เจ้าพ่อบ้านหนองปลิง

เจ้าพ่อบ้านหนองปลิง

เผยแพร่เมื่อ 24-04-2020 ผู้ชม 1,753

[16.5680198, 99.4659328, เจ้าพ่อบ้านหนองปลิง]

           เสียงกลองวัดหนองปลิง ดังรัวเต็มที่ ยังผลให้ชาวบ้านที่อยู่ในรัศมีเสียงกลองพากันหูผึ่ง กำลังทำงานอยู่ก็ละวาง มองหน้าทักถามกันด้วยสายตา ท่าทีตะลึงงัน มันเป็นเวลาใกล้ค่ำ แต่ทว่านี่ก็เลยกลางเดือน 11 ออกพรรษามาหลายเดือนแล้ว กลองย่ำค่ำ พระก็หยุตี เหลือแต่เวลาเพล 11.00 น. จึงจะได้ยินกัน สำหรับในพรรษานั้นเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมานาน วัดทีพระมาก เพราะมีพระบวชใหม่เพิ่มจำนวน ส่วนพระเก่าก็อยู่ประจำ ไม่โคจรไปไหนๆ จึงประชุมกันเพื่อกิจวัตรสวดมนต์อย่างเคร่งครัด เฉพาะเวลาเย็น ชาวบ้านจะได้ยินเสียงกลองสองครั้ง ครั้งแรก 17.00 น. ครั้งที่สองราวๆ 18.00 น.เศษ ครั้งแรกเป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ว่า พระเริ่มเตรียมลงประชุม ตอนหลังสวดมนต์ทำวัตรจบ เป็นเครื่องเตือนจิตใจชาวบ้าน ซึ่งปกติหมกมุ่นอยู่กับงานให้ได้หวนระลึกถึงพระศาสนา แม่ตัวเองจะติดงานวัดมาไม่ได้นอกจากวัดพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ แต่ก็ได้ส่งอารมณ์ส่งจิตใจมาอนุโมทนาคารวะพระรัตนตรัย ด้วยเลื่อมใสศรัทธา ซึ่งเท่ากับเป็นการฉุดรั้งจิตใจที่หมกมุ่นอยู่ในโลกีย์วิสัย ให้ได้สัมผัสกับแสงสว่างแห่งศีลธรรมศาสนา แม้จะชั่วแวบหนึ่งก็ยังมีคุณแก่ชีวิต เป็นสิริมงคลแก่ตนแล้ว ฉะนั้นเมื่อเสียงกลองย่ำค่ำในฤดูกาลเข้าพรรษาดังแว่วมา ชาวบ้านจะยกมือขึ้นพนมเหนือศีรษะ อุทานว่า สาธุ ถ้าเด็กหรือหนุ่มๆ สาวๆ ไม่สาธุเมื่อได้ยินเสียงกลองย่ำค่ำ ก็จะมักถูกผู้ใหญ่เตือนเป็นเชิงติดว่า “เอ็งมันบาปหนา มือแข็ง ไม่ไหว้พระอนุโมทนากับท่าน ดูสิ! หมามันได้ยินเสียงกลอง เสียงระฆังมันยังโห่ยังหอน” เมื่อโดนเข้าแบบนี้เป็นไม่มีใครจะมือแข็งอยู่ได้ ต้องจัดแจงปรับปรุงจรรยาตนเองทันที ฉะนั้นกลองระฆังประจำวัดต่างๆ ในพุทธศาสนาจึงมีความหมายต่อชาวบ้านมากคือเป็นสัญญาณแห่งสวรรค์ของเขานั่นเอง
           แต่เสียงกลองคราวนี้ ไม่ใช่ฤดูกาลที่พระจะย่ำค่ำ จังหวะก็เร่งร้อนนัก ทุกคนที่ได้ยินก็รู้ทันทีว่า นั่นเป็นสัญญาณบอกเหตุฉุกเฉิน ฉะนั้นเพียงสิ้นเสียงกลองไม่นาน ลานวัดหนองปลิงก็เกลื่อนกล่นไปด้วยผู้คน
           พระภิกษุสูงอายุรูปหนึ่ง ยืนยู่บนชานกุฎิ มีสีหน้าตื่นตกใจจนเห็นชัด ตะโกนโต้ตอบชาวบ้านผู้ซักหาสาเหตุด้วยเสียงและปากคอสั่นราวกับเป็นไข้
          “ฉันเพิ่งกลับมาเดี๋ยวนี้และไม่ไปนานนี่นา มันคงเอาไปได้ไม่ไกลหรอก”
          “อะไรกันครับ” เสียงอีกคนหนึ่งตะโกนซ้อนเข้ามา
          “ขโมยจ๊ะ! ขโมย มันมางัดกุฎิเอาพระไปหมด”
          “พระอะไร”
          “พระพุทธรูปเชียงแสน สุโขทัยสี่องค์” พระตอบ
