“เมืองตาก” ของ “พระเจ้าตาก” ก่อนเป็นกษัตริย์กรุงธนบุรี คือที่ไหนกันแน่?

“เมืองตาก” ของ “พระเจ้าตาก” ก่อนเป็นกษัตริย์กรุงธนบุรี คือที่ไหนกันแน่?

เผยแพร่เมื่อ 04-02-2022 ผู้ชม 3,473

[16.8784698, 98.8779052, “เมืองตาก” ของ “พระเจ้าตาก” ก่อนเป็นกษัตริย์กรุงธนบุรี คือที่ไหนกันแน่?]

      พระเจ้าตาก พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี ระหว่างปลายปี พ.ศ. 2310 ถึงต้นปี พ.ศ. 2325 รวม 14 ปีกว่านั้น เป็นยุคสมัยที่น่าตื่นตาตื่นใจทางประวัติศาสตร์ พระองค์เป็นผู้นำทางการเมืองของอดีตที่ชวนให้คนจำนวนมากเข้ามาร่วมสร้างความรู้และความเชื่อทางประวัติศาสตร์และเรื่องบอกเล่าได้อย่างมีสีสันมากที่สุด แม้อดีตของยุคสมัยพระองค์ได้ผ่านมาแล้ว 2 ศตวรรษครึ่ง แต่ก็เป็นอดีตที่มีภาพเลือนราง ขาดวิ่น เมื่อเทียบกับยุคสมัยเดียวกันกับ ยอร์ช วอชิงตัน ในสมัยปฏิวัติอเมริกาต่อสู้เพื่อเอกราชจากอังกฤษ และสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐเป็นประเทศแรกของโลก
      คำถามสำคัญของบทความนี้คือ เมืองตากของพระเจ้าตาก ก่อนที่จะสถาปนาพระองค์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีนั้น คือเมืองใดกันแน่
      คำถามนี้เกิดขึ้น เพราะเมื่อเราเข้าไปศึกษาประวัติของเมืองตากซึ่งมีศูนย์กลางการบริหารของจังหวัดที่เทศบาลเมืองตากในปัจจุบันนั้น ประวัติเดิมของพื้นที่ตรงนี้คือ “บ้านระแหง” และยังคงชื่อนี้อย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน (บทความนี้เผยแพร่เมื่อพ.ศ. 2561 – กองบรรณาธิการ) ดังนั้นเมืองตากของพระยาตากสินคือเมืองใดกันแน่
      กรมพระยาดำรงฯ กับเมืองตากของพระเจ้าตากอยู่ที่บ้านระแหง
      ประวัติเมืองตากฉบับราชการมหาดไทย เป็นประวัติที่มีเค้าโครงและการกำหนดเนื้อหามาจากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อดีตเสนาบดีมหาดไทยอันยาวนาน (พ.ศ. 2435-58) ในยุคแรกของการจัดระบบการปกครองเมืองทั่วประเทศในสมัยครึ่งหลังรัชกาลที่ 5 ถึงช่วงแรกสมัยรัชกาลที่ 6 กรมพระยาดำรงฯ เสด็จไปเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2464 อันเป็นปีแรกของการเปิดใช้ทางรถไฟจากกรุงเทพฯ จนถึงสถานีเชียงใหม่ ขากลับจากเชียงใหม่ เสด็จโดยเรือล่องตามแม่น้ำปิง เริ่มออกจากเชียงใหม่เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ มาถึงปากน้ำโพ นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม รวมใช้เวลาราว 25 วัน วันถัดมาเสด็จกลับกรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ (ใช้เวลาเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ทั้งสิ้น 45 วัน) ดูเหมือนการเดินทางล่องตามแม่น้ำปิงครั้งนี้ กรมพระยาดำรงฯ ทรงตระหนักดีว่าทางรถไฟที่เปิดใช้ถึงเชียงใหม่จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าเส้นทางการเดินทางของยุคสมัยเก่า ทั้งทางบกและทางน้ำ
       ดังนั้นการเตรียมการมาล่องแม่น้ำปิงก็เพื่อที่จะได้รู้เห็นบนเส้นทางที่กำลังจะเป็นอดีตนั้น บันทึกการเดินทางทางแม่น้ำปิง หรือ “อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง” ของพระองค์ จึงกลายเป็นเสมือนคู่มือของเจ้าเมืองนายอำเภอตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำปิงที่จะใช้อ้างอิงเกี่ยวกับประวัติจังหวัดและโบราณสถานที่ได้ถูกกล่าวถึง กรมพระยาดำรงฯ เสด็จด้วยเรือใหญ่ของเจ้าเมืองเชียงใหม่มาถึง “ท่าพระธาตุเกาะตะเภา” ที่บ้านตาก จังหวัดตาก ในยามค่ำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เช้าวันต่อมา ทรงใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง “เดินขึ้นไปดูเมืองตากเก่า” อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ห่างฝั่ง 10 เส้น อยู่บนดอยเล็กลูกหนึ่งบนดอย “มีวัดและพระเจดีย์องค์หนึ่งเรียกว่าพระมหาธาตุเมืองตาก แต่ของเดิมจะเป็นอย่างไรรู้ไม่ได้ ด้วยซ่อมแปลงรูปเสียแล้ว” ทรงกำหนดภูมิหลังของเมืองตากไว้ว่า “เมืองตากเก่านี้พวกมอญเข้ามาตั้งเป็นแน่ไม่มีที่สงสัยเพราะอยู่ฝั่งตะวันตก และอยู่ตรงปากวังทางไปเมืองนครลำปางออกลำน้ำพิง” 
       ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของตัวอำเภอบ้านตากหรือเมืองตากนี้ คือการคุมเส้นทางน้ำ 2 สายในการเดินทางไปยังรัฐล้านนา ด้วยเหนือตัวเมืองบ้านตากไม่กี่กิโลเมตรคือจุดบรรจบแม่น้ำวังที่มาจากลำปางและเมืองเถิน บรรจบกับแม่น้ำปิงที่มาจากเชียงใหม่ ทำให้บ้านตากหรือเมืองตากคือเมืองหน้าด่านของอยุธยาต่อกับแดนรัฐล้านนา-ลำปาง เชียงใหม่ จากพระมหาธาตุเมืองตาก กรมพระยาดำรงฯ เสด็จไปชมเจดีย์อีกที่หนึ่งที่มีรูปแบบพระปรางค์ ซึ่งระบุว่าเป็นเจดีย์แบบสุโขทัยเหมือนที่เจดีย์วัด เจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย และเหมือนที่เจดีย์ใหญ่วัดตระพังเงินในเมืองสุโขทัย ในบันทึกนี้ได้เล่าจารึกพ่อขุนรามคำแหง ตอนพ่อขุนรามคำแหงชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด แล้วทรงสรุปสันนิษฐานว่า เจดีย์องค์นี้ที่เมืองตาก “จะสร้างเป็นของเฉลิมพระเกียรติเรื่องชนช้างคราวนั้น แต่พระเจ้ารามคำแหงจะสร้างเองหรือจะสร้างในรัชกาลหลังไม่มีเค้าเงื่อนที่จะรู้ได้แน่” อย่างไรก็ตาม ต่อมาเจดีย์องค์นี้ก็ได้รับการบันทึกไว้ในแบบต่าง ๆ ตามข้อสรุปของกรมพระยาดรงฯ ว่าคือเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหงกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด
       กรมพระยาดำรงฯ เสด็จออกเดินทางจากเมืองตากเก่านี้ในเวลา 09.30 น. หลังจากที่ได้บันทึกสรุปสิ่งสำคัญไว้ 2 ประเด็น คือ เมืองตากเก่าและเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหง ล่องเรือตามแม่น้ำปิงมาถึง “เมืองตากใหม่” หรือที่ตั้งเทศบาลเมืองตากในเวลาค่ำ ระยะทางโดยถนนจากเมืองตากเก่าหรือบ้านตากมาเมืองตากใหม่ราว 30 กิโลเมตร
       เช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์ กรมพระยาดำรงฯ ทรงใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงครึ่งในการเที่ยวชมเมือง[2] เริ่มต้นด้วยการเดินชมเมืองตามถนนริมแม่น้ำ ดูตลาด ดูวัด ใน 3 บรรทัดแรก ทรงสรุปว่า “เมืองตากใหม่นี้ตั้งที่บ้านระแหงทางฝั่งตะวันออก จึงมักเรียกกันเป็นสามัญว่าเมืองระแหง” และจากการไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ก็ทรงสรุปสันนิษฐานไว้ในตอนท้ายก่อนเดินทางออกจากบ้านระแหงเมืองตากใหม่ว่า เมืองตากเก่าย้ายลงมาตั้งที่บ้านระแหง “ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อเป็นประเทศราชขึ้นพระเจ้าหงสาวดีเพราะเหตุที่ทางคมนาคมกับเมืองมอญมาลงตรงท่าบ้านระแหงนี้เป็นใกล้กว่าที่อื่น จนทุกวันนี้พวกคนค้าขายไปมากับเมืองมอญขึ้นลงที่ท่าระแหง เมืองตากเก่าตั้งเหนือขึ้นไปไม่เหมาะแก่การคมนาคมกับเมืองมอญจึงย้ายลงมา” ทั้งยังระบุไว้อีกด้วยว่า เมืองตากใหม่นี้ “แต่เดิมมาตั้งทางฝั่งตะวันตก เห็นจะย้ายมาฝั่งตะวันออกเมื่อรัชกาลที่ 2 กรุงรัตนโกสินทร์” แต่ในย่อหน้าเดียวกันนี้ กรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงบันทึกที่โน้มน้าวให้เชื่อว่า เมืองตากของพระยาตากคือบ้านระแหง ด้วยประโยคว่า “ด้วยปรากฏว่าจวนของพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อครั้งยังเป็นพระยาตากอยู่ที่บ้านระแหง” แม้ว่าในการเที่ยวชมเมืองของกรมพระยาดำรงฯ นั้นไม่มี “จวน” ของพระเจ้าตากอยู่เลยก็ตามเมื่อเที่ยวชมเมืองตากใหม่ที่บ้านระแหงแล้ว กรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงข้ามฝั่งแม่น้ำปิงไปฟากตะวันตกยังบ้านป่ามะม่วง ได้ขึ้นไปชมวัดเก่าบนเขาที่ชื่อว่าวัดเขาแก้ว ที่มีเรื่องในหนังสือพระราชพงศาวดารสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ทรงเสี่ยงทาย
       ทรงสรุปว่าอาคารสิ่งก่อสร้าง “เป็นสมัยอยุธยาตอนปลาย… แต่สิ่งซึ่งปรากฏอยู่เป็นของพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสร้างเมื่อเสวยราชย์แล้วเป็นแน่” ถัดจากวัดเขาแก้วไปยังวัดโบราณอีกหลายวัด ได้ชี้เจดีย์หนึ่งและสรุปว่า สร้างโดยสมเด็จพระไชยราชาธิราช “ครั้งได้เมืองเชียงใหม่” มีวัดร้างที่ชี้ว่าเป็นวัดหลวงสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ “คราวเสด็จไปตีได้เมืองเชียงใหม่” มีเจดีย์คู่ที่ชี้ว่าสร้างไว้เมื่อสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ “เมื่อได้เมืองเชียงใหม่” สรุปจากการเที่ยวชมวัดเก่าเจดีย์ร้างเหล่านี้ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเห็นว่าวัดเจดีย์ “มีครบทุกรัชกาลที่ได้เมืองเชียงใหม่กลับมาเป็นของไทย” กลายเป็นจุดเริ่มประวัติการผนวกรวมรัฐล้านนา-เชียงใหม่ให้เป็นของกรุงเทพฯ
