ตำนานวัดไตรภูมิ

ตำนานวัดไตรภูมิ

เผยแพร่เมื่อ 13-03-2018 ผู้ชม 2,736

[16.7217067, 99.2478327, ตำนานวัดไตรภูมิ]

             จากนิทานปรัมปราทีชาวบ้านได้เล่าสืบต่อกันมาว่า สมัยเมื่อพระร่วงเจ้าผู้ครองเมืองสุโขทัย บริเวณที่เป็นหมู่บ้านพรานกระต่าย ปัจจุบันนี้เป็นป่าใหญ่ มีเมืองกำแพงเพชรหรือเมืองชากังราว เป็นเมืองลูกหลวง มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น พระร่วงเจ้าจึงให้สร้างถนนจากเมืองสุโขทัยถึงเมืองกำแพงเพชร เพื่อติดต่อกันได้โดยสะดวก ถนนนี้เรียกว่า"ถนนพระร่วง" (อยู่ห่างจากวัดไตรภูมิไป ทางทางทิศตะวันออกประมาณ 1.5 ก.ม.) บริเวณป่าใหญ่นี้มีนายพรานคอยดูแลรักษาป่าและ สัตว์ป่าอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งพรานป่าได้พบช้างเชือกหนึ่งมีลักษณะงดงามมากผิดกว่าช้างอื่นๆ จึงนำเรื่องนี้เข้ากราบทูลพระร่วงให้ทรงทราบ อำมาตย์ผู้รู้ตำรับตำราคชลักษณ์ (ตำราดูลักษณะช้าง) ได้ชักไซร้นายพรานผู้นั้นถึงลักษณะช้างที่ได้พบอย่างละเอียด จึงรู้ว่าเป็นช้างเผือกแน่นอน สมควรนำมาเป็นช้างคู่พระบารมีพระเจ้าแผ่นดิน พระร่วงจึงรับสั่งให้อำมาตย์ผู้ใหญ่นำควาญ ช้างจำนวนหนึ่ง เดินทางไปนำช้างเข้ามายังเมืองหลวง โดยให้นายพรานเป็นผู้นำทาง คณะผู้จับช้างเดินทางจากเมืองสุโขทัยมาตามถนนพระร่วง จนถึงบริเวณที่พบช้าง ลงจากถนนเข้าป่า หาช้างเชือกนั้น จนกระทั่งได้พบรอยเท้าและมูลช้างที่ต้องการ จึงติดตามไปเรื่อยๆ จนถึงถิ่นที่ ช้างอาศัยอยู่ (คือบริเวณที่เรียกว่า เขาทุ่งแฝกใกล้ๆ เขาชะอมในปัจจุบัน) เมื่อรู้ถิ่นที่อยู่ของช้าง เรียบร้อยแล้ว ควาญช้างจึงได้ตั้งศาลเพียงตาขึ้นในบริเวณนั้น ทำพิธีบวงสรวงเจ้าป่าเจ้าเขา แล้วบอกกล่าวเจ้าป่าเจ้าเขาว่า ช้างเชือกเป็นช้างมงคล สมควรเป็นช้างคู่บารมีของพระเจ้าแผ่นดิน จึงจะขอนำช้างนั้นไปเมืองหลวง ขอให้เจ้าป่าเจ้าเขาอนุญาตให้ด้วย และขอให้จับตัวช้างได้โดยง่ายโดยเร็ววัน และได้บนบานไว้ว่าหากจับช้างได้ในบริเวณใดจะสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้น เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่เจ้าป่าเจ้าเขาผู้เป็นเจ้าของถิ่น และเทวดาที่สิงสถิตอยู่บริเวณนั้นด้วย เมื่อบวงสรวงเสร็จ ก็ช่วยกันตัดต้นไม้ทำเป็นช่องทางเดินไว้ให้ช้างเดิน เพราะว่าบริเวณนั้นมีต้นไผ่ ขึ้นรกทึบมาก ช้างได้ออกมาหากินตามปกติ และเดินเรื่อยไปตามตามแนวต้นไผ่ที่ถูกถางเป็นช่องไว้ โดยไม่ได้ระแวงระวังตัวอะไร เพราะไม่เคยมีภัยหรือศัตรูเข้ามารุกรานมาก่อน พวกควาญช้างจึงช่วยกันจับช้างนั้นได้โดยไม่ลำบากนัก และได้นำไปยังเมืองสุโขทัย ถวายขึ้นระวางเป็นช้างหลวงต่อไป พระร่วงเจ้าทรงพอพระราชหฤทัยมาก ทรงปูนบำเหน็จรางวัลแก่ทุกคนที่ไปทำงาน