          เสียงซักเสียงตอบดังแซ่ดไปหมด ทำให้รู้ว่า พระพุทธรูปเก่าอายุร่วมพันปี ที่สวยงามมีค่ามากเป็นสมบัติของวัดและคนหนองปลิงทั้งบาง ซึ่งเก็บรักษาไว้ในกุฎิหายไปในระหว่างที่พระสงฆ์ทั้งวัด ซึ่งมีอยู่เพียง 3 รูป ไปกิจนิมนต์บ้านแถวใกล้ๆ นั้น โดยมันมางัดกุฎิ พอทุกคนรู้ชัดเท่านั้น หัวใจราวกะถูกไฟไหม้ พระสี่องค์นี้เขาได้เยกราบไหว้บูชากันมาชั่วกาลนาน ด้วยความเลื่อมใส และเชื่อมั่นในอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมีผู้หมายปองจ้องคิดจะครอบครองกันมากมาย มาขอซื้อขอเช่าในราคาสูง ยั่วให้อยากได้เงินก็มี ที่ใช้อำนาจหน้าที่เลียบเคียงเข้ามาข่มขู่เอาก็มี แต่อาศัยอดีตกำนันนาค อ่อนคำ เป็นผู้รู้จักผ่อนปรน ทำให้รอดพ้นความโลภของคนเห็นแก่ตัวมาได้ด้วยดี ก็เมื่อมาถูกขโมยไปเสียเช่นนี้ ชาวบ้านทั้งหมดจึงรู้สึกเสมือนถูกโจรกรรมมิ่งขวัญพากันโกรธเคืองขโมย บางคนโกรธจัดก็ลามไปถึงพระสงฆ์ว่ารักษาของไม่ดี แต่เมื่อเห็นอาการกิริยาอันเต็มไปด้วยความทุกข์ร้อนของท่านแล้วก็ให้อภัย จึงทำให้ความโกรธเปลี่ยนทิศทางไปสู่ขโมยทางเดียว แต่ขโมยอยู่ที่ไหน?
          ชายชราในวัยเรือน 70 ท่าทางเยือกเย็น อ่อนโยนเป็นลักษณะของผู้ใหญ่เต็มภูมิ ถ้อยทีวาจาหลักแน่นชัดเจน แม้จะมีเสียงเบาๆ ตามวิสัยคนชราแต่ก็ทำให้คนเงียบสดับฟัง จับใจความได้ถนัดว่าเสียงตะโกนทางไมโครโฟนของพวกอวดอ้างสรรพคุณขายยาตามสถานีวิทยุมากนัก ชายชราผู้นี้คือ กำนันนาค อ่อนคำ ที่คนทั้งบางเรียกว่าพ่อ เป็นฐานะนามที่เขาพากันตั้งเอาเอง ด้วยความยอมรับนับถือว่าเป็นเสมือนผู้บังเกิดเกล้าของเขาทั้งหมดขณะนั้น ความหวังของทุกหัวใจ ก็หันทิศทางมายังพ่อนาคเหมือนทุกๆ คราวที่ประสบปัญหาหนักทั้งในเรื่องส่วนตัวและส่วนรวมเขาได้ยินพ่อนาคพูดด้วยเสียงเศร้าๆ ว่า
          “อย่าเอะอะไปเลย ลูกเอ๋ย ! จะพาให้เสียเวลา เรายังมีหวัง พระท่านยืนยันว่า ของเพิ่งหายไปชั่วครู่อย่างมันจะพอไปได้ก็คงยังไม่พ้นบริเวณหนองปลิงหรอก ช่วยกันติดตามเร็วเถอะ แยกย้ายกันไปซุ่มสังเกตตามช่องทางที่จะออกนอกเขตบ้านเราทุกๆ แห่ง ไปเถอะ อย่าชักช้า เสียเวลาเลย”
          ทุกคนยอมรับความคิดเห็นนี้ ไม่มีใครเห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ยอมสละกิจส่วนตัว โดยเฉพาะชายฉกรรจ์ต่างจัดเตรียมอาวุธ จัดแบ่งกลุ่มกันออกสกัดในช่องทางทุกแห่ง คราวกินคราวนอนก็ผลัดเวรกันเคร่งครัดรวดกะทหารของพระเจ้าจักรพรรดิเป็นไปอยู่ชั่ว 4 คืน 3 วัน พวกผู้หญิง เด็ก และคนชราก็คอยฟังข่าวอยู่ที่บ้าน บรรยากาศระหว่างนี้ทำให้บ้านหนองปลิงเงียบวังเวงไปทั้งบาง และในตอนเช้าของวันที่ 4 เสียงกลองวัดหนองปลิงก็ดังขึ้นอีกครั้ง เมื่อทุกๆ คนไปวัดก็ได้เห็นพ่อนาคของเขายืนเด่นอยู่บนชานกุฎิ
          “ลูกเอ๋ย ! พ่อนาคประกาศขึ้นด้วยเสียงแจ่มใสหน้าสดชื่น “พ่อเข้าใจว่าพระของเรายังไม่สูญเมื่อคนนี้พ่อฝันว่ามีคนพาพ่อไปบอกที่ซ่อนพระ พ่อเดินไปกับเขาในป่า จำได้รางๆ ว่าพอพ้นป่า ก็ถึงชายบึงเขาชี้บอดว่าพระจมน้ำอยู่ริมบึง ใกล้ต้นจิกสองต้น พ่อตื่นขึ้นมา จึงมั่นใจว่าเทวดาคงมาเข้าฝันบอกตำแหน่งซ่อนพระให้ วันนี้เราช่วยกันไปค้นตามชายบึงหลังวัดของเรานี่แหละ”
