บวบหอม

บวบหอม

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้ชม 7,462

[16.4258401, 99.2157273, บวบหอม]

บวบหอม ชื่อสามัญ Sponge gourd, Smooth loofah, Vegetable sponge, Gourd towel
บวบหอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Luffa cylindrica (L.) M.Roem. จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)
สมุนไพรบวบหอม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บวบ (คนเมือง), มะบวบอ้ม มะนอยขม มะนอยอ้ม มะบวบ บวบกลม บวบอ้ม (ภาคเหนือ), บวบกลม บวบขม บวบหอม (ภาคกลาง), ตะโก๊ะสะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), เบล่จูจ้า (ปะหล่อง), เล่ยเซ (เมี่ยน), เต้าหยัวเยี่ยะ (ม้ง), กะตอร่อ (มลายู-ปัตตานี), เทียงล้อ ซีกวย (จีนแต่จิ๋ว) ซือกวา (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของบวบหอม
        ต้นบวบหอม หรือ ต้นบวบกลม จัดเป็นพรรณไม้เถาล้มลุกมีอายุได้เพียง 1 ปี มักเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้ชนิดอื่น ๆ หรือตามร้านที่ปลูกทำไว้ ลำต้นมีลักษณะเป็นเถาสี่เหลี่ยมหรือเป็นเถากลมและมีร่องเป็นเส้นตามยาว เถามีความยาวได้ประมาณ 7-10 เมตร และจะมีมือสำหรับยึดเกาะเป็นเส้นยาวประมาณ 3 เส้น ตามลำต้นอ่อนและยอดอ่อนจะมีขนที่อ่อนนุ่ม เมื่อลำต้นแก่ขนเหล่านั้นก็จะค่อย ๆ หลุดร่วงไป ทุกส่วนของลำต้นเมื่อนำมาขยี้ดมดูจะมีกลิ่นเหม็นเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
        ใบบวบหอม ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบค่อนข้างกลม ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเข้าหากันคล้ายรูปหัวใจ แผ่นใบจะมีรอยเว้าเข้าประมาณ 3-7 รอย และริมขอบใบจะเป็นรอยหยักหรือคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-25 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวแก่ ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน ใบอ่อนจะมีขนมาก เมื่อใบแก่แล้วขนเหล่านั้นจะค่อย ๆ หลุดร่วงไป เห็นเส้นใบนูนได้ชัดเจนประมาณ 3-7 เส้น ส่วนก้านใบนั้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยมและมีขนอ่อนนุ่ม โดยมีความยาวของก้านใบประมาณ 4-9 เซนติเมตร
         ดอกบวบหอม ในต้นเดียวกันหรือในช่อดอกเดียวกันจะทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย โดยดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีก้านดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร กลีบรองกลีบดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อสั้น ๆ ส่วนปลายแยกเป็นกลีบเล็ก ๆ 5 กลีบ และมีขน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลีบหรือเป็นรูปรี กลีบดอกเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน ขอบกลีบดอกมีรอยย่นเป็นคลื่น ๆ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร โดยกลีบดอกจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 3 ก้าน ส่วนดอกเพศเมียมักจะออกดอกเป็นดอกเดี่ยว และบางครั้งอาจออกติดกับดอกเพศผู้ในช่อดอกเดียวกัน ก้านดอกยาวประมาณ 1-7 เซนติเมตร กลีบดอกและกลีบรองดอกมีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ประมาณ 3-5 ก้าน ส่วนอับเรณูมีอยู่ประมาณ 2 ห้อง และจะงอเป็นลักษณะรูปตัวเอส (S) บริเวณโคนก้านของเกสรเพศผู้มีลักษณะพองออกและมีขนอ่อนนุ่ม ส่วนเกสรเพศเมียนั้นจะฝ่อหายไป ก้านดอกมีความยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร และหลังจากที่ผสมเกสรแล้วก้านเกสรก็จะยาวขึ้นอีก ส่วนรังไข่มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมและยาวอยู่ต่ำกว่าส่วนอื่น ๆ ทั้งหมด ภายในรังไข่จะมีอยู่ประมาณ 3 ห้อง และจะมีแนวขั้วติดไข่อ่อนประมาณ 3 แนวและมีไข่อ่อนเป็นจำนวนมาก โดยก้านเกสรเพศเมียจะมีลักษณะเป็นเส้นกลมสั้น ปลายเกสรจะแยกออกเป็น 3 ส่วน
          ผลบวบหอม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอก ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 16-60 เซนติเมตร ที่ปลายผลจะมีรอยของกลีบรองกลีบดอกเหลืออยู่ ผลอ่อนเป็นสีเขียวและมีลายเป็นสีเขียวแก่ ผิวผลด้านนอกมีนวลเป็นสีขาว ส่วนผลแก่จะเป็นสีเขียวออกเหลืองหรือเป็นสีเขียวเข้มออกเทา เนื้อด้านในมีเส้นใยที่เหนียวมาก มีลักษณะเป็นร่างแห เนื้อผลนิ่มเป็นสีขาว และมีเมล็ดลักษณะแบนรีหรือกลมแบน มีขนาดกว้างประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร โดยผลแก่นั้นจะมีเมล็ดข้างในเป็นสีดำ หรืออาจมีปีกออกทั้งสองข้างเมล็ด และผลบวบชนิดนี้จะมีรสขม ผลมีลักษณะกลมสั้น มีความยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร อันนั้นจะเรียกว่า "บวบขม"

