ประวัติอำเภอทรายทองวัฒนา

ประวัติอำเภอทรายทองวัฒนา

เผยแพร่เมื่อ 09-02-2018 ผู้ชม 3,527

[16.3002129, 99.7368964, ประวัติอำเภอทรายทองวัฒนา]

               บ้านทุ่งทราย อำเภอทรายทองวัฒนา มีตำนานอันมหัศจรรย์และเหลือเชื่อ ชาวบ้านเรียกกันว่า ทุ่งขอม เมืองลับแลแห่งทรายทองวัฒนา องค์ประกอบของทุ่งขอม ประกอบด้วยสระ สี่เหลี่ยม ประตูทางเข้าทุ่งขอม ชาวบ้านที่อพยพมาจากจังหวัดอ่างทอง ชัยนาทและภาคอีสานเข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2490 เชื่อว่าเป็นสระโบราณที่หล่อเลี้ยงทุ่งขอม ให้วัฒนาถาวรขึ้นมาเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ในสมัยสมัยโบราณ มีผู้เห็นลำแสงประหลาดแสงนวลสว่างจากสระสี่เหลี่ยม ลอยไปสู่บริเวณสระคล้าซึ่งปัจจุบันคือวัดใหม่ทรายทองพัฒนา หรือวัดสระคล้าวนารามในอดีต
นายวัง พิลึก อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทุ่งทราย เคยเล่าให้ฟังว่า ได้อพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณทุ่งขอม ได้ขุดพบถ้วยชาม พระเครื่อง พระบูชา ของใช้ของคนโบราณ อาวุธ เช่น ดาบ กระบี่ ง้าว จำนวนมาก มีเครื่องบดยา พิมพ์พระ วัตถุโบราณจะอยู่ลึกประมาณ 1 เมตร ลักษณะการขุดพบเป็นลักษณะของกรุ พระโดยทั่วไป ที่เรียกกันว่า เมืองลับแล บริเวณสระสี่เหลียมและทุ่งขอม ประชาชนอพยพพากันมาหักร้างถางพง ในช่วงวันโกนและวันพระสิ่งที่พวกท่านเหล่านั้นพบเห็นและเล่าเป็นเสียงเดียวกันคือ คือความมหัศจรรย์ ที่ได้ยินเสียงตำน้ำพริก ที่แว่วมาตามสายลม กลิ่นหอมของอาหาร ได้ยินเสียงเครื่องดนตรี วงมโหรี สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครยืนยันได้ว่า มันคืออะไร แต่ทุกคนเชื่อกันว่า เป็นวิถีชีวิตของชาวลับแล ซึ่งอาจอยู่อีกมิติหนึ่งเขากำลังประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของเขา
               บริเวณสระสี่เหลี่ยมและทุ่งขอมในอดีตเต็ม ไปด้วยสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์นานาชนิด เช่น เสือ ช้าง เก้ง กวาง พออาทิตย์ลับขอบฟ้า ก็ไม่มีใครกล้าลงจากบ้าน ทุกครั้งที่ไปขุดแต่งพื้นที่บริเวณทุ่งขอมและสระสี่เหลี่ยม เพื่อทำกิน จะพบของโบราณเสมอ ชาวบ้านเชื่อกันว่าดินแดนแห่งนี้ มีชุมชนโบราณอาศัยอยู่ มีอารยธรรมที่รุ่งเรือง มีการสืบทอดวัฒนธรรมมาหลายชั่วคน เรียกดินแดนแห่งนี้กันว่าทุ่งขอม ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่อยู่อาศัยของขอมโบราณ
               อำเภอทรายทองวัฒนา สันนิษฐานว่าจะเป็นเมืองโบราณยุคขอมเรืองอำนาจ อีกเมืองหนึ่งในประเทศไทย
อำเภอทรายทองวัฒนาแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 3 ตำบล คือ
               1. ทุ่งทราย
               2. ทุ่งทอง
               3. ถาวรวัฒนา
               อำเภอทรายทองวัฒนาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้
                              • ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอไทรงาม
                              • ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบึงสามัคคี
                              • ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอบึงสามัคคีและอำเภอคลองขลุง
                              • ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอคลองขลุง

คำขวัญประจำอำเภอทรายทองวัฒนา
               ศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อแสวง แหล่งปลูกอ้อยโรงงาน สวยตระการดอกกระพี้จั่น ลือลั่นการเป่าแก้ว ยึดแนวเศรษฐกิจ พอเพียง

ศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อแสวง
               พระครูวชิรคุณากร (แสวง ฉนฺทโก) วัดวังน้ำแดง ต.ทุ่งทราย อ.ทรายทองวัฒนา จ.กำแพงเพชร เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชือเสียงมาก ในเรื่องการสร้างพระเครื่องและเหรียญ ใครได้ครอบครอง จะเกิดสิริมงคลต่างๆ

แหล่งปลูกอ้อยโรงงาน
               อ้อยโรงงาน อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลทรายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่้ำกว่า 1 แสนล้านบาท มีการจ้างงวน ในชนบทไม่ต่้ำกว่า 600,000 คน ในแต่ละปีประเทศไทยส่งน้ำตาลไปจ้ำหน่ายในตลาดโลกปีละกว่า 3 ล้านต้น นำรายได้เข้าประเทศประมาณ 2 – 3 แสนล้านบสท จัดเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำตาลทรายเป็นอันดับ ๓ ของโลกรองจากประเทศบราซิล
               จังหวัดกำแพงเพชรเป็นจังหวัดหนึ่งซึ่งเป็นแหล่งผลิตอ้อยและน้ำตาลที่สำคัญ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 4.5 แสนไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 10 ตันต่อไร่ (สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร) ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยในอ้อยปลูกใหม่ 10,000 บาท/ไร่ และต้นทุนการผลิตเฉลี่ยในอ้อยตอ 8,000 บาท/ไร่ มีโรงงานผลิตน้ำตาลทราย จำนวน 3 โรง พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่ร้อยละ 90 อยู่ในเขตอาศัยน้ำฝน จึงมีผลทำให้ประสิทธิภาพการผลิตค่อนข้ำงต่้ำและเป็นสำเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการผลิตอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้ น อัตราการถือครองที่ดินของเกษตรกร ร้อยละ 50 เป็นเกษตรกรรายใหญ่ (พื้นที่ถือครอง 1,600 – 2,000 ไร่) ร้อยละ 30 เป็นเกษตรกรขนาดกลาง (พื้นที่ถือครอง 200 - 500 ไร่) ร้อยละ 20 เป็นเกษตรกรขนาดเล็ก (มีพื้นที่ถือครอง 50 – 200 ไร่)
การผลิตปี ๒๕๕๓/๒๕๕๔ พื้นที่เพาะปลูกอ้อยมี ๓๖๑,๓๑๐ ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ยพื้นที่เก็บเกี่ยว ๑๑,๓๙๐ กก./ไร่ อำเภอที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ สูง ๓ ลำดับแรก ได้แก่ อำเภอทรายทองวัฒนา คือ ๑๔,๔๙๙ กก./ไร่ รองลงมา คือ อำเภอบึงสามัคคี และอำเภอคลองขลุง อำเภอที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยได้แก่ อำเภอเมือง-กำแพงเพชร ขาณุวรลักษบุรี พรานกระต่าย ลานกระบือ และโกสัมพีนคร

สวยตระการดอกกระพี้จั่น
               กระพี้จั่น เป็นไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 20 เมตร เปลือกมีสีเทาตามกิ่งมีรอยแผลทั่วไป ใบเป็นใบประกอบ แบบขนนก ออกเวียนสลับแบบห่างๆ ใบย่อย 13-21 ใบ รูปรีแกมขอบขนาน ปลายสอบทู่ โคนมน หรือสอบ เบี้ยว เส้นใบเห็นไม่ชัด ดอกมีสีขาวปนม่วง ออกตามกิ่ง กลีบดอก 5 กลีบแบบดอกถั่ว เกสรเพศผู้ 10 อัน ผลเป็นฝักแบน โคนแคบกว่าปลาย เปลือกเกลี้ยง หนาคล้ายแผ่นหนัง ขอบเป็นสัน เมล็ดสีน้ำตาลดำ มี 1-4 เมล็ด เดิมมีจำนวนมากในอำเภอทรายทองวัฒนา มีดอกที่สวยดกและงดงามมาก สมเป็นต้นไม้ประจำอำเภอทายทองวัฒนา

