มาลัย ชูพินิจ : บุคคลสำคัญของจังหวัดกำแพงเพชร

มาลัย ชูพินิจ : บุคคลสำคัญของจังหวัดกำแพงเพชร

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้ชม 2,827

[16.4336195, 99.4094765, มาลัย ชูพินิจ : บุคคลสำคัญของจังหวัดกำแพงเพชร]

บทนำ
         บทความมีวัตถุประสงค์กล่าวถึงเรื่องราวของมาลัย ชูพินิจ บรมครูแห่งวงการหนังสือพิมพ์และวรรณกรรม นับว่าเป็นนักประพันธ์ที่มีพรสวรรค์เป็นเลิศ เป็นหนึ่งในจำนวนน้อยคนของนักเขียนไทยที่สามารถเปลี่ยนแนวการเขียนไปได้หลาย และสามารถเขียนได้ดีทุกประเภท นอกจากนั้นยังสามารถเขียนได้วันต่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นอัจฉริยะอย่างยิ่ง ยากที่จะหาผู้ใดทัดเทียมได้
         ผลงานทุกประเภทของมาลัย ชูพินิจ ได้รับการยอมรับนับถือจากทุกวงการ เกียรติยศก่อนเสียชีวิต คือการได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2505  มีผลงานเขียนทั้งประเภทเขียน ประเภทบันเทิงคดีและสารคดีจำนวนมากกว่า 2,500 เรื่อง บางเรื่องออกอากาศทางวิทยุติดต่อกันถึง 5 ปี คือเรื่อง “ล่องไพร” ที่ส่วนหนึ่งของเรื่องใช้ฉากในจังหวัดกำแพงเพชร นอกจากผลงานด้านการประพันธ์แล้วครูมาลัย ชูพินิจ ยังมีผลงานที่อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่สังคมโดยให้ความสนใจงานด้านการศึกษา และงานเกี่ยวกับเยาวชนการปฏิบัติเพื่อสังคม บทความเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเรื่องราวของมาลัย ชูพินิจด้าน 1) ชีวประวัติ 2) ความชำนาญ 3) ผลงานสำคัญ/ที่สร้างชื่อเสียง และ 4)ผลงาน/เกียรติคุณ/รางวัลอื่นๆ

ชีวประวัติ
         มาลัย ชูพินิจ เป็นชาวกำแพงเพชรโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ.2449 บ้านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ตำบลคลองสวนหมาก อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร บิดามารดาคือ นายสอนและนางระเบียบ ชูพินิจ ตระกูลชูพินิจ มีบรรพบุรุษสืบต่อมาจากตระกูล ณ บางช้าง ซึ่งนิยมรับราชการสืบต่อกันมา จนกระทั่งถึงชั้นปู่ของมาลัย ชูพินิจ ซึ่งได้ย้ายไปรับราชการประจำอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชรในรัชกาลที่ 5 แต่บิดามารดาของมาลัย ชูพินิจ มิได้รับราชการตามบรรพบุรุษ หากหันมาค้าไม้สักและไม้กระยาเลย อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของจังหวัดนั้น
         มาลัย ชูพินิจ มีน้องชายร่วมมารคา 1 คน หากเสียชีวิตแต่เยาว์วัย ด้วยไข้ทรพิษ ต่อมาเมื่อมาลัย  ชูพินิจ มีอายุประมาณ 10 ขวบเศษมารดาได้เสียชีวิตลง หลังมรณกรรมของมารดา บิดาของเขาได้แต่งงานใหม่ และมีบุตรชาย หญิงซึ่งนับเป็นน้องต่างมารดาของมาลัย ชูพินิจ อีก 4 คน คือ
         1. เด็กชาย... ชูพินิจ (ถึงแก่กรรม)
         2. นางสาวสำเนียง ชูพินิจ
         3. นายประสาน ชูพินิจ
         4. นางสาวมาลี ชูพินิจ (ถึงแก่กรรม)
         มาลัย ชูพินิจ ใช้ชีวิตวัยเด็กที่ตำบลคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร อยู่จนอายุประมาณ 10 ขวบเศษ จึงได้เดินทางไปพำนักอยู่ที่กรุงเทพมหานครเพื่อศึกษาต่อ โดยในชั้นแรกได้พักอาศัยอยู่กับญาติผู้หนึ่ง จนย่างเข้าวัยรุ่น จึงได้เข้าไปอาศัยอยู่กับพระยามหาอำมาตยาธิบดี ที่ตำบลยศเสจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา (สุธิรา สุขนิยม, 2532, ออนไลน์)

ด้านการศึกษา
         มาลัย ชูพินิจ ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่วัดบรมธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บ้านที่ตำบลคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดกำแพงเพชร จนจบประถมศึกษา
         เริ่มเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มาลัย  ชูพินิจ ได้ย้ายไปเรียนวิชาครูโดยเฉพาะที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ
         เมื่อจบการศึกษาวิชาครูจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ มาลัย ชูพินิจได้กลับเข้าเรียนวิชาสามัญในมัธยมศึกษาปีที่ 7 (มัธยมศึกษาปีที่ 4 ในปัจจุบัน) ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
         ในขณะที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มาลัย ชูพินิจ ได้ใช้เวลาว่างในตอนกลางคืนเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เขาจึงได้ ชื่อว่าเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ด้วยผู้หนึ่ง 

