ผมแดง คนไทยเชื้อสายเวียงจันทน์ ในจังหวัดกำแพงเพชร

ผมแดง คนไทยเชื้อสายเวียงจันทน์ ในจังหวัดกำแพงเพชร

เผยแพร่เมื่อ 27-06-2022 ผู้ชม 920

[16.0209142, 99.3789956, ผมแดง คนไทยเชื้อสายเวียงจันทน์ ในจังหวัดกำแพงเพชร]

บทคัดย่อ
         คนผมแดงในจังหวัดกำแพงเพชร มีตำนานเล่าว่า ได้อพยพย้ายถิ่นมาจากเวียงจันทน์ แต่มีหลักฐานปรากฏเรื่องคนผมแดงจากบทพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 ถึงเส้นผมสีแดงที่ไม่มีใครเหมือน ซึ่งผมแดงที่ปรากฏนี้เป็นลักษณะผมแดงแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ สีเริ่มต้นในช่วงนี้ผมจะมีสีดำก่อน จนถึงอายุประมาณหนึ่งผมจึงจะเริ่มเปลี่ยนสี (ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วยว่าจะเปลี่ยนเมื่อไร) ช่วงที่ 2 ในช่วงนี้ผมจะเปลี่ยนสภาพเป็นสีแดงออกทอง (ความเข้ม - จางนั้นขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์) และช่วงที่ 3 ในระยะนี้จะเป็นสีที่เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีที่เข้มขึ้น อาจเป็นสีแดงน้ำตาลโค้ก หรือสีดำ ก่อนที่จะแปรสภาพเป็นสีขาวหงอก นอกจากนั้นแล้วจากการศึกษาของ Arisa JK (2018) ยังบอกอีกว่า ผมสีแดงต่อกำเนิดนั้นเป็นเผ่าพันธุ์ที่ค่อนข้างหายาก ซึ่งจะพบมากในแถบยุโรป การกลายพันธุ์ของยีน MC1R คือตัวสร้างผมสีแดง ซึ่งถ้าหากทั้งพ่อ และแม่มียีนตัวนี้แม้ไม่ได้มีผมสีแดงก็ตาม เด็กที่เกิดมาจะมีโอกาสถึง 25% ที่จะมีผมสีแดง (ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาคนผมแดงในจังหวัดกำแพงเพชร) คนผมแดงผมจะไม่เปลี่ยนเป็นสีเทา แต่จะจางลงไปตามอายุ กลายเป็นสีทอง และสีเงินขาว (ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาคนผมแดงในจังหวัดกำแพงเพชร) ประชากรผมแดงในโลกมีน้อยกว่า 2% หรือคิดเป็นประมาณ 140 ล้านคน และที่ประเทศสก๊อตแลนด์มีคนผมแดงมากที่สุดประมาณร้อยละ 13 ของประชากร