ลือลั่นการเป่าแก้ว
               การเป่าแก้วที่อำเภอทรายทองวัฒนา เริ่มจากนายณรงค์ แสงอะโน ราษฎรบ้านโนนจั่นได้ไปทำงานที่กรุงเทพฯและได้ศึกษาหนังสือเกี่ยวกับวิธีการเป่าแก้วที่ได้มาจากญาติที่ทำงานอยู่สถาบันวิจัยแห่งชาติ แผนกแก้วเครื่องมือทดลองทางวิทยาศาสตร์ จากนั้นจึงได้ทำการทดลองทำ ดัดแปลง โดยเป่าเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เมื่อมีความชำนาญ จึงได้เปิดร้านเพื่อผลิตและจำหน่ายอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก
               ต่อมาเมื่อสมรสแล้วจึงพาครอบครัวกลับมาอยู่ที่บ้านโนนจั่น หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งทอง อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร และได้ชักชวนชาวบ้านในหมู่บ้านมาฝึกหัดเป่าแก้ว และทำการสอนให้แก่ชาวบ้านที่สนใจ โดยไม่คิดค่าฝึกสอนแต่ประการใด เมื่อชาวบ้านที่เรียนเกิดทักษะ ความชำนาญ ก็ซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น ไปทำการเป่าแก้วที่บ้านของตนเองจากนั้นก็ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆ และทางกลุ่มจดทะเบียนเมื่อ ปี 2541 ทำชื่อเสียงและรายได้มาสู่กำแพงเพชร และอำเภอทรายทองวัฒนา อย่างมากมาย

ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง
               
เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ความสามารถของชุมชน เมือง รัฐ หรือประเทศ ในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อเลี้ยงสังคมนั้น ๆ โดยรู้จักการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ และไม่พึ่งพาปัจจัยการผลิตอื่น ที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของทีอำเภอทรายทองวัฒนา ดำเนินการตามเศรษฐกิจพอเพียงหลายประการ อาทิ
               การทำปลาร้าสูตรดั้งเดิมของชาวบ้านบึงสำราญน้อย หมู่ที่ 8 ตำบลถาวรวัฒนา อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร โดยการนำของผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต. ผู้นำสตรี ผู้นำ อช. รวมกลุ่มสมาชิก ลงมือทำกัน เป้าหมายปีนี้ ๓,๙๐๐ กก. ใช้โอ่ง ๓๐ ลูก นายฉัตรธร พรดอนก่อ ประธานกลุ่มทำปลาร้าบ้านบึงสำราญน้อย กล่าวว่าปลาร้าที่รวมกลุ่มกันทำขึ้นมานี้เป็นปลาร้าที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัยแน่นอน เพราะชาวบ้านทุกคนในนี้กินเองด้วย ถึงแม้จะขายทุกท่านที่ซื้อไปก็ได้กินของดีเหมือนกับพวกเรา ต่อไปชาวบ้านก็จะมีการเลี้ยงปลาไว้ขายให้กับกลุ่มทำปลาร้า ผู้สูงอายุก็จะมีกิจกรรม จักสานชะลอมไว้หุ้มหิ้วไหหรือโหลใส่ปลาร้า ทำเป็นของฝาก ถึงแม้จะเหนื่อยและยากในการเริ่มต้น แต่มีความมั่นใจว่าจะต้องสำเร็จและพัฒนาให้มีชื่อเสียงเป็น OTOP ตัวใหม่ของอำเภอทรายทองวัฒนา ทำให้ประชาชนมีทางเลือก มีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่แท้จริง เพราะเป็นอาหารประจำครอบครัวเกือบทุกบ้านกินปลาร้า ราคาที่ตั้งไว้ตามเกรดและชนิดของปลา คละทั่วไป กก.ละ ๙๐ บาท คัดพิเศษ กก.ละ ๑๒๐ บาท ปลาช่อนล้วน กก.ละ ๑๔๐ บาท" ประธานกลุ่มเล่าถึงในอนาคตว่าจะแปรรูปปลาร้าเป็นอาหาร ผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ พัฒนาสถานที่ผลิต บรรจุภัณฑ์ การตลาด การประชาสัมพันธ์ ทุกช่องทาง อีกทั้งได้มุ่งเน้นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาให้เป็นรูปธรรม ปัจจุบันได้รับความอนุเคราะห์จาก นายเพิ่ม ชมเส็ง ให้ใช้บริเวณหลังบ้านเป็นสถานที่ผลิต