ด้านการทำงาน
         พ.ศ.2469 ทำหนังสือไทยใต้ ที่จังหวัดสงขลา ตามคำชักชวนของ นายบุญทอง เลขะกุล ซึ่งเป็นเพื่อนคนหนึ่ง
         พ.ศ.2470 เดินทางกลับกรุงเทพฯ ตามคำชักชวนของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์รายวัน บางกอกการเมือง รับผิดชอบงานในแผนกสารคดี
         พ.ศ. 2471 ร่วมก่อตั้ง หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ นับเป็นงานที่ประสบผลสำเร็จ มียอดขายถึง 4,000 ฉบับ
         พ.ศ.2473 ร่วมกันทำหนังสือพิมพ์ใหม่รายวัน  มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกสารคดี และบันเทิง ได้รับเงินเดือนชั้นหลังสุดที่ได้รับก่อนลาออกจากครู ทำได้ 1 ปี คณะผู้จัดทำลาออกทั้งคณะ เพราะถูกบีบบังคับจากนายทุนผู้ดำเนินการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
         พ.ศ.2475 รวมดำเนินงานจัดทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติ มีตำแห่งเป็นหัวหน้าแผนกสารคดีและบันเทิงคดีต่อมาได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการและบรรณาธิการ การทำงานด้านหนังสือพิมพ์นี้ครูมาลัย ชูพินิจ ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยในการทำหนังสือพิมพ์ทีเดียว ทำงานอยู่ 7 ปี จึงลาออกด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อ พ.ศ. 2480
         พ.ศ.2480 ไปทำไร่ถั่วเหลือง ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
         พ.ศ.2481 รวบรวมพรรคพวกตั้งบริษัทจำกัด ไทยวิวัฒน์ (ต่อมาเป็นบริษัท อักษรนิติ) ออกหนังสือพิมพ์ฉบับบ่าย ประชามิตร รายวัน ตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ และหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ฉบับเช้า ตำแหน่งบรรณาธิการ จนถึง พ.ศ. 2486 จึงลาออกเพราะสุขภาพไม่ดี และขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในภาวะสงคราม
         พ.ศ.2486 ไปทำสวนมะพร้าวที่อ่างพนังตัก จังหวัดชุมพร เป็นเวลา 1 ปี
         พ.ศ.2488 ร่วมกับคุณอารีย์ ลีวีระ ก่อตั้งบริษัท ไทยพาณิชยการ จำกัด จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันสยามนิกร พิมพ์ไทย สยามสมัย ตำแหน่งที่ปรึกษาของหนังสือพิมพ์ไทย และเป็นนักเขียนประจำของบริษัทไทยพาณิชยการ จำกัด ทำงานอยู่นานถึง 17 ปี (อ้างถึงใน สันติ อภัยราช, 2562, ออนไลน์)

ครอบครัว
         มาลัย ชูพินิจ สมรสกับนางสาวสงวน จันทร์สิงห์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 ทั้งสองได้พบและรู้จักกันเมื่อครั้งมาลัย ชูพินิจเป็นครูสอนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษอยู่ที่โรงเรียนรวมการสอนและนางสาวสงวน จันทร์สิงห์ไปเรียนพิเศษอยู่ที่นั่น มาลัย ชูพินิจ มีบุตรและธิดา รวม 5 คน คือ
         1. นายสุคต ชูพินิจ นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
         2. นายกิตติ ชูพินิจ รัฐศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
         3. นางขนิษฐา ณ บางช้าง ศิลปะบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร
         4. นางสาวโสมนัส ชูพินิจ อักษรศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
         5. นางสาวสมาพร ชูพินิจ นิสิตคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
         ชีวิตครอบครัวของมาลัย ชูพินิจเป็นชีวิตที่สงบ ราบรื่นและมีความสุข แม้จะมีงานในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ เป็นอันมาก แต่มาลัย ชูพินิจ ก็สามารถแบ่งเวลาสำหรับครอบครัวได้เสมอ เขาเป็นพ่อที่ลูกจะเข้าไปหาเพื่อปรึกษาและขอคำแนะนำได้ทุกเวลาและทุกกรณี

ถึงแก่กรรม
         มาลัย ชูพินิจ เป็นผู้ที่ทำงานหนักมาตลอดชีวิต โดยมิได้คำนึงถึงสุขภาพของตนเอง แม้กระนั้นเขาก็ยังคงเป็นผู้มีสุขภาพดีและแข็งแรงอยู่เสมอ จนกระทั่งประมาณต้นปี 2506 สุขภาพเขาเริ่มทรุดโทรมลง มีอาการเจ็บป่วยบ่อยๆ แต่ก็ยังคงทำงานในหน้าที่ของเขาต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง ประมาณเดือนกรกฎาคม 2506 ก่อนหน้าที่จะเดินทางไปสำรวจความขาดแคลนของนักเรียนในภาคเหนือ ตามโครงการของมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งเขาเป็นกรรมการอยู่ เขาก็ล้มเจ็บลง แต่ยังไม่ทันที่จะหายเขาก็ได้เดินทางไปภาคเหนือตามโครงการนั้นๆ จนเสร็จสิ้นภาระ จึงเดินทางกลับกรุงเทพฯและล้มเจ็บอีกครั้งหนึ่ง จนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จากการตรวจรักษาของแพทย์ปรากฏว่า เขาเป็นมะเร็งที่ปอดขั้นร้ายแรง มาลัย ชูพินิจถึงแก่กรรม ณ ห้อง 22 ตึกปัญจราชินี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2506 เวลา 17.45 น.      (สุธิรา สุขนิยม, 2532, ออนไลน์) 

ความชำนาญ
         จากการศึกษาชีวิตและงานของนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของไทยหลายคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้พบว่า ก่อนหน้าที่จะก้าวเข้าสู่วงการหนังสือ เขาเหล่านั้นล้วนมีสิ่งผลักดันหรือได้รับความบันดาลใจให้เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นคนเขียนหนังสือมาแล้วทั้งสิ้น
         สำหรับมาลัย ชูพินิจ ความเป็นนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ของเขามีที่มาจากภาวการณ์และแรงดลใจหลายประการ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
         ประการแรก มาลัย ชูพินิจ มีนิสัยรักการอ่านเป็นคุณสมบัติประจำตัวมาตั้งแต่เด็ก จากการเป็นนักอ่านหนังสือนี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้มาลัย ชูพินิจ เป็นนักเขียนในเวลาต่อมา
         ประการที่สอง มาลัย ชูพินิจ เคยเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งล้วนเป็นสถานศึกษาที่ผลิตนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงของไทยมาหลายยุค หลายสมัย
         ประการที่สาม ซึ่งอาจจะเป็นประการสำคัญที่สุด คือ ความรัก นักประพันธ์ชายเป็นจำนวนมากได้รับแรงบันดาลใจให้เป็นนักเขียนจากความรัก มาลัย ชูพินิจ ไม่ยอมรับว่า แรงดลใจให้เป็นนักประพันธ์ของเขามาจากความรักอย่างเดียว หากแต่ถือว่ามันเป็นเพียงโซ่วงหนึ่งของสายโซ่เท่านั้น และโซ่วงนี้เขาเรียกมันว่าความบังเอิญ
         ประการที่สี่ เช่นเดียวกับที่หลวงวิจิตรวาทการ เคยสรุปสาเหตุที่ทำให้คนเป็นนักประพันธ์ไว้ข้อหนึ่งว่า คนบางคนเป็นนักประพันธ์เพื่อกระทำให้ความปรารถนาของตนบริบูรณ์ มาลัย ชูพินิจ ต้องสูญเสียความหวังและความฝันที่จะเป็นเจ้าของไร่หรือพ่อค้าไม้ไปกับภาวะตลาดไม้ตกต่ำใน พ.ศ.2463 แต่เขาก็ได้ความฝันนี้กลับคืนมาเมื่อเขาเขียน “ทุ่งมหาราช” "แผ่นดินของเรา" และเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง สมกับความปรารถนาของเขาเองที่ต้องการเป็นนักประพันธ์เพื่อฝันถึงสิ่งที่ตนต้องการแต่ไม่มี ฝันถึงความสำเร็จที่ตนปรารถนาแต่ไม่ได้ (สุธิรา สุขนิยม, 2532, ออนไลน์) 