สรรพคุณของบวบหอม
1. เถาบวบหอมช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี (เถา)
2. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใยบวบ)
3. ใบ ผล ใยบวบ และเมล็ดเป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ (ใบ, ผล, ใยบวบ, เมล็ด) ส่วนดอกมีรสชุ่มและเย็นจัด ช่วยดับร้อนในร่างกาย (ดอก) ผลช่วยทำให้เลือดเย็น (ผล)
4. เมล็ดช่วยลดความร้อนในปอด ทำให้ปอดชุ่มชื่น (เมล็ด) ใยบวบมีรสหวาน คุณสมบัติไม่ร้อนไม่เย็น ช่วยทะลวงเส้นลมปราณ (ใยบวบ, เถา)
5. หากมีอาการเหงื่อออกมาก ให้ใช้ใบสดผสมกับเมนทอลแล้วนำมาตำใช้เป็นยาทาหรือใช้พอก (ใบ)
6. น้ำจากเถาใช้ผสมกับน้ำตาลทราย ใช้กินพอประมาณเป็นยาบรรเทาอาการร้อนใน (น้ำจากเถา) ราก ใบ เถา ผล และใยบวบ ช่วยแก้อาการร้อนใน (ราก, ใบ, เถา, ผล, ใยบวบ)
7. ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ราก, ใบ, เถา, เมล็ด)
8. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ โดยใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทราย ใช้กินพอประมาณ (น้ำจากเถา) หรือหากมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว ก็ให้ใช้รากนำมาต้มใส่ไข่เป็ด 2 ฟองแล้วนำมากิน (ราก)
9. น้ำคั้นจากใบสด นำมาหยอดตาเด็ก เพื่อใช้รักษาเยื่อตาอักเสบ (ใบ)
10. ช่วยรักษาโพรงจมูกอักเสบ ด้วยการใช้เถานำมาคั่วให้เหลืองแล้วบดให้เป็นผง ทำเป็นยานัตถุ์เป่าเข้าจมูก โดยให้ใช้ติดต่อกันประมาณ 2-4 วัน หรือจะใช้ดอกสดผสมกับฮั่วเถ่าเช่าสด นำไปตำพอกรักษาโพรงจมูกอักเสบ หรือถ้าใช้รักษาเยื่อจมูกอักเสบและ
       เสื่อมสมรรถภาพ จมูกอักเสบจนกลายเป็นโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง ก็ให้ใช้รากนำมาต้มกับน้ำกิน (เถา, ราก, ดอก) ราก ใบ และเถาช่วยรักษาจมูกอักเสบหรือเป็นแผล รักษาอาการอักเสบเรื้อรังในจมูก (ราก, ใบ, เถา)
11. เถามีรสขมและเย็นจัด มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยารักษาจมูกมีหนองและมีกลิ่นเหม็นที่อาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย ด้วยการใช้เถาบริเวณใกล้กับรากเผาให้เป็นถ่าน แล้วบดให้เป็นผง ใช้ผสมกับเหล้ากิน (เถา)
12. ใช้รักษาคางทูม ให้ใช้ผลนำไปเผาให้เป็นถ่าน บดให้เป็นผง ใช้ผสมกับน้ำเป็นยาทา หรือจะใช้ใยผล (รังบวบ) ที่เผาเป็นถ่านแล้วนำมาผสมกับน้ำใช้ทาบริเวณที่ปวด (ผล, ใยผล)
13. เมล็ดมีรสหวานมัน ใช้เป็นยารักษาอาการปวดเสียวฟัน โดยเลือกใช้ผลที่แก่นำไปเผาให้เป็นเถ้าแล้วบดให้เป็นผง ใช้เป็นยาทาบริเวณที่ปวด ส่วนเถาก็เป็นยาแก้อาการปวดเสียวฟันเช่นกัน (เถา, เมล็ด)
14. ขั้วผลช่วยรักษาเด็กที่ออกหัด ช่วยทำให้ออกหัดได้เร็วขึ้น (ขั้วผล)
15. ผลอ่อนและใยบวบเป็นยาลดไข้ (ผล, ใยบวบ)
16. น้ำคั้นจากเถาใช้ผสมกับน้ำตาลทรายกินพอประมาณเป็นยาแก้หวัดได้ (น้ำจากเถา)
17. น้ำคั้นจากเถานำมาผสมกับน้ำตาลทรายกินพอประมาณเป็นยาแก้ไอ หรือจะใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัมนำมาผสมกับน้ำผึ้งแล้วต้มจิบกิน หรือจะใช้เถานำไปต้มกับน้ำ หรือใช้น้ำคั้นจากเถาสดกินเป็นยาแก้ไอ (ซึ่งวิธีนี้ได้ทดลองกับหนูพบว่าสามารถช่วย
      ระงับอาการไอได้) ส่วนอีกวิธีให้ใช้เถาประมาณ 100-150 กรัม นำมาหั่นเป็นแว่นบาง ๆ ต้มกับน้ำ 1,000 ซีซี โดยต้มจนเหลือน้ำประมาณ 400 ซีซี เสร็จแล้วพักไว้ก่อน นำกากที่ต้มครั้งแรกมาต้มกับน้ำอีก 800 ซีซี แล้วต้มจนเหลือ 400 ซีซี แล้วนำน้ำที่ต้มทั้ง
      สองมารวมกัน เคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ จนเหลือน้ำประมาณ 150 ซีซี ใช้แบ่งดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 50 ซีซี ติดต่อกันกัน 10 วัน (เถา, น้ำจากเถา, ดอก)[1],[2],[6]ส่วนราก ใบ และเถาก็เป็นยาแก้ไอเช่นกัน (ราก, ใบ, เถา)[2],[3] บ้างก็ว่าใช้น้ำคั้นจากเถาบวบ ให้ใช้
      ครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมกับน้ำอุ่นดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือใช้เมล็ดที่อบแห้งแล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ดื่มครั้งละ 9 กรัม วันละ 3 ครั้ง หรือใช้ใยบวบนำมาคั่วให้เกรียมแต่อย่าให้ไหม้ แล้วนำมาบดเป็นผง ผสมกับน้ำตาล ใช้กินครั้งละ 2 ช้อน วันละ 3 ครั้ง (น้ำ
      คั้นจากเถา, ใยบวบ, เมล็ด)
18. ช่วยแก้อาการไอร้อยวัน ด้วยการใช้น้ำคั้นจากบวบสดผสมกับน้ำผึ้งเล็กน้อย ใช้กินครั้งละ 60 มิลลิลิตร วันละ 2-3 ครั้ง (ผล)
19. ดอกมีรสชุ่ม ขมเล็กน้อย และเย็นจัด ใช้แก้อาการเจ็บคอได้ โดยใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัม นำมาผสมกับน้ำผึ้ง แล้วต้มจิบกินเป็นยา หรือจะใช้ผลอ่อนคั้นเอาแต่น้ำ ใช้กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 2-3 ครั้ง และผสมกับน้ำใช้กลั้วคอ หรือจะใช้ขั้วผลนำไป