โดยเฉพาะนายพรานผู้พบช้าง เมื่อได้ รับพระราชทานรางวัล ทุกคนยังระลึกถึงคำบนบานต่อเจ้าป่า เจ้าเขา จึงได้มาแผ้วถางบริเวณที่จับช้างได้ ทำการสร้างวัดขึ้นด้วยเงินทุนที่ได้รับพระราชทานมา ความทราบถึงพระ ร่วงเจ้าทรงอนุโมทนาและของร่วมสร้างวัด จนกระทั่งเป็นวัดตามที่ต้องการ เมื่อสร้างวัดไว้กลางป่ากลางเขาเช่นนี้ จำเป็นจะต้องโยกย้ายถิ่นที่อยู่ อาศัยเดิมมาตั้งรกรายอยู่บริเวณใกล้ๆ วัดด้วย เพื่อสะดวกแก่การดูแลรักษาและรักษาวัด เมื่อมาอยู่กันมากๆ เข้าก็กลายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นตามลำคับ และคนยุคสุโขทัยที่ว่า "นิยมสร้างวัดเพื่อให้ลูกวิ่งเล่น" วัดที่สร้างขึ้นนั้น คือ วัดไตรภูมินี้ จากตำนานปรัมปราเรื่องสร้างวัดนี้ ไม่อาจยืนยันหรือรับรองได้ว่าเท็จหรือจริง
           วัดไตรภูมิตั้งอยู่เลขที่ 1หมู่ที่ 12 ตำบลถ้ำกระต่ายทอง อำเภอพรานกระต่าย แยกจากถนนกำแพงเพชร - สุโขทัย 1 กิโลเมตร วัดไตรภูมิสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย จากหลักฐานภายในวัดมีพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย ประดิษฐานบนฐานชุกชี ภายในวิหาร (ปัจจุบันได้บูรณะใหม่ทั้งวิหารและหลวงพ่อสัมฤทธิ์) มีวัดโพธาราม (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง) ซึ่งสร้างในสมัยเดียวกัน อยู่ด้านทิศเหนือ โดยมีลำคลองกั้นระหว่างกลาง วัดไตรภูมิชาวบ้านสมัยก่อน เรียกว่า "วัดใต้" ส่วนวัดโพธาราม เรียกว่า "วัดเหนือ" เมื่อชุมชนพรานกระต่ายเสื่อมลงราวปลายกรุงสุโขทัย วัดไตรภูมิจึงได้กลายเป็นวัดร้างไปด้วย เป็นระยะเวลาประมาณ 300-400 ปี เมื่อชุมชนพรานกระต่ายเกิดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์ประมาณ พ.ศ.2380 ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันบูรณะวัดไตรภูมิให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน
             ประวัติความเป็นมาของวัดไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ที่พอจะให้สืบค้นได้ จึงไม่อาจทราบได้ว่าใครเป็นผู้สร้าง, สร้างขึ้นในสมัยใด ข้อมูลได้จากการสันนิษฐานประกอบกับคำบอกเล่าที่บอกสืบต่อกันมาเท่านั้น ดังนั้นจึงสันนิษฐานกันว่าวัดไตรภูมิน่าจะสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี แต่จะเป็นปีใดนั้นไม่อาจจะประมาณได้ ที่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยนั้น ก็เพราะมี หลักฐานปรากฏอยู่ คือวิหารที่อยู่ภายในวัดซึ่งตั้งคู่กับอุโบสถ อาคารวิหารนั้นสร้างขึ้นใหม่แน่นอน เพราะที่หลังคามีปี พ.ศ. ที่สร้างปรากฏเป็นหลักฐาน อยู่ว่าสร้างในปี พ.ศ.2498