ผลงานสำคัญ/ที่สร้างชื่อเสียง
         - ทุ่งมหาราช มหาราช เป็นประวัติของตำบลคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร สะท้อนภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในตำบลนั้น แสดงการต่อสู้ของมนุษย์กับโรคระบาดและไฟป่า
         - แผ่นดินของเรา แสดงการต่อสู้ของภัคคินีกับเคราะห์กรรมที่บังเกิดขึ้นภายหลังจากที่หล่อนหนีสามีไปอยู่กับชู้รัก จนถูกชู้รักทอดทิ้งไปมีภรรยาใหม่ บ้านถูกไฟไหม้และตนเองต้องไปประกอบอาชีพเป็นโสเภณี เพื่อหาเงินมารักษาโรคให้ชู้รัก จนในที่สุดก็ล้มเจ็บอยู่อย่างโดดเดี่ยวและกลับมาตายในบ้านของสามีเก่า
         - บันทึกจอมพลเป็นสารคดีทางการเมืองเล่มสำคัญเมหนึ่ง ซึ่งสะท้อนบรรยากาศของการเมือง ความเป็นอยู่และจิตใจของบุคคลหลายกลุ่มของไทยในช่วงเวลาระหว่างพ.ศ.2475 ถึง พ.ศ.2488 ได้อย่างแจ่มชัด แม้การลำดับเหตุการณ์บางตอนจะยังไม่ดีพอทางด้านรายละเอียด แต่การเปิดเผยเรื่องบางเรื่องซึ่งยังไม่เคยถูกนำมาเปิดเผยและเป็นเรื่องที่ออกมาจากต้นตอของข่าวโดยตรง ทำให้หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าทางการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งของไทยมิใช่น้อย
         - เสือฝ้ายสิบทิศเป็นสารคดีที่เปิดเผยชีวิตของเสื้อฝ้ายตั้งแต่ต้นจนได้ชื่อว่าเป็นขุมโจร 10 จังหวัด ผู้อ่านจะได้ทราบสาเหตุที่เขาเปลี่ยนชีวิตจากผู้ใหญ่บ้านมาเป็นโจร ความลับในเรื่องกำลังคนและอาวุธ รายละเอียดของการปล้นสะดมครั้งสำคัญนับแต่ปล้นคหบดี โรงสี โรงเลื่อย ตลอดจนเรือโยงของญี่ปุ่น กลวิธีที่ใช้ในการปล้นละวินัยของโจรในการใช้ศาลเตี้ยในการชำระความ และสาเหตุที่ทำให้เขากลับตัวเป็นคนดี (วรินทร์ธรา  ธราณิชอิศม์เดช, 2560, ออนไลน์)
         ในบั้นปลายของชีวิตครูมาลัย ชูพินิจ ประสบความสำเร็จในชีวิตที่เป็นที่ยอมรับของสังคมเป็นอย่างมากประมวลได้ดังนี้
             - พ.ศ.2502 ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
             - พ.ศ.2505 รับพระราชทานปริญญาบัตร วารสารดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
         ผลงานสำคัญต่างประเทศ ได้รับเชิญไปปฏิบัติงานในต่างประเทศหลายครั้ง คือ
             - ได้รับเชิญจากรัฐบาลเยอรมันตะวันตกไปสังเกตสถานการณ์ ในนครเบอร์ลินและเยอรมันตะวันตก พ.ศ.2502
             - ได้รับเชิญไปประชุองค์การต่อต้านคอมมิวนิสต์ (APACL) ครั้งที่ 5 ที่นครเซอูล ประเทศเกาหลีประเทศเกาหลีใต้ และครั้งที่ 6  ณ กรุงไทเป และดูงานที่ไต้หวัน เมื่อ พ.ศ.2503    
             - ได้รับเชิญจากรัฐบาลไต้หวัน ให้ไปสังเกตการณ์ ณ เกาะคีมอย (QUEMOR)
             - ได้รับการแต่งตั้งร่วมคณะผู้แทนไทยไปร่วมสัมมนาขององค์การซีโต้  ณ เมืองละฮอร์ ประเทศปากีสถาน
             - ได้รับเชิญจากบริษัทการบินแอร์ฟรานซ์ (AIR FRANCE) เดินทางไปรอบโลก
             - ได้รับเชิญจากรัฐบาลเยอรมันไปสังเกตสถานการณ์เบอร์ลิน เยอรมันตะวันตก พร้อมทั้งรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
             - ได้รับเชิญจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อสังเกตการณ์การเศรษฐกิจ ศึกษาวัฒนธรรม และเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างกัน เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2504
             - ได้รับเชิญจากสมาคมการประพันธ์ฟิลิปปินส์ ให้ไปประชุมที่บาเกียว
             - ได้รับเชิญจากบริษัทการบิน SWISS AIR และรัฐบาลสวิสให้ไปเยือนประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ผลงาน/เกียรติคุณ/รางวัลอื่นๆ
         มาลัย ชูพินิจ เป็นนักเขียนคนหนึ่งในจำนวนน้อยคนของนักเขียนไทยที่สามารถเปลี่ยนแนวการเขียนไปต่างๆ แนว และเขียนได้ดีทุกประเภท
         เนื่องจากมาลัย ชูพินิจ เป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์และนักประพันธ์ ในขณะเดียวกัน งานเขียนของเขาจงมีทั้งประเภทบันเทิงคดีและสารคดี ซึ่งจำแนกออกได้เป็น 6 ประเภท คือ
         1. นวนิยาย
         นวนิยายของมาลัย ชูพินิจ มีทั้งประเภทเพ้อฝันและสมจริง นวนิยายที่เขียนในระหว่าง พ.ศ. 2469-2480 ส่วนใหญ่เป็นนวนิยายเพ้อฝัน และที่เขียนในระหว่างพ.ศ.2480-2502 ส่วนใหญ่เป็นนวนิยายสมจริง
         นวนิยายเพ้อฝันของมาลัย ชูพินิจ จำแนกออกเป็นประเภทย่อยได้ดังนี้
             1. นวนิยายประเภทรักโศก เนื้อเรื่องเกี่ยวกับความรักระหว่างหนุ่มสาว จบลงด้วยความเศร้า เช่น ธาตุรัก, เกิดเป็นหญิง เป็นต้น
             2. นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เป็นนวนิยายที่นำโครงเรื่องมาจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หรือพงศาวดาร เป็นผลงานประเภทแรกที่สุดของมาลัย ชูพินิจ ซึ่งเขียนตั้งแต่ พ.ศ. 2469 ได้แก่ สงครามชิงนางและศึกอนงค์ ต่อมาใน พ.ศ.2482 ได้เขียนเรื่อง ยอดทหารหาญ และหลังจากที่หันไปสนใจเขียนนวนิยายสมจริงเป็นเวลาหลายปี เขาได้กลับมาเขียนนวนิยายประเภทนี้อีกครั้งหนึ่งคือเรื่องล่าฟ้า