ข้อมูลทั่วไปของคนผมแดงในจังหวัดกำแพงเพชร
         คนผมแดงในจังหวัดกำแพงเพชรนั้น มีตำนานเล่าว่าอาศัยอยู่ที่เวียงจันทน์ และได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อเกิดสงคราม โดยธิดาของเจ้าเมือง (ไม่ปรากฏชื่อ) ได้หนีมากับทหาร และได้นำพระพุทธรูปมาด้วย 2 องค์ คือพระจักรนารายณ์ และพระนาคปรก ขณะเดินทางผู้คนล้มเจ็บป่วยตายไปเรื่อย ๆ เหลือแต่ทหารผู้ถือพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ และเจ้าหญิงผมสีทอง ต่อมาเจ้าหญิงผมสีทองได้เดินหลงทางไปในป่า ได้พบกับนายพรานซึ่งกำลังนั่งเนื้อ (นั่งบนต้นไม้เพื่อล่าสัตว์ในเวลากลางคืน) และได้ขอขึ้นไปอาศัยอยู่ด้วย แต่พรานป่าไม่ให้ขึ้นไปเพราะเกรงว่าจะเป็นผีโป่งปลอมตัวมา จึงปล่อยให้เจ้าหญิงอยู่ข้างล่างและจุดไฟ พอถึงรุ่งเช้าจึงรู้ว่าเป็นคนและได้เกิดความรักและเห็นอกเห็นใจกัน ต่อมาจึงได้อยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยาจนมีลูกหลานสืบต่อกันมา ลูกหลานที่เกิดมาจากทั้งสองมีผมสีทองออกไปจนสีแดง ซึ่งคนผมแดงได้อพยพมาอยู่ในบริเวณหมู่บ้านแสนตอ หมู่ที่ 2 ตำบลแสนตอ อำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี จังหวัดกำแพงเพชร (ชมรมประวัติศาสตร์, 2563) โดยใช้ภาษาลาวในการสื่อสาร แต่ ณ ปัจจุบัน เริ่มเปลี่ยนแปลงภาษาในการสื่อสารเป็นภาษาไทย เพื่อที่จะสามารถสื่อสารกับคนไทยท้องถิ่นได้ จนภาษาลาวเริ่มค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ สันติ อภัยราช (2559) ได้กล่าวไว้ว่า ต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีคนผมแดงอาศัยอยู่ประมาณ 20 ครอบครัว หรือประมาณ 16 คน แต่ตอนนี้มีบางส่วนไปทำงานที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ เรณู ปัญญาโชติ (การสัมภาษณ์, 9 ธันวาคม 2563) ยังบอกอีกว่า ในสมัยนี้ไม่ค่อยพบเจอคนที่มีผมสีแดงเด่นชัดสักเท่าไร เนื่องจากคนผมแดงกระจายตัวและแต่งงานกับคนจากที่ต่างๆ ทำให้ลักษณะสีแดงที่เด่นชัดนั้น ค่อยๆ หายไป บางคนก็มีผมสีโค้ก บางคนก็ผมสีดำแต่เวลาโดนแดดเป็นสีแดง เมื่อกล่าวถึงฐานะของคนผมแดงนั้น คุณเรณูกล่าวว่า เมื่อก่อนคนที่มีผมสีแดงจะมีฐานะยากจน แต่ปัจจุบันคนผมแดงมีการปรับตัวประกอบอาชีพและตั้งหลักได้ส่วนใหญ่จึงมีฐานะปานกลาง