             ส่วนภายในวิหารนั้นมีพระพุทธรูปโลหะประเภทเนื้อสัมฤทธิ์อยู่องค์หนึ่ง หน้าตักประมาณวาเศษ ประทับ อยู่บนฐานชุกชี ซึ่งก่อด้วยศิลาแลง ลักษณะเช่นเดียวกับแท่นพระพุทธรูปที่พบเห็นได้ทั่วไปใน เมืองเก่ายุคสุโขทัย ทั้งที่เมืองสุโขทัย และที่เมืองกำแพงเพชรเอง ลักษณะของพระพุทธรูปและฐานชุกชี ล้วนเป็นของเก่า เพราะฉะนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่า วัดไตรภูมินี้เป็นวัดเก่าสมัยสุโขทัย เป็นวัดร้างมาในสมัยหนึ่ง อาจจะตั้งแต่ ปลายสมัยกรุงสุโขทัยลงมาจนถึงต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รวมระยะเวลาไม่น้อยกว่า  300-400 ปี ที่สันนิษฐานดังกล่าว มีเหตุผลหลายประการ คือ สมัยกรุงสุโขทัยนั้นนิยมสร้างวัดกันมาก เมื่อสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง วัดต่างๆ ก็ค่อยๆ ร้างไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวัดใน ตัวเมืองหลวง หรือตามหัวเมืองต่างๆ และยังมีวัดร้างอีกแห่งหนึ่งทางทิศตะวันออกของวัดไตรภูมิ ห่างออกไปประมาณ 800 เมตร บริเวณวัดร้างแห่งนี้เดิมที มีหอน้ำ ซึ่งกรุด้วยศิลาแลง มีซากเจดีย์ศิลาแลง และมีต้นมะม่วงใหญ่ๆ ปกคลุมอยู่ ทั้งเป็นเนินดินที่น้ำท่วมไม่ถึง แต่ปัจจุบันกลายเป็นท้องนาไปหมดแล้ว หลักฐานต่างๆ ถูกกลบถูกทำลายไปหมด วัดร้างแห่งนี้ ไม่มีชื่อเรียก แต่ชาวบ้านเรียกว่า "ทุ่งสะปรก" (คงเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "ปรก" ซึ่งเป็นคำเรียกการนั่งสมาธิของพระที่ว่า "นั่งปรก" เพราะสมัยก่อนบริเวณนี้เป็นที่อยู่กรรมฐานของพระ เพิ่งมาหยุดกันเมื่อป่าละเมาะแถวนั้นถูกบุกรุกทำนากัน สาเหตุที่ร้างนั้นคงเป็นเพราะชาวบ้านหนีภัยสงคราม หรือถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่กรุงศรีอยุธยาสมัยสร้างเมืองใหม่ ๆ
             วัดไตรภูมิเป็นวัดเก่าแก่ แต่คงร้างมานาน เมื่อมีชุมชนมาตั้งหลักแหล่งมากขึ้น จึงได้ช่วยกันบูรณะวัด ให้เจริญขึ้นมา โดยมีเจ้าอาวาส ปกครองวัดไตรภูมิมาแล้ว 10 รูปทั้งรูปปัจจุบัน ส่วนวัดโพธาราม และ วัดทุ่งสะปรกนั้น ก็คงบูรณะบ้าง แต่คงเกินกำลังมากไป จึงปล่อยให้ร้างอยู่อย่างนั้น โดยชุมชนใช้พื้นที่ดินทางทิศตะวันตก สำหรับสร้างบ้านเมืองมากกว่าทางทิศตะวันออก จึงทำให้ทางทิศตะวันออกเป็นวัดร้างและที่ทำเกษตรกรรมอย่างเดียว เพราะเป็นที่ลุ่ม           