          หลายคนมองพ่อนาคของเขาอย่างแคลงใจ แต่ส่วนมากทำตามคำแนะนำเป็นเหตุให้คนทั้งกลุ่มพากันบ่ายหน้าไปสู่บึงใหญ่ ซึ่งไม่ห่างจากวัดมากนัก รวมทั้งคนที่ไม่แน่ใจนั้นด้วย สวะกอพงชายบึงถูกรื้อค้นอย่างละเอียด โดยเฉพาะตอนใดที่มีต้นจิก ตอนนั้นสะอาดเตียนไปทีเดียว เวลาผ่านไปจนสาย ก็ไม่มีวี่แววว่าจะพบพระ พ่อนาคเองก็ไม่ยอมอยู่นิ่ง ออกเรี่ยวแรงค้นกับเขา ทั้งๆ ที่สังขารก็ชราภาพอย่างนั้น ยิ่งดวงตะวันสูงขึ้นเสียงสนทนาปราศรัย วิพากษ์ วิจารณ์ ออกความคิดเห็นก็หายห่างไป เหลือแต่เสียงฉุดกระชากสวะและพงหญ้า บุกน้ำลุยโคลน และแล้วในบรรยากาศอันตึงเครียดด้วยความเหนื่อยอ่อนและหิวโหยนั่นเอง ก็ได้ยินชายคนหนึ่งตะโกนสุดเสียงราวจะถูกทำร้าย ทุกคนสะดุ้ง
          “พ่อ อยู่นี่ ! พ่อ อยู่นี่ !! พ่อ อยู่นี่ !!! เหมือนเขาจะพูดเป็นอยู่เท่านั้น
          “อะไรวะ ?” อีกคนตะคอกถาม
          “พระ ได้แล้ว ได้แล้ว อยู่นี่ พ่อ!” เขาย้ำบอกด้วยเสียงตื่นเต้นร้อนรน
          พอทุกดคนรู้แน่ว่าอะไรเป็นอะไร ต่างก็วิ่งบุกโคลนไปสู่จุดนั้น ต่อมาพระพุทธรูปสี่องค์ก็ถูกนำขึ้นมาวางเรียงกันบนพื้นหญ้า ต่างพากันอุทานด้วยเสียงและสีหน้าชื่นชมยินดี บางคนถึงกับก้มลงกราบ ทั้งๆ ที่โคลนยังเต็มตัว พ่อนาคยิ้ม
          “นิมนต์พระกับวัดเถอะลูกเอ๋ย !” แกร้องบอกด้วยเสียงแจ่มใส
          กลองวัดหนองปลิง รับงานหนักอีกแล้ว มันถูกระดมตีอยู่เป็นเวลานาน และผู้ตีก็ตีอย่างร่าเริง มีลีลาจังหวะแปลกๆ ชวนให้ขบขัน ทำให้ลานวัดหนองปลิงแน่นด้วยผู้คนอีกวาระหนึ่ง ต่างแสดงออกด้วยความเลื่อมใส และห่วงใยต่างๆ นาๆ ตามถนัด บางคนกราบแล้วกราบอีก อุทานว่า
          “บุญๆ ที่หลวงพ่อยังได้กลับมาให้ได้กราบไหว้บูชา” หลายคนด่าขโมย สาปแช่งให้มันตกนรก ไม่รู้จักผุดจักเกิดที่เอาหลวงพ่อไปจมน้ำไว้ตั้ง 4 คือ 4 วัน บางคนก็ยังประกาศบอกความอาฆาต ไม่หายขุ่นเคือง ตอนนี้พ่อนาคต้องพูดอีกครั้ง ทุกคนฟังอย่างตั้งใจ และมองพ่อนาคด้วยความอัศจรรย์ เพราะความฝันของพ่อนาค จึงทำให้ได้พระคืน จะไม่ให้อัศจรรย์อย่างไรเล่า ในเมื่อพ่อนาคติดต่อกับเทวดาได้เช่นนี้ ใจความที่พ่อนาคพูด
          “พ่อเป็นสุขจริงๆ ลูกหลานเอ๋ย ! ที่ได้เห็นลูกหลานมีความสุข ร่าเริงยินดีที่ได้พระกลับมา เพราะความสามัคคีพร้อมเพรียงของเราแท้ๆ ทำให้เทวดาอารักษ์เล็งเห็นและไม่ทอดทิ้ง ช่วยปกปักรักษามิ่งขวัญของเราไว้ได้ เราจะได้กราบไหว้บูชาของเราต่อไป เรากราบไหว้บูชารักษาท่าน ท่านก็จะคุ้มครองรักษาเรา แต่พ่อสังเกตเห็นว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังไม่หายโกรธแค้น ยังเก็บมาผูกอาฆาต คิดจะสอนให้เจ็บตัวเสียบ้าง พ่อว่าเราควรจะยุติกันได้แล้ว ของเราก็ได้คืนมาแล้ว ให้อภัยเขาเถอะ เชื่อว่าขณะนี้มันผู้นั้นคนได้สำนึก อย่าไปซ้ำเติมเขาอีกให้เป็นบาปเป็นเวรต่อไปเลย เวรย่อมระงับด้วยการให้อภัย เรื่องของเราต่อไปก็คือ จงช่วยกันรักษาพระพุทธรูป 4 องค์นี้ไว้ ให้อยู่เป็นสมบัติของชาวหนองปลิงชั่วลูกชั่วหลาน ใครๆ ก็อย่าได้เห็นแก่ตัวเช่นมันผู้นั้นอีก อย่าทำตัวเป็นคนใจบาป ขายได้กระทั่งพระ ขโมยได้กระทั่งของวัด