สะเทื้อน นาคเมือง

สะเทื้อน นาคเมือง

เผยแพร่เมื่อ 09-03-2018 ผู้ชม 497

[16.2351311, 99.5449189, สะเทื้อน นาคเมือง]

“ลิเกเป็นเพียงสิ่งที่ดึงคนมาอยู่ด้วยกัน แต่สิ่งที่ผมสอนจริงๆ คือการสอนการดำเนินชีวิต การอยู่ในสังคม”  

           เป็นความสรุปที่ “สะเทื้อน นาคเมือง” หรือที่ใครๆ เรียกกันว่า “ครูเผ” ครูสอนศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ทุ่มเทชีวิตให้แก่เด็กด้อยโอกาสได้มีโอกาสที่จะมีข้าวกินอิ่ม มีที่อยู่ มีรายได้ และมีโอกาสทางการศึกษา แห่งอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” โดยผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษา
           จากเรื่องราวของชีวิตจริงในหนหลังที่แสนรัดทดของเด็กกำพร้าขาดพ่อ เด็กชายสะเทื้อน ที่เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็น “เด็กด้อยโอกาส” ขาดแคลนทุกด้านรวมทั้งความอบอุ่นจากครอบครัว แต่ได้โอกาสจากครูแนะแนวโรงเรียนมัธยมให้เข้าไปอยู่ด้วยในบ้านทั้งส่งเสียเลี้ยงดูจึงเป็นประกายชีวิตและแบบอย่างให้เด็กชายสะเทื้อนมุ่งเป้าชีวิตไปเป็นครู เพื่อให้โอกาสแก่เด็กตามแบบอย่างที่ตนเองได้รับมา
           แต่เมื่อโชคชะตาพลิกผันไม่อาจเป็นครูได้ดังหวัง ก็พลิกผันชีวิตมาเล่นลิเกเป็นสัมมาชีพตามแบบอย่างแม่ ที่ใช้หารายได้ส่งตนเองเรียนจบอนุปริญญา และระหว่างการตระเวนเล่นลิเกนั้นเอง จิตวิญญาณแห่งความเป็นครูก็สว่างขึ้นในใจ สะเทื้อน ตลกลิเก ได้ชักชวนเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาให้เข้ามาหัดลิเก ด้วยเห็นเป็นหนทางแห่งรายได้แก่เด็กด้อยโอกาสเหล่านั้น
           หลังจากนั้นชื่อ “ครูเผ” ก็เกิดขึ้นในฐานะผู้สอนศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้แก่เด็กด้อยโอกาส และจากการเริ่มต้นอย่างเลือนรางก็ชัดเจนมาขึ้นเมื่อครูเผได้เป็น “เจ้าโผ” หรือหัวหน้าคณะลิเก “คลองขลุงบำรุงศิลป์” และมาปักหลักตั้งฐานอยู่ที่อำเภอคลองขลุง เปิดบ้านรับเด็กเข้ามากินอยู่ หัดลิเกไปพร้อมๆ กับเรียนรู้การใช้ชีวิต เป็นการดึงเด็กที่ด้อยโอกาส มีปัญหาทางกายภาพ หรือประสบปัญหาชีวิต ให้เข้ามาอยู่ในสายตาพร้อมทั้งหยิบยื่นโอกาสให้แก่เด็กเหล่านั้นเหมือนกับที่ตนเองเคยได้รับมา
            “จากความด้อยโอกาสที่เคยเป็นเด็กกำพร้ามาก่อนจึงอยากจะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ จากเด็กด้อยมาเป็นเด็กได้ และจากเด็กได้ เป็นเด็กที่รู้จักให้ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ครูต้องการให้เด็กได้ และเด็กก็ได้จริงๆ  นั่นคือ จากเด็กที่ไม่เคยคิดอะไรได้ทำอะไรได้ กลายมาเป็นเด็กที่กล้าคิดกล้าทำ กล้าแสดงออกและกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ต่อหน้าชุมชนหรือต่อหน้าบุคคลหลายๆ คน เขาก็อาจเป็นผู้นำในวันข้างหน้าได้”
             ครูเผตอบคำถามของเหตุผลในการทำงานกับเด็กมาตลอดชีวิต โดยที่เด็กเหล่านี้ก็เสมือนคนในครอบครัวของครูเป็นเสมือนบทวิเคราะห์ตนเองได้เด่นชัดว่า “ปัจจัยแห่งความสำเร็จของครูเผก็คือ การให้โอกาสแก่เด็กทั้งทางตรงและทางอ้อม” โดยให้โอกาสทั้งรายได้ ที่อยู่ที่กิน ที่สำคัญคือโอกาสทางการศึกษา รวมถึงสอนแนวทางการดำเนินชีวิต มิใช่สอนเพียงแต่จะให้ร้องรำเล่นลิเกเพื่อเป็นอาชีพเท่านั้น
            ในการใช้ชีวิตอยู่แบบครอบครัว ครูเผได้นำกระบวนการเรียนการสอนแบบพี่สอนน้องเข้ามาใช้ในการสอนศิลปะการแสดง ช่วยให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และความผูกพันกันจากรุ่นสู่รุ่นของผู้ที่เข้ามาร่วมใช้ชีวิตด้วยกันในนามคณะลิเก และนอกจากนั้นยังสอดแทรกความรู้ต่างๆ ทางประเพณีวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตในสังคมไปด้วยอย่างเป็นธรรมชาติ ตั้งแต่พิธีไหว้ครูไปจนถึงนำคณะนักแสดงออกไปช่วยงานในชุมชนในทุกมิติตั้งแต่งานบวชงานบุญ ไปจนถึงเป็นตัวแทนการแสดงศิลปะพื้นบ้านในระดับท้องถิ่นและจังหวัด หรือแม้กระทั่งการสอนให้เด็กช่วยกันทำขนมไทยออกขายในช่วงเวลาที่ขาดรายได้ไม่มีงานเข้ามา