             3. นวนิยายอิงวรรณคดี คือน วนิยายที่เขียนโดยนำโครงเรื่องมาจากวรรณคดี มีเพียงเรื่องเดียวคือ ชายชาตรี
             4. นวนิยายสมจริงของมาลัย ชูพินิจ จำแนกออกเป็นประเภทย่อยได้ดังนี้
                 4.1 นวนิยายแสดงแนวคิด คือนวนิยายที่สร้างเนื้อเรื่องจากแนวความคิด เพื่อแสดงให้เห็นแนวความคิดนั้น ๆ เด่นชัดขึ้น เช่นเรื่อง ความรักลอยมา แสดงแนวคิดว่า ผู้ที่สามารถดำรงชีวิตให้เป็นสุขได้ จะต้องรู้จักตนเองและความต้องการของตนเองให้แน่นอน เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตนไปตามแนวทางที่ตนต้องการ และต้องไม่เรียกร้องทุกสิ่งทุกอย่างจากชีวิต เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
                 4.2 นวนิยายแสดงปัญหา คือนวนิยายที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ เช่น ความเลวร้ายทางการเมือง, ความเหลวแหลกของสังคม, การปฏิรูปที่คุมขัง, การหย่าร้างและปัญหาเยาวชน เป็นต้น นวนิยายประเภทนี้ มาลัย ชูพินิจเขียนไว้หลายเล่ม เช่นเรื่อง ลมแดง แสดงปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายทุนและกรรมกร เป็นต้น
                 4.3 นวนิยายสังคม คือนวนิยายที่หยิบยกส่วนหนึ่งของสังคมมาเป็นเนื้อเรื่อง เช่น ทุ่งมหาราช เป็นประวัติของตำบลคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร สะท้อนภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในตำบลนั้น
                 4.4 นวนิยายผจญภัย คือนวนิยายที่เกี่ยวกับการเสี่ยงโชคและงานที่เต็มไปด้วยอันตรายและการเสี่ยงภัย นวนิยายประเภทนี้ได้แก่ ล่องไพร และลูกไพร
                 4.5 นวนิยายนักสืบ คือนวนิยายที่เกี่ยวกับการสอบสวนสืบสวนเรื่องลึกลับต่างๆจากร่องรอยหรือการไขปัญหา นวนิยายประเภทนี้มีน้อยมาก ได้แก่เรื่อง เสือจำศีล และชายสามหน้า (สุธิรา สุขนิยม, 2532, ออนไลน์)
         2. เรื่องสั้น
         มาลัย ชูพินิจ เริ่มเขียนเรื่องสั้นในปี พ.ศ. 2469 โดยเรื่องสั้นแรกสุดของเขาเท่าที่ค้นพบคือ หล่อนผู้ก่อกรรม ใช้นามปากกา ม.ชูพินิจ พิมพ์ในนิตยสารศัพท์ไทย ต่อจากนั้นเขาก็มีผลงานประเภทนี้ลงพิมพ์ติดต่อกันเรื่อยมา โดยไม่ขาดระยะในนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับ
         เรื่องสั้นของมาลัย ชูพินิจ แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ คือ
             2.1 เรื่องสั้นประเภทไม่มีโครงเรื่อง คือเรื่องสั้นประเภทเหตุการณ์ที่มีความหมาย เป็นเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่เป็นประสบการณ์ของตัวละคร ซึ่งในสายตาของผู้อื่นแล้วไม่แลเห็นความสำคัญอะไร แต่ผู้เขียนทำให้สำคัญ เช่นเรื่อง แก้เผ็ด เป็นเรื่องของหญิงชายคู่หนึ่งซึ่งต่างคนต่างถูกคนรักทรยศต่อความรัก ทั้งสองได้พบกันโดยบังเอิญและเมื่อได้รู้ว่า แต่ละคนผิดหวังมาจากความรักแล้วก็ตัดสินใจร่วมชีวิตใหม่กันต่อไป
             2.2 เรื่องสั้นประเภทแสดงโครงเรื่อง คือเรื่องสั้นที่ต้องการแสดงโครงเรื่องเป็นสำคัญ มาลัย ชูพินิจ เขียนเรื่องสั้นประเภทนี้มากที่สุด และส่วนใหญ่มีตอนจบเป็นแบบหักมุมหรือพลิกความคาดหมายของผู้อ่าน เช่นเรื่อง อวสานของฤดูร้อน
             2.3 เรื่องสั้นประเภทแสดงแนวคิด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักและการแต่งงาน เช่น เรื่องวันแต่งงาน แสดงแนวคิดว่า การแต่งงานเป็นสิ่งที่สวยงามเมื่อยังใหม่หรือเมื่อยังมีความรักอยู่เท่านั้น แต่เมื่อความรักเสื่อมคลายลง ถ้าปราศจากความซื่อตรงจงรักและการให้อภัยแล้ว ชีวิตแต่งงานก็ไม่ยั่งยืน
             2.4 เรื่องสั้นประเภทแสดงความสำคัญของฉาก ให้ฉากเป็นสิ่งสำคัญของเรื่อง เป็นการแสดงถึงอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมต่อชีวิตมนุษย์ มาลัย ชูพินิจ เขียนเรื่องประเภทนี้ได้ดี โดยมักกำหนดให้ฉากหรือสิ่งแวดล้อมเป็นผู้แก้ปัญหาชีวิตของมนุษย์หรือเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์ เช่นเรื่อง น้ำเหนือ (สุธิรา สุขนิยม, 2532, ออนไลน์)
         3. บทละคร
         งานเขียนประเภทบทละครของมาลัย ชูพินิจ มี 2 ประเภท คือ
             3.1 บทละครพูด บทละครพูดของมาลัย ชูพินิจ มีจุดมุ่งหมายคือเขียนให้อ่านเพื่อความบันเทิง มิใช่เขียนเพื่อการแสดงบนเวที ซึ่งเขาได้ประพันธ์ไว้มากมายได้แก่ นักเลงดี, ละครพูด, วันว่าง, แม่เลี้ยง, เพลงลา, รังรัก, การทดลองของแพรว, ฎีกา 5 บาท, เมืองใหม่, ทายาทรัก, เลขานุการินี, สามชาย, ลิปสติก, ตามใจท่าน, ช.ต.พ., ไข้รายแรก, นักย่องเบา, ยามพักฟื้น, วันดีวันร้าย, แขกนอกบัญชี, ลึกลับตลอดกาล, บ้านของเรา, สองสมัย, ไล่เบี้ย, แม่ปลาช่อน, ครูมวย, รสนิยม, นักเรียนใหม่, ชีวิตเช่า, สองสมัย ฯลฯ