มันเป็นบาปหนัก แต่ครั้งนี้เราลืมเขาเสียเถอะ อย่าไปโกรธไปพยาบาทเขาเลย ต้องคิดว่า เขาก็เหมือนพวกเรา เมื่อยากจนลงไปแล้วมันก็ไม่คิดกลัวบาปหากทางแก้จนในทางทุจริต แต่เราอย่าให้เหมือนเขา อย่าทำบาปเพื่อแก้จน ยังมีทางดีๆ ไม่ให้เราแก้แค้นความชั่วของคน ด้วยเวรพยาบาทช่วยกันดับเวรดับภัย ด้วยอโหสิกรรมเถิดลูกเอ๋ย ! ความชั่วของเขาก็ทำให้เขาเร่าร้อนอยู่มากแล้ว เราอย่ายอมบาปไปซ้ำเติมเขาอีกเลย”
          ด้วยลีลาที่อ่อนโยน แต่แหบเครือเจือด้วยความรู้สึกที่กล่าวออกมา ทำให้มีบางคนร้องไห้ มันเป็นการร้องที่เกิดจากความรู้สึก ซึ่งไม่เหมือนกับทุกครั้งที่เขาเคยร้อง ไม่ใช่เสียใจ แต่จะว่าดีใจมันก็ยิ่งกว่าดีใจ มันซึมในอกชวนสะอื้นอย่างบอกไม่ถูก แม้แต่คนที่ใจแข็ง ไม่ยอมให้ใครเห็นหน้าตา แต่ในหัวอกของเขา มันปกปิดไม่ได้ มันมีน้ำตาขังอยู่แต่รู้ได้เฉพาะตัว
          ในที่สุด ก็มาถึงวาระที่ต้องปรึกษากันว่า ต่อไปนี้จะพิทักษ์รักษาพระพุทธรูปทั้ง 4 นี้อย่างไรจึงจะปลอดภัย ที่วัดพระสงฆ์ก็มีน้อยรูป กุฎิก็ไม่สู้แข็งแรง ทำให้หวั่นใจว่าจะเกิดเรื่องซ้ำรอยขึ้นอีกก็ได้ และไม่แน่ว่าเทวดาจะมาเข้าฝันพ่อนาค บอกที่ซ่อนไว้อีกหรือไม่ ทุกคนลงมิติเป็นอันเดียวกัน คือถ้ามอบให้พ่อนาครับไปไว้ที่บ้านแล้ว ไม่ต้องวิตกว่าโจรทั้งผู้ร้ายและผู้ดี จะมาฉกลักพรากเอาไป แต่พ่อนาคกลับอ้ำอึ้งไม่ยอมรับปาก ได้แต่บอกว่า
          “เรามันเป็นชาวบ้าน แม้ใครจะเห็นว่าดี แต่ก็ไม่มีหน้าที่จะมาก้าวก่ายถึงสมบัติของศาสนา เรามีหน้าที่เพียงแต่จะช่วยกันบำรุงวัด สิ่งใดไม่มีก็ช่วยกันหาเข้ามา ส่วนการรักษาเป็นเรื่องของพระสงฆ์ท่านอย่าให้พ่อรับหน้าที่นี้เลยลูกเอ๋ย !”
          ไม่มีใครยอม ทุกคนพากันออกความเห็นเป็นเชิงเกลี้ยกล่อม และอ้อนวอน บางคนก็ตัดพ้อทำท่าจะบีบบังคับ ซึ่งล้วนแต่ออกจากความไว้วางใจรักเคารพในพ่อนาคทั้งนั้น ทำให้พ่อนาคอึดอัดไม่รู้จะหาทางผ่อนปรนอย่างไร ก็บังเอิญพระภิกษุผู้รักษาการเจ้าอาวาสพูดขึ้นว่า
          “ไม่ได้ โยมต้องรับเอาไว้ที่นี้ไม่ได้ พวกฉันก็มีเพียง 3 องค์เท่านั้น ไม่มีกำลังจะรักษาได้แน่น มันมาขโมยแต่พระพุทธรูปนะยังดี ต่อไปมันอาจจะมารุมบีบคอพวกฉันเข้าก็ได้ อีกอย่างหนึ่ง พากฉันก็ไม่ได้อยู่วัดตลอดเวลา บางวันก็ต้องจำเป็นทิ้งวัดไปกิจนิมนต์ที่อื่น โยมเอาไปเก็บรักษาไว้ที่บ้านนะดีแล้ว นึกว่าเห็นใจพวกฉันเถอะ”
          “เมื่อท่านอาจารย์ว่าอย่างนั้น ผมก็ต้องรับ” พ่อนาคพูดขึ้น ทุกคนโล่งหัวอก ต่อแต่นั้นก็พากันนำพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ออกจากวัดไปบ้านพ่อนาค กลายเป็นขบวนแห่ที่ยึดยาวราวกับแห่พระในเทศกาลประจำปี แต่ไม่มีเสียงโห่ เพราะมันเป็นการแห่ไปสู่ความปลอดภัยเพื่อให้พ้นจากผู้ร้ายใจบาป
          เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ชาวบ้านหวงแหนระวังรักษาพระพุทธรูปสี่องค์นี้ขึ้นอีกมาก และทำให้ชาวบ้านหนองปลิง กำแพงเพชร นครชุม และที่ใกล้เคียง ที่เคยรู้จักพ่อนาคมาก่อน ลงความเห็นว่าพ่อนาคกลายเป็นผู้วิเศษ ติดต่อกับเทวดาได้อย่างอัศจรรย์ เพื่อศรัทธาและความเคารพนับถือต่อพ่อนาคมากขึ้น เมื่อเกิดปัญหาที่สุดวิสัยมนุษย์จะแก้ไข เขาก็ไม่ต้องเที่ยวบนบานศาลกล่าวเจ้าพ่อและเจ้าแม่ที่แลไม่เห็นตัวอีกเหมือนก่อนๆ เพราะเจ้าพ่อของเขาที่ตัว พูดจาด้วยได้ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันได้นั้นมีอยู่แล้ว คือพ่อนาค บ้านหนองปลิงของพ่อเขานั่นเอง
          เวลาล่วงเลยมาถึงวาระที่ใกล้จะมีงานเทศกาลประจำปี กลางเดือน 5 พ่อนาคได้ล่องลงมากรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยมลูกหลานในที่ต่างๆ แล้ว ก็เลยมาเยี่ยมเคารพหลวงตาและจะอาราธนาไปแสดงธรรมในงานด้วย หลวงตาก็เลยได้รับรู้เรื่องอันนาอัศจรรย์เรื่องนี้ บางขณะก็เคลิ้มไปว่า อดีตกำนันนาค ประธานบริษัทป่าไม้จังหวัดกำแพงเพชร และทายกวัดหนองปลิงผู้นี้เป็นเทวดาไปจริงๆ ตอนหนึ่งท่านถามกำนันนาคว่า
          “เจริญพร ขออภัยคุณโยมเถอะ ! ที่ว่าฝันนะ ! ฝันจริงหรือ ?”
          “ข้อนี้ ผมเห็นจะบาปขอรับ ไม่ค่อยสบายใจเหมือนกัน ความจริงมีอยู่อย่างนี้ขอรับ ในคืนที่สามนับแต่วันเกิดเหตุ ราวๆ ตีสอง ผมตื่นนอนเพราะได้ยินเสียงคนมากระซิบเรียกเบาๆ ที่หลังเรือน บังเอิญคนในบ้านยังไม่มีใครตื่น ผมจึงหลบลงเรือนไปพบกับเขา เขาผู้นี้จะมาบอกที่ซ่อนพระให้ เพราะได้พบกับเจ้าขโมย ขณะนี้คนขโมยสำนึกตัวได้คิดแล้ว อยากจะเอามาคืนให้ แต่เกรงจะถูกรุมซ้อม เพราะคนหนุ่มบางคนประกาศความอาฆาตไว้น่ากลัวเหลือเกิน จะแอบเอามาคืนเงียบๆ อย่างนี้ก็ไม่มีทางเพราะทุกหนทุกแห่ง มีสายตาชาวบ้านซอกแซกสังเกตไปหมด โดยเฉพาะคนที่มีประวัติมือไว้ใจเร็ว ก็ถูกสะกดร้อยไม่ว่าจะไปเหนือไปใต้ รวมทั้งเจ้าคนขโมยนี้ด้วย เขาจึงได้รับคำขอร้องจากเจ้าคนขโมย ที่มันร้องห่มร้องไห้อ้อนวอนให้เขามาติดต่อกับผม ว่าผมจะรับรองได้ไหมว่าจะไม่เป็นอันตรายจากชาวบ้านและกฎหมาย อารมณ์ดีใจที่จะได้พระคืนผมก็รับประกัน ทั้งๆ ที่ยังมองไม่เห็นทางที่จะไม่ให้เรื่องลุกลามเป็นเวรเป็นกรรมกันต่อไป แต่แล้วก็คิดได้ ต้องออกอุบายดังที่ได้ทำไปแล้วนั่นแหละขอรับ ความจริงไม่ได้ฝันอะไรหรอก”
          หลวงตาหัวเราะชอบใจ ลงความเห็นว่าวิธีการของกำนันนาคเป็นกุศโลบาย ที่สร้างความยิ่งใหญ่เหนือผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายทีเดียว คือสร้างตนให้เป็นเทวดา ชาวบ้านเพิ่มศรัทธาความเชื่อถือในตัวแกมากขึ้น ของก็ไม่สูญ น้ำใจของชาวบ้านหนองปลิง ก็กลมเกลียวกันกว่าเดิม เพราะเห็นคุณค่าของความร่วมมือร่วมใจ ทำให้เทวดาไม่ทอดทิ้ง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือดับเวรระงับภัยให้ยุติลงได้ คนชั่วก็สำนึกตัว พาดให้ดีขึ้น คนดีอยู่แล้วก็ไม่ยอมปล่อยใจให้มัวหมอง เพราะความมุ่งร้ายพยาบาท เขากำจัดมลทินแห่งหัวใจด้วยการให้อภัยคนชั่ว เมื่อเป็นเช่นนี้ จะไม่ให้เขาเรียกกำนันนาค ว่าพ่อนาคอย่างไรได้ คิดว่าไม่ช้าดอก ฐานะขอกำนันนาคคงจะขยับขึ้นเป็น “เจ้าพ่อนาค” แต่ก็เหมาะสมที่จะถูกยกย่องเทิดทูนเช่นนี้

