ถักเสื้อ ปากอเญอ

ถักเสื้อ ปากอเญอ

เผยแพร่เมื่อ 15-08-2018 ผู้ชม 675

[16.7555144, 98.5736419, ถักเสื้อ ปากอเญอ]

ผ้าทอกะเหรี่ยง จะทอด้วยกี่เอว ลวดลายดั้งเดิมจะมีสีสันที่สดใสมีทั้งการทอลายในตัวผืนผ้าและการปักผ้า ผ้าบางผืนจะมีการเย็บลูกเดือยเป็นลวดลายต่างๆ ปัจจุบันการให้สีสันลายผ้าจะมีการทอหรือปักสีอื่นๆ เพิ่มขึ้น อาทิเช่น สีเขียว สีฟ้า สีเหลือง และสีชมพู

อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
       ลักษณะการวางลายเสื้อผู้หญิง สะกอจะปักตกแต่งบริเวณชายเสื้อ ด้านล่างการผสมผสานลาย มักใช้ลายลูกเดือยเป็นแนวกำหนดก่อน เพื่อให้ได้ช่องว่างที่จะเป็นแนวปักลวดลายชัดขึ้นจากนั้นจึงปักลงไป
       การตัดเย็บตามปกติแล้ว ผ้าจะเป็นผ้าหน้าแคบ จำกัดตามขนาดเครื่องทอ คือ กว้างที่สุดไม่เกิน 20 นิ้ว ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ทอ ดังนั้นการตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มของกะเหรี่ยงจึงเป็นการนำผ้าทั้งผืนมาเย็บ ประกอบกัน โดยพยายามตัดให้น้อยที่สุด เนื่องจากในอดีตกะเหรี่ยงไม่มีกรรไกรใช้ ผ้าที่ทอแต่ละชิ้นเมื่อนำมาประกอบกันเป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว จะไม่มีเศษเหลือทิ้ง การแบ่งผ้าจึงทำโดยใช้มีดคมๆ กรีดตามแนวขวางของผืนผ้าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้รูปทรงของเสื้อผ้ากะเหรี่ยงจึงไม่มีส่วนโค้งเว้า เพราะเป็นการยากที่จะใช้มีดกรีดผ้าให้ได้ลักษณะเช่นนั้น สิ่งสำคัญในการนำผ้ามาประกอบกัน คือ ต้องเป็นผ้าที่ทอขึ้นสำหรับเครื่องนุ่งห่มตัว หรือผ้าผืนนั้น โดยเฉพาะจะนำไปประกอบกับส่วนของตัวหรือผืนอื่นไม่ได้ เช่น ผ้าที่ทอเพื่อเย็บเป็นเสื้อผู้ชายจะนำมาเย็บเป็นย่าม หรือผ้าห่มไม่ได้ และผ้าที่ทอสำหรับเย็บย่ามก็ไม่สามารถนำมาเย็บเป็นเสื้อ หรือผ้าห่มได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากได้กำหนดลวดลายสี และขนาดไว้อย่างแน่นอนแล้ว ก่อนที่จะทอผ้าแต่ละผืนนั่นเอง

ความสัมพันธ์กับชุมชน
        วิถีชีวิตของชาวปากอเญอ มีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย การอยู่ร่วมกันแบบเอื้ออาทรฉันท์พี่น้อง มีความสมัครสมานสามัคคีกันในชุมชน ดังนั้นกลุ่มผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติจึงมีส่วนร่วมทุกกิจกรรมในการพัฒนาหมู่บ้านชุมชน มีการสืบสานการทอผ้าจากรุ่นสู่รุ่น 

