็นช่อเดียวกันคล้ายกับหงอนไก่ มีขนาดประมาณ 2-4 นิ้ว ลักษณะของช่อดอกจะบิดจีบม้วนไปมาอยู่ในช่อดูคล้ายหงอนไก่ แต่ละดอกจะมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ รูปปลายแหลม ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน ส่วนปลายมีรอยแยกเป็น 2 รอยตื้น ๆ โดยสีของดอกก็จะแตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ เช่น สีแดง สีชมพู สีเหลือง สีขาว สีผสม เป็นต้น ช่อดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร 
  • ผลหงอนไก่ฝรั่ง ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ภายในผลมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมแบน เปลือกนอกเมล็ดเป็นสีดำแข็งและเป็นมัน 

สรรพคุณของหงอนไก่

  1. รากมีรสขมเฝื่อน สรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก)
  2. ดอกใช้รวมกับพืชชนิดอื่นเป็นยาบำรุงกำลัง (ดอก)
  3. ใช้เป็นยาแก้ความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้เมล็ดหงอนไก่แห้งประมาณ 4.5-9 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินหรือใช้ทำเป็นยาเม็ดกิน (เมล็ดแห้ง)
  4. ตำรายาไทยจะใช้รากหงอนไก่เป็นยาแก้โลหิตเป็นพิษ (ราก)
  5. เมล็ดมีรสขมเป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ ใช้เป็นยาแก้ร้อนในตับ ช่วยขับลมร้อนในตับ (เมล็ด)
  6. ช่วยแก้เลือดลมไม่ปกติ (ดอก)
  7. ดอก ก้าน และใบหงอนไก่เทศ มีรสชุ่มเป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับและไต มีสรรพคุณทำให้เลือดเย็น (ก้านและใบ,ดอกหงอนไก่เทศ)
  8. ช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ (ราก)
  9. ใช้เป็นยาแก้ไข้ที่มีอาการในทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น ไข้ท้องอืดเฟ้อ ไข้พิษ ไข้อาหารเป็นพิษ และช่วยแก้ไข้เพื่อลม (มีอาการท้องอืดเฟ้อ) (ราก)
  10. ใช้แก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้ดอกสด (ดอกมีรสฝาดเฝื่อน) ประมาณ 30-60 กรัม (ถ้าเป็นดอกแห้งให้ใช้ประมาณ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (ดอก)
  11. ใช้เป็นยารักษาโรคตาแดง ตาปวด เยื่อตาอักเสบ ช่วยทำให้ตาสว่าง ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (ดอก)
  12. ช่วยแก้ตาฟางในเวลากลางคืน ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 4.5-9 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินหรือทำเป็นยาเม็ดกิน (เมล็ดแห้ง)
  13. ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะใช้ก้านและใบสด (กิ่ง ก้าน และใบมีรสฝาดเฝื่อน) ประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกินก็ได้เช่นกัน ส่วนดอกสดมีสรรพคุณแก้อาเจียนเป็นเลือด วิธีใช้ให้นำดอกสด 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ถ้าเป็นดอกแห้งให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง (ลำต้น,ก้านและใบ,ดอก)
  14. ช่วยแก้อาการไอ ไอเป็นเลือด ด้วยการใช้ดอกหงอนไก่เทศสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ถ้าเป็นดอกแห้งให้ใช้ประมาณ 15-30 กรัม (ดอก)
  15. ใช้เป็นยาแก้เสมหะ (ราก)
  16. ใช้เป็นยาแก้หืด (ราก)
  17. เมล็ดนำมาต้มกับน้ำใช้กลั้วรักษาแผลในช่องปากได้ (เมล็ด)
  18. ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ถ้าเป็นดอกแห้งให้ใช้ประมาณ 15-30 กรัม หรือจะใช้เมล็ดแห้งประมาณ 4.5-9 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือใช้ทำเป็นยาเม็ดกินก็ได้ (ดอก,เมล็ด)
  19. ช่วยแก้อาการท้องอืด (ราก)
  20. ใช้เป็นยาแก้โรคท้องเสีย ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มกับน้ำกิน (ลำต้น)
  21. ตำรายาแผนไทยจะใช้เมล็ดเป็นยาแก้ท้องร่วง (เมล็ด)
  22. ช่วยแก้โรคบิด ด้วยการใช้ก้านและใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน หรือจะใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (ถ้าแห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้บิดก็ได้ (ก้านและใบ,ดอก)