ความเชื่อและศาสนา
         คนผมแดงในจังหวัดกำแพงเพชร นับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลักตั้งแต่ครั้งก่อนที่จะอพยพย้ายถิ่นมายังประเทศไทย โดยเฉพาะพระบางซึ่งมีตำนานการสร้างพระบางปรากฏในพงศาวดารหลวงพระบาง ตามฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุนกล่าวว่าพระอรหันต์ชื่อจุลนาคเถร ได้สร้างพระบางขึ้นในศักราช 236 ที่เมืองลังกา และได้อธิษฐานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 5 พระองค์ ไว้ภายในพระบาง ดังนี้ มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อพระจุลนาคเถรอยู่เมืองลังกาทวีป ประกอบด้วยพระไตรปิฎกคิดจะให้พระพุทธ ศาสนารุ่งเรืองไปตราบเท่าถ้วนถึง 5000 พระวัสสา พระองค์จึงพิเคราะห์ด้วยเหตุจะสร้างรูปพระปฏิมากร จึงให้คนไปป่าวร้องชาวเมืองลังกาทวีปให้มาพร้อมกันแล้ว ให้ช่างปั้นรูปพระพุทธเจ้ายกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นห้าม เมื่อพระยากบิลพัสดุ์ พระยาโกลียกไพร่พลมารบกันริมน้ำโรทินี ครั้นปั้นเสร็จแล้วคนทั้งหลายก็เอาเงินและทองคํา ทองแดง ทองเหลืองมาให้พระจุลนาคเถรหล่อรูปพระปฏิมากร แล้วชาวเมืองลังกาก็พากันทําสักการะบูชาต่าง ๆ พระจุลนาคเถร พระยาลังกาพร้อมกันยกเอาพระปฏิมากรขึ้นตั้งไว้ในปราสาท ขนานนามตั้งว่าพระบาง แล้วพระจุลนาคเถรจึงอัญเชิญพระบรมธาตุ 5 พระองค์ ใส่ผอบแก้วขึ้นตั้งไว้บนอาสนะทองตรงพระพักตร์พระบาง อธิษฐานว่าพระบางองค์นี้จะได้เป็นที่ไหว้ที่บูชาแก่เทพยาดามนุษย์ทั้งปวงถาวรสืบไปถึง 5000 พระวัสสาก็ขอให้พระบรมธาตุ 5 พระองค์ เสด็จเข้าสถิตอยู่ในรูปพระบางนั้น แล้วพระบรมธาตุเสด็จเข้าอยู่ที่พระนลาฏ องค์ 1 อยู่ที่พระหนุ องค์ 1 อยู่ที่พระอุระ องค์ 1 อยู่พระหัตถ์เบื้องขวา องค์ 1 อยู่พระหัตถ์เบื้องซ้าย องค์ 1 แล้วพระบางก็ทําปาฏิหาริย์มหัศจรรย์ต่างๆ ได้มีการสมโภช 7 วัน 7 คืน (ปฐมพงษ์ สุขเล็ก, 2563)
         ในกาลต่อมาพระยาศรีจุลราชได้ขออัญเชิญพระบางจากพระยาสุบินราชเจ้าแผ่นดินเมืองลังกามาประดิษฐานเมืองอินทปัตนคร (กรุงกัมพูชา) ต่อมาพระเจ้าฟ้างุ้มผู้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว ผู้เป็นลูกเขยจึงขออัญเชิญพระบางไปยังเมืองของตน ครั้นเมื่อเดินทางถึงนครเวียงคํา พระยาเวียงคําขออัญเชิญพระบางไว้ทําสักการะบูชาก่อน พระเจ้าฟ้าจุ้มจึงพาไพร่พลไปเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว
         ในศักราช 834 (พ.ศ.2015) สมัยพระยาล่าน้ำแสนไทไตรภูวนารถเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง ร่มขาว ให้ท้าวพระยาไปอัญเชิญพระบางจากเมืองเวียงคํามาไว้ที่วัดเชียงกลางเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง ร่มขาว (เมืองหลวงพระบาง) จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่พระบางได้ประดิษฐานในอาณาจักรล้านช้าง เหตุการณ์หลังจากนี้เป็นการเล่าพระราชพงศาวดาร รวมถึงการกล่าวถึงการอัญเชิญพระบางไปประดิษฐานยังพระอารามต่างๆ ที่กษัตริย์ล้านช้างมีพระราชศรัทธาสร้างขึ้น
         ในศักราช 921 (พ.ศ.2102) สมัยพระไชยเชษฐาธิราชลงมาตั้งเมืองเวียงจันทน์ มีชื่อว่าเมืองจันทบุรี  ศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว แต่พระบางยังอยู่เมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว จึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองหลวงพระบางราชธานีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว ตามชื่อของพระบาง และในศักราช 1043 (พ.ศ.2224) ท้าวนองอัญเชิญพระบางลงมาเมืองเวียงจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว (เมืองเวียงจันทน์) จนกระทั่งถูกอัญเชิญไปกรุงธนบุรี จากตํานานหรือพระราชพงศาวดารหลวงพระบางข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระบางทั้งในด้านความศักดิ์สิทธิ์ และระยะเวลานับร้อยปีที่พระบางประดิษฐานในอาณาจักรล้านช้างที่มีความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นที่น่าสังเกตว่าการเปลี่ยนชื่อเมืองตามนามของพระบาง หรือการอัญเชิญพระบางไปพร้อมกับการย้ายเมือง แสดงให้เห็นถึงฐานะของพระบางที่เป็นพระพุทธรูปสำคัญอันมีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นตัวแทนหลักชัยของอาณาจักรด้วย (ปฐมพงษ์ สุขเล็ก, 2563)
         นอกจากนี้คนผมแดงในสมัยก่อนยังนับถือศาลเจ้าพ่อปู่ดำ ซึ่งเชื่อว่าเจ้าพ่อปู่ดำเป็นพรานป่าที่มีความสามารถมาก ปัจจุบันมีพิธีบวงสรวงถูกจัดขึ้นทุกปีในวันสงกรานต์และมีการเข้าทรงเพื่อทำนายความเป็นไปในหมู่บ้าน แต่พิธีก็เลือนหายไป คนผมแดงในปัจจุบันก็เปลี่ยนมาศรัทธาในหลวงพ่อโตมากขึ้น 