       โดยสรุป ประวัติเมืองตากของกรมพระยาดำรงฯ ในงาน “อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง” คือการที่ทรงสรุปว่า เมืองตากเก่าอยู่ที่พระบรมธาตุบ้านตาก เป็นถิ่นฐานเดิมของมอญ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช หรือราชวงศ์ใหม่หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าหงสาวดีสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ได้ย้ายเมืองลงมาอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง หรือบริเวณบ้านป่ามะม่วงก่อน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงย้ายมาตั้งเมืองที่บ้านระแหงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง หรือที่เป็นตัวเทศบาลอำเภอเมืองตากในทุกวันนี้
       ประวัติเมืองตากของกรมพระยาดำรงฯ นี้เป็นฐานให้การตั้งศูนย์กลางการบริหารในชื่อจังหวัดตากในพื้นที่บ้านระแหงตั้งแต่ปี 2435 หรือยุคสร้างจังหวัดสร้างมณฑลเทศาภิบาลมีความสมเหตุสมผล เมืองตากถูกรวมอยู่ในมณฑลนครสวรรค์เมื่อปี 2438 ทั้งนี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อและสถานภาพจาก “เมืองตาก” เป็น “จังหวัดตาก” ในพ.ศ. 2459 บ้านตาก หรือแม่ตาก คือ เมืองตากของพระเจ้าตาก
      สืบเนื่องจากชุดอธิบายของกรมพระยาดำรงฯ ว่าบ้านระแหงคือเมืองตากของพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ได้เป็นโครงสร้างและเนื้อหาประวัติเมืองตากฉบับราชการมหาดไทยเป็นระยะเวลานานหลายทศวรรษแล้วนั้น ทำให้เราไม่มีคำถามหรือข้อสงสัยต่อประเด็นว่าทำไมบ้านระแหงจึงคือเมืองตาก ดังนั้นเมื่อเราไปอ่านเอกสารใดๆ เราจึงไม่มองหาเมืองตาก หรือมองข้ามข้อมูลที่จ่ออยู่ตรงหน้าของเราเอง
       พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทมาศ (เจิม) ซึ่งได้รับการประเมินหลักฐานว่าเป็นงานนิพนธ์ในยุคสมัยพระเจ้าตากเอง โดยได้รับการชำระจากรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ใน พ.ศ. 2338 หรือปีที่ 14 ของพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ดังนั้นหลักฐานนี้จึงถือได้ว่าเป็นหลักฐานในยุคสมัยที่สำคัญมากชิ้นหนึ่ง การยกทัพเพื่อจัดการบ้านเมืองในรัฐล้านนาทั้งเมืองเถิน ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ แพร่ ครั้งสำคัญที่ทำให้พระเจ้าตากมีพระราชบารมีและอำนาจเหนือหัวเมืองเหล่านี้อย่างมาก เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2317 โดยทัพหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยกทัพ “ขึ้นไปปราบเมืองเชียงใหม่” ในเดือน 12 แรม 11 ค่ำ (เอกสารสำเนาท้องตราปีมะเมียในท้ายพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ ฉบับที่ 2) พระราชพงศาวดารฉบับนี้ขาดเนื้อความตอนยกทัพขึ้นไปจากกรุงธนบุรีปรากฏรายละเอียดเนื้อเรื่องด้วยเริ่มเดือนยี่ ขึ้น 12 ค่ำ พระองค์ “เสด็จฯ อยู่ ณ พระตำหนักค่ายเมืองลำพูน” ซึ่งหมายความว่า พระเจ้าตากทรงใช้เวลาถึง 47 วัน เพื่อค่อยๆ เคลื่อนพล “ปราบ” เมืองเชียงใหม่ในการปกครองของเจ้าเมืองจากพม่าอังวะ
       วันเสาร์ต่อมา ทัพหลวงของพระเจ้าตากเคลื่อนจากเมืองลำพูน มาถึงค่ำ เสด็จอยู่ ณ พระตำหนักริมน้ำเมืองเชียงใหม่ ในค่ำคืนนั้น ฝ่ายเจ้าเมืองเชียงใหม่โปสุพลา มะยุง่วน พาครอบครัวหนีออกจากเมืองเชียงใหม่ทางประตูช้างเผือก มีฝูงชนหนีกันอย่างอลหม่าน “ด้วยความกลัวย่ำเยียบออกไปตาย ณ ประตูนั้นประมาณ 200 เศษ”
       วันอาทิตย์ พระเจ้าตากทรงช้างเสด็จเลียบเมืองเชียงใหม่โดยไปตามค่ายต่างๆ ของฝ่ายกรุงธนบุรีที่ตั้งโอบล้อมเมืองไว้ทั้ง 3 ด้าน อีก 4 วันต่อมาเป็นการบริหารจัดการทั้งต่อฝ่ายกองทัพของพระองค์และต่อเมืองเชียงใหม่ เมื่อบริหารจัดการเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าตากรงให้เจ้าพระยาจักรีอยู่ดูแลจัดการเมืองเชียงใหม่และเมืองต่างๆ ในรัฐล้านนาต่อไปส่วนพระองค์จะนำทัพหลวงกลับคืนกรุงธนบุรี และให้ทัพต่างๆ ที่ระดมมาได้แยกย้ายกลับไปเมืองของตนเอง