คำสำคัญ : เจ้าพ่อบ้านหนองปลิง

ที่มา : สันติ อภัยราช. (2548). หนองปลิง วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร. กำแพงเพชร: องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลิง.

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). เจ้าพ่อบ้านหนองปลิง. สืบค้น 21 มกราคม 2568, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1431&code_db=610006&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1431&code_db=610006&code_type=01

Google search

Mic

แหย่งพระที่นั่งต้องห้าม

แหย่งพระที่นั่งต้องห้าม

พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นกำแพงเพชร คือตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2449 และกลับพระนคร ในวันที่ 27 สิงหาคม 2449 มีอยู่หนึ่งวันที่พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสบ้านปากคลอง คือวันที่ 25 สิงหาคม ตอนเช้าเสด็จเข้าไปในคลองสวนหมากไปบ้านพะโป้ มีเรื่องเล่าว่า พะโป้ได้นำแหย่ง (ที่นั่งบนหลังช้าง) ให้พระพุทธเจ้าหลวงประทับนั่ง เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับ พะโป้ได้บูชาแหย่งองค์นี้อย่างดี โดยเก็บไว้ในฐานะสิ่งสักการะบูชาเลยทีเดียว เมื่อพะโป้สิ้น (ถึงแก่กรรม) แล้ว ทรัพย์สมบัติของท่านถูกแบ่งปันกันไปหลายส่วน แหย่งได้ตกไปอยู่กับหลายท่าน แต่มีเรื่องมหัศจรรย์เล่าขานกันว่าเมื่อผู้ใดขึ้นนั่งมักจะมีปัญหาเกิดกับผู้นั่งเสมอ ทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรง จนเล่าขานเลื่องลือไปทั่วปากคลอง ไม่มีใครกล้านั่งหรือแตะต้องแหย่งองค์นี้อีกเลย

เผยแพร่เมื่อ 20-04-2020 ผู้เช้าชม 1,031

ตำนานพระพุทธบาท 4 รอย

ตำนานพระพุทธบาท 4 รอย

เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในศาสนาปัจจุบันนี้ได้เสด็จจารึกประกาศธรรม และโปรดเวไนยสัตว์มายังปัจจัยตะประเทศ (ประเทศไทยในปัจจุบัน)จนกระทั่งมาถึงเทือกเขาทางตอนเหนือของประเทศ ชื่อเขา เวภารบรรพตซึ่งขณะนั้นได้เสด็จพร้อมกับพุทธสาวก 500 องค์ และได้แวะฉันจังหันอยู่บนเขา เวภารบรรพตแห่งนี้ เมื่อพระพุทธองค์ฉันจังหันเสร็จ ขณะประทับอยู่ที่นั้น ก็ได้ทราบด้วยญาณสมาบัติว่าบนเทือกเขาแห่งนี้ ได้มีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ามาประทับอยู่บนก้อนหินก้อนใหญ่คือ พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ภัทรกัลป์นี้ แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเล็งดูรอยพระพุทธบาทแห่งพระพุทธเจ้าทั้ง พระองค์ คือ พระพุทธเจ้ากุสันธะ ,พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้ากัสสปะ

เผยแพร่เมื่อ 03-04-2019 ผู้เช้าชม 2,192

นิทานพื้นบ้าน เรื่องทำไมคนถึงกินข้าว 3 มื้อ

นิทานพื้นบ้าน เรื่องทำไมคนถึงกินข้าว 3 มื้อ

มนุษย์รู้จักทำไร่ทำนาเลี้ยงชีพมาหลายพันปีแล้ว โดยพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ปีไหนฝนแล้งก็จะเหนื่อยยากอดอยากมากกว่าปีอื่นๆ เพราะข้าวตาย พระอิศวรมองลงมาจากสวรรค์ รู้สึกสงสารชาวนามาก เลยใช้ให้ควายลงไปโลกมนุษย์ไปบอกชาวนาว่า “ต่อไปนี้ ให้กินข้าว 3 วันมื้อหนึ่ง จะได้ไม่ต้องลำบากปลูกข้าวได้พอกิน” ควายรับปากดิบดีว่าจะไปบอกตามที่สั่ง พอไปถึงทุ่งนาเห็นหนองน้ำใหญ่น่าลงไปเล่นตามสัญชาติญาณของควายที่ชอบนอนแช่ในปลัก นอนแช่น้ำเย็นสบายจนบ่ายคล้อยก็นึกขึ้นได้ว่าพระอิศวรใช้มาส่งข้าว จำได้แค่ว่าอะไรสามๆ เลยบอกชาวนาว่า “ต่อไปนี้พระอิศวรให้กินข้าววันละ 3 มื้อ จากที่ลำบากอยู่แล้วยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่ พอกลับไปเฝ้าพระอิศวร พระอิศวรทวนถามว่าไปบอกเขาว่าอย่างไร ควายตอบว่า “ก็ตามที่พระองค์สั่งพระเจ้าค่ะ ให้กินวันละสามมื้อ” “ไอ้โง่เอ๊ย ! ชาวนายิ่งเดือดร้อนเข้าไปใหญ่ ข้าสั่งให้กินสามวันมื้อ” แต่ก็แก้ไขคำพูดไม่ได้แล้ว จึงสั่งให้ควายไปช่วยชาวนาไถนาปลูกข้าวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เผยแพร่เมื่อ 10-04-2020 ผู้เช้าชม 6,262

