หลวงพ่อสว่าง (พระวิบูลวชิรธรรม)

หลวงพ่อสว่าง (พระวิบูลวชิรธรรม)

เผยแพร่เมื่อ 17-01-2020 ผู้ชม 22,209

[16.2665231, 99.6861173, หลวงพ่อสว่าง (พระวิบูลวชิรธรรม)]

บทนำ
         หลวงพ่อสว่าง หรือ พระวิบูลวชิรธรรม แห่งวัดท่าพุทรา ต.ท่าพุทรา อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวเมืองกำแพงเพชร ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ พระครูวิบูลวชิรธรรม จากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวิบูลวชิรธรรม ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรมและประพรมน้ำพุทธมนต์ที่เข้มขลัง รวมทั้งปรารถนาวัตถุมงคลที่ของขลังอย่างล้นหลาม จัดสร้างเหรียญปลอดภัย และเหรียญที่ระลึกรูปเหมือนขนาดต่างๆ นอกจากเหรียญวัตถุมงคล ยังมีผ้ายันต์ เป็นต้น หลวงพ่อสว่างมรณภาพอย่างสงบในวันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 รวมสิริอายุ 93 ปี 8 เดือน บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ความเป็นมาของหลวงพ่อสว่าง (หลวงพ่อวิบูลวชิรธรรม) 2) ความชำนาญและความสนใจของหลวงพ่อสว่าง 3) ผลงานที่สร้างชื่อเสียงของหลวงพ่อสว่าง 4) ผลงานเกียรติคุณของหลวงพ่อสว่าง 5) ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อสว่าง วัดท่าพุทรา 6) แนวทางการปฏิบัติการดำเนินชีวิต

ความเป็นมาของหลวงพ่อสว่าง (หลวงพ่อวิบูลวชิรธรรม)
         เมื่อหลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรม เกิดได้เพียง 5 วัน โยมมารดาของท่านก็ถึงแก่อนิจกรรม ได้มีแม่น้าเลี้ยงดูท่านจนเติบใหญ่ (แม่น้าก็คือภรรยาคนที่ 1 ของขุนเจริญสวัสดิ์นั่นเอง) พอท่านมีอายุพอสมควรที่จะเล่าเรียนศึกษาได้ ท่านก็เริ่มศึกษาเล่าเรียนอักขระสมัย และหนังสืออักขระขอมเบื้องต้น จากขุนเจริญสวัสดิ์บิดาของท่าน พอท่านอายุได้ 13 ขวบ ขุนเจริญสวัสดิ์บิดาก็ถึงแก่อนิจกรรม พระวิบูลวชิรธรรมจึงเป็นผู้กำพร้า บิดา-มารดา แต่เยาว์วัย แต่ท่านก็พยายามประคองตัวประคองใจเชื่อฟังคำตักเตือนสั่งสอนของมารดาเลี้ยงเป็นอย่างดี เนื่องจากท่านอยู่กับมารดาเลี้ยงของท่านมาโดยตลอด มารดาเลี้ยงของท่านก็เอ็นดูรักใคร่สงสารปราณีท่านเสมือนเป็นบุตรที่แท้จริง มีความประสงค์อยากจะให้หลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรมได้รับการศึกษาชั้นสูงๆ ขึ้นไปอีก เพื่อจะได้มีความรู้เฉลียวฉลาด จะได้ดำเนินวิถีชีวิตตามเยี่ยงขุนเจริญสวัสดิ์ผู้บิดา เนื่องจากบิดาของท่านเป็นผู้มีความสามารถเฉลียวฉลาด มีคนเคารพนับถือทั้งในหมู่บ้าน ตำบลที่มีภูมิลำเนาอยู่และตำบล อำเภอใกล้เคียงทั่วไป มารดาเลี้ยงจึงได้นำพระวิบูลวชิรธรรมไปฝากกับหลวงพ่อเผือกหรือพระครูบรรพโตปมญาณ วัดหัวดงเหนือ ตำบลหัวดง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ สมัยนั้นนับว่าวัดหัวดงเหนือ เป็นสำนักเรียนอักขระสมัยมูลกัจจายน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังสำนักหนึ่ง หลวงพ่อฯ ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนมูลกัจจายน์ และหนังสืออักขระขอมอยู่ที่วัดหัวดงเหนือ เป็นเวลานานประมาณ 7 ปี มีพระอาจารย์สด (ต่อมาได้เลื่อนฐานะเป็นพระครูสวรรค์วิถี) เป็นครูสอน พอหลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรมมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ มารดาเลี้ยงได้อนุญาตให้ไปศึกษาต่อที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมอบให้พระครูบรรพโตปมญาณ (หรือหลวงพ่อเผือก) วัดหัวดงเหนือ พระอาจารย์ของท่านเป็นผู้นำไป ทั้งได้มอบปัจจัยสี่ไปพอสมควรให้แก่พระครูบรรพโตปมญาณ (หรือหลวงพ่อเผือก) ไปเป็นจำนวนครบถ้วน เพื่อจับจ่ายใช้สอย เพื่อดำเนินการอุปสมบทหลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรมด้วย (ชมรมพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร, ม.ป.ป.)