             ส่วนชื่อวัดนั้น คงตั้งขึ้นในภายหลังจากสร้างวัดเสร็จ หากว่าเรื่องสร้างวัดข้างต้นเป็นความจริง เพราะคำว่า "ไตรภูมิ" นั้น ในยุคสุโขทัยตอนต้นยังไม่ปรากฏเรียกกัน มารู้จักกันแพร่หลายก็ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งกรุงสุโขทัย เพราะพระองค์ได้พระราชนิพนธ์หนังสือทางพระพุทธศาสนาไว้เรื่องหนึ่งชื่อเรื่อง "ไตรภูมิพระร่วง" ซึ่งแพร่หลายมา ตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนชื่อเดิมของวัดเมื่อแรกสร้างเสร็จใหม่ๆ ไม่อาจสันนิษฐานได้โดยประการ ทั้งปวง แต่ถ้าหากว่าวัดนี้ได้สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนปลาย ชื่อว่า "วัดไตรภูมิ" คงเป็นชื่อ เดิมมาตั้งแต่แรก เรื่องชื่อวัดนี้มีการสันนิษฐานได้อีกทางหนึ่งว่า เมื่อวัดนี้ได้ร้างไปนาน ใน ภายหลังได้มีผู้คนมาตั้งรกรากทำมาหากินกันมาก กลายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น จึงได้ช่วยกันบูรณะวัดร้าง ขึ้นมาใหม่ เมื่อบูรณะเสร็จ จึงคิดตั้งชื่อวัดใหม่กัน เมื่อมีหลักฐานแน่นอนว่าวัดที่บูรณะกัน ขึ้นมานี้เป็นวัดเก่าสมัยสุโขทัย ประกอบกับมีความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ที่มีปรากฏอยู่ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง จึงได้นำคำว่า "ไตรภูมิ" มาเป็นชื่อวัด เพื่อให้ทราบว่าเป็นคำเก่าครั้งสุโขทัยเป็นเมืองหลวง ทั้งความหมายก็บ่งบอกถึงเรื่องนรกสรรค์ที่ตนเชื่อถือด้วย (ไตร ภูมิ แปลว่าสามภพ หรือสามภูมิ ได้แก่ ภูมิมนุษย์ ภูมิสรรค์ และภูมินรก)
             ส่วนวัดร้างอีกวัดหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของวัดไตรภูมินั้น ชาวบ้านก็คง จะบูรณะให้เป็นวัดมีพระสงฆ์เหมือนกัน มีหลักฐานที่เห็นชัดคือ ได้สร้างศาลาเสาไม้มะค่าขนาด ใหญ่ไว้ทำบุญกุศลกันหนึ่งหลัง สร้างกุฏิให้พระอยู่อาศัยตั้งชื่อวัดว่า "วัดโพธาราม" ที่ตั้งชื่อนี้คง เป็นเพราะว่าบริเวณวัดร้างแห่งนี้ มีต้นโพธิ์ใหญ่ขึ้นงอกงามหลายต้น ทั้งตรง กลางวัดและด้านเหนือวัด (ปัจจุบันตายเกือบหมดแล้ว) เพราะเป็นวัดมีพระสงฆ์ ทางกรมศาสนา (ยุคนั้นเรียก กระทรวงธรรมการ) จึงได้ขึ้นทะเบียนไว้ ต่อมาเมื่อวัดไตรภูมิเจริญมากขึ้น พระสงฆ์วัดโพธาราม คงขาดผู้นำที่สามารถ จึงย้ายตัวเองมาอยู่เสียที่วัดไตรภูมิ ปล่อยให้วัดโพธารามร้างไปอีกครั้งหนึ่ง ส่วนศาลาใหญ่วัดนั้นยังคงอยู่ที่เดิม ทางราชการได้ขอใช้เป็นสถานที่เรียนหนังสือของเด็กๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2448 เรียกว่า“โรงเรียนวัดโพธาราม” แต่ถึงกระนั้นก็ตาม วัดไตรภูมิก็ได้ข้ามไปใช้ศาลาหลังใหญ่นี้ในการทำบุญงานใหญ่ๆ ทุกครั้ง เช่น งานเทศน์มหาชาติ งานประจำปี งานตักบาตรเทโว ในภายหลังงานประจำปีได้ย้ายมาจัดที่ วัดไตรภูมิ ในปี พ.ศ. 2518 ได้ย้ายศาลาวัด โพธารามมาปลูกที่บริเวณกุฏิวัดไตรภูมิ เพื่อใช้เป็นศาลาหอฉัน และศาลาการเปรียญ เป็นอันว่า วัดโพธาราม ได้กลายเป็นวัดร้างโดยสมบูรณ์แบบอีกวาระหนึ่ง ประกอบกับเนื้อที่บริเวณรอบๆ วัดถูกบุกรุกเรื่อยมา จนเหลือบริเวณไม่กว้างขวางอย่างเก่าก่อน