             3.2 บทละครวิทยุและโทรทัศน์ บทละครวิทยุของมาลัย ชูพินิจ มีเพียงเรื่องเดียวและมีชื่อเสียงมาก คือเรื่อง ล่องไพร ส่วนบทละครโทรทัศน์นั้น มาลัย ชูพินิจ เริ่มเขียนเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2502  ด้วยเรื่อง สกุณาจากรัง แสดงโดยคณะกัญชลิกา ออกอากาศ ณ สถานีวิทยุไทยโทรทัศน์ และหลังจากนั้นได้เขียนบทละครให้เป็นประจำเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 เรื่อง
              บทละครที่เขียนให้แก่คณะกัญชลิกาใช้ชื่อว่า ละครชีวิตครอบครัว เนื้อเรื่องเกี่ยวกับปัญหาชีวิตครอบครัว จุดมุ่งหมายเพื่อแสดงคติสอนใจและเพื่อแนะแนวทางแก้ปัญหาชีวิต ส่วนใหญ่เป็นบทละครที่เขียนขึ้นใหม่เพื่อการแสดงโดยเฉพาะ มีเพียงบางเรื่องที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของตนเอง เช่นเรื่อง ตายทั้งเป็นและธาตุดิน เป็นต้น
              มาลัย ชูพินิจ เขียนบทละครโทรทัศน์ให้กับคณะกัญชลิกาติดต่อกันมาเป็นเวลาประมาณ 3 ปี จึงหยุดเขียน เนื่องจากมีงานด้านอื่นเพิ่มขึ้น บทละครที่เขียนให้แก่คณะกัญชลิกาส่วนหนึ่ง ได้แก่เรื่อง นามหล่อนคือหญิง , สามชีวิต,  แกะในหนังราชสีห์, โคกตะแบก, ล็อตเตอรี่ที่หนึ่ง และเลขานุการใหม่
               นอกจากคณะกัญชลิกาแล้ว มาลัย ชูพินิจ ยังเขียนให้แก่คณะพงษ์ลดา พิมลพรรณ และแก่สถาบันต่างๆ ซึ่งแสดงเพื่อการกุศล เช่น มูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่นเรื่อง ฝันร้าย เขียนจากเค้าโครงเรื่องของคุณหญิงอุศนา ปราโมช แสดงเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2502 (อ้างถึงใน สุธิรา สุขนิยม, 2532, ออนไลน์)
         4. งานเขียนคอลัมน์ประเภทต่างๆ
         งานเขียนคอลัมน์ของมาลัย ชูพินิจ มีดังนี้
             - คอลัมน์ ระหว่างบรรทัด เป็นคอลัมน์ที่มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา กีฬา และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนเรา
             - คอลัมน์ ระหว่างยก เป็นบทนำที่เขียนเป็นประจำในหนังสือพิมพ์สังเวียนซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เกี่ยวกับวงการกีฬาและเน้นหนักในเรื่องมวยเป็นสำคัญ โดยใช้นามปากกาว่า สมิงกะหร่อง เป็นบทนำประเภทที่มีชื่อเรื่อง
             - คอลัมน์ น้อย อินทนนท์ เขียน...  เป็นคอลัมน์ประจำในสยามสมัยรายสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ฉบับครบรอบปีที่ 15 เป็นต้นมา เป็นคอลัมน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสาธารณกิจเป็นส่วนใหญ่ โดยเน้นหนักไปในเรื่องการเมืองภายในประเทศ วิธีเขียนจึงมีลักษณะเป็นแบบวิเคราะห์ประกอบกับแบบพรรณนา
             - คอลัมน์ หมายเหตุ เป็นคอลัมน์ที่เปิดขึ้นในสยามสมัยรายสัปดาห์ โดยมาลัย ชูพินิจ เขียนแทน ธนาลัย ซึ่งหยุดพักการเขียนเพื่อการอุปสมบท ใช้นามปากกาว่า น้อย อินทนนท์ ใช้วิธีเขียนแบบบทความประเภทวิเคราะห์ผสมกับพรรณนา เนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง
             - คอลัมน์ พูดกันฉันเพื่อน ใช้นามปากกา ผู้นำ ในไทยใหม่ (รายวัน) บางฉบับ เช่น ฉบับที่ 3 มกราคม 2473 แสดงข้อคิดเห็นว่าผู้ที่ก้าวไปสู่ความมีชื่อเสียงด้วยการโป้ปดมดเท็จตลบตะแลงย่อมจะทานอานุภาพความจริงไปไม่ได้ และจะต้องตกลงมาอย่างไม่เป็นท่าในวันหนึ่ง
             - คอลัมน์ของนักคิด ใช้นามปากกา นายดอกไม้, ม.ชูพินิจ แสดงทัศนะและปรัชญาชีวิตอย่างสั้นๆ ในหนังสือพิมพ์ผู้นำ
             - คอลัมน์ ประชาชน เป็นคอลัมน์แสดงแง่คิดจากเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมและสวัสดิภาพของประชาชน
             - คอลัมน์ ป.ล. เป็นคอลัมน์ที่มีลักษณะเด่นและนำชื่อเสียงมาสู่ผู้เขียนเป็นอย่างมาก
             - คอลัมน์ แว่นใจ ในพิมพ์ไทยรายเดือน ใช้นามปากกาต่างๆกัน เช่น จิตรลดา, ฮ.ฮ.ฮ, ก.ก.ก, ฐ.ฐ.ฐ แสดงข้อคิดและปรัชญาชีวิต
             - คอลัมน์ ชีวิตในเดือนนี้ ในปิยมิตรรายเดือน ใช้นามปากกา นายฉันทนา แสดงทัศนะและปรัชญาชีวิต
             - คอลัมน์ บทเรียนจากชีวิต ในพิมพ์ไทยรายเดือน ใช้นามปากกาต่างๆกัน เช่น น.น.น, ส.ส.ส แสดงทัศนะและปรัชญาชีวิต
             - คอลัมน์ อาณาจักรของข้าพเจ้า ในแสนสุข ใช้นามปากกา ม.ชูพินิจ แสดงทัศนะและปรัชญาชีวิต
             - คอลัมน์ เพื่อผู้หญิง ใช้นามปากกา เรไร เนื้อหาของคอลัมน์มีขอบเขตกว้างขวางมาก นับตั้งแต่การเย็บปักษ์ถักร้อย การบริหารร่างกาย แบบบ้านและแบบเครื่องเรือนเครื่องใช้สำหรับสตรีไปจนถึงแฟชั่นเครื่องแต่งกายของสตรีด้วย