การอุปสมบท
         หลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรม อุปสมบทเมื่อวันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2445 ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือนอ้าย ปีขาล ณ พัทธสีมาวัดขุนญาณ ตำบลคลองเมือง อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระญาณไตรโลกย์ (สะอาด) วัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยธรศรี วัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดแพ วัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอนุสาวนาจารย์พระอุปัชฌาย์ ให้นามฉายาว่า “อุตตโร”
         เมื่อพระวิบูลวชิรธรรมอุปสมบทแล้ว ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและบาลีอยู่ที่สำนักเรียน วัดศาลาปูน เป็นเวลา 2 ปี และได้กลับมาอยู่กับพระครูบรรพโตปมญาณ (หลวงพ่อเผือก) ที่วัดหัวดงเหนือ ตำบลหัวดง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ตามเดิม จากนั้นจึงได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย จากพระอาจารย์สด (พระครูสวรรค์วิถี) ซึ่งเป็นอาจารย์เดิมอีกเป็นเวลา 2 พรรษา แล้วได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดท่างิ้ว อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์เป็นเวลา 2 พรรษา จากนั้นได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดเขาแก้ว (วัดมณีบรรพตวรวิหาร) จังหวัดตาก อีก 2 พรรษา แล้วได้ย้ายกลับมาอยู่ที่วัดท่างิ้วตามเดิมอีก ต่อมาเมื่ออาจารย์ปั้น เจ้าอาวาสวัดท่างิ้วได้มรณภาพลง หลวงพ่อพระครูน้อย ขณะนั้นยังเป็นประทวนสมณะศักดิ์อยู่ได้ตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดท่างิ้ว เมื่อได้เป็นเจ้าอาวาสแล้ว ได้ทราบข่าวว่าจังหวัดอุทัยธานีตั้งสำนักศาสนศึกษาขึ้น จึงได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสังกัดคีรีวงศ์อุดมมงคลเขต อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีอาจารย์ลพเป็นเจ้าอาวาส มีอาจารย์จ่อยเป็นครูสอน ได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ที่วัดสังกัดคีรีวงศ์ 1 พรรษา เมื่อเห็นว่ามีความรู้พอสมควรแล้วได้กลับมาอยู่ที่วัดท่างิ้วตามเดิม เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดท่างิ้ว และเพื่อจัดตั้งสำนักเรียนขึ้นที่วัดท่างิ้วต่อไป
          เมื่อหลวงพ่อพระครูน้อยกลับมาอยู่ที่วัดท่างิ้วแล้ว ได้จัดข้อระเบียบปฏิบัติสำหรับพระภิกษุสามเณรภายในวัดให้เป็นที่เรียบร้อย แล้วจึงได้จัดการบูรณะซ่อมแซมกุฏิ ศาลาการเปรียญ พระอุโบสถให้เรียบร้อยดี ได้ตั้งศาลาศึกษาขึ้นที่วัดท่างิ้ว ได้ทำการสอนเอง มีพระภิกษุ สามเณร ศึกษามากพอสมควร คือประมาณปีละ 20 กว่ารูป สำหรับนักเรียนบ้านนอกในสมัยนั้น มีนักเรียนปีละ 20 กว่ารูป ก็นับว่ามากพอสมควรสำหรับการสอบสนาม บางปีก็มีไปสอบที่นครสวรรค์ บางปีก็มีสอบที่วัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อมีการก่อสร้างมากขึ้น การสอนในโรงเรียนก็ทำไม่ได้สะดวก จึงได้ฝึกอาจารย์แฉล้มให้เป็นผู้ช่วยสอนอีกรูปหนึ่ง นับว่าสำนักเรียนวัดท่างิ้ว เป็นสำนักเรียนแห่งแรกของ อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์
         ต่อมาในปี พ.ศ.2468 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี กิ่งอำเภอแสนตอ จังหวัดกำแพงเพชร (สมัยนั้นอำเภอคลองขลุงยังเป็นอำเภอขาณุอยู่ อำเภอขาณุยังเป็นกิ่งอำเภอแสนตอ ต่อมาราวปี พ.ศ.2493 จึงเปลี่ยนอำเภอแสนตอเป็นอำเภอขาณุวรลักษบุรีมาจนถึงทุกวันนี้) แต่ก็ยังดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะตำบลท่างิ้วอยู่อีกด้วย และยังอยู่ที่วัดท่างิ้วตามเดิม การขึ้นมาราชการคณะสงฆ์ที่อำเภอขาณุวรลักษบุรี ในสมัยนั้นมีความลำบากมาก เพราะการคมนาคมไม่สะดวกเช่นทุกวันนี้ โดยมากก็จ้างเรือแจวบ้าง เรือถ่อบ้าง บางครั้งก็มารถงาน บางครั้งก็เดินเท้า ถ้าเป็นหน้าพรรษาก็มาค้างคราวละ 5-6 คืนแล้วก็กลับ ถ้าขึ้นหน้าแล้งก็มาค้างมากคืนหน่อย ส่วนมากค้างคืนที่วัดศรีภิรมณ์ อำเภอคลองขลุง ท่านได้ปฏิบัติดังนี้ตลอดมา    
         ต่อมาหลวงพ่อพระครูน้อยก็ได้รับตราตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ใน พ.ศ.2468 ครั้นถึงปี พ.ศ.2470 ได้รับตราตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอขาณุวรลักษบุรี และกิ่งอำเภอแสนตอ จังหวัดกำแพงเพชร ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูวิบูลวชิรธรรม” ได้รับตราตั้งให้เป็นกรรมการตรวจประโยคนักธรรมชั้นตรีในสนามหลวง ได้รับเลื่อนฐานะเป็นพระครูชั้นเอกแล้วก็ได้ขยายสำนักเรียนให้มีมากขึ้น ได้อบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรให้มีข้อวัตรปฏิบัติดีขึ้น ได้เทศนาสั่งสอนประชาชนให้ประพฤติดีมีศีลธรรมประจำใจ เอาใจใส่ในการก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ มากมาย ได้ขออนุญาตเปิดสนามสอบธรรมขึ้นที่วัดสว่างอารมณ์ กิ่งอำเภอแสนตอ ครั้นทางราชการได้แยกอำเภอขาณุวรลักษบุรี เป็นอำเภอคลองขลุง กิ่งอำเภอแสนตอเป็นอำเภอขาณุวรลักษบุรีแล้ว โดยมีเจ้าคณะอำเภอทั้งสองอำเภอแล้ว ได้แยกสนามสอบธรรม มาสอบที่วัดศรีภิรมณ์อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ต่อมาในปี พ.ศ.2490 ได้รับใบตราตั้งให้เป็นกรรมการศึกษาประจำตำบลคลองขลุง
         เมื่อ พ.ศ.2500 คณะสงฆ์อำเภอคลองขลุงและประชาชนชาวตำบลท่าพุทรา ได้พร้อมกันไปอาราธนาพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรม ให้ขึ้นมาประจำอยู่ที่วัดคฤหบดีสงฆ์ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อจะได้บูรณะวัดให้ดีขึ้น เพราะว่าวัดคฤหบดีสงฆ์ได้ชำรุดทรุดโทรมลงอย่างหนัก ดังนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรมจึงได้มาประจำอยู่ที่วัดคฤหบดีสงฆ์ จนมรณภาพ เมื่อได้ขึ้นมาอยู่ที่วัดคฤหบดีสงฆ์แล้วก็ได้ก่อสร้างกุฏิของท่านก่อน แล้วก็สร้างโรงเรียนปริยัติธรรมขึ้นหนึ่งหลัง สร้างศาลาการเปรียญ สร้างกำแพงวัดด้านตะวันออก สร้างมณฑป สร้างกำแพงวัดรอบหมดทั้ง 4 ด้าน สร้างพระอุโบสถ สร้างน้ำประปา สร้างถนนภายในวัด (สร้างเป็นคอนกรีต) สร้างเมรุ (ที่เผาศพ) สร้างศาลาธรรมสังเวช สร้างซุ้มประตู และซ่อมพระวิหาร ซ่อมพระพุทธรูปในพระวิหาร พูดได้ว่าสิ่งก่อสร้างภายในวัดคฤหบดีสงฆ์ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่หลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรมได้สร้างขึ้นใหม่ทั้งนั้น
         พูดถึงด้านพระภิกษุสามเณร ได้วางระเบียบการทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น การทำอุโบสถสังฆกรรมให้มีตลอดปีมิได้ขาด ได้ตั้งสำนักศึกษาขึ้นภายในวัด เพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนกัน ได้ย้ายสำนักสอบธรรมสนามหลวงจากวัดศรีภิรมณ์ มาสอบที่วัดคฤหบดีสงฆ์ตลอดมาจนทุกวันนี้ พระภิกษุสามเณรภายในวัดมีความประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนที่ได้พบเห็นทั่วไป เมื่อ พ.ศ.2501 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระครูวิบูลวชิรธรรม”
         ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2520 ท่านก็ได้เริ่มป่วยมีอาการไอมากผิดปกติ ท่านจึงได้เรียกหมอชาวบ้านมาฉีดยาให้ และหลวงพ่อท่านมีความรู้ทางการแพทย์โบราณเป็นอย่างดี ท่านก็ได้ใช้มัคนายกไปนำเครื่องยาสมุนไพรมาต้มยาฉันเอง อาการไอก็ทุเลาลงเท่าที่ควร พอวันที่ 19 มกราคม 2520 เวลาบ่าย นายแพทย์ปรีชา มุสิกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกำแพงเพชร ได้มาเยี่ยมนมัสการหลวงพ่อที่วัดคฤหบดีสงฆ์ ตำบลท่าพุทรา ก็มาพบอาการไอของหลวงพ่อท่าน ไอมากผิดปกติจึงได้อาราธนานิมนต์หลวงพ่อไปตรวจฉายเอ๊กซ์เรย์ที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ในวันที่ 19 มกราคม 2520 เวลา 15.00 น. หลวงพ่อก็ออกเดินทางจากวัดคฤหบดีสงฆ์โดยรถยนต์ของนายแพทย์ปรีชา มุสิกุล ดังกล่าว พอถึงโรงพยาบาลกำแพงเพชร แพทย์ก็เริ่มฉายเอ๊กซ์เรย์ตรวจพบว่าปอดข้างขวาเป็นแผล แพทย์ลงความเห็นว่าให้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล หลวงพ่อก็อยู่รักษาตัวตามความเห็นของแพทย์ ในการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกำแพงเพชรนั้นก็ได้มีพระภิกษุวัดคฤหบดีสงฆ์ผลัดเปลี่ยนกันไปเป็นเวรรับใช้วันละ 2-3 องค์ และมัคนายกอีก 1-2 คน พระที่อยู่ประจำมากกว่าทุกองค์ ก็มีพระสาคร พระประสงค์ มัคนายกที่ประจำอยู่กับหลวงพ่อก็มี นายจอง บุญงาม ส่วนนายแพทย์ปรีชา มุสิกุล ก็มาเยี่ยมเสมอๆ เกือบทุกวัน ขณะหลวงพ่อรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น อาการไอทุเลาลงบ้าง แต่ท่านฉันอาหารไม่ได้ มีอาการอ่อนเพลีย แต่หลวงพ่อไม่เคยพูดให้ใครฟังเลยว่าท่านหนักใจ มีประชาชนชาวอำเภอคลองขลุงทุกตำบลไปเยี่ยมกราบนมัสการ ท่านก็ให้ศีลให้พรทุกคน รวมทั้งประชาชนต่างอำเภอ ต่างจังหวัดใกล้ไกลไปกราบนมัสการเยี่ยมท่านก็สอบถามว่ามาจากไหน เขาก็บอกว่าอยู่นครสวรรค์บ้าง ชัยนาทบ้าง อุทัยบ้าง ท่านก็บอกว่าขอบใจ ขอให้ทุกคนเจริญๆ เถอะ เจ็บป่วย ตาย เป็นของธรรมดา มนุษย์ทุกรูป ทุกนาม ก็ต้องเจอ ต้องพบ ไม่เลือกชั้นวรรณะ ทุกคนจะหลีกเลี่ยงความตายหาได้ไม่ หลวงพ่อมีสติดีอยู่ตลอดเวลา แม้ท่านนอนรักษาตัวอยู่ก็ให้พระภิกษุที่เฝ้าปฐมพยาบาลรับใช้อยู่จุดธูปเทียนบูชาพระทุกคืนมิได้ขาด
         แต่ความจริงตามที่หลวงพ่อพูดว่า ความตายทุกรูป ทุกนาม ทุกชั้นวรรณะหนีไม่พ้น ต้องประสพช้าหรือเร็วเท่านั้น แม้แต่อาตมาเองก็ต้องเจอ แต่จะเจอวันไหนเท่านั้น เมื่อผู้ไปเยี่ยมถามว่าเป็นอย่างไรบ้างหลวงพ่อท่านก็ตอบว่า “วันนี้ดีขึ้น” “เบาแล้ว” กำลังใจแข็ง ครั้นถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520 เวลาเช้าพอตื่นขึ้นท่านบอกว่าวันนี้ดีกว่าทุกวัน รู้สึกสบายใจ ขอน้ำล้างหน้า พระหยิบให้ท่านก็รับเอาไปเสกแล้วก็ล้างหน้า แล้วพูดว่าอยากฉันน้ำมนต์ร้อยปีที่วัดคฤหบดีสงฆ์ จึงใช้ให้นายจำนงค์ คชวารี ไปเอา คนไปเอาน้ำมนต์ยังไม่กลับเลย ขณะนั้นเป็นเวลา 14.00 น. เศษ ท่านพูดว่าใจคอไม่ดี บอกให้พระสาครกับพระประสงค์จุดธูปเทียนแล้วตัวข้าพเจ้า (จ.ส.ต.สังคม คชฤทธิ์) ก็วิ่งไปตามหมอ หมอก็รีบมากันเป็นจำนวนหลายนายที่จำได้มีหมอสมาน หมอไพโรจน์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลเองฯ และมีนายแพทย์อีก 2 นาย พยาบาลอีก 3 คนไม่ทราบชื่อ ได้มาช่วยกันปฐมพยาบาลและฉีดยาตลอด ทั้งหลวงพ่อพระครูนิยุติธรรมศาสตร์ เจ้าคณะอำเภอบรรพตพิสัย อยู่ในห้องนั้นด้วย พระสมุห์เสาร์ วัดคลองเจริญก็อยู่ด้วย ครั้นเวลา 14.30 น. ท่านก็สิ้นลมหายใจ ขณะที่ท่านนอนตะแคงพนมมือด้วยอาการอันสงบ มิได้ดิ้นรนกระวนกระวายแต่ประการใด ฉะนั้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 เวลา 14.30 น. ตรงกับวันอังคารขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเส็ง เป็นวันเวลาที่ท่านศิษยานุศิษย์และประชาชนที่เคารพนับถือสักการะบูชาในพระครูวิบูลวชิรธรรม เฉพาะพระภิกษุสงฆ์ประชาชนในเขตอำเภอคลองขลุง ต้องเศร้าโศกอาดูรอย่างยิ่ง เพราะขาดที่พึ่งทางใจอันใหญ่หลวง (ชมรมพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร, ม.ป.ป.)