ลักษณะทางกายภาพที่พบเห็นได้อย่างชัดเจน
         คนผมแดง เป็นคนธรรมดาที่มีผมสีแดงออกทอง โดยจะแดงตั้งแต่โคนผมไปจนถึงปลายเส้นผม ขนตา ขนคิ้ว ขนแขนก็แดง หรือแม้แต่หนังศีรษะก็ยังเป็นสีแดงแต่ก็ใช่ว่าผมจะมีสีแดงเท่ากันทุกคน บางคนแดงมากบางคนก็แดงน้อยคละกันไป และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีผมสีแดง โดยคนที่มีผมสีแดงนั้นจะต้องมีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งที่เป็นคนหัวแดงลูกที่เกิดมาจึงจะเป็นคนหัวแดง บางคนพ่อแดงแม่ดำแต่ลูกก็ไม่ได้มีผมสีแดง แต่ที่แน่ ๆ เมื่อทุกคนอายุมากขึ้นแล้ว ผมที่มีสีแดงจะค่อย ๆ แปรสภาพเป็นสีน้ำตาลโค้กและกลายเป็นสีขาวเหมือนผมหงอกในที่สุด โดยสีผมจะเปลี่ยนเป็น 3 ช่วง ได้แก่
         ช่วงที่ 1 สีเริ่มต้น ในช่วงนี้ผมจะมีสีดำก่อน จนถึงอายุประมาณหนึ่งผมจึงจะเริ่มเปลี่ยนสี (ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วยว่าจะเปลี่ยนเมื่อไร)
         ช่วงที่ 2 สีแดง ในช่วงนี้ผมจะเปลี่ยนสภาพเป็นสีแดงออกทอง (ความเข้ม - จางนั้นขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์)
         ช่วงที่ 3 สีหงอก ในระยะนี้จะเป็นสีที่เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีที่เข้มขึ้น อาจเป็นสีแดงน้ำตาลโค้ก หรือสีดำ ก่อนที่จะแปรสภาพเป็นสีขาวหงอก

การเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5
         พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จประพาสต้นและพักแรมที่อำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี ตอนหนึ่งว่า “เวลาบ่ายสี่โมง แวะจอดถ่ายรูปหาดแล้วลงเรือชลาประพาสเที่ยวต่อไปแวะบ้านข้างฝั่งตะวันออกถึงบ้านตาแสนปม เป็นปมไปทั้งตัวแม้ไม่มีอะไรแดดเผา จึงได้ลงเรือต่อมาจนเวลาย่ำค่ำขึ้นที่บ้านหาดแสนตอ เดินข้ามไปวัดสว่างอารมณ์ ตำบลที่เรียกว่า แสนตอ เป็นชื่อเมืองขาณุนี้ มีตอมากจริงๆ เรือได้โค่นครั้งหนึ่ง เพราะเหตุที่ตลิ่งพังมาก เดินตามถนนฝั่งตะวันตก แวะเก็บอะไรต่ออะไรบ้าง มาจนถึงวัดที่เป็นวัดสร้างใหม่ เรียกว่า วัดหัวเมือง ตั้งแต่วัดนั้นจนถึงที่ว่าการเมือง ซึ่งเป็นเรือนหลังคามุงแฝกทั้งนั้นที่จอดเรืออยู่เหนือที่ว่าการนิดหนึ่ง”
         วันที่ 18 สิงหาคม ร.ศ.125 ผ่านบ้านแม่ลาด เสด็จขึ้นที่หาดบ้านแสนตอ เมืองขาณุ เพื่อหยุดพักเสวยพระกระยาหาร (ปัจจุบันคือวัดพรหมประดิษฐ์) และได้ไปพลับพลาที่วัดน้อยวรลักษณ์
         อีกตอนหนึ่งคือ “วันที่ 19 วันนี้ตื่นสายไปแล้วพระวิเชียรพาคนผมแดงมาให้ดูอันลักษณะผมแดงนั้นเป็นผมม้าแดงอย่างอ่อนหรือเหลืองอย่างแก่ ผมที่แดงนี้มาข้างพันธุ์พ่อ ถ้าเป็นผู้หญิงไปได้ผัวผมดำลูกออกมาก็ผมดำไปด้วย ผมแดงนั้นเปลี่ยน 3 อย่างแรกแดงครั้นอายุมากเข้าก็ดำหม่นลง แก่ก็เลยขาวทีเดียว บอกพืชพันธุ์ว่าทราบว่าตัวแม่แต่เวียงจันทน์ แต่มาก่อนอนุเป็นขบถจะได้ตั้งอยู่ช้านานเท่าไรไม่ทราบ พูดเป็นไทย ประพฤติอาการกิริยาก็เป็นไทย เฉพาะมีมากอยู่ที่เมืองขาณุ ที่กำแพงเพชรนี้มีแต่กระเส็นกระสาย ออกเรือเวลา 3 โมงตรงเกือบ 5 โมงจึงได้ขึ้นเรือเหลือง ทำกับข้าว แวะเข้าจอดที่ประทับร้อนเพราะระยะสั้น แต่จืดไปไม่สนุกจึงได้ไปจอดหัวหาดแม่ลาด ซึ่งมีต้นไม้ร่ม กินข้าวและถ่ายรูปเล่น ในที่นั้น แล้วเดินทางต่อมาหมายว่าจะข้ามระยะไปนอนคลองขลุง แต่เห็นเวลาเย็น ที่พลับพลาตำบลบางแขมนี้ทำดีตั้งอยู่ที่หาดและพลับพลาหันหน้าต้องลม จึงได้หยุด พอเวลาบ่าย 4 โมงตรงอาบน้ำ แล้วมีพวกชาวบ้านลงมาหา เล่าถึงเรื่องไปทับเงี้ยว เวลาเย็นขึ้นไปเที่ยวบนบ้านและไปที่ไร่ระยะทางเวลาวันนี้สองฝั่งน้ำ ระยะบ้านห่างลงมีป่าคั่นมาก แลดูเหมือนจะไม่จับฝั่งตะวันตก เช่น ตอนล่างๆ มีตะวันตกบ้างตะวันออกบ้าง เช่น บ้านบางแขมนี้ก็เป็นบ้านหมู่ใหญ่ อยู่ฝั่งตะวันออกราษฎรอยู่ข้างจะขี้ขลาด กว่าตอนข้างล่าง ไม่ใคร่รู้อะไรสังเกตตามเรื่องราวที่ยืนเป็นข้อไม่ต้องทำอะไร ไม่ให้ต้องเสียอะไรมาก ” (มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, 2562)
         เมื่อคนผมแดงเข้าเฝ้า นายอ่อง (ปู่ของนางทองคำ แสนแก้ว) เล่าว่า พระพุทธเจ้าหลวง (พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5) ประสงค์จะขอไปเลี้ยง แต่นายอ่องอายุประมาณ 3 ขวบ ร้องไห้ พระพุทธเจ้าหลวงตรัสว่า รอให้โตก่อน เดี๋ยวจะร้องไห้ตายเสียในวัง แล้วพระองค์พระราชทานผ้าแพรให้ผืนหนึ่ง เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายของการไป  เข้าเฝ้าครั้งต่อไป แต่นายอ่อง ไม่มีโอกาสเข้าเฝ้า คนผมแดงในปัจจุบันยังมีอยู่หลายครอบครัว พวกเขามีความสุขและได้รับความชื่นชมและยอมรับในทุกฝ่าย ทำให้คนผมแดงภูมิใจในชาติกำเนิดของพวกเขามาก
         จากพระราชนิพนธ์ เรื่องการเสด็จประพาสต้น ทำให้เราได้พบเห็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคนผมแดงตามที่ปรากฏในบทพระราชนิพนธ์ แต่ไม่มีหลักฐานใดปรากฏชัดเจนถึงช่วงระยะเวลาที่คนผมแดงได้อพยพย้ายถิ่นฐานจากประเทศลาว เข้าสู่พื้นที่อำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี จังหวัดกำแพงเพชร
         Arisa JK (2018) ได้ศึกษาคนผมแดงทั่วไปบนโลกใบนี้ จากหัวข้อการศึกษาคือ “15 ข้อเท็จจริงของ “คนผมแดง” เผ่าพันธุ์ที่ค่อนข้างหายาก และข้อมูลน่าสนใจที่ซ่อนอยู่” แต่ในที่นี้ขอยกตัวอย่างมาเพียง 10 ข้อ คือ
         1. โดยปกติแล้วคนผมแดงเกิดมาพร้อมกับดวงตาสีน้ำตาล