       ลำดับการเดินทางของพระเจ้าตากจากเชียงใหม่มายังกรุงธนบุรี ได้เผยข้อเท็จจริงให้ทราบว่า บ้านตาก คือเมืองตากในยุคสมัยกรุงธนบุรีและรวมทั้งสมัยอยุธยาด้วย ดังนี้
          – วันศุกร์ เดือนยี่ แรม 4 ค่ำเดินทางกลับคืนพระนคร จากเชียงใหม่ ประทับพระตำหนักค่ายเมืองหริภุญชัย ไปนมัสการพระบรมธาตุเมืองหริภุญชัย
          – แรม 5 ค่ำประทับแรมแม่ทา
          – แรม 6 ค่ำ ประทับแรมแม่สัน
          – แรม 7 ค่ำ ประทับแรมห้างฉัตร
          – แรม 8 ค่ำ ประทับแรมลำปาง ทรงนมัสการพระบรมธาตุ (ที่นี้ 2 คืน)
          – แรม 10 ค่ำ ประทับแรมห้วยน้ำต่ำ
          – แรม 11 ค่ำ ประทับแรมนายาง
          – แรม 12 ค่ำ ประทับแรมท่าเรือเมืองเถิน (ที่นี้ 3 คืน)
          – แรม 15 ค่ำ เช้า เสด็จออกเดินทางจากเมืองเถิน ทางเรือ 2 วัน
          – พฤหัสบดี เดือน 3 ขึ้น 2 ค่ำ “ถึงพระตำหนักเมืองตาก” ต่อมา “เพลาย่ำฆ้องค่ำ เสด็จฯ มาประทับอยู่ ณ หาดทรายบ้านตาก” จนถึงเวลา 2 ยาม ทรง “ลงเรือหมื่นจง กรมวัง ล่องลงมา หลวงรักษ์โกษาลงท้ายที่นั่งมาด้วย” ระหว่างทางล่องลงมาบ้านระแหง “เรือพระที่นั่งกระทบตอไม้ล่มลง” เสด็จขึ้นไปหาดทราย ถัดนั้น “เสด็จฯ มาโดยทางสถลมารค” หรือทรงพระดำเนินมาจนถึง “พระตำหนักสวนมะม่วงบ้านระแหง” เช้าวันศุกร์ เดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ที่พระตำหนักสวนมะม่วง ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ตรงข้ามบ้านระแหง พระเจ้าตากประทับที่นี้ 6 คืน
          – พฤหัสบดี เดือน 3 ขึ้น 9 ค่ำ เช้า เสด็จออกเดินทางจากบ้านระแหงโดยทางเรือ
          – อังคาร เดือน 3 ขึ้น 14 ค่ำ ถึงกรุงธนบุรีเพลาเช้า รวมเดินทางจากระแหง 5 วัน
       การยกทัพของพระเจ้าตากไปปราบเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ ทรงใช้ระยะเวลารวม 2 เดือนครึ่ง จากลำดับวันและเส้นทางการเดินทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่ เมืองตากของพระเจ้าตากนั้น ชัดเจนว่าคือบ้านตาก ไม่ใช่บ้านระแหง ซึ่งคืออีกเมืองหนึ่งที่อยู่ใต้บ้านตากหรือเมืองตาก ราว 30 กิโลเมตร
       ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งนิพนธ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เส้นทางการเดินทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่ของพระเจ้าตากยังคงเป็นเส้นเดียวกันกับฉบับพันจันทนุมาศ แต่รายละเอียดวันและสถานที่ในการตั้งค่ายพักที่บ้านและเมืองต่างๆ ตามเส้นทางนั้นถูกข้ามไป เหลือเพียงชื่อเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง รวมทั้งข้ามรายละเอียดพระราชกรณียกิจของพระเจ้าตากในเมืองต่างๆ
       โดยเมื่อกล่าวถึงพระเจ้าตากทรงนมัสการพระมหาธาตุเมืองลำปางแล้ว ถัดมาระบุว่า “จึงเสด็จดำเนินทัพหลวงรีบลงมาถึงเมืองตาก วันพฤหัสบดี ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3” และเมื่อทรงทราบข่าวว่ามีกองทัพพม่าเข้ามาทางด่านแม่ละเมา จึงมีดำรัสสั่งราชการจากเมืองตากให้ข้าราชการคนหนึ่ง “ลงเรือรีบลงไปบอกพระยาคำแหงวิชิต ซึ่งตั้งทัพ ณ บ้านระแหง ใต้เมืองตากนั้น” และให้เหตุที่พระเจ้าตากต้องทรงลงเรือล่องจากเมืองตากมาบ้านระแหงที่ในระหว่างทางเรือกระทบตอล่มลงนั้น เพราะ “ในขณะนั้นเรือพระที่นั่งยังจอดอยู่ ณ ท่าสวนมะม่วง บ้านระแหง หาทันขึ้นไปรับเสด็จถึงเมืองตากไม่”
       วิธีการบอกเล่าระบุให้ชัดเจนในเชิงที่ตั้งและทิศทางขึ้นลงตามแม่น้ำปิง สะท้อนให้เห็นว่าผู้นิพนธ์พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ได้พยายามที่จะช่วยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของพื้นที่ระหว่าง 3 พื้นที่ ได้แก่ เมืองตาก บ้านระแหง และป่ามะม่วง หรือสวนมะม่วง ที่อยู่ฝั่งตะวันตกตรงข้ามบ้านระแหง