ความชำนาญและความสนใจของหลวงพ่อสว่าง
         คาถา
         คาถาแคล้วคลาดของหลวงพ่อสว่าง วัดคฤหบดีสงฆ์ ซึ่งเป็นคาถาอีกบทหนึ่งที่ท่านจะใช้ประสิทธิลงในวัตถุมงคลของท่านทุกรุ่น ซึ่งพระคาถานี้หลวงพ่อสว่างท่านได้ถ่ายทอดให้หลวงพ่อเล็ก สีลาฑฺฒโณ หรือพระครูนิรันดร์ หลวงพ่อเล็กได้กล่าวว่า ให้นำไปท่องภาวนากัน ถึงไม่มีเหรียญปลอดภัยก็ไม่เป็นไร ท่องคาถานี้ใช้ได้เหมือนกัน โดยก่อนจะเดินทางใกล้ไกลหรือตื่นตอนเช้าก่อนออกจากบ้านหรือก่อนจะหลับนอน ให้ยกมือขึ้นพนมระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณบิดา มารดา คุณครูบาอาจารย์ อันมีหลวงพ่อสว่าง วัดคฤหบดีสงฆ์เป็นที่สุดจากนั้นว่านะโม 3 จบ แล้วท่องว่า
               พุทธังคลาดแคล้ว
               ธัมมังคลาดแคล้ว
               สังฆังคลาดแคล้ว
               พระพุทธเจ้าจะย่างบาท คลาดแคล้วด้วยนะโมพุทธายะ
                                      (พระอริยสงฆ์เมืองกำแพงเพชร, 2560)