             “แรกๆ พ่อแม่ผู้ปกครองไม่เห็นด้วยที่เด็กๆ มารวมตัวกันที่โรงลิเกของครูเผ หาว่าเป็นแหล่งมั่วสุมของเด็กติดยา แต่หลังจากเวลาผ่านไป ครูเผก็แสดงให้เห็นว่า ครูมีความตั้งใจจริงที่จะทำให้เด็กๆ มีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางดีจนเป็นที่ยอมรับในหมู่บ้าน”  สิบเอกธนาทิพย์ มิ่งเมือง ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของครูเผเล่าถึงความหลัง
             “หนูอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ประมาณสามสิบคน มีพ่อคือครูเผคนเดียว ครูเผเหนื่อยกับพวกเรามาก ทั้งที่สอนเราก็ไม่ได้สตางค์เลย พอทุกคนสามารถแสดงลิเกได้ ก็แบ่งปันรายได้ให้ไปดูแลครอบครัวของแต่ละคน เหลือนิดหน่อยก็เอาไว้ซื้อกับข้าวกินกัน ไม่รู้ว่าทำไปทำไม ทั้งๆ ที่มีคนมาว่าว่าครูเผเอาเด็กบังหน้าหากิน จริงๆ เด็กๆ ต่างหากที่อาศัยครูเผหากิน หนูสงสารครูมาก บางทีก็โมโหแทน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากจะขออยู่กับครูเผ ช่วยครูเผตลอดไป”  วาสนา เรืองทิพ ผู้อยู่กับครูเผในปัจจุบันในฐานะผู้ดูแลเครื่องแต่งกายคณะลิเก และกำลังเรียน กศน. ช่วยสะท้อนภาพของครูเผออกมาให้ชัดขึ้น
             แต่อย่างไรก็ตาม ครูเผก็มีความชัดเจนที่สุดในเรื่องภารกิจหลักของเด็กในบ้านนั่นก็คือ “การศึกษา” ในวันที่ลูกศิษย์ในบ้านท้อกับคำเย้ยหยันที่ว่า ลิเกคณะของครูเผเป็นลิเกไม่มีคุณภาพ บนหน้าเฟสบุ๊คของครูเผ ก็ปรากฏข้อความพร้อมแท๊กบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายว่า “พวกเธอจำได้ไหมว่าครูบอกว่า…สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เธอจะต้องทำตอนนี้ก็คือการเรียนเป็นหลัก ส่วนการแสดงลิเกเป็นรอง…เราจะเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นไม่ได้เพราะเราไม่มีสายเลือดลิเก เพียงแต่เราได้มีโอกาสช่วยสืบสานก็ดีแล้วสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอย่างพวกเรา ไม่ต้องท้อนะครับ ถึงแม้ว่าการแสดงลิเกจะไม่มีคุณภาพเหมือนกับลิเกดังๆ แต่สิ่งสำคัญที่เรามีก็คือคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนบางคนที่ใช้เวลาไปแบบไม่มีประโยชน์ คนที่ว่าเราชีวิตเขามีคุณภาพเท่ากับพวกเราหรือไม่ก็ไม่รู้ สู้กันต่อไป”ดีชั่วอยู่ที่ีตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่เราทำตัว…ไม่ต้องกลัวนะลูก”
             ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ จนได้จากรางวัลากองค์กรหน่วยงานต่างๆ มากมาย แม้จะเป็นความภูมิใจให้ครูเผก้าวต่อไปในการช่วยเหลือเด็กให้มีโอกาสมากขึ้น แต่คงไม่เท่ากับความภูมิใจที่เห็นศิษย์ของตนรุ่นแล้วรุ่นเล่าก้าวหน้าไปในสาขาวิชาชีพต่างๆ อย่างเป็นคนดี ซึ่งทำให้ครูเผหายเหนื่อยกับการขวนขวายที่จะช่วยกันหารายได้มาจุนเจือบ้านครอบครัวผู้สืบทอดศิลปะพื้นบ้านที่แม้จะไม่ได้สวยงามยิ่งใหญ่ แต่ก็มีความรักความผูกพันที่ครูเผเรียกว่า “บ้านแห่งการเรียนรู้” บ้านที่มีครูเผเป็นพ่อดูแลลูกๆ ทุกคนเปรียบเสมือนคนครอบครัวเดียวกัน
             “ฝากถึงทุกคนที่มีหัวใจเดียวกันกับครู คืออยากช่วยเหลือเด็ก อยากจะทำกิจกรรมในส่วนที่เสียสละ เป็นการอุทิศให้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานแบบนี้ ก็คือการให้ ให้แล้วอย่าหวังผลอะไรทั้งสิ้น ให้ทุกอย่าง ให้ชีวิต ให้เงิน ให้ทอง ให้ความรู้ ให้ทุกอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดอย่าลืม การให้อภัย การให้อภัยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”
            และนี่คือคำทิ้งท้ายถึงผู้ร่วมอุดมการณ์ของ “ครูเผ” นายสะเทื้อน นาคเมือง ตลกลิเกผู้อุทิศตนให้แก่การช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส.