       ในเอกสารของพม่าเรื่องมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า กล่าวถึงการยกทัพของฝ่ายพม่าลงมาจากเมืองเชียงใหม่ เมืองลำปางเพื่อเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา บรรจบกับกองทัพพม่าที่ยกทัพมาจากด้านใต้ โดยเริ่มเคลื่อนทัพเมื่อเดือน 10 ขึ้น 8 ค่ำ พ.ศ. 2308 หรือ 1 ปีครึ่งก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก ในเอกสารนี้ได้กล่าวถึงเมืองต่างๆ รายทางที่ฝ่ายพม่าได้เมือง เมืองแรกที่เป็นเมืองหน้าด่านของอยุธยาเมื่อเดินทางลงมาจากเมืองลำปางและเมืองเถิน คือ “เมืองบ้านตาก” ดังนี้ (ชื่อแม่ทัพฝ่ายเหนือ สีหะปะเต๊ะ ในเอกสารนี้ มีชื่อในพงศาวดารไทยว่าเนเมียว)
       “ฝ่ายผู้รักษาเมืองบ้านตากเห็นว่าสีหะปะเต๊ะ ยกทัพมา ช้างม้ารี้พลมาก ก็ไม่อาจออกจากเมืองไปต่อสู้รบ เปนแต่รักษาเมืองตั้งมั่นอยู่ ฝ่ายสีหะปะเต๊ะแม่ทัพเห็นว่า ผู้รักษาเมืองบ้านตากรักษาเมืองตั้งมั่นอยู่ดังนั้น ก็ขับให้พลทหารเข้าตีเมืองบ้านตาก พวกพลทหารทั้งหลายก็มิได้ย่อท้อกลัวเกรงสาสตราอาวุธ ต่างคนต่างจะเอาความชอบ บ้างขุดกำแพง บ้างเอาบรรไดพาดปีนกำแพง ตั้งใจพร้อมกันทำสักครู่หนึ่งก็เข้าเมืองได้ เมื่อเข้าเมืองได้ พวกพลทหารก็เก็บริบเอาเงินทองและจับผู้รักษาเมืองพลทหารพลเมืองราษฎรชายหญิงแลเก็บเอาสาสตราอาวุธทั้งปวง แต่เครื่องสาสตราอาวุธทั้งปวงนั้นส่งไปให้กับสีหะปะเต๊ะแม่ทัพที่ค่าย สีหะปะเต๊ะแม่ทัพก็จัดตั้งหัวหน้าที่ยอมอ่อนน้อมไม่กระด้างกระเดื่องนั้น ให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา และให้รักษาเมืองบ้านตากต่อไป
       ครั้นยกจากเมืองบ้านตาก ก็พักแรมตามรายทางมาตามระยะ ก็ถึงเมืองระแหง ผู้รักษาเมืองระแหงเห็นว่าเมืองบ้านตากก็ไม่อาจจะต่อสู้รบ หัวหน้าจึงพาผู้รักษาเมืองระแหงออกมายอมอ่อนน้อมสวามิภักดิ์กับสีหะปะเต๊ะๆ ก็ให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา แล้วตั้งให้ผู้รักษาเมืองกับหัวหน้านั้นรักษาเมืองระแหงต่อไปแล้วสีหะปะเต๊ะก็ยกจากเมืองระแหงพักแรมตามระยะทาง ครั้นใกล้จะถึงเมืองกำแพงเพ็ชร์ ผู้รักษาเมืองกำแพงเพ็ชร์และหัวหน้าเห็นว่าผู้รักษาเมืองระแหงยอมเข้าสวามิภักดิ์ ก็ไม่อาจจะสู้รบ จึงจัดเครื่องราชบรรณาการออกจากเมืองไปยอมอ่อนน้อมสวามิภักดิ์กับสีหะปะเต๊ะแม่ทัพที่กลางทาง…”
       เอกสารมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ได้เล่าที่ให้พื้นที่และรายละเอียดกับการโจมตีเมืองแรกในเขตแดนอยุธยาคือ เมืองบ้านตาก ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของเมืองนี้เท่านั้น แต่มีนัยแห่งความสำคัญและขนาดด้วยเช่นกัน ที่การแพ้ถูกบุกยึดเมืองบ้านตากได้ทำให้ผู้นำเมืองระแหง ซึ่งเป็นเมืองอยู่ใต้เมืองบ้านตากลงมาถึงกับยอมจำนนสวามิภักดิ์ต่อกองทัพฝ่ายพม่าแต่โดยดี เมืองบ้านตากในที่นี้มีกำแพงเมือง (ไม่ได้ระบุว่าเป็นกำแพงไม้รั้วเสา หรือกำแพงอิฐ หรือกำแพงดิน) และน่าจะเป็นเมืองที่ตั้งติดริมแม่น้ำปิง ไม่ต่างไปจากบ้านระแหง เพราะน้ำเป็นยุทธศาสตร์การเดินทางและการค้าของโลกอยุธยา
       คำถามที่สำคัญมากคือ การต่อต้านกองทัพพม่าของเมืองบ้านตาก กระทั่งพ่ายแพ้ถูกยึดเมืองในครั้งนี้ ทำให้เมืองบ้านตากที่อาจมีขนาดใหญ่ได้ถูกลดทอนทำลายลงไปทั้งด้านกายภาพของเมืองและด้านกำลังคน ซึ่งอาจถูกจับไปเป็นเชลยใช้แรงงานในการสงครามของฝ่ายพม่าจำนวนมาก เหลือทิ้งไว้ให้ผู้นำชุมชนเมืองบ้านตากคนใหม่ไม่มากนัก หรือกล่าวให้ชัด เมืองบ้านตากนับแต่นี้มาแทบไม่อาจฟื้นเป็นเมืองที่มีขนาดและความสำคัญเท่าเดิมได้อีกเลย
       ขณะที่เมืองบ้านระแหงและเมืองกำแพงเพชรผู้รักษาเมืองต่างรักษาสถานภาพและผลประโยชน์ทั้งของตนเอง ครอบครัว และเมืองไว้ได้ โดยยอมอ่อนน้อมสวามิภักดิ์ต่อผู้นำใหม่คือกองทัพพม่าแม้เมืองทั้งสองต้องถูกเกณฑ์กำลังพลเข้าร่วมในสงครามโจมตีกรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นอน ในฐานะกำลังทัพจากเมืองๆ หนึ่ง แต่ทั้งบ้านเมืองและผู้คนไม่ได้ถูกทำลายหรือถูกทำให้อยู่ในสถานภาพแบบแพ้สงคราม เช่นเดียวกับเมืองบ้านตาก
       ดังนั้น ทั้งจากเอกสารในยุคสมัยพระเจ้าตาก พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ได้พบหลักฐานชัดเจนแน่นอนแล้วว่า บ้านตาก คือเมืองตากของพระยาตากตั้งแต่สมัยอยุธยามา