ความสนใจในเรื่องวิชาอาคม
         วัตถุมงคลที่ทำให้แคล้วคลาดจากปวงภัย มีความคงกระพัน ชาตรี บังเกิดเมตตา มหานิยม มหาเสน่ห์ อุดมโชคลาภ แก่กล้าบารมีเป็นที่ครั่นคร้ามแก่ผู้เป็นศัตรูผู้มุ่งร้าย ล้วนเป็นความเชื่อ และยึดมั่นสืบทอดนับกว่าพันปีจนถึงในปัจจุบัน การสร้างมงคลวัตถุของหลวงพ่อสว่าง จะนำหน้าในด้านคงกระพัน ชาตรี แคล้วคลาดมหาอุด ซึ่งตัวหลวงพ่อสว่างเอง เมื่อสมัยหนุ่มก่อนวัยครบบวช มีความคงกระพันชาตรีเป็นเยี่ยม ฟันแทงไม่เข้า ในฐานะศิษย์เอกของหลวงพ่อเผือก (พระครูบรรพโตมญาณ) แห่งวัดหัวดง อ.บรรพตพิสัย ประกอบกับเป็นลูกชายคนเดียวในลูกทั้งห้าคนและเป็นคนสุดท้อง ย่อมเป็นที่รักและตามใจของผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัว อีกทั้งโยมบิดาเป็นกำนันตำบลท่างิ้ว เลยทำให้เหลิงวางตัวเป็นนักเลง อันธพาลในย่านตลาดส้มเสี้ยว ท่าตั้วเกา ระราน กลั่นแกล้ง สร้างความเดือดร้อน ฝากความเจ็บแค้น ผูกอาฆาตให้แก่ผู้อื่นที่ต้องชำระล้าง ในยุคนั้นเป็นยุคของ ผู้แก่กล้าทางคาถาอาคม แขวนเครื่องราง สิ่งวิเศษประจำกาย การกลัวเกรงกัน ก็เฉพาะแก่ผู้ที่เหนือกว่าในทางเดียวกัน เนื่องจากมีคู่อริจำนวนมาก โยมบิดาจึงฝากหลวงพ่อเผือกวัดหัวดง พาหลวงพ่อสว่างซ่อนลงในเรือไปออกบวชที่วัดศาลาปูน จังหวัดอยุธยา ซึ่งลงโบสถ์เป็นลูกศิษย์พระญาณไตรโลก (ลป. สอาด) พระอุปัชฌาย์พร้อมกับพระเกจิผู้ขมังเวทย์แห่งจังหวัดอุทัยธานี คือ พระอุทัยกวีอดีตเจ้าคณะจังหวัด นอกจากสร้างมงคลวัตถุทางด้านคงกระพันชาตรีแล้ว ทางด้านโชคลาภ มหาเสน่ห์ เมตตา หมานิยม ท่านก็ทำไว้ เช่น เหรียญขวัญถุง นางกวักมหาลาภ ค้าขายร่ำรวยที่ทำขึ้นจากผงยันต์มหาราช ตรีนิสิงเห ว่านมหาลาภ ว่านมหาเสน่ห์ ว่านสาวหลง ทำจากงาแกะในลักษณะนางกวักคล้ายกับนางกวักของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ หลวงพ่อสว่างเป็นพระนักแหล่ด้วยมีสำเนียงไพเราะเป็นที่ชื่นชอบของญาติโยม ท่านจึงรับนิมนต์ไปเทศแหล่ในจังหวัดต่างๆ ทางภาคกลาง เช่น อยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ เป็นต้น และไปเรียนวิชากับพระอาจารย์ที่แก่กล้าในวิทยาอาคมขลังในจังหวัดเหล่านั้น เช่น วิชาหินเบาให้ร่างกายเป็นชาตรีกับ หลวงปู่กลั่นวัดพระญาติ เป็นวิชาที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้าใช้ในการตีค่ายพม่าทรงพระแสงดาบคาบ ค่ายนำปืนตีพม่า ถูกตัดท่อนซุงทิ้งต้องพระองค์ตกค่ายลงไปไม่เป็นไร และตีค่ายพม่าจนสำเร็จกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติไทย วิชานี้ของหลวงพ่อสว่าง ใช้กับวัตถุมงคลผู้ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำทุกรายรถจะพังยับเยิน แต่ผู้มีวัตถุมงคลของหลวงพ่อสว่างไม่เป็นไร วิชาฝังตะกรุดเช่นเดียวกับ อาจารย์เฮง ไพรวัลย์ วิชาฝังเข็มอาจารย์ฟ้อน ดีเสมอ ผู้มีวัตถุมงคลของหลวงพ่อสว่างถูกยิงด้วยกระสุนปืน เหรียญวัตถุมงคลของหลวงพ่อสว่างแสดงปฎิหารย์ เข้ารับกระสุนปืนแทนทำให้ผู้ถูกยิงปลอดภัยอย่างเหลือเชื่อ ถูกคนร้ายขโมยรถวิ่งผ่านหน้าท่าพุทรา รถยนต์วิ่งกลับและเครื่องดับ คนร้ายขโมยรถเราไปไม่ได้ เรียนวิชามหาอุดเช่นเดียวกับหลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า ทำให้กระสุนปืนด้าน ลั่นไกกระสุนไม่ออกจากลำกล้อง วิชาแคล้วคลาด ทำให้ผู้มีวัตถุมงคลของหลวงพ่อสว่าง ถูกยิงด้วยปืนในระยะประชิดตัว ลูกกระสุนออกจากลำกล้อง แต่กระสุนโค้ง ยิงหมดกระสุนในรังเพลิงแต่ไม่ถูกตัวผู้ยิง เป็นต้น (ที่นี่ "กำแพงเพชร", 2559)
         จึงสรุปได้ว่า หลวงพ่อสว่างมีความสนใจในเรื่องของวัตถุมงคลและวิชาอาคมท่านจึงได้มีการไปเรียนวิชาอาคมกับพระอาจารย์ที่หลวงพ่อสว่างนับถือในจังหวัดต่างๆ และได้สร้างวัตถุมงคลแคล้วคลาดจากปวงภัย มีความคงกระพัน ชาตรี บังเกิดเมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ อุดมโชคลาภ แก่กล้าบารมีเป็นที่ครั่นคร้ามแก่ผู้เป็นศัตรูผู้มุ่งร้ายไว้มากมาย หลวงพ่อสว่างได้ให้คาถาไว้ท่องภาวนาเวลาเดินทางไกลหรือเวลาก่อนออกจากบ้านเป็นคาถาของหลวงพ่อสว่างเอง