             - คอลัมน์ ปัญหาชีวิต โดยผุสดี เป็นคอลัมน์สำหรับผู้หญิงอีกแบบหนึ่งในประชามิตรรายสัปดาห์ มาลัย ชูพินิจใช้วิธีเขียนแบบเป็นจดหมายจากพี่ถึงน้อง แนะนำแนวทางที่ควรประพฤติและปฏิบัติตนของหญิงวัยรุ่น ซึ่งนอกจากจะเกี่ยวกับความรัก การคบเพื่อนต่างเพศแล้ว ยังแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยอีกด้วย
            - คอลัมน์ เพื่อผู้ชาย โดยเรียมเอง ที่ประชาชาติรายสัปดาห์ เป็นข้อเขียนเกี่ยวกับทัศนะและเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผู้ชายควรรู้ รวมทั้งสอนกีฬาประเภทต่างๆ
            - คอลัมน์ บ้านและโรงเรียน โดยผุสดี ซึ่งลักษณะการเขียนแต่ละบทแต่ละตอนแสดงออกถึงความเข้าใจในจิตวิทยาของเด็กและความเอาใจใส่ของผู้เขียนที่มีต่อเยาวชนได้เป็นอย่างดีจนไม่น่าเชื่อว่าผู้เขียนเป็นผู้ชาย
            - คอลัมน์ ความในใจ โดยอุมา ในประชามิตร-สุภาพบุรุษ เป็นคอลัมน์ตอบปัญหาชีวิต ซึ่งส่วนมากเกี่ยวกับความรักของหนุ่มสาว (สุธิรา สุขนิยม, 2532, ออนไลน์)
         5. สารคดี
         มาลัย ชูพินิจ มักเขียนสารคดีประเภทชีวประวัติบุคคลสำคัญของต่างประเทศ เช่น เรื่องโซเครตีส เจ้าลัทธิและมหาปราชญ์คนแรกแห่งกรีก ใช้นามปากกา ม.ชูพินิจ, เดวิด ทิฟวิงสโตน วีรบุรุษเอกของแอฟริกา ใช้นามปากกา นายดอกไม้, ความรักของจินตกวีเอกอิตาลี ใช้นามปากกา ผู้นำ เป็นต้น
         ในปี พ.ศ.2475 เขาเริ่มเขียนสารคดีเชิงข่าว มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลกในขณะนั้น โดยเขียนแบบข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์คือใช้การพาดหัวแทนชื่อเรื่อง เช่น ญี่ปุ่นว่าจะรบอเมริกาแน่ในขั้นต้นจะยึดเกาะฮาวาย ซึ่งแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่แปลจากภาษาญี่ปุ่น เขียนโดย นายพลโท กิโอ คัตสุชาโต
         ในปีเดียวกัน เขาเขียนสารคดีท่องเที่ยวเป็นครั้งแรกใน ผู้นำ คือเรื่องชีวิตของการท่องเที่ยวภาคเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องการท่องเที่ยวครั้งใหญ่ของเขา
         สารคดีอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเขาทำขึ้นในระยะแรกคือ สารคดีภาพข่าว ซึ่งเป็นการรวบรวมภาพในเรื่องต่างๆกัน เช่น ชีวิตของพีระ, สงครามอิตาลี-อะบิสซิเนีย และจีนรบญี่ปุ่น เป็นต้น
         สารคดีที่นำชื่อเสียงมาสู่มาลัย  ชูพินิจ อย่างแท้จริงคือ สารคดีเบื้องหลังข่าว เรื่อง บันทึกจอมพลและเสือฝ้ายสิบทิศ ( สุธิรา สุขนิยม, 2532, ออนไลน์)
         6. งานแปล
         มาลัย ชูพินิจ เริ่มงานแปลตั้งแต่ พ.ศ. 2469 ผลงานแปลในระยะแรกเริ่มนี้ได้แก่ เรื่องสั้นชื่อ สามวันจากนารี ซึ่งตีพิมพ์ในศัพท์ไทย ฉบับเดือนมิถุนายน 2469 และสิเหน่ห์นางละคร ในสมานมิตรบันเทิง
         หลังจากนั้นเขาก็เริ่มสนใจในงานเขียนของมาเรีย คอเรลลี่(Marie Corelli) นักเขียนชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียง โดยทดลองแปลเรื่องสั้นก่อน เช่นเรื่อง ผู้คงแก่เรียน (The Stepping Stone) , ธาตุหญิง (The Withering of a Rose) และไปสวรรค์  (The Distance voice) เป็นต้น เมื่อได้ผลเป็นที่พอใจแล้วจึงเริ่มแปลและเรียบเรียงเรื่องเถ้าสวาท (Wormwood) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2471 แปลจบในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน แล้วมอบให้สำนักพิมพ์นายเทพปรีชาจัดพิมพ์จำหน่าย
         ผลงานชิ้นสำคัญต่อมาคือเรื่อง เต็ลมา  (Thelma) ของคอเรลลี่ เช่นเดียวกันในพ.ศ. 2479 ส่งพิมพ์เป็นตอนๆในสยามนิกร แต่หลังจากแปลได้เพียงภาคแรก สยามนิกรก็หยุดกิจการไปชั่วคราว ทำให้มาลัย  ชูพินิจ ชะงักการแปลไปด้วย จนกระทั่งสำนักพิมพ์พิพัฒน์พานิชมาติดต่อขอนำไปพิมพ์เป็นเล่ม เขาจึงแปลต่อให้จนจบในพ.ศ. 2485 ( สุธิรา สุขนิยม, 2532, ออนไลน์)
         นอกจากผลงานด้านการประพันธ์แล้ว ครูมาลัย  ชูพินิจ ยังมีผลงานที่อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่สังคม โดยให้ความสนใจงานด้านการศึกษา และงานเกี่ยงกับเยาวชนการปฏิบัติเพื่อสังคม ดังนี้
             - กรรมการในคณะกรรมการฝ่ายการสื่อสารมวลชนของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วย การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
             - กรรมการบริหารมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชินูปถัมภ์
             - กรรมการมูลนิธิราชประชาสมาสัย
             - กรรมการสภาสังคมสงเคราะห์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
             - ที่ปรึกษาสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
             - กรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
             - อุปนายกสมาคมภาษาและหนังสือ
             - อุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (สันติ อภัยราช, 2562, ออนไลน์)