         2. การกลายพันธุ์ของยีน MC1R คือตัวสร้างผมสีแดง ซึ่งถ้าหากทั้งพ่อและแม่มียีนตัวนี้แม้ไม่ได้มีผมสีแดงก็ตาม เด็กที่เกิดมาจะมีโอกาสถึง 25% ที่จะมีผมสีแดง (ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาคนผมแดงในจังหวัดกำแพงเพชร)
         3. โดยเฉลี่ยคนผมแดงมีเส้นผมน้อยกว่าคนผมสีน้ำตาลหรือสีทอง แต่ผมสีแดงโดยธรรมชาติมีความหนามากกว่าสีผมอื่นๆ
         4. คนผมแดงสีผมจะไม่เปลี่ยนเป็นสีเทา แต่จะจางลงไปตามอายุ กลายเป็นสีทอง และสีเงินขาว (ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาคนผมแดงในจังหวัดกำแพงเพชร)
         5. มีโอกาสถนัดมือซ้ายมากกว่าคนผมสีอื่น
         6. จากการวิจัยในวารสาร British Journal of Cancer เผยว่า ชายผมแดงมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่า 54%
         7. ด้วยความหนาแน่นของยูเมลานินในร่างกายต่ำ จึงทำให้ร่างกายของคนผมแดงดูดซับวิตามินดีได้น้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ แต่เรื่องนี้สามารถชดเชยได้ด้วยการสร้างวิตามินดีเอง หากอยู่ในสภาพแสงน้อย         
         8. ประชากรผมแดงในโลกมีน้อยกว่า 2% หรือคิดเป็นประมาณ 140 ล้านคน และที่ประเทศสก๊อตแลนด์มีคนผมแดงมากที่สุดประมาณร้อยละ 13 ของประชากร
         9. อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ต่อต้านการสมรสของคนผมแดง เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดเป็นเด็กประหลาด
         10. ผมแดงสามารถพบได้ทุกชนชาติ แต่ส่วนใหญ่มักพบบ่อยในคนที่มีเชื้อสายจากยุโรปเหนือ หรือทางตะวันตก
         สำหรับมนุษยชาติโบราณในแหลมอินโดจีน นักมานุษยวิทยาได้ลงความเห็นว่าแต่เดิมนั้น ได้แก่ ชนชาติชวาและชนชาติละว้า หรือลัวะ ชนชาติชวาเป็นต้นตระกลู ของคำว่า “ลาว” ก็เป็นได้ (มหาสิลา วีระวงส์, 2535, หน้า 2) จากงานเขียนของกราน แอแวนส์ (Grant Evans) อธิบายว่าชนชาติลาวมาจากเผ่าพันธุ์หรือเชื้อชาติไท (ไต) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากดินแดนหนึ่งของเขตกวางสีในภาคใต้ของประเทศจีน ต่อมาถูกจีนรุกรานจึงได้อพยพเคลื่อนย้ายมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้แล้วแผ่กระจายไปทั่วดินแดนเอเชียอาคเนย์ปัจจุบัน ดังจะพบเห็นได้ตามเขตชายแดนภาคใต้ของจีน ภาคเหนือของเวียดนามและพม่า (เมียนมาร์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและแน่นอนได้ประกอบเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศลาวและประเทศไทย (กราน แอแวนส์, 2006, หน้า 2)
         ชนชาติลาวถูกจัดอยู่ในเผ่าพันธุ์มองโกลอยด์ ซึ่งมีลักษณะผิวเหลือง น้ำตาลและน้ำตาลแดง มีรูปร่างค่อนข้างเตี้ยถึงสูงปานกลาง รูปศีรษะค่อนข้างกว้าง หน้าผากกว้างปานกลางถึงกว้างมาก จมูกกว้างปานกลาง สันต่ำไม่โด่ง ตาสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม เปลือกตาอูมเป็นธรรมดา ผมสีน้ำตาลถึงสีดำมีเส้นหยาบและเหยียดตรง เนื่องจากเม็ดสีผิวของร่างกายจะมีการสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องผิว ดังนั้นชาติที่อยู่ในเขตร้อนที่มีแสงแดด จะทำให้ร่างกายผลิตเมลานินออกมามากกว่า จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มนุษย์มีสีผิวที่แตกต่างกันตามชนชาติ เช่น คนลาวในพื้นที่นครหลวงพระบางส่วนใหญ่จะมีผิวพรรณขาวกว่าคนลาวในภาคอื่นๆ ทำให้ชนชาติลาวมีความงามของสีผิวเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชนชาติและเผ่าพันธุ์ ซึ่งนั่นคือผิวเหลืองหรือขาวเหลือง (วิสิฏฐ์ คิดคำส่วน, 2557, หน้า 142-143)
         ดังนั้น จึงเห็นได้ลักษณะทางกายภาพของคนลาวที่อยู่อาศัยอยู่ในประเทศลาวมีทั้งสีผิว เส้นผม ความสูงและลักษณะโครงหน้าที่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาคนผมแดงตามการสันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศลาวนั้น ลักษณะที่ใกล้เคียงกับลักษณะทางกายภาพของคนลาว ตามการศึกษาของวิสิฏฐ์ คิดคำส่วน