การผลิตผ้าไหมทอมือ
               บ้านหนองนกชุม หมู่ที่ ๒ ตำบลทุ่งทราย อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร มีคนจากภาคอีสานอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่อยู่ในหมู่บ้าน และได้นำภูมิปัญญาเรื่องการทอผ้ามาทอใช้กันเองภายในหมู่บ้านหนองนกชุมหรือบางครั้งก็มอบเป็นของฝากให้ญาติที่เยี่ยมเยือน ต่อมาสำนักงานพัฒนา-ชุมชนอำเภอทรายทองวัฒนา ได้เข้าไปส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้น โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ กลุ่มผ้าไหมทอมือประดิษฐ์ สมาชิกเริ่มแรก จำนวน ๒๕ คน ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 30 คน เงินทุนจำนวน 30,000 บาท ดำเนินกิจการได้อย่างน่าสนใจ
               การผลิต ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดบ้านบึงสำราญน้อย สร้างรายได้ ลดรายจ่าย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่บ้านบึงสำราญน้อย หมู่ที่ 8 ตำบลถาวรวัฒนา อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ของชาวบ้านบึงสำราญน้อย โดยการนำของ นายนันทิพัฒน์ ภิรมกิจ ประธานกลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งได้รับงบประมาณมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (มสต.) ด้วย
               สำหรับอัตราการผลิต วันละ 25 - 30 กระสอบๆ ละ 20 กก.ๆ 10 บาท ปีที่ผ่านมาผลิตได้ 50 ตัน (2,500 กระสอบ) ปีนี้ผลิตตามที่สั่งจองคาดว่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา เพราะผู้ใช้เชื่อมั่นในคุณภาพและเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จำหน่ายในหมู่บ้าน 80% นอกหมู่บ้านร้อย 20% โดยใช้ปุ๋ยคอกเป็นหลัก ทำให้มีคุณภาพมากคุณค่าด้วยธาตุอาหารสำหรับพืชทุกชนิด บำรุงหน้าดินไม่เป็นดาน ใส่มะนาวให้ดอกติดผลดี
               ในอนาคต จะปรับปรุงต่อเติมสถานที่ผลิตให้ได้มาตรฐานและมีเครื่องมือในการผลิตให้ได้ปริมาณมากเพียงพอแก่ความต้องการ สถานที่เก็บ สถานที่จำหน่าย บรรจุภัณฑ์ และการประชาสัมพันธ์ โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก นายนันทิพัฒน์ ภิรมกิจ เสียสละให้ใช้พื้นที่โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างโครงการ "ประชารัฐ" ของอำเภอทรายทองวัฒนา ภายใต้การบริหารของ เรืออากาศตรี อดุลย์ พรหมวาทย์ นายอำเภอทรายทองวัฒนา ที่มองเห็นความก้าวหน้า ไปสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน แน่นอน
               อำเภอทรายทองวัฒนา มีคำขวัญใหม่ที่บอกเอกลักษณ์ อัตตลักษณ์ และภูมิปัญญาของอำเภอได้อย่างชัดเจนและเหมาะสมดังคำว่า “ศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อแสวง แหล่งปลูกอ้อยโรงงาน สวยตระการดอกกระพี้จั่น ลือลั่นการเป่าแก้ว ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง”

คำสำคัญ : อำเภอทรายทองวัฒนา

ที่มา : สันติ อภัยราช. (2559). สารคดีโทรทัศน์ วัฒนธรรม จังหวัดกำแพงเพชร : ตอน อำเภอทรายทองวัฒนา. กำแพงเพชร: ม.ป.พ.

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2561). ประวัติอำเภอทรายทองวัฒนา. สืบค้น 19 เมษายน 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=4&code_db=610001&code_type=08

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=4&code_db=610001&code_type=08

Google search

Mic

ประวัติอำเภอทรายทองวัฒนา

ประวัติอำเภอทรายทองวัฒนา

ศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อแสวง แหล่งปลูกอ้อยโรงงาน สวยตระการดอกกระพี้จั่น ลือลั่นการเป่าแก้ว ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอทรายทองวัฒนา เดิมอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอคลองขลุง ได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535 และยกฐานะเป็นอำเภอทรายทองวัฒนา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 และเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 11 อำเภอ ของจังหวัดกำแพงเพชร ห่างจากตัวจังหวัด 53 กิโลเมตร

เผยแพร่เมื่อ 09-02-2018 ผู้เช้าชม 3,527