คำสำคัญ : ครูมาลัย ชูพินิจ, นักประพันธ์ชาวกำแพงเพชรผู้สร้างสรรค์

ที่มา : https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=มาลัย_ชูพินิจ_:_บุคคลสำคัญของจังหวัดกำแพงเพชร

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2561). มาลัย ชูพินิจ : บุคคลสำคัญของจังหวัดกำแพงเพชร. สืบค้น 19 เมษายน 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=127&code_db=DB0003&code_type=P003

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=127&code_db=610003&code_type=01

Google search

Mic

สันติ อภัยราช : ปราชญ์ท้องถิ่น แผ่นดินเมืองกำแพงเพชร

สันติ อภัยราช : ปราชญ์ท้องถิ่น แผ่นดินเมืองกำแพงเพชร

นายสันติ อภัยราช เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ในด้านของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา วรรณกรรมท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับเมืองกำแพงเพชร ด้วยกระบวนการศึกษาค้นคว้าที่เป็นระบบ จัดทำเป็นข้อมูลองค์ความรู้ จึงทำให้เป็นผู้ที่ได้รับเชิญให้มีบทบาทในเรื่องดังกล่าวของทางจังหวัด อีกทั้งยังมีปณิธานในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและยังมีความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านั้นให้เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับเมืองกำแพงเพชร ผ่านทางการเป็นวิทยากรบรรยาย ทั้งยังเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางสื่อออนไลน์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มีโอกาสในการเข้าศึกษาอย่างทั่วถึง

เผยแพร่เมื่อ 14-02-2018 ผู้เช้าชม 1,954

 พระยาวิเชียรปราการ

พระยาวิเชียรปราการ

พระยาวิเชียรปราการเดิมชื่อ (ฉาย อัมพเศวต) เจ้าเมืองกำแพงเพชรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447-2454 เดิมเป็นหลวงสรรค์บุรารักษ์ นายอำเภอสรรค์บุรี เมืองชัยนาทต่อมาได้เลื่อนเป็นพระวิเชียรปราการ ผู้ช่วยราชการเมืองกำแพงเพชร ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร และได้เลื่อนเป็นพระยาวิเชียรปราการ พระยาวิเชียรปราการเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรอยู่ 7 ปีได้ทำประโยชน์แก่เมืองกำแพงเพชรมาก ความดีของพระยาวิเชียรปราการ เด่นชัดตอนรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จเมืองกำแพงเพชร ในปีพ.ศ. 2449 ตามที่ปรากฏในหนังสือเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5 ได้นำเสด็จฯ ชมโบราณสถานด้วยความสันทัดจัดเจน 

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 1,938

ประสิทธิ์ วัฒนศิริ

ประสิทธิ์ วัฒนศิริ

นายประสิทธิ์ วัฒนศิริ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๔๗ ในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ปากคลองลุน (บ้านโคนใต้) ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในเขตหมู่ที่ ๑ ตำบลคณฑี อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร บิดาชื่อนายพวง แซ่ลิ้ม มารดาชื่อ นางปุย ได้เรียนหนังสือจนอ่านออก เขียนได้ ทั้งภาษาไทยและภาษาขอม จากสำนักเรียนวัดปราสาท บ้านโคนใต้ จากนั้นในปี ๒๔๖๑ ได้เรียนจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จากโรงเรียนประชาบาล อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชรหลังจากนั้นท่านได้ย้ายตามบิดาไปอยู่ตำบลหูกวาง อ.บรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ในทางธรรมท่านสอบได้นักธรรมตรี หลังจากนั้นท่านได้อพยพกลับมาที่ตำบลคณฑีอีกครั้ง มาบุกเบิกบ้านโคนจนสำเร็จดังใจหมาย

เผยแพร่เมื่อ 30-07-2020 ผู้เช้าชม 1,762

พระวิเชียรโมลี

พระวิเชียรโมลี

"พระวิเชียรโมลี" อดีตเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร พระภิกษุผู้ทรงวิทยาคุณ ที่ชาวเมืองกำแพงเพชร ให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง เป็นเถระผู้ทรงวิทยาคุณ ได้รับอาราธนาเข้าร่วมในพิธีปลุกเสก พระกริ่งชนะสงคราม ที่รัฐบาลในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นมิ่งขวัญกำลังใจแก่ทหารหาญ นับว่าเป็นเถระผู้ทรงวิทยาคุณที่มีชื่อเสียงมากรูปหนึ่งในสมัยนั้น สมัยสงครามอินโดจีน ท่านยังได้ทำเสื้อยันต์แดง แจกทหารผู้ไปราชการสงคราม ทำให้มีผู้เลื่อมใสในตัวท่านเป็นอันมาก เนื่องจากประจักษ์ในวิทยาคม จนได้รับอาราธนาให้นั่งเครื่องบินเพื่อหว่านทรายเสกให้ประชาชนและทหารรอดพ้นจากอันตรายจากภัยสงคราม     