      เผาไฟให้เป็นเถ้า บดให้เป็นผง ใช้เป่าคอรักษาอาการเจ็บคอ หรือจะใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทรายใช้กินพอประมาณก็ได้ หรือจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือนำรากมาแช่กับน้ำในภาชนะกระเบื้องแล้วเทเอาแต่น้ำกินก็เป็นยาแก้อาการเจ็บคอเช่นกัน (น้ำ
      จากเถา, ราก, ดอก, ผล, ขั้วผล)
20. เถานำไปต้มกับน้ำหรือใช้น้ำคั้นจากเถาสดกินเป็นยาขับเสมหะ (เถา, น้ำคั้นจากเถา) ใบและเมล็ดช่วยขับเสมหะ ละลายเสมหะ (ใบ, เมล็ด)
21. เมล็ดใช้กินเป็นยาทำให้อาเจียน (เมล็ด)
22. ใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัมผสมกับน้ำผึ้ง แล้วต้มจิบกินเป็นยาแก้หอบ (ดอก)
23. เถาใช้เป็นยารักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง อาการอักเสบเรื้อรังในคนแก่ ด้วยการใช้เถาแห้งประมาณ 100-250 กรัม นำมาหั่นเป็นฝอย แล้วนำไปแช่กับน้ำจนพองตัว แล้วนำไปต้มและแยกกากออก ใส่น้ำตาลพอประมาณ ใช้กินเป็นยาวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกัน
      ประมาณ 10 วัน ส่วนอีกวิธีให้ใช้เถาประมาณ 100-150 กรัม นำมาหั่นเป็นแว่นบาง ๆ ต้มกับน้ำ 1,000 ซีซี โดยต้มจนเหลือน้ำประมาณ 400 ซีซี เสร็จแล้วพักไว้ก่อน นำกากที่ต้มครั้งแรกมาต้มกับน้ำอีก 800 ซีซี แล้วต้มจนเหลือ 400 ซีซี แล้วนำน้ำที่ต้มทั้ง
      สองมารวมกัน เคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ จนเหลือน้ำประมาณ 150 ซีซี ใช้แบ่งดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 50 ซีซี ติดต่อกันกัน 10 วัน แล้วจะเห็นผล (เถา) ส่วนราก ใบ และเถาก็ช่วยรักษาหลอดลมอักเสบเช่นกัน (ราก, ใบ, เถา)
24. ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทราย ใช้กินพอประมาณ (น้ำจากเถา)
25. ผลมีรสชุ่มและเย็น ใช้เป็นยารักษาโรคบิดถ่ายเป็นเลือด ช่วยแก้อาการปวดท้องเนื่องจากดื่มเหล้ามาก ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 1 ผล นำไปเผาให้เป็นถ่านแล้วบดเป็นผง ใช้ผสมกับเหล้าดื่มครั้งละประมาณ 6 กรัม หรือจะใช้ใบเป็นยารักษาโรคบิดก็ได้
      โดยให้ใช้ใบในขนาดประมาณ 300-600 มิลลิกรัม เข้าใจว่านำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ, ผล)
26. ผลช่วยขับลม (ผล)
27. เมล็ดช่วยแก้อาการท้องผูก เป็นยาระบาย (เมล็ด) ส่วนผลอ่อนก็เป็นยาระบายเช่นกัน (ผล)
28. รากใช้ในขนาดน้อย ๆ มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง (ราก) น้ำต้มกับรากใช้ดื่มเป็นยาระบาย (ราก)
29. เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม โดยนำเมล็ดแก่ (เมล็ดแก่เปลือกดำจะได้ผลดี ส่วนเปลือกขาวจะไม่ได้ผล) นำมาเคี้ยวกินตอนท้องว่าง หรือจะนำเมล็ดมาบดให้ละเอียดใส่ในแคปซูลกินวันละครั้ง แล้วพยาธิตัวกลมก็จะถูกขับออกมา หรือจะใช้เมล็ดประมาณ
      40-50 เมล็ด (ถ้าเป็นเด็กให้ใช้ 30 เม็ด) นำมาตำให้ละเอียด แล้วใช้กินกับน้ำเปล่าตอนท้องว่าง โดยให้กินวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน ส่วนเถาก็ใช้เป็นยาขับพยาธิได้เช่นกัน (เถา, เมล็ด)
30. ผลช่วยแก้อาการเลือดออกตามทางเดินอาหารและจากกระเพาะปัสสาวะ แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ (ผล)
31. ผลอ่อน ใยบวบ เมล็ด และดอก มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (ดอก, ผล, ใยบวบ, เมล็ด) น้ำต้มใบใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะอื่น ๆ หรือน้ำต้มจากใบสดเป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด หากใช้ใบแห้งให้ใช้ขนาด 5 กรัม นำมาชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว
      ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (ใบ)[4],[6]
32. ช่วยรักษาทางเดินปัสสาวะอักเสบ ด้วยการใช้ใยบวบหรือรังบวบ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำผสมน้ำผึ้งเล็กน้อยกินเป็นยา หรือจะใช้ผลบวบ 1 ผล นำมาผิงไฟให้เหลืองแห้งแล้วบดเป็นผง แบ่งเป็น 2 ส่วน ใช้กินกับเหล้าเหลือง (ผล, ใยบวบ)
33. ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร โดยใช้ใบนำมาตำแล้วพอกหรือจะบดเป็นผงผสมเป็นยาทาบริเวณที่เป็น หรือจะใช้ดอกสดผสมกับฮั่วเถ่าเช่าสดนำไปตำใช้เป็นยาพอก หรืออีกวิธีให้ใช้ใยผลนำไปเผาไฟให้เป็นเถ้า นำไปผสมกับปูนขาวที่เก็บไว้นาน ๆ และผสมกับ
      หย่งอึ้งบดเป็นผง แล้วนำไปต้มกับดีหมู ใส่ไข่ขาวผสมน้ำมันหอมใช้ทาบริเวณที่เป็น แต่หากเป็นโรคริดสีดวงทวารที่เกิดจากการดื่มเหล้ามาก ๆ ก็ให้ใช้ใยบวบที่เผาเป็นถ่านแล้วนำมาบดเป็นผงผสมกับเหล้า ใช้ดื่มครั้งละ 6 กรัม (ใบ, ดอก, ใยผล)
34. ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี ด้วยการใช้ผลบวบแห้ง 1 ผล นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ผล)
35. หากเลือดน้อย ประจำเดือนของสตรีมาผิดปกติ ให้นำผลมาเผาให้เป็นถ่าน ใช้ผสมกับเหล้าดื่มหลังอาหารตอนที่สบายใจ ส่วนเถาก็ช่วยแก้ประจำเดือนที่ผิดปกติของสตรีเช่นกัน (เถา, ผล)[1]หรือจะใช้เมล็ดที่อบแห้งแล้วนำมาบดให้เป็นผง เติมน้ำตาลแดง
      และเหล้าเหลืองเล็กน้อย นำมาอุ่นให้พอร้อน ใช้ดื่มเช้าและเย็นเป็นยาแก้ประจำเดือนผิดปกติ (เมล็ด)[3] ส่วนใยบวบและน้ำคั้นจากใบสดเป็นยาฟอกเลือด ช่วยขับประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ (ใบ, ใยบวบ)
36. ใช้แก้ประจำเดือนของสตรีมามากผิดปกติ ให้ใช้ผลบวบแก่ 1 ผล นำมาผิงไฟให้ดำแต่อย่าให้ไหม้ แล้วบดเป็นผงกินกับเกลือครั้งละ 9 กรัม (ผล)
37. ใช้เป็นยารักษาสตรีที่มีอาการตกเลือด ด้วยการนำใบไปคั่วให้เป็นถ่าน บดให้เป็นผง ใช้ผสมกับเหล้าดื่มครั้งละ 6-15 กรัม (ใบ)
38. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทราย ใช้กินพอประมาณ (น้ำจากเถา)
39. ใยบวบใช้เป็นยาช่วยขับน้ำชื้นในร่างกาย ช่วยลดอาการบวม (ใยบวบ)
40. เถาช่วยบำรุงม้าม (เถา)
41. ราก ใบ และเถา ใช้ภายนอกเป็นยาใส่แผลช่วยห้ามเลือดได้ (ราก, ใบ, เถา) หากเป็นแผลมีเลือดออก ให้ใช้ใบตากแห้งนำมาบดเป็นผง แล้วนำมาใช้โรยบริเวณแผล (ใบ) ใบนำมาตำใช้เป็นยาพอกแก้อาการอักเสบและฝี (ใบ)
42. รากมีสรรพคุณช่วยรักษาแผลเน่าเปื่อยอักเสบ ด้วยการใช้รากนำมาต้มกับน้ำใช้ล้างแผล จะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น (ราก)
43. ช่วยรักษาผดผื่นคัน ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำ ใช้เป็นยาทาบริเวณที่เป็น หรือจะใช้ใบสดผสมกับเมนทอล นำมาตำใช้เป็นยาพอกหรือทาบริเวณที่เป็น (ใบ)
44. ใช้รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ฝีหนอง (ราก, ใบ, เถา) ใบนำมาตำใช้เป็นยาพอกรักษากลาก บาดแผลเรื้อรัง รักษาแผลจากแมลงสัตว์กัดต่อย หรือจะใช้ใบนำมาต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้าง หรือบดเป็นผงผสมเป็นยาทาก็ได้ (ใบ) ใช้รักษาเกลื้อน ให้ใช้ใบ
      สดนำมาล้างให้สะอาด นำมาขยี้แล้วใช้ถูบริเวณที่เป็นจนผิวหนังเริ่มแดงก็หยุดสักพัก แล้วทำใหม่ติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง โดยบริเวณที่ถูไม่ต้องล้างน้ำออกจนกว่าเกลื้อนจะหาย หรือจะเด็ดบวบอ่อนที่มีน้ำค้างเกาะในตอนเช้า นำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ
      มาทาบริเวณที่เป็นก็ได้ (ใบ, ผล)
45. น้ำคั้นจากใบสดใช้เป็นยาทาแก้กลากบนศีรษะ (ใบ)
46. ใช้เปลือกผลนำไปเผาไฟให้แห้ง แล้วบดให้เป็นผงผสมเป็นยาทารักษาฝี ฝีไม่มีหัว แผลมีหนอง และแผลที่เกิดจากการกดทับนาน ๆ หรือใช้ผลสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นยาทารักษาฝีบวม (ผล, เปลือกผล) หรือหากใช้รักษาฝีบวมแดงและมีหนอง
      รักษาฝีไม่มีหัว ก็ให้ใช้ดอกสดผสมกับฮั่วเถ่าเช่าสด นำไปตำใช้เป็นยาพอกก็ได้ (ดอก)
47. หรือถ้าหากเป็นแผลมีหนองและมีเนื้อนูน ก็ให้ใช้ผลสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมกับผงเบญกานี Gall จากต้น Rhus chinensis Mill. แล้วนำมาใช้เป็นยาทา (ผล)[1]ส่วนรากนำมาเคี่ยวเอาแต่น้ำใช้ชะล้างแผลมีหนองเรื้อรังและช่วยรักษาฝี (ราก)
48. หากเป็นหูด ให้ใช้ดอกสดประมาณ 2-5 ดอก ใส่เกลือลงไปเล็กน้อยแล้วตำให้ละเอียด ใช้เช็ดถูบริเวณที่เป็นจนเริ่มรู้สึกร้อน แล้วให้ถูบ่อย ๆ จะได้ผลดี โดยให้ใช้จนกากแห้ง เททิ้งแล้วเปลี่ยนใหม่ (ดอก)
49. ราก ใบ และเถาใช้เป็นยาแก้อาการปวดหลัง (ราก, ใบ, เถา)
50. ช่วยแก้อาการปวดเอว ด้วยการใช้ใยบวบ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำเติมเหล้าเหลืองเล็กน้อยใช้กินเป็นยา หรือถ้าจะใช้รักษาอาการปวดเอวเรื้อรัง ก็ให้นำเมล็ดมาคั่วจนเหลือง แล้วบดให้เป็นผง ใช้ผสมกับเหล้าดื่ม แล้วให้นำกากมาพอกบริเวณที่มีอาการปวด
      (ใยบวบ, เมล็ด)
51. ใยบวบมีสรรพคุณแก้อาการปวดเส้น ปวดกระดูก (ใยบวบ)
52. เถาช่วยรักษาแขนขาเป็นเหน็บชา (เถา)
53. ใช้ใยผลหรือรังบวบที่เผาเป็นถ่านแล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ผสมกับเหล้าดื่ม แล้วห่มผ้าห่มให้เหงื่อออกด้วย จะช่วยขับน้ำนมของสตรีที่มีน้ำนมน้อยหลังการคลอดบุตรได้ ส่วนผลก็ช่วยขับหรือเรียกน้ำนมได้เช่นกัน ด้วยการใช้ผลแก่ 1 ผลนำมาตากในที่ร่มให้
      แห้ง ผิงให้แห้งแล้วบดเป็นผง ใช้ชงกับเหล้าเหลืองดื่มครั้งละ 9 กรัม หรือจะใช้ผลประมาณ 1-2 ผล นำมาประกอบอาหารให้แม่ลูกอ่อนรับประทานก็ได้ (ผล, ใยผล)