  23. ใช้เป็นยาแก้ถ่ายเป็นมูกเลือด ด้วยการใช้ดอกหงอนไก่เทศสดประมาณ 30-60 กรัม (ดอกแห้งใช้ประมาณ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน ส่วนเมล็ดหงอนไก่เทศจะใช้เป็นยาแก้อุจจาระเป็นเลือด บิดถ่ายเป็นมูกเลือด ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 4.5-9 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือใช้ทำเป็นยาเม็ดกิน (ดอก,เมล็ด)
  24. ใช้เป็นยาระบาย ด้วยการใช้ก้านและใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน (ก้านและใบ)
  25. ดอกใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้ (ดอก)
  26. ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด (ดอกหงอนไก่เทศ)
  27. ใช้แก้ริดสีดวงทวาร (ดอก,เมล็ด)
  28. ใช้แก้ริดสีดวงทวารมีเลือดออก ด้วยการใช้ลำต้นสดของหงอนไก่เทศนำมาต้มกับน้ำกิน หรือใช้ก้านและใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน หรือจะใช้ดอกหงอนไก่เทศกับห่วงโฮง อย่างละเท่ากัน นำมาบดให้เป็นผง แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าลูกมะเขือพวง ใช้รับประทานครั้งละ 7-10 เม็ด (ลำต้น,ก้านและใบ)
  29. ใช้แก้สตรีตกเลือด ด้วยการใช้ก้านและใบสดของหงอนไก่ฝรั่งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน หรือใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกินหรือใช้เข้ากับตำรายาอื่น ส่วนอีกวิธีให้ใช้ลำต้นสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ตกเลือด (ลำต้น,ก้านและใบ,ดอกหงอนไก่ฝรั่ง)
  30. ใช้แก้ประจำเดือนมามากผิดปกติ ประจำเดือนไม่ปกติ ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (ดอก)
  31. ช่วยแก้มุตกิดตกขาวของสตรี ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะนำมาดอกหงอนไก่เทศมาต้มกับเหล้าขาวรับประทานก็ได้ (ใช้ได้ทั้งดอกหงอนไก่ไทยและหงอนไก่เทศ)
  32. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศได้ดี แต่ในตำราไม่ได้ระบุวิธีใช้และวิธีกิน (เมล็ด)
  33. ก้านและใบนำมาตำพอกรักษาบาดแผลที่มีเลือดออกได้ (ก้านและใบ)
  34. ใช้เป็นยาห้ามเลือด แก้เลือดไหลไม่หยุด (ก้านและใบ,ดอก,เมล็ดแห้ง)
  35. ลำต้นอ่อนนำมาตำให้ละเอียดใช้เป็นยาพอกแก้ตะขาบกัด (ลำต้น)
  36. ใช้รักษาผิวหนังเป็นผดผื่นคัน ด้วยการใช้ก้านและใบนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น ส่วนดอกก็มีสรรพคุณช่วยแก้ผดผื่นคันได้เช่นกัน แต่เข้าใจว่านำมาต้มกับน้ำดื่ม ส่วนเมล็ดแห้งมีสรรพคุณช่วยรักษาผิวนหนังเป็นผดผื่นคัน อักเสบร้อนแดง (ก้านและใบ,ดอก,เมล็ดแห้ง)
  37. ใบมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการคันจากยางต้นรัก (ใบ)
  38. ดอกใช้เข้าตำรับยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นเป็นยารักษาโรคมะเร็งคุด (อาการปวดตัวลงข้อ ปวดศีรษะ เจ็บเอว ปวดข้อ) ด้วยการใช้ดอกหงอนไก่ไทย รากสามสิบ รากผักหวานบ้าน รากถั่วพู รากรางเย็น รากมังคะอุ้ย ไม้มะแฟน หอยกาบ และงาช้าง นำมาฝนกับน้ำผสมกับข้าวสุดกินเป็นยารักษาโรคมะเร็งคุด (ดอก)
  39. หากสัตว์มีอาการปวดท้องหลังคลอดลูก ให้ใช้ดอกหงอนไก่สีขาวแห้งประมาณ 60 กรัม, กัญชาเทศประมาณ 60-120 กรัม และใบสนหางสิงห์ (สนแผง) 120 กรัม นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมกับเหล้าให้สัตว์กิน (ดอก)
  40. หากวัวหรือม้ามีเลือดกำเดาออก ให้ใช้ดอกหงอนไก่สดประมาณ 3-4 ช่อ ดอกทานตะวันประมาณ 2-3 ดอก และรากหญ้าคาประมาณ 60-100 กรัม นำมาต้มผสมกับน้ำทรายประมาณ 120 กรัม แล้วเอาน้ำต้มที่ได้มาให้สัตว์กิน (ดอก)
  41. หากวัวหรือม้าถ่ายเป็นเลือด ให้ใช้ดอกหงอนไก่สีขาวแห้งประมาณ 120 กรัม, เหล่งแหง่เช่าประมาณ 30-60 กรัม, และดินสุกเป็นก้อนที่อยู่ตามก้นเตาถ่านประมาณ 60 กรัม นำมาบดผสมรวมกันให้ละเอียด แล้วใส่น้ำตาลทรายขาวลงไปประมาณ 120 กรัม ผสมให้สัตว์กิน (ดอก)
  42. ส่วนข้อมูลอื่นๆ ได้ระบุว่าหงอนไก่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อบิดมีตัว ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย รักษาผิวหนังอักเสบ ส่วนรากใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ข้อมูลส่วนไม่มีแหล่งอ้างอิงครับ)