เผยแพร่เมื่อ 02-03-2018 ผู้เช้าชม 9,743

หลวงพ่อทำนอง

หลวงพ่อทำนอง

ร้อยเอกทำนอง โยธินธนสมบัติ เป็นบุตรนายผ่าน-นางทองสุข ปัสสา เกิดเมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม พ.ศ. 2467 ที่จังหวัดชัยนาท เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 13 คน สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนวิชัยบำรุงราษฏร์ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท จากนั้นได้ประกอบอาชีพครู ต่อมาได้รับราชการทหาร และใน พ.ศ.2525 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุประจำอยู่ที่วัดศรีโยธินจนถึงทุกวันนี้

เผยแพร่เมื่อ 24-04-2020 ผู้เช้าชม 823

พระครูวชิรปัญญกร

พระครูวชิรปัญญกร

พระครูวชิรปัญญกร นามเดิม นายอำนวย กรรณิกา เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2494 ที่บ้านเลขที่ 132 หมู่ที่ 3 ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นบุตรองนายทำ-นางน้อย กรรณิกา อาชีพรับจ้าง ด้านการศึกษา สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดพระบรมธาตุ อำเภอเมืองกำแพงเพชร และสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนวัดหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เข้าทำงานครั้งแรกที่การไฟฟ้าพระราม 6 แล้วลาออกมาทำงานบริษัท Universal Engineering Consuians, Co.Ltd. หลังจากนั้นได้เข้ารับการอุปสมบท เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 ณ พัทธสีมาวัดคูยาง ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดบ่อสามแสน รองเจ้าคณะอำเภอเมืองกำแพงเพชร (ฝ่ายการศึกษา)

เผยแพร่เมื่อ 24-04-2020 ผู้เช้าชม 765

พระยาราม

พระยาราม

พระยาราม นามเต็ม พระยารามรณรงค์ เดิมเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ครั้นเมื่อสมเด็จพระมหินทราธิราชขึ้นครองราชย์ ได้เรียกพระยารามไปไว้กรุงศรีอยุธยาและให้เลื่อนเป็นพระยาจันทบุรี สมเด็จพระมหินทราธิราชได้ทรงไว้วางพระทัยพระยารามมาก กรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ต้องปรึกษาหารือพระยารามทุกครั้ง เช่น คราวที่ออกอุบายจะไปดีเมืองพิษณุโลก ซึ่งพระมหาธรรมราชาที่ 2 ครองอยู่ด้วยความแค้นพระทัยก็ปรึกษากับพระยารามเป็นความลับ แต่ทำไม่สำเร็จเพราะพระมหาธรรมราชาที่ 2 รู้ตัวก่อน โดยพระยาสีหราชเดโซบอกความลับให้ทราบ ดังนั้น พระยารามจึงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพระมหาธรรมราชาที่ 2 ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระมหินทราธิราช

เผยแพร่เมื่อ 14-11-2023 ผู้เช้าชม 180

เสริมวุฒิ สุวรรณโรจน์

เสริมวุฒิ สุวรรณโรจน์

"ดอกผลของธุรกิจช่วยพัฒนาสังคม" อดีตรับข้าราชการตำแหน่งพนักงานขับรถของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเมืองกำแพงเพชร ปัจจุบันประกอบอาชีพธุรกิจเฉาก๊วยชากังราว เป็นสินค้าผ่านการคัดสรรค์ OTOP กำแพงเพชร เป็นคนคิดดี พูดดี ทำดี ซื่อสัตย์ในอาชีพ ยึดหลักของเศรษฐกิจพอเพียง เรียบง่าย ช่วยเหลือผู้ยากไร้ สร้างวัด ด้วยเงินกว่า 30 ล้านบาท ล่าสุดบริจาคเงินซื้อเครื่องส่องสว่างในการผ่าตัด เครื่องช่วยหายใจ บริจาคเงินสร้างวัดไทยในประเทศเยอรมัน

เผยแพร่เมื่อ 09-03-2018 ผู้เช้าชม 3,026

พระศรีวชิราภรณ์ (วีระ วรปญโญ)

พระศรีวชิราภรณ์ (วีระ วรปญโญ)

สถานะเดิม ชื่อ วีระ นามสกุล ภูมิเมือง เกิด ๒ ฯ๑ ๘ ปีกุน วันที่ ๖ เดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๒ นามบิดา นายทวี ภูมิเมือง นามมารดา นางบาง ภูมิเมือง บ้านเลขที่ ๖๐ หมู่ที่ ๕ ตำบลวังควง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร อุปสมบท วัน ๗ ฯ ๕ ปีกุน วันที่ ๒๒ เดือน มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๒ ณ พัทธสีมา วัดสุวรรณาราม ตำบลวังควง อำเภอพราน กระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร  นามพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการประสิทธิ์ เตชวโร (ปัจจุบัน พระครูวชิรวราภรณ์ เจ้าคณะอำเภอ ลานกระบือ) วัดราษฎร์บูรณะ ตำบลวังตะแบก อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร 

เผยแพร่เมื่อ 02-03-2018 ผู้เช้าชม 1,728

มาณพ  ศิริไพบูลย์

มาณพ ศิริไพบูลย์

นายมาณพ  ศิริไพบูลย์  เกิดวันที่ 18 กันยายน 2487 บุตรนายมานิตย์  ศิริไพบูลย์ และนางวิมล  ศิริไพบูลย์ สถานที่เกิด ณ บ้านเลขที่ 080 หมู่ที่ 5 ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร การศึกษา จบชั้นประถมปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร  เมื่อ พ.ศ.  2498  จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6) ที่โรงเรียนกำแพงเพชร “วัชรราษฎรวิทยาลัย” ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร  จังหวัดกำแพงเพชร พ.ศ. 2504

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 1,829