ภาพโดย : http://www.pmca.or.th/thai/?p=2536

 

คำสำคัญ : บุคคลสำคัญ

ที่มา : http://www.pmca.or.th/thai/?p=2536

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2561). สะเทื้อน นาคเมือง. สืบค้น 29 มีนาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=622&code_db=610003&code_type=03

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=622&code_db=610003&code_type=03

Google search

Mic

หลวงพ่อสว่าง (พระวิบูลวชิรธรรม)

หลวงพ่อสว่าง (พระวิบูลวชิรธรรม)

หลวงพ่อสว่าง หรือ พระวิบูลวชิรธรรม แห่งวัดท่าพุทรา ต.ท่าพุทรา อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวเมืองกำแพงเพชร ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ พระครูวิบูลวชิรธรรม จากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวิบูลวชิรธรรม ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรมและประพรมน้ำพุทธมนต์ที่เข้มขลัง รวมทั้งปรารถนาวัตถุมงคลที่ของขลังอย่างล้นหลาม

เผยแพร่เมื่อ 17-01-2020 ผู้เช้าชม 22,105

สะเทื้อน นาคเมือง

สะเทื้อน นาคเมือง

นายสะเทื้อน นาคเมือง หรือ ครูเผ ครูผู้นำเด็กๆ ด้วอยโอกาสมาเล่นลิเก เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทย และช่วยให้เด็กๆ มีรายได้ ไม่เป็นภาระคนอื่น เร่ิมจากวัยเด็กที่ครูเผ ต้องรับผิดชอบตัวเองหาเงินเรียน เมื่อได้มาพบกลุ่มนักเรียนที่มีปัญหาทางบ้าน ฐานะยากจน บางคนเป็นเด็กกำพร้า หรือพิการ จึงได้ตังชุมนุมนาฏศิลป์ขึ้นในโรงเรียน เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้รู้ว่าตนเองมีคุณค่า และสามารถสร้างความสุขให้คนอื่นได้ จากการแสดงลิเกและการแสดงกองยาวกับรำไทย ปัจจุบันเด็กๆ กลุ่มนี้ได้เผยแพร่ศิลปะนาฏศิลป์ในงานต่างๆ และทางสื่ออินเทอร์เน็ต จนเป็นที่รู้จักของคนในกำแพงเพชร คนทั้งประเทศและคนต่างชาติ

เผยแพร่เมื่อ 09-03-2018 ผู้เช้าชม 497