นิทานพื้นบ้าน เรื่องการเอาเปรียบ

นิทานพื้นบ้าน เรื่องการเอาเปรียบ

พํอกับลูกสาวถ่อเรือไปด้วยกัน พ่อเป็นคนถ่อ ลูกเป็นคนถือท้ายเรือ กลับถึงบ้านบ่นให้แม่ฟังวำ “แม่มึงเอ๊ย ใช้แต่พ่อถ่อเรือคนเดียว มันไม่ช่วยมั่งเลย ” แม่ก็ถามลูกสาวว่า “มึงไมํช่วยพ่อถ่อเรือมั่งเรอะ ” ลูกสาวตอบวำ “ทำไมจะไมํชํวยละแม่ พ่อถ่อฉันก็ถือท้าย พอฉันถือท้ายพ่อก็ถ่อแล้วจะเอายังไงอีกล่ะ”

เผยแพร่เมื่อ 03-09-2019 ผู้เช้าชม 5,561

ตำนานบ่อน้ำพุร้อน

ตำนานบ่อน้ำพุร้อน

"พระร่วง" เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่ม มีนิสัยคะนองชอบเล่นเบี้ยเล่นว่าว เล่นไก่ เจ้าชู้ โดยไม่ถือ พระองค์ชอบเสด็จไปในท้องถิ่นทุรกันดารและเมื่อเสด็จไปในที่ต่างๆ ก็มักจะเกิดเป็นตำนาน ขึ้นมากมาย กล่าวกันว่าพระร่วงเป็นผู้มีบุญญาธิการรู้ทั้ง บังเหลื่อมรู้จบไตรเทพวิทยาคม อีก ทั้งมีวาจาสิทธิ์ จากตำนานโบราณกล่าวว่า พระร่วงได้เดินทางมาถึงบริเวณเขาไก่เขี่ย พระองค์ ได้ไก่ป่าวตัวหนึ่งเมื่อเดินมาถึงบริเวณสถานที่ร่มรื่นพระองค์เกิดหิวจึงตั้งใจจะกินไก่ตัวนี้เสีย จึงได้สาป บริเวณนี้เป็นบ่อน้ำพุร้อนเพื่อที่จะได้นำน้ำร้อนมาลวดไก่และถอนขนเมื่อถอนขน เสร็จไม่มี น้ำเย็น จึงสาปน้ำเย็นขึ้น จึงเกิดมีบ่อน้ำร้อน และน้ำเย็นขึ้นบริเวณใจ กลางบึงสาปนั้น หรือจากข้อสันนิษฐาน กล่าวว่า พระองค์คงสาปน้ำร้อนน้ำเย็นเพื่อทำความสะอาดไก่หรือที่เรียกว่าให้น้ำไก่ แล้วพระองค์ก็ได้เดินทางต่อไปกลายเป็น "บ่อน้ำร้อนบึงสาป" เขาไก่เขี่ย ดังได้กล่าวแล้ว

เผยแพร่เมื่อ 13-03-2018 ผู้เช้าชม 8,015

วรรณกรรมเบ็ดเตล็ดของชาวบ้านไตรตรึงษ์

วรรณกรรมเบ็ดเตล็ดของชาวบ้านไตรตรึงษ์

“ศรีวันนี้ก็วันลาภวันดี ศรีวันพระยาวัน ฉันจะเรียกมิ่งขวัญ ขวัญมาเกิดมาแม่มา ขวัญอย่าไปเป็นตะเข็บอยู่ใต้ขอน ขวัญอย่าไปเป็นแมงชอนอยู่ใต้ไม้ ขวัญอย่าไปอยู่ในน้ำเป็นเพื่อนปลา ขวัญแม่อย่าไปอยู่ในนาเป็นเพื่อนข้าว ขวัญแม่อย่าไปเอาพุ่มไม้ต่างเรือน ขวัญแม่อย่าไปเอาแสงเดือนต่างไต้  ขวัญแม่อย่าไปเอาเรไรต่างมโหรี มาเถิดมาแม่มาขวัญเอยขวัญแม่อย่าไปเที่ยวชมเขาลำเนาไพร ให้แม่กลับมา ขวัญแม่อย่าไปอยู่ที่เชิงตะกอน ขวัญแม่อย่าไปนอนอยู่ป่าช้า มาเถิดแม่มา