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงของหลวงพ่อสว่าง
         หลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรม ท่านมีความเมตตา กรุณา อารีย์ต่อศิษย์และต่อบุคคล ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชั้น จึงมีประชาชนทั้งในจังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดอื่น ๆ ทั้งใกล้ทั้งไกลมาเยี่ยมเยียนกราบนมัสการท่านอยู่มิได้ขาด บุคคลที่มาส่วนมากก็มาให้ท่านอาบน้ำมนต์ ประพรหมน้ำมนต์ให้บ้าง ขอสิ่งของที่ระลึกบ้าง บางคน  ก็อยากได้เหรียญ อยากได้ธงทิว อยากได้ผ้ายันต์ อยากได้พระว่าน อยากได้ตะกรุด ดังนี้เป็นต้น หลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรมท่านจึงได้สร้างเหรียญปลอดภัย และเหรียญที่ระลึกรูปเหมืององค์ท่านขนาดต่าง ๆ ตามความประสงค์ของศิษยานุศิษย์ และประชาชนทั่วไป นอกจากเหรียญ ยังมีผ้ายันต์ ธงทิว และยันต์หนังเสือ ดังนี้เป็นต้น สิ่งของที่ระลึกดังกล่าว หลวงพ่อได้แจกให้แก่ศิษยานุศิษย์ และประชาชนทั่วไปที่ต้องการ เพื่อนำไปใช้ทางเมตตาบ้าง ทางแคล้วคลาดบ้าง ทางมหาอำนาจบ้าง ทางมหาอุดบ้าง ทางคงกระพันชาตรีบ้าง เมื่อนำไปใช้แล้วได้ผลตามความต้องการเป็นเหตุให้ผู้ที่ไม่มีของๆหลวงพ่อฯกราบนมัสการขอของที่ระลึกดังกล่าวมาก โดยเฉพาะที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากคือ ยันต์หนังหน้าผากเสือนี้ กับเหรียญปลอดภัย (ชมรมพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร, ม.ป.ป.) วัตถุมงคลทั้ง 2 สิ่งนี้เป็นวัตถุซึ่งมีประสบการณ์จากผู้ที่นำไปบูชาแล้วรอดปลอดภัยจากเหตุการณ์ต่างๆ
         เครื่องรางของขลัง หลวงพ่อสว่างสร้างรวมเป็น 2 ยุค คือ ยุคที่ครองวัดคฤหัสบดีสงฆ์ ต.ท่าพุทรา อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ตั้งแต่ปี 2501-2519 จำนวน 19 ปี เป็นเหรียญรูปหล่อเล็ก-หล่อใหญ่ พระเนื้อผงเนื้อดินผสมว่านร้อยแปด หนังหน้าผากเสือตระกรุด ผ้ายันตร์ ธงกันภัย และยุคก่อนสมัยครองวัดท่างิ้วตั้วเกา อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ประมาณปี 2470-2500 รวม 30 ปี เป็นประเภท พระเนื้อผงเนื้อดินผสมผงวิเศษสูตรสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี 5 ประการผสมว่านร้อย (ที่นี่ "กำแพงเพชร", 2559)
         เครื่องรางของขลังประเภท ตะกรุดหน้าผากเสือ หรือ แผ่นหนังเสือลงอักขระยันต์ นับเป็นเครื่องรางชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยม เป็นที่เชื่อถือมานานด้วยมีพระเกจิอาจารย์เก่งๆ หลายๆ องค์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังได้สร้างเอาไว้ให้ศิษย์ติดตัวเพื่อป้องกันภัย ดังเช่น หนังเสือของท่านเจ้าคุณพระวิบูลวชิรธรรม (สว่าง) วัดคฤหัสบดีสงฆ์ (วัดท่าพุทรา) พระอาจารย์ชื่อดังเพียงไม่กี่องค์แห่งเมืองกําแพงเพชร จังหวัดอันเป็นต้นกําเนิดของพระกรุลานทุ่งเศรษฐี เช่นพระกําแพงซุ้มกอ พระลีลาเม็ดขนุน ฯลฯ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นหนึ่งในชุดพระเครื่องเบญจภาคีของเมืองไทย สําหรับหลวงพ่อสว่าง ท่านไม่เพียงแต่โด่งดังทางเครื่องรางหนังเสือเท่านั้นเหรียญรุ่นนิยมที่เรียกว่า “เหรียญปลอดภัย” ยังถูกจัดให้เป็นเหรียญราคาหลักแสนของเมืองกําแพงเพชร ที่นับวันจะได้รับความนิยมมีสนนราคาสูงขึ้นตลอดมา (ศาล มรดกไทย, 2563)
         แสดงให้เห็นว่า จากผลงานของหลวงพ่อสว่างทั้งสองยุคมีวัตถุมงคลมีชื่อเสียงโด่งดังมากคือ ยันต์หนังหน้าผากเสือนี้ กับเหรียญปลอดภัย วัตถุมงคลทั้ง 2 สิ่งนี้ เป็นวัตถุซึ่งมีประสบการณ์จากผู้ที่นำไปบูชาแล้วรอดปลอดภัยจากเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้มีสานุศิษย์จำนวนมากต้องการครอบครองบูชา ทำให้วัตถุมงคลของหลวงพ่อสว่างที่ได้รับความนิยมมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ มาโดยตลอด

ผลงานเกียรติคุณของหลวงพ่อสว่าง
         พัศยศ
         พ.ศ.2457 เป็นต้นไป ได้เลื่อนชั้นเป็นพระใบฎีกา พระสมุห์ พระปลัด
         พ.ศ.2467 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลท่างิ้วและพระอุชปัชฌาย์
         พ.ศ.2470 ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ดำรงตำแหน่ง “พระครูวิบูลวชิรธรรม” เจ้าคณะอำเภอขาณุวรลักษบุรี และกิ่งอำเภอจังหวัดกำแพงเพชร
         พ.ศ.2501 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ
         พ.ศ.2506 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอคลองขลุง, ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร

         วัตถุมงคล
         หลวงพ่อสว่างได้สร้างวัตถุมงคลเป็นจำนวนมากหลากหลายแบบตลอดช่วงที่หลวงพ่อสว่างมีชีวิต มีวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมและการจัดการประกวดพระบูชาพระเครื่อง ดังนี้
         เหรียญเสาร์ 5 เจริญศรี เนื้อทองคำ ปี 2516
         เหรียญเสาร์ 5 เจริญศรี เนื้อเงิน ปี 2516
         เหรียญเสาร์ 5 เจริญศรี เนื้ออัลปาก้าชุบนิเกิ้ล ปี 2516
         เหรียญเสาร์ 5 เจริญศรี เนื้ออัลปาก้าไม่ชุบ ปี 2516
         เหรียญที่ระลึกหล่อรูปเหมือน ปี 2516
         สมเด็จเนื้อผง หลังวิบูล ปี 2515
         สมเด็จเนื้อผงน้ำมันหลังยันต์ ปี 2517
         เหรียญวางศิลาฤกษ์ วัดคฤหบดีสงฆ์ ปี 2517
         เหรียญกลมใหญ่ ลพ.วิบูล วัดสิ่งคาราม ปี 2517 ไม่จำกัดเนื้อ
         เหรียญเล็ก ลพ.วิบูล วัดสิงคาราม ปี 2517 กะไหล่ทอง
         เหรียญเสมา ลพ.วิบูล วัดโค้งวิไล เนื้ออัลปาก้า ปี 2513
         เหรียญเสมา ลพ.วิบูล วัดโค้งวิไล เนื้อทองแดง ปี 2517
         เหรียญที่ระลึกปลอดภัย ว.บ. เนื้ออัลปาก้า ปี 2518
         เหรียญฉลองโรงเรียนพระปริยัติธรรม กะหถั่ยทอง ปี 2518
         เหรียญฉลองโรงเรียนพระปริยัติธรรม กะหลั่ยเงิน ปี 2518
         รูปเหมือนปั๊มปากจู๋ เนื้อทองเหลืองรมดำ ปี 2515
         รูปเหมือนปั๊มปากสู้ เนื้อทองเหลืองไม่รมดำ ปี 251
         รูปหล่อฉีดอุดกริ่ง กะไหล่ทอง ปี 2519
         รูปหล่อฉีดอุดกริ่ง รมดำ ปี 2519
         เหรียญรูปคู่ วัดสันติวนาราม เนื้อเงิน ปี 2519
         เหรียญรูปคู่ วัดสันติวนาราม เนื้อนวโลหะ ปี 2518
         เหรียญรูปค่ วัดสันติวนาราม เนื้อทองแคงรมคำ ปี 2519
         พระเนื้อดิน ปี 2507 ไม่จำกัดพิมพั
         พระขุนแผนเนื้อดิน ปี 2508
         พระรูปเหมือนพิมพ์เล็บมือ หลังวิบูล เนื้อดิน-ผง
         พระสมเด็จเนื้อผงฐาน 5 ชั้น รุ่นอินโดจีน ไม่จำกัดพิมพั
         พระสมเด็จเนื้อผง รุ่นอินโดจีน ไม่จำกัดพิมพ์
         พระสมเด็จขาโต๊ะ ไม่จำกัดพิมพ์
         พระสมเด็จเล็บมือ ฐาน 2 ชั้น ไม่จำกัดเนื้อ ไม่จำกัดหลัง
         พระเม็ดน้อยหน่าเนื้อผงน้ำมัน รุ่นอินโดจีน
         พระเนื้อผงน้ำมัน รุ่นอินโดจีน ไม่จำกัดพิมพ์
         ล็อคเก็ตภาพสีสี่เหลี่ยมหลังยันต์ ปี 2508
         ล็อคเก็ตภาพสีออก วัดโค้งวิไล ปี 17
         ล็อคเก็ตหลวงพ่อวิบูล ไม่จำกัดพิมพ์ (การประกวดการอนุรักษ์ พระบูชา พระเครื่อง และเหรียญคณาจารย์จังหวัดกำแพงเพชร, 2553, หน้าที่ 16)
         เหรียญพระพุทธชินราช วัดท่างิ้ว ปี 2568
         เหรียญใบเสมาที่ระฤกฉลองศาลา ปี 2452
         เหรียญพระพุทธที่ระลึกกึ่งพุทธกาล พ.ศ. 2500
         เหรียญเงินลงยา ปี 2501 ไม่จำกัดสี
         เหรียญหลวงพ่อสว่าง ปี 2501 ไม่จำกัดเนื้อ
         รูปถ่ายอัดกระจกห่มคลุมภาพขาวดำ
         รูปถ่ายอัดกระจกขาว-ดำ ฉลองพัดยศ ปี 2501
         เหรียญกลมนั่งเต็มองค์ ปี 2506 เนื้ออัลปาก้า
         เหรียญกลมอายุ 80 ปี ไม่มีรัศมี ปี 2506 เนื้ออัลปาก้า
         เหรียญกลมอายุ 80 ปี มีรัศมี ปี 2506 เนื้อเงิน
         เหรียญกลมอายุ 80 ปี มีรัศมี ปี 2506 เนื้อทองแดงรมคำ
         เหรียญกลมอายุ 80 ปี มีรัศมี ปี 2506 เนื้อทองแคงไม่รมคำ
         รูปเหมือนใหญ่ปั๊มเนื้อโลหะ พิมพ์มีหางน้ำ
         รูปเหมือนใหญ่ปั๊มเนื้อโลหะ พิมพ์ไม่มีทางน้ำ ปี 22508
         รูปเหมือนเล็กปั๊ม เนื้อโลหะ พิมพ์ตาเท่ากัน ปี 2508
         รูปเหมือนเล็กปั๊ม เนื้อโลทะ พิมพ์ตาไม่เท่ากัน ปี 2508
         เหรียญปลอดภัย พิมพ์นิยม พิมพ์ที่ 1 ปี 2510 เนื้ออัลปาก้า
         เหรียญปลอดภัย พิมพ์นิยม พิมพ์ที่ 2 ปี 2510
         เหรียญปลอดภัย พิมพ์นิยม พิมพ์ที่ 3 ปี 2510 เนื้ออัลปาก้า
         เหรียญปลอดภัย พิมพ์บ่าแตกยาว ปี 2510
         เหรียญปลอดภัย พิมพ์บ่าแตกสั้น ปี 2510
         เหรียญปลอดภัย พิมพ์เศียรโล้น ปี 2510
         เหรียญปลอดภัย พิมพ์สายฝน ปี 2510
         เหรียญปลอดภัย พิมพ์ทรงผม ปี 2510
         เหรียญปลอดภัย พิมพ์หน้าผากกว้าง ปี 2510
         เหรียญหลวงพ่อจุล-หลวงพ่อสว่าง ปี 2510
         เหรียญขวัญถุง เสาร์ 5 ปี 12 เนื้ออัลปาก้าชุบ
         เหรียญดาวเที่ยม เนื้อทองคำ ปี 2515
         เหรียญดาวเทียม เนื้อเงิน ปี 2515
         เหรียญดาวเทียม เนื้อนวะ ปี 2515
         เหรียญดาวเทียม เนื้ออัลปาก้า ปี 2515
         เหรียญฉลองอายุ 5- ปี พิมพ์นิยมกะหลั่ยทอง ปี 2515
         เหรียญฉลองอายุ 40 ปี พิมพ์หูขีด ปี 2515 (การประกวดการอนุรักษ์ พระบูชา พระเครื่อง และเหรียญคณาจารย์จังหวัดกำแพงเพชร, 2553, หน้าที่ 17)
         หลวงพ่อสว่าง เป็นพระนักแหล่ด้วยมีสำเนียงไพเราะเป็นที่ชื่นชอบของญาติโยม ท่านจึงรับนิมนต์ไปเทศแหล่ในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคกลาง เช่น อยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ เป็นต้น (ที่นี่ "กำแพงเพชร", 2559)
         แสดงให้เห็นว่า หลวงพ่อสว่างตลอดช่วงเวลาที่หลวงพ่อสว่างบวชเป็นพระมีความสนใจในเรื่องคาถาอาคมจึงได้ศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ และได้รับพัศยศต่างๆ และเป็นที่เคารพนับถือจึงได้สร้างวัตถุมงคลหลากหลายรูปแบบขึ้นมาเรื่อย ๆ เพื่อมอบให้ญาติโยมที่นับถือนำไปบูชากราบไหว้และจากการแหล่อันไพเราะหลวงพ่อสว่างจึงได้รับนิมนต์ไปเทศในหลายๆ จังหวัด นอกจากนั้นวัตถุมงคลก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากด้วย

ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อสว่าง วัดท่าพุทรา
         ครูธวัชชัย พิลาทอง (การสัมภาษณ์, 2564) นักสะสมพระเครื่อง อ.โกสัมพีนคร จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า หลวงพ่อลำใย เจ้าอาวาสวัดท่าพุทรา องค์ปัจจุบัน ท่านเมตตาเล่าเรื่องปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อสว่าง วัดท่าพุทรา ที่ท่านเคยเห็นในงานพุทธาภิเษกงานหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ท่านเล่าว่า งานนั้นได้นิมนต์พระเกจิชื่อดังของยุคนั้น ในแถบภาคกลาง มาร่วมปลุกเสกวัตถุมงคลประมาณ 10 กว่ารูป ซึ่งในงานนั้นต่างก็มีพระเกจิที่มีวิชาอาคมแก่กล้ามาอยู่ร่วมกัน ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเหล่าพระเกจิยุคก่อน เมื่อมาเจอกันถ้าไม่ได้รู้จักหรือสนิทสนมกันแล้ว ท่านเหล่านั้นก็มักจะลองภูมิและคุณธรรมของกันและกันอยู่เสมอ (ลองวิชาและกำลังจิต) หลวงพ่อลำใยเล่าว่าถ้าใครไม่แน่จริง อาจจะโดนลองวิชาจนถึงขั้นเจ็บไข้ได้ป่วย จนถึงล้มหมอนนอนเสื่อไปเลย แต่หลวงพ่อสว่างท่านเป็นคนที่ไม่ประมาทในชีวิต เพราะท่านย่อมรู้อยู่แล้วว่าภายในงานนี้จะต้องมีการประลองพระเวทย์และอาคมใส่กัน หลวงพ่อสว่างท่านจึงลงอาคมล้อมตัวท่านไว้ก่อนแล้วเพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าต้องมาตามแก้ในภายหลัง (หลวงพ่อลำใยเมตตาท่องคาถาให้ฟังด้วย พร้อมกับใช้นิ้วขีดที่พื้นวนรอบตัวให้ดู) และเมื่อเหล่าพระคณาจารย์องค์ต่าง ๆ ลองวิชากันเสร็จแล้ว พอถึงคิวของหลวงพ่อสว่าง หลวงพ่อท่านก็เข้าสมาธิและอธิฐานฤทธิ์ให้ร่างกายท่านลอยขึ้นจากอาสนะที่ท่านนั่งปลุกเสก ต่อหน้าต่อตาของพระคณาจารย์เหล่านั้นให้ตะลึงไปตาม ๆ กัน ซึ่งในงานนั้นทำให้ชื่อเสียงและคุณธรรมของหลวงพ่อสว่างได้เป็นที่รู้จักแก่บรรดาเหล่าพระคณาจารย์เหล่านั้นเป็นอย่างดี เพราะในงานนั้นไม่มีพระคณาจารย์องค์ไหนที่จะสามารถแสดงฤทธิ์ได้อย่างหลวงพ่อสว่างเลยแม้แต่องค์เดียว
         ณัฐพล แสงสุด (การสัมภาษณ์, 12 ตุลาคม 2564) เจ้าของร้านพระเครื่อง “พล ทรายทอง” อ.คลองคลุง จ.กำแพงเพชร เล่าเรื่องยันต์หนังหน้าผากเสือ ประสบการณ์ความศักดิ์สิทธิ์วิเศษในหนังหน้าผากเสือ ลพ.วิบูลฯ (สว่างศิษย์หลวงพ่อวิบูล อดีตครูสอนพระนักธรรมแห่งวัดท่างิ้ว (วัดท่าตั้วเกา)) ต.ท่างิ้ว อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ สมัยที่ลพ.วิบูลฯ ครองวัดนี้สมัยเดิม ตั้งแต่ พ.ศ.2500 ลงไป (ลพ.วิบูลฯ ครองวัดคฤหบดีสงฆ์-ท่าพุทธา ระหว่างปี 2501 - 1 ก.พ. 2520) ในสมัยก่อนปี 2500 อาจารย์ท่านนี้ได้มอบแผ่นยันต์หนังหน้าผากเสือให้แก่หลานชาย ซึ่งผ่านการเกณฑ์ทหารแล้วและกำลังติดพันสาวสวยประจำหมู่บ้านท่างิ้ว ซึ่งมีคู่แข่งเป็นหนุ่มและ  ไม่หนุ่มจำนวนมาก ในบรรดาเหล่านี้มีลูกชายผู้ใหญ่บ้านท่างิ้วรวมอยู่ด้วย วันที่เกิดเรื่องเป็นวันหนึ่งตอนพลบค่ำขณะที่หลานชายอาจารย์ท่านนี้กำลังพูดคุยอยู่กับสาวงาม ที่บ้านของสาวสวย ลูกชายผู้ใหญ่บ้านได้ไปเที่ยวบ้านสายสวยในเวลาเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดความไม่พอใจกันขึ้น ถึงกับชกต่อยกันพัลวัน ซึ่งลูกผู้ใหญ่บ้านสู้ไม่ได้ เกิดบันดาลโทสะลืมตัว ชักปืนที่เหน็บสะเอวไปด้วยเป็นปืนคอลท์ลูกโม่ กระหน่ำยิงหลานชายอาจารย์ท่านนี้ ในระยะกระชั้นชิดหลายนัด ชนิดยิง " เผาขน " หลายนัดจนหมดลูกโม่ ความจริงแล้วหลานชายอาจารย์ท่านนี้ต้องเน่าแน่ แต่เกิดเหตุการณ์มหัศจรรย์ หลานชายอาจารย์ท่านนี้ไม่ได้ถูกกระสุนเลยแม้แต่เพียงเส้นขนแมวไม่ทราบว่าลูกกระสุนละลายหายไปได้อย่างไร เมื่อหายตกตลึง หลานชายอาจารย์ท่านนี้ ชักมีดที่พกไว้ออกมา ทำให้ลูกผู้ใหญ่เผ่นอ้าวชนิดไม่ยอมเหลียวหลัง การที่รอดจากการถูกกระสุนยิงเพราะแผ่นยันต์หนังหน้าผากเสือหลวงพ่อวิบูลฯ แผ่นเดียวที่พกไป
         เหรียญปลอดภัย ประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์ คุณลุงชาญ นักสะสมพระเครื่อง ชาว ต.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร  เล่าว่า เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2535 คุณลุงชานได้มานั่งพบปะกินอาหารกันกับกลุ่มเพื่อนเก่า รุ่นน้อง ในระหว่างที่ดื่มกินกันอยู่ก็ได้มีการสนทนาพูดคุย ถึงเรื่องพระเครื่องต่างๆและต่อมาก็ได้มีการขอดูพระเครื่อง ที่คุณลุงชานได้แขวนไว้ในคอ ซึ่งก็คือเหรียญปลอดภัยบล็อค 2 ของหลวงพ่อสว่าง วัดท่าพุทรา หลังจากนั้นผู้ที่ขอชมพระเครื่องของลุงชาญ จึงได้พูดคุยขอเช่าพระเครื่ององค์นี้ แต่การตกลงพูดคุยซื้อขายนั้น เป็นเรื่องบานปลายใหญ่โตจึงได้มีการชกต่อยกันเกิดขึ้น คู่กรณีจึงได้มีการชักปืนออกมาขู่ ต่อมาดูเหมือนว่าเรื่องราวทั้งหมดจะยุติลงเท่านี้ เพราะคุณลุงชานได้ยุติเรื่องราวทั้งหมดโดยการเดินทางกลับไปที่พัก แต่ในขณะนั้นเอง ก็ได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์ กลุ่มนึงมาตะโกนเรียกลุงชาญให้ออกจากที่พัก และเมื่อคุณลงชาญออกจากที่พัก กลุ่มคนดังกล่าวได้มีการชักปืนออกมายิงคุณลุงชาญ จำนวน 1 นัด เข้าที่หน้าอกซ้ายของลุงชาญ จนรู้สึกเจ็บและล้มลงไป คนกลุ่มนั่นได้หลบหนีไป เพราะเข้าใจว่าลุงชาญได้เสียชีวิตแล้ว ในเวลาต่อมาคุณลุงชาญที่กำลังนอนอยู่กลับฟื้นแต่ยังคงมีสติสมบูรณ์อยู่ จึงได้สำรวจตัวเองว่าได้รับบาดเจ็บอะไรตรงไหนหรือเปล่า และได้พบว่าเหรียญปลอดภัยมีร่องรอยกระสุนอย่างเห็นได้ชัด และเนื้อหนังที่มีรอยแดงของเหรียญที่กระทบหน้าอกด้านซ้ายจนเป็นเหตุให้ลุงชาญรอดความตายในครั้งนี้ได้อย่างปาฏิหาริย์ (ชาญ  ขำรอด, การสัมภาษณ์, 17 ตุลาคม 2564)
         คุณไวพจน์ ฤมิตร (การสัมภาษณ์, 11 ตุลาคม 2564) นักธุรกิจชาว ต.วังยาง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ได้กล่าวว่า ลูกศิษย์ที่เคารพนับถือหลวงพ่อสว่างคล้องเหรียญปลอดภัย บล็อกสอง ปี พ.ศ.2510 เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำแต่คนไม่เป็นไรเลย รถเครื่องไปชนกับรถกระบะแต่ไม่เป็นไรเป็นแค่แผลทะลอกนิดหน่อย แล้วก็คน คล้องเหรียญปลอดภัยนั่งบนเครื่องบินแต่เครื่องบินมีเหตุการณ์ที่เครื่องบินทำท่าจะตก ลูกศิษย์คนนั้นจึงท่องคาถาแคล้วคลาดของหลวงพ่อสว่าง ด้วยอภินิหารของเหรียญปลอดภัยของหลวงพ่อสว่างเลยทำให้เครื่องบินไม่ตก
         ดังนั้นจากบทสัมภาษณ์จะเห็นได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อของผู้คนที่มีต่อหลวงพ่อสว่างและวัตถุมงคลของหลวงพ่อสว่างที่จะทำให้วัตถุมงคลที่ทำให้แคล้วคลาดจากปวงภัย มีความคงกระพัน ชาตรี บังเกิดเมตตา มหานิยม มหาเสน่ห์ อุดมโชคลาภ แก่กล้าบารมีเป็นที่ครั่นคร้ามแก่ผู้เป็นศัตรูผู้มุ่งร้าย จึงทำให้ต่างอยากได้มาไว้ครอบครอง