หมายเหตุ : เมล็ดหงอนไก่ฝรั่ง สามารถใช้แทนกับเมล็ดหงอนไก่ไทยได้ เนื่องจากมีสรรพคุณทางยาที่เหมือนกัน

ข้อห้ามในการใช้สมุนไพรหงอนไก่

  • หญิงที่อยู่ในระหว่างการมีประจำเดือน ไม่ควรนำหงอนไก่มารับประทาน
  • ผู้ที่เป็นโรคตาบอดใส ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหงอนไก่

  • เมล็ดพบสาร Oxalic acid, กรดไขมัน, โพแทสเซียมไนเตรด, Celosiaol, Nicotinic acid และยังพบน้ำมันระเหยอีกหลายชนิดด้วยกัน
  • สารที่สกัดจาเมล็ดและดอกหงอนไก่ เมื่อนำมาทดลองก็พบว่ามีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Trichomonas vaginalis ได้ดี โดยเชื้อชนิดนี้เมื่อนำมาต้มด้วยคามร้อนสูงนาน 5-10 นาทีก็จะตายไป
  • จากการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่อยู่ในช่วง 160-220 / 100-135 มม. ปรอท โดยทำการรักษาด้วยการใช้เมล็ดหงอนไก่แห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มสกัดเอาน้ำ 2 ครั้ง แล้วแบ่งกิน 3 ครั้งต่อวัน ผลการทดลองพบว่า หลังจากที่ได้รับไปแล้ว 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยมีความดันลดลงเหลืออยู่ในช่วง 125-146 / 70-90 มม. ปรอท และจากการนำมาทดลองกับสัตว์ก็พบว่าเมล็ดหงอนไก่สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้
  • น้ำมันระเหยจากเมล็ดหงอนไก้ มีฤทธิ์สามารถทำให้ม่านตาดำขยายตัวได้

ประโยชน์ของหงอนไก่

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับแปลงทั่วไป ปลูกตามขอบแปลง ริมทางเดิน หรือจะปลูกเป็นไม้กระถางก็ได้ เพราะดอกมีความสวยงาม สีสันโดดเด่น เพาะปลูกได้ง่าย มีความแข็งแรงทนทนทาน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี เมื่อดอกบานแล้วจะมีอายุยืนยาว เช่นเดียวกับดอกบานไม่รู้โรย เพราะอยู่ในวงศ์เดียวกัน แต่เมื่อดอกแล้วโรยแล้วจะต้องเปลี่ยนต้นใหม่
  • หรือจะปลูกเป็นไม้ตัดดอกทำดอกไม้แห้งก็ได้ เพราะสามารถเก็บไว้ได้นานและไม่เปลี่ยน 

คำสำคัญ : หงอนไก่

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). หงอนไก่. สืบค้น 3 พฤษภาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1755&code_db=610010&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1755&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