คำสำคัญ : ตาก, เมืองตาก, พระเจ้าตาก

ที่มา : https://www.silpa-mag.com/history/article_25430?fbclid=IwAR0yYNk44_Vu2dptEgUZrZTcRzoWo3PiayzCsPywCxSvdFHQH_tAs8jAreM

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). “เมืองตาก” ของ “พระเจ้าตาก” ก่อนเป็นกษัตริย์กรุงธนบุรี คือที่ไหนกันแน่?. สืบค้น 14 ธันวาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=2078&code_db=610001&code_type=TK001

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2078&code_db=610001&code_type=TK001

Google search

Mic

ซิ่นต๋า งามเหนือกาลเวลาที่ วัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง

ซิ่นต๋า งามเหนือกาลเวลาที่ วัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง

วัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง เป็นวัดโบราณที่อยู่คู่ชุมชนริมแม่น้ำปิงที่เมืองตากมาช้านาน ดังปรากฏจากพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระวชิรญาณวโรรส ที่เสด็จขึ้นมายังหัวเมืองตาก ในคราวนั้นทรงกล่าวถึงความงามของพระอุโบสถวัดพร้าว และวัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง ว่างานสถาปัตยกรรมพื้นที่งดงาม ซึ่งในระยะต่อมาอุโบสถวัดพร้าว ได้ผาติการามไปสร้างที่เมืองโบราณ จังหวัดสุมทรปราการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือสถาปัตยกรรมพื้นที่ที่ยังคงยืนยงเหนือกาลเวลาเพียงแห่งเดียวที่เมืองตาก คือ วัดโบสถมณีศรีบุญเรือง ภายในพระวิหารยังปรากฏภาพเขียนที่งดงามเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติของพระพุทธเจ้า ตลอดจนสอดแทรกวิถีชีวิตของชาวเมืองตากเมื่อราวร้อยปีมาแล้วให้ระลึกถึงบรรพบุรษคนเมืองตากที่เกิดแรงบันดาลสร้างสรรค์งานศิลปกรรมชิ้นเอกคู่ท้องถิ่นของเรา

