ตำนานบ้านดอนแตง

ตำนานบ้านดอนแตง

เผยแพร่เมื่อ 04-09-2019 ผู้ชม 1,069

[16.0202541, 99.3790042, ตำนานบ้านดอนแตง]

       ในอดีตกาล นานประมาณ 700 กว่าปีมาแล้ว หมู่บ้านดอนแตงแห่งนี้เป็นหมู่บ้านซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองมาแล้ว มีท่านเศรษฐีที่ปกครองหมู่บ้านชื่อ "โกฏิเศรษฐี" เป็นผู้มีทรัพย์สมบัติมหาศาล และหมู่บ้านนี้ท่านให้ชื่อหมู่บ้าน "ดอนแตงใน" ท่านเศรษฐีที่ปกครองหมู่บ้านนี้มีบุตรีหรือธิดาสาวสวยอยู่คนหนึ่งว่า "นางสาวแตงอ่อน" มีอายุราว 16-17 ปี มีรูปร่างสวยงามยากที่จะหาหญิงใดเปรียบได้ เพราะเพียบพร้อมไปด้วยรูปสมบัติ คุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์ "เบญจกัลยาณี" ทุกประการ ข่าวนี้ก็เล่าลือแพร่สะพัดไปยังบ้านน้อยเมืองใหญ่ ใครต่อใครก็สดับก็ใคร่จะได้ไปสู่ขอมาเพื่อเป็นศรีสะใภ้สืบสกุลวงศ์ในบ้านเมืองของตัวเอง 
       จึงมีหัวเมืองทั้งสองเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงเวลานั้น คือ เมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือและเมืองแม่วงก์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ ต่างก็มีโอรสด้วยกันทั้งสองเมือง ทุกฝ่ายต่างก็มีจุดหมายอันเดียวกัน คืออยากได้ธิดาเศรษฐีไปเป็นศรีสะใภ้สืบสกุลวงศ์ดุจเดียวกัน สำหรับโอรสของเจ้าเมืองทั้งสองไม่ต้องพูดถึง นับตั้งแต่ได้ทราบข่าวคราวความสวยงามของธิดาเศรษฐีก็ให้เกิดความคลั่งใคล้ใหลหลง เร่งวันเร่งคืนให้บิดาไปสู่ขอโดยเร็ว
       ส่วนเจ้าเมืองทั้งสองเมืองนั้น ก็ได้ประชุมปรึกษาหารือ เสนามาตย์ข้าราชบริวาร ให้หาโหรทำนายชะดาบ้านเมืองตลอดถึงฤกษ์ยามที่ยกขบวนไปสู่ขอธิดาเศรษฐี เมื่อถึงวันกำหนดแล้วเจ้ามืองทั้งสองต่างก็ยกขบวนมุ่งไปยังหมู่บ้าน "โกฏิเศรษฐี" บ้านดอนแตง อย่างเต็มอัตรา มีขบวบช้าง ม้า รถเข็นลากจูงแบบโบราณออกจากเมืองในวันเดียวกันทั้ง 2 เมือง โดยมิได้นัดหมายกัน แต่จุดมุ่งหมายสูงสุดเพื่อไปสู่ขอธิดาเศรษฐีมาเป็นศรีสะใภ้สืบสกุล เช่นเดียวกัน
       ทางฝ่ายเจ้าเมืองไตรตรึงษ์ก็ลงเรือลำเภาล่องตามลำน้ำปิงขึ้นทีท่าเรือเมือแสนตอแล้วก็เดินขบวนมาจนกระทั่งถึงบ้าน "เศรษฐีดอนแตง" ส่วนขบวนเจ้าเมืองแม่วงก์ก็ได้มาถึงบ้านเศรษฐีในเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้เศรษฐีตลึงงันไปเหมือนกัน เพราะไม่ทราบข่าวคราวมาก่อน ซ้ำยังสงสัยว่าจะมาโดยเหตุอื่นในทางที่ไม่เป็นมิตร แม้เจ้าเมืองทั้งสองเมืองก็เกิดความฉงนสนเท่ห์ในกันและกันดุจเดียวกัน
       หลังจากได้ทราบรายละเอียดและความประสงค์ของเจ้าเมืองทั้งสองดีแล้ว ก็คลายกังวล แต่เมือท่านเจ้าเมืองทั้งสองมาสู่ของธิดาสาวของตนไปเป็นสะใภ้ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาอีกระลอกหนึ่งว่าตนมีบุตรสาวอยู่เพียงคนเดียวจะทำไฉนดีหนอ ท่านเศรษฐีฉุกคิด โดยรวบรวมสติสัปชัญญะดีแล้ว ก็เกิดความคิดใหม่ขึ้นมาว่า ครั้นเราจะตัดไมตรีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปก็เสียมิตรภาพ หรือไม่ก็จะเกิดศึก "ชิงนาง" ระหว่างกัน ก่อเกิดความเดือดร้อนทั้งสองเมือง จึงตกลงรับไว้ทั้งสองเมืองด้วยเกียรติอันงดงาม คือ เมื่อตกลงรับส่ิงของทองหมั้นตามต้องการฝ่ายเจ้าชายทั้งสองเมืองแล้วก็ได้กำหนดนัดหมายว่า "อภิเษกสมรส" ให้เป็นที่แน่นอน โดยทั้ง 3 ฝ่ายได้ทำสัตย์กติกา สัญญาต่อกันว่า เมื่อถึงวันกำหนดนัดหมายที่เท่านั้นแล้ว ขอให้เท่าเจ้่าเมืองทั้งสองเดินทางมาทำการอภิเษกสมรสท่ี่บ้านเจ้าสาว  ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาถึงก่อน ขอให้อำมาตย์ของเจ้าเมืองนั้นขึ้นไปตีฆ้อง กลอง ระฆังบนหอสูงของเมืองดอนแตงได้ทันที สำหรับฝ่ายที่กำลังเดินทางมาไม่ถึงเมือได้ยินเสียงฆ้อง กล้อง ระฆังก็ให้หยุดขบวนและเดินทงกลับเมืองได้ แสดงว่าฝ่ายตรงข้ามเดินทางมาถึงและได้ชัยชนะเด็ดขาดแล้ว
       ฝ่ายขบวนขันหมากเจ้าชายเมืองไตรตรึงษ์ ได้ลงเรือสำเภาล่องแม่น้ำปิงมาขึ้นท่าน้ำแสนตอแล้วเร่งขบวนเดินทางมาถึงหมู่บ้านท่าานเศรษฐีก่อน แล้วรีบขึ้นไปตีฆ้อง กลอง ระฆังที่หอกลางประจำเมืองทันที ทางฝ่ายเจ้าเมืองแม่วงก์ นำขบวนขันหมากเดินทางบกโดยระยะทางที่ค่อนข้างใกล้และสับสนวกวนพอมาถึง "ช่องตาแลหรือส่องตาแล" ก็ให้หยุดขบวนแลดูทิศทางที่จะยกขบวนต่อไป อาจจะด้วยสายตาและหรือใช้อาคม เพ่งดูทางในสถานที่ตรงนั้นจึงชื่อว่า "ส่องตาแล" คือ "บ้านส่องตาแล" ในปัจจุบันนี้ ครั้นแล้วก็นำขบวนขันหมากเดินทางต่อไป พอมาพึง "หมู่เท" ก็พอดีให้ยินเสียงฆ้อง กลอง ระฆัง ดังกระหึื่มผ่านบรรยากาศมาเข้าโสตประสาทของท่านเจ้าเมือง และเหล่าอำมาตย์และบริวารจึงได้หยุดชะงักพักขบวนด้วยความเสียพระทัยอย่างสุดซึ้ง เพราะเหตุความพ่ายแพ้อย่างน่าอดสู ด้วยความระทมขมขื่นถึงกับเสวยน้ำจัณฑ์จนมืนเมา ถึงกับพยุงพระวรกายนำขบวนกลับ โดยให้บริวารเทเนื้อหมูและของขันหมากท่ิ้งไว้ที่หมูเท สถานที่ตรงนั้นจึงได้ชื่อว่า "หมูเท" หรือบ้าน "หมูเท" ในปัจจุบันนี้
       ครั้นขบวนเจ้าเมืองแม่วงก์ เดินทางไปถึงช่วงกึ่งกลางระหว่าง "ตลุกข่อยน้ำ" กับ "ไผ่ลาว" เจ้าเมืองรับสั่งให้หยุดขบวน ณ ใต้รมไม้ใหญ่ใกล้ลานต้นตะโก ด้วยความเสียพระทัย จึงรับสั่งให้โหรเข้าเฝ้า เพราะความผิดพลาดในครั้งนี้ก็ด้วยการทำนายคาดการณ์ผิดพลาดของโหรแต่เพียงผู้เดียว จึงมีรับสั่งให้เพชฌฆาต "ตัดศีรษะ" แขวนไว้ที่ต้นตะโกใหญ่ จึงเรียกว่า "ตะโกแขวนโหร" มาจนบันดี ในปัจจุบันได้กลายเป็นหมู่บ้านหมดแล้วขึ้นตรงต่ออำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เรื่องราวทั้งหมดนี้ค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นความจริง เพราะมีท่านผู้สูงอายุเล่าสู่ลูกหลานสืบทอดกันมาปากต่อปาก แต่มิได้จารึกเป็นเรื่องราวหลักฐานไว้เท่านั้น บางท่านยังเล่าว่ามีเจ้าเมืองจีนได้แล่น "สำเภา" จากประเทศจีนมาเพื่อสู่ขอนางสาวแตงอ่อนที่ดอนแตง บังเอิญเรือสำเภาต้องลมพายุล่มลงที่ "แม่น้ำกงจีน" หรือบ้านอู่ตะเภา หรือ "อู่สำเภา" ในปัจจุบันคือ ตำบลท่ามะเขือ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ในบัดนี้