มะขามป้อม

มะขามป้อม

มะขามป้อม ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Phyllanthus emblica Linn. วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับมะขามป้อกันนะครับมะขามป้อมถือเป็นที่รู้จักกันดีในวงการการแพทย์ด้วยสรรพคุณที่หลากหลายกับนานาคุณประโยชน์ ลักษนะของมะขามป้อม ผลสด เป็นผลกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2cmในปัจจุบันนี้มีมะขามป้อมพันธ์ยักษ์ซึ่งขนาดผลใหญ่กว่าผลปกติ2-3เท่าในมะขามป้อมมี สารอะนุมูลอิสระ อุดมไปด้วยวิตามินA B3 Cและยังมีสารอาหารจำพวก แคลเซียม คาร์โบไฮเดรต ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก

เผยแพร่เมื่อ 23-02-2017 ผู้เช้าชม 2,702

อุโลก

อุโลก

อุโลก จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนออกเป็นทรงพุ่มกลมโปร่ง กิ่งแขนงแตกออกจากลำต้นเป็นวงรอบที่ปลายกิ่ง เปลือกต้นหนาแตกลอนเป็นสะเก็ด เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทาบางทีมีสีเทาปนน้ำตาล ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด และวิธีการตอนกิ่ง มักขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณผสม และตามป่าดงดิบแล้งทั่วไปทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 2,601

กระตังใบ (กระตังบาย)

กระตังใบ (กระตังบาย)

ต้นกระตังใบเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ลำต้นเกลี้ยง หรือปกคลุมด้วยขนสั้นๆ ใบกระตังใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 1-3 ชั้น ใบย่อยมี 3-7 ใบ ถึงจำนวนมาก ปลายใบคี่ เรียงแบบสลับ ใบย่อยออกเป็นคู่ตรงข้าม หูใบรูปไข่กลับ แผ่เป็นแผ่นกว้าง มักจะเกลี้ยง หรือมีขนประปราย หูใบร่วงง่าย ทำให้เกิดรอยแผลเป็นรูปสามเหลี่ยมกว้าง เกลี้ยง หรือมีขนสั้นปกคลุม ใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ถึงรูปหอกแกมรูปไข่ หรือรูปรี หรือรูปใบหอกแกมรี ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบสอบ หรือกลม หรือเว้า เล็กน้อย 

เผยแพร่เมื่อ 13-05-2020 ผู้เช้าชม 3,505

ฟักทอง

ฟักทอง

ฟักทองอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมายที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินซี วิตามินอี ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุแคลเซียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุโซเดียม ธาตุแมงกานีส ธาตุเหล็ก ซิงค์ เป็นต้น ฟักทองยังเป็นอาหารเพื่อสุขภาพของผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักอีกด้วย เพราะฟักทองมีกากใยที่สูงมาก มีแคลอรีและไขมันน้อย จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลดความอ้วนและควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี เพียงแค่รับประทานฟักทองหนึ่งถ้วยหรือ 3 กรัม จะทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่มได้นานขึ้น

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 3,478

ตะโกนา

ตะโกนา

ลักษณะทั่วไป ต้นเป็นไม้ยืนต้นสูง 8-15 ม. ลำต้นมีเปลือกสีดำ แตกเป็นสะเก็ดหนา ๆ ทรงพุ่มที่ยอดลักษณะกลมรี  ใบเดี่ยวเรียงสลับปลายใบโค้งมน และเป็นติ่งสั้นมีรอยหยักเว้าเข้าเล็กน้อย ฐานใบสอบเข้าหรือป้อมมนเนื้อในค่อนข้างหนา เหนียว ด้านบนจะเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่ม ปกคลุม เส้นกลางใบจะแห้งมีสีแดงเรื่อ ๆ  ดอกตัวผู้ออกเป็นช่อเล็กตามกิ่งช่อหนึ่งมีดอกย่อย 3 ดอก กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ แยกเป็นแฉกเล็ก ๆ เกสรตัวผู้มี 14-15 อัน มีรังไข่ไม่เจริญ 1 อัน มีสีน้ำตาลปกคลุมผิวหนาแน่น ดอกตัวเมียออกตรงซอกใบ มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนกับดอกตัวผู้ มีเกสรตัวผู้เทียมหรือไม่เจริญ 8-10 อัน เกสรตัวเมียมี 1 อัน รูปร่างป้อม ๆ ติดอยู่เหนือฐานของดอกมี 8-10 ห้อง ออกดอกเดือน มีนาคม-เมษายน