ภาพโดย : http://oknation.nationtv.tv/blog/home/user_data/file_data/201203/05/7678f12c.jpg

คำสำคัญ : วัดไตรภูมิ

ที่มา : พิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ และคณะ. (2547). ถิ่นฐานพรานกระต่าย : ข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองพรานกระต่าย อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร. กำแพงเพชร: สภาวัฒนธรรมอำเภอพรานกระต่าย.

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2561). ตำนานวัดไตรภูมิ. สืบค้น 6 ตุลาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=634&code_db=610006&code_type=07

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=634&code_db=610006&code_type=07

Google search

Mic

ตำนานเขานางทอง

ตำนานเขานางทอง

ตำนานเล่าว่า นางทองเป็นผู้หญิงสาวชาวบ้านเมืองพานที่สวยงามมาก ต่อมาถูกพญานาค กลืนเข้าไปในท้อง พระร่วงเจ้าผู้ครองนครเมืองพานได้พบเห็นจึงได้เข้าช่วยโดยใช้อิทธิฤทธิ์ของตน ล้วงนางทองออกมาจากคอของพญานาค เนื่องจากนางทองเป็นคนที่มีสิริโฉมงดงามจึงเป็นที่สบพระทัยของพระร่วง ต่อมาจึงได้อภิเษกเป็นพระมเหสี (เมียหลวง) และยังได้นางคำหญิงชาวบ้านอีกคนหนึ่งเป็นพระสนมเอก (เมียน้อย) อีกองค์หนึ่งด้วย อยู่มาวันหนึ่งพระร่วงได้เสด็จไปเที่ยวในกรุงสุโขทัย พระมเหสีทองซึ่งเป็นคนที่มีความมานะอดทนขยันหมั่นเพียรในการทอผ้าด้วยกี่ทอผ้า ได้ไปซักผ้าอ้อมที่สระน้ำซึ่งพระร่วงได้สร้างพระตำหนักแพหน้าพระราชวังในคลองใหญ่ไว้เป็นที่พักผ่อนพระอิริยาบทและซักผ้า ในวันนั้นขณะที่ซักผ้าอ้อมเสร็จและจะนำไปตาก (บริเวณที่ตากผ้าอ้อมนั้น ไม่มีต้นไม้ขึ้นเลย จะโล่งเตียนไปหมด เพราะ พระร่วงสาปไว้สำหรับตากผ้าอ้อม) ระหว่างที่ตากผ้าอ้อมพระมเหษี ทองก็กลัวว่าผ้าอ้อมจะไม่แห้งจึงทรงอุทานขึ้นเป็นทำนองบทเพลงเก่าว่า "ตะวันเอยอย่ารีบจร นกเอยอย่ารีบนอน หักไม้ค้ำตะวันไว้ก่อน กลัวผ้าอ้อมจะไม่แห้ง"

เผยแพร่เมื่อ 16-02-2018 ผู้เช้าชม 2,478

ตำนานจระเข้ปูน

ตำนานจระเข้ปูน

กล่าวกันว่าในสมัยกรุงสุโขทัยเจริญรุ่งเรือง ราวประมาณ พ.ศ. 1420 มีเมืองหนึ่งชื่อ “พระมหาพุทธสาคร”  วันหนึ่งพระมหาพุทธสาครเสด็จมาที่วังแห่งนี้เพื่อพักผ่อน ขณะนั้นได้ทอดเห็นพญานาคตนหนึ่ง กำลังคาบสาวงามนางหนึ่งผ่านหน้าไป พระองค์ได้ติดตามไปจนกระทั่งถึงภูเขาลูกหนึ่ง พญานาคได้กลืนหญิงสาวเข้าไปในท้อง พระมหาพุทธสาครได้เสด็จตามมาทันพอดี จึงได้ใช้มนต์สะกดพญานาคไว้แล้วจึงได้ล้วงหญิงสาวออกมาจากคอพญานาค ทราบชื่อภายหลังว่า “นางทอง” หรือ “นางสาวทอง” (เพราะยังเป็นโสดอยู่) ส่วนเขาบริเวณนั้นมีช่อว่า “เขานางทอง”       