แนวทางการปฏิบัติการดำเนินชีวิต
         หลวงพ่อสว่าง (หลวงพ่อวิบูลวชิรธรรม) ท่านมีความเมตตา กรุณา อารีย์ต่อศิษย์และต่อบุคคล ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชั้น จึงมีประชาชนทั้งในจังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดอื่นๆทั้งใกล้ทั้งไกลมาเยี่ยมเยียนกราบนมัสการท่านอยู่มิได้ขาด บุคคลที่มาส่วนมากก็มาให้ท่านอาบน้ำมนต์ ประพรหมน้ำมนต์ให้บ้าง ขอสิ่งของที่ระลึกบ้าง บางคนก็อยากได้เหรียญ อยากได้ธงทิว อยากได้ผ้ายันต์ อยากได้พระว่าน อยากได้ตะกรุด เป็นต้น หลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรมท่านจึงได้สร้างเหรียญปลอดภัย และเหรียญที่ระลึกรูปเหมืององค์ท่านขนาดต่าง ๆ ตามความประสงค์ของศิษยานุศิษย์ และประชาชนทั่วไป นอกจากเหรียญ ยังมีผ้ายันต์ ธงทิว และยันต์หนังเสือเป็นวัตถุมงคลที่ทำให้แคล้วคลาดจากปวงภัย มีความคงกระพัน ชาตรี บังเกิดเมตตา มหานิยม มหาเสน่ห์ อุดมโชคลาภ แก่กล้าบารมีเป็นที่ครั่นคร้ามแก่ผู้เป็นศัตรูผู้มุ่งร้าย ล้วนเป็นความเชื่อ และยึดมั่นสืบทอดนับกว่าพันปีจนถึงในปัจจุบัน (ชมรมพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร, ม.ป.ป.)