กระบวนการผลิต
        วัตถุดิบและส่วนประกอบ
        1. เตรียมอุปกรณ์ หม้อ กระทะ ฟืน เตา ฝ้าย น้ำ น้ำขี้เถ้า น้ำสนิม ราวตากผ้า และเปลือกไม้ ใบไม้ ผลไม้ (ตามสีที่ต้องการ)
        2. ทุบเปลือกไม้หรือตำให้ละเอียดใส่หม้อ เติมน้ำ นำไปต้มให้เดือด ตักเปลือกไม้ออก ใส่น้ำขี้เถ้า (น้ำด่าง) ใส่ฝ้ายที่ต้องการย้อมลงไป ต้มต่อไปอีกประมาณ ๑ ชั่วโมง ยกหม้อลงแล้วตักฝ้ายออก ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำไปล้างน้ำเย็นที่สะอาด
        3. ต้มแป้งข้าวจ้าว หรือนำข้าวจ้าวผสมน้ำต้มสุก ผสมน้ำปริมาณที่จะให้ฝ้ายแข็งหรืออ่อน เมื่อแป้งสุกได้ที่ ยกลงทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำฝ้ายคลุก บีบหรือบิดให้สะเด็ดน้ำแล้วนำฝ้ายไปผึ่งในที่ร่มให้แห้ง
        4. นำฝ้ายที่ย้อมมาม้วนเป็นก้อน(จั่วกว่าเด) เพื่อเป็นการง่ายต่อการขึ้นกี่ ทำให้ฝ้ายไม่พันกัน
        5. ทอผ้าด้วยกี่คาดเอว
        6. นำไปแปรรูปผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการ เช่น เสื้อ กระเป๋า ฯลฯ

ขั้นตอนการผลิต
        การประดิษฐ์ลวดลายในผืนผ้าขณะทอ มีขั้นตอนดังนี้
        ลายในเนื้อผ้า
        ลักษณะลวดลายจะปรากฏ เป็นเส้นนูนตามแนวตั้ง หรือแนวนอนก็ได้ หากเป็นลายนูนตามแนวตั้ง การกำหนดลายจะทำพร้อมกับการเรียงด้าย คือใช้จำนวนด้ายเพิ่มขึ้นกว่าปกติมนที่ที่ต้องการให้เป็นลายนูน ส่วนด้ายขวางใช้จำนวนเท่าปกติ การทอวิธีนี้นิยมใช้ทอเสื้อผู้ชายสูงอายุของเผ่ากะเหรี่ยง

        ลวดลายสลับสี
        เป็นการทอแบบธรรมดา คือใช้ด้ายยืนและด้ายขวางจำนวนเท่าปกติ แต่แทรกด้ายสีต่าง ๆ สลับเข้าไป ขณะเรียงด้ายยืนหรือเมื่อสอดด้ายขวาง เช่น การทอผ้าห่ม ย่าม และผ้าถุงของหญิงที่แต่งงานแล้ว (ลวดลายผ้าถุงในบางท้องถิ่นจะมีลักษณะพิเศษกว่าการทอลายสลับสีธรรมดาคือจะใช้ด้ายย้อมมัดหมี่ หรือย้อมแบบลายนํ้าไหลเป็นด้ายยืน ลวดลายที่ปรากฏบนเนื้อผ้ามีลักษณะงดงามมากซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป) บางครั้งกะเหรี่ยงจะทอลวดลาย สลับสีเป็นลายนูนในเนื้อผ้า เช่น บริเวณเหนืออกของชุดเด็กหญิงกะเหรี่ยงสะกอ

        ลายจก
        เป็นการทอลวดลายโดยการสอดด้ายสลับ (ซึ่งไม่ใช่ด้ายเส้นเดียวกับด้ายขวางเข้าไปเป็นบางส่วนในเนื้อผ้าตามลวดลาย และสีในตำแหน่งที่ต้องการ การยกด้ายยืนจะไม่เป็นไปตามการยกตะกอ แต่ผู้ทอจะใช้นิ้วมือ หรือขนเม่นช่วยสอดยกด้ายขึ้นตามจำนวนที่กะไว้ และสอดด้ายสีที่ต้องการเข้าไป ระหว่างด้ายยืนนั้น ฉะนั้นลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าทั้งผืนอาจไม่เหมือนกันก็ได้

        ลายขิด
        คือการทอผ้าโดยให้ลวดลายที่ปรากฏเหมือนกันทั้งผืน ลักษณะลายแบบยกดอกในตัวโดยกำหนดสีตามด้ายยืน การแยกด้ายยืนใช้วิธีนับเส้นเป็นช่างๆ และสอดไม้หน่อสะยาเข้าไปเป็นตัวนำไม้จะช่วยแยกด้าย ให้ช่องระหว่างด้ายยืนกว้างเพื่อความสะดวกในการสอดด้ายขวาง กะเหรี่ยงสะกอนิยมทอผ้าลายขิดเพื่อเย็บเป็นผ้าถุงสำหรับหญิงที่แต่งงานแล้ว ผ้าทอลายขิดของกะเหรี่ยงมีลักษณะคล้ายของชาวอีสานแต่ลวดลายสลับซับซ้อนน้อยกว่า และของอีสานไม่นิยมทอลายขิดพร้อมกับการสลับสี แต่ของกะเหรี่ยงนิยมทอลายขิดและเล่นลายสลับสี ดังนั้นในผ้าผืนเดียวจึงมีทั้งลวดลายยกดอกนูนขึ้นมาของลายขิดและลายเล่นสีสลับกัน