คำสำคัญ : คนผมแดง, ชาติพันธุ์, กำแพงเพชร

ที่มา : https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=ผมแดง_คนไทยเชื้อสายเวียงจันทน์_ในจังหวัดกำแพงเพชร

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). ผมแดง คนไทยเชื้อสายเวียงจันทน์ ในจังหวัดกำแพงเพชร. สืบค้น 10 ตุลาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2119&code_db=610001&code_type=06

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2119&code_db=610001&code_type=06

Google search

Mic

ผมแดง คนไทยเชื้อสายเวียงจันทน์ ในจังหวัดกำแพงเพชร

ผมแดง คนไทยเชื้อสายเวียงจันทน์ ในจังหวัดกำแพงเพชร

คนผมแดงในจังหวัดกำแพงเพชรนั้น มีตำนานเล่าว่าอาศัยอยู่ที่เวียงจันทน์ และได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อเกิดสงคราม โดยธิดาของเจ้าเมือง (ไม่ปรากฏชื่อ) ได้หนีมากับทหาร และได้นำพระพุทธรูปมาด้วย 2 องค์ คือพระจักรนารายณ์ และพระนาคปรก ขณะเดินทางผู้คนล้มเจ็บป่วยตายไปเรื่อย ๆ เหลือแต่ทหารผู้ถือพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ และเจ้าหญิงผมสีทอง ต่อมาเจ้าหญิงผมสีทองได้เดินหลงทางไปในป่า ได้พบกับนายพรานซึ่งกำลังนั่งเนื้อ (นั่งบนต้นไม้เพื่อล่าสัตว์ในเวลากลางคืน) และได้ขอขึ้นไปอาศัยอยู่ด้วย แต่พรานป่าไม่ให้ขึ้นไปเพราะเกรงว่าจะเป็นผีโป่งปลอมตัวมา จึงปล่อยให้เจ้าหญิงอยู่ข้างล่างและจุดไฟ พอถึงรุ่งเช้าจึงรู้ว่าเป็นคนและได้เกิดความรักและเห็นอกเห็นใจกัน ต่อมาจึงได้อยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยาจนมีลูกหลานสืบต่อกันมา ลูกหลานที่เกิดมาจากทั้งสองมีผมสีทองออกไปจนสีแดง ซึ่งคนผมแดงได้อพยพมาอยู่ในบริเวณหมู่บ้านแสนตอ หมู่ที่ 2 ตำบลแสนตอ อำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี จังหวัดกำแพงเพชร 

เผยแพร่เมื่อ 27-06-2022 ผู้เช้าชม 920

ประวัติอำเภอขาณุวรลักษบุรี

ประวัติอำเภอขาณุวรลักษบุรี

พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จประพาสต้นและพักแรมที่อำเภอขาณุวรลักษบุรี ตอนหนึ่งว่า "เวลาบ่ายสี่โมง แวะจอดถ่ายรูปที่หาด แล้วลงเรือซลาประพาสเที่ยวต่อไป แวะบ้านข้างฝั่งตะวันออกถึงบ้านตาแสนปมเป็นปมไปทั้งตัวแม้ไม่มีอะไรแดดเผาจึงได้ลงเรือ ต่อมาจะเวลาย่ำค่ำขึ้นที่บ้านหาดแสนตอเดินข้ามไปวัดสว่างอารมณ์ ตำบลที่เรียกว่าแสนตอ เป็นชื่อเมืองขาณนี้ มีตอมากจริง ๆ เรือได้โดนครั้งหนึ่งเพราะเหตุที่เป็นตลิ่งพังมาก เดินตามถนนฝั่งตะวันตกแวะเก็บอะไรต่ออะไรบ้าง มาจนถึงวัดซึ่งเป็นวัดสร้างใหม่เรียกว่าวัดหัวเมือง ต่อแต่วัดนั้นมาถึงที่ว่าการเมือง ซึ่งเป็นเรือนหลังคามุงแฝกอยู่ทั้งนั้นที่จอดเรืออยู่เหนือที่ว่าการนิดหนึ่ง"

เผยแพร่เมื่อ 09-02-2018 ผู้เช้าชม 8,028