เผยแพร่เมื่อ 13-03-2018 ผู้เช้าชม 2,280

ตำนานถ้ำกระต่ายทอง

ตำนานถ้ำกระต่ายทอง

มีประวัติเล่าว่า มีนายพรานเดินทางมาสำรวจเส้นทางเพื่อไปสร้างเมืองหน้าด่านของกรุงสุโขทัย วันหนึ่งขณะที่กำลังพักแรม นายพรานได้พบกระต่ายขนสีทองสวยงามมากบริเวณหน้าถ้ำแห่งหนึ่งและได้หายเข้าไปในถ้ำ ต่อมานายพรานจึงกราบบังคมทูลพระร่วงให้รับทราบและรับอาสาจะจับกระต่ายตัวดังกล่าวและได้ใช้ความพยายามที่จะจับตั้งหลายครั้งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จจึงได้สร้างบ้านถาวรขึ้นบริเวณหน้าถ้ำเพื่อรอจับกระต่าย หลายปีต่อมาจึงมีผู้อพยพมาอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านพรานกระต่าย" ปัจจุบันสถานที่บริเวณศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทอง ถูกบูรณะและตกแต่งให้เป็นสถานที่สวนย่อมแลดูสวยงาม และมีการสร้างรูปปั้นนายพราน ซึงเป็นตัวแทน เจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองให้ชาวอำเภอพรานกระต่ายได้สักการะบูชา

เผยแพร่เมื่อ 13-03-2018 ผู้เช้าชม 4,547

พรานกระต่าย

พรานกระต่าย

กล่าวกันว่าในปี พ.ศ. 1800 เศษ พระร่วงครองสุโขทัย ทรงมีนโยบายที่จะขยายอาณาเขตให้กว้างขวางและมั่นคง จึงดำริที่จะสร้างเมืองหน้าด่านขึ้นทุกทีซึ่งได้รับสั่งให้นายพรานผู้ชำนาญเดินป่าออกสำรวจเส้นทางและชัยภูมิที่มีลักษณะดี กลุ่มนายพรานจึงได้กระจายกันออกสำรวจเส้นทางต่างๆ จนกระทั่งมาถึงบริเวณแห่งนี้ได้พบกระต่ายป่าขนสีเหลืองเปล่งปลั่งด้วยทอง สวยงามมาก นายพรานจึงกราบถวายบังคมทูลขอราชานุญาตจากพระร่วงเจ้าเสด็จไปติดตามจับกระต่ายขนสีทองตัวนี้มาถวายเป็นราชบรรณาการถวายแดพระมเหสีพระร่วง นายพรานจึงกลับไปติดตามกระต่ายป่าตัวสำคัญ ณ บริเวณที่เดิมที่พบกระต่ายได้ใช้ความพยายามดักจับหลายครั้ง แต่กระต่ายตัวนั้นสามารถหลบหนีไปได้ทุกครั้ง นายพรานมีความมุมานะที่จะจับให้ได้จึงไปชวนเพื่อนฝูงนายพรานด้วยกันมาช่วยกันจับ แต่ยังไม่ได้จึงอพยพลูกหลานพี่น้อง และกลุ่มเพื่อนฝูงต่าง มาสร้างบ้านถาวรขึ้นเพื่อผลที่จะจับกระต่ายขนสีทองให้ได้ กระต่ายก็หลบหนีเข้าไปในถ้ำซึ่งหน้าถ้ำมีขนาดเล็กนายพรานเข้าไปไม่ได้แม้พยายามหาทางเข้าเท่าไรก็ไม่พบจึงได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นหน้าถ้ำเพื่อเฝ้าคอยจับกระต่ายขนสีทอง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งต่อมาหมู่บ้านได้ขยายตัวเป็นชุมชนขนาดใหญ่จึงได้เรียกชุมชนนั้นว่า “บ้านพรานกระต่าย” และเป็นชื่ออำเภอในเวลาต่อมา