เผยแพร่เมื่อ 03-03-2020 ผู้เช้าชม 5,790

บ้านห้างพะโป้ บ้านร.5 บ้านห้างล่ำซำ บ้านผีสิง

บ้านห้างพะโป้ บ้านร.5 บ้านห้างล่ำซำ บ้านผีสิง

เมืองกำแพงเพชร มีบ้านโบราณ จำนวนมาก เนื่องจากกำแพงเพชร เป็นเมืองเก่าแก่ อายุหลายร้อยปี บ้านหลังหนึ่ง เป็นห้างทำไม้ของพะโป้ ในอดีต ยังหลงเหลือความยิ่งใหญ่ ให้เห็น เพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของอดีต จากตัวเมืองกำแพงเพชรเดินทางไปยังฝั่งนครชุมแล้วข้ามคลองสวนหมากผ่านวัดสว่างอารมณ์ ขึ้นไปชมบ้านไม้สองชั้นใต้ถุนสูงหลังใหญ่ ชาวบ้านเรียกกันว่า บ้านห้าง หรือ บ้านห้าง ร.5 หรือบ้านพะโป้ ตั้งตระหง่านอยู่ริมคลองด้วยสภาพที่ทรุดโทรม พื้นบ้านผุพัง เรือนไม้หลังนี้ มีประวัติความเป็นมาที่ทรงคุณค่าของชาวนครชุม และเมืองกำแพงเพชร 

เผยแพร่เมื่อ 20-04-2020 ผู้เช้าชม 3,134

เจ้าพ่อบ้านหนองปลิง

เจ้าพ่อบ้านหนองปลิง

เสียงกลองวัดหนองปลิง ดังรัวเต็มที่ ยังผลให้ชาวบ้านที่อยู่ในรัศมีเสียงกลองพากันหูผึ่ง กำลังทำงานอยู่ก็ละวาง มองหน้าทักถามกันด้วยสายตา ท่าทีตะลึงงัน มันเป็นเวลาใกล้ค่ำ แต่ทว่านี่ก็เลยกลางเดือน 11 ออกพรรษามาหลายเดือนแล้ว กลองย่ำค่ำ พระก็หยุตี เหลือแต่เวลาเพล 11.00 น. จึงจะได้ยินกัน สำหรับในพรรษานั้นเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมานาน วัดทีพระมาก เพราะมีพระบวชใหม่เพิ่มจำนวน ส่วนพระเก่าก็อยู่ประจำ ไม่โคจรไปไหนๆ จึงประชุมกันเพื่อกิจวัตรสวดมนต์อย่างเคร่งครัด เฉพาะเวลาเย็น ชาวบ้านจะได้ยินเสียงกลองสองครั้ง ครั้งแรก 17.00 น. ครั้งที่สองราวๆ 18.00 น.เศษ ครั้งแรกเป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ว่า พระเริ่มเตรียมลงประชุม

เผยแพร่เมื่อ 24-04-2020 ผู้เช้าชม 1,753

ตำนานท้าวแสนปม

ตำนานท้าวแสนปม

ท้าวแสนปมนามกระเดื่อง หมายถึง ท้าวแสนปม เป็นสัญลักษณ์สำคัญของนครไตรตรึงษ์ มีนิทานเล่ากันมาว่า  เจ้าเมืองไตรตรึงษ์ มีพระธิดาสิริโสภาองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่รักใคร่ดังดวงแก้วตาทรงพระนามว่า นางอุษา  ที่ใกล้เมืองไตรตรึงษ์นี้มีชายคนหนึ่งซึ่งร่างกายเต็มไป ด้วยปุ่มปม ชาวบ้านเรียกเขาว่า นายแสนปม มีอาชีพปลูกผักสวนครัวขายเลี้ยงตัว มะเขือที่เขาปลูกเอาไว้ต้นหนึ่งมีผลโตน่ากินเพราะ นายแสนปมถ่ายปัสสาวะรดเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งเทวดาดลใจให้พระธิดานีกอยากเสวยมะเขือ พวกนางข้าหลวงจึงออกเสาะหาจน มาพบมะเขือในสวนของนายแสนปมลูกใหญ่อวบจึงขอซื้อ

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 18,797

นิทานพื้นบ้าน ซากอ้อยนำทาง

นิทานพื้นบ้าน ซากอ้อยนำทาง

มีครอบครัวหนึ่งมีพ่อแม่และลูกสี่คน พ่อกับแม่ไปทำงานหาของกินมาได้ก็ไม่พอให้ลูกๆ ทั้งสี่คนกิน เพราะทั้งสี่คนกินจุ แม่จึงได้พ่อพาลูกๆ ไปปล่อย เพราะเลี้ยงไม่ไหว คนแรกให้น้ำไปกินแล้วก็ทิ้งไว้ คนที่สองให้ผลไม้ คนที่สามให้ข้าว คนที่สี่น้องสุดท้องให้อ้อย คนที่สี่เป็นคนที่กินจุที่สุด จึงเริ่มกินอ้อยตั้งแต่ออกเดินทาง แล้วคายทิ้งไปตามทาง พอถึงที่หมายพ่อบอกว่าให้รออยู่ แล้วจะกลับมารับ รอจนเช้าพ่อก็ไม่มารับ จึงเดินตามซากอ้อยที่คายไว้ตามทาง ลูกคนสุดท้องจึงกลับบ้านถูก

เผยแพร่เมื่อ 10-04-2020 ผู้เช้าชม 1,695