ข้อมูลทางเภสัชวิทาของบวบหอม
1. ทั้งต้นพบสาร Citrulline, Cucurbitacin, Glucolin, Mannangalactan, Luffein, Xylan และยังพบโปรตีน ไขมัน วิตามินบี 1 และวิตามินซี
2. รากมีสารขมจำพวก Cucurbitacin B และ Cucurbitacin D เล็กน้อย
3. ใบและเถามีสารซาโปนิน (Saponins)
4. ในเกสรดอกเพศผู้จะมีสาร Alanine และสาร Lysine มาก ส่วนดอกเพศเมียมีสาร Aspartic acid, Asparagine, Arginine, และ Glutamine มากกว่าเกสรเพศผู้
5. ในผลบวบหอมมีสาร Mucilage, Luffein และสาร Saponins เป็นจำนวนมาก และยังมีสารจำพวก Citrulline อีกด้วย
6. ใยผลหรือรังบวบมีสาร Cellulose, Xylan และมีสารจำพวก Galactan, Mannan, และ Lignin
7. เมล็ดบวบหอมมีสารประเภทไขมันอยู่ประมาณ 23.5-38.9% โดยประกอบไปด้วยกรดไขมันที่สำคัญ ได้แก่ Glycerol, Oleic acid, Palmitic acid, Linoleic acid, Stearic acid เป็นต้น และยังมี Phosphatide, Phospholipid และ Phospholipin รวมกันอีก
    ประมาณ 0.47%
8. น้ำที่สกัดได้จากเถาและใบของบวบหอมมีฤทธิ์ในการกระตุ้นลำไส้เล็กของหนูตะเภาและกระต่ายเพียงเล็กน้อย แต่จะมีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของกระต่ายที่แยกออกมาจากตัวอย่างเห็นได้ชัด และยังมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อหน้าท้องของคางคกได้อย่างชัดเจน
    เช่นกัน
9. เมื่อนำน้ำที่ต้มได้จากเถาให้สัตว์ทดลองกิน พบว่าสามารถช่วยแก้อาการไอ แก้หืดหอบ และขับเสมหะในสัตว์ทดลองได้
10. น้ำต้มที่ได้จากเถา หรือเหล้าที่ดองกับเถา มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Coccus
11. เมล็ดมีฤทธิ์ในการขับพยาธิตัวกลม

