การกินหมาก
เผยแพร่เมื่อ 21-02-2017 ผู้ชม 5,399
[16.2262883, 99.9198084, การกินหมาก]
สมัยโบราณ การกินหมากเป็นวัฒนธรรมการกิน (จะเรียกว่าเป็นแฟชั่นสมัยก่อนก็ได้) อย่างหนึ่งของคนไทยและคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่นิยมทั้งในคนหนุ่มสาวและผู้สูงวัย ด้วยความเชื่อที่ว่า คนที่มีฟันดำคือคนสวย คนงาม อีกทั้งการเคี้ยวหมากยังสร้างความเพลิดเพลิน วันไหนไม่ได้เคี้ยวหมากพาลให้หมดเรี่ยวหมดแรง นั่งหาวหวอดๆ แต่ปัจจุบันคนที่ยังกินหมากจะเหลือเฉพาะผู้สูงอายุ หรือใช้เป็นของประกอบพิธีสำคัญๆ เช่น การทำขวัญหรือสู่ขวัญ การตั้งพิธีต่างๆ เท่านั้น
สมัยก่อน ใครๆ ต่างจึงมีหมากพลูติดตัว จีบหมากจีบพลูใส่ซอง ใส่ถุงติดตัวไปไหนมาไหนด้วยเสมอ นึกอยากหมากพลูเมื่อใดก็หยิบขึ้นมาเคี้ยว หรือยื่นให้มิตรสหายได้เคี้ยวด้วยกัน นอกจากนี้ หมากพลูในสมัยโบราณจึงเป็นตัวแทนของความเคารพ นับถือ และมิตรภาพ เห็นได้จากภาพวาดตามฝาผนังวัดโบราณๆ จะมีภาพของผู้คนนั่งล้อมวงกินหมากพลูกัน ใช้เป็นส่วนประกอบในการประกอบพิธีสำคัญๆ หรือแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์เอง ก็จะมีเครื่องใส่หมากพลูรวมอยู่ในเครื่องบรมราชาภิเษกหรือหากเสด็จไป ณ ที่ใด ก็จะต้องมีผู้อัญเชิญพานพระศรีสำหรับใส่หมากพลูติดตามไปด้วย ดังนั้น จึงพอจะสรุปได้ว่า หมากพลูเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของสังคมไทยมาแต่ครั้งโบราณและเป็นที่นิยมทั้งชนชั้นสูงจนถึงประชาชนคนทั่วไป
เชี่ยนหมาก หรือภาชนะใส่หมากพลู ในสมัยโบราณเป็นเสมือนสิ่งที่ใช้ต้อนรับแขกที่มาถึงเรือน ใครไปใครมาเจ้าบ้านก็จะต้องหยิบหมากพลูที่จีบ (ม้วนไว้แล้ว) ส่งให้ ถ้าเป็นผู้มีอาวุโสมากกว่า แต่ถ้าแขกมีอาวุโสเท่ากันหรือน้อยกว่าก็จะยื่นเชี่ยนหมากส่งให้ เป็นการสร้างบรรยากาศความเป็นกันเองระหว่างเจ้าบ้านกับแขกผู้มาเยือน
นอกจากนี้เชี่ยนหมากยังถูกใช้เป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคมได้ว่าใครมียศถาบรรดาศักดิ์สูงแค่ไหน สามารถดูได้จากวัสดุที่ใช้ทำเชียนหมาก หากเป็นชาวบ้านตาสีตาสาทั่วไปก็จะเป็นเชี่ยนหมากไม้ธรรมดา หากมียศถาบรรรดาศักดิ์เชี่ยนหมากก็จะทำจากไม้แกะสลัก เครื่องเขิน ทองเหลือง เงิน หากเป็นชนชั้นกษัตริย์ก็จะทำจากทองคำ
และถ้าลองมาค้นเชี่ยนหมากดูจะพบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของหมาก รวมอยู่ด้วย เช่น เต้าใส่ปูน ตะบันหมาก ยาเส้น กรรไกรหนีบหมาก ซองใส่พลู ขี้ผึ้งเคลือบริมฝีปากไม่ให้ปากตึงเพราะยางหมากและน้ำปูน และของใช้ส่วนตัวอื่นๆ ของเจ้าของเชี่ยนหมาก
ขั้นตอนการจีบหมากจีบพลูของคนสมัยก่อน จะเริ่มจากตักปูนจากเต้าปูนป้ายไปบนใบพลู ตามด้วยหมากชิ้นบางๆ จะเป็นหมากสดหรือหมากแห้งก็แล้วแต่ความชบอบ จากนั้นมวนใบพลูเป็นรูปกรวยเล็กๆ จากนั้นก็นำใส่ปากเคี้ยวไปเรืนอยๆ จนหมากจืด หมดรสฝาดจึงคายหมากทิ้งแล้วมวนใหม่ ส่วนยาเส้นนั้นจะใช้ปั้นก้อนเล็กๆ แล้วนำเช็ด ขัดสีฟัน เป็นการขัดเอายางหมากพลูออก ส่วนขี้ผึ้งใช้ทาริมฝีปากป้องกันปากตึง แตก
วัฒนธรรมการกินหมากในไทยถูกสั่งห้ามในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือประมาณ ๖๐ – ๗๐ ปีมาแล้ว มีการประกาศห้ามทำสวนหมาก พลู ห้ามขายหมาก พลู ด้วยเหตผลที่ว่าต่างชาติเห็นว่าการกินหมากปากแดงคล้ำ ดูเลอะเทอะสกปรก เป็นภาพที่ไม่ชวนมอง รัฐบาลในสมัยนั้นต้องการให้ต่างชาติเห็นว่าชาติไทย มีความเป็นอารยะ จึงประกาศห้ามกินหมาก
ภาพโดย : http://xn--k3cpjt9d6a4e.net/
คำสำคัญ : การกินหมาก
ที่มา : http://xn--k3cpjt9d6a4e.net/
รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2560). การกินหมาก. สืบค้น 16 ตุลาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=150&code_db=610004&code_type=10
Google search
เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 4,417
การกินหมากในสังคมไทยมีมาหลายศตวรรษ ประเทศในแถบตะวันออก ใช้หมากเป็นเครื่องดับกลิ่นปากและทำให้ฟันคงทน จากวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ มีคำว่า สลา ซึ่งหมายถึงหมาก ปู่เจ้าสมิงพราย เสกหมากให้พระลอเสวย ที่เรียกกันว่าสลาเหิน หรือหมากบิน ทำให้พระลอลุ่มหลงในพระเพื่อนพระแพง คนฟันดำจึงเป็นคนสวยคนหล่อในอดีตของสังคมไทย
เผยแพร่เมื่อ 21-02-2017 ผู้เช้าชม 5,399