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 4,325

บอระเพ็ด

บอระเพ็ด

บอระเพ็ด เป็นไม้เลื้อยที่พบได้ตามป่าดิบแล้ง จัดเป็นสมุนไพรไทยบ้าน ๆ ที่มีสรรพคุณทางยาสารพัด โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้ทำเป็นยาจะคือส่วนของ "เถาเพสลาก" เพราะมีลักษณะไม่แก่หรืออ่อนเกินไปนัก และมีรสชาติขมจัด แต่ถ้าเป็นเถาแก่จะแตกแห้ง รสเฝื่อน ไม่ขม หรือถ้าอ่อนเกินไปก็จะมีรสไม่ขมมาก

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้เช้าชม 4,712

ม่อนไข่

ม่อนไข่

ต้นม่อนไข่ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงโดยทั่วไปไม่เกิน 8 เมตร และอาจสูงได้ถึง 27-30 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นประมาณ 1 เมตร ลำต้นมียางสีขาวๆ ที่กิ่งอ่อนเป็นสีน้ำตาล ผลไม้ม่อนไข่ เป็นผลไม้พื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ (ประเทศเม็กซิโก) และในอเมริกาใต้ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม ใบเป็นมันและบาง ดอกม่อนไข่ ดอกมีสีครีมและมีกลิ่นหอม ผลมีลักษณะเป็นกลมรูปรี ปลายผลมีหลายแหลมหรือจะงอย

เผยแพร่เมื่อ 09-07-2020 ผู้เช้าชม 11,777

สะแกนา

สะแกนา

สะแกนา จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทานวล ตามกิ่งอ่อนเป็นสันสี่มุม ส่วนต่างๆ ของลำต้นมีขนเป็นเกล็ดกลม ๆ ต้นสะแกนาที่มีอายุมากบริเวณโคนต้นจะพบหนามแหลมยาวและแข็ง หรือเป็นกิ่งที่แปรสภาพไปเป็นหนามสั้นตามโคนต้น เนื้อใบหนาเป็นมัน ใบมีสีเขียวสด ผิวใบทั้งสองด้านมีเกล็ดสีเงินอยู่หนาแน่น ผิวใบด้านบนสากมือ ก้านใบสั้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นไม้กลางแจ้ง ที่ขึ้นได้ในทุกชนิด แต่เจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียว ชุ่มชื้น และควรปลูกในช่วงฤดูฝน 

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 6,940

ผักชี

ผักชี

ผักชี เป็นผักที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว จึงเป็นที่นิยมอย่างมากในการนำมาใช้ประกอบอาหารต่างๆ เพื่อทำให้อาหารมีกลิ่นหอมน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น แถมยังมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลายประการอีกด้วย และด้วยสีเขียวสดของผักชีและรูปร่างของใบที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ผักชีไทยจึงเป็นที่นิยมในการนำมาทำเป็นผักแต่งจานอาหารให้น่ารับประทานอีกด้วย ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "ผักชีโรยหน้า" ซึ่งมีความหมายว่า ทำอะไรให้ดูดีแค่ภายนอกหรือการทำความดีอย่างผิวเผิน เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง 

เผยแพร่เมื่อ 10-07-2020 ผู้เช้าชม 1,573

บานไม่รู้โรยป่า

บานไม่รู้โรยป่า

บานไม่รู้โรยป่า จัดเป็นไม้ล้มลุก แผ่กิ่งที่โคนต้น แตกกิ่งก้านสาขานอนราบไปกับพื้นดิน ส่วนปลายยอดและช่อดอกชูขึ้น มีความสูงได้ประมาณ 40 เซนติเมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวแกมขาว ไม่มียาง แต่มีขนยาวคล้ายสำลีขึ้นปกคลุมอย่างเห็นได้ชัด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ แพร่กระจายพันธุ์มาสู่เขตร้อนที่อบอุ่นกว่า ในประเทศไทยมักพบขึ้นเป็นวัชพืชในพื้นที่เปิดโล่งมีแดดส่องถึง ตามที่รกร้างริมทาง ตามที่สาธารณะทั่วไป เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น พิษณุโลก นครราชสีมา สระบุรี กรุงเทพฯ เพชรบุรี กาญจนบุรี จันทบุรี และภาคใต้ทุกจังหวัด

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้เช้าชม 11,389