ประโยชน์ของบวบหอม
1. ผลอ่อนและยอดอ่อนสามารถนำไปประกอบอาหารได้ เช่น แกง แกงเลียง ผัด หรือนำไปลวกกินกับน้ำพริก
2. น้ำมันจากเมล็ดบวบหอมสามารถนำมาใช้ทำอาหารได้
3. ใยผล ใยบวบ หรือรังบวบสามารถนำมาใช้ในการทำความสะอาดเครื่องแก้ว เครื่องครัว รถยนต์ ทำใยขัดหม้อ เอามาขัดถูตัวหรือใช้ล้างจานได้ ฯลฯ หรือจะใช้เป็นที่บุรองภายในของหมวกเหล็ก ทำเบาะรองไหล่ ยัดในหมอน ในรถหุ้มเกาะ ใช้ใส่ในหีบห่อเพื่อ
    ป้องกันการกระทบกระแทก ใช้ผสมทำแผ่นเก็บเสียง ฯลฯ อีกทั้งใยผลหรือรังบวบยังมีคุณสมบัติที่ทนความร้อนได้ดี ใช้ทำหน้าที่สำหรับจับหม้อที่ร้อน ๆ หรือใช้รองหม้อนึ่งข้าว หรือใช้ในการกรองน้ำมันของเรือเดินทะเลและเครื่องยนต์ที่มีระบบการเผาไหม้
    ภายในต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ยังนำมาใช้สานเป็นเสื่อ หมวก ผ้าปูโต๊ะ ใช้ผสมในปูนปลาสเตอร์ ในสารเคลือบทำแผ่นเก็บความร้อน อีกทั้งใยผลหรือรังบวบก็ยังเป็นแหล่งที่ให้ Cellulose ที่นำมาใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษได้อีกด้วย