เผยแพร่เมื่อ 04-02-2022 ผู้เช้าชม 755

จีนกี้

จีนกี้

จีนกี้ หรือคุณหลวงโสภณเพชรรัตน์ (จีนกี้ โสภโณดร) กลุ่มลูกหลานคหบดีชาวจีนที่มีต้นทุนการสร้างฐานะมาจากรุ่นพ่อที่ตรอกบ้านจีน สืบต่อธุรกิจค้าไม้จากรุ่นพ่อ นำไปสู่การสร้างธุรกิจโรงสี เดินเรือสมุทร และยังเป็นกรรมการธนาคารสยามกัมมาจลในรุ่นแรกได้รับความนับถือ เป็นหัวหน้าจีนที่สำคัญ ได้สนองพระราชนิยมด้วยการสร้างสะพานข้ามคลองสามเสน กรุงเทพฯ เป็นประจักษ์พยานผ่านกาลเวลาจวบจนปัจจุบัน ผู้คนต่างกล่าวขานนามสะพานว่าโสภณ ตามนามผู้อุทิศเป็นหมุดหมายกาลเวลาให้กล่าวขานถึงค่านิยมคนรุ่นก่อนที่สนองคุณด้วยการสร้างสาธารณูปโภคแก่แผ่นดิน

เผยแพร่เมื่อ 03-02-2022 ผู้เช้าชม 1,000

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ตอน 2)

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ตอน 2) "สงครามรวมชาติ"

สงครามรวมชาติครั้งแรกของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เริ่มต้นด้วยการเลือกตีเมืองที่แข็งแกร่งที่สุด คือพิษณุโลกก่อน ด้วยมีพระราชดำริว่า ถ้าทำสำเร็จ การรวมหัวเมืองอื่นๆ ต่อจากนั้นก็น่าจะเป็นการง่ายขึ้น แต่เจ้าพระยาพิษณุโลกมีความสามารถทางการรบสูง ส่งทัพมาดักรอโจมตี บริเวณปากน้ำโพนครสวรรค์ และเกิดการปะทะกันขึ้น สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จออกนำหน้า และทรงถูกกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บ ทำให้ต้องถอนทัพกลับกรุงธนบุรีโดยด่วน การชิงเมืองครั้งแรกล้มเหลว

เผยแพร่เมื่อ 03-08-2022 ผู้เช้าชม 2,823

ผี วิถีบรรพกาล สายธารคนเมืองตาก

ผี วิถีบรรพกาล สายธารคนเมืองตาก

ความเชื่อเรื่องผี เป็นความเชื่อที่อยู่คู่สังคมคนอุษาคเนย์มายาวนาน และเป็นความเชื่อที่เก่าแก่มากที่สุด ดังจะเห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบความเชื่อในเรื่องหลังความตายมากมาย ความเชื่อดังกล่าวสืบทอดส่งผ่านมายังกลุ่มชนต่าง ๆ โดยความเชื่อเรื่องผีจะถูกผูกร้อยตามบริบทของกลุ่มชนและพื้นที่ของกลุ่มชนนั้น ๆ ผีถูกแบ่งตามหน้าทีเป็นผีดี ได้แก่ ผีเสื้อบ้าน(อารักบ้าน) ผีปู่ย่า ฯลฯ และผีร้ายคือผีที่สร้างความทุกข์ร้อนใจให้กับคนทั่วไปโดยทั่วไปคนเชื่อว่าหากทำเรื่องไม่ดีไม่เป็นคุณผีดีจะกลายเป็นผีร้ายมาาร้างความทุกข์ร้อนให้คนทั่วไป เช่น ไม่เคารพกราบไหว้ ไม่ทำการบูชาเซ่นสรวงเมื่อถึงวาระสำคัญเป็นต้น

เผยแพร่เมื่อ 03-02-2022 ผู้เช้าชม 1,041

"เกียเฮงหลี" อาคารพาณิชย์ปูนหลังแรกในย่านตัวเมืองตาก

การขยายตัวของตลาดใน นำไปสู่การตัดถนนเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นเหมาะในการคมนาคม ขนข่ายผู้คนจากชุมชนโดยรอเข้ามาจับจ่ายใช้สอย และเปลี่ยนสินค้า เราเรียกกันต่อมาว่า ถนนตากสินนั้นเอง การขยายตัวส่งผลให้เกิดร้านค้าตั้งขึ้นตลอดแนวถนน หนึ่งในนั้น คืออาคารพาณิชย์ที่สร้างด้วยปูนแห่งแรกของตัวเมืองตาก นั้นคือร้านเกียเฮงหลี โด่ดเด่นในย่านถนนตากสิน ขายสินค้าจำพวกอุปกรณ์ก่อสร้าง ในปัจจุบันหากใครขับผ่านย่านถนนตากสินตรงข้ามกับธนาคารกสิกรไทย สาขาตาก ยังคงพอาคารที่สวยงามผ่านกาลเวลาของเมือง ให้เห็นเป็นร่องรอยอาคารพาณิชย์รุ่นแรกของเมือง