คำสำคัญ : บ้านดอนแตง

ที่มา : ประวัติอำเภอขาณุวรลักบุรี จังหวัดกำแพงเพชร. (2547). กำแพงเพชร : โรงพิมพ์ศรีสวัสดิ์การพิมพ์.

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2562). ตำนานบ้านดอนแตง. สืบค้น 26 เมษายน 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1235&code_db=610006&code_type=06

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1235&code_db=610006&code_type=06

Google search

Mic

ตำนานศาลเจ้าพ่อจอมทอง

ตำนานศาลเจ้าพ่อจอมทอง

ศาลเจ้าพ่อจอมทอง มีเจ้าพ่อและเจ้าแม่จอมทองประทับอยู่ในศาล ทั้งนี้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจชาวไทยเชื้อสายจีนของชาวสลกบาตร และทุกปีจะมีการจัดงานประจำปีเจ้าพ่อเจ้าแม่จอมทองขึ้น เป็นประเพณีที่ สืบทอดต่อกันมาจะมีขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ 20-24 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อเป็นการเคารพสักการะเจ้าพ่อจอมทองที่ชาวตลาดสลกบาตรเคารพนับถือ ชาวตลาดสลกบาตรได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดงานประเพณีแห่เจ้าพ่อจอมทอง เพื่อให้ประชาชนเคารพสักการะ การจัดขบวนแห่เจ้าพ่อจอมทองเป็นขบวนที่สวยงามและมีการแสดงที่ตื่นเต้นเร้าใจในขบวนแห่จะประกอบด้วยขบวนเอ็งกอ ล่อโก้ว ขบวนนางฟ้า สาวงามถือธง เด็กหาบกระเช้า การเชิดสิงโต และขบวนแห่มังกร ขบวนอัญเชิญเจ้าผู้เข้าทรง บางทีก็มีการลุยไฟ เหยีบขวด

เผยแพร่เมื่อ 06-09-2019 ผู้เช้าชม 2,022

ตำนานบ้านดอนแตง

ตำนานบ้านดอนแตง

ในอดีตกาล นานประมาณ 700 กว่าปีมาแล้ว หมู่บ้านดอนแตงแห่งนี้เป็นหมู่บ้านซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองมาแล้ว มีท่านเศรษฐีที่ปกครองหมู่บ้านชื่อ "โกฏิเศรษฐี" เป็นผู้มีทรัพย์สมบัติมหาศาล และหมู่บ้านนี้ท่านให้ชื่อหมู่บ้าน "ดอนแตงใน" ท่านเศรษฐีที่ปกครองหมู่บ้านนี้มีบุตรีหรือธิดาสาวสวยอยู่คนหนึ่งว่า "นางสาวแตงอ่อน" มีอายุราว 16-17 ปี มีรูปร่างสวยงามยากที่จะหาหญิงใดเปรียบได้ เพราะเพียบพร้อมไปด้วยรูปสมบัติ คุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์ "เบญจกัลยาณี" ทุกประการ ข่าวนี้ก็เล่าลือแพร่สะพัดไปยังบ้านน้อยเมืองใหญ่ ใครต่อใครก็สดับก็ใคร่จะได้ไปสู่ขอมาเพื่อเป็นศรีสะใภ้สืบสกุลวงศ์ในบ้านเมืองของตัวเอง 

เผยแพร่เมื่อ 04-09-2019 ผู้เช้าชม 1,069