คำสำคัญ : บวบหอม

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). บวบหอม. สืบค้น 17 กรกฎาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?code_db=610010&code_type=01&nu=pages&page_id=1643

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1643&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

ตองกง

ตองกง

ต้นตองกง จัดเป็นไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า มีอายุหลายปี ลำต้นกลม มีลักษณะคล้ายต้นไผ่ ลำต้นตั้งมีกอที่แข็งแรงมาก มีความสูงของต้นประมาณ 3-4 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและส่วนของลำต้นหรือเหง้าที่อยู่ใต้ดิน มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง โดยสามารถพบได้ทั่วไปในประเทศอินเดีย จีน หม่า รวมไปถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยขึ้นเป็นวัชพืชตามที่โล่งสองข้างทาง ตามไหล่เขา และตามชายป่า ที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 1,800 เมตร

เผยแพร่เมื่อ 01-06-2020 ผู้เช้าชม 3,677

ชะอม

ชะอม

ชะอม (Cha-om, Acacia, Climbing Wattle) เป็นพืชที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคเหนือเรียก ผักละหรือผักหละ ส่วนภาคอีสานเรียก ผักขะ เป็นต้น ซึ่งชะอมนี้เป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยทั่วทุกภาครู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว และมักนำมาประกอบอาหารต่างๆ โดยเฉพาะไข่ทอดชะอม ที่เป็นเมนูโปรดของใครหลายๆคนเลยทีเดียว แถมในชะอมนี้ยังมีประโยชน์ต่างๆมากมายอีกด้วย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักนิยมนำชะอมมาปลูกไว้บริเวณรั้วบ้าน เพราะมีหนามแหลมและยังสามารถรับประทานได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย

เผยแพร่เมื่อ 08-05-2020 ผู้เช้าชม 2,433

มะกอกน้ํา

มะกอกน้ํา

ต้นมะกอกน้ำ มีเขตการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้บริเวณริมน้ำและลำห้วย ปัจจุบันนิยมปลูกกันทั่วไป โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบแต่ไม่พร้อมกัน มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มโปร่ง มีรูอากาศเป็นแนวยาว เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบเป็นสีน้ำตาล มีรอยแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตื้น ๆ ตามความยาวของลำต้น ตามกิ่งมีรอยแผลใบชัดเจน ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชื้นหรือบริเวณริมน้ำ 

เผยแพร่เมื่อ 09-07-2020 ผู้เช้าชม 16,329

ถั่วดาวอินคา

ถั่วดาวอินคา

ดาวอินคาเป็นไม้เลื้อยอายุหลายปี มีอายุได้นาน 10 ถึง 50 ปี ลำต้นสูง 2 เมตร กิ่งและยอดแผ่เลื้อยพันตามกิ่งไม้หรือโครงสร้างเลื้อยพันอื่นๆ ใบดาวอินคาเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบตรงถึงรูปหัวใจ ขอบใบจักฟันเลื่อย ใบยาว 10-12 เซนติเมตร กว้าง 8-10 เซนติเมตร ก้านใบยาว 2-6 เซนติเมตร ดอกดาวอินคาดอกช่อแบบช่อกระจะ ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้ขนาดเล็ก สีขาว เรียงเป็นกระจุกตลอดความยาวช่อ ดอกเพศเมีย 2 ดอก อยู่ที่โคนช่อดอก

เผยแพร่เมื่อ 26-05-2020 ผู้เช้าชม 4,935

บัวเผื่อน

บัวเผื่อน

บัวเผื่อน เป็นพันธุ์ไม้น้ำคล้ายบัวสาย เป็นพืชที่มีอายุหลายปี มีเหง้าและไหลอยู่ใต้ดิน ส่วนใบและดอกจะขึ้นอยู่บนผิวน้ำ ขยายพันธุ์ด้วยการใช้หน่อหรือเหง้า และใช้เมล็ด พบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยสามารถพบได้ตามหนองน้ำ บึงคลอง ริมแม่น้ำที่มีกระแสน้ำอ่อน และขอบพรุ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นกลุ่ม แผ่นใบลอยอยู่บนผิวน้ำ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง ปลายใบทู่ถึงกลมมน ส่วนโคนเว้าลึก ขอบใบเรียงถึงหยักตื้น ๆ ใบมีความกว้างและยาว แผ่นใบสีเขียว ท้องใบสีเขียวอ่อนจนถึงสีม่วงจาง ผิวใบเกลี้ยง มีเส้นใบราว 10-15 เส้น แยกจากจุดเชื่อมกับก้านใบ ส่วนก้านใบมีความสั้นยาวไม่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความลึกของน้ำเป็นหลัก 