บทสรุป
         ความเป็นมาของหลวงพ่อสว่าง หรือ หลวงพ่อวิบูลวชิรธรรม พบว่า จากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวิบูลวชิรธรรม ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรมและประพรมน้ำพุทธมนต์ รวมทั้งปรารถนาวัตถุมงคลอย่างล้นหลาม นับจากที่ท่านอุปสมบท เมื่อวันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2445 วัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและบาลี วัดหัวดงเหนือ ตำบลหัวดง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย เป็นเวลา 2 พรรษา แล้วได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดท่างิ้ว อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เป็นเวลา 2 พรรษา จากนั้นได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดเขาแก้ว (วัดมณีบรรพตวรวิหาร) จังหวัดตาก อีก 2 พรรษา แล้วได้ย้ายกลับมาอยู่ที่วัดท่างิ้วตามเดิมอีกและได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ระหว่างนั้นได้ทราบข่าวว่า จังหวัดอุทัยธานีตั้งสำนักศาสน-ศึกษาขึ้น จึงได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสังกัดคีรีวงศ์อุดมมงคลเขต อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ที่วัดสังกัดคีรีวงศ์ 1 พรรษา เมื่อเห็นว่ามีความรู้พอสมควรแล้วได้กลับมาอยู่ที่วัดท่างิ้วตามเดิม เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดท่างิ้ว และเพื่อจัดตั้งสำนักเรียนขึ้นที่วัดท่างิ้ว ใน พ.ศ.2468 ครั้นถึงปี พ.ศ.2470 หลวงพ่อสว่างได้รับตราตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอขาณุวรลักษบุรี และกิ่งอำเภอแสนตอ จังหวัดกำแพงเพชร ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูวิบูลวชิรธรรม” ได้รับตราตั้งให้เป็นกรรมการตรวจประโยคนักธรรมชั้นตรีในสนามหลวง ได้รับเลื่อนฐานะเป็นพระคูชั้นเอก เมื่อ พ.ศ.2500 คณะสงฆ์อำเภอคลองขลุงและประชาชนชาวตำบลท่าพุทรา ได้พร้อมกันไปอาราธนาพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรม ให้ขึ้นมาประจำอยู่ที่วัดคฤหบดีสงฆ์ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อจะได้บูรณะวัดให้ดีขึ้น เพราะว่าวัดคฤหบดีสงฆ์ได้ชำรุดทรุดโทรมลงอย่างหนัก ดังนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรมจึงได้มาประจำอยู่ที่วัดคฤหบดีสงฆ์ จนตราบเท่าถึงอวสานแห่งชีวิตของท่าน หลวงพ่อสว่างมีความสนใจในเรื่องของวัตถุมงคลและวิชาอาคมท่านจึงได้มีการไปเรียนวิชาอาคมกับพระอาจารย์ที่หลวงพ่อสว่างนับถือในจังหวัดต่างๆ และได้สร้างวัตถุมงคลแคล้วคลาดจากปวงภัย หลวงพ่อสว่างได้ให้คาถาไว้ท่องภาวนาเวลาเดินทางไกลหรือเวลาก่อนออกจากบ้านเป็นคาถาของหลวงพ่อสว่างเอง หลวงพ่อสว่างได้สร้างวัตถุมงคลหลากหลายรูปแบบขึ้นมาเรื่อยๆ และจำนวนมากเพื่อมอบให้ญาติโยมที่นับถือได้ทำไปบูชากราบไหว้และได้เป็นที่รู้อย่างกว้างขว้างและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก คือ ยันต์หนังหน้าผากเสือนี้กับเหรียญปลอดภัย วัตถุมงคลทั้ง 2 สิ่งนี้เป็นวัตถุซึ่งมีประสบการณ์จากผู้ที่นำไปบูชาแล้วรอดปลอดภัยจากเหตุการณ์ต่าง ๆ จะเห็นได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อของผู้คนที่มีต่อหลวงพ่อสว่างและวัตถุมงคลของหลวงพ่อสว่างที่จะทำให้วัตถุมงคลที่ทำให้แคล้วคลาดจากปวงภัยจึงทำให้ผู้คนที่เลื่อมใสอยากได้มาไว้ครอบครอง

คำสำคัญ : หลวงพ่อสว่าง หลวงพ่อวิบูลวชิรธรรม พระอุตฺตโร เหรียญปลอดภัย ยันต์หนังหน้าผากเสือ

ที่มา : https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=หลวงพ่อสว่าง_(หลวงพ่อวิบูลวชิรธรรม)_วัดท่าพุทรา_อ.คลองขลุง_จ.กำแพงเพชร

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). หลวงพ่อสว่าง (พระวิบูลวชิรธรรม). สืบค้น 20 เมษายน 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1270&code_db=610003&code_type=03

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1270&code_db=610003&code_type=03

Google search

Mic

สะเทื้อน นาคเมือง

สะเทื้อน นาคเมือง

นายสะเทื้อน นาคเมือง หรือ ครูเผ ครูผู้นำเด็กๆ ด้วอยโอกาสมาเล่นลิเก เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทย และช่วยให้เด็กๆ มีรายได้ ไม่เป็นภาระคนอื่น เร่ิมจากวัยเด็กที่ครูเผ ต้องรับผิดชอบตัวเองหาเงินเรียน เมื่อได้มาพบกลุ่มนักเรียนที่มีปัญหาทางบ้าน ฐานะยากจน บางคนเป็นเด็กกำพร้า หรือพิการ จึงได้ตังชุมนุมนาฏศิลป์ขึ้นในโรงเรียน เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้รู้ว่าตนเองมีคุณค่า และสามารถสร้างความสุขให้คนอื่นได้ จากการแสดงลิเกและการแสดงกองยาวกับรำไทย ปัจจุบันเด็กๆ กลุ่มนี้ได้เผยแพร่ศิลปะนาฏศิลป์ในงานต่างๆ และทางสื่ออินเทอร์เน็ต จนเป็นที่รู้จักของคนในกำแพงเพชร คนทั้งประเทศและคนต่างชาติ

เผยแพร่เมื่อ 09-03-2018 ผู้เช้าชม 503

หลวงพ่อสว่าง (พระวิบูลวชิรธรรม)

หลวงพ่อสว่าง (พระวิบูลวชิรธรรม)

หลวงพ่อสว่าง หรือ พระวิบูลวชิรธรรม แห่งวัดท่าพุทรา ต.ท่าพุทรา อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวเมืองกำแพงเพชร ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ พระครูวิบูลวชิรธรรม จากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวิบูลวชิรธรรม ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรมและประพรมน้ำพุทธมนต์ที่เข้มขลัง รวมทั้งปรารถนาวัตถุมงคลที่ของขลังอย่างล้นหลาม

เผยแพร่เมื่อ 17-01-2020 ผู้เช้าชม 22,209