เผยแพร่เมื่อ 24-04-2020 ผู้เช้าชม 995

ตำนานวัดไตรภูมิ

ตำนานวัดไตรภูมิ

กาลครั้งหนึ่งในสมัยพระร่วงเจ้าครองเมืองสุโขทัย บริเวณที่เป็นหมู่บ้านพรานกระต่ายปัจจุบันนี้ เป็นป่าใหญ่ มีเมืองกำแพงเพชรหรือเมืองชากังราว ซึงเป็นเมืองลูกหลวงเท่านั้นท่ี่มีผุู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น พระร่วมเจ้าจึงได้สร้างถนนจากเมืองสุโขทัยถึงเมืองกำแพงเพชร เพื่อติดต่อกันได้โดยสะดวก ถนนนี้เรียกว่า "ถนนพระร่วง" (อยู่ห่างจากวัดไตรภุูมิไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 1.5 กิโลเมตร) บริเวณป่าใหญ่นี้มีนายพรานคอยดูแลรักษาป่าและ สัตว์ป่าอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งพรานป่าได้พบช้างเชือกหนึ่งมีลักษณะงดงามมากผิดกว่าช้างอื่นๆ จึงนำเรื่องนี้เข้ากราบทูลพระร่วงให้ทรงทราบ 

เผยแพร่เมื่อ 13-03-2018 ผู้เช้าชม 2,736

ตำนานพระร่วงเล่นว่าว

ตำนานพระร่วงเล่นว่าว

บนเส้นทางถนนพระร่วง มีเรื่องเล่าขานมากมายชาวบ้านได้เล่าถึง พระร่วงซึ่งเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ มีวาจาสิทธิ์ได้ทรงสร้างถนนสายนี้ว่า พระร่วงได้ใช้เท้าเกลี่ยดินเพียงสามครั้งก็ได้ถนนสายนี้ขึ้นมา พระร่วงเป็นกษัตริย์ที่ทรงโปรดการเล่นว่าวมาก ตลอดเส้นทางถนนสายนี้ ชาวบ้านได้เล่าถึงการเล่นว่าวของพระร่วงคล้าย ๆ กันหลายหมู่บ้าน จะต่างกันสถานที่เล่นว่าวเท่านั้น  จะขอยกตัวอย่างที่อำเภอพรานกระต่ายดังนี้  ในช่วงที่พระร่วงได้ตรองราชย์อยู่ที่กรุงสุโขทัย วันหนึ่งพระองค์คิดถึงนางทองซึ่งเป็นพระมเหสีอยู่ที่เมืองพาน จึงเสด็จมาหา ซึ่งขณะนั้นพระมเหสีทองได้ตั้งครรภ์อ่อน ๆ อยากเสวยมะดัน (ผลไม้ชนิดหนึ่ง) พระร่วงจึงเสด็จ

เผยแพร่เมื่อ 13-03-2018 ผู้เช้าชม 1,933

ภาษาถิ่นพรานกระต่าย

ภาษาถิ่นพรานกระต่าย

ภาษาถิ่นพรานกระต่ายเป็นภาษาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนในปัจจุบันนอกจากชาวอำเภอพรานกระต่ายแล้วยังมีผู้ใช้ ภาษาถิ่นพรานกระต่าย ในเขตอำเภอเมือง อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดตากและ จังหวัดสุโขทัย จากผลงานวิจัย พบว่า ภาษาถิ่นพรานกระต่าย มี 5 วรรณยุกต์ เหมือนกับภาษาไทยกลางนั่นคือ วรรณยุกต์ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ คำที่ออกเสียงในวรรณยุกต์จัตวาในภาษาไทยกลาง จะออกเสียงในวรรณยุกต์เอก ในภาษาถิ่นพรานกระต่าย และคำที่ออกเสียงในวรรณยุกต์ เอกและโทในภาษาไทยกลาง จะออกเสียงในวรรณยุกต์จัตวา

เผยแพร่เมื่อ 09-03-2020 ผู้เช้าชม 5,407