 

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้เช้าชม 7,791

เฟื่องฟ้า

เฟื่องฟ้า

เฟื่องฟ้า จัดเป็นไม้ยืนต้นประเภทพุ่มกึ่งเลื้อย มีอายุยืนหลายสิบปี สามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 10 เมตร ลักษณะของทรงพุ่มสามารถตัดแต่งและบังคับทิศทางการเจริญเติบโตได้ ลำต้นมีลักษณะกลมใหญ่ เนื้อแข็ง ผิวเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาล ลำต้นเปราะและหักได้ง่าย มีหนามขึ้นตามลำต้นอยู่เหนือใบ หนามมีความยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง การปักชำกิ่ง เสียบยอด เจริญเติบโตได้ดีในดินปนทรายระบายน้ำดี ชอบความชื้นต่ำและแสงแดดแบบเต็มวัน

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้เช้าชม 17,689

กระจับ

กระจับ

ต้นกระจับเป็นพืชน้ำล้มลุกอายุหลายฤดู ลักษณะเป็นกอลอยน้ำ ใบกระจับมี 2 แบบ คือ ใบใต้น้ำเป็นเส้นยาวคล้ายราก ส่วนใบลอยน้ำรูปคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขอบใบจักแหลม ผิวใบด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างมีสีแดง ก้านใบยาวตรงกลางพองออก ดอกกระจับเป็นดอกเดี่ยวสีขาว ออกที่โคนก้านใบ มีกลีบดอก 4 กลีบ บานเหนือน้ำ ผลกระจับเมื่อเป็นผลจะจมลงใต้น้ำ ผลหรือฝักกระจับมีสีดำขนาดใหญ่ เปลือกหนาแข็งเขางอโค้งคล้ายเขาควาย กระจับชนิดนี้มีปลายเขาแหลม

เผยแพร่เมื่อ 12-05-2020 ผู้เช้าชม 6,262

จิกนม

จิกนม

ต้นจิกนม จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 4-20 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบต้น แต่ไม่มากนัก เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามป่าดงดิบทางภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี ออกดอกเป็นช่อตรงส่วนยอดของต้น ช่อดอกมีลักษณะห้อยลง ช่อยาวประมาณ 9-18 นิ้ว ในแต่ละช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกเป็นจำนวนมาก

เผยแพร่เมื่อ 26-05-2020 ผู้เช้าชม 4,743

ก้นจ้ำ

ก้นจ้ำ

ต้นก้นจ้ำเป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีลำต้นสูงประมาณ 5-2 เมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม บริเวณลำต้น กิ่ง ก้านสาขา มีขนขึ้นประปราย ใบก้นจ้ำออกเป็นช่อยอดเดี่ยว ซึ่งจะออกตรงข้ามกัน ช่อยาวราว 5-14 ซม. ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่ โคนใบสอบเข้าหากัน ปลายใบแหลมเรียว ริมขอบใบยักย่อยคล้ายฟันปลาหลัง และใต้ท้องใบมีขนประปราย หรืออาจเกลี้ยง ก้านใบจะยาวประมาณ 5 ซม. ดอกก้นจ้ำออกเป็นดอกเดี่ยว ลักษณะของดอก มีสีเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7-10 มม. ปลายกลีบดอกค่อนข้างแหลม หรือเป็นฝอย กลีบดอกยาวประมาณ 5 มม.เป็นรูปท่อ ดอกวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ

เผยแพร่เมื่อ 12-05-2020 ผู้เช้าชม 2,347

ผักกาดนอ

ผักกาดนอ

ต้นผักกาดนอ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุได้ 1 ปี ลำต้นอ่อนไหว เกลี้ยงไม่มีขน ตามกิ่งก้านเป็นเหลี่ยมสีเขียวอมม่วงแดง พบขึ้นได้ทั่วไปตามข้างทาง พื้นที่ชายขอบป่า และบริเวณใกล้ริมลำธาร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบที่โคนต้นมีก้านใบมน ไม่มีก้านใบ ลักษณะของใบเป็นรูปกลมรี รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบหยัก ไม่สม่ำเสมอ ส่วนบริเวณยอดต้นขอบใบจะเรียบ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กสีเหลือง ผลออกเป็นฝักบริเวณยอดต้น 

เผยแพร่เมื่อ 09-07-2020 ผู้เช้าชม 2,158