        การทอลวดลายโดยแทรกวัสดุ
        ทอประกอบลูกเดือย
        ปกติการปักลูกเดือยประดับชายเสื้อผู้หญิง จะใช้วิธีปักหลังจากเย็บผ้าประกอบเข้าไปพร้อมกันในขณะทอผ้า โดยร้อยลูกเดือยเข้ากับเส้นด้ายขวางระหว่างด้ายยืน โดยให้ลูกเดือยลอยตัวอยู่บนผืนผ้า เมื่อประกอบเป็นลวดลายแล้วจึงปักทับด้าย สลับสีลงในช่องระหว่างลูกเดือยเหล่านั้น เป็นการทำลวดลายบนผืนผ้าให้สวยงามหลังจากเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ส่วนใหญ่กะเหรี่ยงสะกอจะนิยมปักประดิษฐ์ลวดลายบนเสื้อผู้หญิงแม่เรือน ลักษณะการประดับประดาจะใช้ด้ายหลากสีปักสลับลูกเดือน ซึ่งเป็นพืชที่กะเหรี่ยง ต้องปลูกไว้เพื่อใช้ในกิจกรรมนี้โดยเฉพาะ ส่วนผู้หญิงกะเหรี่ยงโปมักตกแต่งลวดลาย โดยการทอมากกว่าปักภายหลัง และไม่นิยมตกแต่งด้วยลูกเดือย สีลูกเดือยที่ใช้ ได้แก่ สีดำ แดง เหลือง และขาว โดยจะใช้ทุกสีและให้นํ้าหนักกับสีดำ และสีแดง ส่วนสีเหลืองและสีขาวเป็นสีตกแต่ง สีประกอบ ได้แก่ สีชมพู น้ำเงิน ส้ม เขียว เป็นกลุ่มสีที่นำมาใช้ภายหลัง และนิยมใช้กันมากขึ้นส่วนใหญ่มักซื้อที่ย้อมเสร็จแล้วมาใช้ โดยให้เหตุผลว่าสีสวยและไม่ตก
         เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต
         1. การใส่น้ำด่าง (น้ำขี้เถ้า) จะทำให้เนื้อฝ้ายฟู สีติดด้ายดี และทำให้สีไม่ตก
         2. หากล้างฝ้ายไม่สะอาดจะทำให้สีตกเมื่อนำไปซัก ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน
         3. เปลือกไม้ที่แก่จะให้สีเข้มกว่าเปลือกไม้อ่อน

ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ ภูมิปัญญาท้องถิ่นอำเภอแม่สอด
ที่อยู่ชาวปากอเญอ ตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ประธานกลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ นางณิชนันท์ ธุระกิจ

 

 

คำสำคัญ : ผ้าทอกะเหรี่ยง

ที่มา : http://123.242.165.136/?module=acticle&pages=list_of_acticle&cate_acti_code=06

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2561). ถักเสื้อ ปากอเญอ. สืบค้น 29 มีนาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=718&code_db=610007&code_type=TK007

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=718&code_db=610007&code_type=TK007

Google search

Mic

ถักเสื้อ ปากอเญอ

ถักเสื้อ ปากอเญอ

ชาวปากอเญอ มีพื้นฐานการทอผ้ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นการผลิตไว้ใช้ในครัวเรือนที่เหลือจึงนำมาจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ลักษณะลายผ้าที่ผลิตกันจะเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ลายผ้าเป็นไปตามความอำเภอใจของผู้ทอ หญิงสาวชาวกะเหรี่ยงจะใส่ชุดยาวสีขาว ส่วนชายหนุ่มจะใส่สีแดงสด ส่วนหญิงชาวปากอเญอที่แต่งงานแล้วจะสวมใส่เสื้อสีดำและมีลวดลายปักที่หลากหลายผสมผสานกันในส่วนชายเสื้อตั้งแต่ใต้อกคลุมถึงสะโพก ผ้าถุงสีแดง

เผยแพร่เมื่อ 15-08-2018 ผู้เช้าชม 675