เผยแพร่เมื่อ 03-02-2022 ผู้เช้าชม 727

โทรเลข

โทรเลข

การสื่อสารที่แสนทันสมัยในยุครัชกาลที่ 5 จังหวัด ตากเป็นเมืองที่มีอาณาเขตทางฝั่งตะวันตกในอำเภอแม่สอดติดกับประเทศพม่าสามารถเดินทางต่อไปยังเมืองท่ามะละแหม่ง ตากจึงเป็นชุมทางโทรเลขที่สำคัญมากที่สุดในการติดต่อกับชาติตะวันตกในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังความนิยมใช้โทรเลขก็ลดบทบทลงตามสมัยนิยม เหลือไว้เพียงชื่อหมู่บ้านที่เป็นชุมทางโทรเลข เช่น ในเมืองตากย่านตรอกบ้านจีน ยังเคยเป็นชุมทางไปรณีย์ที่สำคัญในเมืองตาก เป็นที่ตั้งของเสาโทรเลขชาวตากจึงเรียกย่านนั้นว่า บ้านเสาสูง

เผยแพร่เมื่อ 04-02-2022 ผู้เช้าชม 555

โรงเรียนสตรีเมืองตากผดุงปัญญา

โรงเรียนสตรีเมืองตากผดุงปัญญา

เมืองตากเป็นเมืองขนาดเล็กที่ตั้งขนานกับลำน้ำปิง ส่งผลให้เกิดย่านการค้า ศูนย์ราชการ และสถาบันการศึกษาตั้งอยู่ขนานกับลำน้ำปิง สถาบันการศึกษาแห่งแรกในเมืองตากที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 และขยับขยายในเป็นโรงเรียนต้นแบบของตากในสมัยรัชกาลที่ 6 คือ โรงเรียนวัดน้ำหัก โดยมีขุนวัชรพุุกก์ศึกษากรเป็นครูใหญ่คนแรก ต่อมากิจการการศึกษาของสยามขยายตัวนำไปสู่การสร้างโรงเรียนเพิ่มขึ้น ระดับประถมคือโรงเรียนอนุบาลตาก โรงเรียนวัดมะเขือแจ้ ส่วนระดับมัธยม ได้สร้างโรงเรียนชายในพื้นที่กรมทหารเก่า(ตากพิทยาคม)ที่ตั้งขยายมาจากย่านตรอกบ้านจีนทางด้านตะวันตก พร้อมทั้งเกิดโรงเรียนสตรีอีกแห่งหนึ่งด้วยตั้งอยู่บริเวณใกล้วัดพร้าวอันเป็นวัดที่ขนานกับลำน้ำปิง

เผยแพร่เมื่อ 03-02-2022 ผู้เช้าชม 1,551

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ตอน 4) “สร้างบ้าน แปงเมือง”

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ตอน 4) “สร้างบ้าน แปงเมือง”

หลังจากที่พระเจ้ามังระสวรรคต ทางพม่าก็เกิดการแย่งชิงอำนาจกันภายในอยู่หลายปี ทำให้กรุงธนบุรีมีโอกาสได้หายใจหายคอ ระหว่างนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระบรมราชโองการให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ยกทัพไปตีลาวและกัมพูชาเพิ่มเติม จนสร้างเขตแดนของอาณาจักรกรุงธนบุรี จรดเวียดนาม ส่วนพระองค์เร่งวางรากฐานให้กรุงธนบุรี

เผยแพร่เมื่อ 03-08-2022 ผู้เช้าชม 1,612

พระบารมี ปกเกล้าชาวตาก

พระบารมี ปกเกล้าชาวตาก

ชาวตากนับว่ามีโอกาสดีเคยรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่หลายครา แต่คราที่อยู่ในความทรงจำคือ ในคราวปีพ.ศ.2501 มีการจัดแต่งซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติบริเวณเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินบนถนนตากสิน ในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทอดพระเนตรกิจในการสร้างเขื่อนภูมิพล และทรงเสด็จมาประทับที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตากในย่านตัวเมืองตากเดิม (ย่านตรอกบ้านจีน) เหตุการณ์ในครั้งนั้นสร้างความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวตากอย่างหาที่สุดมิได้

เผยแพร่เมื่อ 03-02-2022 ผู้เช้าชม 504

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ตอน 3) “ศึกอะแซหวุ่นกี้”

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ตอน 3) “ศึกอะแซหวุ่นกี้”

หลังจากเมืองเชียงใหม่แตก พระเจ้ามังระ ทรงเดือดดาลเป็นอย่างยิ่ง แผนการรวบแผ่นดินไทยให้เป็นส่วนหนึ่งของพม่าต้องพังทลายลง ทรงบัญชาให้อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพมือหนึ่ง ยกทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เมืองตาก แต่การบุกจากด้านเหนือจะต้องผ่านหัวเมืองสำคัญหลายเมือง และเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อทัพพม่ามากที่สุด ก็คือพิษณุโลก

เผยแพร่เมื่อ 03-08-2022 ผู้เช้าชม 2,735